Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ปกป้องธุรกิจเหล็กต้นน้ำ ทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร

มองมุมใหม่ : ปกป้องธุรกิจเหล็กต้นน้ำ ทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2548


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงระยะสองเดือนมานี้ กลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำของไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักต่อต้านข้อเรียกร้องของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ขอให้รัฐบาลไทยเปิดเสรีการนำเข้าเหล็กด้วยการค่อยๆ ลดอัตราภาษีศุลกากรลง ภายในไม่เกินสิบปี เนื่องจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจหรือเอฟทีเอญี่ปุ่น-ไทยได้เดินมาถึงทางตัน เมื่อผู้เจรจาฝ่ายไทยยืนกรานที่จะคุ้มครองกลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำไปอีกอย่างน้อย 15 ปี โดยไม่สนใจผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ ที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ

กลุ่มธุรกิจเหล็กมิได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีแนวร่วมเป็นกลุ่มข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยเคลื่อนไหวกดดันกันอย่างเป็นระบบ พุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี

กลุ่มข้าราชการเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความจริงใจ และปราศจากผลประโยชน์พัวพันกับธุรกิจเหล็ก เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ข้อมูล ไม่เข้าใจภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไม่มีวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงเชื่อฟังข้อมูลที่ป้อนโดยกลุ่มธุรกิจเหล็กแต่ด้านเดียว ไม่สนใจข้อร้องเรียนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เดือดร้อนจากการคุ้มครองธุรกิจเหล็กมานับสิบปี

การเคลื่อนไหวของแนวร่วมธุรกิจเหล็กกับข้าราชการบางคนถึงกับหันมาใช้ลูกไม้เก่าย้อนยุค คือ ชูธงรักชาติ ปากร้องตะโกนปกป้องชาติ และอธิปไตย ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น

คนพวกนี้โก่งคอแย่งกันส่งเสียงเอะอะดังขรม เสียงยิ่งดัง ก็ยิ่งรักชาติมากๆ

คนพวกนี้ใช้ตรรกะง่ายๆ ว่า คนที่ปกป้องธุรกิจเหล็กต้นน้ำคือ ผู้รักชาติที่แท้จริง ส่วนใครก็ตามที่ต้องการเปิดเสรีนำเข้าเหล็กต้นน้ำล้วนเป็นพวกขายชาติเป็นสมุนญี่ปุ่นแม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ถ้าตัดสินใจเปิดเสรีนำเข้าเหล็ก ท่านเหล่านี้ก็ย่อมเป็นนักการเมืองที่ยอมให้ชาติสูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย!

นี่ก็เหมือนวาทะรักชาติทุกยุคทุกสมัยคือ คนที่ร้องตะโกนรักชาติเสียงดังที่สุดมักจะเป็นคนที่มีผลประโยชน์เบื้องหลังมากที่สุด และในหลายกรณี ก็มักจะเป็นคนที่ทำลายชาติมากที่สุดด้วย

ความจริง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับใครรักชาติ ใครขายชาติ และใครเป็นสมุนต่างชาติ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเหล็กผูกขาดที่ขัดแย้งกับอุตสาหกรรมไทยระบบที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องมือและเครื่องจักรกล ก่อสร้าง ถังและภาชนะเหล็กทุกชนิด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ของเด็กเล่น

กลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำในประเทศไทยมีลักษณะรวมศูนย์ผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล มีอิทธิพลโยงใยเหนียวแน่นทั้งระดับการเมือง และข้าราชการสืบทอดกันมาต่อเนื่องทุกรัฐบาล

เป้าหมายของพวกเขาคือ สร้างอำนาจผูกขาดที่คงทนถาวรไปชั่วลูกชั่วหลานภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จ

วิธีการคือ ผลักดันโครงการลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาท สร้างโรงถลุงเหล็กต้นน้ำขนาดยักษ์ มีกำลังการผลิตหลายสิบล้านตันต่อปีขึ้นในประเทศ โดยอ้างว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยพัฒนาครบวงจร ยกระดับคุณภาพสินค้า ลดต้นทุน ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล็กปลายน้ำมีราคาต่ำลง เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลต้องให้สิทธิประโยชน์การลงทุนทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ท่าเรือและระบบราง มูลค่าหลายแสนล้านบาท และต้องคงอัตราภาษีศุลกากรไว้ในระดับสูงเพื่อกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อบีบบังคับให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหมดต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กต้นน้ำของพวกเขา

แต่ความจริงที่พูดถึงกันน้อยที่สุดคือ โรงถลุงเหล็กขนาดยักษ์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ตั้งแต่ถ่านหิน แร่เหล็ก เทคโนโลยี ตัวโรงงาน เตาหลอม สารเคมี บุคลากรผู้เชี่ยวชาญและวิศวกร แม้แต่เงินทุนส่วนใหญ่ก็ต้องกู้จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท

ความจริงอีกประการคือ ราคาถ่านหินและแร่เหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลก แม้แต่จีนก็ลดการส่งออกถ่านหิน แล้วกลับสร้างโรงถลุงเหล็กของตนเองขนาดหลายร้อยล้านตันขึ้นมา

ฉะนั้น ต้นทุนของโรงถลุงเหล็กไทยจะต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ลดลง และไม่มีทางแข่งขันกับผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน รัสเซีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดแข็งต่างกัน

ความจริงอีกข้อคือ โรงถลุงเหล็กไทยที่จะสร้างขึ้นนั้น มีกำลังการผลิตหลายสิบล้านตัน ซึ่งล้นเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ ฉะนั้น จะต้องมีการส่งออกผลผลิตบางส่วนไปต่างประเทศแน่นอน แต่โรงถลุงเหล็กไทยมีต้นทุนสูง แล้วผู้ผลิตจะส่งออกได้อย่างไร

วิธีการก็คือ ทุ่มตลาดด้วยการส่งออกไปขายในตลาดโลกในราคาต่ำกว่าทุน แต่ขายเหล็กให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศในราคาสูงเพื่อเอากำไรมาจุนเจือการส่งออกนั่นเอง

ผลสุดท้ายคือ อุตสาหกรรมทั้งระบบจะถูกครอบงำด้วยอำนาจผูกขาดของโรงถลุงเหล็กขนาดยักษ์ ธุรกิจไทยทั่วประเทศจะต้องทนใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในราคาแพง สูญเสียตลาดส่งออก ในขณะที่รัฐบาลจำต้องอุดหนุนปกป้องกลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำไปชั่วกัลปาวสาน เพราะมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะดึงลากประเทศไทย ทั้งประเทศลงไปติดหล่มเศรษฐกิจ

แต่อุปสรรคเฉพาะหน้าของกลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำคือ ข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมต่อเนื่องและของนักวิชาการที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเปิดเสรีการนำเข้าเหล็กเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพส่งออกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ ซึ่งหากผู้นำรัฐบาลเห็นด้วย ก็จะเป็นการทำลายอำนาจผูกขาดของกลุ่มธุรกิจเหล็กต้นน้ำ

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมด้วยการเปิดเสรีการนำเข้าเหล็ก โดยให้เวลากลุ่มธุรกิจเหล็กปรับตัวไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควรสับสนไปกับข้อมูล และแรงกดดันจากกลุ่มธุรกิจเหล็ก



Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 31 กรกฎาคม 2549 22:48:18 น. 0 comments
Counter : 256 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.