Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
สหภาพยุโรป ยุคโลกาภิวัตน์จะไปทางไหน?

มองมุมใหม่ :สหภาพยุโรป ยุคโลกาภิวัตน์จะไปทางไหน?

9 พฤศจิกายน 2548 17:48 น.


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี 2548-2549 สหภาพยุโรปได้มาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง เป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างการเปิดเสรีและปฏิรูประบบเศรษฐกิจตามแนวทางโลกาภิวัตน์ หรือการมุ่งปิดตลาดและดึงดันในนโยบายเศรษฐกิจสังคมที่เน้นการแทรกแซงของรัฐต่อไป

การต่อสู้สองแนวทางภายในสหภาพยุโรปดำเนินมาหลายปีระหว่างสองค่ายใหญ่คือ ค่ายอังกฤษ-สแกนดิเนเวีย ซึ่งต้องการเร่งรัดเปิดเสรีการค้าการลงทุนและปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ในยุคโลกาภิวัตน์ กับ ค่ายฝรั่งเศส-เยอรมนี-อิตาลี ซึ่งต้องการชะลอการเปิดเสรีเอาไว้ให้นานที่สุด

หัวหอกสำคัญคือ ฝรั่งเศส ซึ่งชูธง "ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" มุ่งจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า การต่อสู้ได้มาถึงจุดที่แหลมคม เพราะในปี 2548-2549 นายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เป็นประธานสหภาพยุโรปและประกาศชัดเจนว่า จะผลักดันให้สหภาพยุโรปเปิดเสรีการค้าการลงทุนและปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้จงได้

แนวทางของสหภาพยุโรปที่ผ่านมาคือ ลัทธิสังคมประชาธิปไตย (social democracy) ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการสังคมเต็มรูปแบบและตลาดแรงงานที่รัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด ค่าจ้างแรงงานถูกกำหนดโดยการต่อรองในระดับชาติสามฝ่ายคือ ตัวแทนสมาคมนายจ้าง ตัวแทนสหภาพคนงาน และตัวแทนรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างงาน สวัสดิการ การโยกย้ายปลดคนงานทำได้ยากมาก นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยสูงลิบลิ่ว และในกรณีที่สำคัญ เช่น การปลดคนงานออกเป็นจำนวนมากในคราวเดียว นายจ้างต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

สหภาพยุโรปยังดำเนินนโยบายปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าอย่างแข็งขันมาตลอด กรณีที่ชัดเจนคือ นโยบายเกษตรกรรมร่วม (Common Agricultural Policy:CAP) ซึ่งรัฐบาลสหภาพยุโรปใช้เงินภาษีอากรของประชาชนมาอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรของตน สูงถึงปีละแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนนโยบายกีดกันการลงทุนที่ชัดเจนคือ กรณีรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลอิตาลีมีมาตรการห้ามต่างชาติเข้ามาครอบครองกิจการที่เป็น "ประเพณี" ของตน เช่น ห้ามลงทุนในกิจการค้าปลีกค้าส่งในบางพื้นที่ ห้ามครอบครองกิจการผลิตรถยนต์ยี่ห้อประจำชาติ ห้ามครอบครองกิจการไร่องุ่นและไวน์ เป็นต้น

ผลของนโยบายลัทธิสังคมประชาธิปไตยได้สร้างปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย เช่น นโยบายควบคุมตลาดแรงงานเป็นผลให้สหภาพยุโรปประสบปัญหาซับซ้อนคือ ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการว่างงานสูงมากถึงร้อยละ 10-15 มีคนว่างงานรวมกันหลายสิบล้านคน เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5-6 เท่านั้น

สาเหตุคือ ต้นทุนในการต่อรองค่าจ้างและการเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างงานที่สูง การปลดคนงานออกที่ทำได้ยากมาก ทำให้นายจ้างไม่ยอมจ้างคนงานเพิ่มแม้สภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวดี กำลังแรงงานถูกแยกเป็นส่วนๆ คือ คนงานที่มีงานทำได้รับค้าจ้างและสวัสดิการสูงลิบลิ่ว ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ว่างงานเรื้อรังหลายล้านคนที่ต้องพึ่งเงินเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งก็ให้มากจนไม่มีแรงจูงใจที่จะหางานใหม่ทำ

ยิ่งกว่านั้นคือ ธุรกิจและนายจ้างต่างหันไปใช้แรงงานอพยพเข้าเมือง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอาหรับและแอฟริกา รับค่าแรงต่ำ ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีอำนาจต่อรอง นายจ้างปลดออกได้ง่าย

ทั้งหมดนี้ นำไปสู่ปัญหาขัดแย้งทางสังคมและเชื้อชาติ แรงงานอพยพถูกกดขี่ข่มเหงอย่างหนัก ถูกเหยียดหยามทางเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรม ในขณะที่ลัทธิเหยียดเชื้อชาติก็แผ่ขยายไปในหมู่คนงานยุโรป ซึ่งเกลียดชังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาแย่งงาน และรายได้ไปจากพวกตน ความตึงเครียดปะทุเป็นจลาจลและการปะทะนองเลือดหลายครั้งในประเทศต่างๆ รวมทั้ง การลุกฮือก่อจลาจลในฝรั่งเศสที่แผ่ขยายไปตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้

ส่วนผลของนโยบาย CAP คือ ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต้องจ่ายเงินภาษีสูงลิบลิ่ว แล้วยังต้องยอมทนซื้อสินค้าเกษตรและอาหารในราคาแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอีกด้วย ส่วนผลกระทบระหว่างประเทศคือ ทำให้มีการผลิตสินค้าเกษตรล้นเกินในสหภาพยุโรป ต้องส่งออกเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโลกตกต่ำ สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนอกจากจะส่งออกสินค้าเกษตรไม่ได้เท่าที่ควรแล้ว ยังต้องเดือดร้อนจากราคาตลาดโลกที่ตกต่ำอีกด้วย

ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ก็มีเพียงเกษตรกรยุโรปจำนวนน้อยนิด ไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ได้รับเงินอุดหนุนสูงถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

นโยบาย CAP นี้เองที่เป็นอุปสรรคทำให้การเจรจาความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและศุลกากร (GATT) ยุค 1980-1990 เกือบสรุปไม่ได้ เพราะสหภาพยุโรปที่นำโดยฝรั่งเศสยืนกรานไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบาย CAP แม้การเจรจาการค้า WTO รอบใหม่ในปัจจุบันที่เรียกว่า รอบโดฮา ก็ติดขัดปัญหาเดียวกันคือ นโยบายเกษตรกรรมของยุโรป

นโยบาย CAP ของสหภาพยุโรปจึงกลายเป็นเป้าโจมตีจากทั่วโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศที่จะค่อยๆ ลดการให้เงินอุดหนุนภาคเกษตรของตน และเรียกร้องให้สหภาพยุโรปยกเลิกนโยบาย CAP ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ยืนกรานให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรในการเจรจาการค้ารอบนี้ให้จงได้

สหภาพยุโรปได้เดินมาถึงทางสองแพร่งว่า จะเปิดเสรีการค้าการลงทุนและปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนให้ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ในยุคโลกาภิวัตน์ หรือจะดึงดันในนโยบายลัทธิสังคมประชาธิปไตยและการกีดกันการค้าการลงทุนต่อไป

จลาจล การนองเลือด และความรุนแรงตามเมืองใหญ่ในฝรั่งเศสตั้งแต่ปลายตุลาคมเป็นต้นมา คือพยานของความหายนะจากนโยบายเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่แข็งทื่อตายตัว และเป็นบทเรียนสำคัญที่สหภาพยุโรปจะต้องเรียนรู้โดยเร็วที่สุด



Create Date : 04 สิงหาคม 2549
Last Update : 4 สิงหาคม 2549 19:40:02 น. 0 comments
Counter : 389 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.