ความดับลงแห่งกองทุกข์ มีได้เพราะการดับไปแห่งความเพลิน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
22 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
เวทนาของปุถุชน ต่างจากของอริยสาวก (ในแง่ของปฏิจจสมุปบาท)




เวทนาของปุถุชน ต่างจากของอริยสาวก (ในแง่ของปฏิจจสมุปบาท)


..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับแล้ว ย่อมเสวยซึ่งเวทนา อันเป็นสุขบ้าง อันเป็นทุกข์บ้าง อันมิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! แม้อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ก็ย่อมเสวยซึ่งเวทนา อันเป็นสุขบ้าง. อันเป็นทุกข์บ้าง อันมิใช่ทุกข์ มิใช่สุขบ้าง.

.......... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเป็นเช่นนั้น ในระหว่างอริยสาวกผู้มีการสดับกับปุถุชนผู้ไม่มีการสดับดังที่กล่าวมานี้ อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเหตุที่แตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้มีการสดับจากปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ?

..........ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น กราบทูลวิงวอนว่า

.........."ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เป็นการชอบแล้วหนอ ขอให้อรรถแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเองเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้" ดังนี้.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับแล้ว อันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ย่อมเศร้าโศก ย่อมกระวนกระวาย ย่อมร่ำไรรำพัน เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ถึงความมีสติฟั่นเฟือน เขาย่อมเสวยซึ่งเวทนาทั้ง เวทนาทั้ง ๒ ฝ่าย คือ เวทนาทั้งทางกายและทางจิต.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วพึงยิงซ้ำซึ่งบุรุษนั้นด้วยลูกศรที่สองอีก บุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศรสองลูกอย่างนี้ ย่อมเสวยเวทนาทางกายด้วย ทางจิตด้วย,แม้ฉันใด;

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับแล้วก็เป็นฉันนั้น คือ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่,ย่อมเศร้าโศก ย่อมกระวนกระวายย่อมร่ำไรรำพันเป็นผู้ทุกอกร่ำไห้ ถึงความมีสติฟั่นเฟือนอยู่; ชื่อว่าเขาย่อมเสวยซึ่งเวทนาทั้งสองอย่าง คือทั้งทางกายและทางจิต. เขาเป็นผู้มีปฏิฆะเพราะทุกขเวทนานั้นนั่นเอง. ปฏิฆานุสัย อันใด อันเกิดจากทุกขเวทนา, ปฏิฆานุสัยอันนั้น ก็ย่อม
นอนตามซึ่งบุคคลนั้นผู้มีปฏิฆะด้วยทุกขเวทนา. บุคคลนั้นอันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ย่อมจะพอใจซึ่งกามสุข. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับแล้ว ย่อมไม่รู้ชัดอุบายเครื่องปลดเปลื้องซึ่งทุกขเวทนาเว้นแต่กามสุขเท่านั้น (ที่เขาคิดว่าจะระงับทุกขเวทนาได้). เมื่อปุถุชนนั้นพอใจยิ่งอยู่ซึ่งความสุข, ราคานุสัยอันใด อันเกิดจากสุขเวทนา, ราคานุสัยอันนั้นย่อมนอนตามซึ่งปุถุชนนั้น. ปุถุชนนั้น ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง. เมื่อปุถุชนนั้นไม่รู้ชัดอยู่ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และ ซี่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง ดังนี้แล้ว, อวิชชานุสัยอันใด อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา, อวิชชานุสัยอันนั้น ย่อมนอนตามซึ่งปุถุชนนั้น. ปุถุชนนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนาย่อมเป็นผู้ติดพัน(ในเวทนา)เสวยเวทนานั้น;ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ยังเป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ติดพันแล้วด้วยชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย; เรากล่าวว่า เป็นผู้ติดพันแล้วด้วยทุกข์ ดังนี้

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ส่วนอริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว อันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่กระวนกระวาย ย่อมไม่ร่ำไรรำพัน ไม่เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ไม่ถึงความมีสติฟั่นเฟือน; ย่อมเสวยเวทนาเพียงอย่างเดียว คือเวทนาทางกาย,หามีเวทนาทางจิตไม่.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษพึงยิงบุรุษด้วยลูกศรแล้ว ไม่พึงยิงซ้ำซึ่งบุรุษนั้นด้วยลูกศรที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาจากลูกศรเพียงลูกเดียว, แม้ฉันใด;

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ก็ฉันนั้นคือเมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่,ย่อมไม่เศร้าโศกไม่กระวนกระวาย ไม่ร่ำไรรำพันไม่เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงซึ่งความมีสติฟั่นเฟือน; อริยสาวกนั้น ชื่อว่าย่อมเสวยเวทนาเพียงอย่างเดียว คือเวทนาทางกาย หามีเวทนาทางจิตไม่ อริยสาวกนั้น หาเป็นผู้มีปฏิฆะ เพราะทุกขเวทนานั้นไม่. ปฏิฆานุสัย อันใด อันเกิดจากทุกขเวทนา, ปฏิฆานุสัยอันนั้น. ก็ย่อมไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้นผู้ไม่มีปฏิฆะเพราะทุกขเวทนา.อริยสาวกนั้นอันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ก็ไม่พอใจซึ่งกามสุข.ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?

.......... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ย่อมรู้ชัดอุบายเครื่องปลดเปลื้องซึ่งทุกขเวทนา ซึ่งเป็นอุบายอื่นนอกจากกามสุข.เมื่ออริยสาวกนั้นมิได้พอใจซึ่งกามสุขอยู่, ราคานุสัยอันใด อันเกิดจากสุขเวทนา, ราคานุสัยอันนั้นก็ไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อยซึ่งโทษอันต่ำทราม และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง.เมื่ออริยสาวกนั้น รู้ชัดอยู่ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และซี่งอุบายเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง ดังนี้แล้ว, อวิชชานุสัยอันใดอันเกิดจากอทุกขมสุข-เวทนา, อวิชชานุสัยอันนั้น ก็ย่อมไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้น.อริยสาวกนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนาย่อมไม่เป็นผู้ติดพัน(ในเวทนา)เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็ไม่เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น;ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้มีการสดับนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ติดพันแล้วด้วยชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย; เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ติดพันแล้วด้วยทุกข์ ดังนี้.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ส่วนอริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว อันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่กระวนกระวาย ย่อมไม่ร่ำไรรำพัน ไม่เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ไม่ถึงความมีสติฟั่นเฟือน; ย่อมเสวยเวทนาเพียงอย่างเดียว คือเวทนาทางกาย,หามีเวทนาทางจิตไม่.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษพึงยิงบุรุษด้วยลูกศรแล้ว ไม่พึงยิงซ้ำซึ่งบุรุษนั้นด้วยลูกศรที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาจากลูกศรเพียงลูกเดียว, แม้ฉันใด;

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ก็ฉันนั้นคือเมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่,ย่อมไม่เศร้าโศกไม่กระวนกระวาย ไม่ร่ำไรรำพันไม่เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงซึ่งความมีสติฟั่นเฟือน; อริยสาวกนั้น ชื่อว่าย่อมเสวยเวทนาเพียงอย่างเดียว คือเวทนาทางกาย หามีเวทนาทางจิตไม่ อริยสาวกนั้น หาเป็นผู้มีปฏิฆะ เพราะทุกขเวทนานั้นไม่. ปฏิฆานุสัย อันใด อันเกิดจากทุกขเวทนา, ปฏิฆานุสัยอันนั้น. ก็ย่อมไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้นผู้ไม่มีปฏิฆะเพราะทุกขเวทนา.อริยสาวกนั้นอันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ก็ไม่พอใจซึ่งกามสุข.ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า อริยสาวกผู้มีการสดับแล้ว ย่อมรู้ชัดอุบายเครื่องปลดเปลื้องซึ่งทุกขเวทนา ซึ่งเป็นอุบายอื่นนอกจากกามสุข.เมื่ออริยสาวกนั้นมิได้พอใจซึ่งกามสุขอยู่, ราคานุสัยอันใด อันเกิดจากสุขเวทนา, ราคานุสัยอันนั้นก็ไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อยซึ่งโทษอันต่ำทราม และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง.เมื่ออริยสาวกนั้น รู้ชัดอยู่ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และซี่งอุบายเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง ดังนี้แล้ว, อวิชชานุสัยอันใดอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา, อวิชชานุสัยอันนั้น ก็ย่อมไม่นอนตามซึ่งอริยสาวกนั้น.อริยสาวกนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนาย่อมไม่เป็นผู้ติดพัน(ในเวทนา)เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็ไม่เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น;ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้มีการสดับนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ติดพันแล้วด้วยชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย; เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ติดพันแล้วด้วยทุกข์ ดังนี้.

..........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกันเป็นเหตุที่แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้มีการสดับ จากปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ดังนี้.




Create Date : 22 กันยายน 2553
Last Update : 22 กันยายน 2553 13:37:31 น. 6 comments
Counter : 565 Pageviews.

 
ผมขอถามสั้นๆเลยนะครับ คำตอบของบทความทั้งหมดนี้คือ ความว่างรึเปล่า ครับ ว่างคือจิตว่าง ไม่คิดอดีตไม่คิดอนาคต รู้แค่ปัจจุบัน


ถ้าไงรบกวนเพิ่มเติมด้วยครับ มือใหม่หัดฟังธรรมมะครับ


โดย: billabong11 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:14:47:15 น.  

 
ตอบ คุณ billabong

พระสูตรนี้ กล่าวถึง บุคคล ที่ ไม่เคยฟังธรรม พอได้รับ ทุกข์ เวทนา ก็ จะ ไม่พอใจ ใน ทุกข์ เวทนานั้นๆ พอไม่พอใจใน ทุกข์ เวทนา นั้นๆ ก็ เหมือน กับ มี ทุกข์ ซ้อนใน ความทุกข์ เข้าไปอีก

แต่ อริยสาวก ผู้ เคยได้ยินได้ฟังธรรม พอมีความทุกข์ มากระทบ เขา ก็ ไม่รู้ สึก ทุกข์ ใน ความทุกข์นั้นๆ ก็ จะ เหมือนกับ ว่า เกิดทุกข์ แค่ มากระทบ กาย แล้ว ก็ เฉยๆไป ไม่ไปทุกข์ซ้ำซ้อนเข้าไป เหมือน กับ บุคคลที่ไม่เคยได้ฟังธรรม

ส่วน ที่ว่า ความว่าง จิตว่าง ไม่คิดอดีต ไม่คิดอนาคต อยู่กับปัจจุบันอยู่กับ อุเบกขา แล้ว ก็ ให้ เห็นว่า อุเบกขา มันก็ดับ จะทำให้เรารู้ว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไร ที่ยึดถือว่า เป็นเรา ว่าเป็นของเรา ให้เรายึดถือได้เลย

ร่างกายนี้ ก็ เป็นเพียงธาตุ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ก็ดับไปในที่สุดเท่านั้น นามธรรมทุกอย่าง มีเกิด แล้วก็ มีดับเช่นกัน ไม่มีสิ่งใดที่จะเข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเราได้เลย


โดย: จูปีเตอร์เทพแห่งดาวพฤหัส วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:15:45:49 น.  

 
ต้องขออภัย คุณอะไรกันด้วย พระสูตรนี้ มีอยู่จริงๆ
แต่ที่ ทรงกล่าว ถึง เวทนาทางกาย กับ เวทนาทางใจ ที่จริง ทรงจะอธิบายถึง เหตุของการเกิดของเวทนาว่า เกิดจาก อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบ กับ อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย พอวิญญาณเข้าไปรับรู้ ก็ ทำให้ เกิด เวทนาทางกาย

แต่ที่จริง ทรงหมายความถึง เวทนาที่เกิดจาก การผัสสะทางกาย เป็น สาเหตุ แล้ว พอ เกิดทุกข์ เวทนา แล้ว เกิดความไม่พอใจในเวทนานั้น ก็ เหมือนกับ มีเวทนาทางใจ ซ้ำเข้าไปอีก เพราะ เขาไปยินดีพอใจในกามสุข คือ ก็เหมือนกับ การยินดีพอใจ ในเวทนา ซ้ำเข้าไปอีก แล้วเวลาทุกข์ ก็ เลย ทุกซ้ำกันเข้าไปอีก เลยทรงเปรียบ เหมือน ลูกศรที่ยิง ซ้อน ซ้ำเข้าไปเวลาที่เกิดทุกข์ เหมือน เกิด เวทนา ในเวทนา ซ้อนกัน

ที่จริงแล้ว เวทนา เกิดจาก ที่ มีวิญญาณ เข้าไปรับรู้ ถ้าพูดถึง เป็นเวทนาทางกาย ก็ คง หมายถึง เวทนา ที่ เกิดจาก อายตนะภายในเป็นเหตุ แต่ ผู้ที่เกิดเวทนา ไม่ใช่กาย เพราะ กาย เป็นเพียงธาตุ หาก วิญญาณไม่เข้าไปรับรู้ ก็ จะเกิดเวทนาไม่ได้ แล้วพอเกิดเวทนา ขึ้นมา ก็ ยังจะ มีความพอใจ ไม่พอใจ ในเวทนานั้นๆอีก พระองค์จึงเรียกเป็นเวทนาทางใจ ซึ่ง ก็ ไม่รู้จะ หาคำไหนมาอธิบายเพื่อให้คนเข้าใจ เพราะ เวทนามันซ้อนกันอยู่ ก็ เลยต้องใช้คำไปแบบนั้น

พระสูตรนี้ มีอยู่จริงๆ ซึ่งผม ก็ เพิ่งมาอ่านเจอ ครับ ขออภัย คุณอะไรกันด้วย ทีตอนแรกหาว่าไม่มีพระสูตรนี้ ซึ่งทีแรกผมเข้าใจว่าคุณอะไรกันไปจำมาจากอรรถกถา เพราะ ผมเพิ่งจะเจอ ครับ ขอภัยด้วยจริงๆ


โดย: จูปีเตอร์เทพแห่งดาวพฤหัส วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:15:49:52 น.  

 
...อ๋อ นั่นไง มีเห็นไหมครับ เดี๋ยว ตี เลย !! คุณ นนท์ นี่ 5555555 ล้อเล่น ๆ ....0_o....

...ก็ตรงส่วนนี้ ผมฟังจาก พระอาจารณ์ คึกฤทธิ์ ใน CD ปฏิจจสมุปาท แผ่นที่ 2 ที่ คุณนนท์ส่งมาให้นั่นแหละครับ ผมเลยไปค้นดู มีอยู่ใน สัลลัตถสูตร ครับ ลองพิมพ์ คำว่า "สัลลัตถสูตร" ก็จะเจอ

เนื้อหาเหมือน พระสูตร ที่คุณ นนท์ เอามานี่เลยครับ แต่ของคุณนนท์ จะเยอะกว่า น่าจะอยู่คนละที่ นะครับ แต่ว่า คุณ นนท์ ก็ตอบเข้าใจชัดเจนดี ไม่มีปัญหาอะไร ที่ทำให้สงสัย ในส่วนนี้ต่อ เลยไม่ได้บอกน่ะครับ ว่ามี ลูกศร 55 .....

###############

...งั้น ขอถาม เรื่อง พยัญชนะ นะครับ ก็คือว่า...

ใน สติปัฏฐานสูตร กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมด ก็จะมี ชุดประโยคแบบเดียวกันนี้ ปิดท้าย ของแต่ละส่วน ควบคู่ อยู่ตลอด...จะยกตัวอย่างเฉพาะ หมวดธรรมนะครับ ก็คือว่า...

1."สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก"

2."ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก. เธอย่อมเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย"

...แบบที่ 1 มีใน พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ
...แบบที่ 2 มีใน พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ

...ถ้ามว่า ทำไมถึงไม่เหมือนกันได้ไงครับ คือ อรรถ ก็มีความหมายเดียวกันหมด แต่ตัวอักษร ทำไมไม่ตรงกัน แบบ เป๊ ๆ...ไม่เข้าใจ ต้องเหมือนกันสิครับ เพราะเป็นพุทธวจณ เหมือนกัน อยู่ใน สติปัฏฐานสูตร เหมือนกัน งงเลย ถ้างั้น ฉบับบาลีสยามรัฐ ถูกต้องมากกว่า หรือครับ เพราะเคยฟัง อาจารณ์ คึกฤทธิ์ บอก มีมาก่อน และ ฉบับอื่น คัดลอกไปจาก ฉบับบาลีสยามรัฐ...

...อ้าว !!! ก็ถ้าคัดลอกไปแล้ว ทำไมตัวอักษร ถึงไม่ตรงกันเป๊ๆ ล่ะครับ แล้วมีอีกแบบ เพิ่งเห็นในหนังสือ พุทธวจณ เล่มเล็กๆ ที่คุณ นนท์ ให้มา ก็มี ไม่เหมือนกันอีก คือ เป็นแบบนี้...

แบบที่ 3 "ก็แหละสติ(คือความระลึก)ว่า ธรรมมีอยู่ ดังนี้ ของเธอนั้น เป็นสติที่เธอดำรงใว้ เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่อความอาศัยระลึก. ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกนี้."...

...นี่ไงครับ มีอีก 1 แบบ ตัวอักษรไม่ตรงกับ 2 แบบแรก ได้ไงครับ คุณ นนท์ บอกหน่อยสิครับ ตกลงมันยังไงกัน อย่าบอกนะครับ ว่า ของมหาจุฬา ไม่เหมือนกันอีก งั้นก็เป็น 4 แบบ 55 เฮ้ออออออออ งงติ๊บ...


โดย: อะไรกัน IP: 192.168.1.129, 61.7.133.52 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:19:04:50 น.  

 
ตอบ คุณอะไรกัน

ครับ มันเป็นสำนวน การแปล ของแต่ละที่ ซึ่ง มีสำนวนการแปล ที่ ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่โดยเนื้อหาโดยหลัก ต้องไม่ให้ ความหมายผิดเพี้ยน

จะสังเกตุว่า การแปล แต่ละสำนวน ถึงจะไม่เหมือนกันทุกตัวอักษร แต่เมื่อดูจากเนื้อหา ที่ต้องการจะสื่อแล้ว มีความหมายที่ตรงกัน ครับ

สำนวนการแปล ของ บาลี สยามรัฐ เป็น ฉบับแรก ของประเทศไทย

ต่อมา ก็ เกิดมี ของ มหามงกุฏ และ มหาจุฬาฯ จากนั้น ก็ มี ของท่าน พุทธทาส มาแปลใหม่อีก ซึ่ง พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ ท่านบอกว่า สำนวนการแปล ของท่านพุทธทาส แปลได้ สละสลวย แปลได้ไพเราะ และเนื้อหา ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ดีมาก

แต่ ในส่วนการแปล ของสำนักท่านพุทธทาส ก็มีทีมงานแปลหลายท่านอีก ช่วยๆกันแปล เนื้อหา แต่ละพระสูตรที่ซ้ำกัน อาจจะแปลไม่เหมือนกันอีก แต่หลักโดยรวม ต้องไม่ให้ความหมายผิดเพี้ยนไป

ถ้าหาก สำนักใหน แปลผิด พระสูตรจะขัดกันทันที ก็ จะเช็คได้ว่า ใครแปลผิด เช่น สกทาคามี มีคนเคยแปลว่า กลับมาสู่โลกนี้คราวเดียว แต่ มีพระสูตรหนึ่งที่ว่า พ่อ ของนาง มิคสารา ไปเกิดเป็น สกทาคามีในชั้นดุสิต นี่ไง ผลของการแปลผิด พระสูตรจะขัดกันทันที

พระอาจารย์ ก็ เลยไปเช็ค ที่บาลี ก็เลยได้ทราบว่า

เขาแปลตก ตรง สกิเทวะ
สกิเทวะ แปลว่า เทวดาคราวเดียว

นี่ครับ ถึงจะแปลผิด ก็ สามารถ เช็คได้ พระพุทธเจ้า ทรงฉลาด หาทาง แก้ไขไว้แล้ว ใครจำมาผิด ใครแปลผิด พระสูตรจะขัดกัน คำพระพุทธเจ้าจะขัดแย้งกัน ไม่ได้ ก็ เลยทำให้ รู้ว่า ใครแปลผิด ใครจำมาผิด

อีกหน่อย อาจจะมีสำนวนการแปลของวัดนาป่าพง อีก ฉบับหนึ่งอีกด้วยในอนาคต อิอิ





โดย: จูปีเตอร์เทพแห่งดาวพฤหัส วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:19:54:59 น.  

 
เทสโส จ โหติ อติยา จ นาย
คนย่อมเป็นที่เกลียดชัง เพราะขอมาก

มีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ และตลอดไป..นะคะ




โดย: พรหมญาณี วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:11:17:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จูปีเตอร์เทพแห่งดาวพฤหัส
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ดูกรภิกษุทั้งหลาย : บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ
Friends' blogs
[Add จูปีเตอร์เทพแห่งดาวพฤหัส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.