ความสุขมีอยู่ทุกวัน เรามองเห็นได้..โดยไม่ต้องมองหา

<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
8 กันยายน 2554
 

การบริหารจัดการเงินออมของชาวฟรีแลนซ์ (ตอนที่ 3 ตอนจบ)

เมื่อเราได้หลวมตัวมาเป็นฟรีแลนซ์แล้ว เราจะรู้สึกสบายใจที่ไม่มีเจ้านายอีกต่อไป เจ้านายของเราคือลูกค้าที่จ้างเราทำงาน เป็นเจ้านายขาจร มาเพื่อจะจากไปพร้อมทิ้งเงินค่าแรงไว้ให้แก่เรา ถ้าชอบกันก็มาจ้างกันใหม่ ถ้าชังกันก็ต่างคนต่างไสหัวจากกันไป ไม่ต้องเครียดว่าจะต้องทนเจอกันอีกต่อไป เป็นชีวิตที่มีอิสระมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ความสุขในวันนี้ใช่จะยืนยาวตลอดไปถึงบั้นปลายชีวิตเหมือนคนทำงานประจำ

เมื่อลาออกจากงานหรือถึงวัยเกษียณ ชาวมนุษย์เงินเดือน และข้าราชการประจำ จะได้เงินก้อนงามที่ตัวเองและองค์กรสะสมไว้ให้ในรูปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินบำเหน็จ เงินก้อนโตทำให้สามารถใช้ชีวิตวัยชราได้อย่างมีความสุข แต่ฟรีแลนซ์เล่า ? พอแก่เฒ่าหรืออายุถึงวัยเกษียณใครจะให้เงินเรา ? ยามนั้นเรี่ยวแรงถดถอย คงไม่มีใครอยากตะลอน ๆ ไปหาลูกค้าเหมือนสมัยหนุ่มๆ สาวๆ อีกต่อไป ความชรานั้นจะมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ เราจะเอาเงินที่ไหนรักษา ? หากเคราะห์หามยามซวยป่วยเป็นโรคที่ต้องใช้เงินหมื่นเงินแสนหรือเงินล้านรักษาตัว เงินออมที่สะสมมาตลอดจะต้องหมดตรูดอย่างแน่นอน

ประกันสังคมช่วยเราได้
ก่อนจะมาเป็นฟรีแลนซ์พวกเราเคยทำงานประจำ และต้องจ่ายค่าประกันสังคมเพื่อไว้ใช้บริการยามเจ็บป่วย แม้จะมีหลายคนก่นด่าไม่อยากจ่ายเงินส่วนนี้ก็ตาม แต่เมื่อออกจากงานประจำแล้ว คุณอย่าได้ชิงชังประกันสังคม ภายในเวลา 6 เดือนหลังออกจากงาน ขอให้คุณไปแจ้งความจำนงขอเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 ซึ่งจะต้องจ่ายเดือนละ 432 บาท คิดดูแล้วน่าจะคุ้มค่ามากสำหรับการรักษาพยาบาล หากคุณเจ็บป่วยเล็กน้อย ถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนแต่ละครังก็ต้องจ่ายเกือบพันบาท โรงพยาบาลรัฐบาลจ่ายถูกกว่า แต่ต้องแหกขี้ตาไปแต่เช้าและรอนานพอสมควร คุณจะทนไหวหรือเปล่า

ปัจจุบันประกันสังคมยังได้จ่ายเบี้ยชราภาพ (คำนวณเบี้ยจากระยะเวลาที่ส่งเงินประกันสังคม) ในวันที่คุณส่งเบี้ยประกันสังคมจนอายุ 55 ปี จะได้เงินก้อนคืนมาอีกด้วย ลองเข้าไปอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมดูก่อน จะเห็นว่าประกันสังคมพึ่งพาได้จริง ๆ

ถ้าคุณพอมีเงินจ่ายประกันสังคมเดือนละ 432 บาทได้ ก็ขอให้จ่ายไปเถิด แต่หากคุณมีความอดทนสูง และมั่นใจว่าสามารถใช้บริการรักษาฟรี กับบัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ก็สามารถทำได้เช่นกัน ไปสมัครขอใช้บัตรประกันสุขภาพได้สำนักงานเขตที่คุณอาศัยอยู่ ก็จะประหยัดไปได้อีกเดือนละ 432 บาท

ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
หากพอมีเงินจ่ายรายปีกับการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ จะทำติดตัวไว้ก็ไม่เสียหาย แถมยังนำไปหักภาษีได้อีก หลายคนมักเสียดายเงินเวลาจ่ายประกันชีวิต แต่กลับไม่เสียดายเงินทำประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ระหว่างชีวิตเรากับรถยนต์นั้น ชีวิตเรามีค่ายิ่งกว่ามากมายนัก แต่เพื่อนฉันคนหนึ่งผู้เคยไปอบรมการขายประกันบอกฉันด้วยความหวังดีว่า อย่าไปทำประกันเลย ให้เก็บเบี้ยที่ต้องจ่ายประกัน นำไปฝากธนาคารหรือลงทุนไว้ทุกปี ทำเหมือนเราทำประกันชีวิตตัวเองไว้ พอครบกำหนดเวลาจะได้คุ้มกว่า" ฉันยังไม่เคยลองคำนวณ และมีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ก็เชื่อคำบอกของเธอ ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อตามนี้ หากมีเงินพอทำประกันได้ก็ทำไปเถิด ^ ^

เมื่อชีวิตฟรีแลนซ์อย่างเราหมดห่วงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เพราะมีประกันสังคมรองรับเราไว้แล้ว ต่อไปเราก็ต้องจัดการเรื่องการออมเงินของตัวเองไว้ ยามไม่มีงานหรือยามแก่จะได้ไม่ลำบาก ขอแนะนำให้เลือกการออมและการลงทุนที่เสี่ยงน้อยที่สุดหรือไม่เสี่ยงเลย เพราะชีวิตฟรีแลนซ์ก็เสี่ยงพอแล้ว เราไม่ควรหาเรื่องเสี่ยงใส่ตัวอีก เริ่มต้นจากเสี่ยงน้อยที่สุด

ฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน
มีหลายธนาคารให้เลือก ดอกเบี้ยฝากประจำจะอิงกับฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารนั้น เมื่อครบเวลาจะมีโบนัสแถมให้อีกนิดหน่อย ข้อดีคือจะช่วยให้ชาวฟรีแลนซ์อย่างพวกเรา มีเงินเก็บกับเขาเหมือนคนอื่น เพราะหากไม่เริ่มเก็บวันนี้ วันหน้าเราจะลำบาก อย่าลืมว่าเรามันตัวคนเดียว ไม่มีนายจ้างเลี้ยงดู ระยะแรกรายได้อาจน้อยนิดเราก็ฝากไปน้อย ๆ นี่แหละ เริ่มต้นที่เดือนละ 1,000 บาทก็ได้ หรือหากคุณฮึกเหิมจะฝากเดือนละ 25,000 บาทสูงสุดที่เขากำหนดก็ได้ เป็นการโชว์พลังฟรีแลนซ์ว่าเราฐานะดีขนาดไหน ^
^ ข้อดีของการฝากประจำปลอดภาษีก็คือ ไม่ต้องเสียภาษี แถมครบเวลาคุณจะมีเงินก้อนโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว

พันธบัตรรัฐบาล
ปลอดภัยและไร้ความเสี่ยง มีให้เลือกมากมายและออกมาขายไม่ได้หยุดหย่อน ซื้อกันได้ทั้งแบบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีแล้วแต่จะกำหนดเวลา หลายธนาคารเปิดขายกันบ่อยมาก เป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ดอกเบี้ยก็ต่ำ แต่จะซื้อไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะถึงอย่างไรดอกเบี้ยสูงกว่าฝากประจำกับธนาคารแน่นอน ลองเปิดเว็บธนาคารต่าง ๆ ดูว่าใครมีอะไรมาขายบ้าง อ่านรายละเอียดให้ดี ๆ นะคะ เลือกดอกสูงเข้าไว้ ซึ่งก็สูงไม่มากหรอก ชอบกองไหนก็ไปธนาคารและไปซื้อกองนั้น เลือกระยะเวลาให้เหมาะกับ "เงินเย็น" ของคุณ

มือใหม่ต้องระวังเรื่องความเข้าใจผิดเรื่องตัวเลขดอกเบี้ย เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะ 6 เดือน ดอกเบี้ย 3 % คุณก็ดีใจนึกว่าได้ร้อยละ 3 ความจริงแล้วได้ร้อยละ 1.5 เพราะคุณฝากแค่ 6 เดือน ดอกเบี้ยที่เขียนไว้คือต่อปี เขาไม่ได้หลอกคุณ เพียงแต่คุณเข้าใจผิดไปเอง ^ ^ เหมือนแม่ค้าบางกะปิเขียนราคาผลไม้ตัวโตว่า 18 บาท คนก็แห่ไปซื้อ แต่เดินไปใกล้ ๆ จะเห็นตัวเล็ก ๆ ว่า ครึ่งโล ราคาจริงคือ 36 บาท ไม่ได้หลอกแต่บอกช้าไปหน่อย

กองทุนรวมปันผล
หลังจากคุณมีเงินฝากประจำรายเดือนแล้ว มีเงินฝากประจำในรูปพันธบัตรแล้ว เพื่อเพิ่มความคึกคักด้านการเงิน เราควรมีหุ้นกองทุนรวมที่จ่ายปันผลติดตัวไว้ก็จะดีไม่น้อย ขอให้เข้าไปอ่านห้องสินธร รับรองได้ความรู้มากมายมหาศาล กองทุนรวมแบบปันผลมีให้เลือกหลายธนาคาร ที่ห้องสินธรฮิตกันก็มี SCBDV ขวัญใจของพวกเรา ปันผลปีละ 2 ครั้งบ้าง หนึ่งครั้งบ้าง ตามแต่ผลประกอบการบริษัทที่กองทุนรวมไปลงทุนไว้ ราคาหุ้นกองทุนก็ไม่แพงมาก 10 -11 บาทต้น ๆ เท่านั้น

บางคนจะไม่ชอบหุ้นปันผล เพราะเวลาปันผลหุ้นจะตก ราคาหายไปเท่ากับที่ปันผล เหมือนเราไม่ได้อะไรกลับมา แต่สักพักหุ้นก็ไล่ขึ้นไป เป็นอย่างนี้แน่นอน หากคุณคิดจะเก็บเงินระยะยาว ไม่รีบร้อนขาย ทะยอยซื้อหุ้นกองทุนรวมปันผลไว้ก็ดีไม่น้อย สะสมหน่วยลงทุนไว้ทุก ๆ เดือน ซึ่งเขากำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทเท่านั้นเอง

วิธีการที่ชาวสินธรแนะนำไว้คือ ทะยอยซื้อแบบ DCA ( Dollar Cost Average) นั่นก็คือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่า ๆ กันในเวลาคงที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ซื้อหุ้นกองทุนทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือนในจำนวนเงิน 5,000 บาททุกครั้ง โดยไม่ต้องสนใจว่าตลาดหุ้นจะเขียวจะแดง นับเป็นการออมเงินในรูปแบบที่มีวินัยที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ในกรณีที่คุณมีเวลาดูตลาดหุ้น ก็ขอให้เลือกซื้อตอนตลาดหุ้นแดงเดือดก็น่าจะดี ต้นทุนก็จะได้ถูกลง

หากราคาหุ้นกองทุนขึ้นสูงมาก กำไรถึง 20 % ช่างเป็นราคาเร้าใจเกินห้ามใจจริง ๆ แม้แต่เดิมคิดว่าจะเก็บไว้สัก 4 -5 ปีถึงจะขาย ก็ขอให้ "ขาย" ไปบางส่วนเพื่อทำกำไรก็น่าจะดี แล้วค่อย ๆ ซื้อสะสมกลับเข้ามาใหม่ก็ได้ ไม่มีใครว่าคุณหรอก เงินคุณแท้ ๆ เมื่อได้กำไรจากการลงทุนจะทำให้มีกำลังใจทำงานต่อไป

อย่าลืมเก็บใบหักภาษีของกองทุนรวมไว้ไปยื่นขอคืนได้ใน ภงด. 90 หากรายได้คุณไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

ทองคำ
ช่วงนี้ทองแพงหูฉี่ กล้าดียังไงมาบอกให้ซื้อทอง ^ ^ หากเป็นฟรีแลนซ์แล้วรายได้ท่วมท้นจนไม่รู้จะเก็บไว้ไหน การซื้อทองคำเก็บไว้ในระยะยาว 5 -10 ปี ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดี ไม่ได้ซื้อเก็งกำไร เพราะช่วงนี้คนซื้อทองตัวเกร็งกันเป็นแถว ๆ จังหวะดี ๆ รวยชั่วข้ามคืนกันเลยทีเดียว จังหวะไม่ดีก็ถือกันยาวหน่อย สำหรับพวกเราไม่ได้มีเงินมาก ซื้อทองคำแท่งครั้งละ 5 บาทเก็บไว้ทุกปีก็เป็นการออมที่ดี ยังไง ๆ ทองก็ต้องขึ้นอยู่แล้ว พอแก่ลงคุณค่อย ๆ เอาทองออกมาขายปีละ 5 บาท โห ไม่อยากคิดว่าตอนนั้นราคาทองจะพุ่งไปขนาดไหน ที่สำคัญการซื้อขายทองไม่ต้องเสียภาษี เหมาะกับฟรีแลนซ์ไฮโซอย่างพวกเรามาก

กองทุน LTF หากชีวิตฟรีแลนซ์ของคุณประสบความสำเร็จ เงินทองไหลมาราวห่าฝน รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วไม่เกินแสนห้า ไม่ต้องเสียภาษี แต่คุณมือขึ้นรายได้ต่อปีเกินแสนห้าจนถึงห้าแสน เสีย 10 % เกินห้าแสนไปจนถึงหนึ่งล้าน โดนไป 20 % วิธีลดการเสียภาษีให้น้อยลงคือ พุ่งตรงไปซื้อ LTF เลือกของธนาคารไหนก็ได้ ดูย้อนหลังผลประกอบการดีงาม ให้ซื้อไว้เลย ซื้อไว้หักภาษีสูงสุดไม่เกิน 15 % ของรายได้
LTF เป็นการออมเงินระยะยาว 5 ปีปฏิทิน ได้ผลตอบแทนดี พอครบ 5 ปี (นับจากพ.ศ.) ก็นำไปขายได้เงินบวกกำไรจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น เท่าที่เห็นเกิน 20 % แน่นอน

นี่คือหลากหลายวิธีออมเงินที่เสี่ยงน้อยมาก ยังมีอีกหลายวิธีที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ซึ่งคุณสามารถศึกษาเองได้จากที่อื่น ๆ ข้อสำคัญตอนนี้ต้องไปหาเงินมาออมให้ได้นี่แหละยากที่สุด ว่าแล้วพวกเราชาวฟรีแลนซ์ก็แยกย้ายกันไปโทรหาลูกค้ากันเถิด เผื่อจะได้เงินหมื่นเงินแสนไปเริ่มออมไว้ใช้ยามชรา

ป.ล. อยากได้ความรู้เพิ่มเติมแวะเข้าห้องสินธรได้นะคะ เพื่อน ๆ ในห้องนั้นแสนดี.. แนะนำการลงทุนและให้ข้อคิดดี ๆ สำหรับคุณได้แน่นอน

ขอจบชุด ฟรีแลนซ์ เพียงเท่านี้ เป็นข้อมูลจากชีวิตจริง ซึ่งอาจไม่ตรงกับความคิดท่านอื่น ๆ หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ขอความสวัสดีมีชัยจงมีแก่ฟรีแลนซ์ทุก ๆ ท่าน ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน และเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนค่ะ..







Create Date : 08 กันยายน 2554
Last Update : 8 กันยายน 2554 14:30:21 น. 3 comments
Counter : 1333 Pageviews.  
 
 
 
 
 
 

โดย: sawbanphon วันที่: 8 กันยายน 2554 เวลา:13:33:10 น.  

 
 
 
ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจเรื่องการลงทุนเลยค่ะ
ไม่ถนัดจริงๆ
กว่าจะเปิดบัญชีฝากประจำได้ก็หลังจากทำงานมากว่าสิบปี
ฝากแล้วก็แล้วกัน แล้วก็ลืม

อ่านบล็อกนี้แล้วคิดว่าคงจะต้องศึกษาเรื่องัพนธบัตรรัฐบาลกับ LTF บ้างแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณนะคะที่นำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง
 
 

โดย: กาน้ำชากะเชี่ยนหมาก วันที่: 10 กันยายน 2554 เวลา:21:38:58 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะที่ติดตามอ่าน

ออมก่อนรวยก่อน เขาว่ากันอย่างนั้นค่ะ แต่พอมีเงินออมมาก ๆ ก็อยากเอาไปใช้ตลอดเลย คริ คริ
 
 

โดย: แมวดำอำมหิต วันที่: 12 กันยายน 2554 เวลา:14:13:49 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

แมวดำอำมหิต
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฉันรักแมว รักหนังสือ รักดนตรี และอยากเห็นคนบนโลกนี่มีความสุข เกื้อกูล แบ่งปัน ให้แก่กันและกัน
[Add แมวดำอำมหิต's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com