Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
7 เมษายน 2553
 
All Blogs
 

ลมพิษ

imageลมพิษ (urticaria) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่ได้มาพบแพทย์ เนื่องจากบ่อยครั้งที่อาการจะหายไปได้เอง หรือเมื่อได้รับยาแก้แพ้ ประชากรมากกว่าร้อยละ 20 เคยเป็นลมพิษมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง จากการสำรวจครั้งหนึ่งในหมู่นักศึกษาแพทย์ พบว่าร้อยละ 58 ให้ประวัติว่าเคยเป็นลมพิษมาก่อน และอีกการสำรวจหนึ่งในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-12 ปี ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 28.9 เคยเป็นลมพิษ โดยที่ร้อยละ 21.6 ทราบสาเหตุ และสาเหตุเกิดจากอาหารร้อยละ 8.2


ลมพิษพบได้ทุกอายุ แต่พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และจะพบบ่อยที่สุดในวัยหนุ่มสาว เพศหญิงเป็นลมพิษบ่อยกว่าเพศชาย ลมพิษเฉียบพลัน มักเป็นในเด็กและวัยรุ่น ส่วนลมพิษเรื้อรังมักพบในคนอายุกลางคนขึ้นไป


กลไกการเกิดลมพิษ



  1. ลมพิษเป็นอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง เกิดจากเซลล์ชนิด mast cells ที่อยู่รอบๆ เส้นเลือดใต้ผิวหนัง ถูกกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ กัน ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมี และโปรตีนที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว และทำให้นํ้าเหลืองและโปรตีนซึมออกนอกหลอดเลือด ปรากฏเป็นเป็นผื่นนูนแดง และมีผื่นแดงราบรอบๆ

  2. สารเคมีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเกิดลมพิษคือ ฮีสตามีน (histamine)

  3. ในรายที่เป็นมากจะมีการบวมของเนื้อใต้ผิวหนังอย่างมากได้ เรียกว่า "ลมพิษชนิดบวม" หรือ ลมพิษชนิดลึก (angioedema)

  4. การกระตุ้น mast cells อาจเป็นได้ทั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ซึ่งเป็นขบวนการที่อาศัยแอนติบอดีชนิด IgE และอาจเป็นผลโดยตรงจากสารหลายชนิด อาทิเช่น มอร์ฟีน โคดิอีน สารทึบรังสี รวมทั้งอาหารบางชนิด ซึ่งสามารถกระตุ้น mast cells ได้โดยตรง


image


ลมพิษชนิดเฉียบพลัน


ลมพิษชนิดเฉียบพลันคือ ผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายอาจรุนแรง ลมพิษชนิดนี้หายไปภายใน 6 สัปดาห์ แตกต่างจากลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ อาการของโรคเพิ่งเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของผื่นลมพิษกับสาเหตุของโรคได้ โรคติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เป็นสาเหตุของลมพิษชนิดเฉียบพลันที่พบบ่อย อาการผื่นลมพิษอาจนำหน้าอาการไอเจ็บคอ ท้องเดิน ที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย หรือเกิดภายหลังอาการดังกล่าวก็ได้ แต่มักอยู่ในระยะ 2 สัปดาห์ หลังเกิดอาการ และที่แตกต่างอีกประการหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคลมพิษเฉียบพลัน คือ มักพบความสัมพันธ์ชัดเจนกับสารเคมีที่เป็นสาเหตุ เช่น ยา หรืออาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยมักจะได้สารเคมีนั้นในระยะ 2 สัปดาห์เกิดผื่น

ลมพิษชนิดเรื้อรัง


ลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ ผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง ผื่นจะขึ้นๆ ยุบๆ เป็นอยู่นานเกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หาสาเหตุไม่ได้ ผู้ป่วยจึงมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ นานเป็นเดือนหรือเป็นปี


สาเหตุ



  • อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ปลาทะเลimage

  • อาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ ถั่ว นม

  • เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ชนิดต่างๆ

  • อาหารหมักดอง เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง น้ำส้มสายชู น้ำพริก กะปิ ปลาร้า

  • ผักและผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ ส้มโอ องุ่น และส้ม จะมีสารประเภทซาลิซัยเลต ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน

  • ขนมปัง และอาหารที่มีเชื้อยีสต์ผงฟูเป็นส่วนผสม

  • ยากันบูด อาหารกระป๋องที่ใช้สารกันบูด

  • สีผสมอาหารบางชนิด

  • ยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลิน ซัลฟา ยาต้านอักเสบของกระดูกและข้อ ยาระบาย ยาแก้ปวด ยานอนหลับ หรือวิตามิน โดยอาการมักจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากได้รับยา หรือบางคนอาจกินเวลานาน 7-10 วัน

  • ลมพิษอาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น ฟันผุ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและในช่องคลอด

  • สารระเหย และละอองเกสรที่ได้รับโดยการหายใจ เมื่อสูดฝุ่น เชื้อราในอากาศ เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ เข้าไปมากๆ ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน

  • แมลงอาจก่อให้เกิดลมพิษได้จากการสัมผัสหรือถูกกัด เช่น ตัวไร ริ้น บุ้ง หรือจากการต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า มดแดงไฟ มดตะนอย บางครั้งอาการรุนแรงมาก มีลมพิษ บวมทั้งตัว บางคนอาจถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้

  • เกิดจากการกดรัดที่ผิวหนัง

  • บางคนแพ้ความเย็น อากาศเย็น น้ำเย็น หรือเวลากินน้ำแข็งแล้วเกิดบวมในบริเวณคอ หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือ เป็นผลจากโรคในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส หรือมะเร็งบางชนิด

  • แสงแดด อาจเกิดจากการแพ้แดด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 30-40 ปี เมื่อถูกแสงแดดแล้วจะเกิดผื่นคันขึ้นมา สามารถป้องกันได้ด้วยการทาครีมกันแดด

  • ปฏิกิริยาอิมมูนและโรคออโตอิมมูน พบว่าเป็นสาเหตุของลมพิษได้บ่อยพอสมควร


ลมพิษที่เกิดจากแพ้อาหารทะเล



  1. imageสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในปลาทะเล โปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในอาหารปลาทะเล ได้แก่ parvalbumins ส่วนโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในอาหารประเภทกุ้งและหอย ได้แก่ tropomyosin โปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่พบในเนื้อปลา เรียกว่า Gad c1 หรือเดิมเรียกว่า protein M ต่อมาได้มีการศึกษาว่าการแพ้อาหารปลาทะเลนั้นมีปฏิกิริยาข้ามพวกหรือไม่ หมายความว่าถ้าแพ้ชนิดหนึ่งแล้วจะแพ้ชนิดอื่นๆ ด้วยหรือไม่ พบว่ากรณีของโปรตีน parvalbumins ซึ่งเป็นโปรตีนจับกับแคลเซียม ก่อให้เกิดปฏิกิริยาข้ามพวกได้ ผู้ที่ทำการทดสอบการแพ้อาหารแล้วพบว่าแพ้ปลา cod จะแพ้ปลาชนิดอื่นๆ เช่น herring, plaice และ mackerel ด้วย

  2. แพ้กุ้ง จากการศึกษาผู้ที่มีอาการแพ้เนื้อกุ้งจำนวนหนึ่ง พบว่าร้อยละ 80 จะเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อเนื้อปูและเนื้อกั้งด้วย เมื่อนำมาทำการทดสอบผิวหนังจะให้ผลบวกที่ชัดเจน นอกจากนี้ผู้ที่เกิดอาการแพ้ทันทีหลังจากที่กินเนื้อกุ้ง ร้อยละ 50 จะแพ้เนื้อกั้งในเวลาต่อมา และทุกรายจะเกิดปฏิกิริยาแพ้เนื้อปู จากรายงานดังกล่าวพบผู้ที่แพ้เนื้อกุ้งเพียงชนิดเดียวร้อยละ 20 เท่านั้น รูปที่ 143


  3. ข้อมูลการแพ้อาหารทะเลในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีสถิติผู้ที่แพ้อาหารทะเลเป็นจำนวนมาก ได้มีการศึกษาชนิด cluster analysis วิเคราะห์สารก่อภูมิแพ้ในอาหารทะเล และแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้




  • กลุ่มปลา salmon, sardine, horse mackerel, mackerel

  • กลุ่มปลา cod และ tuna

  • กลุ่มปลาหมึกและปลาหมึกยักษ์

  • กลุ่มปูและกุ้ง



ลมพิษที่เกิดจากแพ้แอลกอฮอล์


imageเมื่อเราดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอยู่ เช่น เบียร์ ไวน์ สุรา เครื่องดื่มนี้จะผ่านจากปากไปยังกระเพาะอาหารและสู่ลำไส้เล็ก แอลกอฮอล์ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุผนังปาก และกระเพาะอาหาร ส่วนที่เหลือจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม เนื่องจากโมเลกุลของแอลกอฮอล์มีขนาดเล็กและไม่ต้องการน้ำย่อยในการย่อยก่อน ฉะนั้น แอลกอฮอล์ จึงถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วเข้าสู่เลือด ถ้าหากกระเพาะอาหารว่าง แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมหมดภายใน 30 นาทีหลังการดื่ม แต่ถ้าในกระเพาะอาหารมีอาหารอยู่ อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 90 นาทีหรือนานกว่า แอลกอฮอล์ไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าร่างกายโดยการหายใจเอาไอ และไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้


มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อาจรู้จักดื่มแอลกอฮอล์ โดยบังเอิญได้ดื่มน้ำผึ้งที่ถูกปล่อยทิ้งในอากาศนานๆ และพบวิธีทำแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีหมักผลไม้เป็นเวลานานๆ ก็สามารถมีแอลกอฮอล์ไว้ดื่มกินได้ทันที ในยุดแห่งการล่าอาณานิคม ไม่มีน้ำสะอาดจะดื่มกิน ผู้คนจึงต้องหันไปดื่มเอธิลแอลกอฮอล์แทน เพราะการมีคุณสมบัติกรดเล็กน้อยของแอลกอฮอล์ได้ฆ่าเชื้อโรคจนหมดสิ้น การดื่มแอลกอฮอล์จึงปลอดภัยและเมื่อผู้ดื่มได้พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้ผู้ดื่มกระชุ่มกระชวย นักประวัติศาสตร์ได้เห็นหลักฐานความนิยมนี้จากแผ่นดินเหนียวที่ถูกแกะสลักเป็นตัวอักษรแสดงสูตรการทำเบียร์ของชาวบาบิลอน



ส่วนชาวตะวันออกไม่มีวัฒนธรรมการดื่มเช่นนี้ ตลอดระยะเวลา 2,000 ปีที่ผ่านมา คนตะวันออกรู้จักดื่มแต่ชา ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เจือปน การไม่รู้จักดื่มมาแต่ในอดีต ทำให้ร่างกายคนตะวันออกขาดเอ็นไซม์ที่จะใช้ในการย่อยแอลกอฮอล์ ดังนั้น คนเหล่านี้เวลาดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย จะเกิดอาการแพ้แอลกอฮอล์ได้ง่าย


ลมพิษที่เกิดจากอาหารหมักดอง


อาหารหมักดองเป็นการถนอมอาหารที่ประหยัดที่สุด แยกเป็น 4 ประเภท คือ อาหารหมักดองประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา อาหารหมักดองประเภทผัก และผลไม้ดอง ซึ่งมีแบบเค็ม แบบเปรี้ยว แบบหวาน รวมทั้งอาหารหมักดองธัญพืช เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊วขาว อาหารหมักดองประเภทเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ ไวน์ สาเก บรั่นดี ก็จัดอยู่ในอาหารหมักดองด้วย และอาหารหมักดองประเภทผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ต เนย


อาหารหมักดองประเภทเนื้อสัตว์ส่วนมากจะมีการเติมสารบางอย่างเพื่อที่จะป้องกันการเน่าเสีย คือ เติมเกลือ
ไนเตรท ไนไตรท์
ซึ่งการเติมเกลือส่วนมากจะใส่ในประเภทไส้กรอก กุนเชียง ปลาร้า ซึ่งถ้าใส่ในปริมาณเล็กน้อยผู้บริโภคก็จะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่ผู้ผลิตบางรายนิยมใส่มากเกินความจำเป็น ประโยชน์ในการใส่เกลือไนเตรท ไนไตรท์ในเนื้อสัตว์ เพราะทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดงน่ารับประทาน


imageลมพิษที่เกิดจากสารกันบูด


สารกันบูด เป็นสารเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหาร โดยอาจจะใส่ลงในอาหาร พ่น หรือฉาบรอบๆ ผิวของอาหาร หรือภาชนะบรรจุ สารดังกล่าวจะทำหน้าที่ยับยั้ง หรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียโดยอาจจะไปออกฤทธิ์ต่อผนังเซลล์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ หรือกลไกทางพันธุกรรมในเซลล์ ยังผลให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้หรือตายในที่สุด พอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้


ชนิดของสารกันบูดที่ใช้กันโดยทั่วไป



  1. กรด และเกลือของกรดบางชนิด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโปรปิโอนิก ฯลฯ และเกลือของกรดเหล่านี้ ส่วนใหญ่นิยมใช้ในรูปเกลือของกรด เพราะละลายน้ำได้ง่าย เมื่อใส่ในอาหารเกลือเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของกรด หากอาหารนั้นมีความเป็นกรดสูง กรดจะคงอยู่ในรูปที่ไม่แตกตัว ซึ่งเป็นรูปที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำลายหรือยับยั้งเชื้อ ดังนั้นอาหารที่จะใช้สารกันบูดชนิดนี้ควรจะเป็นอาหารที่มีความเป็นกรดประมาณ 4-6 ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของกรด เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม แยม ผักดองชนิดต่างๆ ขนมปัง ฯลฯ สารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะให้ผลยับยั้งราและยีสต์มากกว่าแบคทีเรีย ข้อดีของสารกลุ่มนี้คือมีความเป็นพิษต่ำ เพราะร่างกายคนสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสารอื่นที่ไม่มีพิษและขับถ่ายออกจากร่างกายได้

  2. พาราเบนส์ เป็นสารกันบูดที่มีประสิทธิภาพยับยั้งหรือทำลายราและยีสต์ได้ดีกว่าแบคทีเรีย และจะมีประสิทธิภาพสูงในช่วงความเป็นกรดด่าง (pH) กว้างกว่าสารกลุ่มแรกคือประมาณ 2-9 อาหารที่นิยมใส่พาราเบนส์ ได้แก่ น้ำหวานผลไม้ น้ำผลไม้ แยม ขนมหวานต่างๆ สารปรุงแต่งกลิ่นรส ฯลฯ ร่างกายคนจะมีกระบวนการขจัดพิษของพาราเบนส์ได้โดยปฏิกิริยาไฮโดรลีซิส

  3. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และซัลไฟต์ กลไกในการทำลายเชื้อของสารกันบูดชนิดนี้จะคล้ายคลึงกับสารกันบูดกลุ่มแรกและจะมีประสิทธิภาพสูงในอาหารที่มีความเป็นกรดด่างปริมาณน้อยกว่า 4 ลงมา จึงนิยมใส่ในไวน์ น้ำผลไม้ต่างๆ ผักและผลไม้แห้ง ฯลฯ สำหรับความปลอดภัยต่อผู้บริโภคนั้น พบว่าแม้สารนี้จะถูกขับออกมาจากร่างกายได้ แต่หากร่างกายได้รับสารนี้มากเกินไป สารดังกล่าวจะไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกายได้ นอกจากนี้สารกันบูดกลุ่มนี้ยังทำลายไธอามีน หรือวิตามิน B1 ในอาหารด้วย

  4. สารปฏิชีวนะ ข้อดีของสารปฏิชีวนะคือ ความเป็นกรดด่างของอาหารไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของสาร ซึ่งอาหารที่นิยมใส่สารปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ อาจจะพบว่าใช้กับผักและผลไม้สดด้วย สารปฏิชีวนะจะทำลายหรือยับยั้งจุลินทรีย์ได้หลายชนิดขึ้นกับชนิดที่ใช้ ข้อเสียของสารกันบูดชนิดนี้คือ มักจะก่อให้เกิดสายพันธุ์ต้านทานขึ้น


ลมพิษที่เกิดจากสีผสมอาหาร


ในปัจจุบันพบว่าได้มีการนำสีมาปรุงแต่งอาหารเพื่อให้อาหารนั้นดูสวยงาม น่ารับประทาน เป็นที่ดึงดูด และน่าสนใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่นอกจากความสวยงามแล้ว ผู้ผลิตบางรายยังใส่สีลงไปในอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องของผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น ใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้ คุณภาพ หรือเอาของที่เก็บกลับคืนมาไปทำการผลิตใหม่ เป็นต้น รวมทั้งผู้ผลิตบางรายไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง จึงใช้สีย้อมผ้า ย้อมกระดาษแทนสีธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์ ด้วยเห็นว่าสีย้อมผ้าให้สีที่ติดทนนานกว่า และราคาถูกกว่า จึงก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค


สีผสมอาหารเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่



  1. สีอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ เช่น สีแดง ได้แก่ ปองโซ 4 อาร์ เออริโธรซีน คาร์โมอีซีน หรือ
    เอโซรูบีน สีเหลือง ได้แก่ ตาร์ตราซีน ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ ไรโบฟลาวิน สีเขียว ได้แก่ ฟาสต์กรีน เอฟซีเอฟ สีน้ำเงิน ได้แก่ อินดิโกคาร์มีน หรืออินดิโกทีน บริลเลียนต์บลู เอฟซีเอฟ

  2. สีอนินทรีย์ ได้แก่ ผงถ่านที่ได้จากเผาพืช และไตเตเนียมไดออกไซด์

  3. สีที่ได้จากธรรมชาติ โดยการสกัดพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ที่ใช้บริโภคได้โดยไม่เกิดอันตราย และ
    สีชนิดเดียวกันที่ได้จากการสังเคราะห์




  • สีธรรมชาติที่สกัดจากพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ ได้แก่ สีเหลือง จากขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย
    ดอกโสน ฟักทอง ลูกตาลยี ดอกคำฝอย ดอกกรรณิการ์ และลูกพุด สีแดง จากครั่งซึ่งเป็นแมลงตัวเล็กๆ ชอบอาศัยอยู่ตามต้นก้ามปู ต้นโพธิ์ ต้นทองกวาว ข้าวแดง มะเขือเทศสุก กระเจี๊ยบ มะละกอ ถั่วแดง และพริกแดง สีม่วง จากดอกอัญชันสีน้ำเงินผสมมะนาว
    ข้าวเหนียวดำ และถั่วดำ สีเขียว จากใบเตย ใบย่านาง พริกเขียว และใบคะน้า สีน้ำตาล จากน้ำตาลไหม้ สีน้ำเงิน จากดอกอัญชัน สีดำ จากถ่านกาบมะพร้าว ถั่วดำ และดอกดิน
    สีแสด จากเมล็ดของผลคำแสด

  • สีชนิดเดียวกันที่ได้จากการสังเคราะห์ นิยมใช้โคชินิล และสีจากคาโรทีนอยด์ ได้แก่
    แคนธาแซนธีน, คาโรทีน, เบตา-คาโรทิน, เบตา-อะโป-8-คาโรทีนาล, เบตา-อะโป-8-คาโรทีโนอิค แอซิด, เอทิลเอสเตอร์ของเบตา-อะโป-8-คาโรทีโนอิค แอซิด, เมทิลเอสเตอร์ของทเบตา-อะโป-8-คาโรทีโนอิค แอซิด, คลอโรฟิลล์ และคลอโรฟิลล์คอปเปอร์คอมเปลกซ์



image


อาการ



  1. ผื่นลมพิษเกิดบริเวณใดของผิวหนังก็ได้ มีขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร จนถึงขนาด 20 เซนติเมตร ผื่นมีหลายรูปแบบเช่น กลม รี วงแหวน วงแหวนหลายๆ วงมาต่อกัน หรือเป็นรูปแผนที่

  2. ผื่นลมพิษชนิดลึกมักเกิดบริเวณรอบตา ปาก ปลายแขน รายที่เป็นรุนแรงจะบวมมาก โดยเฉพาะบริเวณ
    ใบหน้า และลำคอ ซึ่งเป็นเครื่องเตือนว่าผู้ป่วยอาจเกิดอันตรายจากการอุดตันของทางเดินลมหายใจ ถ้า
    ผู้ป่วยมีอาการแน่น หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และ
    ทันท่วงที

  3. ผื่นลมพิษยุบหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง และผิวหนังจะมีลักษณะปกติเมื่อผื่นยุบแล้ว โดยไม่ทิ้ง
    ร่องรอยอะไรไว้ และไม่พบความผิดปกติอื่นๆ เช่น จุดเลือดออกร่วมด้วย ผื่นลมพิษจะมีอาการคันเป็นหลักโดยไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด


การวินิจฉัย


การวินิจฉัยผื่นลมพิษมักทำได้ไม่ยากผื่นลมพิษเป็นผื่นชนิดเดียวที่ขึ้น และยุบสนิทภายในเวลาอันสั้นมาก ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยได้ โรคสำคัญที่สุดที่ต้องวินิจฉัยแยกออกจากผื่นลมพิษธรรมดา คือ ลมพิษชนิดที่มีหลอดเลือดอักเสบร่วมด้วย (urticarial vasculitis) ซึ่งมักจะตรวจพบลักษณะอื่นๆ ร่วมด้วย และควรพิจารณาตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เพื่อวินิจฉัยด้วยลักษณะทางกล้องจุลทรรศน์ยืนยัน


imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ที่นี่





 

Create Date : 07 เมษายน 2553
1 comments
Last Update : 7 เมษายน 2553 16:54:23 น.
Counter : 1247 Pageviews.

 

 

โดย: จีนี่ในกระจกแก้ว 7 เมษายน 2553 20:59:08 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.