Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
13 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
ระวังตัวตืดขึ้นสมอง


พยาธิตัวตืด Tapeworm พยาธิตัวตืด (Tapeworm) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มของพยาธิตัวแบน ไฟลัมแพลทีเฮลมินธิส ลำตัวของพยาธิแบนจากบนลงล่าง ลักษณะคล้ายริบบิ้น ผิวลำตัวอ่อนนิ่ม ลำตัวแบ่งเป็นปล้องๆ ดำรงชีวิตแบบปรสิต โดยต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นช่วยในการดำรงชีวิต ไม่สามารถอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์ได้ถึง 1 ล้านตัวต่อวัน ในแต่ละปล้องของพยาธิตัวตืดสามารถแบ่งตัวและเติบโตเป็นพยาธิตัวใหม่ได้ พยาธิตัวตืดแบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ๆ ตามชนิดของสัตว์ที่พยาธิไปอาศัยอยู่ในลำไส้ในช่วงเป็นตัวอ่อน ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู และพยาธิตัวตืดวัว

โรคพยาธิเม็ดสาคูในสมอง ส่วนใหญ่พยาธิตัวตืดที่เข้าไปในสมองในช่วงแรกจะเกิดปฏิกิริยาอักเสบในสมอง เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง กลไกของร่างกายพยายามจะทำให้พยาธิตายลง พอตายก็จะเกิดมีหินปูนมาเกาะอยู่ การที่เกิดแคลเซี่ยมนั่นแสดงว่า ตัวพยาธิได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหินปูนที่คล้ายๆ เป็นแผลเป็นในสมอง แผลเป็นตัวนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากว่าจะทำให้ไฟฟ้าในสมองส่วนตำแหน่งนั้นผิดปกติ แล้วทำให้เกิดอาการวูบ หรืออาการชักตามมาได้ โดยทั่วไปมักจะบอกไม่ได้ว่าแคลเซี่ยมตัวนี้เกิดเมื่อไหร่ แต่คงเกิดมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนใหญ่คนที่มีหินปูนแล้วมักไม่ทราบว่าตัวเองมีโรค ในกรณีที่อดนอน หรือทำงานเหนื่อย อาจเกิดอาการวูบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ก็จะตรวจพบว่ามีตัวพยาธิอยู่ในสมองแล้ว


พยาธิตัวตืด-Tapewarm bangkokhealth


พยาธิที่พบในสมองของผู้ป่วยเป็นพยาธิตัวตืดหมู โดยมากจะพบในเนื้อหมู ผักสดที่ปรุงไม่สะอาด อาจเป็นไปได้ที่ ผู้ป่วยเผลอกินอาหารประเภทนี้เข้าไป โดยทั่วไปพยาธิชนิดนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก มือและเท้าชา แพทย์รักษาโดยการฉีดยาฆ่าพยาธิ และต้องใช้เวลา 10-14 วัน เพื่อติดตามดูอาการ บางครั้งพบว่าพยาธิอาจดื้อยา แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะหายเป็นปกติ ในหมูดิบมีตัวพยาธิเป็นเม็ดสาคูสีขาวๆ อยู่ ถ้าบังเอิญตัดไปเจอเข้า แต่ที่มองไม่เห็นและเคี้ยวเข้าปากลงไปในกระเพาะอาหาร กระจายไปทั่วร่างกายตามกระแสเลือด ไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ ผิวหนัง หรืออยู่ในสมองเป็นถุงน้ำเล็กๆ ที่เรียกว่า “ซิสต์” ซึ่งซิสต์ที่อยู่ในเนื้อสมอง อาจทำให้เกิดอาการชัก เป็นลม วิงเวียน ปวดศีรษะ โรคพยาธิเม็ดสาคูนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า cysticercosis ผู้ป่วยเป็นมากอาจถึงกับเสียชีวิตได้

พยาธิตัวแบน

พยาธิตัวแบนเป็นไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวแบนจากบนลงล่าง ลักษณะคล้ายริบบิ้น ผิวลำตัวอ่อนนิ่ม ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบปรสิต ยกเว้นบางชนิดอาจดำรงชีวิตแบบอิสระ ขนาดและความยาวแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดย่อยของหนอนพยาธิตัวแบน แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและสั้น ยกเว้นพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืด


พยาธิตัวแก่มีความยาวประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วยจำนวนปล้องมากมาย อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ปล้องของพยาธิจะหลุดออกมากับอุจจาระหรือออกมาเอง แล้วแตกซึ่งจะปล่อยไข่ ปล้องหนึ่งมีไข่เป็นพันเป็นหมื่นฟอง ไข่พยาธิกระจายอยู่บนพื้นดินหรือพื้นหญ้า เมื่อวัวหรือหมูกินไข่พยาธิที่ออกจากอุจจาระคนเข้าไป ตัวอ่อนจะฟักในสำไส้ และไชเข้ากระแสเลือดไปอยู่ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยมีถุงหรือซิสต์หุ้ม เป็นถุงเล็กๆ ขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู จึงเรียกว่าเนื้อสาคู หรือหมูสาคู ถ้าคนกินเข้าไป ตัวอ่อนก็จะไปเจริญเป็นตัวแก่ต่อไป คนที่กินไข่ของตืดหมูที่ออกจากอุจจาระผู้ป่วย ซึ่งปนเปื้อนตามมือ ผักหรืออาหาร หรือตัวผู้ป่วยเองเกิดอาเจียนขย้อนเอาไข่ที่อยู่ในปล้องแก่ของพยาธิขึ้นมาอยู่ในกระเพาะอาหาร ตัวอ่อนก็จะฟักตัวออกจากไข่ แล้วไชเข้ากระแสเลือดกลายเป็นซิสต์กระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย เรียกว่าโรคซิสต์พยาธิตืดหมู (cysticerosis) ซึ่งอาจอยู่ในกล้ามเนื้อและสมอง แต่คนที่กินไข่ของตืดวัว ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะตายไป ไม่เกิดอันตรายเหมือนกินตืดหมู


พยาธิตัวตืด-Tapewarm bangkokhealth


รูปร่างลักษณะ



  1. ส่วนหัว เป็นส่วนที่อยู่ปลายหน้าสุดมีขนาดเล็ก มีหน้าที่เป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะกับผนังลำไส้ของโฮสต์ ซึ่งพยาธิตัวตืดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างของส่วนหัวแตกต่างกันไป จึงสามารถใช้อวัยวะส่วนนี้จำแนกชนิดของพยาธิได้

  2. ส่วนคอ เป็นส่วนที่ต่อจากส่วนหัว เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนที่มีการงอกของปล้องใหม่ ออกไปเรื่อยๆ ทำให้พยาธิตัวยาวขึ้น

  3. ส่วนปล้อง เป็นส่วนที่ต่อจากคอจะแบ่งเป็นปล้องๆ แบนๆ บางชนิดอาจมีหลายปล้องต่อกันเป็นสาย ปล้องของพยาธิตัวตืดแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนอาจมีได้ตั้งแต่ 3-3,000 ปล้อง ขนาดและรูปร่าง แต่ละปล้องจะยึดติดกันด้วยกล้ามเนื้อ ท่อขับถ่าย และเส้นประสาท

  4. ระบบย่อยอาหารของพยาธิตัวตืด ทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์ มีแต่ปาก ไม่มีทวารหนัก

  5. พยาธิตัวตืดไม่มีระบบหายใจ แต่ใช้การแลกเปลี่ยนก๊าซโดยแพร่ผ่านผนังลำตัวแทน

  6. ระบบประสาทเป็นแบบวงแหวนหรือแบบขั้นบันได ไม่มีระบบโครงค้ำจุน cและไม่มีระบบหมุนเวียนโลหิต แต่จะอาศัยการแลกเปลี่ยนก๊าซและของเสียผ่านทางผิวหนังโดยตรง ผิวหนังจึงสร้างความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

  7. สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ โดยอาศัยการงอกใหม่ และสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ หนอนตัวแบนมีสองเพศในตัวเดียวกัน สามารถผสมพันธุ์โดยผสมข้ามตัวหรือผสมภายในตัวเองแล้วแต่ชนิดของหนอนตัวแบน ไข่ที่ได้จากการผสมพันธุ์จะมีขนาดเล็ก เมื่อผสมแล้วจะปล่อยออกภายนอกตัว จากนั้นตัวอ่อนมีทั้งที่หากินแบบเป็นอิสระและเป็นปรสิต


ในประเทศไทยพบโรคพยาธิตัวตืดในภาคอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากผู้คนยังนิยมกินเนื้อดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมู ลาบเนื้อ ยำเนื้อ พล่าเนื้อ หมูแหนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นโรคพยาธิตืดวัวมากกว่าตืดหมู


วงจรชีวิต


ตัวแก่ของพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ซึ่งจัดเป็นโฮสท์เฉพาะ ปล้องแก่ของตัวพยาธิจะหลุดออกปนมากับอุจจาระหรือหลุดออกมาเอง ปล้องเดียว หรือ 2-3 ปล้อง ในแต่ละปล้องจะมีไข่อยู่ประมาณ 1000 ฟอง ต่อมาปล้องจะแตกออกปล่อยไข่กระจายปนเปื้อนอยู่ปนพื้นดินหรือติดไปตามต้นหญ้า บางครั้งปล้องอาจแตกออกก่อนในลำไส้ใหญ่ ไข่จะปนออกมากับอุจจาระ ไข่ดังกล่าวมีตัวอ่อนในระยะติดต่อ เมื่อหมูซึ่งเป็นโฮสท์กลาง กินเอาปล้องของพยาธิตัวตืด หรือไข่ที่มีตัวอ่อนในระยะติดต่อเข้าไป ตัวอ่อนจะไชออกจากไข่แล้วไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่วงจรเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อทั่วร่างกายของหมู ฝังตัวอยู่โดยมีถุงหุ้มล้อมรอบตัวอยู่ ซึ่งถือเป็นระยะติดต่ออันตราย ระยะเวลาทั้งหมดกินเวลาประมาณ 60 - 70 วัน


พยาธิตัวตืด-Tapewarm bangkokhealth


เนื้อหมูที่มีถุงอยู่ เรียกว่าหมูสาคู เพราะจะดูคล้ายๆ เม็ดสาคูอยู่ในเนื้อหมูนั้น เมื่อคนกินเนื้อหมูสาคูที่มีระยะติดต่ออันตรายแบบดิบๆ สุกๆ เข้าไป เมื้อเนื้อหมูถูกย่อยก็จะปล่อยถุงออกมา พอเคลื่อนตัวมาถึงลำไส้เล็ก ส่วนหัวจะยื่นโผล่ออกมา แล้วใช้ส่วนที่เป็นขอ และส่วนดูดติด มาเกาะติดกับผนังลำไส้ ดูดเลือดและอาหารและจะค่อยๆ งอกปล้องออกมาเรื่อยๆ เจริญต่อไปเป็นตัวแก่ต่อไป ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน ปล้องแก่เมื่อมีไข่เต็มก็จะหลุดออกปนไปกับอุจจาระเพื่อไปติดต่อแพร่กระจายต่อไป

การติดต่อ



  1. พยาธิตัวตืดติดต่อโดยการกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อควายที่มีเม็ดสาคู ซึ่งเป็นที่อยู่ของไข่พยาธิตัวตืดโดยไม่ปรุงอาหารให้สุก หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อย ลาบ หลู่ ยำ พล่า หรือรับประทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด ไข่พยาธิจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนเข้าไปในสมองและกล้ามเนื้อ

  2. ส่วนใหญ่แล้วคนไข้จะกินอาหารทีมีตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่โดยไม่รู้ตัว เมื่อกินอาหารเข้าไป พยาธิจะไปฟักตัวอยู่ในลำไส้ และไชไปตามกล้ามเนื้อเข้าสู่สมองทำให้สมองอักเสบ หากพยาธิไปอุดตันทางเดินน้ำไขสันหลัง อาจทำให้เสียชีวิตได้

  3. คนติดเชื้อพยาธิตัวตืดได้ โดยการกินเม็ดสาคูที่อยู่ในเนื้อวัวหรือเนื้อหมูที่ไม่สุก เช่น แหนมหรือลาบ พยาธิเกาะยึดกับผนังลำไส้เล็ก และเจริญเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็กโดยแย่งดูดซึมอาหารที่เรากินเข้าไป เมื่อพยาธิเจริญเป็นตัวแก่ จะสลัดปล้องที่สุกซึ่งอยู่ปลายสุดหรือปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระ หมูหรือวัวจะมากินไข่พยาธิที่ปนอยู่บนผักหรือพื้นดินเข้าไป พยาธิตัวอ่อนไชทะลุผนังลำไส้หมูหรือวัว เข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปอาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยการสร้างถุงหุ้มรอบตัวไว้ กลายเป็นเม็ดสาคูในเนื้อหมูหรือวัวในที่สุด



อาการ

โดยทั่วไปผู้ป่วยมีอาการน้ำหนักตัวลด ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย พยาธิเพียงตัวเดียวในลำไส้เล็กมักทำให้เกิดพยาธิสภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ถ้ามีตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ในการเคลื่อนตัวจะเพิ่มโอกาสทำให้เกิดลำไส้หรือไส้ติ่งอุดตัน หรืออาจเข้าไปท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนได้ สารพิษจากพยาธิอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทำให้เกิดอาการตามระบบได้ ถ้าเคลื่อนตัวมาที่ทวารหนักทำให้เกิดอาการคันรอบ ๆ ทวารหนัก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ท้องผูก หรือท้องร่วงได้ บางครั้งพบอาการแพ้ เช่น ลมพิษ คันตามผิว พยาธิอาจทำให้เกิดการอุดตันของไส้ติ่ง ท่อน้ำดี ท่อตับอ่อน ทำให้เกิดการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน

พยาธิตัวตืดอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่



  1. ลำไส้อุดตัน เนื่องจากพยาธิรวมตัวกันเป็นก้อน

  2. พยาธิไชทะลุลำไส้ ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ

  3. ขาดอาหารทั้งๆ ที่รับประทานอาหารได้มาก

  4. ถ้ามีตัวอ่อนพยาธิอยู่ในกล้ามเนื้อ จะทำให้ปวดเมื่อย

  5. หากอยู่ในสมองหรือไขสันหลัง จะทำให้ปวดศีรษะ ชัก อาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการชักที่เกิดขึ้นหลังจากให้ยาฆ่าพยาธิเป็นเพราะพยาธิใกล้ตาย จึงหลั่งสารเคมีออกมาทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้าน คนไข้จึงเกิดอาการชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนไข้ไม่ยอมรับประทานอาหาร และไม่ยอมให้น้ำเกลือ อาการจะทรุดหนักมากขึ้น โรคนี้ไม่ใช่โรคพิเศษแต่อย่างใด โดยทั่วไปแพทย์มักตรวจพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นประจำ

  6. ผู้ป่วยและญาติมักจะแปลกใจ และสงสัยว่าป่วยเป็นโรคนี้ได้อย่างไร ส่วนใหญ่ไม่สามารถจดจำประวัติการเคยกินอาหารสุกๆ ดิบๆ และมักเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีมาตลอด ดังนั้นลักษณะอาการร่วมกับความผิดปกติจากการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงมีความสำคัญในการให้การวินิจฉัย และวางแผนการรักษา การตรวจอุจจาระอาจพบไข่ของพยาธิตัวตืดหรือไม่ก็ได้


การวินิจฉัย



  1. ตรวจพบตุ่มใต้ผิวหนัง เมื่อตัดออกไปตรวจ จะพบถุงน้ำและพยาธิตัวอ่อน การตรวจด้วยตาเปล่าตามผิวหนังผู้ป่วยบางราย จะพบเป็นปุ่มเล็กๆ คล้ายถั่ว ซึ่งสามารถผ่าตัดออกมาได้

  2. พบหินปูนเป็นจุดๆ ในภาพรังสีของกล้ามเนื้อและกะโหลก

  3. พบถุงน้ำและตัวอ่อนจากการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

  4. การตรวจอุจจาระ อาจจะพบปล้องและไข่ของพยาธิ แต่มักพบหลังจากการได้รับไข่พยาธิไปแล้ว 3 เดือน ไข่ของพยาธิตัวตืดมีลักษณะพิเศษ คือ ที่เปลือกมีซี่ๆ อยู่โดยรอบ ดูคล้ายล้อเกวียน การตรวจอุจจาระด้วยตาเปล่า เป็นการดูลักษณะทั่วๆของอุจจาระ เช่น ดูสี ดูลักษณะว่าเป็นก้อนอ่อน เหลว หรือเป็นน้ำ ดูมูก กลิ่น เลือด และการพบปล้องสุกหรือไข่ในอุจจาระ การตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาไข่หรือปล้องสุก และประเมินความรุนแรงของการติดเชื้อ การตรรวจนับจำนวนแขนงของมดลูกโดยการฉีดหมึกอินเดียเข้าไปในมดลูกของพยาธิ หรือโดยการย้อมสี



ภาวะแทรกซ้อน



  1. ทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักน้อย จากการที่มีพยาธิแย่งดูดซึมอาหาร โรคพยาธิตืดหมูพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่กินเนื้อหมูเป็นอาหาร พบได้บ่อยในประเทศเม็กซิโกและประเทศในอเมริกาใต้ จีน แมนจูเรีย ปากีสถาน อินเดีย ในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชอบกินเนื้อหมูดิบๆ สุกๆ เป็นอาหาร

  2. ในพยาธิตืดหมูมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ และไม่พบในพยาธิตืดวัว ผู้ติดเชื้อโดยการได้รับไข่มาจากการกินพยาธิตัวอ่อนในเม็ดสาคู การกินปล้องสุกหรือไข่พยาธิในอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระหรือผักดิบที่ใช้อุจจาระทำปุ๋ย รวมทั้งการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวตืดตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็ก เกิดการขย้อนปล้องแก่กลับขึ้นมาในกระเพาะอาหาร พยาธิในร่างกายคนจะทำตัวคล้ายอยู่ในหมู พยาธิตัวอ่อนไชทะลุผนังลำไส้เล็กออกมาเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจะไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในอวัยวะต่างๆ

  3. อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิตัวอ่อนไปสร้างถุงหุ้มอยู่ ถ้าไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในสมอง เรียกว่า พยาธิตัวตืดหมูขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ชัก อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ถ้าไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในตา ทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นผิดปกติ ปวดตา หรือตาบอดได้ ถ้าไปสร้างถุงหุ้มอยู่ตามผิวหนัง ทำให้มีคล้ายเม็ดข้าวสารอยู่ตามผิวหนัง



การรักษา



  1. นิโคลซาไมด์ มีเบนดาโซล พราซิควันเทล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรจะซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเอง เพราะพยาธิตัวตืดหมูอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโดยตนเองจากระยะตัวอ่อนพยาธิได้ และอาจรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้

  2. Mebendazole (Fugacar) เป็นยาเม็ดขนาด 100 มิลลิกรัม ทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันนาน 3-4 วัน ให้ผลในการรักษาถึงร้อยละ 90

  3. การฉีดยากันชักช่วยควบคุมอาการชักได้ดี มีผลทำให้ง่วงซึม คนไข้จะได้พักผ่อนมากๆ อาการชักเกร็งที่มือและเท้าจะค่อยๆ หายเป็นปกติ และสามารถค่อยๆ ลดปริมาณยาลงได้ โดยทั่วไปหากครบ 7 วัน อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการตรวจน้ำไขสันหลังว่ามีพยาธิชนิดอื่นอยู่ในระบบประสาทของร่างกายคนไข้อีกหรือไม่ และจะให้การรักษาตามอาการของโรคให้เต็มที่ต่อไป

  4. บางครั้งญาติผู้ป่วยเป็นห่วงกังวลถึงผลข้างเคียงที่จะตามมาในการใช้ยาเกี่ยวกับสมอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด อาการสมองบวมเกิดจากพยาธิตัวตืดที่อยู่ภายในเนื้อสมอง ไม่ได้เกิดจากการใช้ยารักษาแต่อย่างใด

  5. ถ้าพบปล้องของพยาธิตัวตืดหลุดปนมากับอุจจาระ หรือตรวจพบไข่พยาธิตัวตืดในอุจจาระ ควรให้ยาถ่ายพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล นิโคลซาไมด์ อัลเบนดาโซล พราซิควานเทล หรือปวกหาด ถ้าสงสัยเป็นโรคพยาธิตืดหมู หลังกินยาถ่ายพยาธิ 2 ชั่วโมง ควรให้กินยาถ่ายดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 2-3 ช้อนโต๊ะ กินตามไปด้วย เพื่อเร่งการขับพยาธิออกทางลำไส้ ป้องกันการขย้อนเอาไข่ในปล้องแก่ของพยาธิขึ้นมาที่กระเพาะอาหาร

  6. ถ้าพบตุ่มขนาดเมล็ดถั่วเขียวอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย หรือมีอาการทางสมอง เช่น อัมพาต ชัก ปวดศีรษะมากหรือมีอาการทางจิต หรือมีอาการทางตา เช่น ตาแดง ตามัว ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอ็กซเรย์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจคลื่นสมอง ทำการทดสอบทางน้ำเหลือง ตัดชิ้นเนื้อที่มีตุ่มตรงใต้ผิวหนังไปตรวจหาตัวพยาธิ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าซิสต์พยาธิมีลักษณะเป็นหินปูน และผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด แต่ถ้ามีอาการทางสมองและตรวจพบว่าในเนื้อสมองมีซิสต์พยาธิที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ยาฆ่าพยาธิ พราซิควานเทล หรือ อัลเบนดาโซล ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการใช้ยาจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายรุนแรง และจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงร่วมด้วย ถ้าพบซิสต์พยาธิในตาหรือไขสันหลัง จะไม่ให้ยารักษา เพราะอาจเกิดผลเสียหายมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการชัก ก็ให้ยากันชัก ถ้ามีการอุดตันของทางไหลเวียนของน้ำในสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในสมอง อาจต้องผ่าตัดสมองเพื่อถ่ายเทเอาน้ำในสมองและไขสันหลังออกมานอกสมอง

  7. การผ่าตัดเพื่อเอาซิสต์ของพยาธิออกจากสมองเป็นเรื่องยาก และอาจทำลายถูกเนื้อสมองใกล้เคียง จึงไม่นิยมทำกัน คนที่มีอาการชักแบบลมบ้าหมู อาจเกิดจากพยาธิตืดหมู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบอาการชักครั้งแรกในคนที่มีอายุมากกว่า 25 ปี หากสงสัยควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล



การป้องกัน



  1. การป้องกันโรคนี้ทำได้โดยเลือกอาหารเช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ต้องมีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น และไม่มีเม็ดสาคู ก่อนซื้อเนื้อวัวหรือเนื้อหมูมารับประทาน ควรตรวจดูด้วยว่าเนื้อนั้นมีเม็ดสาคูหรือไม่ รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูที่สุก หรือเนื้อหมูที่ผ่านการทำลายตัวอ่อนแล้ว เช่น การฉายรังสี หรือเก็บเนื้อหมูไว้ในตู้เย็นที่ –20 องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง

  2. หากเป็นผักสด ต้องไม่เหี่ยวเฉา ไม่มีเชื้อราหรือคราบสกปรกโดยเฉพาะจากปุ๋ยคอกสด

  3. เมื่อนำมาเตรียมอาหารก็ต้องปรุงให้สุกเสมอ รับประทานเนื้อวัวหรือเนื้อหมู ที่ผ่านการทำให้สุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ ผักสดต้องล้างน้ำให้สะอาด โดยการเด็ดใบหรือคลี่ใบล้างให้สะอาดหลายๆ ครั้ง หรือก่อนนำอาหารที่เหลือเก็บมากินต้องอุ่นให้ร้อนทุกครั้ง

  4. ก่อนหยิบจับอาหารต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อน อีกทั้งก่อนกินอาหารทุกครั้ง จะต้องล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะผู้ที่กินข้าวด้วยมือ สุขลักษณะส่วนบุคคลที่ต้องทำให้เป็นนิสัย คือ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด และก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ

  5. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น ไม่ว่าจะทำจากเนื้อสุกร โค กระบือ ไก่ เป็ด หรือแม้กระทั่งกุ้ง หอย ปู ปลา ก็ตาม นอกจากจะปลอดภัยจากการติดพยาธิแล้ว ยังปลอดภัยจากโรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษเกือบทุกชนิด และโดยเฉพาะโรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงตาย หูหนวก หรือตาบอดได้ เช่น โรคแอนแทรกซ์ โรคทริคิโนซิส โรคสเตรปโตคอกคัสซูอิส เป็นต้น

  6. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ทางการต้องเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิตัวตืดแก่ประชาชน และผู้ที่เป็นโรคควรได้รับการรักษาทุกคน


image ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ กรุงเทพ





Create Date : 13 มกราคม 2554
Last Update : 13 มกราคม 2554 15:55:32 น. 0 comments
Counter : 3014 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.