Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
กระดูกคอเสื่อม ในผู้สูงอายุ


รักษาถูกวิธี ... เพิ่มสุขให้ชีวิต

อีกหนึ่งความห่วงใยที่โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลที่ดูแลให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ ป่วยในทุกๆ ด้านเป็นอย่างดีมาตลอดระยะเวลา 38 ปี อยากบอกเล่าให้ความรู้ในสัปดาห์นี้นั่นก็คือ เรื่องของโรค “กระดูกคอเสื่อม” ที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ


ทั้งนี้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมถอย โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้หมุนคอได้ไม่เต็มที่ เวลาเหลียวหลังก็มีอาการปวดที่คอ หรือบางครั้งก็นอนหลับไม่สนิท เนื่องจากอาการปวดดังกล่าว ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงตามลำดับ


นพ.พุทธิพร เธียรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกเล่าถึงสาเหตุของการเกิด “โรคกระดูกคอเสื่อม” ว่า เกิดจากการแก่ตัวของข้อระหว่างกระดูก ซึ่งจะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 35-40 ปี ความสามารถของข้อที่จะเคลื่อนตัวได้เต็มที่เริ่มเสียไปทีละน้อย ๆ ทำให้มีอาการฝืดเคืองเมื่อพยายามจะเหลียวหลัง และหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว การเหลียวหลังไปทีละข้างเกิน 90 องศา จะทำได้ไม่สะดวก


นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก ได้แก่ เคยมีอาการบาดเจ็บที่คอหรือศีรษะจากอุบัติเหตุ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นเวลานาน เช่น สูบ 1 ซองต่อวันมานานเกิน 5 ปี ซึ่งเราเคยทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า ผู้ที่อายุ 30 กว่าปี สูบบุหรี่มานาน เมื่อนำมาเอกซเรย์คอพบว่ากระดูกคออักเสบ ข้อไม่ค่อยดี และเมื่อหยุดบุหรี่ได้นานติดต่อกัน 5 ปี อย่างแท้จริง ในอายุประมาณ 35-45 ปี ข้อจะมีการรักษาซ่อมแซมได้จากร่างกาย แต่หากเลย 45 ปีไปแล้วร่างกายไม่มีความสามารถในการซ่อมแซม


อาการส่วนใหญ่ คือ หมุนคอได้ไม่เต็มที่ ปวดเมื่อย หากกระดูกคองอกมานานอาจทำให้มีการกดเส้นประสาททำ ให้ปวดลงแขน มือชา อ่อนแรง ไขสันหลังโดนกดทำให้เดินได้ไม่เป็นปกติ เมื่อขึ้น-ลง บันไดมักสะดุดหกล้ม และคุณภาพชีวิตอย่างอื่นแย่ คือความสามารถทางเพศลดลง โดยอาการเมื่อยมี 2 อย่าง คือข้ออาจเสื่อม หรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นอาจเสื่อม ถ้าในระยะนี้บริหารร่างกายเพิ่มเติมอาการจะเป็นเพิ่มขึ้น และถ้าคนไข้บริหารเองโดยใช้น้ำหนักขณะที่กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นกำลังอักเสบจะมีอาการปวดมากขึ้น


วิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีอาการเริ่มต้นคือ การให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้พัก ซึ่งหมอจะให้ใช้วิธีการนวดหรือประคบแต่ไม่แนะนำให้ผ่าตัด ถ้าอาการดีขึ้นแล้วจึงทำกายภาพบำบัดต่อ โดยผู้ที่มีอาการเหล่านี้จำนวนเกินครึ่งใช้การรักษาแบบนี้แล้วอาการดีขึ้น จะกลับมาเป็นอีกปีละ 1-2 ครั้ง จึงใช้การรักษาอย่างเดิมต่อไปได้ หรือแพทย์บางท่านอาจใช้ยาลดอักเสบมีผลดีในระยะสั้นหากใช้ระยะเวลานานอาจมีผลข้างเคียงที่เราไม่ต้องการ เช่น กระเพาะอักเสบ มีอาการเลือดออก และเลือดแข็งตัวช้า


สำหรับผู้ที่มีอาการหนัก เช่น แขนเจ็บ มือชา อ่อนแรง หรือมีอาการกระดูกงอกกดไขสันหลัง มีการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ไม่ดี เวลาเดินไปไหนมาไหนจะสะดุด หรือขึ้น-ลงบันไดก็ต้องเกาะราวอยู่ตลอดเพราะทรงตัวไม่ได้ควร จะพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจต่อด้วยเครื่อง MRI Scan ในรายที่มีแขนชาหรืออ่อนแรงมาก อาจจะต้องผ่าตัด เพื่อที่จะรักษาอาการและอนุรักษ์การทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดโดยกระดูกงอก ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันจะใช้วิธีการส่องกล้องแผลจะมีขนาดเล็ก



อย่างไรก็ตามคอของมนุษย์มีอยู่ 7 ข้อ แต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อน หรือเรียกว่า หมอนรองกระดูกคั่นกลาง ทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสี และเป็นเสมือนโช้คอัพเพื่อดูดซับและกระจายแรงอัด ส่วนใหญ่ปัญหามักจะเกิดขึ้นในหนึ่งหรือสองข้อ ตอนกลางของคอ การ รักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อเชื่อมกระดูก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะใช้คอหมุน และแหงนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีอาการปวด ทำให้นอนหลับได้สบายขึ้น และการชา หรืออ่อนแรงของแขน สามารถกลับมาเป็นปกติ และในบางรายอาจจะสามารถเปลี่ยนข้อได้โดยใช้ข้อสังเคราะห์ (Artificial disc) ซึ่งจะช่วย ให้ความสามารถในการใช้คอได้เหมือนปกติ


ทั้งนี้โรคกระดูกคอ ซึ่งไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร คืออาการปวดคอเมื่อแหงนคอ และเมื่อนอนหนุนหมอน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่และมีอาการอ่อนเพลีย ส่งผลให้เสียคุณภาพของชีวิต แต่ถ้าได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง อาการกลุ่มนี้จะดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้สนิทและมีพลังงานในเวลาตื่นมากขึ้น การใช้หมอนช่วยประคองกระดูกคอ การนวด หรือบริหาร และการใช้ยาแก้อักเสบเป็นพักๆ มีส่วนช่วยได้มาก


คุณหมอพุทธิพร แนะนำการเลือกหมอนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นว่า เหตุที่ต้องใส่ใจกับหมอนนั้นก็เนื่องจากกระดูกสันหลังของคนเรามีลักษณะคล้ายกับตัวเอสที่ช่วงหน้าอกจะงอไปข้างหลัง ช่วงคอจะงอมา ด้านหน้า ทำให้เวลานอนคนเรา จำเป็นต้องมีหมอนหนุนคอ โดยหมอนที่ดีนั้นควรมีความอ่อนนุ่ม หนุนสบายและควรรองตั้งแต่ต้น คอจรดถึงศีรษะ ความสูงของ หมอนประมาณ 4-6 นิ้ว และ มีความกว้างพอดี


หมอนเตี้ยและนุ่มเกินไป เวลานอนหมอนจะยุบลง ทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคความดัน โลหิตสูง เมื่อตื่นขึ้นมาจะเกิดอาการมึนศีรษะ หน้า และหนังตาบวม อาจทำให้มีอาการเหมือนคนตกหมอน ปวดเคล็ดต้นคอ และหันลำบาก ส่วนหมอนที่สูงและแข็งเกินไปจะทำให้ส่วนของศีรษะสัมผัสกับหมอนน้อย และบริเวณที่สัมผัสกับหมอนเลือดจะไหลเวียนไม่สะดวกทำให้คอตั้งมากเกินไป เลือดไปเลี้ยงสมองไม่สะดวกอาจทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อกระดูกต้นคอทับหลอดเลือด และเส้นประสาท หรือเกิดอาการเป็นเฉพาะที่ เช่น ปวดต้นแขน สำหรับผู้ที่อาการหนักยังอาจทำให้นอนกรนอีกด้วย ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจและปอดมีคำแนะนำว่าควรจะนอนหมอนสูง เพื่อให้หัวใจและปอดทำงานเบาขึ้น


หากใครที่เริ่มมีอายุมากขึ้นแล้วไม่อยากเจ็บปวดทรมานกับโรคกระดูกคอเสื่อมหรือใครที่มีญาติผู้ใหญ่ป่วยด้วยอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาที่ถูกวิธี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่กับคนที่คุณรักอย่างมีความสุขต่อไป


ที่มา : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 ก.พ.53




Create Date : 08 มีนาคม 2553
Last Update : 8 มีนาคม 2553 16:06:40 น. 0 comments
Counter : 1016 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.