Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
9 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
โรคหลอดเลือดสมองโป่ง

โรคหลอดเลือดสมองโป่ง (Cerebral Aneurysm) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ในคนปกติทั่วไปในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากพบในคนอายุ 40-60 ปี เพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย (1.6:1) โดยโรคหลอดเลือดสมองโป่งมักจะตรวจพบเมื่อมีอาการแตก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเกิดหลอดเลือดสมองโป่งแตกในสมอง (Rupture Aneurysm) จะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง คือ 50%, เกิดความพิการ 25% และสามารถหายเป็นปกติแค่ 25% แต่หากตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งก่อนที่จะแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 2-3%, เกิดความพิการ 7% และกว่า 90% สามารถเป็นปกติ ดังนั้น ถ้าเราสามารถวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งที่ยังไม่แตกและรักษาตั้งแต่แรกก็จะได้ผลที่ดีกว่า เพราะจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการลงได้


สาเหตุ เกิดจากผนังเส้นเลือดแดงเส้นใดเส้นหนึ่งส่วนแขนงอ่อนแรง โดยกลไกการเกิดเชื่อว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติแต่กำเนิดของผนังเส้นเลือด หรืออีกทฤษฎีเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง เนื่องจากผนังหลอดเลือดถูกแรงดันกระแทกอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ผนังผิดปกติ แล้วจึงถูกดันให้โป่งเป็นกระเปาะออกมา ซึ่งหลอดเลือดโป่งในสมองที่เสี่ยงต่อการแตกจะขึ้นอยู่กับ ขนาด และตำแหน่งของเส้นเลือดสมองโป่ง, รูปร่างของเส้นเลือดที่โป่ง, อายุและเพศของคนไข้ รวมถึงสุขภาพและประวัติครอบครัวของคนไข้


ปัจจัยเสี่ยง



  1. การสูบบุหรี่

  2. ความดันโลหิตสูง

  3. การดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากเป็นประจำ

  4. มีระดับไขมันในเลือดสูง

  5. การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ


อาการเตือน โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติก่อนแตก นอกจากบางรายที่มีอาการ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการดังต่อไปนี้



  1. ปวดศีรษะมากอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนหรือเหมือนหัวจะระเบิด บางรายจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

  2. หนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน หรือตาเหล่กระทันหัน และจักษุแพทย์หาสาเหตุไม่พบ


การตรวจวินิจฉัย


การตรวจหาหลอดเลือดโป่งในสมอง ปัจจุบันใช้เครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) หรือในบางกรณีที่จำเป็นจะใช้การฉีดสีทึบแสงตรวจเส้นเลือด (Angiography) ร่วมด้วย หรือการใช้เครื่อง X-ray คอมพิวเตอร์ (CTA) ช่วยในการดูหลอดเลือดในสมองแล้วแต่กรณี



ทางเลือกของการรักษา


การรักษาเส้นเลือดสมองโป่งที่แตก เมื่อตรวจพบว่ามีเส้นเลือดโป่งในสมองแตก จะทำการรักษาทันทีโดยการผ่าตัด ซึ่งแนวทางการรักษามี 2 วิธี คือ



  1. การผ่าตัดเข้าไปหนีบคอเส้นเลือดที่โป่ง (Microsurgical Clipping) เป็นวิธีที่ใช้เป็นส่วนใหญ่

  2. การแยงสายเข้าไปในเส้นเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดเส้นเลือดโป่ง (Coil Embolization) ใช้ในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด หรือขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดสมองโป่ง


การรักษาเส้นเลือดสมองโป่งที่ยังไม่แตก การเลือกแนวทางการรักษาจะมีทีมแพทย์ (ศัลยแพทย์ระบบประสาทร่วมกับรังสีแพทย์) ทำการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาวิธีที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละราย ซึ่งแนวทางการรักษามี 3 วิธี คือ



  1. การผ่าตัดเข้าไปหนีบคอเส้นเลือดที่โป่ง (Microsurgical Clipping)

  2. การแยงสายเข้าไปในเส้นเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดเส้นเลือดโป่ง (Coil Embolization)

  3. ในกรณีที่เส้นเลือดสมองโป่งมีขนาดเล็ก (< 7 mm.) ซึ่งมีโอกาสในการแตกต่ำมาก จะใช้วิธีตรวจติดตาม (MRA) เป็นระยะๆ และเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะทำการรักษา


ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา ผู้ป่วยส่วนน้อยมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อ, เลือดออกหรือชักได้ หลังจากการผ่าตัดส่วนใหญ่จะสามารถรักษาได้ด้วยยา


การป้องกัน ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาเส้นเลือดสมองโป่งก่อนที่จะมีอาการแตก โดยกรณีที่ควรตรวจหาอย่างยิ่ง คือ



  1. เมื่อมีญาติสนิทระดับที่ 1 (บิดา มารดา พี่น้อง หรือบุตร) ที่มีเส้นเลือดในสมองแตก 1 คน และมีญาติสนิท ระดับที่ 1 หรือ ระดับที่ 2 (ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือหลาน) มีเส้นเลือดในสมองแตกอีก 1 คน

  2. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงน้ำในไต

  3. ผู้ที่เคยมีเส้นเลือดในสมองแตก และได้รับการรักษาแล้ว

  4. ผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

  5. หลังการรักษาควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ เนื่องจากเส้นเลือดโป่งในสมองมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้ในบางราย





Create Date : 09 มีนาคม 2554
Last Update : 9 มีนาคม 2554 13:15:45 น. 0 comments
Counter : 1066 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.