มีนาคม 2559

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ใต้เบื้องพระยุคลบาท - ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล


ใต้เบื้องพระยุคลบาท

ผู้เขียน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
จำนวน 320 หน้า
สำนักพิมพ์มติชน
พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2543
พิมพ์ครั้งที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2546
ราคา 180 บาท



"ใต้เบื้องพระยุคลบาท" เป็นหนังสือรวมบทความซึ่งเรียบเรียงจากการบรรยายในโอกาสต่างๆ ของดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเรื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นหนึ่งในข้าราชบริพารที่ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลายเรื่องประชาชนทั่วไปอาจไม่เคยรู้หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน


ในหนังสือนี้ประกอบด้วยบทความรวม 23 บทความและภาคผนวกอีก 1 บทความ เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยชื่อ "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" นี้ ดร.สุเมธได้เล่าที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจ แต่เดิมนั้นใช้คำว่า โครงการตามพระราชประสงค์ ซึ่งต่อมามีรับสั่งว่าใช้คำรุนแรงเหลือเกิน เพราะโครงการตามพระราชประสงค์ ก็หมายความว่ามีพระราชประสงค์สิ่งใดก็ต้องทำถวาย ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ กลายเป็นการทำผักชีโรยหน้า ต่อมาก็มีโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งก็รับสั่งว่ายังรุนแรงเกินไป ต่อมาจึงมีพระราชกระแสว่าขอให้ตั้งชื่อว่า "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ทรงรับสั่งว่า ทรงเป็นที่ปรึกษาของชาติ ไม่ได้เป็นผู้สั่งการกับหน่วยงานราชการ แต่พระองค์เป็นที่ปรึกษา เมื่อมีพระราชกระแสหรือพระราชดำริใดๆ เกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ องค์กร หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องไปพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วก็นำมากราบบังคมทูลได้หากไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน


ประสบการณ์และการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทซึ่งดร.สุเมธถ่ายทอดผ่านบทความต่างๆ ให้ข้อคิดที่น่าสนใจและสามารถนำมาคิดพิจารณาเพื่อปรับใช้กับตัวเราได้มากมาย เช่น


ในการลงมือทำสิ่งใดๆ หรือแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม สิ่งที่จำเป็นต้องมี ต้องทำเพื่อให้งานนั้นสำเร็จและยั่งยืน ก็คือ ความพร้อม การบริหารจัดการ และการประสานงาน (ซึ่งดูเหมือนในสังคมไทยของเราจะขาดอย่างครบถ้วนกระบวนความ) ความพร้อมนั้นรวมถึงการศึกษาข้อมูลให้เข้าใจปัญหาหรือความต้องการอย่างถ่องแท้ รอบด้าน มีการตรวจสอบ ตรวจทานกับพื้นที่จริง กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีความเข้าใจในปัญหาอย่างถูกต้อง สามารถคิดหาวิธีแก้ไข ดำเนินการได้แล้วก็ต้องมีการจัดการที่ดี โดยคำนึงถึงทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยขน์ มีการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ จนเมื่องานสำเร็จลงก็ต้องให้ความรู้กับคนที่เกี่ยวข้องทั้งคนใช้ประโยชน์และผู้ที่ต้องดูแลรักษาต่อไป


อย่างเรื่องทฤษฎีใหม่ที่เราได้ยินกัน และบางคนคิดว่าเป็นเรื่องของการเกษตร ขุดบ่อ ปลูกข้าว ปลูกผักกินเอง แท้จริงแล้วทฤษฎีใหม่เป็นเรื่องว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้พอเพียง ค้ำชูตัวเองได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนหรือพึ่งพาผู้อื่น เรื่องการขุดบ่อ หรือเกษตรผสมผสานนั้นเป็นเรื่องที่มีกันมานานแล้ว แต่ที่ถือว่าเป็นทฤษฎีใหม่เพราะมีการกำหนดสูตรตัวเลขที่แน่นอนออกมาเป็น 30:30:30:10 (สระน้ำ:ไร่นาสวนผสม:ข้าว:พื้นที่ใช้สอยอื่นๆ รวมทั้งบ้าน ถนน) แต่เดิมไม่มีการคำนวณว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมพอเพียง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดคำนวณอย่างละเอียดสามารถอธิบายได้ และจริงๆ แล้วทฤษฎีใหม่นั้นแบ่งเป็น 3 ขั้น ที่กล่าวไปแล้วเป็นขั้นที่ 1 ผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ขั้นที่ 2 คือการรวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา และขั้นที่ 3 ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ นั่นก็คือ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ก่อนจะผสมผสานระดับชาติสู่ระบบธุรกิจ


อีกพระราชดำรัสหนึ่งซึ่งคิดว่าพวกเราคงเคยได้ยินกัน และมีคนเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย คำ 3 คำที่สำคัญในการดำรงชีวิต คือ รู้ รัก สามัคคี เป็นคำ 3 คำ (ไม่ใช่เขียนติดกันเป็นคำเดียว - รู้รักสามัคคี) ก่อนทำสิ่งใดๆ ในชีวิต ต้องรู้ก่อน รู้ปัญหา รู้ว่าทางออกคืออะไร เมื่อรู้แล้วต้องรัก คือปรารถนาที่ทำให้สังคมดีขึ้น ให้ปัญหาคลี่คลาย ให้ความรักเป็นแรงผลักดันให้เราทำ และสุดท้ายต้องจำไว้เสมอว่า เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องรวมกลุ่มเป็นพลัง ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องความพร้อม การบริหารจัดการ และการประสานงานด้วยเช่นกัน


อีกเรื่องที่ประทับใจคือเรื่อง "การให้" พระราชดำรัสสั้นๆ ตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ประเทศของเราที่อยู่รอดมาได้นั้น เพราะประชาชนของเรานั้นยังให้กันอยู่" มีเรื่องเล่า 2 เรื่องที่เข้ากับเรื่องนี้เป็นอย่างดี เรื่องหนึ่งคือ การถวายเงินของประชาชนที่มาเฝ้าฯ แม้ในบางภูมิภาค เช่น ภาคอีสานที่เป็นพื้นทียากจน ประชาชนถวายเงินแบงก์ 10-20 ยับๆ คือให้ในสิ่งที่เขาขาดแคลน อาจหมายถึงชีวิต เงินค่าอาหารที่จะกินในวันนั้น หรือตลอดอาทิตย์จากนั้น แต่ก็ยังถวาย  และเมื่อได้ถวายมาแล้ว พระองค์ได้รวบรวมพระราชทานกลับไปที่หมู่บ้าน หรือที่วัดนั้น เพื่อเป็นทุนรอนแก่ประชาชนที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง  โดยไม่เคยเก็บไว้สักครั้งเดียว   อีกเรื่องเป็นตอนที่ทรงพระเยาว์ ทรงชอบประดิษฐ์มาก ทรงต่อเรือ ต่ออะไรหลายอย่าง และได้ทรงต่อเรือรบศรีอยุธยา ย่อเสกล 1:50 ภูมิพระทัยมาก ทูลสมเด็จพระชนนีว่ารักมาก ทรงใช้เวลานาน ฝีมือละเอียด ต่อมาสมเด็จพระชนนีรับสั่งว่าจะเอาเรือที่ทรงต่อนี้ไป พระทัยวูบเลย สมเด็จพระศรีฯ รับสั่งว่าต้องไปทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ขอเรือลำนี้ไปประมูลเพื่อการกุศล พระองค์ทรงถูกฝึกมาให้ทรงทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งทรงยอม แต่รับสั่งว่า ประมูลได้เท่าไร คนทำได้ 10% และทรงได้รับมา 600 บาทเป็นเงินก้อนแรก และทรงนำไปซื้อกล้องถ่ายรูปอันแรก และสิ่งที่น่าประหลาดใจก็เกิดขั้น เมื่อวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เรือลำนั้นก็ได้กลับมาหาพระองค์อีกครั้งหนึ่ง คนที่ประมูลได้นั้นได้นำกลับมาทูลเกล้าฯ ถวายคืน


สิ่งที่ได้เห็น เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างของแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ในการดำเนินชีวิต ในการทำงาน และการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น


หมายเหตุ  ความเห็นนี้บันทึกครั้งแรกเมื่อปี 2552 เพื่อร่วมเล่นเกมอ่านหนังสือในห้องสมุดพันทิป ตอบโจทย์ของคุณปีศาจความฝัน และคุณปลายทางของสายรุ้ง ให้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือหนังสือเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง



Create Date : 14 มีนาคม 2559
Last Update : 15 มีนาคม 2559 15:18:58 น.
Counter : 2796 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยงวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]