เมษายน 2553

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
คนขี่เสือ - ภวานี ภัฏฏาจารย์ /แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์



คนขี่เสือ (He Who Rides A Tiger)
ผู้เขียน ภวานี ภัฏฏาจารย์
ผู้แปล จิตร ภูมิศักดิ์
จำนวน 381 หน้า
สำนักพิมพ์บุ๊คเน็กซต์
ไม่ระบุครั้งที่พิมพ์ กันยายน 2543 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2530)
ราคา 160 บาท


คนขี่เสือ แปลจากนิยายเรื่อง He Who Rides A Tiger ของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ นักประพันธ์ชาวอินเดีย โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ต้นฉบับ He Who Rides A Tiger ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2497 และคุณจิตร แปลเสร็จราวปี พ.ศ.2501 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในอีกเกือบ 30 ปีต่อมา นอกจากคนขี่เสือฉบับแปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยังมีฉบับที่แปลโดยคุณทวีป วรดิลกด้วย

คนขี่เสือเป็นเรื่องราวของกาโล การ์มา(หรือกรรมกร) ในวรรณะศูทร ประกอบอาชีพเป็นช่างตีเหล็กในเมืองชารนา มณฑลเบงกอล กาโลมีลูกหญิงหนึ่งคน คือ จันทรเลขา ผู้กำเนิดจากเมียรักเยาว์วัยของกาโล ที่ตายจากไปเพราะการคลอดลูก จันทรเลขาจึงเป็นดั่งของมีค่าสิ่งเดียวในชีวิตที่เหลืออยู่ เขารักเธอดังแก้วตาดวงใจ แม้ว่าจะเป็นการ์มา แต่กาโลก็ภาคภูมิในงาน ในผลงานจากสองมือของเขา จันทรเลขาลูกหญิงที่ฉลาดเฉลียว มีหน้าตางดงามอย่างแม่ เธอรักและบูชาพ่อของเธอ เช่นเดียวกับที่พ่อรักและบูชาเธอ ชีวิตแม้แร้นแค้นแต่ความสุขยังหาได้

ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสงครามลุกลามไปทั้งโลก (สงครามโลกครั้งที่ 2) ความอดอยากหิวโหยแผ่ขยายไปทั่ว ผู้คนมากมายล้มตาย ที่ยังอยู่ก็ดิ้นรนเข้าไปยังเมืองหลวงแห่งความหวัง กาโลต้องตัดสินใจจากลูกสาววัยเยาว์เข้าไปหางานในเมืองหลวง กัลกัตตา เขาตั้งใจว่าเมื่อได้งาน พอมีเงินจะกลับมารับลูกไปอยู่ด้วยกัน ระหว่างทางฝูงชนมากมายหลั่งไหลไปทางเดียวกับเขา ฝูงชนผู้หิวโซ ชีวิตไร้ค่า ซ้ำยังน่ารังเกียจ กาโลลอบขึ้นรถไฟขบวนหนึ่งได้ แต่ความหิวโหยทำให้เขาขโมยกล้วย 3 ใบจากห้องโดยสารห้องหนึ่ง และนั่นทำให้เขาถูกจองจำในคุกถึงสองเดือน ในคุกเขาได้พบกับนักโทษหนุ่มคนหนึ่ง ผู้มีเลขประจำตัว B.10 ที่รับโทษ 1 ปีจากข้อหาปลุกระดม ก่อความวุ่นวาย ในคุกกาโลได้เรียนรู้บางเส้นทางจาก B.10 เส้นทางที่เขาไม่เคยคิดเลือกเดิน เมื่อพ้นโทษออกมาเขาพยายามหางานสุจริตทำ แต่สิ่งที่เขาทำได้ก็มีเพียงงานเก็บศพที่นอนเรียงรายเต็มข้างถนน เขาเริ่มตระหนักชัดถึงสิ่งที่ B.10 บอกเขาในคุก พวกเขามีค่าเพียงเศษธุลีดิน แม้อดสู หดหู่ แต่เมื่อนึกถึงจันทรเลขาที่รอคอยอยู่ กาโลตัดสินใจไปทำงานเป็นคนคุมซ่องโสเภณี งานซึ่งเปลี่ยนเขาจากธุลีดินที่ไร้ค่า แสนสกปรก ถูกตำรวจเอาไม้ตะบองไล่ตี มาเป็นคนที่ตำรวจนายนั้นอยากเข้ามาตีสนิท งานซึ่งทำให้เขาได้พบเลขา ลูกหญิงของเขาในวันหนึ่ง!

กาโลช่วยเลขาออกมาจากซ่องแห่งนั้น และเพื่อปกป้องเธอจากภาวะอันน่าน่าสะพรึงกลัว เขานำตัวเองลงมาต่ำเช่นเดียวกัน เปิดเผยความตกต่ำของตัวเอง ความเป็นคนขี้่คุก เพื่อให้ตนเองอยู่ในระดับเดียวกับเธอ จากนั้นเรื่องราวอันแสนลำบากและทรมานก็ถูกถ่ายทอดสู่กันและกัน

กาโลตัดสินใจทำตามที่ B.10 เคยแนะนำ "เราคือผงคลีดิน ไอ้พวกที่ถือตัวเป็นเจ้านายมันเหยียบย่ำเราเพราะมันกลัวเรา มันชกเราตรงที่ที่เราเจ็บปวดที่สุด เราต้องชกตอบ" ในเมื่อความเชื่อความศรัทธากดข่มชีวิตของพวกเขาไว้ เขาจึงใช้ความเชื่อความศรัทธานั้นเองยกชูตัวเองขึ้นมา กาโลปลอมเป็นพราหมณ์ วรรณะอันแสนห่างไกลจากชาติกำเนิดของเขา ทำอุบายว่าพระศิวะมาเข้าฝัน และจะปรากฎกายใต้ต้นไทรใหญ่กลางทุ่งนา เมื่อเขาทำสำเร็จ ศรัทธาแห่งผู้คนก็หลั่งไหลมา ศรัทธาและแก้วแหวนเงินทอง ความสมบูรณ์มั่งมี เทวาลัยใหญ่ถูกสร้างขึ้น ณ ที่นั้น กาโลแก้แค้นชนชั้นที่เคยกดข่ม ย่ำยีความเป็นคนของเขาและลูก แต่ในขณะที่เขาแก้แค้เอาคืน เขาก็ทำร้ายทำลายเลือดและเนื้อของตัวเอง ทำร้ายทำลายคนประเภทเดียวกันกับเขาไปพร้อมๆ กันด้วย และโดยไม่รู้ การกระทำที่แรกนั้นหวังทำเพื่อจันทรเลขา ก็กลับกลายเหมือนเป็นการฉุดดึงเธอลงสู่นรกอีกครั้ง

การโกหกหลอกลวง อำนาจ ผลประโยชน์ ความน่าขยะแขยงต่ำทรามที่ซ่อนอยู่ในร่างที่สูงส่งดีงาม ขณะที่ต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ภายนอกนั้น ภายในใจของกาโลก็มีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเช่นกัน แต่เมื่อขึ้นขี่บนหลังเสือแล้ว หากจะลงย่อมยากจะพ้นให้เสือกัด ในระหว่างทางแห่งการต่อสู้นั้น กาโลได้พบกับวิศวนาถ ช่างตีเหล็ก ผู้ซึ่งปลุกให้การ์มาในตัวของเขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง (หรือพูดให้ถูกต้องบอกว่าปลุกความเป็นคนของเขาให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง) และ B.10 หรือ บีเทน ชายหนุ่มผู้แสดงให้เขาเห็นว่าการต่อสู้ที่แท้จริงคืออะไร สุดท้ายแล้วนั้น กาโลและลูกหญิงจะลงจากหลังเสือได้อย่างไร

อ่านจบด้วยความประทับใจ รู้สึกทึ่งว่า นี่เป็นนิยายที่เขียนและแปลไว้มากกว่า 50 ปีแล้ว แต่ทั้งภาษา สัญลักษณ์ รวมถึงแก่น สามารถสะท้อนภาพสังคมชัดเจน สภาพสังคมที่ปัญหายังคงเดิม แม้รูปทรงพุ่มกิ่งใบอาจแปรไป แต่รากยังฝังลึกที่ตรงเดิม ทั้งยังเป็นปัญหาสากล แม้รูปแบบและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม แต่ก็เป็นปัญหาที่ฝังรากอยู่จริงในทุกแห่งบนโลก นิยายเรื่องนี้ยังตั้งคำถามกับเราอีกมากมาย การดำเนินเรื่อง ร้อยเรียงเหตุการณ์ บรรยายภาพได้อย่างชัดเจน สะเทือนใจ ขอยกตัวอย่างแต่เพียงเล็กน้อย ดังนี้

จากหน้า 76 ...เด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง วิ่งรี่ไปยังเศษอาหารที่ระคนปนเปกันอยู่ในถังทิ้งขยะตรงมุมถนน ฉวยเปลือกขนมปังแห้งๆ ขึ้นมาได้ชิ้นหนึ่ง เจ้าหนูค่อยๆ เลียมันอย่างช้าๆ กัดละเลียดกินอย่างทะนุถนอมเพื่อที่จะได้กินนานๆ เวลากัดแต่ละครั้งก็จะอ้าปากออกจนกว้าง-อ้ำ! รถเข็นเด็กสี่ล้อสีน้ำเงินคันงามคันหนึ่งคลื่อนเอื่อยมาตามบาทวิถีคอนกรีต เด็กผู้หญิงลูกครึ่งอินเดียผสมอังกฤษตัวดำคล้ำเป็นผู้เข็น. ภายในรถเข็นคือ เด็กหญิงตัวน้อยๆ อ้วนจ้ำม่ำ, สวมเสื้อกระโปรงที่เย็บด้วยผ้าลินินอย่างงดงามวิจิตรบรรจง, นอนอิงเอกเขนกอยู่บนหมอน ปากก็เป่าลูกโป่งฟองสบู่ออกจากหลอด. ลูกโป่งสีสดลูกโตลอยฟ่องไปในอากาศแล้วก็สลายตัวหายไป. เจ้าหนูน้อยลืมเศษขนมปัง เอนตัวพิงถังขยะ และจ้องมองดูลูกโป่งอย่างอัศจรรย์ใจ

จากหน้า 72 (หลังจากได้รู้ว่า ชายคนที่มาเดินตรวจดูศพข้างถนน และให้เกวียนมาขนไปนั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เทศบาล แต่เป็นหมอ ที่มาหาศพเพื่อนำไปชำแหละเอากระดูกเพื่อส่งข้ามทะเลไปขายให้โรงเรียนแพทย์ในเมืองนอก) ...คืนนั้นกาโลนอนไม่หลับทั้งคืน ทั้งนี้เพราะความปวดร้าวทรมานดวงใจของเขา หัวของเขาร้อนราวกับไฟรุม เขาจะต้องเลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้ไปอีกนานเท่าใดหนอ? เขาเองคงจะทรุดลง ทรุดลง, จนกระทั่งจมหายไปในมวลชนผู้ทนทุกข์รันทดในท้องถนน จนกระทั่งโครงกระดูกของเขาเอง, ซึ่งมีค่ามากกว่าร่างกายที่ยังมีชีวิต, จะถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังมหาวิทยาลัยแพทย์อันไกลโพ้น.

จากเชิงอรรถของผู้แปลในหน้า 63 ...พราหมณ์: เป็นวรรณะโดยกำเนิด เปลี่ยนวรรณะไม่ได้ กล่าวคือ ศูทร (กรรมกร) จะกลายหรือเปลี่ยนมาเป็นวรรณะพราหมณ์ไม่ได้ ผิดกับสังคมปัจจุบันที่คนฐานะต่ำอาจเปลี่ยนฐานะทางสังคมได้ถ้าหากร่ำรวยขึ้น -

เฮ้อ... คนเรามันถึงได้ดิ้นรนอย่างบ้าคลั่งเพื่ออำนาจและเงินตรา (และยิ่งสะท้อนใจ เมื่อรู้ว่า ระบบวรรณะกำหนดขึ้่นโดยชาวอารยัน หรือชนผิวขาวผู้เข้าไปยึดครองอินเดียจากชาวพื้นเมืองดราวิเดียน แล้วกำหนดให้ดราวิเดียนทั้งหมดเป็นทาสหรือวรรณะศูทร แล้วแบ่งชนชั้นต่างๆ ของอารยันเองเป็น วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และกำหนดให้ผู้ที่เกิดจากชนข้ามวรรณะเป็นผู้ไม่มีวรรณะ หรือ จัณฑาล (The Untouchables) เรื่องราวช่างเหมือนกันในทุกดินแดนบนผืนแผ่นดินนี้เสียจริงๆ )

หน้า 81 ...ความหิวกระหายอันใหญ่หลวงสองประการได้ระดมเข้าครอบงำผืนดินเบงกอล นับตั้งแต่สงครามได้เริ่มต้นขึ้น. ความหิวโหยของมวลประชาชนผู้ซึ่งต้องระเหระหนไปจากผืนดินที่เป็นแดนเกิดของตนและแล้วก็ตกเป็นขอทานนี่ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือ ควาหิวอย่างหื่นกระหายของผู้ที่ถือกรรมสิทธิของทุกสิ่งทุกอย่างเพียงไม่กี่คนที่อยากจะได้รับความเกษมสำราญมากขึ้นและมากขึ้น นี่แหล่ะคือโรคห่าอันโหดร้ายแห่งยุคสมัย.

หน้า 82 ...สักวันหนึ่ง ไอ้โรคห่าที่หื่นกระหายความเกษมสำราญนี้ มันจะทลายเมืองให้พินาศลงทั้งเมือง.

หน้า 171 ...มันเรียกคนโทษด้วยชื่อที่เลวทรามที่สุดเท่าที่มันจะนึกออกมาได้ ถ้านักโทษยังโต้แย้งก็โดนตบหน้า, โดนเตะ แล้วก็ถูกเรียกชื่อขยะแขยงยังงั้นซ้ำอีกด้วย ไอ้ศักดิ์ศรีความเป็นคนของนักโทษนะ ต้องถูกยัดเข้าไว้ในระหว่างหินบดยังงั้นแหละ บดไปขยี้ไปเสียจนกระทั่งแหลกละเอียดเป็นผุยผง แล้วก็ลอยปลิวหายไป

หน้า 172 ...แล้วการต่อสู้ก็แปรโฉมหน้าใหม่ มิใช่การต่อสู้เพื่อความดำรงอยู่ของชีวิต หากเพื่อตอบโต้ เป็นการตีโต้ที่หนักหน่วง!

หน้า 180 ...กาโลได้ครวญคิดกลับไปมาหลายต่อหลายครั้งถึงความขัดแย้งอย่างขาวเป็นดำของยุคสมัย. ขณะที่ผู้คนกำลังตายเพราะความหิวโหย, ความมั่งคั่งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น, และในขณะที่ความเมตตาปราณีงวดแห้งลง, ศาสนาก็ยิ่งเป็นที่เรียกร้องต้องการเพิ่มขึ้น. สิ่งที่มีอยู่มันเพียงแต่เปลือกนอกของศาสนา เพียงหิ้งที่บูชาและประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ส่วนภายในนั้นสิว่างโหวง.

หน้า 261 ...ทำไมหนอ พลังของความเชื่อจึงได้ช่างทำให้มืดบอดและทำลายล้างเช่นนี้
(ข้อนี้ที่ยกมาอาจยังไม่เห็นภาพ แต่อ่านแล้วโด้น... โดนใจ เฮ้อ!)

คำโปรยปกก็คือ "คนขี่เสือ - การก้าวลงบัลลังก์แห่งอำนาจสู่สามัญที่เป็นจริง" ตอนก่อนอ่านเมื่อได้ยินคำว่าขี่หลังเสือมักจะคิดว่า เสือก็คืออำนาจ แต่เมื่ออ่านจบแล้ว คิดว่า เสือคือการโกหก หลอกลวง (โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์และอำนาจส่วนตน) เมื่อขึ้นขี่เสือแล้วก็ยากจะลง ทางเดียวที่จะลงก็คือ การฆ่าเสือ นั่นคือการเผชิญและต่อสู้ด้วยความจริงและความถูกต้อง

อ่านจบแล้ว ก็ยิ่งคิดถึงที่ใครพูดหรือเขียนที่ไหนสักแห่งเร็วๆ นี้ว่า ในสังคมของเรานี้ถ้าหากคนที่มีโอกาสมากกว่า (ไม่จำเป็นต้องแปลว่า มั่งมี หรือพร้อม) รู้จักหยิบยื่นให้กับคนที่ด้อยกว่า ปัญหาหลายๆ อย่างจะไม่เกิดขึ้น

ปล. ใช้เวลาอ่านหลายวันเพราะติดกับดักช่วงแรกของหนังสือ ที่บรรยายสภาพ ปูพื้นฐานความกดดันที่กาโลหรือชนชั้นได้รับ มันสะท้อนสะท้านสะเทือนใจจริงๆ พออ่านจนรู้สึกว่าทนไม่ได้ เงยหน้าขึ้นมาหายใจก็เจอภาพเหตุการณ์ในบ้านเมืองของเรากระแทกหงายกลับจมและโดนกดหัวลงมาอีก โอย...



Create Date : 14 เมษายน 2553
Last Update : 14 เมษายน 2553 15:50:03 น.
Counter : 3006 Pageviews.

6 comments
  
สนุกค่ะ..ได้อ่าน ฉบับ ทวีป วรดิลก แปลค่ะ
เหมือนกันรึปล่าว ^_^



โดย: None of it วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:16:01:26 น.
  
เคยอ่านทั้งสองฉบับเลย

โดยส่วนตัวชอบบทแปลของจิตร ภูมิศักดิ์มากกว่าค่ะ
โดย: Carousal IP: 125.24.181.67 วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:21:30:51 น.
  
เคยอ่านนานแล้วค่ะ
และเป็นหนังสือที่สั่นสะเทือน (ตัวเรา) เล่มหนึ่งทีเดียว
ยังคิดถึงทั้งคน ทั้งเสือ และสังคมในเรื่องนี้อยู่เสมอ

เราอ่าน "ร้อยหิว" ต่อ โอ้ก...โดนค่ะ

ป.ล. พูดแล้วก็เสียดายจิตร ภูมิศักดิ์ มิรู้หาย
อำนาจบ้า และระบบโง่ ที่ฆ่าจิตรไปอย่างโง่งม
อย่างไม่รู้ค่าสมบัติของชาติ ของมนุษยชาติเลยจริงๆ
โดย: จั่น IP: 80.230.49.86 วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:22:52:26 น.
  
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
โดย: da IP: 124.120.5.63 วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:23:43:54 น.
  
เรื่องนี้อ่านนานแล้วล่ะ ...สมัยเรียนมัธยม ช่วงนั้นอ่านแล้วติดวางไม่ลง
ลุ้นว่ามันจะลงเอยยังไง
โดย: นัทธ์ วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:9:40:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยงวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]