ธันวาคม 2552

 
 
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
เลาะลุ่มน้ำโลหิต เลียบชีวิตไทคำตี่ - บุญยงค์ เกศเทศ


เลาะลุ่มน้ำโลหิต เลียบชีวิตไทคำตี่
ผู้เขียน บุญยงค์ เกศเทศ
จำนวน 131 หน้า
สำนักพิมพ์แม่คำผาง
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546
ราคา 150 บาท

เลาะลุ่มน้ำโลหิต เลียบชีวิตไทคำตี่ เป็นสารคดีการเดินทางผจญภัยเพื่อสำรวจชนชาติไทในอินเดีย เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่่อง "สังคมและวัฒนธรรม ไท-คำตี่" ของคุณบุญยงค์ เกศเทศซึ่งตอนนั้นศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ ประเทศอินเดีย โดยคุณบุญยงค์ได้เข้าไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านไทคำตี่ บริเวณเมืองโลหิต รัฐอรุณาจัลประเทศ ประมาณปีเศษ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2527 จนถึงพฤศจิกายน พ.ศ.2528 และได้มีโอกาสกลับไปที่นั่นอีกครั้งใน 10 ปีต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 เพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำและข้อมูลรูปภาพ คุณบุญยงค์ จึงได้เขียนบันทึกเล่มนี้ขึ้นมา

ไทคำตี่ เป็นชาติพันธุ์หนึ่งใน 'กลุ่มไท' หรือกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาไท ตามหลักฐานยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก คุณบุญยงค์ เกศเทศเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าไปถึงที่นั่น เนื่องจากชุมชนไทคำตี่ตั้งอยู่ในเขตดินแดน 7 รัฐทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งทางการห้ามคนต่างชาติล่วงล้ำเข้าไปโดยเด็ดขาด เนื่องจากรัฐทั้งเจ็ดอันประกอบด้วยรัฐอัสสัม นากาแลนด์ ไมซอรัม มณีปูร์ เมกกะลายา ตรีปุระ และ อรุณาจัลประเทศ แต่ละรัฐต่างมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดจากรัฐบาลอินเดีย เพราะทรัพยากรบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์ แต่รัฐบาลยังต้องการวัตถุดิบทั้งอาหาร น้ำมัน แร่ธาตุ และผลิตผลจากป่า รัฐจึงหวงแหนบริเวณแถบนี้ ไม่ไว้ใจให้คนต่างชาติล่วงล้ำเข้ามา ทั้งที่เค้าโครงวิทยานิพนธ์ก็ได้รับการอนุมัติจากทางมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการได้ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยของอินเดียให้เข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นทำการศึกษาเรื่องนี้คุณบุญยงค์ตัดสินใจลักลอบเข้าไปโดยทำตัวเป็นคนท้องถิ่นนั่งรถโดยสารปนเปกับชาวบ้านเข้าไป พักนอนหนาวริมทาง และหลบหลีกด่านตรวจลงเดินบนคันนาเลาะเลียบถนน เดินทางอย่างทุลักทุเลจนไปพบเด็กหนุ่มสองคนในตลาดนัดบ้านน้ำทราย แต่งตัวโดยนุ่งโสร่งลายพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของไทคำตี่ เขาจึงแอบตามเด็กหนุ่มทั้งสองไป และเข้าไปสอบถามด้วยภาษาไทยอีสาน แม้จะไม่ใช่ภาษาเดียวกันแต่ก็พอสื่อสารกันรู้เรื่อง จนทราบว่า ทั้งสองอยู่ในหมู่บ้านที่เป็นเป้าหมายของเขาจริงๆ จึงได้ร่วมเดินทางไปกับเด็กหนุ่มทั้งสอง หนึ่งในสองนั้นเป็นหลานชายของผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านเจ้าคำ (หรือจ่องคำในภาษาไทคำตี่) หลังจากได้แนะนำตัวและบอกจุดประสงค์ของการเดินทางมาแล้ว คุณบุญยงค์ ได้พักที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน เจ้าโสลิง ('เจ้า' เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ชาย) ในการใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นปีเศษคุณบุญยงค์ ได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่นั่นแทบทุกหลังคาเรือน ได้เข้าพบเจ้าคำมูนซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากานัน กษัตริย์องค์สุดท้ายของไทคำตี่ ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยเวลาเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้น ได้พบเจอกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกหลายกลุ่ม

ในหนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนไทคำตี่ ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต การกินอยู่ อาหารการกิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าการแต่งกาย การประกอบอาชีพ ประเพณีการแต่งงาน พิธีศพ การศึกษา การศาสนา การร้องรำทำเพลง การละเล่นของเด็กๆ ไปจนถึงภาษา และตัวอักษร ได้อ่านแล้วก็รู้สึกแสนแปลกที่ในดินแดนอันแสนไกลนั้นก็มีผู้คนที่มีวิถีชีวิตคล้ายๆ กับเรา พูดคุยกันพอรู้เรื่อง อาหารการกิน บ้านเรือน และภาษาคล้ายๆ กับทางอีสานของเรา แต่สรรพนามที่นั่นจะไม่ซับซ้อนเหมือนบ้านเรา บุรุษที่หนึ่ง กู บุรุษที่สอง เมอ และบุรุษที่สาม มัน ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยไหน ก็ใช้เพียงสามคำนี้ ประเพณีหลายๆ อย่างก็ไม่ต่างกันมากนัก ทั้งยังนับถือศาสนาพุทธจึงมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องจากศาสนาที่ใกล้เคียงกัน มีงานกฐิน มีขนทรายเข้าวัด มีสงกรานต์ การละเล่นของเด็กๆ ก็มีตี่จับ มีงูกินหาง เสื้อผ้าของไทคำตี่จะออกไปคล้ายๆ พม่า ผู้ชายนุ่งโสร่งซึ่งจะมีลวดลายและสีเป็นเอกลักษณ์ เป็นตาหมารุกสีเขียวอมม่วง (ชนไทเผ่าอื่นๆ ก็จะมีสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ) ผู้หญิงนุ่งซิ่น ตัวอักษรก็คล้ายพม่าเช่นกัน

ลองมาดูกันว่า ภาษาของเราใกล้เคียงกันแค่ไหน เช่น เงิน คำ (ทอง) ม่านตา (แว่นตา) ไหม่ขีด (ไม้ขีด) ผะหมีด (ฝักมีด) กือ (เกลือ) แมงบี (ผีเสื้อ) พี (อ้วน) ขนกั๊บแก้ (ขนรักแร้) นิ้วโหลง (นิ้วหัวแม่มือ) นิ้วจื้อ (นิ้วชี้) นิ้วกึ่งกลาง (นิ้วกลาง) นิ้วลับจ็อบ (นิ้วนาง) นิ้วอ่อน (นิ้วก้อย)

คิดว่าประโยคนี้ก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก "หม่านมันเอ่ย 'ลับจ็อบ' ว่า 'แหวน' มันเอ่ย แหวน ว่า กำไล" :)

ด้วยความยากลำบากในการดั้นด้นเข้าไป แถมยังเป็นการผจญภัยน่าตื่นเต้น ประกอบกับชาติพันธุ์ที่ได้ทำความรู้จักก็ใกล้เคียงกับเรามาก การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนการอ่านเรื่องราวผจญภัย และค้นพบขุมทรัพย์อันแสนมีค่าคือมิตรภาพจากพี่น้องผองเพื่อนของเราในดินแดนห่างไกลแสนลึกลับ

หนังสือเล่มนี้ใช้ตอบโจทย์ WWR ข้อ 25-5.[ปิยะรักษ์] อ่านหนังสือเกี่ยวกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ มีคนในกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวเอกจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เช่น ปกากะญอ ม้ง ไทยใหญ่ ฯลฯ หรือในต่างประเทศ เช่น อินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ ชาวพิกมีในแอฟริกาโดยต้องเล่าถึงลักษณะเด่นหรือลักษณะพิเศษของกลุ่ม ชาติพันธุ์นั้นมาด้วย



Create Date : 02 ธันวาคม 2552
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 10:14:01 น.
Counter : 1562 Pageviews.

2 comments
  
อยากได้รูปภาพที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ มาาาก
โดย: โทนทึบ IP: 1.47.110.19 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2553 เวลา:8:17:36 น.
  
ขอบคุณค่ะ
โดย: phim IP: 122.154.68.11 วันที่: 4 มีนาคม 2555 เวลา:11:06:22 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยงวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]