พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2557
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
17 มิถุนายน 2557
 
All Blogs
 
10 แนวทางออกแบบ เขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

10 แนวทางออกแบบ เขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

พลาดิศัย จันทรทัต



จากเดิมที่แนวโน้มความรุนแรงของแผ่นดินไหวในไทยไม่รุนแรงมากนัก แต่ ณ วันนี้แผ่นดินไหวยังเขย่าต่อเนื่องจากครั้งใหญ่ในช่วงพลบค่ำของวันที่ 5 พ.ค. 2557 ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย



แม่แก่พ่อเฒ่าในพื้นที่ต่างบอกว่า "รุนแรงที่สุดในชั่วอายุคน" ซึ่งไม่ได้เกินจริงเลยสักนิด เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือ ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่มีการบันทึกมา



แม้แต่โรงเรียนก็ได้รับความเสียหายรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สรุปความเสียหายเมื่อวันที่ 16 พ.ค. พบว่า โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 8 สพป. รวม 94 โรง งบประมาณ 71,363,000 บาท โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 2 สพม. รวม 24 โรง งบประมาณ 116,380,000 บาท สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สพป. 2 เขต งบประมาณ 1,000,000 บาท



ฉะนั้น ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องหันกลับมาใส่ใจสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือสถานที่ราชการ เอกชนใดๆ ว่าตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่ และ "โครงสร้างบ้านเรือน" ที่เหมาะสมกับผืนดินบริเวณนั้น ควรออกแบบอย่างไรจึงปลอดภัย หรือลดทอนความเสียหายได้



สํานักงานกองทุนสนับสนุนการ วิจัย (สกว.) ผู้สนับสนุนโครงการ "ศึกษาวิธีการออกแบบและเสริมกำลังอาคารในประเทศเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว" ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อมร พิมานมาศ รองเลขาธิการสภาวิศวกร และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยแพร่ข้อเสนอ 10 แนวทางการออกแบบอาคารในเขตเสี่ยงที่เหมาะกับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในบ้านเรา ประกอบด้วย



1. วัสดุก่อสร้างต้องได้มาตรฐาน คอนกรีตต้องมีกำลังรับน้ำหนักไม่น้อย กว่า 240 ก.ก./ตร.ซ.ม.หรือมากกว่านั้น เหล็กเส้นต้องมีเครื่องหมาย มอก.รองรับ



2. เสาเป็นโครงสร้างหลักที่ต้านแผ่นดินไหว เสาบ้านจึงต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 20 ซ.ม. ยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งต้านแผ่นดินไหว ได้ดี



3. เหล็กเส้นในเสาต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 เส้น และมีขนาดไม่ต่ำกว่า 12 ม.ม.



4. เสาทุกต้นต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 ม.ม. หากเป็นขนาด 9 ม.ม. ได้ยิ่งดี โดยพันเป็นวงถี่ๆ รอบเหล็กแกน ส่วนโคนเสาและปลายเสาด้านบนต้องวางเหล็กปลอกอย่างน้อย 10 วง ในระยะ 50 ซ.ม. วัดจากปลายด้านบนและปลายด้านล่างของเสาทุกต้น โดยเฉพาะเสาชั้นล่างสุดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ



5. เสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 ม.ม. ไม่น้อยกว่า 4 เส้น ตรงข้อต่อที่คานและเสามาบรรจบกัน โดยพันรอบเหล็กแกนในบริเวณข้อต่อ





6. ควรพันเหล็กปลอกถี่ๆ บริเวณปลายคานเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น



7. หลีกเลี่ยงต่อเติมส่วนต่างๆ ของโครงสร้างเอง เช่น การต่อเติมชั้นลอย เพราะอาจทำให้เสาปกติกลายเป็นเสาสั้น และอาจทำให้ถูกเฉือนขาดได้ง่าย



8. บ้านที่ชั้นล่างเปิดโล่งควรทำค้ำยัน ไม้หรือเหล็กจากมุมล่างของเสาต้นหนึ่ง ไปยังมุมบนของเสาต้นถัดไปเป็นรูปกากบาท เพื่อเพิ่มความแข็งแรง



9. การก่อกำแพงอิฐต้องก่อให้ตลอดความสูงของเสา ห้ามปล่อยให้มีช่องว่าง เพราะจะทำให้เกิดการเฉือนขาดได้ง่ายๆ 10. การก่อสร้างบ้านที่แข็งแรงควรมีวิศวกรโยธาเป็นผู้ออกแบบและควบคุม การก่อสร้าง



ด้าน ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะอุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วสท. แนะนำเพิ่มเติมว่า ลำดับแรกควรศึกษาก่อนว่าพื้นที่ที่วางแผนจะปลูกสร้างอาคารสูงมีความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับไหน โดยศึกษาจากแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)



จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนการปลูกสร้าง จะต้องให้วิศวกรก่อสร้างตามมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ.1301-50) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ประกาศใช้ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2550



"หากเป็นโรงเรียนหรือโรงแรมซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารสูง มาตรฐานตัวนี้ จะครอบคลุมมาก เพราะออกเเบบมาให้เหมาะสมกับอาคารสาธารณะ หรืออาคารสูงที่มีความเสี่ยงเนื่องจากมีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก"



ส่วนความแตกต่างระหว่างโครงสร้างอาคารตามปกติกับโครงสร้างตามมาตรฐาน มยผ.1301-50 นั้น ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์อธิบายว่า โดยหลักแล้วเวลาเกิด เเผ่นดินไหว จุดที่เป็นอันตรายจากการถูกโยกจนสั่นคลอน คือ เสา คาน รวมถึงรอยต่อระหว่างเสากับคาน และเสาของพื้น ชั้นที่ 1 ดังนั้นมาตรฐานตัวนี้ จึงกำหนดรายละเอียดเพื่อป้องกันไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร ไปจนถึงพื้นดินที่รองรับอาคาร



"พูดง่ายๆ คือโครงสร้างต้องเสริมเหล็กมากกว่าโครงสร้างปกติ โดยเฉพาะตัวเสาต้องพันเหล็กปลอกมากขึ้น เพราะผม พบว่าโครงสร้างอาคารบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เหล็กปลอกน้อย ซึ่งเกิดจากการ ปลูกสร้างก่อนพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 จะประกาศใช้ แต่มั่นใจว่าหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แล้ว ประชาชนจะหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานตัวนี้มากขึ้น" ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวปิดท้าย



Create Date : 17 มิถุนายน 2557
Last Update : 17 มิถุนายน 2557 1:25:15 น. 0 comments
Counter : 864 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.