พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2558
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 พฤษภาคม 2558
 
All Blogs
 

ประวัติ หลวงปู่แพงตา เขมิโย วัดประดู่วีรธรรม จ.นครพนม

ประวัติ หลวงปู่แพงตา เขมิโย วัดประดู่วีรธรรม จ.นครพนม


ที่มาจาก //www.itti-patihan.com/ประวัติ-หลวงปู่แพงตา-เขมิโย-วัดประดู่วีรธรรม-จ.นครพนม.html



"พระครูภาวนาภิรัต" หรือ "หลวงปู่แพงตา เขมิโย" อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่วีรธรรม ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม พระวิปัสสนานักปฏิบัติที่มีลูกศิษย์ทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้สร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นที่รู้จักแก่สาธุชนอย่างกว้างขวาง

หลวงปู่แพงตา มีความรู้ทางยาสุมนไพร เยียวยาคนป่วยที่ได้มาอาศัยท่านเป็นที่พึ่ง

มีนามเดิมว่า แพงตา นุนนท์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 5 มิ.ย.2457 ที่บ้านดอนดู่ ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม

ชีวิตในวัยเยาว์ เมื่ออายุ 9 ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อการศึกษาธรรมวินัย อยู่ 3 ปี ด้วยเหตุจำเป็นทางครอบครัว จึงได้ลาสิกขา ก่อนเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อ พ.ศ.2479 ที่พัทธสีมาวัดบวรศรัทธาราม ต.กุดตาไก้ โดยมีพระวงษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะนั้นหลวงปู่แพงตา ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระเกจิชื่อดังภาคอีสาน วัดธาตุมหาชัย ชักชวนเข้าบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น

หลังอุปสมบท ศึกษาเล่าเรียนมนต์น้อย มนต์กลาง มนต์หลวง และเรียนอักษรธรรมจนจบแล้ว ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติธรรมจากพระอุปัชฌาย์

กระทั่ง พ.ศ.2480 ไปจำพรรษาที่ภูค้อ จ.สกลนคร กับพระอาจารย์ลับ เพื่อปฏิบัติธรรมด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำอย่างเดียว หลังออกพรรษาเดินทางไปที่ถ้ำกวนพลอย ถ้ำยาโดน ประเทศลาว ขากลับแวะนมัสการพระอาจารย์ศรีทัตถ์ ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน ก่อนที่ท่านจะแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ภูเขาควาย เป็นเวลาร่วม 3 เดือน จนมีอาการผิดปกติจากการนั่งมากจนเดินไม่สะดวก

พ.ศ.2482-2484 หลังจากอาการดังกล่าวกลับมาปกติ จึงธุดงค์ไปเมืองกาสีและเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว จำพรรษาสอนมนต์น้อย มนต์กลาง ให้พระเณรครบ 7 วัน จึงสลับสับเปลี่ยนกับพระอาจารย์ลับไปปฏิบัติและสอนพระเณรที่วัดป่าต่อตลอดทั้งพรรษา จากนั้นไปถ้ำภูผาเจริญ ก่อนนั่งบำเพ็ญภาวนาตามป่าช้าที่เป็นกลลวงของผีสางนางไม้ ในเขตน้ำมิ่ง น้ำปอน ของลาว แล้วธุดงค์ไปถ้ำจำปาที่ภูเขาควายนั่งสมาธิอีก 3 เดือน จึงกลับมาอยู่ที่วัดประดู่วีรธรรมนาน 7 พรรษา เพื่อปฏิสังขรณ์วัด

พ.ศ.2492-2494 เดินทางไปพระบาทโพนสัน ประเทศลาว เพื่อช่วยสร้างกุฏิ วิหาร เรียนสนธิ ซึ่งมีความยาวกว่าปาติโมกข์ ก่อนมุ่งไปเวียงจันทน์และธุดงค์ไปยังเชียงตุง ผ่าน 10 เมืองของพม่าถึงย่างกุ้ง แล้วนั่งสมาธิบริเวณพระธาตุ 7 วัน เดินทางกลับสู่ไทยเพื่อร่วมทำบุญฉลองอุโบสถที่ได้ร่วมสร้างไว้ที่ จ.พะเยา และกลับสู่มาตุภูมิใน พ.ศ.2495 ได้ 1 ปี จึงเดินทางไปพม่าและลาวอีกครั้ง เพื่อทบทวนความทรงจำหลักวิปัสสนากัมมัฏฐานนานอีก 3 ปี

งานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2517 เป็น เจ้าอาวาสวัดประดู่วีรธรรม

งานด้านการศึกษา พ.ศ.2499 จัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน พ.ศ.2500 ให้มีการสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดประดู่วีรธรรม พ.ศ.2515 ให้มีการสอนพระอภิธรรม วัดประดู่วีรธรรม พ.ศ.2517 เป็นกรรมการอุปถัมภ์การสอนนักธรรม อ.ปลาปาก

นอกจากนี้ ยังสร้างเสนาสนะในวัดประดู่วีรธรรม เช่น กุฏิ 6 หลัง ศาลาการเปรียญ 2 หลัง อุโบสถ หอระฆัง กำแพงวัด ซุ้มประตู สิมน้ำ สิ้นเงินทั้งหมดจำนวน 2,437,687 บาท

หลวงปู่แพงตาเดินธุดงค์ไปตามป่าเขานาน 19 ปีท่ามกลางสัตว์ร้ายและภยันตราย ก่อนจะกลับมาทำนุบำรุงวัดบ้านเกิดดังกล่าว นอกเหนือจากเป็นพระวิปัสสนาจารย์ เป็นประธานในงานบุญต่างๆ ท่านยังมีพรสวรรค์พิเศษช่วยบรรเทาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ญาติโยม อย่างไม่ถือชนชั้นวรรณะกระทั่งถึงวาระสุดท้าย

ด้านวัตถุมงคลท่านเมตตาให้ลูกศิษย์สร้างหลายรุ่น โดยเฉพาะรุ่น พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นเหรียญอาร์มรุ่นแรก เนื้อกะไหล่ทอง ที่มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดคงกระพัน ปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักอนุรักษ์ที่แสวงหาวัตถุมงคลชุดนี้

ช่วงระยะ 8 ปีให้หลัง พระครูภาวนา ภิรัตป่วยด้วยโรคเบาหวาน กระทั่งในวันที่ 9-10 ส.ค.2535 หลวงปู่ได้เกิดปวดท้องรุนแรงกะทันหัน ลูกศิษย์จึงนำไปหาหมอที่คลินิก ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพนม แต่กว่าจะรู้ว่าไส้ติ่งอักเสบ อาการของท่านได้อ่อนระโหยโรยแรง

จนกระทั่งเวลา 13.00 น. ของวันที่ 12 ส.ค.2535 ท่านมรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี พรรษา 57




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2558
0 comments
Last Update : 8 พฤษภาคม 2558 2:31:32 น.
Counter : 2562 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.