พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
29 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 

เสือ 'คูการ์'....พยัคฆ์รัตติกาล

เสือ 'คูการ์'....พยัคฆ์รัตติกาล

ถ้าพูดถึงเสือ หลายๆ คนคงคิดว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย น่ากลัว ไม่อยากเข้าใกล้ ไทยรัฐออนไลน์จึงขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับเสือคูการ์ ที่แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เสือชนิดนี้จะเป็นอย่างไรกันบ้าง ลองติดตามกันได้

เสือคูการ์ หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น เสือพูมา และเสือแพนเทอร์ มีถิ่นกระจายพันธุ์ครอบคลุมตั้งแต่ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินาและชิลีไปจนถึงตะเข็บดินแดนยูคอนในแคนาดา เสือคูการ์จึงเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่กระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดในซีกโลกตะวันตก แต่กลับพบเห็นตัวได้น้อยที่สุดชนิดหนึ่ง ส่วนที่คิดกันว่าเสือคูการ์ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนืออาศัยอยู่บนภูเขา ก็เพราะที่สูงเหล่านั้นเป็นแหล่งหลบภัยแห่งสุดท้ายจากปืน กับดัก และยาเบื่อของผู้มาตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนการกำจัดสัตว์นักล่าที่เป็นภัยต่อปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เสือคูการ์เคยอาศัยอยู่ใน 48 รัฐบนผืนแผ่นดินใหญ่จากฝั่งตะวันตกจดฝั่งตะวันออก แต่พอถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เสือเกือบทั้งหมดที่เหลือรอดอยู่ในสหรัฐฯ จำกัดวงอยู่เพียงพื้นที่ห่างไกลแถบเทือกเขาร็อกกี เทือกเขาตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และรัฐแถบตะวันตกเฉียงใต้ ในที่สุดรัฐทางตะวันตกก็ยกเลิกค่าหัวของเสือคูการ์ แต่บางรัฐยังคงจ่ายอยู่จนถึงทศวรรษ 1960 ในปี 1972 รัฐบาลสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายห้ามการใช้สารพิษกำจัดสัตว์นักล่าในที่ดินของรัฐบาลกลาง หน่วยงานด้านสัตว์ป่าหลายแห่งเริ่มจัดให้เสือคูการ์เป็นสัตว์ที่ล่าเป็นเกมกีฬาได้ โดยมีฤดูการล่าภายใต้การควบคุม และเป็นครั้งแรกในรอบ 300 ปีที่ประชากรเสือคูการ์เริ่มกระเตื้องขึ้น

ในฐานะชนิดพันธุ์หนึ่ง เสือคูการ์จัดว่ามีสถานภาพดีกว่าสัตว์วงศ์เสือและแมวชนิดใดในโลก การที่เสือคูการ์จะก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งการหวนคืนได้อีกไกลแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วคงขึ้นอยู่กับว่าสาธารณชนจะยอมรับพวกมันมากน้อยเพียงใด ซึ่งนั่นก็ย้อนกลับมาขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้คนว่า เสือเหล่านี้เป็นอย่างไร

นับตั้งแต่ปี 1890 เสือคูการ์ในสหรัฐฯ และแคนาดาโจมตีมนุษย์ประมาณ 145 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเพียง 20 กว่าครั้ง หรือเฉลี่ยหกปีต่อครั้งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต บางทีสถิติที่สำคัญกว่าคือ การโจมตีของเสือคูการ์ที่ได้รับการยืนยันแล้วอย่างน้อยหนึ่งในสามเกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เสือคูการ์ที่เพิ่มขึ้นบวกกับมีผู้คนมากขึ้นในแถบชนบท ย่อมหมายถึงโอกาสของความขัดแย้งที่มากขึ้นตามไปด้วย

ความที่เป็นนักล่าผู้แอบซุ่มล่าเหยื่อในเวลากลางคืน การศึกษาเสือคูการ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันซึ่งสามารถจับตาดูพฤติกรรมของพยัคฆ์จอมล่องหนได้ตลอดเวลา ปริศนามากมายที่ปกคลุมชีวิตของพวกมันจึงกำลังคลี่คลาย



ปัจจุบัน เสือคูการ์เป็นนักล่าอันดับสูงสุดซึ่งพบมากที่สุดในพื้นที่หนึ่งในสามของรัฐบนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 48 รัฐ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอีกสองในสามที่เหลือไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นนักล่าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่า เสือซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการล่องหนจะเป็นสัตว์นักล่าสำคัญที่สังคมสมัยใหม่คิดว่ายอมรับได้ง่ายที่สุด หรืออย่างน้อยก็พอทนรับได้ แต่ผู้คนยังคงใคร่รู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่านี้ นอกจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองแล้ว เจ้าของบ้านในย่านชานเมืองและชนบทยังเป็นห่วงสัตว์เลี้ยงของตน ขณะที่ชาวไร่ชาวนากังวลว่าปศุสัตว์จะล้มตาย แต่ดูเหมือนว่า เสียงเรียกร้องดังที่สุดให้จัดการกับเสือคูการ์จะมาจากนักกีฬาล่าสัตว์ที่แค้นเคืองนักล่าตามธรรมชาติเหล่านี้โทษฐานที่เป็นคู่แข่งโดยตรงในการล่าสัตว์กีบ

จากสมมติฐานที่ว่าเสือคูการ์แต่ละตัวที่ถูกฆ่าจะทำให้นักกีฬาล่าสัตว์มีสัตว์ให้ล่ามากขึ้น ในแต่ละปีบางรัฐจึงกำจัดเสือในจำนวนมากเท่าที่เจ้าหน้าที่จัดการสัตว์ป่าคิดว่าประชากรเสือจะรับไหว การสูญเสียมักตกหนักกับเพศผู้ตัวเต็มวัยซึ่งพรานตีราคาว่าเป็นรางวัลล้ำค่า แต่เนื่องจากเป็นเสือขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด เพศผู้ตัวเต็มวัยจึงได้ครองอาณาเขตที่ดีที่สุด แล้วบีบให้เสือรุ่นหนุ่มๆ ออกจากพื้นที่ไป เท่ากับเป็นการกำหนดเพดานจำนวนเสือคูการ์ในพื้นที่หนึ่งๆ ไปในตัว

จากการศึกษาของโรเบิร์ต วีลกัส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต และผู้ร่วมวิจัย พบว่า เมื่อเสือเพศผู้ขนาดใหญ่ถูกฆ่ามากเกินไป เสือหนุ่มเร่ร่อนจะพากันมุ่งหน้าไปยังอาณาเขตที่ว่างลง การแข่งขันรุนแรงจะผลักดันให้เสือจำนวนมากขึ้นถอยร่นไปยังพื้นที่ชายขอบซึ่งมักใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ขณะเดียวกัน เสือเพศเมียก็อาจท่องไปกว้างไกลมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการหลั่งไหลเข้ามาของเสือเพศผู้แปลกหน้าซึ่งบางครั้งลงเอยด้วยการฆ่าลูกเสือ

วีลกัสสรุปการค้นพบที่น่าประหลาดใจของเขาว่า “การล่าเสืออย่างหนักส่งผลให้ความหนาแน่นโดยรวมของเสือคูการ์สูงขึ้น การล่าเหยื่อจำพวกสัตว์ที่เป็นเกมกีฬาเพิ่มขึ้น และความขัดแย้งกับมนุษย์เกิดบ่อยครั้งขึ้น พูดสั้นๆ ก็คือ ผลที่ได้ตรงข้ามกับสิ่งที่มุ่งหมายไว้ครับ”

แทนที่จะเพิ่มโควตาการฆ่าเสือคูการ์โดยถูกกฎหมาย วีลกัสเสนอให้จำกัดการล่าโดยสอดคล้องกับอัตราการเพิ่มจำนวนในธรรมชาติของเสือคูการ์ คือประมาณร้อยละ 14 ต่อปี เมื่อคำนึงว่านักชีววิทยาสัตว์ป่าต่างเห็นพ้องกับแนวทางนี้อย่างกว้างขวาง ก็อาจสร้างมาตรฐานใหม่ในการล่าเสือคูการ์และอาจรวมถึงสัตว์นักล่าสำคัญๆ ชนิดอื่นด้วย ซึ่งส่งผลให้พวกมันอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ง่ายขึ้น






 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2556
0 comments
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2556 8:36:19 น.
Counter : 1250 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.