Group Blog
 
 
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 

จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียน(เรื่องสั้น)ในดวงใจ

หากเล่าประสบการณ์ในการอ่าน และแตกย่อยมาที่เรื่องสั้น ต้องมีชื่อนี้ครับ จำลอง ฝั่งชลจิตร เมื่อนึกย้อนก็นึกถึงเล่ม สีของหมา ที่ทำให้สัมผัสเขา และชอบมาก คงด้วยเขาเป็นคนใต้เหมือนกัน เล่าบรรยากาศบางอย่างเรานึกภาพออก หรือบางอารมณ์เราก็คิดแบบเดียวกัน เลยเลือกเขาเป็นนักเขียน(เรื่องสั้น)ในดวงใจ ติดตามงานเขามาตลอด เห็นที่ไหนก็ซื้อเลย ไม่ต้องพิจารณามากมาย เคยซื้อเล่มสาระขันซ้ำมาด้วย เลยบริจาคให้ห้องสมุดไป
ถ่ายรูปเล่มที่ห้องมาให้ดูครับ เก็บไว้อีกที่จำนวนหนึ่ง
ข้อดีของเรื่องสั้นคือใช้เวลาอ่านแต่ละเรื่องไม่นาน และบางครั้งเราก็สามารถเขียนเองได้ด้วยนะครับ

ประวัติของจำลอง ฝั่งชลจิตร
เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๗ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดนากัน
จบชั้น ม.ศ. ๓ จากโรงเรียนสุวรรณศิลป์วิทยา
จบชั้น ม.ศ. ๕ จากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
จากนั้น เข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่จบ ลาออกไป...
...เป็นครูโรงเรียนราษฎร์, เป็นพนักงานโรงแรม, เป็นคนทำหนังสือ, และเป็นนักเขียนอิสระ

ผลงานเกียรติประวัติ
เรือญวน รางวัลเรื่องสั้นสร้างสรรค์ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๒ จากกลุ่มวรรณกรรมพินิจ
ผ้าทอลายหางกระรอก รางวัลช่อการะเกด ฉบับเพชรน้ำงาม ปี ๒๕๒๓
สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อ รางวัลรองชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นโครงการห้องสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(ครูเทพ)ปี ๒๕๒๔
ขนำน้อยกลางทุ่งนา ๒ รางวัลวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นประจำปี ๒๕๒๔ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
กรมวิชาการ และคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
สีของหมา รางวัลเรื่องสั้นยอดนิยม ประจำปี ๒๕๓๐ จากนิตยสารลลนา
คาร์บูธเซล เรื่องสั้นรางวัลดีเด่นการประกวดเรื่องสั้นนิตยสารแพรว ในวาระครบรอบ ๒๐ ปี

ผลงานรวมเล่ม
จำลอง ฝั่งชลจิตร เริ่มมีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน มีผลงานรวมเล่มแล้วดังนี้
พ.ศ. ๒๕๒๓ รวมเรื่องสั้น กองคาราวาน
พ.ศ. ๒๕๒๔ วรรณกรรมเยาวชน ขนำน้อยกลางทุ่งนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ นวนิยาย คนขี่ม้าขาว
พ.ศ. ๒๕๒๘ นวนิยาย หลังเที่ยงคืน
พ.ศ. ๒๕๒๙ รวมเรื่องสั้น นายกรัฐมนตรีไปธนาคาร
พ.ศ. ๒๕๓๑ รวมเรื่องสั้น สีของหมา ผ้าทอลายหางกระรอก คนกับเด็ก
พ.ศ. ๒๕๓๓ ความเรียงเชิงบันทึก รอยย่ำระบำฝุ่น
พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมเรื่องสั้น สาระขัน
พ.ศ. ๒๕๓๗ ความเรียง บทสนทนาระหว่างใบไม้กับนก
พ.ศ. ๒๕๓๙ รวมเรื่องสั้น สุภาพบุรุษไฟแช็ก
พ.ศ. ๒๕๔๑ สารคดี ไม้ใกล้ครัว
พ.ศ ๒๕๔๒ รวมเรื่องสั้น เมืองน่าอยู่
พ.ศ. ๒๕๔๓ นวนิยาย ในลึก และรวมเรื่องสั้น คาร์บูธเซล
พ.ศ. ๒๕๔๕ รวมเรื่องสั้น น้ำใจยังหาได้
พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมเรื่องสั้นคัดสรร ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป





 

Create Date : 24 สิงหาคม 2549
15 comments
Last Update : 24 สิงหาคม 2549 6:44:09 น.
Counter : 4332 Pageviews.

 

ผมอ่านงานของจำลองไม่ครบทุกเล่ม แต่เท่าที่อ่านก็พบความซื่อและความจริงใจในเรื่องราว -- ข้อเท็จจริงๆ เป็นคนหนึ่งที่เขียนหนังสือน่าอ่าน

ผมชอบ ในลึก สะท้อนแง่คิดของสังคมดีครับ

ตอนหลังผมตามอ่านบทความของเขาที่เขียนใน เนชั่น สุดสัปดาห์ พูดได้ว่า ถ้ามีต้องอ่าน.. คู่กับ สิงห์สนามหลวง .. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมหันมาอ่าน มติชน สุดสัปดาห์ เลยไม่ได้อ่านบทของ จำลอง แต่อ่านทีไร ได้มุม ได้ข้อคิด

บทความของเขาเป็นแบบ-- เขียนให้อ่าน ส่วนจะคิดหรือไม่คิดนั้นแล้วแต่คนอ่าน ผมล่ะชอบจริงๆ

เรื่องสั้นล่าสุดของเขาที่ผมอ่าน น่าจะเป็น เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับเดือนที่แล้ว (แถมแผ่นซีดีปี 48) เป็นเรื่องที่เอาเรื่องจริงมาเขียนนิยาย ที่จำลองไปเป็นวิทยากร แนะนำการเขียนเรื่องสั้น แล้วเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาขอให้ ลุงจำลอง เขียนสักเรื่อง .. เป็นเรื่องจริง .. เป็นโศกนาฎกรรม -- ลุงจำลองบอก .. มันจริงเกินไป .. ลุงไม่กล้าเขียน

ผมไม่รู้ว่านั้นเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงนะ แต่สะท้อนใจ อ่านแล้วเศร้ามากๆ

 

โดย: ชายลังเล 24 สิงหาคม 2549 10:18:02 น.  

 

เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ผมติดตามผลงานเก่าๆของเขาครับ ตอนนี้ก็มีหนังสือของจำลองอยู่แค่ 3 เล่มเอง คือ ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป , เมืองน่าอยู่ และ ขนำน้อยกลางทุ่งนา

 

โดย: rsamlha (rsamlha ) 24 สิงหาคม 2549 10:50:15 น.  

 

"มันจริงเกินไป ไม่กล้าเขียน"

ปล..อ่านคอมเมนท์แล้วเป็นครอบครัวที่น่ารักอบอุ่นจัง ความเข้มงวดแต่ไม่ใช่แตกหักประคับประคองให้คงอยู่ในทิศทางในขณะเดียวกันก็ให้กำลังใจกันไปด้วย ตึงเกินไปย่อมขาดได้ เช่นการดุลูกถ้าสองคนช่วยกันรุม แทนที่เขาจะเข้าใจและจะปรับปรุงได้ อาจกลายเป็นอย่างอื่นคือกลัว มีเด็กที่รู้จักคนนึงยังเล็กอยู่ เขาหวาดระแวงกลัวพ่อแม่มากๆ แทบจะไม่กล้าพูดอะไร กลัวไม่ถูกใจ เด๋วก็โดนดุ ทำให้เป็นคนไม่พูด แต่เขาก็อยากพูดคุยกับใครสักคน ฉันแค่ฟังเขา และบอกว่า ฟังได้ทุกเรื่องนะ จะให้เป็นความลับก็ได้ เอาความแก่เป็นประกันให้สัจจะ ..ไม่เล่าต่อนะคะ "มันจริงเกินไป ไม่กล้าเล่า"

 

โดย: ป่ามืด 27 สิงหาคม 2549 15:36:17 น.  

 

มาเพิ่มเติมอีกหน่อย
จริงๆแล้ว สำหรับคนรักเรื่องสั้น ต้องบอกว่า เรื่องสั้นของจำลองเป็น เรื่องสั้นที่ให้มุมมองสำหรับชีวิตที่ดีๆ เท่าที่ผมอ่าน ยังไม่เจอเรื่องไหนที่จบโดยหยดน้ำตา โดยทั่วไป จะจบด้วยรอยยิ้ม แม้ว่าจะเสนอวรรณกรรมประเภท เขียนถึงสังคมปัจจุบันก็ตาม -- อืมม หนังสือที่ดีควรจบโดยให้แง่คิดแก่คนอ่านไม่น้อยและไม่ควรสร้างความรันทด หรือสะเทือนใจให้ผู้อ่านมากไป แล้วก็ไม่ควรให้ผู้อ่านหมดกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปในสังคมที่ซับซ้อน หลายเงื่อนไข และอยู่ยากอย่างปัจจุบันนี้ - ไม่แน่ใจว่า จำลองกำหนดไว้แบบนั้นหรือเปล่านะครับ.

ว่าไปแล้ว การมีชีวิตที่หลากหลายในสังคมเมือง พออิ่มตัว ก็กลับสู่บ้านเกิด (ผมเข้าใจว่า จำลองยังอยู่นครฯ และตอนเย็นก็ยังเล่นตะกร้อ ยังไม่เปลี่ยนแปลง) ทำให้มีความสุข ปล่อยวางที่จะสร้างงานอย่างอิสระ .. ผลงานก็ไม่บีบคั้นใคร..

 

โดย: ชายลังเล 28 สิงหาคม 2549 12:07:05 น.  

 

คุณชายลังเลเรียกคุณจำลองเหมือนเป็นเพื่อนเลยนะครับ
เห็นด้วยกับคุณชายลังเลทุกประการ ทำไมต้องเศร้าเมื่ออ่านเรื่องสั้นจบ
มองต่างมุมนะครับ การเรียกน้ำตา ไม่ต้องเศร้าก็ได้ครับ อิ่มเอมก็เรียกน้ำตาได้ครับ
รำลึกถึงความดีของคน ก็เรียกน้ำตาได้ครับ เป็นน้ำตาของความปลื้มว่าบนแผ่นดินนี้ยังมีคนดีอีกมาก
ให้กำลังใจ เป็นอีกอย่างที่นักเขียนควรทิ้งไว้กับผู้อ่านครับ

ผมชอบอ่านแล้วหัวเราะคนเดียว ยิ้มคนเดียว น้ำตาซึมคนเดียว แบบว่าต้องหลบคนข้างๆ เวลาอ่าน แบบนี้อ่านนักเขียนคนไหนดีครับคุณชายลังเล

 

โดย: คนขับช้า 28 สิงหาคม 2549 17:49:52 น.  

 

สงสัยผมใช้คำไม่นับอาวุโส .... :-) อย่างใช้คำว่า เรื่องสั้นของจำลอง ที่เรียกแบบนี้ คือ เขียนแบบในมุมมองของนักวิจารณ์การอ่านหนังสือ -- เช่น บอกว่า บทความของรงค์ นิยายของชาติ .. คือ ถ้าผมเรียก บทความของลุงรงค์ นิยายของพี่ชาติ นิยายของพี่จำลอง .. :-) แล้วมันอาจจะทำให้คนอ่านคิดว่าผมตีสนิทมากเกินไป ก็เลยวางตัวให้ห่าง เขียนแบบ.. เหมือนประโยคไม่นับอาวุโสไปเลย -- การวิจารณ์หนังสือของผม กำหนดไว้แบบนี้.. ไปเลย -- แบบมองด้วยสายตาของนักอ่านไปเลย หวังว่า พี่ขับช้า (คงเป็นรุ่นพี่ผมล่ะ) คงเข้าใจครับ

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผมไม่นับถืออาวุโสของนักเขียนนักเขียนนะครับ .. นักเขียนรุ่นใหญ่ๆ เจอหน้า สมควรยกมือไหว้ทุกคน ถ้าเป็นพี่เรียกพี่ เป็นลุงก็เรียกพี่ :-) .. เพราะถือว่า งานเขียนหนังสือเป็นการทำความดี ควรแก่การนับถือ

ถ้ากำหนดโจทย์ว่า ต้องอ่านเรื่องของนักเขียนที่อ่านแล้ว จบแล้วให้ความรู้สึกดีๆแบบพี่คนขับช้าว่า .. ก็ต้อง อ่านงานของ พี่จำลอง ฝั่งชลจิตร นี่ล่ะครับ อีกคนที่ผมชอบน่าจะเป็น บินหลา สันกาลาคีรี ส่วน ช่างสำราญ ของ เดือนวาด พิมวนา นั้นครับ คิดว่า คอหนังสือคงอ่านกันหมดแล้วมั้ง..




 

โดย: ชายลังเล 29 สิงหาคม 2549 9:02:51 น.  

 

ช่างสำราญยังไม่ได้อ่านเลย คงต้องรีบอ่าน เดี๋ยวจะตกจากการเป็นคอหนังสือครับ

 

โดย: คนขับช้า 29 สิงหาคม 2549 23:25:24 น.  

 

สำหรับผม ช่างสำราญ เป็นวรรณกรรมที่เรียบง่ายแต่ได้ข้อคิดครับ มุขที่คนเขียนคือ เดือนวาด สอดแทรกไว้นั้น ทั้งสนุก ขบขัน และบางทีก็เศร้า ทำให้เราเห็นภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่พ่อ-แม่ แยกทางกันไปคนละทิศ แต่ชุมชนก็โอบอ้อมเด็กชายคนนี้ไว้ ช่างเป็นชุมชนที่น่ารัก (แต่ในบางมุมก็ไม่ซะทั้งหมดหรอก)

เมื่อวาน กระวีกระวาดอ่าน ความสุขของกะทิ ในห้องสมุดจนจบ ความหนา 114 หน้า ประสาคนที่เคยอ่าน โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง และ ช่างสำราญมาก่อน พอมาอ่านเรื่องนี้แล้วไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร ช่วงแรกก็ตื่นเต้น แต่พออ่านกลางๆเล่มแล้ว กลับพบความไม่ค่อยราบรื่น สอดคล้องนัก อีกทั้งเขายังเติมความเป็นผู้ใหญ่ไปในหัวเด็กมากไปหน่อย ผมไม่ค่อยเชื่อว่าโลกของเด็ก 9 ขวบจะคิดได้ขนาดนั้น มันซับซ้อนเกินไป .. ไม่ใช่หนังสือเขาไม่ดีนะ แต่ผมอาจจะชอบอะไรที่เรียบง่าย บริสุทธิ์เกินไปสำหรับโลกของเด็กๆ ก็ได้ ไม่ทราบได้อ่านหรือยังครับ

เมื่อวานเช่นกัน ได้อ่าน 3-4 เรื่องสั้นใน ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป ครับ ค่อนข้างจะบอกว่านั่นแหละสไตล์พี่จำลอง เก็บเอาทุกเม็ดของความเคลื่อนไหวของสังคมมาลงเป็นเรื่องสั้น แต่ไม่ได้พิพากษาให้คนอ่านต้องเชื่อ -- คุณอ่านแล้วคิดได้แค่ไหนก็แค่ไหน?? ผมล่ะชอบสไตล์แบบนี้ครับ มันเรียบง่าย แต่ว่าแฝงไว้ด้วยมุขที่บางครั้งก็ตีแผ่สังคมได้แสบสันต์ทีเดียวล่ะ

 

โดย: ชายลังเล 30 สิงหาคม 2549 15:29:59 น.  

 

ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงซีไรต์ปี 2548 ประเภทรวมเรื่องสั้น หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 9 เรื่อง ที่เขียนถึง "ชาวเมืองลิกอร์" หรือนครศรีธรรมราช เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน ชาวลิกอร์เปลี่ยน แล้วภาพรวมคนไทยทั้งประเทศล่ะ?

เสมือนผู้ทำหน้าที่ของผู้จับตามองสังคมที่เคลื่อนไหว จำลองพูดถึงคนลิกอร์ในหลายแง่มุม ที่ชวนให้คิดทีเดียว การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควบคุมได้ แต่ดูเหมือนคนเราไม่คอยควบคุม :-)

เป็นหนังสือที่จะว่าหนักก็หนักทีเดียว เป็นการวิพากษ์สังคม ตีแผ่สันดานคน รวมไปถึงบันทึกความเคลื่อนไหวของคน พ.ศ นี้ (2545-2549) ประเด็นที่จำลองเสนอนั้น ผมว่าชัดเจน มีเนื้อหา .. แต่ไม่สนุก อ่านแล้วได้ความคิด

 

โดย: ชายลังเล 6 กันยายน 2549 8:13:40 น.  

 

น้ำใจยังหาได้
ขณะที่ ลิกอร์พวกเขาเปลี่ยนไป บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในเมืองลิกอร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป น้ำใจยังหาได้ ก็มีนัยยะที่คล้ายๆกัน เพียงแต่เป็นการบันทึกเรื่องราวของสังคมของคนในประเทศไทย และขยายยุคออกไปอีกหน่อย คือ ย้อนอดีต เข้าไปในอนาคต และบางเรื่องก็ปัจจุบันการ

เรื่องสั้นของ จำลอง มีลักษณะแบบเสียดสีสังคมอย่างชัดเจน เล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 9 เรื่อง (อีกแล้ว) โดยส่วนใหญ่จะให้อารมณ์แบบถามถึงความป่วยไข้ของสังคมอยู่เนืองๆ แต่ก็สอดแง่คิดไว้ให้คนอ่านได้คิดด้วย อดคิดไม่ได้ว่า จำลองเป็นนักเขียนที่ทำงานอย่างหนักคนหนึ่ง เพราะพยายามเสนอแง่มุมที่ โดน พยายามเสนอแง่มุมที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพ้อไปเรื่อย

โอ้ย ผมชักเขียนเอาจริงเอาจัง :-) เสน่ห์ของเรื่องสั้นของจำลองก็คือ ความรื่นไหล ตัวละครทุกตัวเหมือนมีชีวิตจริงๆ ไม่มีพฤติกรรมที่ประดักประเดิก ไม่มีคำพูดประเภทที่คนอ่านอ่านแล้ว คิดว่า ไม่น่าจะใช่ ...เรื่องสั้นแบบนี้ อ่านแล้วให้นึกว่า มันน่าจะเป็นเรื่องจริงซะมากกว่า :-)

ปล. ด้วยว่า พี่คนขับช้า แนะนำหนังสือของ พี่จำลอง ฝั่งชลจิตรมาหลายเล่มมาก ผมเลยให้เพื่อนหยิบมา 4 เล่ม (5555) ผมอาจจะโชคดีกว่าหนอนหนังสือหลายๆตัว เพราะว่า มีห้องสมุดให้บริการ มิเช่นนั้นก็อาจจะกระเป๋ารูด ชั้นหนังแอ่นได้ .. ยกเว้นเล่มไหนที่ชอบจริงๆ ผมซื้อไว้ครับ

 

โดย: ชายลังเล 6 กันยายน 2549 8:21:18 น.  

 

เมืองน่าอยู่
เรื่องสั้น 12 เรื่อง พิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 เคยอ่านนานมาแล้วครับ ไหนๆพี่คนขับช้าก็เอามาพูดถึง ผมก็เลยไปนั่งอ่านอีกรอบ พลันให้นึกได้ว่า ในจำนวนนั้น เรื่องที่ผมอ่านแล้วก็นำมาใช้ในชีวิตจริงๆคือ ในตู้เย็น เอามาใช้นานแล้ว คือ อะไรไม่จำเป็นในชีวิต อะไรฟุ่มเฟือยก็ลดๆมันไปบ้าง รวมไปถึงการกำจัดของที่ไม่ต้องการออกไป

โดยรวมๆแล้ว 7-8 เรื่องของเรื่องสั้นเล่มนี้ (7-8 เรื่องนี่มันค่อนเล่มไปแล้วนะ) เป็น เรื่องสั้นสำหรับผู้ใหญ่ คนที่โตแล้ว มีครอบครัวแล้ว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหนัก เพราะพูดถึงสภาพสังคมปัจจุบัน พวกเราก็มีโอกาสที่จะผ่านไปเจอกับชีวิตแบบนี้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้มันทนได้ ให้บ้านหรือเมืองมันน่าอยู่

ส่วนเรื่องสั้นๆ 2-3 เรื่องท้ายๆเล่ม ผมรู้สึกเหมือนอ่านงานที่พ้นสมัยไปสักหน่อย เอ๊ะ พ้นสมัยหรือไกลตัวดีหว่า?? ผมว่าทั้งสองอย่าง เพราะเดี๋ยวนี้สภาพสังคมแบบนั้นก็อาจจะผ่านไปนานแล้ว

เป็นหนังสือที่อ่านได้ ไม่เสียหาย แม้ว่าจะยังไม่โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง แต่บางเรื่องที่เขาเขียน เราเอามาปรับแต่งใช้ได้ในชีวิตจริงๆ .. อ่านเล่มนี้แล้วต้องบอกว่า เรื่องสั้นใน เมืองน่าอยู่ นี่ ไม่เน้นความบันเทิงใจเลย เรื่องหนักๆเยอะ

 

โดย: ชายลังเล 8 กันยายน 2549 11:51:27 น.  

 

ขอบคุณมากครับ คุณชายลังเล ที่เข้ามาร่วมเสวนา
ว่าแต่ห้องสมุดที่ใช้บริการ อยู่แถวไหนครับ ชักสนใจแล้วซิ

 

โดย: คนขับช้า 8 กันยายน 2549 16:56:45 น.  

 

ห้องสมุดที่ผมใช้บริการประจำ ตอนนี้ก็ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์ เป็นห้องสมุดที่เปิดให้บริการฟรี มีบริการทั้งนิยาย และงานตำราวิชาการ (เน้นพวกการเงิน) ผมเข้าไปอ่านนิยายและพวกธรรมะ เรื่องบันเทิงเริงรมย์เป็นหลักครับ

ส่วนห้องสมุดอีกแห่ง ผมเข้าไม่ได้ครับ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกและยังอยู่ไกลอีก แต่ได้หนังสือมาอ่านบ่อย ของหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเอกชนแถวกล้วยน้ำไท ครับ โดยเพื่อนที่เป็นอาจารย์เอื้อเฟื้อหนอนหนังสืออย่างผม เขามีหนังสือเยอะมากทีเดียว ถ้าหากเทียบกับหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยรัฐหลายๆแห่ง

ตอนนี้ที่พักผมอยู่ไกลจากห้องสมุดที่มีบริการหนังสือดีๆครับ (หรืออาจจะไม่ได้ค้นหาก็ว่า มีตรงไหนบ้าง) การเดินทางลำบาก เวลาเปิดบริการที่ไม่สะดวกเป็นอุปสรรคเหมือนกันครับ

คนกับเด็ก
เมื้อคืนหยิบหนังสือ “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” มาตั้งใจว่าจะอ่านจนกระทั่งง่วงนอน เอาเข้าใจ ใจหันเห-มาทางหนังสือนิยายอีกจนได้

จะว่าเรื่องสั้นที่อ่านๆอยู่นี้มันหนักก็ใช่ แต่ว่าก็ยังอยู่ในเครือข่ายพวกหนังสือบันเทิงอยู่ดี เพียงแต่ว่าเขาสอดแทรกแง่คิด มุมมองที่มีประโยชน์ไว้ด้วยเท่านั้นเอง มันก็เลยไม่หนักเหมือนงานวิชาการ แต่ถ้าหากกรองแล้ว ก็จะได้แง่คิด ข้อคิด สรุปรวบยอดเป็นข้อคิดเชิงวิชาการได้

เสน่ห์ของวรรณกรรมมันอยู่ตรงนี้แหละผมว่า มันทำให้เราเข้าถึงแง่คิด ทฤษฎีบางอย่าง โดยไม่ต้องเคร่งเครียด เกินไป

คนกับเด็ก พิมพ์เมื่อปี 2532 เป็นเล่มที่อ่านแล้วผมบอกตัวเองว่า ชอบครับ แทบทุกเรื่องเมื่อจบแล้วให้ความรู้สึกดีๆ ในตอนจบ ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับเด็ก” ในหลายๆแง่ๆมุม ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า หรือคนรอบข้าง ครอบคลุมทั้งจิตวิทยา การเลี้ยงดู

แต่โลกของเด็กก็แฝงไว้ด้วยความไร้เดียงสา ความซื่อบริสุทธิ์ การมีเด็กในสบ้าน ถ้าไม่ใช่พวกพ่อแม่ที่มีโลกส่วนตัว หรือเห็นแก่ความสุขของตัวเองมากเกินไป หรือพวกที่มีปัญหาเรื่องปัจเจกชนจนเกินเหตุ ผมว่า ต้องเห็นความน่ารักของเด็กๆอย่างแน่นอน

คนกับเด็ก เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 13 เรื่อง ที่เกี่ยวกับ คนกับเด็ก ที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเรือง บ้านของนกกระจอก ของขวัญ หลาน ลูกไม่ค่อยจำ ตำนานนักบุญ ส่วนเรื่องที่ชี้ให้เห็น “ปัญหาของผู้ใหญ่” ก็มีเหมือนกัน เช่น ปู่ ย่า คุณยายใจดี

สรุปแล้ว เป็นหนังสือที่สำหรับคนที่อยากอยู่กับเด็กโดยเปี่ยมความหมาย น่าจะซื้อมาอ่านครับ

 

โดย: นอนเปล (ชายลังเล ) 9 กันยายน 2549 11:38:43 น.  

 

ขึ้นจากตกปลาทะเลวันพฤหัส วันเสาร์ผมก็กลับบ้านที่ต่างจังหวัด แม้ว่าจะตกปลาไม่ได้เลยซักตัว แต่เพื่อนก็มีแก่ใจ แบ่งปลาสาก และโฉมงามให้ไม่น้อย พร้อมกับบอกว่า เผื่อเอาไปฝากแม่ ผมก็เลยต้องเป็นบุรุษไปรษณีย์เอาปลาไปฝากแม่ -- เปรียบเทียบว่า ถ้าได้บุญอะไรก็ยกให้เพื่อนไปก็แล้วกัน .. ปลาทะเลสดๆ เดี๋ยวนี้หากินไม่ง่าย หรือไม่ก็ราคาแพงลิบลิ่ว

ฝนตกๆหยุดๆทั้งวัน น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลพายุและความกดอากาศต่ำ .. แม้ว่าที่นาจะเปลี่ยนเป็นโรงงาน แต่แถวบ้านผมนี่ถือว่ายังชุ่มชื้นอยู่ ผัก หญ้า ปลา ยังพอหากินได้ เพราะคนทั่วไปก็ทำงานโรงงาน ยังไม่มีใครล่าปลาเป็นอาชีพ แม่น้ำ ลำคลองพูดได้ว่า พอจะมี แม้ว่าปลาจะหายากกันเข้าไปทุกที

แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน .. มันมาพร้อมกับระบบผ่อนส่งสินค้า เงินดาวน์ รถมอเตอร์คันใหม่ มือถือรุ่นใหม่ รสนิยมใหม่ๆของผู้คน

รื้อตู้หนังสือ เจอ ในลึก นวนิยายของ จำลอง อีกเล่มครับ เอามาอ่านทบทวนซะหน่อย เรื่องนี้มันไม่กินใจในด้านของความเป็นนิยายชีวิตหรอก แต่ว่าในเรื่องของการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผมว่าเข้มข้นทีเดียว นิยายเรื่องนี้พูดถึง เด่นพงศ์ ชายหนุ่มที่ถูกส่งไปเรียนจบปริญญาตรี และทำงานในเมืองหลวง แล้ววันหนึ่ง เมื่อฟองสบู่แตก เด่นพงศ์ก็กลับมายังบ้านเกิด เพื่อจะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไป ค่านิยมใหม่ๆ การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อต่อสู้ที่จะมีชีวิตในวันต่อไป หรือเพื่อจะมีอะไรๆที่ดีกว่าคนอื่น

เรื่องการแข่งขันเพื่อจะให้เหนือกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่นนี่เป็นปมหนึ่งที่ทำให้คนเราลดความน่ารักลงไปนะผมว่า หัวจิตหัวใจมันน้อยลง

นิยายเขาดำเนินไปเรื่อยๆเหมือนฉายหนังสะท้อนสังคม ในเมืองก็อีกวิถี บ้านนอกก็อีกวิถี แต่ก็ไม่พ้นการแก่งแย่งแข่งขัน ในเมืองก็มีความเห็นแก่ตัวของในเมือง บ้านนอกก็มีความเห็นแก่ตัวของบ้านนอก .. คนในเมืองไร้น้ำใจ คนบ้านนอกก็ใช่ว่าจะมีน้ำใจเปี่ยมล้นเหมือนเมื่อก่อน เพียงแต่ว่า รูปแบบมันคนละอย่างกันเท่านั้นเอง

ผมก็ธงปลาครับ แล้วก็เป็นพรานปลาคนหนึ่ง .. ดังนั้น ก็อ่านเรื่องนี้อย่างเข้าอกเข้าใจทีเดียว แถวบ้านผมไม่ค่อยมีพรานชาวบ้านเท่าไร เขาทำงานโรงงานกันหมด เพราะมันประกันเงินรายได้มากกว่า แต่พวกคนงานบางส่วน เสาร์อาทิตย์ เขาไปใช้ยาเบื่อปลา เล่นกันทีเป็นบึงๆ นี่คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของคนในยุคนี้ แบบไม่สนใจใคร ขอให้ข้าได้ไว้ก่อน คนพวกนี้ นับวันมากขึ้นทุกที

ไม่เว้นพวกขโมย พวกโจร เมื่อวานผมคุยกับประมงพื้นบ้าน (น้ำจืด) เขาว่า บางทีมันพาพวกมาปล้นเบ็ดไปต่อหน้าต่อตา .. เบ็ดฝรั่งวางไว้ไม่ระวัง มันฉวยไปหน้าตาเฉย

สักสี่ห้าเดือนก่อน แม่ผมไปตกปลาชายฝั่งทะเล แม่เล่าว่า มีเด็กวัย 8-9 ขวบ คนหนึ่งมาตกปลา เอาเบ็ดฝรั่งมาด้วย .. แต่ตามประสาเด็ก พอปลาไม่ฉวย ก็วางเบ็ดทิ้งไว้ แล้วไปเล่นกับเพื่อน ปรากฎว่า มือดี มาหยิบไป.... เด็กร้องไห้ด้วยความเสียใจ.. ใครเห็นก็เวทนา กับเด็กมันยังทำได้

 

โดย: นอนเปลร่าย (ชายลังเล ) 18 กันยายน 2549 16:56:41 น.  

 

ชอบ "ขนำน้อยกลางทุ่งนา " มากที่สุดค่ะ

อยากถามว่า รวมเรื่องสั้น ล่าสุดชื่ออะไรนะคะ

อยากได้ แต่จำชื่อหนังสือไม่ค่ะ


 

โดย: โมกสีเงิน 31 มกราคม 2551 12:02:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


คนขับช้า
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ย้ายมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖

เคยมาเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘

เคยมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗

เคยเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒

ย้ายที่ทำงานในจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๖
เคยเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕

เคยเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙

เคยเป็นคนระยอง ตั้งแต่ ๒๕๓๗
Friends' blogs
[Add คนขับช้า's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.