Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
4 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

เนปาลประมาณสะดือ

แค่สะดือเองหรือนี่



ผู้เขียน : นิ้วกลม
สำนักพิมพ์ : a book
จำนวนหน้า : ๔๑๘ หน้า
ราคา : ๑๙๕ บาท
ระดับความชอบ : ๘/๑๐

เป็นเล่มที่ ๓ ของนิ้วกลมที่ผมได้อ่านต่อจาก โตเกียวไม่มีขา และ กัมพูชาพริบตาเดียว
เล่ม กัมพูชาฯ ชอบมากเป็นการส่วนตัว เพราะได้แนวคิดในการดำรงชีวิตดีครับ
ส่วนโตเกียวไม่มีขา ก็มีคุณภาพดีจริงๆ ทั้งสองเล่มน่าอ่านมาก

มาเล่มนี้ซื้อมาเก็บไว้นานโข เพราะนักเขียนคนโปรด หนุ่มเมืองจันท์ เขียนเชียร์กันออกนอกหน้า เมื่อได้อ่าน ผมว่าเป็นรองเล่มกัมพูชาฯ ครับ

เมื่ออ่านเล่มนี้ใกล้จบ นึกถึงเพื่อนนักท่องเที่ยว เลยโทรศัพท์ไปคุย เพราะเขาเคยไปเนปาลมาแล้ว สอบถามว่าได้ Trekking ไหม? เขาบอกว่าครัั้งที่แล้วไม่ได้ไป แต่กำลังจะไปเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ จุดหมายสูงกว่าในเล่มนี้เสียอีก
เล่มนี้จุดสูงสุดอยูที่ Poon hills ที่ความสูง ๓,๒๑๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ส่วนที่เพื่อนไปจะแยกไปอีกทาง เมื่อขึ้นถึงจุดหมายจะสูงเท่ากับค่ายฐาน และเห็นเอเวอร์เรสคนละมุมกับค่ายฐาน
ส่วนในเล่มนี้ไปทางนี้จะขึ้นต่อไปค่ายฐานได้ นิ้วกลมผู้เขียนก็ยังฝันจะมาค่ายฐานอีกครั้งเลย
ที่ค่ายฐานนี่เขาเอาไว้ปรับตัวก่อนปีนขึ้นเอเวอร์เรสที่ทางขึ้นไม่มีทาง ต้องปีนเอา
ดังนั้นที่คนไทยปีนจนพิชิตได้ก็น่าชื่นชมนะ

ถามเพื่อนเรื่องชุดกันหนาว ได้ความว่าไปซื้อเอาที่เนปาล มีให้เลือกมากมาย เป็นของใหม่ สั่งมาเพื่อปีนเขาเลย

เล่มนี้บันทึกได้อย่างมีชีวิตชีวาตามแนวของนิ้วกลม อ่านเพลินแบบวางไม่ลงเลยทีเดีีียว
ยังคิดว่าเหนื่อยขนาดนี้ ยังบันทึกได้ดี และเก็บได้ครบดีจริง นับถือๆ

วันก่อนแอบถามนิ้วกลมเรื่องสถาปัตยกรรม กับความคิดสร้างสรรค์ เลยถามไปว่าคณะนี้เขาสอนอะไรกัน
ถามไปว่า
ผมเชื่ออีกอย่างหนึ่ง หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ (เล่มกัมพูชาพริบตาเดียว) ซึ่งเป็นความเชื่อของผมมาตลอดคือ สถาปัตยกรรม เป็นคณะที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ ผลงานกี่คนแล้ว ที่เราสัมผัส มาจากคณะนี้ ผลงานเหล่านั้นน่าชื่นชม
พาลคิดเล่นๆ จะให้ลูกเรียนคณะนี้ให้รู้แล้วรู้รอด ก็ได้แต่แกะว่าเขาสอนอะไรกันนะที่นี่ (บางคนบอกว่า วาดรูป และ อัพเกรดวิธีคิดขึ้นทุกปี) กิจกรรมอะไรนะที่แถมความคิดสร้างสรรค์มาให้ด้วย (เท่าที่รู้มีละครเวที) ทำอย่างไรลูกเราจะคิดถึงชีวิตในเชิงลึก คงต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน

บอกหน่อยสิ จะเอามาสอนลูก

นิ้วกลมตอบยาวไว้ดังนี้
ตอนแรกผมพิมพ์ตอบคำถามของคุณคนขับช้าไปตั้งยาว แล้วก็ลบทิ้ง
เพราะคิดว่ามันยาวเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าสถาปัตย์ไม่ได้สอนให้ย่อความ
ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีคิดแบบ Less is more. ก็เป็นวิธีคิดของสถาปนิกเหมือนกัน
(แม้ว่ามันจะปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในบทกวีของโรเบิร์ต บราวนิ่ง
แต่คนที่ทำให้ชาวบ้านมองเห็นภาพของประโยคแปลกๆ นี้ก็คือ
สถาปนิกที่ชื่อ มีส ฟาน เดอ โรห์) เอ๊ะ ผมรู้สึกว่ามันจะเริ่มยาวอีกแล้วล่ะสิครับ

ผมสรุปสิ่งที่สถาปัตย์สอนสั้นๆ ได้สามอย่างครับ
(ซึ่งคิดว่าจริงๆ แล้วมีเป็นร้อยๆ เลยทีเดียว)

หนึ่ง: สอนให้ฝัน
ผมยังจำข้อสอบข้อหนึ่งสมัยที่ผมสอบเข้าคณะสถาปัตย์ได้
เขาให้เนื้อเพลง 'เรือนแพ' มา แล้วให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลงทั้งหมด
แล้ว 'วาดภาพ' ในเพลงที่เห็น เป็นการทดสอบจินตนาการ
หลังจากสอบเข้าไปได้เรียนในคณะนี้เราก็ยังต้องใช้จินตนาการอยู่ตลอดเวลา
ทุกครั้งเราต้องเริ่มต้นจากกระดาษเปล่า จากความไม่มีอะไรเสมอ
แล้วทุกคนก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า
และสิ่งต่างๆ นั้นก็ต้องเป็น 'แบบ' ใหม่ที่ไม่ได้ลอกเลียนใครที่ไหนมา
ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องจินตนาการถึงสิ่งนั้นก่อนที่จะลงมือเขียน (วาด) มันลงไป
ในความว่างเปล่า ทุกโครงการจึงเริ่มต้นด้วยความว่างเปล่า
และจบลงด้วยความฝันที่เป็นตัวเป็นตนบนหน้ากระดาษ
ความสำคัญของความฝันทั้งหลายก็คือ มันไม่มีคำตอบที่ถูกเตรียมไว้รอตรวจ
เราจึงฝันไปได้มากมาย และยังได้เห็นความฝันจากจินตนาการของเพื่อนของเราด้วย
โจทย์เดียวกันจึงมีผลลัพธ์ออกมาได้แตกต่างหลากหลายถึงสองร้อยแบบ
(เท่าจำนวนเพื่อนในชั้นปีเดียวกันสองร้อยคน) ไม่เพียงนักเรียนสถาปัตย์ที่สนุก
ผมว่าอาจารย์คณะนี้ก็น่าสนุกตอนตรวจแบบ เพราะคำตอบนั้นไม่เคยซ้ำกันเลย
'เรือนแพ' ที่ถูกฝันขึ้นจากเพลงเดียวกันจึงมี 'เรือนแพ' ในฝันนับพันๆ เรือน

สอง: สอนให้คิด
สถาปัตย์สอนให้ออกแบบ และหนึ่งมุมของการออกแบบคือการแก้ปัญหา
สถาปัตย์ไม่ได้สอนให้สื่ออารมณ์ข้างในของผู้ออกแบบออกมาเหมือนศิลปิน
ถ้ากำลังโกรธ เราคงไม่สามารถตวัดเส้นฉวัดเฉวียนรุนแรงให้เป็นรูปตึกได้
เพราะมันมีสิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงมากมายในการลากเส้นแต่ละเส้น
การออกแบบเป็นการคิดถึงผู้ใช้งานมากกว่าตัวเอง นักออกแบบที่ดีคือคนที่
สามารถผสมการใช้งานที่ดีเข้ากับสไตล์หรือลายเซ็นหรือความเป็นตัวเอง
หากทั้งสองสิ่งสมดุล ผลลัพธ์น่าจะเป็นอาคาร, ผลิตภัณฑ์ หรือผลงานที่ลงตัว

การสอนให้คิดนั้นเป็นการกระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ
เพราะทุกวันย่อมมีปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาให้ออกแบบ
นักออกแบบที่ดีจึงเป็นนักสังเกตที่ดีด้วย ต้องสังเกตเพื่อที่จะมองหาข้อดีข้อเสีย
มาใช้ในการออกแบบของตัวเอง ซึ่งการสังเกตก็คือการมองผู้ใช้งาน
ลองดูว่าเขามีปัญหาอะไรไหม เขาสุขใจกับอะไรบ้าง

แถมการถูกบังคับให้คิดแทบทุกวันนั้นก็ยังทำให้นักเรียนสถาปัตย์
สนใจความคิดของคนอื่น ต้องไปตามหาความคิดคนอื่นมาอ่าน
เพื่อนำมาบันดาลใจตัวเองในการสร้างงานออกแบบ เพราะก่อนที่จะคิด
เราก็ต้องมี 'แนวความคิด' หรือ Concept ก่อน
ก่อนที่จะสร้างแนวความคิดของตัวเองได้ เราก็ต้องศึกษาแนวความคิดหลายๆ แบบ
ซึ่งจะว่าไปแล้ว แนวความคิดที่ใช้ในการออกแบบนั้นก็ไม่ต่างจากปรัชญา
หรือแนวความคิดต่างๆ ในสังคมซึ่งเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมและช่วงเวลานั้นๆ
ซึ่งความคิดคนเราก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อได้รับแนวความคิดที่หลากหลาย
ก็ยิ่งทำให้คิดได้กว้างและสนุกขึ้น

สาม: สอนให้ทำ
สถาปัตย์บังคับให้ลงมือทำ เมื่อฝันเสร็จ เมื่อคิดแล้ว หากไม่ลงมือทำก็ไม่รู้ผลลัพธ์
ไม่มีอะไรจับต้องได้ นักเรียนสถาปัตย์จึงต้องลงมือเขียนแบบ ประกอบโมเดล
หรือสร้างตัวงานขึ้นในคอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นภาพว่าหน้าตาจริงๆ เมื่อใช้งานจริงๆ
จะเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงส่วนไหนที่ต้องแก้ไขอีกหรือเปล่า ซึ่งขั้นตอนนี้นั้น
ไม่ใช่การลงมือทำเพียงครั้งเดียว การเขียนแบบต้องมีการแก้ไขแบบ ปรับปรุง พัฒนา
จนกว่าแบบจะมีช่วงโหว่น้อยที่สุด ขั้นตอนตรงนี้ยังฝึกให้เป็นคนรับฟังความคิดเห็น
ของคนอื่น เป็นคนรอบคอบ ละเอียดอ่อน และอาจจะคิดเยอะ คิดเล็กคิดน้อย (ฮ่าฮ่า)
แถมยังทำให้กลายร่างเป็นคนที่มีความอดทน สามารถแก้ไขแบบเดิมๆ ได้หลายเดือน

สุดท้าย ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยเรามั่นใจได้ว่า
สิ่งที่เราเคยฝันเอาไว้มันจะกลายเป็นความจริง และด้วยความที่ต้องตระหนักถึงข้อนี้
ทำให้ทุกขั้นตอนในการออกแบบ เราจะต้องตั้งใจให้ดีที่สุด เพราะเราไม่ได้กำลังฝัน
ไม่ได้กำลังสร้างสรรค์บางอย่างขึ้นในหัว ลอยๆ ล่องหนอยู่ในอากาศ แต่สุดท้ายแล้ว
ตึกหลังนี้จะมีคนเข้าไปใช้ บ้านหลังนี้จะมีคนเข้าไปอยู่ เก้าอี้ตัวนี้จะมีคนมานั่ง
โปสเตอร์แผ่นนี้จะถูกนำไปติดไว้ที่ข้างกำแพงในเมือง เราจึงต้องตั้งใจทำฝันให้สวย
เพื่อที่จะได้สร้างโลกแห่งความจริงที่สวยงามขึ้นมา

สถาปัตย์ไม่ได้สอนให้ออกแบบโลก แต่สอนให้ออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา
เป็นสังคม เป็นโลกที่เราอาศัยอยู่ ถ้าแต่ละหน่วยย่อยๆ ที่เราออกแบบสวยงาม
และใช้การได้ดี โลกใบนี้ก็น่าจะสวยงามและมีความสุขมากขึ้น

หากให้ตอบสั้นๆ แบบ Less is more. อาจจะพอตอบได้ว่า
"สถาปัตย์สอนให้ฝันถึงโลกใบนั้น แล้วลงมือสร้างมันให้เป็นจริงครับ"


สถาปนิกท่านอื่นแจมได้นะครับ

เที่ยวแล้วเก็บมาเล่าได้สนุกแบบนี้ น่าไปเที่ยวบ้างจัง สักวันนะเนปาล
ว่าแต่เอาประมาณไหนดี ส่วนไหนของร่างกายดี
ที่แน่ๆ ถ้าจะไปต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย
และใช้มากที่สุดคือ หัวใจ ครับ
โดยเฉพาะเมื่อไปด้วยกันมากกว่า ๑ คน ได้พบเห็นน้ำใจเพื่อนก็ตอนเหนื่อยแทบขาดใจนี่แหละครับ

ในเล่มนี้บอกว่า
อย่าเพิ่งตาย หากยังไม่ได้ไต่เขาที่เนปาล




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2552
16 comments
Last Update : 8 มกราคม 2555 22:46:00 น.
Counter : 1814 Pageviews.

 

แวะมาทักทายก่อนนอนและ เข้ามาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมชมบล็อกนะครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลหนังสือดีๆครับ

 

โดย: กัปตันลูกชุบ 4 กุมภาพันธ์ 2552 23:33:48 น.  

 

เป็นเล่มที่ผมชอบมาที่สุดของพี่เอ๋เลยนะ..ถ้าไม่รวมอิฐ ที่มันคนละแนวกัน

 

โดย: Tentty 5 กุมภาพันธ์ 2552 2:29:51 น.  

 

ยังไม่เคยอ่านเลยค่ะ ..
แต่ตอนไปเนปาลเจอเล่มนี้วางอยู่ใน Guest House ที่ไปพักด้วย

สงสัยติดมือ trekker คนไทยไป

=)

 

โดย: hunjang 5 กุมภาพันธ์ 2552 10:17:16 น.  

 

เล่มนี้ยังไม่มีค่ะ ...ได้อ่านแต่กัมพูชา....
ไม่รู้เป็นไงนะ ชอบอ่านหนังสือที่คนอื่นเที่ยวเอง
แต่พอเวลาเราจะเที่ยวบ้าง
เราเลือกไปกับทัวร์ ทู้กที

 

โดย: นัทธ์ 5 กุมภาพันธ์ 2552 20:52:22 น.  

 

ขอบคุณนะครับ
: )

 

โดย: เอ๋ IP: 125.24.139.85 6 กุมภาพันธ์ 2552 3:14:17 น.  

 

อ่านที่นิ้วกลมตอบคุณ ดีจังเลยค่ะ
เขาเป็นนักเขียนที่ช่างคิด
เป็นนักคิดที่ช่างเขียนนะคะ
ตัวหนังสือน่าอ่าน มีเสน่ห์ในมุมคิด อ่ะน่ะ
ว่าแล้วก็ไปหาอ่านบ้างดีกว่าเล่มที่คุณแนะนำเนอะ

 

โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน 6 กุมภาพันธ์ 2552 11:22:37 น.  

 

มาทักทายค่ะ
ขอบคุณค่ะ ที่แนะนำหนังสือดีๆ
น่าหามาอ่าน และ ไว้ที่ร้านให้ลูกค้ายืมอ่าน คงเป็นประโยชน์ต่อใครๆได้มากค่ะ

ชอบนิ้วกลมอยู่แล้วเคยอ่านที่เขาเขียนเล่าเรื่องจีบสาวแต่ละคน และมาเกี่ยวเนื่องกับเพลงในช่วงเวลานั้น ๆๆ
อ่านหนังสือ เค้าไปก็ร้องเพลงที่เขาเขียนถึงตามค่ะ

 

โดย: วีดวาด 6 กุมภาพันธ์ 2552 12:57:56 น.  

 

สวัสดีค่ะ
แวะมาเยี่ยมกัน

"สอนให้ฝัน" เดี๋ยวจะจำเอาไว้ไปสอนหลานบ้างค่ะ

 

โดย: ปณาลี 6 กุมภาพันธ์ 2552 18:56:18 น.  

 

อ่านแล้วก็มาบอกกันบ้างนะครับ ชอบหรือไม่ อย่างไร

ตอนนี้กำลังอ่่านเล่ม ความฝันโง่ๆ ของสถาปนิกอีกคน วินทร์ เลียววาริณ
คนนี้ชาวหาดใหญ่ บ้านเดียวกัน

 

โดย: คนขับช้้า IP: 202.149.24.161 7 กุมภาพันธ์ 2552 4:26:06 น.  

 

 

โดย: สายลมอิสระ 7 กุมภาพันธ์ 2552 9:53:39 น.  

 

กำลังอ่านนิ้วกลมตอนไปลอนดอนอยู่ครับ

สำนวนลีลาการเขียนเยี่ยมเอามากๆ

ปล.ได้รับ Funny game แล้วนะครับ ขอทำใจสักพักก่อนเปิด ดูแล้วจะรีบส่งคืนครับ ขอบคุณครับ

 

โดย: jonykeano 7 กุมภาพันธ์ 2552 19:05:17 น.  

 

อ่านแล้วค่ะ แต่ชอบโตเกียวไม่มีขามากกว่าค่ะดูมี"อะไรๆ" ดี

อ่านนั่งรถไฟไปตู้เย็นไหมคะ

 

โดย: MagicApple 8 กุมภาพันธ์ 2552 23:27:57 น.  

 

"สถาปัตย์สอนให้ฝันถึงโลกใบนั้น แล้วลงมือสร้างมันให้เป็นจริงครับ"

อ่านแล้วอยากไปเรียนสถาปัตย์

 

โดย: Love_TemPo 9 กุมภาพันธ์ 2552 12:34:31 น.  

 

แต่เราชอบเล่มนี้มากกว่ากัมพูชาแหละค่ะ

อ่านแล้วอินกว่า แหะๆ


ได้รับเดินสู่อิสรภาพแล้วนะคะ ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2552 15:02:22 น.  

 

คุณนิ้วกลมตอบได้สุดยอดและตั้งใจมากเลยค่ะ
อ่านแล้วอึ้ง อยากให้ลูกเรียนสถาปัตย์บ้างเหมือนกัน

 

โดย: นางสาวดุ่บดั่บ 13 กุมภาพันธ์ 2552 5:02:07 น.  

 

 

โดย: nobuta wo produce 6 กุมภาพันธ์ 2555 19:47:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนขับช้า
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ย้ายมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖

เคยมาเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘

เคยมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗

เคยเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒

ย้ายที่ทำงานในจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๖
เคยเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕

เคยเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙

เคยเป็นคนระยอง ตั้งแต่ ๒๕๓๗
Friends' blogs
[Add คนขับช้า's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.