Carpe diem

MonkeyFellow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add MonkeyFellow's blog to your web]
Links
 

 
พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์


แจงไว้ก่อนว่าชื่อปกนี่ชวนให้ข้องใจ มาจากหัวข้อที่่ท่านเจ้าคุณเทพเวทีเรียบเรียงจากงานแสดงปาฐกถาในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 16 สิงหาคมปี พ.ศ.2534 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านได้เสนอชื่อใหม่กล่าวไว้ในหนังสือแล้ว นับว่าเป็นโชคดีที่มีการจัดทำเป็นรูปเล่มเพราะคิดว่าถ้าได้ฟังรอบเดียวก็ไม่อาจเข้าใจและเก็บประเด็นต่างๆที่ท่านต้องการนำเสนอได้ไม่ครบถ้วน การที่มีโอกาสได้อ่านทำให้มีเวลาในการใช้สติปัญญาพิเคราะห์ไตร่ตรองมากกว่า หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับผู้คนที่อยู่อาศัยในโลกยุควิทยาศาสตร์ปัจจุบันควรอ่าน เพื่อไปหาหลักปฏิบัติ ชี้นำทางชีวิตและสังคม
ขอยกบางตอนที่ตรงจริต  

วิทยาศาสตร์นั้นโดยพื้นฐานของมัน จะต้องเป็นพวกเดียวกับธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้คนได้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่มิใช่ธรรมชาติ เราเคยเรียกสิ่งที่ทำขึ้นมาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เอามาประยุกต์ใช้โดยผ่านทางเทคโนโลยี ว่าเป็นของวิทยาศาสตร์ เราเรียกชื่อโดยเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายคำนั้นๆ เช่น ไตที่ทำด้วยเทคโนโลยี ก็เป็นไตวิทยาศาสตร์ ปอดที่ทำด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นปอดวิทยาศาสตร์

แล้วต่อมาบางทีก็เปลี่ยนเรียกปอดวิทยาศาสตร์ เป็นปอดเทียมไป ไตวิทยาศาสตร์ก็เป็นไตเทียม เอ๊ะ! ไปๆ มาๆ ของวิทยาศาสตร์นี่กลายเป็นของเทียมไปแล้ว เอาละซี นี่แหละความหมายในหมู่ประชาชนนี้มันแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เราจะต้องติดตามดูเหมือนกัน

จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ คำตอบนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ ที่แท้นั้นมันเป็นคำตอบของนักวิทยาศาสตร์เองด้วยซ้ำ

ความใฝ่รู้ต่อความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ พร้อมด้วยความเชื่อว่าในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลที่สม่ำเสมอแน่นอน สองประการนี้แหละเป็นฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรม ในการค้นคว้าศึกษา หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ

ว่าที่จริง ความคิดที่จะแก้ปัญหาจริยธรรมด้วยวิธีการทางเศรษฐ­กิจนี้ ก็ไม่ใช่จะผิดเสียทีเดียว เพราะสภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในทางจริยธรรมด้วย แต่ความผิดพลาดอยู่ที่ทัศนคติแบบมองอะไรแง่เดียวด้านเดียว เห็นไปว่าเศรษฐกิจดีแล้ว ปัญหาจริยธรรมก็จะหมดไปเอง

ศาสนาก็คือการให้คำตอบเบ็ดเสร็จ คือ ให้คำตอบที่เชื่อว่าเป็นความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิตอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าความจริงรวบยอด จบทีเดียว คลุมจากข้างบนลงมาทีเดียวหมดเลย

แต่วิทยาศาสตร์นั้นตรงข้าม วิทยาศาสตร์เป็นการพยายามพิสูจน์ความจริงปลีกย่อยทีละเรื่องละอย่าง เป็นความจริงเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง ก้าวไปหาความจริงที่ครอบคลุมทีละน้อยๆ

เพราะศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นอย่างที่ว่ามานี้ ก็เลยมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่พอใจทั้งกับศาสนาและกับวิทยาศาสตร์ คนพวกนี้ต้องการคำตอบเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิต ชนิดที่เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่เมื่อดูทางด้านศาสนา แม้จะให้คำตอบเบ็ดเสร็จถึงความจริงพื้นฐาน แต่คำตอบนั้นก็ไม่เห็นเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญา จะให้เชื่อเพียงด้วยศรัทธา เขาก็รู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ และเมื่อหันไปดูทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะให้คำตอบเป็นเหตุเป็นผลพิสูจน์ได้ รู้เข้าใจด้วยปัญญา แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบชนิดเบ็ดเสร็จที่ความจริงพื้นฐาน เพราะยังพิสูจน์ไม่ถึง ซึ่งเขาก็รอไม่ได้ คนพวกนี้ก็เลยพยายามคิดค้นหาคำตอบขั้นเบ็ดเสร็จนั้นเอาเอง ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผล จะให้เข้าถึงความจริงพื้นฐานด้วยวิธีการทางเหตุผลนั้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ วิธีการหาความจริงเบ็ดเสร็จแบบนี้ ก็กลายเป็นวิชาการขึ้นมาอย่างหนึ่งเรียกว่าปรัชญา




Create Date : 25 สิงหาคม 2563
Last Update : 25 สิงหาคม 2563 14:14:23 น. 0 comments
Counter : 353 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.