กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๒ ราชสมบัติสมควรกับพระบารมีในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

คำว่า "บารมี" หนังสือหลายเล่ม ความคิดเห็นของหลายท่านมักคิดถึงเรื่อง ลึกลับเหนือธรรมชาติ เกินจริง เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า "บารมี" กันเสียก่อนนะครับ

"บารมี" แปลว่า ความดีที่พึ่งกระทำ หรือ ความดีที่ได้กระทำมาแล้ว
"บารมี" เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "ทศพล" (กำลังทั้งสิบ) ประกอบด้วยสิบอย่างด้วยกัน ได้แก่

๑. ทาน
๒. ศีล
๓. เนกขัม
๔. ปัญญา
๕. วิริยะ
๖. ขันติ
๗. สัจจะ
๘. อธิษฐาน
๙. เมตตา
๑๐. อุเบกขา

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "บารมี" ผู้มีบารมีจึงหมายถึง ผู้ที่ได้บำเพ็ญความดีดังกล่าวมาแล้ว "บารมี" จึงไม่ใช่เรื่องที่ลึกลับเหนือธรรมชาติ เกินจริงแต่อย่างใด ผู้บำเพ็ญบารมีเป็นที่ยิ่งจึงจะพบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ดังเช่นพระพุทธเจ้าดังเราเคยได้ยินจากในทศชาติชาดกนั้นเอง

กระทู้นี้จะกล่าวถึง พระบารมีในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนที่จะได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นข้อสำคัญในพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



....................................................................................................................................................


จริงอยู่ว่าเรามีกฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งกำหนดว่า “พระราชกุมารอันเกิดด้วยอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” หมายความว่าเป็นตำแหน่งรัชทายาทผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ คือ หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพิจารณาการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ซึ่งมีสืบมาในสมัยโบราณที่ผ่านมา เห็นได้ว่าย่อมยึดถือความเหมาะสม กำลัง และความสามารถของแต่พระองค์ว่าจะเป็นที่พึ่งของแผ่นดินได้หรือไม่ มากกว่าจะยึดถือกฎมณเฑียรบาลที่ตั้งไว้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสู่สวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงดำรงพระยศอยู่ในตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า แต่ขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง ๒๑ ปี และความรู้ความสามารถไม่ได้ทรงมีมากไปกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ตั้งแต่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ สวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศก็ไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้านายพระองค์ใดอีกจนสิ้นรัชกาล และเมื่อจะเสด็จสวรรคตก็ไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้ เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้แล้ว พระบรมราชวงศ์นุวงศ์และเสนาบดีหัวหน้าราชการทั้งปวง จึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมบ้านเมืองโบราณ ว่าควรจะเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง ให้เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินสืบต่อไปได้

อย่างที่กล่าวไว้อันเจ้านายซึ่งเป็นกำลังแผ่นดินที่สำคัญในรัชกาลที่ ๒ มีด้วยกัน ๓ พระองค์ คือกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรพระองค์ ๑ เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในบรรดา ๓ พระองค์ที่กล่าวมานี้มีแต่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์เดียวที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษามากกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎถึง ๑๗ ปี และภายหลังเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสวรรคต และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงบัญชาราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดมา ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีความจงรักสวามิภักดิ์ในพระองค์ เป็นที่ นับถือ รักใคร่ ยำเกรงของเหล่าข้าราชการและราษฎรทั่วไปเป็นอันมาก ที่ประชุมเห็นว่าควรถวายพระราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ บ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปรกติสุข อีกทั้งยังทรงเป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินได้ด้วยพระกำลัง พระบารมี พระปรีชาสามารถ และพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทับ พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ เป็นปีที่ ๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปีมะแมนพศกนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ จะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย” ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินราชการสงครามครั้งนี้ด้วย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ในสาส์นสมเด็จ ทูล สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับลงวันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่า “เวลาเขียนเรื่องให้ชื่อที่ทูลมานี้ พบอะไรแปลกอย่างหนึ่ง หม่อมฉันนึกๆ ขึ้นว่าอะไรจะเป็นนิมิตที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระนามว่า “ทับ” ลองไปเปิดดูหนังสือราชสกุลวงศ์ได้ความว่า ประสูติเมื่อปีมะแมนพศก พุทธศักราช ๒๓๓๐ ไปเปิดดูพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ได้ความว่าในปีมะแมนพศกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จไปตีเมืองทวาย และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นตำแหน่งยกกระบัตรทัพ ครั้งแรกที่เสด็จออกสงคราม เห็นจะเอาการทัพครั้งนี้เป็นนิมิตพระนาม”

เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระราชชนนี พระชนกของเจ้าจอมมารดาเรียมมีนามว่า บุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน มีเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้ทรงสถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ เมืองนนทบุรีในปัจจุบันนี้ ปรากฏในหนังสือราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ ว่า

ราชินิกูลในรัชชกาลที่ ๓ ชั้นที่ ๑

บุรพชนทางพระชนก (ของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ชนกและชนนีขององค์พระชนกซึ่งเปนราชินิกุลชั้น ๑ นั้น ว่าเป็นใครและนามใด บุตร์ (ทราบแต่องค์พระชนกองค์เดียว) นามว่า "จัน" มีบรรดาศักดิ์เปนพระยานนทบุรี เป็นราชินิกุลชั้น ๒ เมื่อพระชนกจันได้เปนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีแล้วไปตั้งเคหะสถานอยู่ณะจังหวัดนั้น สืบสกูลต่อมาฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "สกูลเมืองนนท์" ภายหลังในตำบลนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระอารามถวายสมเด็จพระศรีสุราไลย พระบรมราชชนี อันมีนามปรากฏว่า "วัดเฉลิมพระเกียรติ์" ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญอยู่จนทุกวันนี้

บุรพชนทางชนนีฝ่ายชนก (คือบิดาของมารดาของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ซึ่งเปนเชื้อสายแขกสุนีนั้น กล่าวกันว่ามาแต่สกูลเจ้าพระยาจักรี ครั้งกรุงธนบุรี (ทราบว่าชื่อ "หมุด") ซึ่งเดิมเป็นหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือผู้ที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารว่า "เจ้าพระยาจักรีแขก" นั้น เจ้าพระยาจักรีแขกมีบุตร์ที่ควรกล่าว ๒ คน คน ๑ ทราบว่าชื่อ "หมัด" เดิมเปนพระยาราชบังสัน แล้วเลื่อนที่เป็นพระยายมราช สมญาปรากฏว่า "เจ้าพระยายมราชแขก" อีกคนหนึ่งชื่อไรไม่ปรากฏ เข้าใจว่าชื่อ "หวัง" เดิมเป็นพระชลบุรีอยู่ก่อน ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดเกล้าให้เปนพระยาราชวังสัน เข้ามารับราชการอยู่ในกรุง ....

.... ผู้น้องคงเป็น "พระยาราชวังสัน" ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจน ก็คือแปลว่า "พระยาราช (สกูลมาแต่) หวังหะสัน" พระยาราชวังสันผู้นี้ ตั้งเคหะสถานอยู่ที่ริมวัดหงส์รัตนาราม ในคลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรีใต้ และเคหะสถานนี้จะตั้งใหม่ หรือจะเป็นสถานที่เดิมของสกูลแต่ครั้งเจ้าพระยาจักรี (แขก) ผู้บิดาก็เปนได้ เมื่อนามเดิมของพระยาราชวังสันผู้นี้ไม่ทราบแน่ จึงเปนแต่เรียกว่า "พระยาราชวังสัน บ้านริมวัดหงส์" เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จักเรียกว่า "พระยาราชวังสัน (หวัง)" ท่านผู้นี้นับว่าเป็น ราชินิกูลชั้น ๑ เพราะเป็นชนกของชนนีในสมเด็จพระศรีสุราไลย ...

ฝ่ายชนนีของพระชนนี (คือมารดาของมารดาของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ซึ่งเป็นไทยสกูลชาวสวนวัดหนัง ผู้เปนภรรยาของพระยาราชวังสัน (หวัง) ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น มีนามว่า "ชู" นับว่าเป็นราชินิกูลชั้น ๑ เหมือนกัน เดิมก็ย่อมอยู่ณะเคหะสถานแห่งบุรพชนในสกูลชาวสวนวัดหนัง ถึงแม้ว่าภายหลังจักต้องย้ายสถานที่ใหม่มาอยู่กับสามีก็ดี สถานที่เดิมของบุรพชนยังมีสำคัญอยู่ คือต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดหนังในคลองบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรีใต้ เปนเครื่องหมายสำหรับสกูลชาวสวนวัดหนัง อันเปนบุรพชนของพระชนนีฝ่ายชนนี ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เจ้าจอมมารดาเรียมเป็นธิดาองค์เดียวในพระชนนีเพ็ง เจ้าจอมมารดาเรียมได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร และเมื่อทรงประทับอยู่พระราชวังเดิม เจ้าจอมมารดาเรียมทรงให้ประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ

๑. พระองค์เจ้าทับ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นี้

๒. พระองค์เจ้าป้อม ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๓๓ สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ พุทธศักราช ๒๓๓๖ พระชันษา ๓ ปี

๓. พระองค์เจ้าหนูดำ ประสูติเมื่อเดือน ๔ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พุทธศักราช ๒๓๓๕ สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ พุทธศักราช ๒๓๓๖ พระชันษา ๑ ปี

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้าจอมมารดาเรียมและพระราชโอรสก็ได้โดยเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังตามโบราณราชประเพณี เจ้าจอมมารดาเรียมได้รับราชการที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง

พระองค์เจ้าทับทรงพระเจริญมาโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาและพระเมตตา จากสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาแต่ทรงพระเยาว์ ถึงเกณฑ์กำหนดโสกันต์ ในขณะนั้นยังหามีธรรมเนียมพระโอรสเจ้าฟ้าต่างกรมโสกันต์ไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชทรงพระมหากรุณาในพระราชนัดดาพระองค์นี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ ครั้นถึงกำหนดทรงบรรพชาและอุปสมบท สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในทำพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสองคราวด้วย

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในท้ายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น พระองค์เจ้าทับก็ได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมชนกนาถทั่วไป เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ทรงมอบเวนสิริราชสมบัติพระราชแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว เกิดเหตุด้วยมีหนังสือทิ้งกล่าวโทษเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะคิดประทุษร้ายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เมื่อทรงทราบก็ทรงพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ผู้อื่นชำระความคดีนี้เนื้อความจะยืดยาว หรือคลาดเคลื่อนไป หากทำการไม่รอบคอบมั่นคงก็จะเป็นเหตุให้เกิดเสี้ยนศึกศัตรูลุกลามออกไป ด้วยเหตุที่ว่าในเวลานั้นข้าราชการซึ่งเป็นคนเก่าแก่ได้ทำราชการมาแต่ครั้งกรุงธนบุรียังมีอยู่มาก ที่ยังนิยมยินดีต่อพระบารมีของเชื้อวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีมากอยู่ ที่มีความนิยมยกย่องจงรักสวามิภักดิ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และที่นิยมยินดีสวามิภักดิ์ต่อพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระองค์ก็มีมาก ทั้งสองฝักสองฝ่ายก็มีอยู่โดยมากที่คิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่จะได้โอกาสคิดทุจริตทำการเป็นความชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ อาจเกิดเหตุอุบาทว์กลางเมืองขึ้นได้

ดังนั้นผู้ที่จะรับสนองพระราชกิจครั้งนี้ต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ประกอบด้วยสติปัญญา ความกล้าหาญ และจงรักภักดี จึงจะชำระเสี้ยนศึกศัตรูระงับการจลาจล ซึ่งจะเกิดขึ้นในพระนครในเวลาที่ตั้งราชธานีใหม่และผลัดแผ่นดินใหม่ครั้งนี้ ยังไม่มั่นคงบริบูรณ์ ดังนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่แผ่นดินทั้งปวง อีกทั้งไม่เป็นที่หมิ่นประมาณแก่อริราชศัตรูภายนอกจะพลอยซ้ำเติมเอาได้ พระองค์ตระหนักในพระราชหฤทัยว่าผู้ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เห็นจะมีแต่พระราชโอรสพระองค์โต พระองค์เจ้าทับ จึงทรงมอบให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นชำระความเรื่องทิ้งหนังสือกล่าวโทษนี้ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับในขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง ๒๓ ปี แต่ด้วยพระสติปัญญา ความกล้าหาญ พระองค์ได้ทรงพิจารณาความ ค้นคว้าหาเรื่องเรื่องราวชำระได้ตัวผู้มีความผิดทั่วทุกตัวคน แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้ลงโทษระงับเหตุทั้งปวงได้โดยเร็ว เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยมีได้ลุกลามเกิดเหตุอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งอีก ด้วยความยุติธรรมในการชำระความของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้น

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเษกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนพระเกียรติยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และทรงพระกรุณาพระราชทานที่วังและเครื่องอุปโภคบริโภคทรัพย์ศฤงคารบริวารของกรมขุนกษัตรานุชิตผู้เป็นโทษต้องประหารให้เป็นบำเหน็จ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ปกครองบริวารเหล่านั้นเป็นสุขสืบมา

ในรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงบำเพ็ญราชกิจใหญ่น้อยให้สำเร็จลุล่วงเป็นอันมาก เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งตั้งราชธานีใหม่ พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายใช้การแผ่นดินก็ได้แต่ค่านาอากรสมพักสรในพื้นเมืองเป็นหลัก ซึ่งก็เพียงเล็กน้อยไม่พอที่จะจ่ายราชการ พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงตกแต่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้าในพื้นเมืองออกไปค้าขายยังประเทศจีน พระราชกิจนี้ก็ตกเป็นหน้าที่ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ด้วยทรงรับบังคับบัญชาราชการในกรมท่าขณะนั้น พระองค์จึงต้องขวนขวายหาพระราชทรัพย์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่จะได้ทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดินทั้งปวงซึ่งมีมากในช่วงเวลาที่ตั้งราชธานีใหม่ พระราชทรัพย์ซึ่งได้จากส่วนของกำไรการแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ยังไม่บริบูรณ์พอจะใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงตกแต่งสำเภาในส่วนพระองค์ออกไปค้าขายอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ได้ผลประโยชน์กำไรมาก็ทูลเกล้าฯ ถวายไว้ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทรัพย์ที่จะทรงจับจ่ายในราชการแผ่นดินจึงถึงที่บริบูรณ์เพียงพอ มิได้เป็นที่ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทอีกต่อไป สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ยิ่ง ตรัสประพาสออกพระนามว่า “เจ้าสัว” เสมอมา

การโยธาก่อสร้างสิ่งต่างเพื่อเป็นศรีพระนครแห่งใหม่นั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถหลายอย่าง ทั้งการการโยธาที่จะการป้องกันพระนครและการโยธาซึ่งเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เกื้อกูลแก่ความปิติสุขความยินดีในสมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองประการพร้อมกัน พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นแม่กองในการสร้างป้อมประโคนชัยแห่ง ๑ ป้อมนารายณ์ปราบศึกแห่ง ๑ ป้อมปราการแห่ง ๑ ป้อมกายสิทธิ์แห่ง ๑ ป้อมผีเสื้อสมุทรซึ่งตั้งบนเกาะกลางลำแม่น้ำเจ้าพระยาแห่ง ๑ และป้อมนาคราชซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรเสด็จลงไปประทับอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ ทรงบังคับบัญชาจัดการก่อสร้างป้อมทั้งปวงอยู่มิได้ขาด เป็นพระราชกิจที่ติดอยู่กับพระองค์จนตลอดแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนการโยธาซึ่งจะเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงรับเป็นแม่กองขุดสระ ทำสวน สร้างเก๋งน้อยใหญ่ในพระราชอุทยานซึ่งเรียกกันว่า สวนขวา ให้เป็นที่เสด็จประพาสรื่นรมย์สำราญพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติเป็นศรีสำหรับพระนครเป็นอันมาก

ในราชการสงครามซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในช่วงเวลาตั้งราชธานีและผลัดแผ่นดินใหม่นั้น เมื่อปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ มีพระจากแดนพม่ารูป ๑ ชื่อสมีเคียนอู่เข้ามาถึงพระนคร โปรดให้เจ้าพนักงานถามคำให้การ ได้ความว่าพระเจ้าอังวะปะดุงสิ้นพระชนม์ ถึงเดือน ๑๑ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พุทธศักราช ๒๓๖๓ พระยาภักดีสงครามสมิงอาทมาตกองตระเวน ออกไปลาดตระเวนสืบข่าวทางชายแดนพม่า จับได้อ้ายเยละนายด่านบ้านโป่ง อ้ายงะจันตนะ อ้ายงะโค ซึ่งเจ้าเมืองเมาะตะมะให้คุมไพร่เข้ามาสืบราชการ ณ ตำบลด่านลุมช้าง ส่งตัวเข้ามายังพระนคร โปรดให้ถามคำให้การได้ความว่าเมื่อพระเจ้าอังวะปะดุงมินสิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่พระเจ้าอังวะจักกายมิน ปราบปรามเมืองมณีบุระซึ่งแข็งเมืองไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่รัชสมัยจิงกูมินมหาธรรมราชาธิราชได้สำเร็จ แล้วคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทย เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศว่าทำการซึ่งพระอัยกาปะดุงมินทำไม่สำเร็จนั้นได้ จักกายมินให้หาเจ้าเมืองทวาย เจ้าเมืองเชียง เจ้าเมืองเมาะลำเลิงขึ้นไปคิดราชการสงครามจะเข้ามาตีเมืองไทย และให้การว่าเมื่อเดือน ๙ สมิงหาญหักค่ายรามัญหนีออกไปเมืองมฤท บอกข่าวว่า ในเดือน ๗ ปีมะโรงโทศกนั้น เกิดไข้อหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ ผู้คนล้มตายมาก ศพคนตายทั้งชายหญิงทิ้งเกลื่อนวัดก่ายกันเหมือนกองฟืน ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดติดต่อกันไปทุกคุ้งแคว พระสงฆ์ไม่อยู่วัด คฤหัสถ์ทิ้งบ้าน ย่านถนนหนทางไม่มีคนเดิน ต่างคนต่างกินปลาแห้งกับพริกเกลือด้วยกลัวห่า ราษฎรพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อมหันตภัยไปทั่วพระนคร ระส่ำระสายเป็นอันมาก เจ้าเมืองเมาะตะมะจึงแต่งให้เจ้าเมืองพังดารนายไพร่เข้าจับไทยทางท่าดินแดงไปสอบ ถ้าได้ความตามนั้นจะนำทูลพระเจ้าอังวะให้ยกกองทัพมาทางเอาเมืองไทย ฝ่ายพระยาถลางข้างใต้แต่งคนไปสืบราชการทางเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี ก็ได้ความว่าพม่าเตรียมต่อเรือขึ้นเป็นมาก

เมื่อทราบทราบข่าวสงครามต้องกันทั้ง ๒ ทางดังนี้แล้ว จึงทรงปรึกษาพระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย เห็นพร้อมกันว่าพม่าเตรียมการใหญ่ครั้งนี้ ข้างฝ่ายเราจะนิ่งประมาทอยู่ไม่ได้ ควรให้มีกองทัพไปตั้งขัดตาทัพไว้ หากพม่ารู้ว่าไทยรู้ตัวให้กองทัพไปตั้งสกัดไว้ก็คงจะไม่ยกมา หากแม้จะยกมาจริงกองทัพที่ยกไปก็จะได้ปะทะปะทังถ่วงไว้ พอตระเตรียมกองทัพใหญ่รับศึกพม่าได้ทัน ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพไปตั้งขัดตาทัพที่เมืองเพชรบุรีกอง ๑ และโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่ทัพคุมคนหมื่นหนึ่งไปตั้งขัดตาทัพทางด่านเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรีอีกทาง ๑ ด้วยทรงเห็นถึงสติปัญญา ปฏิภาณความเฉลียวฉลาด กล้าหาญ ชำนาญพิชัยสงครามทั้ง ๒ พระองค์พอจะสนองพระราชกิจครั้งนี้ได้ โปรดยกจากพระนครพร้อมกัน ณ วันศุกร์ เดือน ๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรงโทศกนั้น


ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกนั้น โปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) คุมพลไปตั้งรักษาเมืองถลางกอง ๑ พระยาศรสำแดงไปรักษาเมืองพัทลุงกอง ๑ พระยาพิไชยสงครามไปรักษาเมืองพัทลุงกอง ๑ และให้เกณฑ์พลเมืองสงขลาเมืองพัทลุงรวมกันยกออกไปตั้งต่อเรือสำหรับบรรทุกทหารที่เมืองสตูล ส่วนที่เมืองนครศรีธรรมราชเวลานั้นพระยานคร (น้อย) ป่วย โปรดให้พระยาวิชิตณรงค์คุมกำลังลงไปช่วยรักษาเมืองนคร และให้พระพงษ์นรินทร์ราชบุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งรับราชการเป็นหมอหลวงอยู่ ลงไปรักษาเมืองนครด้วย มีท้องตราสั่งไปว่า ถ้าเกิดศึกพม่าจริงแล้ว ให้พระยานคร (น้อย) เป็นแม่ทัพ พระยาวิชิตณรงค์เป็นปลัดทัพ พระพงษ์นรินทร์เป็นยกบัตรทัพ

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จไปตั้งทัพหลวงที่แม่น้ำน้อย เมืองกาญจนบุรี แต่งให้พระยารัตนจักรไปสืบราชการ จับได้พม่าที่ด่านมองละแขวงเมืองทวาย ๘ คน ให้การว่า เจ้าเมืองทวายให้ปลูกฉางขึ้น ๓ ฉางจะขนข้าวเมืองยะไข่มาไว้ เดือน ๖ เดือน ๗ จะตั้งกองทำนาที่เมืองทะวายสะสมเสบียง ปีมะเส็งตรีศกจะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ กองทัพหลวงตั้งขัดตาทัพจนเข้าฤดูฝนไม่มีกองทัพพม่ายกมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าพม่าให้ปลูกฉางลำเลียงเสบียงอาหารสำรองไว้ดังนั้น เห็นจะคิดทำการติดปีหน้า ในเวลานั้นเข้าฤดูฝนพ้นฤดูศึกสงครามแล้ว เห็นจะไม่มีศึกสงครามในฤดูฝนนั้นเป็นแน่ จึงโปรดให้มีท้องตราให้หากองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กลับคืนพระนครทั้ง ๒ ทัพ ให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) พระยามหาโยธา คุมพลอยู่รักษาราชการ แลให้หาพระยากลาโหมราชเสนากลับเข้ามาคุมทัพ ๘,๒๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพที่เมืองราชบุรี

อนึ่ง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงยกไปตั้งขัดตาทัพนั้น ก็มิได้เฉยอยู่ ยังคำนึงถึงหน้าที่แม่กองโยธาการก่อสร้างสวนขวาในพระนคร โปรดให้เลือกเฟ้นศิลาก้อนใหญ่ๆ จัดส่งเข้ามาก่อเขาก่อถ้ำในพระราชอุทยานอยู่เสมอมิได้ขาด

ในส่วนการพระกุศลในพระพุทธศาสนานั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรหลายพระองค์ และทรงจัดสร้างพระไตรปิฎกทั้งคำอรรถคำแปลมีมงคลลัตถทีปนีแปลที่ปรากฏอยู่สืบต่อมา เป็นต้น ทรงบำเพ็ญพระกุศลปฏิบัติเลี้ยงสงฆ์และมีพระธรรมเทศนาจาระไนพระพุทธวจนะที่วังของพระองค์ทุกวันมิได้ขาด ทั้งประทานเงินเดือนให้แก่อาจารย์ที่บอกพระคัมภีร์แก่พระสงฆ์สามเณรเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี้ยงอาหารยาจกวนิพกราษฎรทั่วหน้า ถึงวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินแก่คนชราคนพิการคนยากจนเป็นนิจ ส่วนการพระกุศลซึ่งเป็นการจรตามกาลสมัย พระองค์ก็ได้ทำทรงบำเพ็ญอยู่เนืองๆ คราวที่ปรากฏเป็นการใหญ่นั้นได้แก่ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร พระองค์ได้เชิญมาทรงเทศนาพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี และพระองค์ได้แต่งกระจาดใหญ่เป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ ครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและราษฎรทั้งปวง ก็พากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาพระกุศลเป็นการเอิกเกริกยิ่งใหญ่ ดังที่เล่ามาแล้ว

การพระราชกุศลในบวรพระพุทธศาสนาทั้งปวงที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงบำเพ็ญนั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ทรงอนุโมทนาและสรรเสริญเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า แต่พระเจ้าลูกยาเธอยังทำทานบำเพ็ญพระกุศลอยู่เป็นนิจดังนี้ พระองค์ทรงเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินควรที่พระองค์จะบำเพ็ญทานให้เป็นที่ยิ่งกว่านั้นบ้าง จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงพระสงฆ์และยาจกวนิพกทั้งราษฎรทั่วไปทั้งปวง แล้วโปรดให้มีเทศนาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแจกเงินแก่คนชราคนพิการคนยากจน เป็นแบบอย่างสืบต่อมาในรัชกาลภายหลัง

ในด้านพระอัธยาศัยพระจริตสันดาน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ปราศจากความมัจฉริยะตระหนี่ถี่เหนียว ทรงโอบอ้อมอารีเกื้อกูลเจือจานทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการ บรรดาซึ่งมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และที่อยู่ประจำราชการในพระราชวัง พระองค์ก็โปรดให้ทำอาหารการกินเลี้ยงที่วังทั่วหน้าทุกวันทุกเวลามิได้ขาด เป็นที่สรรเสริญนิยมรักใคร่ในพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นที่นิยมรักใคร่เคารพนับถือในบรรดาข้าราชการทั้งปวงทุกคน

ขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น เสด็จลงมาประทับพิพากษาชำระคดีใหญ่ และความรับสั่ง ณ โรงละครใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ได้เสด็จในที่ประชุมพิพากษาชำระคดี เป็นประธานด้วยพระองค์หนึ่งมิได้ขาดหน้าที่ราชการ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรจึงทรงรับตำแหน่งบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ว่าความรับสั่งทั้งปวง ด้วยอาศัยพระเมตตาพระกรุณาของพระองค์ต่อราษฎร และพระสติปัญญาปรีชาสามารถ อีกทั้งพระเดชานุภาพซึ่งมีมูลจากความนิยมรักใคร่มีใจสวามิภักดิ์ของข้าราชการและราษฎรนั้น ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความคดีให้แล้วให้ลุล่วงไปด้วยความยุติธรรมโดยเร็ว เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ยิ่งเพิ่มจิตคิดสวามิภักดิ์ถวายในพระองค์เป็นอันมาก อีกทั้งเป็นที่เบาพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถ มิได้มีพระราชกังวลหม่นหมองเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยเลย

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงพระอุตสาหะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเวลาเสด็จพระราชดำเนินว่าราชกิจการต่างๆ ตามตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์เป็นนิจทุกเวลามิได้ขาดทั้งค่ำเช้า ถึงเมื่อจะเป็นเวลาที่ฝนตกมากน้อยเท่าใด พระองค์ก็มิได้รั้งรอให้ฝนหานเคลื่อนคลายเวลาราชการ ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาเฝ้าจนได้ พระองค์ทรงพระดำริแปลงแคร่กันยา ซึ่งเป็นของข้าราชใช้ในตอนนั้น ให้เป็นพระวอขนาดน้อยหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้ง สำหรับทรงเวลาเสด็จเข้ามาทำราชการในพระราชวังเวลาที่มีฝน พระวอนั้นต่อมาเมื่อเถลิงราชสมบัติแล้ว จึงพระราชทานนามว่า วอประเวศวัง เป็นแบบอย่างสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงกรมทรงทำตาม สำหรับทรงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสืบมา

พระองค์ทรงพระราชกิจน้อยใหญ่ถึงเพียงนี้ จึงเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ได้ทรงบัญชาราชกิจทั้งปวงเกือบจะทั่วไปในครั้งนั้น เป็นที่นิยมรักใคร่ยินดีมีจิตสวามิภักดิ์ในพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ภิกษุสงฆ์สมณชีพราหมณ์ และบรรดาไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต โดยมิได้มอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเช่นนี้ จึงต้องปฏิบัติตามพระราชประเพณีโบราณ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อยจึงปรึกษาพร้อมใจกันเห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงพระสติปัญญาพระปรีชาสามารถในราชกิจใหญ่น้อยที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นที่ประจักษ์ มีน้ำพระทัยเมตตากรุณาโอบอ้อมอารีแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พระภิกษุสงฆ์สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง มิได้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินได้

จึงอาศัยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ สละเพศคฤหัสถ์ทรงผนวชตามราชประเพณีนั้น ให้ไปทูลถามว่าพระองค์จะทรงปรารถนาในราชสมบัติหรือจะทรงผนวชอยู่ต่อไป ฝ่ายพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระ วชิรญาณทรงทราบกิติศัพท์นี้อยู่แล้ว ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์พระเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามสิทธิ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระ วชิรญาณ เมื่อทรงพิจารณามูลเหตุปัจจัยด้วยพระสติปัญญาแล้ว ทรงไม่เห็นด้วย ว่าถ้าหากพระองค์ทรงปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์และบรรดาข้าราชการคงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมืองเป็นอัปมงคลได้ จึงไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาและพระอาจารย์ซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งไปทูลปรึกษากรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐาซึ่งทรงเคารพนับถือ และทั้งสองพระองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือในพระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่ยิ่ง ทั้งสองพระองค์ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิจารณาแล้วเห็นจริงตามนั้น หากพระองค์ทรงลาสิกขาออกครองเพศคฤหัสถ์จะเป็นที่กีดขวางแก่ราชการแผ่นดิน ยังให้เกิดความแตกแยก จึงให้ไปทูลที่ประชุมว่า พระองค์มีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นสิ้นความลำบากในการที่จะปรึกษาถวายราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ การตัดสินพระทัยด้วยพระสติปัญญาอันอยู่เหนือโลภาคติดังนั้น ยังความสมัครสามานสมัคคีในระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว จึงนิยมยินดีพร้อมใจถวายพระราชสมบัติทั้งปวงแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ให้เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินทั้งปวงสืบต่อไป

ในเรื่องถวายพระราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นี้ ปรากฏกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกอย่างหนึ่งว่า “...เคยตรัสปรารภว่าซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงรับราชสมบัติในครั้งนั้น ที่จริงกลับเป็นคุณแก่ประเทศสยาม เพราะในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาความรู้แต่ตามแบบโบราณ การงานบ้านเมืองก็ทรงทราบเพียงเท่ากับเจ้านายพระองค์อื่น ถ้าได้รับราชสมบัติในเวลานั้น พระบรมราโชบายในการปกครองบ้านเมือง ก็น่าจะเป็นทางเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ที่ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ได้มีโอกาสเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศและทรงทราบความสุขทุกข์ของราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง กับทั้งได้โอกาสทรงศึกษาวิชาความรู้และภาษาฝรั่ง พอทันเวลาที่ฝรั่งจะเริ่มแผ่อำนาจมาถึงประเทศสยาม พิเคราะห์ดูราวกับชาตาบ้านเมืองบันดาลให้เสด็จรอมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อเมื่อมีความสามารถจะอำนวยรัฏฐาภิปาลโนบายได้ตามความต้องการของบ้านเมือง...” หากได้พิจารณาศึกษาพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๔ คงจะเห็นเป็นอัศจรรย์จริงดังกระแสพระราชดำริ

วันพฤหัสบดีเดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ พระสงฆ์เจริญพระปริตรพุทธมนต์ ๓ วัน ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือนเก้า ขึ้น ๗ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ ได้ฤกษ์สรงน้ำปัญจมหานทีมุรธาภิเษก ทรงผลัดเครื่องทรงสีแดงแล้วเสด็จขึ้นยังพระที่นั่งภัทรบิฐรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามตามโบราณราชประเพณีว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนกาศภาสกรวงศ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชาชาติอาชาวไสย สมุไทยดโรมน สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐฤทธิราเมศวร ธรรมมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิ มกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน” ต้องกันกับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมปฐมกษัตริย์ และสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระพุทธเจ้าหลวง และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เจษฎาวุธ



เสร็จแล้วเสด็จขึ้นพระมหามณเฑียรปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน ถวายไทยธรรมแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร ข้าราชการเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมกัน เจ้าพระยาที่สมุหนายกสมุหกลาโหมและเจ้าพระยาจตุสดมภ์ทั้ง ๔ กราบทูลถวายสิ่งทั้งปวงตามที่ในตำแหน่ง ทรงปฏิสันถารแล้วเสด็จขึ้นข้างใน ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเฝ้าถวายบังคม ท้าวสมศักดิ์ทูลถวายสิบสองพระกำนัลและสรรพสิ่งฝ่ายในแล้ว เสด็จขึ้นพระมหามณเฑียร พระบรมวงศ์เธอผู้ใหญ่ถวายดอกหมากทองคำ ท้าวทรงกันดารถวายลูกกุญแจ จากนั้นก็เสวยพระกระยาหารเสร็จเสด็จพระราชดำเนินไปตามทางข้างใน ทรงโปรยดอกพิกุลทองเงินและเงินสลึงตามทางเสด็จ จนถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถวายบังคมพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สดับปกรณ์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงโปรยดอกพิกุลทองเงินมาตามทางข้างใน เสด็จขึ้นยังพระมหามณเฑียร แล้วจึงเวียนเทียนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

รุ่งขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ถวายตัวเป็นข้าทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบต่อไป แล้วจึงจัดการตั้งกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนคร เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา คิดอายุโหรได้ ๓๖ ปี ๔ เดือน ๑๒ วัน

และโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพย์ พระบิตุจฉาธิราชขึ้นทรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ศกนั้น

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ เมื่อทรงพระเยาว์ออกพระนามกันว่าพระองค์ช้าง ต่อมาเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย ประสูติในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๒๘ เป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ ๑๗ ในจำนวนพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าจอมมารดา

ถึงปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๑๖๙ พุทธศักราช ๒๓๕๐ เนื่องในงานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น โปรดให้ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพด้วยพระองค์ ๑ ทรงกรมอยู่ ๓ ปีก็สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒ นั้น

พอเปลี่ยนแผ่นดินไม่ช้านัก พม่าก็ยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ในต้นปีมะเส็งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นจอมพล เสด็จยกทัพไปปราบปราม เมื่อเสร็จศึกพม่าคราวนั้นแล้ว ในปีมะเมียโทศก จ.ศ. ๑๑๗๒ พุทธศักราช ๒๓๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการกระทรวงต่างๆ เป็นคราวแรกในพงศาวดาร พระเจ้าลูกยาเธอเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้สำเร็จราชการกรมท่า และปรากฏว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพได้ทรงกำกับราชการกลาโหมในคราวนี้ด้วย กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงมาพระชนมายุแก่กว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ๒ ปี จึงเป็นที่รักใคร่สนิทสนมกันมา และทรงทำราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยกันมาทั้ง ๒ พระองค์

ในจดหมายเหตุเก่าว่า ราวปีจอ จ.ศ. ๑๑๗๓ พุทธศักราช ๒๓๕๔ เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพทรงบัญชาการกลาโหมแล้ว ครั้งนั้นเจ้าพระนคร (พัฒน์) ชราทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาออกจากที่เจ้าพระยานคร และโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางผู้กำกับราชการ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแมตรีศก จ.ศ. ๑๑๗๓ เสด็จออก ณ พระชาลาพลับพลาน้อยริมท้องพระโรง พระราชทานท้องสารตรา โปรดเกล้าฯให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) เป็นที่พระยานครศรีธรรมโศกราชฯ พระยานครศรีธรรมราช กรมหมื่นศักดิ์พลเสพซึ่งทรงกำกับราชการกลาโหมได้กราบบังคมทูลเรื่องตำแหน่งการกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยนั้นขึ้นต่อกลาโหม ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะแมตรีศกนั้น พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) กลับออกไปถึงเมืองแล้ว จึงให้เชิญพระอัยการตำแหน่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศทรงชำระใหม่ กับสมุดทำเนียบตำแหน่งกรมการเมืองนคร ครั้งพระยาไชยาธิเบศร์ออกมาเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อปีจอจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๐๔ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา มาสอบกัน ในพระอัยการที่ทรงชำระใหม่มีแต่ตำแหน่งกรมการผู้ใหญ่ แต่ทำเนียบเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยามีตำแหน่งกรมการผู้น้อยด้วย จึงเป็นพระอัยการทำเนียบทั้ง ๒ นั้นมาบรรจบกันเป็นทำเนียบใหม่

หัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ก่อนมากำหนดเป็น ๔ ชั้น เรียกว่า เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา หัวเมืองชั้นเอกแต่เดิมมี ๒ เมือง ฝ่ายเหนือได้แก่เมืองพิษณุโลก ฝ่ายใต้ได้แก่เมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นราชธานีมีอิสระ ทั้งเป็นเมืองใหญ่อยู่หน้าด่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก แลเจ้าพระยาศรีธรรมโศการาชผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ๒ ตำแหน่งนี้ แต่โบราณมีบรรดาศักดิ์รองอัครมหาเสนาบดี แต่สูงกว่าจตุสดมภ์ จะพึงเห็นตัวอย่างได้ ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เมืองครั้งกรุงธนบุรี เป็นตำแหน่งพระยายมราชอยู่ก่อน แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ซึ่งหมายถึงเจ้าพระยายมราชในตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์กรมเมือง เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ในทำเนียบตำแหน่งกรมการซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา กรมการเมืองเอกมีครบกระทรวงจตุสดมภ์ และยังมีตำรวจด้วย กรมการเมืองโทเมืองตรี มีตำแหน่งน้อยลงมา แต่ยังครบกระทรวง ส่วนเมืองจัตวานั้น ไม่มีตำแหน่งจตุสดมภ์เลย

กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงชำระและจัดทำเนียบเมืองนครศรีธรรมราช แสดงถึงพระสติปัญญาสามารถ และเป็นความชอบในกรมหมื่นศักดิ์พลเสพครั้ง ๑ ซึ่งมีความพิสดารในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระนั้นแล้ว

ต่อมาราวปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พุทธศักราช ๒๓๕๗ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) จางวางเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรม จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จออกไปเมืองนครศรีธรรมราชในการปลงศพเจ้าคุณตา เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวาง และเป็นโอกาสเสด็จไปทรงตรวจระเบียบทำเนียบที่ได้ทรงจัดไว้นั้น (ในสมัยไม่มีประเพณีที่เจ้านายจะเสด็จออกไปถึงหัวเมืองทางไกล เช่นเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากมีราชการสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเสด็จไปในราชการทัพศึก) เมื่อเสด็จไปปลงศพเจ้าคุณตาครั้งนี้ ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองตลอดลงไปจนกำหนดเขตแขวงสำหรับการปกครองส่วนท้องที่ แสดงถึงพระสติปัญญาสามารถอีกครั้ง ๑

ถึงปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ ได้ข่าวศึกพม่า ดังได้เล่าไว้แล้วในพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอซ้ำเพียงสั้นๆ ในเรื่องพระประวัติกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ เพียงแสดงถึงการทำราชการสนองพระเดชพระคุณของทั้ง ๒ พระองค์ร่วมกันมา ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้สำเร็จกำกับกลาโหมเป็นแม่ทัพคุมพลไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรีกอง ๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้สำเร็จราชการกรมท่าเป็นแม่ทัพคุมพลไปตั้งขัดตาทัพทางด่านเมืองราชบุรีและกาญจนบุรีทาง ๑ จนเข้าฤดูฝนไม่มีกองทัพพม่ายกมาพ้นฤดูทัพศึกแล้ว จึงโปรดให้มีตราให้หากองทัพทั้ง ๒ กอง กลับคืนพระนคร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต มิได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแด่พระราชวงศ์พระองค์ใด พระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการปรึกษาพร้อมกัน ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อบรมราชาภิเษกแล้วจึงทรงพระราชทานอุปราชาภิเษกกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเหตุที่อ้างถึงในพระวัติข้างต้นนี้ ทั้งยังทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และอีกประการหนึ่งทรงพระราชปรารถว่า พระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ นั้นถึงกาลชำรุดทรุดโทรม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เป็นพระราชบุตรเขยในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ด้วยทรงได้พระองค์เจ้าดาราวดีเป็นพระชายา เมื่อพระราชทานอุปราชาภิเษกจึงโปรดฯให้เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ที่พระราชวังบวรฯ จะได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ต่อไป

ตั้งแต่ได้รับอุปราชาภิเษกแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้เป็นกำลังแผ่นดินรับราชการสนองพระเดชพระคุณตลอดมา ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือที่ได้ทรงดำรงตำแหน่งจอมพล ยกทัพไปปราบเจ้าอนุเวียงจันทน์เมื่อเป็นขบถ และราชการอื่น เช่นจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชดังได้กล่าวแล้วเป็นต้น

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังบวรฯ ให้คืนดีทั้งวัง สิ่งสำคัญที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรฯ คือ วัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานนามว่า วัดบวรพุทธาวาศ ทรงอุทิศที่สวนกระต่ายเดิมสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง สำหรับจะประดิษฐานในพระอุโบสถ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอประชวรหนักใกล้จะสวรรคต ทรงจบพระหัตถ์ผ้าห่มประทานไว้แก่พระองค์เจ้าดาราวดี ดำรัสสั่งว่า ต่อไปถ้าท่านผู้ใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้น ให้ถวายผ้าผืนนี้ ทูลขอให้ทรงพระแทนพระองค์ด้วย รัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับผืนนั้นทรงพระพุทธรูปถวายดังพระราชอุทิศของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับทั้งทรงสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยต่อจากมุขเด็จหมู่พระวิมานด้านตะวันออกของเดิมขึ้นอีกองค์ ๑

การภายนอกนั้น ได้ทรงสร้างวัดบวรนิเวศฯ และวัดไพชยนต์พลเสพย์ ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ กับเมื่อครั้งเสด็จกลับจากทัพเวียงจันทน์เมื่อคราวปราบเจ้าอนุ ได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์กำแพงเมืองนครราชสีมาที่พวกขบถเวียงจันทน์ได้รื้อทำลายเสียด้านหนึ่ง ให้คืนดีดังเก่า อีกทั้งยังโปรดให้ขุดคูรอบนอกกำแพงเมืองนครราชสีมา กับทรงพระราชศรัทธาโปรดให้สถาปนาพระอารามขึ้นในเมืองนครราชสีมาอีก ๒ พระอาราม

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี ประชวรโรคมานน้ำ สวรรคตเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๙๔ พุทธศักราช ๒๓๗๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ประดิษฐานพระศพไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ถึงเดือน ๕ ปีมะเส็ง เชิญพระศพแห่ออกพระเมรุที่ท้องสนามหลวง มีมหรสพ ๕ วัน พระราชทานเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ แล้วอัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในพระราชวังบวรฯ แต่นั้นพระราชวังบวรฯ ก็ว่างลงถึง ๑๘ ปี ด้วยไม่ทรงโปรดสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจนตลอดรัชกาล

....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 08 เมษายน 2551
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:22 น. 1 comments
Counter : 3993 Pageviews.  
 
 
 
 
เข้ามาอ่าน ได้ความรู้จริงๆค่ะ
 
 

โดย: โรตีเกิร์ล_ใส่นม วันที่: 15 เมษายน 2551 เวลา:4:07:03 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com