Group Blog
 
All blogs
 

*** มารู้จัก ปฏิจจสมุปบาท กันเถอะ ***




บทความทั้งหมดนี้ เราเขียนขึ้นจากความเข้าใจของเราเอง

จากการได้ศึกษามาเป็นเวลาพอสมควร ความถูกต้องตรงจริงนั้น

อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่ไม่มากก็น้อย

ขอให้ผู้อ่านนำไปพิจารณา ใคร่ครวญ ตรวจสอบก่อน

ตามหลัก มหาประเทศ สี่



ปฏิจจสมุปบาท เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา หรือเป็นตัวแท้ของศาสนาพุทธ

เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่สุด ที่ชาวพุทธทุกคนควรจะศึกษาทำความเข้าใจ

ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้น

ของกองทุกข์หรือความทุกข์ทั้งมวล เมื่อเข้าใจเรื่องการเกิดขึ้นของกองทุกข์

หรือความทุกข์แล้ว ก็จะสามารถปฏิบัติเพื่อทำให้ความทุกข์นั้นที่จะเกิดขึ้น

หมดไปได้


ปฏิจจสมุปบาท คือ อริยสัจสี่ ที่อยู่ในหัวข้อ สมุทัย

อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

สมุทัย คือ เหตุเกิด ของความทุกข์ทั้งปวง ( ความอยาก )

เมื่อศึกษาทำความเข้าใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท จนแจ่มแจ้งเข้าใจดีแล้ว

ก็จะสามารถปฏิบัติได้ ตามหลักพระอริยมรรค มีองค์ 8

( ทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ )


เมื่อปฏิบัติได้ จนไม่เกิดทุกข์ หรือ ทุกข์ดับไป ก็เรียกว่า นิโรธ

คือ ความดับไปซึ่งความทุกข์ หรือความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น

หรือความทุกข์ดับสิ้นไป หรือที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท สายดับ


ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติที่อาศัยกันเกิดขึ้น

คือ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หรือเมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะความดับไปของสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับ

ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด ที่เรียกว่า สมุทัย

คือ เหตุเกิด ของความทุกข์ ( ความอยาก ) ดังต่อไปนี้………………..



เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย


อวิชชาคือความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ผู้คนหรือสัตว์โลกจึงพากันคิดว่า

มีสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมา

สรรพสิ่งต่างๆนั้น คือสังขารทั้งหลาย ที่เกิดจากการผสมปรุงแต่งขึ้นมา

เช่น คน สัตว์ บ้าน รถ ต้นไม้ ฯลฯ มีสิ่งของต่างๆ ขึ้นมา เป็นรูป เป็นร่าง

อวิชชาคือ ไม่รู้อริยสัจสี่ ตามความเป็นจริง

ว่าทุกสิ่งล้วน อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา

สังขารคือสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง เช่น บ้าน ก็ถูกผสมปรุงแต่งมาจากไม้ บ้าง

อิฐ ปูน ทราย บ้าง มาประกอบกัน เป็นรูปเป็นร่าง คือตัวบ้าน พอเป็นรูปเป็นร่าง

ขึ้นมาแล้ว ก็มีความคงทนสวยงาม หรือร่างกายของคน ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

มาจากธาตุต่างๆ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ พอเป็นรูปเป็นร่างก็

ทำให้คนหลงเข้าไปยึดมั่นว่าทุกอย่างบนโลกนี้มีตัวมีตน และเป็นของตนบ้าง

เป็นของคนอื่นบ้าง เป็นของที่มีอยู่แล้วบ้าง เช่น แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ

ความไม่รู้นี้ รวมถึงการไม่รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดขึ้นแล้ว

มันย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา และไม่รู้ คุณและโทษและอุบาย

ในการสละออกแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความไม่รู้นี้รวมถึงไม่รู้และไม่เข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งอยู่ในหลัก อริยสัจสี่



เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ


สังขาร มี 3 อย่าง คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร

เมื่อคนหลงผิดคิดว่าสังขารเป็นของตัวเองบ้าง เป็นของผู้อื่นบ้าง

หรือมีอยู่แล้วบ้าง ก็เข้าไปยึดมั่นเพราะความเข้าใจผิด

กายสังขาร ประกอบไปด้วยลมหายใจเข้า และลมหายใจออก

เป็นส่วนประกอบในรูปกาย ถ้าคนหรือสัตว์ไม่มีลมหายใจก็จะแตกดับไป

รูปกายประกอบไปด้วย ธาตุ 6 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ


วจีสังขาร คือการปรุงแต่งทางจิต คิดไตร่ตรองก่อนแล้วจึงพูดออกมา

จิตสังขาร คือการปรุงแต่งทางจิต คิดไตร่ตรองผูกเป็นเรื่องราวต่างๆได้

เช่น การปรุงแต่งความคิดในอนาคต หรือการคิดนึกเรื่องราวในอดีต

สังขารล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้นมา และสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงล้วน

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความแปรปรวนไปเรื่อยไม่คงทนมีวันเวลาแตกดับ

ไปตามเหตุนั้นๆ



เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป


วิญญาณคือธาตุรู้ ทำให้รู้ว่า สิ่งนี้คืออะไร มีชื่อว่าอะไร สวยไม่สวย หยาบ

หรือละเอียด ใหญ่ เล็ก สั้น ยาว เป็นต้น

เมื่อมีวิญญาณเข้าไปประกอบในรูปกายก็มีความรู้ ก็มีสิ่งที่เรียกว่าการรู้อารมณ์

เช่น ร้อนหนาว อึดอัด ไม่สบายกาย หรือสบายกายหรือการอึดอัดใจ

ไม่สบายใจ ( เวทนา ) ความรู้ต่างๆเมื่อรับรู้บ่อยเข้าก็เกิดมีความจำได้

ในสิ่งต่างๆในความรู้นั้นๆ เช่น รู้ว่าแบบนี้ ร้อนก็จำเอาไว้หรือรู้ว่าแบบนี้เย็น

ก็จะจำเอาไว้ หรือ พอใจแบบนี้ก็จำเอาไว้ ( สัญญา )ไม่เป็นที่พอใจ ก็จำเอาไว้

เมื่อรู้แล้วก็เกิดการคิดไตร่ตรองว่าจะเอาแบบนั้น แบบนี่ก็เรียกว่าความคิด

เมื่อคิดได้แล้วจึงพูด ก็เรียกว่า คำพูด ( วจีสังขาร )

ทั้งหมดนี้ รวมเรียกว่า นาม รูป ประกอบไปด้วย

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือ เรียกว่า ขันธ์ 5

รูป คือรูปกาย เวทนา คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สังขารคือการผสมปรุงแต่ง

สัญญา คือความจำได้ วิญญาณคือธาตุรู้


เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ


สฬายตนะ คือ อายตนะทั้ง 6 อายตนะแปลว่า เครื่องต่อ

คือเครื่องต่อของ อายตนะภายใน 6 และ อายตนะภายนอก 6

อายตนะภายใน 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อายตนะภายนอก 6 มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเรื่องราวต่างๆทางใจคิด

ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรสกายกับการสัมผัส

ใจกับความคิดในเรื่องราวต่างๆ ทุกอายตนะเกิดได้เพราะมีนามรูป

( รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) เป็นปัจจัยคือมี รูปกาย

และมีวิญญาณ ( ธาตุรู้ ) และการคิดการไตร่ตรองมีการปรุงแต่งทางความคิด

เกิดเป็นเรื่องราวต่างๆอย่างต่อเนื่อง


เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ


ผัสสะ แปลว่า การกระทบ หรือ สัมผัสเมื่อมีเครื่องต่อ คือตาต่อกับรูป

เรียกว่า มีการสัมผัสกัน หรือ กระทบกัน

องค์ประกอบของผัสสะ ประกอบไปด้วย อายตนะภายใน

ต่อกับ อายตนะภายนอก บวกกับวิญญาณ ( ธาตุรู้ )

ผัสสะ นี้มีความสำคัญมากในสายปฏิจจสมุปบาท

เพราะเป็น แดนเกิด หรือ เหตุ เกิดของ กรรมต่างๆ

เมื่อเกิดผัสสะ หรือการกระทบแล้ว ความรู้สึกทางอารมณ์ย่อมเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะความรู้สึกแบบไหนผู้ที่ถูกกระทบ ย่อมถูกธรรมที่อาศัยกันเกิดนี้นำพาไป

โดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้ามีการกระทบทางผิวกาย เช่นถูกตี คนถูกตีย่อมรู้สึกเจ็บ

เมื่อรู้สึกเจ็บแล้ว ย่อมเกิดอาการต่อมาคือ ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจ ( โกรธ )

ก็มีความอยากตอบโต้ เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวต่างๆตามมาอีก


เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา


เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ หรือ หรืออทุกขมสุข ( เฉยๆ )

หรือที่เรียกว่า เวทนา 3

เวทนามีได้เพราะผัสสะ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะไหน ความรู้สึก สุขทุกข์

หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้น ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางไหนของอายตนะ ย่อมเกิดความยินดี

หรือความยินร้าย หรือเฉยๆ จะเกิดขึ้นตามมาเสมอตามความรู้สึก

ที่กำลังเสวยอารมณ์นั้นๆ เช่น เมื่อเกิดการกระทบทางตา มองเห็นรูปสวยๆงามๆ

ความยินดี หรือความพอใจ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อพอใจหรือยินดี

ก็เรียกว่า สุขเวทนา ถ้าถูกตี คนถูกตีย่อมเจ็บก็มีความรู้สึกไม่พอใจ

คือการโกรธ ถ้าโกรธมาก ก็จะแสดงออกมา

ถ้าโกรธไม่มากก็แค่เก็บอารมณ์ขุ่นมัวเอาไว้ในใจ

แต่บางคนก็แสดงออกมาทางสีหน้า แววตา หรือบางคนก็มีอาการหงุดหงิดในใจ

มีอารมณ์ขุ่นมัวไม่แจ่มใส ด้วยอำนาจความไม่พอใจ คือ ความโกรธ

หรือขัดเคืองใจ หรือหากตาเห็นรูปแล้ว ไม่เป็นที่ยินดี เช่นไม่สวยไม่งาม

หรือจมูกไปได้กลิ่นที่เหม็นๆเข้า ก็ไม่ยินดี

เพราะปกติคนเราต้องการแต่กลิ่นที่ตัวเองชอบตามที่ใจต้องการ

หากไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ไม่ชอบใจ ความยินร้าย หรือความไม่พอใจ

ย่อมเกิดขึ้น เรียกว่า เกิด ทุกข์เวทนา หรือเห็นรูปแล้ว รู้สึกเฉยๆ

คือไม่ทั้งสองอย่าง คือพอใจและไม่พอใจก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา ( เฉยๆ )




เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา


ตัณหาคือความอยาก หรือความทะยานอยากหรือความต้องการในสิ่งต่างๆ

เมื่อเกิดการกระทบทางอายตนะแล้ว ความรู้สึกยินดี ยินร้ายหรือเฉยๆ

เกิดขึ้นแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ตาเห็นรูปสวยๆเมื่อเห็นแล้วชอบใจ

พอใจก็อยากเห็นอีก หรือได้ลิ้มรสอร่อยๆก็อยากลิ้มรสนั้นๆอีก

เมื่อเกิดตัณหาแล้วก็ต้องดิ้นรนแสวงหาเอามาเป็นของตัวเอง

เมื่อได้มาแล้วก็ชอบใจพอใจในสิ่งนั้นๆ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ว่าจะพอใจใน

สิ่งนั้นๆมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ตัณหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ไม่สิ้นสุด

ตราบเท่าที่มี การกระทบ ทางอายตนะทั้ง 6 ทาง คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ตัณหาเกิดแล้ว ชอบใจก็เข้าไปใกล้สิ่งนั้นๆ ตัณหาเมื่อเกิดแล้วไม่ชอบใจ

ก็จะผลักออกไปให้ไกลตัว หรือเอาตัวเองหลีกหนีไปจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ


เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน


อุปาทานแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น เมื่อสิ่งใดๆได้มาแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า

สิ่งนั้นๆเป็นของตัวเองหรือเมื่อเกิดการกระทบใดๆ แล้ว

ก็ปรุงแต่งจิตคิดด้วยอวิชชา ว่าการกระทบนั้นเป็นการเกิดขึ้นของตัวเอง

เช่น มีคนมาด่าเมื่อหูได้ยินเสียงด่า ก็เข้าใจว่า เราถูกด่า เราถูกตำหนิแล้ว

ก็เกิดอุปาทานขึ้นว่า ตัวเองเป็นคนได้ยินเสียงเสียงนั้นส่งมาเพื่อตัวเอง

ด้วยความยึดมั่นหรือได้รับสิ่งของใดๆ ก็มีความคิดด้วยอวิชชาว่าตัวเองเป็นผู้ได้

รับของนั้น และเมื่อเกิดตัวตนขึ้นมาก็ยึดมั่นว่า สิ่งของนั้นเป็นของของตัว

ด้วยความยึดมั่นถือมั่นเป็นทรัพย์สมบัติของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ

ต่างๆ เมื่อได้มาในครอบครองแล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นๆเป็นของของตัวเอง

ก็เกิดความรู้สึกรัก หวงแหน หวงกั้น กลัวภัยอันตรายจะมาเกิดกับสิ่งของต่างๆ

เหล่านั้น ก็ทำการปกป้องป้องกันต่างๆนานา บ้างก็ทำที่ป้องกันหนาแน่น

บ้างก็ป่าวประกาศความเป็นเจ้าของ ด้วยวาจาก็มี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็มี



เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ


ภพแปลว่า ความมี ความเป็น เมื่อคนหรือสัตว์เกิดอุปาทานเกิดตัวตน ของตน

แล้ว ก็หลงเข้าใจผิดว่า ตัวเองมี ตัวเองเป็น

เช่น ตัวเองเป็นหญิง ตัวเองเป็นชาย ตัวเองเป็นคนดี หรือ ไปทำชั่วเข้า

ก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไปทำบุญมา ก็เข้าใจว่า

ตัวเองเป็นคนดี มีบุญ เป็นของตัวเอง หรือหากได้สิ่งของต่างๆมาแล้ว

ก็หลงเข้าใจว่า ตัวเองมีของนั้นๆ

เช่นมีทรัพย์ มีสมบัติต่างๆนานา ความมีความเป็นจึงเกิดขึ้นหรือคนไหน

แต่งงานมีลูก เมื่อเกิดอุปาทานแล้ว ความมีความเป็นย่อมเกิดขึ้น

คือ การเป็นพ่อ เป็นแม่ และตัวเองมีสถานภาพเป็นแม่

เกิดความรักผูกพันกันแบบแม่และลูกเกิดความยึดมั่นถือมั่นแบบแม่และลูก



เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

ชาติ แปลว่าความบังเกิดขึ้น ความหยั่งลง เช่นการเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

เรียกว่า มีขันธ์5ครบ มีอายตนะ หรือการเกิดจากความคิดปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ

เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ก็เรียกว่า มีชาติ เมื่อมีการเกิดแล้ว

การเกิดมีชาติก็เสร็จสมบูรณ์ การเกิดนั้นก็จะมีการเจริญเติบโตไปตาธรรมชาติ

เมื่อเกิดความมีความเป็นแล้วเรียกว่าภพเกิดคือการเข้าไปยึดเมื่อยึดได้แล้ว

เรียกว่าสิ่งนั้นก็เกิดอย่างสมบูรณ์ เช่น จากเด็กทารกก็เป็นเด็กเล็ก

และเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาตามลำดับ หรือการปรุงแต่งคิดเรื่องอะไรขึ้นมา

ก็เรียกว่ามีการเกิดขึ้นแล้ว


เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ


เมื่อมีการเกิด การเจริญเติบโตก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ

เช่น ต้นไม้เมื่องอกจากเมล็ดแล้ว ได้รับน้ำก็ต้องเจริญเติบโตต่อไป

จนกระทั่งหมดอายุคือต้องตายไปหรือ สัตว์ต่างๆ หรือคนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่

จนแก่ และแก่มากจนในที่สุดก็อยู่ต่อไม่ได้เพราะร่างกายเสื่อมมาก

จนใช้งานไม่ได้ก็เกิดการแตกดับ การตายหรือการเกิดในทางความคิด

เมื่อคิดปรุงแต่งจิตจนมาถึงการเกิดแล้วความเสื่อมก็ย่อมตามมา

จนสิ่งที่ปรุงแต่งทางความคิดเสื่อมไปหรือดับไปหากการปรุงแต่งทางความคิด

ในทางไม่ดี สิ่งที่ตามมาคือความกลัดกลุ้มทางใจย่อมเกิดขึ้น เป็นความโศก

เศร้าใจ เสียใจแล้วแต่ว่า ความเกิดนั้นจะเป็นเรื่องแบบไหนอย่างไร

เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ และเมื่อสิ่งนั้นๆได้แปรปรวนเปลี่ยนแปลง

ความโศกเศร้า เสียใจ คร่ำครวญย่อมเกิดขึ้น เพราะหลงยึดว่าสิ่งต่างๆนั้น

เป็นของตัวเอง หรือหากสิ่งของต่างๆ หรือคน มีอันจากไปความทุกข์ก็เกิดขึ้น

ด้วยอำนาจความมี ความเป็น หรือการเกิดอย่างสมบูรณ์ในสิ่งต่างๆเหล่านั้น

หรือเกิดความหวังใดๆ เมื่อไม่สมหวัง ความทุกข์ก็เกิดขึ้นความเกิด ( ชาติ )

เมื่อบุคคลคิดหรือปรุงแต่งจิต หรือปล่อยให้ ปฏิจจสมุปบาทดำเนินมาถึงจุดนี้

แล้ว ความทุกข์ ความโศกย่อมเกิดขึ้นในจิตใจของผู้นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เลย จนกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะค่อยๆเสื่อมๆไปหรือจนดับไป

ความทุกข์โศกก็หมดไปด้วยซึ่งจะใช้เวลานานหรือเร็วแค่ไหน

ก็ขึ้นอยู่กับบุคลนั้นว่าจะยึดถือไว้ด้วยอำนาจอวิชชามากน้อยแค่ไหน

ถ้าคิดนึกอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมละย่อมปล่อยความทุกข์ ความโศกก็อยู่กับ

บุคคลนั้นอย่างเนินนานหากบุคคลไหนไม่คิดนึก เปลี่ยนไปทำหรือคิดอย่างอื่นๆ

ความโศกความทุกข์นั้นๆก็ดับไป



ปฏิจจสมุปบาท จึงแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกองทุกข์ทั้งปวง

การเกิดของกองทุกข์จะเป็นวงกลมติดต่อกันเรื่อยไป เป็นสายลูกโช่

ปฏิจจสมุปบาท หากเกิดขึ้นแล้วในจิตใจของใครด้วยอวิชชาแล้ว

ก็จะทำให้เกิดมี เจตนา กรรม วิบากกรรม อันเกิดจาก ตัณหา ( ความอยาก )


เช่นเมื่อเกิดตัณหาแล้วย่อมมีความตั้งใจจงใจ คืออยากกระทำสิ่งต่างๆตามมา

ถ้าเป็นการกระทำที่ดี เรียกว่า กรรมดี หรือ กรรมขาว ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่ดี

เรียกว่า กรรมดำ หรือ กรรมชั่ว ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อตาเห็นสิ่งของที่รูปลักษณ์สวยๆ เช่นสิ่งของ เกิดความพอใจยินดี

เมื่อเกิดความพอใจยินดี ก็คิดอยากได้ เมื่อคิดนึกอยากได้แล้ว

ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้มา ซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถ้ามีเงินซื้อหาก็รีบซื้อ

ทันที ถ้าไม่มีเงินก็เกิดความไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เสียดาย เพราะไม่สมความ

ปรารถนาในสิ่งที่ต้องการ ถ้ารุนแรงก็ออกอาการมาก ถ้าไม่รุนแรง

ความต้องการนั้นก็จางคลายไป หรือเมื่อเห็นคนแก่กำลังข้ามถนน

เกิดความสงสาร เกิดความอยากช่วยเหลือคนแก่

จึงเดินไปช่วยจูงคนแก่ข้ามถนน เรียกว่าเจตนาดีเป็นการสร้างกรรมดีเกิดขึ้น



พระอริยมรรคมีองค์แปด คือทางปฏิบัติในการดับกองทุกข์ ทั้งหมด


พระอริยมรรคมีองค์แปด คือทางปฏิบัติให้ถึงการพ้นทุกข์ มี 8 อย่าง


1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ หรือความเห็นอันถูกต้อง

ตามความเป็นจริง คือเห็นในอริยสัจสี่ ตามความเป็นจริง

เห็นว่าทุกข์คืออะไร มีสาเหตุมาจากไหน

เห็น กุศลกรรม ( กรรมที่ละเว้นทางกายวาจาใจ 10 อย่าง )

และ เห็นอกุศลกรรม และเห็นว่า อกุศลกรรม มีสาเหตุมาจาก

ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเรียก อีกอย่าง ว่า โลภะ โทสะ โมหะ

ความหมายอย่างเดียวกันที่เกิดจาก การกระทำ ทาง กาย วาจา ใจ

ที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง

เห็นปฏิจจสมุปบาท สายเกิดทุกข์ และ สายดับทุกข์


2. สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบ


คือความดำริในออกจาก อกุศลกรรมทั้งปวง ทางกาย วาจา ใจ

เช่น ดำริที่จะออกจากกาม ดำริที่จะไม่พยาบาทปองร้าย ดำริที่จะไม่เบียดเบียน


3. สัมมาวาจา คือการเจรจาชอบ คือ

ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่พูดคำหยาบคาย


4. สัมมากัมมันตะ คือการงานชอบ

คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ผิดในกาม


5. สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีวิตชอบ

ประกอบอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่นในการประกอบอาชีพ

มีอาชีพฆ่าสัตว์ขาย ตัวเองได้เงินแต่ต้องทำให้สัตว์ล้มตาย

ไม่เรียกว่าสัมมาอาชีพ เพราะไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์ทำให้สัตว์ล้มตาย

หรือโจรไปขโมยของของคนอื่น โจรได้ของมาเลี้ยงชีพ

แต่คนที่ถูกโจรขโมยของย่อมเสียหายเป็นการเบียดเบียดผู้อื่น


6. สัมมาวายามะ คือความพากเพียรชอบ

มีความอุสาหะพยายามในการปฏิบัติเพื่อละเลิกในสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมทั้งปวง

คือกาม พยาบาท เบียดเบียน สิ่งไหน ไม่ดีทางกาย วาจา ใจก็ละเลิกเสีย


7. สัมมาสติ คือความระลึกชอบ

เป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่ คือมีความรู้สึกตัวอยู่ทุกอิริยาบถ

คือเดินก็รู้ว่าเดิน ยืน นั่งนอน ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่

การกำหนดลมหายใจเข้า และลมหายใจออก จัดว่าเป็นการตามดูกาย

เพราะ กายคือรูป ลมหายใจเข้า และลมหายใจออก จัดว่าเป็นรูปเหมือนกัน

เป็นผู้มีปกติเห็นจิตในจิตอยู่ หากจิตเป็นแบบไหนก็รู้ เช่น เกิดความโกรธก็รู้

ความโกรธ หรือไม่พอใจ เรียกว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตรู้หรือเห็นจิตแล้วก็รีบดับ

ความไม่พอใจเสียเป็นผู้มีปกติเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

คือเห็นว่าจิตกำลังเสวยอารมณ์แบบไหนอย่างไร ถ้าเป็นสุขก็รู้

ไม่สุขก็รู้ หรือเฉยๆก็รู้

เป็นผู้มีปกติเห็นธรรมในธรรมอยู่ คือเห็นการเกิดดับในทำสรรพสิ่ง

เช่นเกิดความไม่พอใจก็รู้จนความไม่พอใจดับไปก็รู้

เห็นความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งว่า เกิดแล้วดับไป

ไม่มีสิ่งไหนเกิดแล้วไม่ดับ เช่นความสุข เกิดแล้ว ความทุกข์เกิดแล้ว

ก็ย่อมดับไปเหมือนกัน สัมมาสติ คือการมีสติระลึกได้

มีความเพียรเผากิเลสมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

เมื่อเกิดการกระทบแบบไหนแล้วทางอายตนะทั้ง 6

มีสติที่จะนำความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้


8. สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจชอบ


สงัดจากอกุศล คือกามราคะ พยาบาท การเบียดเบียน

เข้าถึงฌาณที่ 1 - 4 แล้วแลอยู่ เห็นการเกิดดับของจิต

เห็นว่าจิตพยายามสร้างภพ สร้างชาติอยู่ตลอดเวลา

เมื่อบุคคลกำลังนั่งสมาธิเมื่อจิต จดจ่ออยู่กับลมหายใจ คือ

การหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้

จิตเกาะอยู่กับลมหายใจ แต่จิตก็จะพยามยามสร้างภพใหม่อยู่ตลอด

การนั่งสมาธิคือการ บังคับ ควบคุมจิต หรือฝึกจิต ไม่ให้ไปสร้างภพใหม่

แต่จิตที่ยังไม่เชื่อง คือ ยังถูกควบคุมไม่ดี จิตเกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด

ไปเกาะอยู่กับสังขาร ( การปรุงแต่งจิต ในเรื่องอดีต หรืออนาคต )บ้าง

หรือไม่ก็ไปเกาะอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในทางที่จิตต้องการจะไปบ้าง

คือคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องราวต่างๆเป็นการสร้างภพชาติของจิต

คนที่นั่งสมาธิจึงจะต้อง ควบคุมจิตไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นใด

จนกว่าจิตจะเกาะอยู่กับอารมณ์เดียว เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ

หรือเรียก อีกอย่างหนึ่ง ว่าจิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

ได้เป็นเวลา นานๆ


การนั่งสมาธิ จะทำให้บุคคลเห็นการเกิด การดับของจิตได้อย่างชัดเจน

คือเห็นว่า จิตไม่ใช่ ของเรา และเป็นเรา นั่นเอง

จิตเป็นเพียง ธาตุตามธรรมชาติ คือธาตุรู้

มรรค 8 นี้ ย่อลงมา เหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

การเข้าใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท สามารถทำให้ทุกข์ดับไปได้อย่างไร

เพราะ ความดับไปของสิงนี้ สิ่งนี้ จึงดับไป

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั่นเทียว

จึงมีความดับแห่งสังขาร

เพราะมีความดับแห่งสังขารจึงมีความดับแห่งวิญญาณ

เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป

เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ

เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ

เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา

เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา

เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

เพราะมีความดับแห่งชาติ โสกะปริเทวะอุปายาสะ ทั้งหลายจึงดับสิ้น



การดับในสายปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นการดับทุกข์ ที่เหตุ

เมื่อคนเรารู้ว่าทุกข์เกิดมาจากไหน เราก็เข้าไปดับที่นั้น

เหตุเกิดของทุกข์คือ ตัณหา คือความอยาก

เมื่อคนเราดับความอยากได้ คนเราจึงดับทุกข์ของตัวเองได้

การดับทุกข์ในสาย ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ

อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าใจถึงกระบวนการเกิดทุกข์

เมื่อเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์และเข้าใจกระบวนการดับทุกข์

การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จะเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่ยาก


ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์นั้น ตามมรรค 8

ในข้อ สุดท้าย คือ สัมมาสมาธิ นั้น ต้องหมั่นฝึกบ่อยๆเพื่อให้จิตมีสมาธิ

เพื่อที่จะเห็นสายปฏิจจสมุปบาทอยู่ตลอดเวลา ทุกการกระทบของอายตนะทั้ง 6

และเข้าใจถึงการเกิดเหตุแห่งทุกข์ว่า ผัสสะ คือเหตุเกิด ของกรรม

เจตนา เป็นกรรม เช่นเจตนา จะฆ่าก็เรียกว่า กรรมไม่ดีเกิด

เจตนาจะช่วยเหลือ หรือเจตนาจะทำบุญ ก็เรียกว่าสร้างกรรมดี

เมื่อเกิดการกระทบแล้ว บุคคลจะสร้างกรรมตามเหตุที่กระทบ

เกือบทุกๆคราวไปยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิด ผัสสะทางตา เกิดความยินดี

เมื่อเกิดยินดีพอใจอย่างแรงกล้า ตัณหาย่อมเกิด เมื่อความอยากเกิดแล้ว

บุคคลนั้นก็กระทำกรรม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

แต่หากบุคคลที่เข้าใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทแล้ว เมื่อผัสสะเกิด

ความพอใจ ยินดี หรือ ความไม่พอใจ ความยินร้ายเกิด บุคคลนั้นย่อมรู้ว่า

หากปล่อยให้กระแส ปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นต่อไป กรรมที่เกิดขึ้นย่อมมีแน่นอน

และหากไม่ต้องการให้กรรมเกิด ก็ต้องดับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้

นั่นคือ ต้องดับเวทนา ความรู้สึกเสวยอารมณ์ตอนนั้นๆให้ได้

ไม่ว่ากำลังเสวยอารมณ์อะไรอยู่ เช่นพอใจ หรือไม่พอใจ

ให้รีบดับให้ไวที่สุด จนเหลือแค่ เป็นอารมณ์เฉยๆให้ได้

เมื่อเกิดความเฉยได้แล้ว จะเห็นว่า กรรมทั้ง ดี และไม่ดี ย่อมไม่เกิดตามมา

เรียกว่า กรรมไม่ขาว ไม่ดำ หรือ สิ้นกรรม คือไม่มีการสร้างกรรมอะไร

คือไม่สร้าง ทั้งกรรมดี และ กรรมไม่ดี

การเบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่นก็ไม่เกิดขึ้น

หรือ หากเวทนาเกิดแล้ว เกิดความอยากตามมา

แล้วเกิดตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วเกิดอุปาทาน

แล้วเกิดภพ แล้วเกิด ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ

หากไม่อยากให้เกิดทุกข์ก็ต้องรีบดับตัวตัณหา

คือความอยากลงโดยเร็ว จนความอยากดับไป การสร้างกรรมต่างๆจึงไม่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนมาตำหนิบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้น

เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีแล้ว ย่อมเข้าใจว่า

คำพูดนั้นก็เป็นสังขาร ( วจีสังขาร ) สังขารนั้นไม่เที่ยง เกิดแล้ว

ย่อมดับไป บุคคลนั้นย่อมไม่เกิดอารมณ์ ( เวทนาใดๆ )

เมื่อไม่เกิดอารมณ์ใดๆ ตัณหา คือ ความอยาก ย่อมไม่เกิด

สิ่งที่เป็นอยู่คือความเข้าใจในเนื้อความเท่านั้น

แล้วก็แก้ปัญหาไปตามเนื้อความนั้นๆได้ บุคคลนั้น

ก็ไม่เกิดภพ เกิดชาติ ไม่เกิดชรามรณะ โสกะปริเทวะใดๆ

การเกิดในทางความทุกข์ของบุคคลนั้นก็ไม่มี


**********************


ในขีวิตประจำวันของคนเรานั้นจิตย่อมสร้าง

ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อยู่ตลอดมากมาย

ตามสายปฏิจจสมุปบาทด้วยความไม่รู้

จิตสร้างภพชาติจนนับไม่ถ้วน จิตสร้างภพแล้ว ชาติเกิดแล้ว

ชาติเกิดแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทุกข์ สุข ย่อมเกิด

สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา

เพราะสิ่งต่างๆนั้น คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

การเกิดนั้น ไม่ว่าจะอยู่ได้เป็นเวลานาน

หรือเร็วแค่ไหน ในที่สุดก็ต้องดับไปในที่สุด

เพราะจิตนั้นแสวงหาภพอยู่ตลอดเวลา แสวงหาสิ่งที่เป็นที่ชอบใจ

อยู่ตลอดเวลา แม้บางครั้ง การแสวงหาจะเกิดความไม่ชอบใจ

จิตนั้นก็ยังไม่หยุดในการสร้างภพสร้างชาติ เพราะจิตนั้นเป็น

ธรรมชาติอย่างนั้นเอง คือไม่อยู่นิ่ง เปรียบเหมือนลิงห้อยโหนอยู่บนต้นไม้

เมื่อกระโดดเกาะกิ่งไม้ใดแล้ว ย่อมไม่หยุดจะกระโดดไปกระโดดมาอยู่ตลอด

การมีสติ สติแปลว่าการระลึกได้ เมื่อมีการระลึกได้ย่อมเกิดสัมปชัญญะ

เมื่อจิตเกิดสัมปชัญญะ การสำรวมอินทรีย์จึงเกิดขึ้น

การสำรวมอินทรีย์ คือการควบคุม ตาหูจมูกลิ้นกายใจเมื่อเกิดผัสสะ

ควบคุมไม่ให้จิตเกิดความพอใจ หรือไม่พอใจ

เมื่อมีผัสสะมากระทบทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ

คงเหลือไว้แค่ อุเบกขา ( เฉยๆ )

เพราะหากปล่อยให้ผัสสะเกิดไปจนควบคุมไม่ได้แล้ว

เมื่อจิตเกิดความพอใจหรือไม่พอใจ บาปอกุศลย่อมไหลตามไปสู่จิต

ของผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ การสำรวมอินทรีย์จึงมีความสำคัญมาก

รองจากการมีศีลที่สมบูรณ์ เพราะการสำรวมอินทรีย์ คือการใช้สมาธิ

ที่คอยระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตมีการระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา

ความประมาทจึงไม่เกิดขึ้น เพราะหากเมื่อไหร่ ความประมาท

เกิดขึ้นนั่นแสดงว่า ความไม่สำรวมอินทรีย์ย่อมเกิดขึ้นเหมือนกัน




**********************************************

การดับทุกข์ ตามแบบของ หลัก ปฏิจจสมุปบาท


ปฏิจจสมุปบาท เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

หรือเป็นตัวแท้ของศาสนาพุทธ

เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่สุด

เป็นหลักการดับทุกข์ได้ในทุกๆเรื่อง

หากปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ดี

และปฏิบัติได้มาก

จะทำให้บุคคลผู้นั้นมีความทุกข์ได้น้อย ถึงน้อยที่สุด


บางท่านที่ปฏิบัติจนไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดใด

ไม่ว่าอารมณ์ชนิดไหนมากระทบ


เพราะมีสติสมบูรณ์ที่สุด ท่านก็ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง

บางท่านปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ก็เรียกว่า ดับทุกข์ได้ชั่วคราว


หลักปฏิบัติ ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องการปฏิบัติที่รัดกุม

คือ มีสติ ควบคุมความรู้สึก

หรือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของระบบประสาท

และ อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

เมื่อมีการกระทบ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ กับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ไม่ให้เกิด

เวทนา ( ความพอใจ หรือไม่พอใจ หรือ ยินดี ยินร้าย

พอใจก็อยากได้ ไม่พอใจก็อยากให้ไปพ้นๆตัว )

ตัณหา ( ความอยาก อยากได้นั่น ได้นี่ หรือไม่อยากได้นั่นได้นี่

อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ )

อุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น คิดว่ามีตัวเรา มีของของเรา )

ภพ ( ความมีนั่น มีนี่ มียศถาบรรดาศักดิ์ )

ชาติ ( คือการเกิด เกิดเป็นนั่น เป็นนี่ )

ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ( ความแก่ และความตาย ความทุกข์ ความคับ

แค้นใจ )


ปฏิจจสมุปบาท คือ การแสดงให้รู้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะดับทุกข์นั้นได้อย่างไร

ความทุกข์ทั่วไปที่เกิดขึ้นมานั้น มีลักษณะที่เป็นธรรมชาติที่อาศัยกันและกัน

ในการเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น เป็นการเกิดที่เกี่ยวเนื่องกันไป

เป็นลูกโซ่

ปฏิจจ แปลว่า อาศัย

สมุปบาท แปลว่า เกิดขึ้นพร้อมกันของเรื่องของสิ่งที่อาศัย

กันและกัน หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น

บุคคลจะดับทุกข์ได้ ด้วยการ

อย่าให้ กระแสของ ปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นมาได้

กระแสของ ปฏิจจสมุปบาท จะเกิดขึ้นในชั่วอึดใจ

แบบสายฟ้าแลบ

และเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ของคนเรา

บุคคลคนที่ไม่เคยฝึกจิต หรือบุคคลธรรมดาทั่วๆไป

จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ

กระแส ปฏิจจสมุปบาท
จะเกิด สุข และ ทุกข์ ตามมาเสมอ

ตัวอย่าง

การเกิดกระแส ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ของนาง ก.

นาง ก. เดินผ่านไปได้ยิน นาง ข. กำลังนั่งนินทาและด่าว่าตัวเองอยู่กับเพื่อน

อีกคนหนึ่ง

เมื่อหูได้ยินเสียงด่า นางก. เกิดความไม่พอใจมากๆ

(เกิด เวทนา คือความยินร้าย )

และเกิดความ อยากด่าว่านางข. และเพื่อน ( เกิด ตัณหา คือความอยาก

ด่า) เพราะไม่พอใจที่นางข.และเพื่อนกำลังนินทาด่าว่าตัวเอง

( เกิดอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน )

นางก. จึงเดินเข้าไปต่อว่า นาง ข. ( เกิดภพ คือความมีตัวตนของนางก. )

เพราะจิตในขณะนั้น มีตัวตนและความโกรธเต็มที่ โกรธที่ นางข.และเพื่อน

ด่าว่าตัวเอง ( เกิด ชาติ )

นางข. ถูกต่อว่าต่างๆนานา ก็เกิดความไม่พอใจเหมือนกัน

จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น และมีการใช้กำลังตบตีกัน ต่อสู้กัน

มีการใช้เครื่องทุ่นแรง นางก. บาดเจ็บสาหัส

ได้รับความเจ็บปวดมากๆ (ทุกข์ ) จนได้รับความตาย ( เกิด ชรา มรณะ )


กระแส ปฏิจจสมุปบาท จะเกิดเพียงไม่ถึงนาที เมื่อ นางก. เกิดผัสสะทางหู

และ นางก. ได้รับผล แห่งกระแส ปฏิจจสมุปบาท ด้วย ความตาย



หลัก ปฏิบัติ เพื่อไม่ให้กระแส ปฏิจจสมุปบาท เข้ามามีบทบาท

ในชีวิตประจำวัน ของคนเรา


พระพุทธเจ้า ได้ตรัส หลักการปฏิบัติไว้

โดยสรุป คือเมื่อเห็นรูปด้วยตา ให้สักแต่ว่า เห็น ว่ารูปนั้นเป็นอย่างไร

ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ หรือ ยินดียินร้าย ในรูปนั้นๆ

เมื่อหูได้ยินเสียง ให้สักแต่ว่า ได้ยินเสียง

ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ หรือยินดียินร้ายในเสียงนั้น

เมื่อจมูกได้กลิ่นต่างๆ สักแต่ว่า ได้กลิ่น

ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ

เมื่อลิ้นได้รับรสอาหาร ให้สักแต่ว่า รสเป็นอย่างไร

เปรี้ยว เค็มหรือหวาน ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ

เมื่อใจได้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็ให้สักแต่ว่า รับรู้และระลึกถึงเรื่องราวต่างๆ

ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ เมื่อมีการสัมผัสทางร่างกาย

ก็ให้สักแต่ว่า สัมผัส ไม่ให้เกิดความ พอใจ หรือไม่พอใจ หรือยินดียินร้าย

พระพุทธทาส ท่านสอนว่า

คนเรามีวิธีเอาตัวรอด จาก กระแส

ปฏิจจสมุปบาท ได้คือ

หากใครเผลอสติ พอใจ หรือไม่พอใจ เข้าแล้ว

ให้รีบหยุดความรู้สึกนั้นๆให้ได้

ให้หยุดแค่ความพอใจ หรือไม่พอใจ ( โกรธ )

หากหยุดไม่ได้ จะเกิด ตัณหา คือความอยากขึ้นในจิตใจ

หากความอยากเกิดขึ้นแล้วบุคคลผู้นั้น จะต้องกระทำสิ่งต่างๆขึ้นเสมอ

ด้วยอำนาจของกิเลส เช่น อยากตี อยากฆ่า อยากด่า

อยากได้ อยากมี ฯลฯ ด้วยอำนาจของตัณหา ( ความอยาก )


เมื่อบุคคลหยุดความอยากได้ จะมีสติและกระทำสิ่งต่างๆด้วยปัญญา ที่มี

หรือที่ถูกที่ควรจะเป็น

และผลของการกระทำนั้นๆ

จะเป็นการกระทำที่ทำด้วยสติปัญญา

ไม่ใช่การกระทำที่เต็มไปด้วย กิเสสพาไป หรือกิเลส บงการให้ทำ

ในกรณี หยุด ไม่ได้ และมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง

และจะมีผลกรรม ( ผลของการกระทำ ) ตามมาแน่นอน

นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า ผลของกรรม

หรือวิบากกรรม
จะเป็นกรรมดี หรือกรรมไม่ดี

นั่นอยู่ที่การกระทำของบุคคลผู้นั้น

และต้องรับ ผลกรรม ทั้งกรรมดี และกรรมไม่ดี

เรื่อง กรรมดี หรือ กรรมไม่ดี

ล้วนมีผลมาจาก ผัสสะ

( คลิก ดูรายละเอียด เรื่องผัสสะ )


ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นสายลูกโซ่

และเป็นการเกิดของกองทุกข์


อาสวะเกิดอวิชชาเกิด อาสวะมีได้เพราะอวิชชา

อวิชชาเกิดสังขารเกิด สังขารมีได้ เพราะอวิชชา

สังขารเกิดวิญญาณเกิด วิญญาณมีได้เพราะสังขาร

วิญญาณเกิดนามรูปเกิด นามรูปมีได้เพราะวิญญาณ

นามรูปเกิดอายตนะ6เกิด อายตนะทั้ง6 มีได้เพราะนามรูป

อายตนะ6เกิดผัสสะเกิด ผัสสะมีได้เพราะอายตนะ6

ผัสสะเกิดเวทนาเกิด ผัสสะมีได้เพราะเวทนา

เวทนาเกิดตัณหาเกิด เวทนามีได้เพราะตัณหา

ตัณหาเกิดอุปาทานเกิด ตัณหามีได้เพราะอุปาทาน

อุปาทานเกิดภพเกิด อุปาทานมีได้เพราะภพ

ภพเกิดชาติเกิด ภพมีได้เพราะชาติ

ชาติเกิดชรามรณะโสกะปริเทวะเกิด

ชรามรณะ โสกะปริเทวะมีได้เพราะ อวิชชาเกิด

อวิชชามีได้เพราะชาติ

อาสวะเกิดเพราะอวิชชาเกิด อวิชชามีได้เพราะอวิชชา

อวิชชาเกิดเพราะสังขารเกิด สังขารมีได้เพราะอวิชชา

การเกิดของกองทุกข์จะเป็นวงกลมติดต่อกันเรื่อยไป

ทำให้เกิดมี เจตนา กรรม วิบากกรรม

พระอริยมรรคมีองค์แปดคือทางปฏิบัติในการดับกองทุกข์ ทั้งหมด

พระอริยมรรคมีองค์แปด

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบ

3. สัมมาวาจา คือการเจรจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ คือการงานชอบ

5. สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีวิตชอบ

6. สัมมาวายามะ คือความพากเพียรชอบ

7. สัมมาสติ คือความระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจชอบ

อริยมรรคทั้งแปดข้อ ย่อให้เหลือ แค่ สาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ทั้งสามข้อ จะทำงานพร้อมๆกัน

ยกตัวอย่างการทำงานของอริยมรรค

เมื่อตาเห็นรูป (ผัสสะเกิดทางตา) ที่ไม่น่าพอใจ บุคคลที่เจริญมรรค

จะมีปัญญาหรือความรู้ และมีสติ ( สติคือมีสมาธิ ควบคู่กับตัวศีล )

รู้ว่าสิ่งที่เห็น คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

บุคคลนั้นจะมีสติไม่มีอารมณ์ ยินดีหรือยินร้าย บุคคลนั้นก็จะวางเฉย

ในสิ่งที่มากระทบ (ผัสสะ) ไม่แสดงอาการอะไรออกมา

ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ บุคคลนั้นก็จะไม่สร้างกรรมอะไร

เลย ทั้งดี และไม่ดี เรียกว่า กรรมไม่ดำ ไม่ขาว

เมื่อบุคคลเจริญมรรคบ่อยๆมากๆเข้า

กรรมที่จะเกิดก็จะน้อยลงเรื่อยๆ คงเหลือแต่กรรมเก่าที่ต้องรับผลเท่านั้น

ส่วนกรรมใหม่ไม่มี หรือมีก็จะน้อยมากๆแล้ว

พระอริยมรรคมีองค์แปด คือหนทางดับทุกข์นั่นเอง







 

Create Date : 05 มิถุนายน 2556    
Last Update : 1 มิถุนายน 2559 7:50:59 น.
Counter : 1232 Pageviews.  

*** การบรรลุพระอรหันต์ ***




พอดีเข้าไปเห็นคนโพสถามในห้องศาสนา

เราก็เคยถามตัวเองอยู่บ่อยๆจนได้ ข้อสรุป

เลยมาอัพบล็อกดีกว่า

ตามแบบของเราเองนะ.........................

คนที่ไม่ได้บวช แต่รักษาศีล ให้ทาน และภาวนา

สามารถบรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์ได้หรือไม่

เราว่านะ ยากถึงยากที่สุด ระดับความยากนั้น

ก็ต้องดูที่สภาพแวดล้อมรอบๆตัวเองด้วย

เช่น ยังอยู่บ้านหรือไม่ ยังมีสามี ยังมีภรรยาหรือไม่

ยังมีลูกหรือไม่ ยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบหรือไม่

ทำการงานอาชีพหรือไม่ ยังดูหนังฟังเพลง ดูละครโทรทัศน์

ยังต้องแต่งตัวเพื่อเข้าสังคม ยังดูการละเล่น ดูกีฬา

ยังเล่นคอมพ์ในแง่บันเทิงเริงรมย์หรือไม่

ยังมีความต้องการในเครื่องแต่งตัวหรือไม่

และสารพัดยังมีความต้องการทางโลกๆหรือไม่

คนที่จะสามารถบรรลุขั้นพระอรหันต์นั้น ต้องละกามได้เด็ดขาด

ตัดสังโยชน์ ทั้ง 10 ได้หมดสิ้น ละกามข้อนี้ข้อเดียวละได้หรือไม่

กระทบกับอะไรทางอายตนะทั้งหกแล้ว วางเฉยจริงๆได้หรือไม่



เราเข้าใจแล้วว่าทำไมการบวชจึงเอื้อต่อการบรรลุธรรมอย่างยิ่ง

เพราะแค่บวชนั้นพระก็มีจีวรแค่ 3 ผืน ของคนที่ไม่ได้บวชทำได้หรือไม่

มีผ้าใส่แค่ 3 ชิ้น ได้หรือไม่ ไม่สะสมผ้าสวมใส่

อาหารการกิน กินแค่วันละครั้งได้หรือไม่

ไม่สะสมอะไรเลย ทำได้แบบพระหรือไม่

พระที่บวชเพื่อละกิเลส ต้องละทิ้งสมบัติทุกอย่าง

แม้แต่เงินทองก็ไม่สะสมแล้ว คนที่ไม่บวชต้องถามตัวเองว่า

ทำแบบพระทุกอย่างได้หรือไม่ การปลีกวิเวกหลีกเร้น

อยู่แต่ผู้เดียวเป็นเวลานานๆทำได้หรือไม่

เวลาใครมีความสุข ความทุกข์ ในหมู่ญาติ เพื่อนฝูง

คนที่ไม่บวชเข้าไป ยินดี ยินร้าย ดีใจกับเขา เสียใจ

กับเขาเหล่านั้นหรือไม่ หากยังมี ก็เรียกว่าโอกาสบรรลุธรรม

ขั้นพระอรหันต์นั้นยากมาก

คนที่ไม่บวช โอกาส บรรลุธรรม ระดับรองลงมาก็มี

เช่นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี

แค่พระอนาคามีก็ยังยากแล้ว

เพราะต้องละกามคุณทั้ง5ได้อย่างเด็ดขาด ต้องละความโกรธ

ความกระทบกระทั่งในใจได้อย่างเด็ดขาด


การบรรลุธรรมระดับ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี

คนที่ไม่บวช และยังอยู่ครองเรือน ถ้าปฏิบติดี

ปฏิบัติตามสมควรแห่งธรรม ก็สามารถจะบรรลุธรรม 3 ระดับนี้ได้



เราจึงสรุปได้เลยว่า การไม่บวชแต่ยังอยู่ในบ้าน ในเรือน

ยังมีหลายๆอย่างดังกล่าวข้างบนนั้น

โอกาสบรรลุพระอรหันต์ มีน้อยมากๆๆๆ

ตั้งแต่น้อยถึงน้อยที่สุด จนถึงระดับน้อยมากๆๆ

ถ้าอยากจะบรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์จริงๆ

ต้องปฏิบัติแบบพระ มีความเป็นอยู่แบบพระ ละทุกอย่างแบบพระ รักษาศีล

แบบพระอริยะ ปฏิบัติแบบพระทุกอย่าง

และการปฏิบัติแบบพระ ต้องปฏิบัติ แบบถูกต้อง

ตรงตามที่พระพุทธเจ้า บอกกล่าวไว้

หากใครทำได้ ไม่ว่า จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา

การบรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์ จึงจะมีโอกาส




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 21:05:55 น.
Counter : 541 Pageviews.  

*** มีศีล 5 โดยไม่ต้องถือศีลกันเถอะ ***




การถือ เปรียบเหมือนการถือสิ่งของไม่ว่าของสิ่งนั้นจะเป็นของหนักหรือของเบา ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดความเหนื่อยความเมื่อยล้า จนต้องปล่อยของสิ่งนั้นทิ้งไป

การยึด คือการจับเอาไว้ไม่ยอมปล่อย ลองให้ใครไปยึดยื้ออะไรไว้เป็นเวลานานๆในที่สุดก็จะเกิดความเมื่อยความล้าได้

การถือก็จะเปรียบเหมือนการถือของหนัก ถ้าเราไม่ถือของหนักมากหรือหนักน้อยหากเราไม่ยึดถือเลย  เราก็จะเกิดความรู้สึกเบาโล่งสบาย ลองคิดดูว่าระหว่างการถือของกับการไม่ถือของอันไหนจะเบาสบายกว่ากัน

ถ้าหากเราไม่ยึดไม่ถือแล้วเราจะเป็นคนดีมีศีลธรรมได้อย่างไร

ข้อนี้เรากำลังจะบอกวิธีง่ายๆดังต่อไปนี้

ข้อแรก การไม่ฆ่าสัตว์

ให้เราสร้างหรือฝึกการมีความเมตตาให้มีขึ้นในจิตใจ

 ความเมตตานี้จะเกิดไม่ได้ถ้าคนเราไม่สร้างขึ้นในจิตใจก่อน เมื่อไม่เมตตาก็ไม่มีความสงสาร เมื่อไม่มีความสงสารก็ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

 เราจึงต้องฝึกความเมตตาความสงสารให้มากๆ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องบาปเรื่องกรรมเวรอะไร ให้คิดว่าสัตว์ทุกชนิดก็มีความรู้สึกร้อนหนาวเจ็บปวดเหมือนกับเรา รักตัวกลัวตายเหมือนๆกับเรา สมมุติว่ามีคนจะเข้ามาทำร้ายเราเราก็จะรักตัวกลัวตายเหมือนกันเจ็บปวดเหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนกับสัตว์โลกทั่วๆไป

 เมื่อคนเราคิดได้แบบนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจขึ้นมาเอง ทำให้เกิดการฆ่าไม่ลง ทำร้ายไม่ได้ แม้แต่มดแมลงตัวเล็กๆ เราก็ฆ่าไม่ลง จึงเกิดศีลขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปยึดไปถือศีลเลย 

เมื่อคนไม่ฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ จะเกิดความสุข ความสบายใจว่า เราไม่ได้ทำร้ายอะไรให้มีอันจบชีวิตไป จิตใจเราก็จะเบาสบาย กินอิ่มและนอนหลับสบาย เพราะไม่ต้องคอยวิตกว่า อะไรที่เราฆ่าไปจะมีผลเกิดขึ้นมาทำร้ายเราตอบ และไม่ต้องเป็นทุกข์ว่า ตำรวจจะมาจับเราเข้าคุกเพราะเราไปขโมยของใคร และไม่ต้องวิตกกังวลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับศีล

เราจะรู้สึกสุขสบายทั้งกายและใจ

ถ้าจะนั่งสมาธิ สมาธิก็จะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะมีศีลอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องไปยึดไม่ต้องไปถือ

หากคนเราถือศีลโดยไม่มีความเมตตาสงสาร โอกาสที่ศีลจะหมดไปหรือศีลขาดไปก็ง่ายมาก

ข้อที่ 2 การไม่ขโมย

ให้เราคิดอยู่ในใจเสมอๆว่า ของของใครใครก็รักก็หวง หากใครมาเอาไปเราจะรู้สึกอย่างไร เสียดายไหม เสียใจไหม เมื่อคิดได้ประมาณนี้ เราจึงขโมยของใครไม่ได้ เพราะจะเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นเหมื่อนกัน

 คนที่ขโมยของของคนอื่นได้ คือคนที่ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่สงสารผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น นายดำปลูกผลไม้ไว้กิน พอผลไม้ออกผล ก็มีคนมาขโมยเอาไปเกือบหมด ทำให้นายดำ เสียดายของเพราะลงแรงกายแรงใจใส่ปุ่ยพรวนดินดูแลต้นไม้นี้ไว้มาก ก็หวังจะได้ผลไม้ไว้ทำประโยชน์ แต่มีคนมาขโมยไปแล้วการทำประโยชน์จึงเหลือน้อยลงไป คนที่ขโมยจึงเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

ข้อที่ 3 การไม่ประพฤติผิดในกาม

 ข้อนี้ถ้าคิดดีๆก็คล้ายข้อสองคือ ของรักของหวงของใคร ใครก็หวง เราต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้คิดย้อนมาถึงตัวเองว่าหากเรามีของรักของหวงหากใครมาแย่งไป เราก็จะรู้สึกเสียใจไม่แพ้กัน วิธีที่ไม่ยุ่งกับผู้ที่มีเจ้าของหรือมีคนหวงเราต้องคิดย้อนนึกถึงตัวเองบ่อยๆว่าหากเรามีคนที่รักแล้วมีคนมายุ่งเกี่ยวด้วยเราจะรู้สึกอย่างไร

เมื่อไหร่ที่คิดได้ ข้อนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะทำร้ายใครไม่ลง

ข้อที่ 4 การไม่พูดโกหก

 ให้เราคิดเสมอๆว่า พูดโกหกแล้วหากคนมารู้ความจริงทีหลังเราจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ไม่มีใครเชื่อถือ และถูกมองว่าเป็นคนสตอเบอรี่ และการโกหกเป็นการสร้างความเสื่อมให้กับตัวเอง เพราะตัวเองย่อมรู้ความเป็นจริงว่าความจริงเป็นอย่างไร คนอื่นไม่รู้แต่ตัวเองย่อมรู้ ทำให้ไม่มีความสุขลึกๆในใจเพราะพูดคำไม่จริง จิตใจตัวเองก็จะเสื่อมไปเรื่อยๆ

ข้อที่ 5 การไม่ดื่มน้ำเมาหรือดื่มสุรา

ให้เรารู้ถึงโทษภัยของสุราว่าเป็นอย่างไร เช่นทำร้ายสุขภาพ ทำร้ายสติ ทำให้เกิดผลเสียมากมาย ขับรถก็ไม่ดี เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เวลาเดินก็ไม่ตรงทางเพราะความเมา  บุคคลิกภาพเปลี่ยนไปและเป็นต้นเหตุของความเสื่อม ความประมาทหลายอย่าง เมื่อรู้ถึงโทษภัยแล้วก็ทำให้เรา ไม่อยากกินมัน เพราะเรารู้ว่ามันเป็นของไม่ดีในความคิดของเรา

จะเห็นว่า การมีศีลด้วยการไม่ยึดไม่ถือจะทำง่ายมาก หากเรานำศีลแต่ละข้อมานั่งพิจพิเคราะห์ดู และเราจะเห็นเองเข้าใจเองจนเกิดมีศีลขึ้นมาในจิตใจ

การไม่ทำตรงข้ามกับศีล 5 ข้อดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเหนื่อยในการยึดการถือเลย แต่เราจะมีศีลอยู่กับตัวตลอดเวลา ศีลไม่ตก ศีลไม่ขาด  ตลอดลมหายใจเข้าออก ที่เรามีสติรู้เท่าทันความเป็นไป

สาเหตุสำคัญที่คนเราผิดศีลกันมาก คือ

ความกลัว  ความพอใจ และความไม่พอใจความอยาก ( อยากได้ อยากมี อยากเป็น )

ความกลัว นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนผิดศีลกันมาก เช่นเห็นงูแล้วตีงูให้ตาย เพราะกลัวจะมากัดคนในบ้าน เห็นคนจะทำร้ายตัวเองก็รีบฆ่าเค้าก่อน ซึ่งความเป็นจริงไม่ต้องฆ่าก็ได้ แต่คนกลัวไว้ก่อน

ความพอใจ เมื่อพอใจก็ทำสิ่งที่ตัวเองพอใจ ไม่สนใจว่าสิ่งนี้จะถูกหรือผิด เช่นไปเห็นของของคนอื่นก็พอใจ พอพอใจแล้วเกิดความอยากได้ก็ไปลักขโมยของเค้ามาเป็นของตัวเอง

ความไม่พอใจนี้ก็สำคัญ พอไม่พอใจก็เกิดการฆ่ากันทำร้ายกันขึ้น

ความอยากนี้สำคัญมากๆ เพราะอยากได้ จึงขโมย เพราะอยากมีจึงต้องดื่ม เพราะอยากมีสังคม อยากเข้าสังคม  บางคนอยากได้บุญจึงถือศีล เพราะคิดว่า ถือศีลแล้วจะได้บุญและความอยากเป็นอันนี้ก็สำคัญ บางคนอยากเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็ถือศีล หรือบางคนอยากมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายจึงยอมเป็นภรรยาน้อยคนอื่น ไม่สนใจว่าภรรยาหลวงจะชอกช้ำใจหรือเสียใจแค่ไหน เป็นต้น





 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 12 เมษายน 2556 15:36:44 น.
Counter : 987 Pageviews.  

*** ถูกธรรมชาติตบหน้า ***




เราชอบประโยคนี้มากเลย

" เมื่อไหร่ที่จิตของเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าสิ่ิงนั้นจะเป็น คน สัตว์  สิ่งของ  หรืออะไร อะไร ก็แล้วแต่ ก็จะถูกธรรมชาติตบหน้าเอา


ความหมายคือ  เราจะเกิดความรู้สึกเจ็บ เป็นทุกข์ ความไม่สบายใจ หรือพ่วงด้วย ความไม่สบายกาย ( บางคน ) เหมือนคนถูกตบหน้า เป็นการเปรียบเทียบ


 เพราะเมื่อไหร่ที่คิดว่า คน สัตว์ สิ่งของนั้นเป็นของของเราแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกรัก  ผูกพัน หวงแหน ห่วงหวง ไม่อยากให้สิ่งที่คิดว่าเป็นของของเราต้องมีอันจากเราไป และถ้าหากมีอันจากไปแล้ว เราจะเกิดความเจ็บปวด ( ความทุกข์ ) มากมาย บางคนแค่คิดก็เจ็บปวดแล้ว


เป็นคำสอนของท่านพระพุทธทาส เราซาบซึ้งกับคำสอนประโยคนี้จริงๆ เพราะเราได้ประสบพบเจอกับตัวเองมาแล้วอย่างนับครั้งไม่ถ้วน เราว่าทุกคนคงพบเจอมาแล้วไม่มากก็น้อย แต่ไม่รู้ตัวเอง


เราถูกธรรมชาติตบหน้าเอาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนขยาด  จนกลัว พอเรามีสติ เราต้องรีบหยุดทันที แต่ก็มีบ้างที่เผลอ แต่ก็ไม่ค่อยมากแล้ว


เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายึดมั่นไปแล้ว ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น วิธีแก้ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ  เพราะมันเกิดไปแล้ว


ความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องอาศัยเวลา กว่าเจ้าความทุกข์จะหมดไปได้ บางคนก็หมดไปไว แต่บางครั้งกว่าเจ้าความทุกข์จะหมดไปก็ต้องใช้เวลานานเหลือเกิน  ซึ่งช้าและแสนจะทรมาน จนในที่สุดมันก็หมดไปจนได้ เพราะเจ้าความทุกข์ก็คือสิ่งที่ไม่เที่ยงเหมือนกัน



เปรียบเหมือนการ จุดไฟติดไม้แล้ว กว่าไฟจะดับก็ไม่ใช่จะดับง่ายๆ ต้องค่อยๆมอดไป มอดแล้วจะเหลือควันอีกสักพัก พอหมดควันความทุกข์ก็หมดตามไป
เราต้องกระทำการอย่างคนฉลาด หลังจากที่เราโง่มานาน พอเจอตบหน้าเข้าหลายๆครั้ง เราก็พอจะฉลาดขึ้นมาบ้าง



วิธีจะไม่ให้เกิดทุกข์  เราก็จะต้องมีสติระลึกรู้ให้มากๆ อย่าให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ในจิตใจ


 นั่นคือไม่เข้าไปยึดมั่นในทุกกรณี เมื่อไหร่ที่เราไม่เข้าไปยึดมั่น เราก็ไม่เกิดความทุกข์เลย



เรานับถือ ศาสนาพุทธ คำว่า พุทธะ ความหมายคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรามักจะท่องไว้ในใจอยู่เสมอว่า


ผู้รู้  เรารู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไรบนโลกนี้ ( รู้อริยสัจสี่ ) อย่างย่อๆ เรารู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาแบบไหน และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดทุกข์อีก


เมื่อหลายวันก่อนเราสอนว่าที่ลูก( สะใภ้ )แบบให้เข้าใจง่ายๆ เพราะถ้าเราสอนแบบละเอียด เค้าคงจะเข้าใจยากและพาลไม่รับเอาเลย เราเลยต้องอธิบายแบบรวบรัดพอเอาใจความ แต่ดีหน่อยตรงที่เค้าพยายามตั้งใจฟังเราพูด


คำว่าผู้รู้ เราบอกเค้าแค่ว่า ให้รู้ว่าทุกอย่างบนโลกนี้คือสังขาร สังขาร คือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆมารวมกัน รวมทั้งคนสัตว์สิ่งของทั้งหมดทั้งมวล


 สิ่งไหนเป็นสังขารสิ่งนั้น คือของไม่เที่ยง ไม่คงทน ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงไป เข้ายึดมั่นไม่ได้ ถ้าเข้าไปยึดมั่น ว่าเป็นของของเราก็จะถูกธรรมชาติตบหน้าเอา คือจะเกิดความเจ็บปวด เป็นความทุกข์  เพราะไปทึกทักเอาของธรรมชาติว่าเป็นของตัวเองแบบหลงผิด แต่ถ้าไม่ยึดมั่น เราก็จะใช้ของธรรมชาติได้อย่างมีความสุขมากๆ


 และเราก็สอนเค้าไปหลายอย่าง พอให้เค้าเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เราว่าลูกเค้าคงเข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย....


เมื่อมาถึงตัวเราเอง เมื่อไหร่ที่เราจะเข้าไปยึดมั่น เราจะท่องคำนี้เอาไว้ในใจเสมอ ให้สมกับที่เราเป็นชาวพุทธตามความหมาย


ช่วงหลังๆนี้เราไม่ค่อยถูกธรรมชาติตบหน้าแล้ว ก็เพราะความหมายของคำว่า ผู้รู้นั่นเอง


ปฏิจจสมุปบาท คือวงจรความทุกข์ที่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ที่เราตัดวงจรนี้ได้ ธรรมชาติก็จะไม่สามารถตบหน้าเราได้อีก



ความยินดี และความยินร้าย ( ความพอใจ และความไม่พอใจ ) เมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว และเกิดเรื่อยไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ และช่วยไม่ทันแล้ว


ที่ช่วยได้  คืออย่าให้เจ้าความยินดี และความยินร้ายเกิดขึ้นมาในจิตใจ  และเผลอสติปล่อยให้ลื่นไหลไปตามวงจรนี้อย่างเด็ดขาด


หากเมื่อไหร่เรามีสติระลึกรู้ได้ แล้วรู้เท่าทันวงจรปฏิจจสมุปบาท ธรรมชาติจะไม่มีโอกาสทำร้ายเราได้ เราว่า เป็นการช่วยให้เรามีความทุกข์น้อยถึงน้อยลงมากๆ จนแทบจะไม่เกิดความทุกข์เลย


ขอบพระคุณคำสอนของท่านพระพุทธทาสที่ช่วยเตือนสติเราอยู่เสมอๆ




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 12 เมษายน 2556 15:43:05 น.
Counter : 858 Pageviews.  

*** ทำสิ่งต่างๆด้วยจิตว่างกันเถอะ ***




ไปอ่านเจอบทกลอนธรรมะที่ห้องศาสนา เป็นบทกลอนธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุ เราชอบมากเลยบทกลอนธรรมะของพระท่าน เราว่าทุกบทกลอนให้ธรรมะแท้จริงพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมด

อย่างเรื่อง จิตว่าง เราใช้ทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ใช้ได้ผลมากมาย

เรื่องจิตว่างนี้หลายคนอาจสงสัยหรือไม่ค่อยเข้าใจ ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะว่างได้ในขณะที่รอบๆตัวถูกรุมล้อมด้วยความวุ่นวาย

หลายคนแย้งว่าทุกอย่างมี ทุกอย่างเป็นอยู่แล้วจะว่างได้อย่างไร

คำว่า " ว่าง " ในความหมายทางศาสนาพุทธ คือ ว่างจาก การยึดมั่นในทุกๆสิ่ง ไม่เข้าไปยึดถือว่าเป็นของเรา ใช้ได้ในทุกๆสิ่ง

เช่นร่างกายของเรา เรา ทำประโยชน์ในสิ่งต่างๆได้หมด แต่ไม่ยึดมั่น หรือมีเงินก็ใช้ได้ ใช้ไป เหลือ ก็ เก็บรักษาให้ดีตามปกติ แต่ไม่ยึดว่าเป็นของเรา

เมื่อเราไม่คิดยึดมั่น หากเกิดการสูญหายไป หรือบ้าง เราก็ไม่มานั่งทุกข์ใจจะเป็นจะตาย หรือทุกข์เจียนตายด้วยความเสียดาย

หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ แม้ว่าเรามี เราเป็น ให้เรามีความรู้ว่า สิ่งที่เรามีเราเป็นมันไม่ใช่ของเรา มันทั้งหลายคือสังขาร

ความรู้นั้นจะแค่คิดหลอกๆไม่ได้ ต้องรู้และเข้าใจจริงๆว่า มันไม่ใช่ของเรา ต้องเข้าใจจริงๆเรื่อง อนัตตา ต้องเข้าใจจริงๆเรื่อง อนิจจัง ต้องเข้าใจจริงๆเรื่องสังขาร

ตัวอย่างเช่นการเข้าใจเรื่องสังขาร ว่ามีความหมายคือ เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สิ่งที่ถูกปรุงแต่งล้วนเป็นอนัตตา เป็นสิ่งไม่เที่ยง

คำว่าไม่เที่ยงคือไม่คงทนถาวร ไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องมีการสลายไป หรือมีอันจากไป สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นไม่ใช่ของของเรา เมื่อไม่ใช่ของของเราเราก็เข้าไปยึดมั่นไม่ได้

หากใครดื้อดึงเข้าไปยึด ก็จะได้รับความทุกข์ทันที ไม่มากก็น้อย ตามกำลังการยึดมั่น

หากไม่ยึดมั่นความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย


เราเคยพิสูจน์มาแล้ว เรื่องการไปอยู่ที่สูงๆ หลายๆคนจะเกิดความกลัว หรือเกิดความหวาดเสียว ไม่มากก็น้อย แต่หากเมื่อไหร่ทำจิตให้ว่างได้ คือว่างจากการยึดมั่นว่ามีตัวเรา ความกลัวที่สูงหรือการหวาดเสียวก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

คำว่าว่างนี้มีประโยชน์มากมายมหาศาล สามารถใช้ได้ในทุกกรณี และทำให้เกิดสติสัมปชัญญะได้อย่างดีมากๆ การคิดแก้ปัญหาต่างๆสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

จะเห็นว่าการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีคุณค่าอย่างประเมินค่าไม่ได้ และขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถใช้ได้อย่างถูกวิธีและปฏิบัติได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน

มาทำสิ่งต่างๆด้วยจิตว่างกันเถอะ


จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง

ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น

กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน

ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว อย่างหัวที

ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา

ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี

ศิลปะ ในชีวิต ชนิดนี้

เป็นเคล็ดที่ ใครคิดได้ สบายเอย








 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2555 12:04:37 น.
Counter : 622 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.