คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

พงศาวดารเมืองปัตตานี ๑

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๓

เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ
พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชร
พ.ศ. ๒๔๕๗

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณ สพานยศเส
กรุงเทพฯ

คำนำ



ด้วยพระเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ (ม.ว.ลพ สุทัศน์) จะทำการปลงศพหม่อมเจ้าหญิงอรชร ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ปราถนาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพ จึงมาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณช่วยเลือกเรื่องหนังสือ แลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์ ซึ่งจะบำเพ็ญการกุศลอุทิศผลทักษิณานุปทานแก่เจ้าครอกอาของท่าน เมื่อกรรมการได้รับฉันทอันนี้แล้วมาพิจารณาดูเห็นว่า หนังสือประชุมพงษาวดารได้พิมพ์เปนของแจกในการบำเพ็ญการกุศลอย่างเดียวกันมาแล้ว ๒ ภาค คือ ภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉา ได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อปีขาลฉศก พ.ศ.๒๔๕๗ ภาคที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินีกูลในปีเดียวกัน เมื่อพิมพ์หนังสือ ๒ ภาคนั้นแล้ว มาตรวจดูยังมีหนังสือพงษาวดารเกร็ดอยู่ในหอพระสมุดซึ่งยังไม่ได้พิมพ์อิก ๓ เรื่อง คือ พงษาวดารเมืองปัตตานีเรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองสงขลาเรื่อง ๑ ทั้ง ๒ เรื่องนี้ พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณะสงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาได้เรียบเรียงไว้แต่เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ กับเรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพได้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ๑ หนังสือทั้ง ๓ เรื่องที่กล่าวมานี้กอปรด้วยประโยชน์สมควรจะรวมพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ได้อิกภาค ๑ กรรมการจึงได้เลือกหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ให้พิมพ์ตามเจตนาของท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ
หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจตลอด แต่ไม่ได้สอบแก้ของเดิม ด้วยการตรวจสอบจะกินเวลามากนัก ข้าพเจ้าจะอธิบายแต่ความรู้เห็นของข้าพเจ้าไว้ในคำนำนี้โดยใจความ
หนังสือพงษาวดารเมืองปัตตานี ซึ่งถ้าจะเรียกให้ตรงตามกาลเวลานี้ควรเข้าใจว่าพงษาวดารมณฑลปัตตานี ที่พระยาวิเชียรคิรีเรียงนั้นเรียบเรียงตามความรู้เห็นที่มีอยู่ในเมืองสงขลา แลบางทีจะได้สอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ด้วย ในตอนเบื้องต้นเข้าใจผิดหรือยังไม่ทราบความจริงอยู่บ้าง ที่จริงเมืองปัตตานีเปนเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วง ครองนครศุโขไทยเปนราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธสาสนา ภายหลังจึงเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม ข้อที่ว่าเจ้าเมืองปัตตานีเปนผู้หญิงนั้น ไม่ใช่เพราะลูกยังเปนเด็กอย่างพระยาวิเชียรคิรีกล่าวไว้ในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุเก่าหลายเรื่อง แม้ที่พวกพ่อค้าฝรั่งซึ่งไปมาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตลอดจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชได้จดไว้ กล่าวต้องกันว่าประเพณีการปกครองเมืองปัตตานีเลือกผู้หญิงในวงษ์ตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งมีอายุมากจนพ้นเขตรที่จะมีบุตรได้ เปนนางพระยาว่าราชการเมืองสืบๆกันมา ประเพณีอย่างนี้ใช้ในบางเมืองในเกาะสุมาตราก่อน แล้วพวกเมืองตานีจึงเอาอย่างมาใช้ พึ่งเลิกประเพณีนี้ในชั้นกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี ในตอนหลังๆอิกข้อ ๑ ซึ่งกล่าวด้วยการตั้งข้าราชการไทยไปเปนพระยาปัตตานี เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ตลอดมาจนเรื่องแยกเมืองปัตตานีออกเปน ๗ หัวเมืองนั้น ความคลาศกับหนังสือพระราชพงษาวดารอยู่เรื่องเมืองปัตตานี ว่าโดยใจความเปนดังนี้ เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บรรดาหัวเมืองแขกมลายูที่เคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาพากันตั้งเปนอิศร ครั้งกรุงธนบุรียังไม่ได้ปราบปรามลงได้ดังแต่ก่อน มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีสยามประเทศทุกทิศทุกทาง เมื่อไทยรบชนะพม่าที่เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แลที่ลงมาทางเหนือตีแตกกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อตีกองทัพพม่าแตกกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา มีรับสั่งออกไปถึงบรรดาหัวเมืองแขกมลายูซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีขัดแขงไม่มาอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้กองทัพยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้ว ไม่กล่าวไว้ในหนังสือ พระราชพงษาวดารว่าได้ทรงตั้งให้ผู้ใดว่าราชการเมืองปัตตานีก็จริง แต่เหตุการณ์ที่เกิดภายหลังทำให้เข้าใจว่า ได้ทรงตั้งให้แขกซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระยาปัตตานีเดิมเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานีคนนี้ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีรกาเอกศก พ.ศ.๒๓๓๒ มีหนังสือไปชวนองเชียงสือเจ้าอนัมก๊กให้เปนใจเข้ากันมาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร องเชียงสือบอกความเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีอิกครั้ง ๑ ที่ตั้งไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีตามที่กล่าวในหนังสือของพระยาวิเชียรคิรี เห็นจะตั้งเมื่อตีเมืองปัตตานีได้ครั้งที่ ๒ นี้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามอิก พม่าเกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรีๆ เอาใจไปเผื่อแก่พม่าข้าศึกเลยยุยงพวกมลายูเมืองปัตตานีให้เปนขบถขึ้นด้วย สาเหตุเนื่องกันดังกล่าวมานี้ จึงได้โปรดให้แยกเมืองปัตตานีเดิมออกเปนแต่เมืองเล็กๆ ๗ หัวเมือง แต่วงษ์วานชื่อเสียงผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๗ ตามที่พระยาวิเชียรคิรีจดไว้ในพงษาวดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถูกต้อง ด้วยเมืองสงขลาได้กำกับว่ากล่าวมณฑลปัตตานีตลอดมา จนจัดตั้งมณฑลปัตตานีเปนมณฑลเทศาภิบาล ๑ ต่างหาก ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี มเมียอัฐศก พ.ศ.๒๔๔๙
เรื่องพงษาวดารเมืองสงขลานั้น ที่จริงพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ตั้งใจจะกล่าวถึงพงษาวดารตระกูล ณะสงขลา ยิ่งกว่าจะแต่งเปนพงษาวดารเมือง พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เคยให้ข้าพเจ้าดูหนังสือเรื่องนี้ แลได้เคยพูดกันถึงเรื่องหนังสือนี้มาตั้งแต่แรกแต่ง เนื้อความตามเรื่องราวที่เปนพงษาวดารเมืองสงขลาเอง ไม่ตรงตามที่พระยาวิเชียรคิรีกล่าวอยู่หลายแห่ง ข้อนี้จะแลเห็นได้ในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ แลหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ว่าโดยย่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกที่นับว่าเปนเมืองสำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ๓ เมืองด้วยกัน ข้างเหนือคือเมืองชุมพร เขตรจรดทั้งทเลนอกทเลใน ต่อลงไปถึงเมืองถลางตั้งอยู่ที่เกาะภูเก็จทุกวันนี้ (ซึ่งที่จริงควรจะเรียกว่าเกาะถลาง) รักษาชายพระราชอาณาจักรข้างทเลตวันตก ต่อลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชใหญ่กว่าทุกเมืองมีเมืองไชยาอยู่ข้างเหนือ เมืองพัทลุงอยู่ข้างใต้ทั้ง ๒ เมืองนี้ แม้ในทำเนียบว่าขึ้นกรุงเทพฯ ตามการที่เปนจริงอยู่ในอำนาจเจ้าพระยานครมิมากก็น้อย เมืองสงขลาบางทีจะเคยเปนเมืองมาแต่โบราณกาลแต่ไม่มีอไรเปนสำคัญนอกจากชื่อกับที่ฝังศพพระยาแขกแห่ง ๑ ซึ่งเรียกว่า “มรหุ่ม” แต่ทำเลท้องที่ดีในการค้าขายด้วยตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพัทลุง สินค้าเข้าออกทางทเลสาบไปมากับเมืองพัทลุงต้องอาไศรยเมืองสงขลาเปนที่ถ่ายลำ พวกจีนจึงมาตั้งค้าขายที่เมืองสงขลา จีนฮกเกี้ยนคน ๑ ในพวกที่มาตั้งค้าขายอยู่เมืองสงขลานั้นที่เปนต้นตระกูลวงษ์ของพวกณะสงขลา โดยสามิภักดิเข้ารับราชการเปนนายกองส่วยก่อน แล้วมีบำเหน็จความชอบ จึงได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ซึ่งกลับตั้งขึ้นใหม่ ที่เมืองสงขลาเปนเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชนั้นที่จริงเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ เปนแต่ที่ประชุมการค้าขาย แรกตั้งขึ้นเปนเมืองอย่างเล็กๆ
ประการที่ ๒ ไม่เปนที่มั่นคง ปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ ว่า แม้แต่แขกสลัดก็เคยมาตีเมืองสงขลาได้ ที่มาตั้งเปนเมืองใหญ่ขึ้นกรุงเทพฯ เปนชั้นหลังมาในปลายรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ภายหลังมาเมื่อเมืองสงขลาเจริญขึ้นประจวบเวลามีราชการเกี่ยวข้องต้องปราบปรามเมืองไทรบุรีแลเมืองปัตตานี ข้าพเจ้าเข้าใจว่าข้างในกรุงเทพฯ จะไม่อยากให้เจ้าพระยานครมีอำนาจมากเกินไป หรือจะเปนด้วยเห็นการลำบากเกินกว่าที่เจ้าพระยานครจะบังคับบัญชาได้เรียบร้อยทั่วไป จึงตั้งเมืองสงขลาให้เปนเมืองใหญ่อิกเมือง ๑ สำหรับตรวจตราดูแลเมืองมลายูข้างฝ่ายตวันออกเมืองนครศรีธรรมราชให้ตรวจตราว่ากล่าวข้างฝ่ายตะวันตก อันติดเนื่องกับเขตรแดนอังกฤษ ลักษณการอันเปนพงษาวดารเมือง ใจความเปนดังกล่าวมานี้
เรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ ซึ่งพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่งนั้น เปนเรื่องพงษาวดารในตอนกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่จะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่านให้รู้เรื่องวงษ์ตระกูลของเจ้านายในมณฑลพายัพ ซึ่งรับราชการอยู่ในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูนทุกวันนี้ ว่าเกี่ยวดองแลสืบวงษ์ตระกูลมาอย่างใด
หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องเปนหนังสือควรอ่าน ด้วยอาจจะให้ความรู้พิเศษบางอย่างอันมิได้ปรากฏในหนังสืออื่น ควรสรรเสริญพระยาวิเชียรคิรี (ชม) พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ที่ได้อุสาหะเรียบเรียงขึ้นไว้ แลควรจะอนุโมทนาการกุศลซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ ได้ให้พิมพ์หนังสือ ๓ เรื่องนี้ขึ้นให้เจริญความรู้แพร่หลาย อันนับว่าได้กระทำสารประโยชน์ให้แก่บรรดาผู้จะได้พบอ่านหนังสือเรื่องนี้ทั่วไป


ดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗


สารบาน


พงษาวดารเมืองปัตตานี น่า ๑
พงษาวดารเมืองสงขลา น่า ๓๐
พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่ น่า ๗๔



พงษาวดารเมืองปัตตานี

@ เดิมเมืองแขกเมื่อครั้งยังเปนเมืองปัตตานีเมืองเดียว เจ้าเมืองแลภรรยาชื่อมิได้ปรากฏ ได้ความว่ามีแต่บุตรชายคนหนึ่งแต่ยังเล็ก ครั้นอยู่มาเจ้าเมืองปัตตานีตายลง ภรรยาของพระยาปัตตานีก็ว่าการเปนเจ้าเมืองแทนขึ้น เวลานั้นบ้านเมืองหรือที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานีนั้น ตั้งอยู่ในตำบลบ้านมะนาติดต่อกันกับบ้านโต๊ะโสมบ้านกะเสะฝ่ายตะวันออก แต่บ้านพระยาปัตตานีเดี๋ยวนี้ ห่างกันทางประมาณสี่สิบเส้นเศษ ริมทางที่จะไปเมืองยิริง ในระหว่างภรรยาเจ้าเมืองปัตตานีว่าการเปนเจ้าเมืองอยู่นั้น สมมุติเรียกกันว่านางพระยาปัตตานี ศรีตวันกรมการพลเมืองในอาณาเขตรเมืองปัตตานีก็อยู่ในบังคับบัญชานางพระยาปัตตานี เรียบร้อยเหมือนอย่างพระยาปัตตานีสามีว่าการอยู่แต่ก่อน นางพระยาปัตตานีได้จัดแจงหล่อปืนทองเหลืองใหญ่ไว้สามกะบอก ตำบลที่หล่อปืนนั้นริมบ้านกะสะ ก่อด้วยอิฐเปนรูปโบถขึ้นหลังหนึ่งสามห้องเฉลียงรอบ แม่ปะธานกว้างประมาณหกศอก ยาวสิ้นตัวเฉลียงสี่วาเศษ เครื่องบนแลพื้นในเวลานี้ชำรุดหมด ยังเหลือแต่ฝาผนัง แลฝาผนังเฉลียงนั้นก่อเปนโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นแม่ปะธานสูงประมาณสองศอกเศษ พื้นเฉลียงสูงประมาณสองศอก ที่สุเหร่าก่อด้วยอิฐนี้มลายูในแหลมปัตตานีเรียกชื่อว่าสับเฆ็ด ห่างจากสับเฆ็ดนิ้ไปฝ่ายทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณสองเส้นเศษ เปนรอยเตาที่หล่อปืนดินที่สุกเปนรอยเค้าเตาอยู่ต้นไม้แลหญ้าไม่ได้ขึ้น กว้างประมาณแปดศอกเศษสี่เหลี่ยม พลเมืองในปัตตานีได้ทราบกันทั่วไปมาจนเดี๋ยวนี้ ว่าเปนที่หล่อปืน แลนายช่างผู้ที่หล่อปืนสามกะบอกนั้น สืบได้ความว่าเดินเปนจีนมาจากเมืองจีน เปนชาติหกเคี้ยนแส้หลิมชื่อเคี่ยม เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะ จีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าสาสนามาลายูเสียด้วย พวกมลายูสมมุติเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมตลอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แลในตำบลบ้านกะเสะซึ่งหลิมโต๊ะเคี่ยมอยู่มาก่อนนั้น พลเมืองที่อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ยังนับถือหลิมโต๊ะเคี่ยมว่าเปนต้นตระกูลของพวกหมู่บ้านนั้น แลยังกล่าวกันอยู่เนืองๆว่าเดิมเปนจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวหลิมโต๊ะเคี่ยมชื่อเก๊าเนี่ยวตามมาจากเมืองจีน มาปะหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี อยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายูกลับไปเมืองจีนหลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไป เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปี หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไปแขงอยู่ เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้อง มีความเสียใจหลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ชายผูกคอตายเสีย ครั้นเก๊าเนี่ยวน้องสาวผูกฅอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ก็จัดแจงศพเก๊าเนี่ยว น้องสาวฝังไว้ที่ในตำบลบ้านกะเสะ ทำเปนฮ่องสุยปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พวกจีนก็เลยนับถือว่าเปนผู้หญิงบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เปนคนรักชาติตระกูลอย่างหนึ่ง ได้มีการเส้นไหว้เสมอทุกปีมิได้ขาดที่ศพเก๊าเนี่ยวนี้
@ แลเวลาหลิมโต๊ะเคี่ยมจะหล่อปืนทองเหลืองใหญ่สามกะบอกนั้น ได้เทปืนสองกะบอกเสร็จแล้ว ปืนกะบอกที่สามเทไม่ลง หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็ได้ตั้งการเส้นไหว้บวงสรวงแลบนบานขึ้นหลายอย่าง ปืนกะบอกที่สามนั้นก็ยังเทไม่ลง ในตอนที่สุดหลิมโต๊ะเคี่ยมมีความแค้นใจ กล่าวคำปฏิญาณว่าขอให้เทปืนครั้งนี้ลงดีแล้วหลิมโต๊ะเคี่ยมยอมเอาชีวิตรหลิมโต๊ะเคี่ยมเส้นถวาย ครั้นกล่าวคำปฏิญาณเช่นนี้แล้ว พเอิญเทปืนลงได้เต็มบริบูรณดี ฝ่ายหลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็จัดแจงแต่งปืนสามกะบอกเกลิ้ยงเกลาเสร็จแล้ว เวลาจะลองยิงปืนสามกะบอกนั้นจัดแจงตั้งเครื่องบวงสรวงเส้นไหว้แล้วประจุปืนเข้าทั้งสามกะบอก ก็จุดปืนกะบอกที่หนึ่งที่สองเปนลำดับไป ครั้นถึงจะจุดกะบอกปืนที่สาม หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็เข้าไปยืนตรงปากกระบอกปืน แล้วกล่าวคำว่าที่หลิมโต๊ะเคี่ยมได้ปฏิญาณไว้ถ้าปืนกระบอกนี้เทลงดีแล้วจะเอาชีวิตร เปนเครื่องเส้นไหว้ปืน ครั้งนี้หลิมโต๊ะเคี่ยมได้ปลงใจยอมดังที่ปฏิญาณไว้แต่ก่อนแล้วก็บอกให้คนจุดปืน พอปืนลั่นออกแรงดินหอบพาหลิมโต๊ะเคี่ยมสูญหายไปในเวลานั้น แลปืนที่นางพระยาปัตตานีให้หลิมโต๊ะเคี่ยมเปนนายช่างหล่อขึ้นสามกะบอกนั้น กะบอกที่หนึ่งให้ชื่อว่านาง(บานัง ?)ปัตตานี กะบอกที่สองชื่อศรีนัครี กะบอกที่สามชื่อมหาหล่าหลอ อยู่ต่อมานางพระยาปัตตานีตาย สุลต่านในวงษ์ญาติเปนเจ้าเมืองปัตตานีขึ้น.
@ เวลาที่สุลต่านเปนเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นนั้น หาได้อยู่ว่าการที่ตำบลบ้านมะนาที่นางพระยาปัตตานีว่าการอยู่เดิมไม่ สุลต่านเลื่อนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ตำบลบ้านยิริง ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านนางพระยาปัตตานี ระยะทางเดินเท้าตั้งแต่บ้านมะนาที่นางปัตตานีว่าการอยู่ไปถึงบ้านยิริงเจ็ดชั่วโมงครึ่ง แลบ้านที่สุลต่านไปตั้งว่าการอยู่นั้นตรงกับท่าบ้านยิริงริมคลองเวลานั้นเปลี่ยนชื่อเปนระตู พลเมืองเรียกกันว่าระตูปะก่าลัน แปลเปนภาษาสยามเรียกว่าระตูน่าท่า แลระตูปะก่าลันคนนี้ คำเล่าฦๅกันว่าเปนคนมีสติปัญญาแลอำนาจมาก เมืองที่ใกล้เคียงก็คร้ามกลัวอยู่
@ ขณะนั้น ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกกองทัพออกไปปราบปรามศึกพม่าถึงหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ครั้นกองทัพออกไปถึงเมืองสงขลา มีข่าวเข้ามาว่าเมืองปัตตานีก่อการกำเริบขึ้นมาก โปรดเกล้าฯจัดให้พระยากระลาโหม พระยาเสน่หาภูธร(ทองอิน) พระยาพัทลุง(ทองขาว) หลวงสุวรรณคิรี(บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) เปนทัพน่ายกออกไปตีเมืองปัตตานี ได้สู้รบกันกับระตูปะก่าลันที่ตำบลบ้านยิริง ระตูปะก่าลันสู้รบทนกองทัพมิได้ก็อพยพแตกหนีขึ้นไปทางเมืองรามันห์ พระยากระลาโหมแม่ทัพเห็นว่าปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) เปนผู้รู้จักทางก็แต่งกองรวมคนพัทลุงสงขลาให้ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) เปนหัวน่าตีตามระตูปะก่าลันไป ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย)ตามระตูปะก่าลันไปทันที่ปลายน้ำเมืองรามันห์ริมแดนเมืองแประได้สู้รบกันในตำบลนั้น ระตูปะก่าลันถูกกระสุนปืนตาย ในระหว่างนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกทัพเรือไปตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเมืองปัตตานี ครั้นพระยากระลาโหมกองทัพน่าตีระตูปะก่าลันแตก แลได้ศีศะระตูปะก่าลันมาแล้ว พระยากะลาโหม พระยาเสน่หาภูธร(ทองอิน) พระยาพัทลุง (ทองขาว) หลวงสุวรรณคิรี(บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) พร้อมกันลงไปเฝ้าในเรือพระที่นั่งน่าเมืองปัตตานีทูลแจ้งราชการ รับสั่งให้นำปืนใหญ่สองกะบอกที่เก็บได้ลงมาเรือจะเอาเข้ามากรุงเทพฯ ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย)ได้จัดแจงเรือบรรทุกปืนนำลงไปถวาย ปืนกะบอกที่หนึ่งชื่อนางปัตตานีนั้นออกไปถึงเรือหลวงก่อน ได้ยกปืนขึ้นบนเรือหลวงเสร็จแล้ว เรือที่บรรทุกปืนกะบอกที่สองซึ่งชื่อศรีนัครีตกอยู่ข้างหลัง เกิดพยุเรือที่บรรทุกปืนกะบอกที่สองชื่อศรีนัครีล่มลง ปืนก็จมน้ำสูญหายไปด้วย กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) เปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ยกคนไทยเลขส่วยดีบุกเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองจะนะ ซึ่งเปนญาติพี่น้องหรือพรรคพวกปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) ให้อยู่เปนกำลังรักษาราชการเมืองปัตตานีห้าร้อยครัวเศษ ครั้นทรงจัดการเมืองปัตตานีเสร็จแล้วเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลวงสุวรรณคิรี(บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาก็ตามเสด็จเข้ามากรุงเทพฯด้วย โปรดเกล้าฯให้หลวงสุวรรณคิรี(บุ่นฮุ้ย)เปนพระยาสงขลา โปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา(บุ่นฮุ้ย) เชิญออกไปพระราชทานให้ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) เปนพระยาปัตตานี แลโปรดเกล้าฯให้เมืองสงขลาเปนเมืองตรีขึ้นกับกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองปัตตานี อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลา
ปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย) ครั้นได้รับพระราชทานตราตั้งเปนพระยาปัตตานีแล้ว ได้ตั้งบ้านเรือนว่าราชการอยู่ในตำบลบ้านมะนา ในปากอ่าวลำน้ำเมืองปัตตานีฝ่ายทิศตะวันออก ในที่ตำบลนั้นสมัยนี้พลเมืองเมืองปัตตานีเรียกกันว่า อ่าวนาเกลือ ในระหว่างพระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย)ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองก็เปนการปรกติเรียบร้อย ครั้นพระยาสงขลา(บุ่นฮุ้ย) ถึงแก่อนิจกรรมลง โปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงนายฤทธิ์(เถี้ยนจ๋อง) หลานซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯเปนพระยาสงขลา ในระหว่างพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่นั้น พระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯตั้งให้นายพ่าย น้องร่วมบิดามารดาแต่พระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย) เปนพระยาปัตตานี ตั้งให้นายยิ้มซ้ายบุตรพระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย) เปนหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี ครั้นพระยาปัตตานี(พ่าย) ได้ว่าราชการเมืองปัตตานีขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย)ไม่ เลื่อนไปตั้งว่าราชการอยู่ที่บ้านย้ามู ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านพระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย) ห่างออกไปทางเดินเท้าประมาณสามชั่วโมงเศษ ในระหว่างพระยาปัตตานี(พ่าย) ไปว่าราชการอยู่ที่บ้านย้ามูนั้น พวกสาเหยดหนึ่ง พวกรัตนาวงหนึ่ง เปนคนชาติมลายูคบคิดกันเปนโจรเข้าตีปล้นบ้านพระยาปัตตานี(พ่าย)บ้าง บ้านหลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการบ้าง พระยาปัตตานี(พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ได้สู้รบพวกสาเหยด พวกรัตนาวง พวกสาเหยดพวกรัตนาวงสู้พระยาปัตตานี(พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) มิได้แตกหนีขึ้นไปซ่อนอยู่ทีตำบลบ้านกะลาภอ ที่เปนหัวน่าหรือตัวนายก็เข้าไปเมืองสงขลาลุกะโทษต่อพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) ก็ยกโทษให้พวกสาเหยดพวกรัตนาวงเปนภาคทัณฑ์ไว้ แลจัดแยกให้พวกสาเหยดพวกรัตนาวงเปนกองส่งชันส่งหวายขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา คนประมาณสี่ร้อยครัวเศษ แลให้อยู่ที่ตำบลบ้านกะลาภอเปนแขวงหนึ่ง ตัวนายหรือหัวน่านั้นตั้งให้เปนแม่กองคุมเลขในกองพวกนี้ ด้วยเห็นว่าถ้าจะบังคับให้พวกสาเหยด พวกรัตนาวงไปอยู่ในบังคับพระยาปัตตานี(พ่าย) อิกกลัวจะไม่สิ้นความพยาบาท จะเกิดวิวาทรบกวนไม่รู้แล้ว จึ่งได้จัดพวกนี้ให้แยกขึ้นเสียกับเมืองสงขลากองหนึ่ง พวกสาเหยดพวกรัตนาวงซึ่งแยกเปนกองส่งหวายส่งชันขึ้นกับเมืองสงขลาแล้ว ก็เรี่ยรายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบ้านหนองจิกบ้างยิริงบ้าง เหตุด้วยในแขวงตำบลที่กะลาภอไม่มีที่จะทำนา หัวน่าที่เปนแม่กองคุมอยู่นั้น ครั้นถึงกำหนดจะส่งหวายส่งชันกับเมืองสงขลาแล้วก็เที่ยวเรียกไปตามบาญชี เรียกชันเรียกหวายส่งกับเมืองสงขลาตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างพระยาปัตตานี(พ่าย) ว่าราชการเมืองอยู่ ในอาณาเขตรเมืองปัตตานีเกิดโจรผู้ร้ายเที่ยวตีปล้นบ้านเรือนชุกชุม พระยาปัตตานี(พ่าย) ปราบปรามไม่สงบลงได้ ก็บอกหนังสือแจ้งราชการเข้ามาเมืองสงขลา พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) ก็นำหนังสือบอกเข้ามากรุงเทพฯ



Create Date : 30 กันยายน 2550
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 11:14:22 น. 1 comments
Counter : 646 Pageviews.  

 


โดย: kampanon วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:20:13:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]