คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา

กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา
สุภาคย์ อินทองคง
สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
จาก หนังสือ อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ
จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุชาติ รัตนปราการ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๘



คำว่า กระเบื้อง หรือ เบื้อง ภาษาถิ่นสงขลา หมายถึงเฉพาะกระเบื้องสำหรับมุงหลังคา ส่วนกระเบื้องสำหรับปูพื้นและดินเผาที่ทำเป็นแท่งสำหรับก่อ ชาวสงขลาเรียกว่า อิฐ ทั้งสิ้น แต่คำว่ากระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาในที่นี้ หมายเอาตามชื่อที่ปรากฏในเอกสารสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคลุมถึงกระเบื้องสำหรับมุงหลังคาและกระเบื้องสำหรับปูพื้น ซึ่งภาษากลางเรียกว่า กระเบื้องหน้าวัว (ชาวสงขลาเรียก อิฐหน้าวัว ) ด้วย
กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา เป็นหัตถกรรมพื้นเมืองสงขลามาช้านาน มีความหลากหลายในรูปแบบ มีการประกอบการกันเป็นกลุ่มใหญ่ในอดีต เป็นกระเบื้องที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากผู้ใช้อย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน มีรูปแบบและคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของภาคใต้ มีความทนทานใช้งานได้หลายสิบปี และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง จึงถือได้ว่าเป็นหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสงขลา
ความเป็นมา
จุดเริ่มต้นของการทำกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาจะเริ่มต้นเมื่อใดและใครเป็นผู้ริเริ่มนั้น ยังไม่อาจสืบค้นได้อย่างชัดเจน จากปากคำของผู้เคยประกอบการและผู้ประกอบการที่ยังคงมีชีวิตอยู่เล่าว่า ชาวจีนอพยพเป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาคนไทยรับช่วงต่อและได้ขยายขอบข่ายการประกอบการออกไปอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ กรุงเทพฯ และประเทศมาเลเซีย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอจะสืบค้นได้ แสดงไว้ว่า มีความเจริญแพร่หลายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏในใบบอกเมืองสงขลา และเอกสารอื่นๆว่า กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลามีการนำไปใช้ในกิจการที่สำคัญ ดังนี้
๑. ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๓๙๗ โปรดให้เกณฑ์เมืองสงขลาทำกระเบื้องหน้าวัวปูพื้น ๕๐,๐๐๐ แผ่น ใช้ปูบริเวณรอบอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดเขมาภิรตาราม
๒. ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๔๐๖ มีรายการส่งกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรก เกณฑ์เมืองสงขลาทำกระเบื้องปูพื้นขนาดใหญ่ ๒,๐๐๐ แผ่น และขนาดเล็กอีก ๒,๐๐๐ แผ่น ครั้งที่ ๒ เกณฑ์เมืองสงขลาทำกระเบื้องหน้าวัวปูพื้น ๔ ชนิดๆ ละ ๒,๐๐๐ แผ่น รวม ๘,๐๐๐ แผ่น นำไปปูพระราชวังจันทรเกษมที่อยุธยา ครั้งที่ ๓ เจ้าพระยาสงขลา (บุญสังข์) มีใบบอกส่งกระเบื้องมุงหลังคาตัวผู้ตัวเมียอย่างละ ๑๐,๐๐๐ แผ่น รวม ๒๐,๐๐๐ แผ่น
๓. ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๔๑๙ เมืองสงขลามีใบบอกส่งกระเบื้องเกณฑ์ ๕ ครั้ง จำนวนกระเบื้องทั้งหมด ๖๘,๐๐๐ แผ่น
๔. ในการซ่อมแซมพระบรมธาตุไชยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๔๕๓ มีการนำเอากระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาไปใช้มุงหลังคาพระวิหารหลวง
๕. ในวังเจ้านายและขุนนางในกรุงเทพฯหลายแห่งใช้กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาปูบริเวณรอบๆวัง
ชนิดและราคากระเบื้อง ปรากฏเป็นหลักฐานในใบบอกเมืองสงขลา ปี พ.ศ.๒๔๒๔ เรื่องจัดส่งของต่างๆ เข้าไปจัด
นิทรรศการ เนื่องในวาระครบรอบร้อยปีของกรุงเทพมหานครในเมืองหลวง ข้อความตอนหนึ่งว่า
“อิฐก่อ ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๔ เหรียญ ๕ ก้อน
อิฐบอ ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๕ เหรียญ ๕ ก้อน
อิฐหน้าวัว ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๓๕ เหรียญ
อิฐลักซุ้น ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๑๐ เหรียญ
อิฐฮั้นจี ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๒๐ เหรียญ
กระเบื้องอิว ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๓ เหรียญ ๕ ก้อน
กระเบื้องสูห้อง ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๔ เหรียญ ๕ ก้อน
กระเบื้องเงี้ยฟั่ง ๒๐ แผ่น ราคาพันละ ๕ เหรียญ”



Create Date : 20 พฤษภาคม 2551
Last Update : 19 พฤษภาคม 2557 14:48:16 น. 3 comments
Counter : 1379 Pageviews.  

 
แหล่งผลิต
แหล่งผลิตกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลสาบทางทิศตะวันตกของเมือง ตั้งแต่บริเวณท่าอิฐ ท่าสะอ้าน ขึ้นไปจนถึงบริเวณบ้านท่านางหอม ตำบลน้ำน้อย บริเวณวัดโคกเปี้ยว หมู่ที่ ๖ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง และบ้านบางโหนด หมู่ที่ ๑ – ๒ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จากรายงานการสำรวจของสุภาคย์ อินทองคง ปี พ.ศ.๒๕๒๗ พบว่า มีเตาเผากระเบื้องทั่วบริเวณดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เตา มีเตาที่ยังอยู่มนสภาพที่ซ่อมแซมใช้งานได้ประมาณ ๕๐ เตา นอกนั้นชำรุดเหลือแต่ซากเตาและร่องรอยเตา มีผู้ประกอบการอยู่ ๓ ครอบครัว อยู่ในเขตบ้านท่านางหอม ๒ ครอบครัว และบ้านบางโหนด ๑ ครอบครัว หมู่บ้านที่เคยมีผู้ประกอบการทั้งหมู่บ้าน เช่นบ้านบางโหนด ประชากรในหมู่บ้านอายุตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไป ยังมีความรู้ความสามารถในการประกอบการ
กรรมวิธี
การผลิตกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา ประกอบด้วยวัตถุดิบและอุปกรณ์เครื่องมือเป็นสำคัญ แยกกล่าวได้ ดังนี้
๑. วัตถุดิบ คือ ดินเหนียว ซึ่งจะอยู่ไม่ห่างไกลจากบริเวณที่ตั้งเตาเผา กล่าวคือ หากมีแหล่งดินเหนียวอยู่ในบริเวณใด ผู้ผลิตมักไปตั้งเตาเผาอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่บริเวณที่ลุ่มชายฝั่งทะเลที่ไม่อาจใช้พื้นที่ประกอบการอาชีพอื่นได้ ซึ่งมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ เป็นแหล่งดินดีมีความเหนียวพอเหมาะกับหัตถกรรมประเภทนี้ ไม่ค่อยมีทรายหรือวัตถุเจือปน และให้ความทนทานถาวรสูง
๒. อุปกรณ์เครื่องมือ แยกได้เป็น ๒ ประเภท คืออุปกรณ์เครื่องมือการเตรียมดิน ประกอบด้วยจอบ เสียม คันธนู หรือเครื่องตัดดิน ถังน้ำ เครื่องคลุมดิน และอุปกรณ์เครื่องมือทำแผ่นกระเบื้อง ประกอบด้วยแม่พิมพ์ เบ้า คันธนู ไม้ตี แท่นรองตี ม้ารองกระเบื้อง ตะแกรงร่อน ขี้เถ้าแกลบ และกะเปาะสำหรับกั้นขี้เถ้า
๓. ขั้นตอนในการทำ มีลำดับกำหนดได้ ดังนี้
๓.๑ การเตรียมดิน เมื่อแน่ใจว่าดินบริเวณใดมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการทำกระเบื้องแล้ว ผู้ประกอบการก็จะใช้จอบขุดบริเวณนั้นลึกประมาณ ๒ ตาจอบ แล้วใช้เสียมแทงตักขึ้นจากหลุมทีละแท่ง หรือไม่ก็ใช้เครื่องตัดที่เรียกว่า คันนู หรือ คันธนู ตัดดินในหลุมให้เป็นแท่งใหญ่นำขึ้นกองไว้ที่ปากหลุม เมื่อได้จำนวนดินตามต้องการแล้ว ขึ้นเหยียบบนกองดินนวดให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นนำไปเก็บไว้ที่โรงเรือนทำกระเบื้อง ซึ่งปกติจะปลูกสร้างไว้หน้าเตาเผา เพื่อเตรียมไว้ทำแผ่นต่อไป ก่อนทำจะแยกดินที่ต้องใช้มานวดอีก ๒ รอบ เพื่อคัดสิ่งเจือปนออกและเพื่อให้เนื้อดินเข้ากันสนิท
๓.๒ การทำแผ่น ใช้วิธีกดดินเหนียวที่นวดดีแล้วลงบนแม่พิมพ์ โดยใช้ขี้เถ้าแกลบโรยบนแม่พิมพ์กันดินติดพิมพ์ก่อน แล้วใช้เท้าเหยียบตรงกึ่งกลาง-ซ้าย-ขวา และหัวแม่พิมพ์ตามลำดับ แล้วกลับมาเหยียบตรงกึ่งกลางอีกครั้งรวม ๕ ครั้ง โดยเหยียบให้ลื่นไหลไปตามความลาดของแม่พิมพ์ จากนั้นใช้สายธนูตัดดินส่วนเกินออกจากแม่พิมพ์ โดยตัดจากส่วนหัวไปยังส่วนท้าย หรือไม่ก็ตัดเข้าหาตัวผู้เหยียบ ยกแม่พิมพ์ขึ้นกระแทกเบาๆ ให้ดินส่วนเกินเขยื้อนจากแม่พิมพ์ เอามือแตะตรงส่วนปลายของกระเบื้องแล้วยกแม่พิมพ์ขึ้นเล็กน้อย กระเบื้องก็จะติดมือออกมา ใช้มือทั้งสองประคองวางลงบนม้าวางหรือกระดานรองที่เตรียมไว้ มำเช่นนี้ไปเรื่อยจนได้กระเบื้องตามปริมาณที่ต้องการ
๓.๓ การพับหัวกระเบื้อง เมื่อได้แผ่นกระเบื้องตามต้องการแล้ว นำกระเบื้องไปผึ่งแดดให้แห้งหมาด ๑ วัน แล้วทำการพับหัวกระเบื้องให้ตั้งฉากกับแผ่นกระเบื้องสำหรับเกี่ยวกับไม้ระแนงเมื่อใช้กระเบื้องมุงหลังคา วิธีการพับหัว ใช้ไม้บางๆขนาดกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร หรือเท่าความยาวของหัวกระเบื้องที่ต้องการยาวขนาดความกว้างของกระเบื้องเป็นเครื่องมือ จับทาบลงบนส่วนหัวของกระเบื้องแล้วพับเข้าหาตัว
๓.๔ การตีกระเบื้อง เมื่อพับหัวเรียบร้อยแล้ว นำกระเบื้องมาวางซ้อนเป็นชุดๆละ ๕ แผ่น โดยให้หัวท้ายหันไปทางเดียวกัน เรียกชุดกระเบื้องดังกล่าวว่า ๑ มือ ซึ่งให้ความสะดวกในการขนย้าย นำมาคว่ำลงบนแท่นรองตี โดยให้หัวกระเบื้องประกบกับหัวแท่น ใช้ไม้ตี ตีเบาๆ ๒-๓ ครั้ง แล้วพลิกกลับ ตีตามแนวตั้ง จนได้กระเบื้องเรียบประกบกันดี จึงนำเข้าที่เก็บวางสลับซ้อนกันเป็นชุดๆ ตามแนวตั้งเพื่อเก็บไว้เผาต่อไป
๓.๕ การเรียงกระเบื้องในเตาเผา นิยมเรียง ๒ แบบ คือ แบบหน้าประกบหลัง หรือหัวเกี่ยวหัว และแบบหน้าประกบหน้า หรือหัวเกี่ยวหาง ซึ่งแต่ละแบบมีกรรมวิธีเป็นของตนเอง เรียงตั้งทรงต่อกันเป็นชั้นๆ จนได้กระเบื้องเต็มตัวเตา เหลือเฉพาะช่วงโดม ก็จะใช้วิธีเรียงอีกแบบหนึ่ง คือวางราบซ้อนสลับหัวหางกันเป็นชั้นๆ จนเต็มยอดโดม
กรรมวิธีทำกระเบื้องดังกล่าว เป็นกรรมวิธีที่ใช้กับการทำกระเบื้องมุงหลังคา ส่วนการทำกระเบื้องชนิดอื่นๆ ที่ชาวสงขลาเรียกว่า อิฐ เช่น อิฐหน้าวัว เป็นต้นนั้น ขั้นตอนและวิธีการส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน ต่างกันเฉพาะขั้นตอนการทำแผ่นและอุปกรณ์เครื่องมือ คือใช้วิธีนำดินเหนียวมาอัดลงในเบ้าที่มีแบบและขนาดต่างๆตามต้องการ ตกแต่งผิวให้ลื่นแล้วนำไปเคาะออกจากเบ้าวางเรียงบนแผ่นกระดานเพื่อผึ่งแดด แล้วนำมาเก็บไว้เตรียมเข้าเตาเผาต่อไป
๓.๖ การเผา เริ่มด้วยการนำอิฐมาก่อเป็นที่บรรจุเชื้อเพลิงบริเวณหน้าเชิงกรานตรงกึ่งกลางประตูเตา ขนาดประมาณ ๓๐x๕๐x๓๐ เซนติเมตร แล้วก่ออิฐปิดปากเตา เหลือช่องไว้เฉพาะพอใส่เชื้อเพลิง ๒ ช่อง คือ บน-ล่าง แล้วก่อไฟเผาจากช่องบนก่อนแล้วต่อด้วยช่องล่าง ช่องละประมาณ ๑๐-๑๕ วัน แล้วแต่ขนาดของเตา เชื้อเพลิงนิยมใช้ไม้สะเม็ด ไม้ยาง ไม้วา และไม้เบญจพรรณอื่นๆ ที่หาได้บริเวณใกล้เคียง กำหนดความร้อนในเตาเผาด้วยท่อนฟืน และกำหนดความพอดีของผลิตภัณฑ์ด้วยการสังเกตสีของควันไฟ ปล่องไฟ และแสงสว่างภายในเตา คือถ้ากระเบื้องสุกดีสีควันจะแดง ปากปล่องจะเหลือง และแสงภายในเตาจะสว่างจ้า เมื่อเผาเสร็จแต่ละช่องใช้โคลนทรายจากทะเลก่ออิฐปิดทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ วัน จึงเปิดเตานำกระเบื้องออกเก็บเตรียมไว้จัดจำหน่ายต่อไป


โดย: CVTบ้านโป่ง วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:09:03 น.  

 
เตาเผา
เป็นเตายืนทรงกลมคล้ายกระบอก มีหลังคาครอบเป็นกระโจมคล้ายฝาชี มีเตานอนบ้าง แต่ถูกรื้อถอนหมดแล้วเหลือแต่ร่องรอย ขนาดของเตายืน เล็ก-ใหญ่ แล้วแต่กำลังความต้องการของผู้ประกอบการ ขนาดที่พบมาก คือความสูงตัวเตา ๒.๔๐ เมตร กระโจมหลังคา ๑.๘๐ เมตร กว้าง ๓.๙๐ เมตร ส่วนสำคัญของเตามีประตู ๑ ประตู สำหรับนำผลิตภัณฑ์เข้าออก ทางระบายความร้อนเรียก “ปังเหย” ๓ ทางอยู่ตรงกันข้ามกับปากเตา ระดับเดียวกับพื้นวางตะแกรงภายในเตา มีช่องลม ๑ ช่อง อยู่เหนือประตูเพื่อรับแสงและอากาศเมื่อเข้าอยู่ภายใน ภายในเตาประกอบด้วยเชิงกรานสำหรับสุมไฟ และแท่นหรือตะแกรงรองรับกระเบื้อง ซึ่งก่อเป็นแนวยาวขนานกับปากเตา เว้นระยะห่างกันประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร เป็นทางเดินของความร้อนจากเชิงกรานผ่านไปออกท่อระบาย ตัวตะแกรงใช้อิฐขนาดเดียวกับเสาตะแกรงเรียงสลับคล้ายฟันปลา
การสร้างเตา ใช้อิฐดินเผาขนาด ๗x๒๘-๓๐x๓ เซนติเมตร สอด้วยดินโคลนทรายละเอียดซึ่งได้จากทะเล วิธีสร้างเริ่มด้วยการหาศูนย์ทำเป็นวงกลม ขุดร่องวางฐานลึกประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับความแข็งของดินบริเวณพื้นที่สร้างเตา แล้วใช้อิฐก่อสอด้วยดินโคลนทราย ก่อสลับทับกันแบบกว้างต่อยาว ยาวต่อกว้างจนได้เป็นรูปเตา แล้วก่อกระโจมหลังคา โดยใช้อิฐขนาดเดียวกัน แต่ด้านกว้างข้างหนึ่งแคบกว่า เรียงเหลื่อมกันทีละชั้นวนรอบจนได้รูปเป็นกระโจม ฉาบด้วยดินโคลนทราย แล้วใช้กระเบื้องมุงทับ ใช้อ่าง หม้อ และขวด อย่างละหนึ่งใบครอบปิดช่องตรงกึ่งกลางทำเป็นยอดกระโจมกันน้ำฝนเข้าเตาและเพื่อความสวยงามด้วย
ประตูเตาทำเป็นซุ้มยื่นออกจากตัวเตาประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีแบบและขนาดต่างๆกัน คือทำเป็นรูปโค้ง รูปแหลม และรูปป้าน ขนาดช่องประตูโดยทั่วไปประมาณกว้าง ๗๒ เซนติเมตร สูง ๑๖๐ เซนติเมตร สองข้างซ้ายขวาของซุ้มก่อเป็นปีกยื่นออกไปทั้งสองด้าน ประมาณด้านละ ๑๐-๑๐๐ เซนติเมตร ผนังเตาที่ก่อเรียบร้อยแล้วจะหนาประมาณ ๘๕ เซนติเมตร เตาทุกตัวจะหันหน้าเตาไปทางทิศตะวันตก เพื่อรับลมช่วยเป่าไฟในเตา ในฤดูกาลที่ประกอบการ คือประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม
ความสามารถในการใช้งาน เตาขนาดธรรมดาสามารถใช้บรรจุกระเบื้องมุงหลังคาเผาได้ประมาณครั้งละ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ แผ่น (ตามขนาดกระเบื้องที่ผลิตในปัจจุบัน : ๒๕๒๗) อายุการใช้งาน ถ้ารู้จักถนอมและซ่อมบำรุงจะใช้ได้มากกว่า ๑๐ ปี
ประเภทของกระเบื้องและประโยชน์ใช้สอย
กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา แยกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ กระเบื้องมุงหลังคา และกระเบื้องปูพื้น ประเภทแรกเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานทำเป็น ๒ แบบ คือ กระเบื้องแบบเกล็ดเต่า ทำรูปปลายตัดเป็นมุมแหลม หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ตรงหัวกระเบื้องงอปลายตั้งฉากกับแผ่นกระเบื้องใช้สำหรับเกี่ยวกับไม้ระแนงเมื่อใช้มุง หัวกระเบื้องที่งอเป็นขอเกี่ยวยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร บางแผ่นทำเป็นกระเบื้องผ่าซีกสำหรับมุงส่วนริมของหลังคาสลับกับชุดบนและล่าง ซึ่งเหลื่อมออกมาครึ่งแผ่นให้ได้แนวเดียวกัน กระเบื้องที่ใช้มุงแถวล่างสุด เรียกว่า กระเบื้องชาย ทำแบบปลายตัดเสมอกัน ส่วนกระเบื้องที่ใช้มุงครอบอกไก่ เรียก กระเบื้องหลบ แบบปลายตัดเช่นเดียวกัน แต่ทำแผ่นหนากว่า และขอเกี่ยวยาวกว่ากระเบื้องที่ใช้มุง กระเบื้องมุงหลังคาอีกแบบหนึ่งเป็นกระเบื้องแบบจีน ทำเป็นกระเบื้องแผ่นโค้งคล้ายกาบของต้นกล้วย จึงเรียกว่า กระเบื้องกาบกล้วย ทำเป็นตัวผู้และตัวเมียคู่กัน ใช้มุงหลังคาแบบจีน เช่นบ้านแถบถนนนครในในเมืองสงขลา เป็นต้น ประเภทที่สอง กระเบื้องสำหรับปูพื้น หรือที่เรียกว่า กระเบื้องหน้าวัว ทำเป็นแผ่นหนาประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร มีหลายขนาดหลายรูปแบบ เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็มี สี่เหลี่ยมผืนผ้าก็มี เป็นรูปวงกลมหรือครึ่งวงกลมก็มี ที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีขนาดตั้งแต่ ๑๕, ๒๐, ๒๕, ๓๐ และ ๓๕ เซนติเมตร ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและวงกลมหรือครึ่งวงกลมนิยมก่อซ้อนสลับกันเป็นเสาเรือนก็มี เป็นผนังอาคารบ้านเรือนก็มี กระเบื้องบางชนิดใช้น้ำยาเคลือบผิวเหมาะสำหรับปูพื้นภายในบ้าน (สันนิษฐานว่า เป็นกระเบื้องที่นำเข้ามาจากเมืองจีน) ที่เรียกว่า อิฐ สำหรับก่อทำเป็นแผ่นหนาตั้งแต่ ๓-๗ เซนติเมตร มีหลายแบบหลายขนาด เป็นรูปคล้ายใบพัดก็มี เรียก อิฐก่อบ่อ ใช้สำหรับก่อปล่องบ่อให้ได้รูปเป็นวงกลม เป็นรูปแปดเหลี่ยมด้านเท่าและด้านไม่เท่า ผ่าซีกและไม่ผ่าซีก มีรูกึ่งกลางและไม่มี ใช้สำหรับก่อทำเป็นเสาและตีนเสา เป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าก็มี เรียก อิฐหยาบ อิฐก่อเตา และอิฐก่อผนัง และเป็นรูปคล้ายเคียวก็มี ใช้สำหรับทำเป็นรางน้ำและท่อน้ำ
อนึ่ง การใช้กระเบื้องมุงหลังคา มีวิธีการมุง ๒ แบบ คือ มุงโดยใช้ไม้ระแนงถี่ ๓ ตัวต่อ ๑ แผ่นกระเบื้อง แล้วใช้กระเบื้องเกี่ยวเรียงต่อๆกันไปตามความยาวของไม้ระแนง ให้แถวบนปิดรอยต่อแถวล่างเพียงครึ่งเดียว เรียกว่า มุงชั้นเดียว และมุงโดยใช้ไม้ระแนงห่าง ๒ ตัวต่อ ๑ แผ่นกระเบื้อง แถวบนปิดรอยต่อแถวล่างเต็มแผ่น เรียกว่า มุงสองชั้น
การทำกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาเสื่อมโทรมลง เพราะผลิตภัณฑ์การก่อสร้างอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ ประกอบกับกระเบื้องเมืองสงขลาไม่สะดวกต่อการใช้ ไม้สำหรับทำระแนงราคาสูง และต้องใช้เวลาในการผลิตนานกว่า เป็นเหตุให้ต้นทุนสูง แต่ความนิยมลดลง จนปัจจุบันการผลิตกระเบื้องแบบนี้มีเหลือน้อย ขาดการถ่ายทอดสืบต่อโดยสิ้นเชิง คงเหลือแต่ตัวกระเบื้องที่ประกอบอยู่ตามอาคารบ้านเรือนรุ่นเก่าๆ และกำลังจะถูกรื้อถอนไปเรื่อยๆ สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้อนุรักษ์กระเบื้องแบบนี้ไว้ โดยการนำไปมุงหลังคาบ้านทรงไทย (บ้านวิภาวดีรังสิต) และก่อสร้างบ้านทรงจีน (บ้านรัตนเลิศ) เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นประโยชน์สำหรับศึกษาเรื่องนี้ได้ส่วนหนึ่ง
กระเบื้องดินเผา นอกจากจะให้ประโยชน์โดยตรง คือ ใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้างแบบต่างๆ สร้างอาคารสถานที่สำหรับพักอาศัยและใช้สอยอื่นๆแล้ว ยังให้ประโยชน์ทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย เช่น ทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเป็นตัวเงินตัวทองช่วยประคองฐานะทางเศรษฐกิจให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ช่วยให้คนเกือบทุกเพศทุกวัยในหมู่บ้านมีงานทำ ไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานภายนอก ขจัดการว่างงานตามกาลเวลา คือหลังเก็บเกี่ยวแล้วก็หันมาทำกระเบื้องขาย ช่วยป้องกันการลักเล็กขโมยน้อยได้ และช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวของผู้ประกอบการเกิดความกระชับแน่น เพราะมีโอกาสได้ร่วมงานกันใกล้ชิดโดยตลอด จึงกล่าวได้ว่า การประกอบการเช่นนี้มีส่วนเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนและสังคมได้ประการหนึ่ง


โดย: CVTบ้านโป่ง วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:11:01 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ขายอน (ขาJohn ) วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:53:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]