คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

พงศาวดารเมืองปัตตานี ๒

@ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) ออกไปแยกเมืองปัตตานีเปนเจ็ดเมือง พระยาอภัยสงคราม พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง)ครั้นออกไปถึงเมืองปัตตานีแล้วก็แยกออกเปน เมืองปัตตานีหนึ่ง เปนเมืองยิริงหนึ่ง เปนเมืองสายบุรีหนึ่ง เปนเมืองหนองจิกหนึ่ง เปนเมืองรามันห์หนึ่ง เปนเมืองระแงะหนึ่ง เปนเมืองยะลาหนึ่ง
@ เขตรแดนเมืองปัตตานีรอบตัวนั้น ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายใต้ต่อพรมแดนเมืองรามันห์เมืองยะลา มีหลักเรียงรายไปจนถึงหลักห้า ฝ่ายตะวันตกต่อพรมแดนเมืองหนองจิก เอาปากคลองบางหมอเปนแดนขึ้นไปคลองบ้านดอนรัก จดต้นตะเคียนใหญ่บ้านคลองขุด ปลายคลองขุดเปนคลองเล็กขึ้นไปถึงบ้านกะหรั่งตลอดไปคลองใหญ่ที่เรียกว่า คลองวัว คลองวัวแลพ้นคลองวัวไปทิศใต้เรียกว่าอะเนาะบุโหละ ในระหว่างคลองวัวกับอะเนาะบุโหละคนละฟากคลอง ฟากตะวันออกเปนเมืองปัตตานี ฟากตวันตกเปนเขตรเมืองหนองจิก ทิศตะวันออกต่อพรมแดนเมืองยิริง ตั้งแต่อ่าวโตนดริมทเลลงไปทิศใต้ ปักหลักเรียงขึ้นไปจนถึงต้นพิกุลใหญ่ริมบ้านโต๊ะโสมริมบ้านกะดี ปักหลักเรียงลงไปถึงต้นยางขาคีมหว่างบ้านสิโต๊ะบ้านอะโห บ้านอะโหเปนเขตรเมืองปัตตานี บ้านสิโต๊ะเปนเขตรเมืองยิริง สิ้นเขตรเมืองปัตตานี
@ เขตรแดนเมืองยิริงรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายตวันออกต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ปักหลักแลปลายคลองตายบ่อหม่าหังพรุกะจูดเขาน้อยเขาโต๊ะชูดคลองน้ำโพรงจระเข้เขาทองเปนแดน ฝ่ายใต้ปักหลักที่นาดำต่อพรมแดนเมืองรามันห์ ตั้งแต่หลักห้าที่นาดำตรงไป ตวันออกมีคลองน้ำแม่ครกไปจนถึงลำห้วยสะโหระ ตั้งแต่ลำห้วยสะโหระปักหลักเรียงไปจนถึงบ้านตรัง ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตั้งแต่อ่าวโตนดริมทเลลงไป ทิศใต้ปักหลักเรียงขึ้นไปจนถึงต้นพิกุลใหญ่หว่างบ้านโต๊ะโสมบ้านกะดี ปักหลักเรียงลงไปถึงต้นยางขาคีมหว่างบ้านสิโต๊ะบ้านอะโห ตั้งแต่บ้านอะโหเรียงลงไปถึงต้นมะม่วงใหญ่ตะวันตกบ้านเกาะล่ากา ปักหลักเรียงลงไปถึงบ้านก่อหวายบ้านสะตาลบ้านประดู่ ลงไปถึงบ้านน้ำใสตลอดไปหลักห้าเพียงบ้าน นาดำ สิ้นเขตรเมืองยิริง
@ เขตรแดนเมืองสายบุรีรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายตะวันออกปักหลักที่คลองน้ำย้ากัง ตั้งแต่ทเลเรียงไปปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้างเปนเขตรจนจดคลองตรวบ ฝ่ายตะวันออกเปนเขตรเมืองกลันตัน ฝ่าย ตะวันตกเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้มีเขาใหญ่ที่ยาวไปตะวันออกตะวันตกเปนเขตรแดน พ้นเขาปักหลักที่บ้านยิ้งอเรียงไปตะวันออกปักหลักบ้าง ต้นไม้ใหญ่บ้างจนจดคลองตรวบ ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้เปนเขตรเมืองระแงะ ฝ่ายตะวันตกมีปลายคลองตายเปนเขตรต่อพรมแดนเมืองยิริง ปักหลักแต่พรุกะจูดตลอดไปถึงบ่อหม่าหังเรียงขึ้นไปพรุใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่ปักหลักไปถึงคลองน้ำโพรงจรเข้เขาน้อยต่อพรมแดนที่กะลาภอ ฝ่ายตวันออกเฉียงใต้ไปถึงเขามุโดเปนเขตรตลอดไปคลองฆอหลอกะปัดต่อพรมแดนเมืองรามันห์ สิ้นเขตรเมืองสายบุรี
@ เขตรแดนเมืองระแงะรอบตัว ฝ่ายเหนือมีภูเขาใหญ่ที่ขวางยาวไปตวันออกตวันตกเปนเขตรแดน ปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้างเรียงไปจนจดคลองตรวบ ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้เปนเขตรระแงะ ฝ่ายตะวันตกเขาหลิหยอเปนแดนลงมาแบ๊หงอปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง มีสายห้วยน้ำตลอดขึ้นมาบ้านสุเปะบ้านปะฆอหลอ ปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้างมีเขาบ้าง เรียงไปจนถึงคลองตามะหันต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ฝ่ายตะวันออกคลองตรวบเปนแดนตลอดขึ้นไปบ้านโต๊ะเดะ ปักหลักตั้งแต่บ้านโต๊ะเดะไปถึงพรุ สิ้นพรุเปนลำห้วยเรียกว่าอาเหอิหนอ เปนคลองเขตรแดนตลอดไปถึงตกหมกเหมืองทอง ฝ่ายตะวันออกต่อพรมแดนเมืองกลันตัน ฝ่ายใต้ไม่มีหลักลงไปตวันตกเฉียงใต้ตลอดไปบะโลมจดคลองน้ำเมืองแประ ตั้งแต่ตกหมกไปฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ เปนป่าดงใหญ่ตลอดไปไม่มีหลักไม่มีสำคัญ สิ้นเขตรเมืองระแงะ
@ เขตรแดนเมืองรามันห์รอบตัว ฝ่ายเหนือปักหลักที่นาดำต่อพรมแดนเมืองยิริง เรียงไปต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตลอดไปถึงเขาปะราหมะต่อพรมแดนเมืองยะลา เรียงไปจนถึงปะฆอหลอสะเตาะเหนือกำปงจินแหร ปักหลักไปถึงบ้านกาลั่นอะหรอจดคลองใหญ่ท่าสาบไปตามลำคลองคนละฟาก ฟากเหนือเปนเขตรเมืองยะลา ฟากใต้เปนเขตรเมืองรามันห์จนถึงบ้านบะนางสะตา ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีเขาสะปะเหลาะที่ขวางอยู่นั้นเปนเขตรแดนมีต้นไม้ใหญ่มีคลองน้ำมีเขาบ้าง ฝ่ายตวันตกเฉียงใต้ตลอดไปถึงเขามะนะเสาะ มีเขาเนื่องกันไปในที่ยารม มีห้วยน้ำแลต้นไม้ใหญ่ตลอดไปต่อพรมแดนเมืองแประ ฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่คลองน้ำเมืองแประ ตลอดไปคลองน้ำบะโลมจดตกหมกเหมืองทองแขวงเมืองระแงะ ฝ่ายตะวันออกตั้งแต่เขาหลิหยอลงมาปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง จนถึงลำห้วยแบ๊หงอต่อพรมแดนเมืองระแงะ ปักหลักตลอดถึงบ้านสุเปะ บ้านปะฆะหลอจดคลองก่าบู ปักหลักไปจดเขามุโดเรียงลงมาฆอหลอกะปัดต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ตลอดมาถึงบ้านตรังบ้านท่าทุ่งต่อพรมแดนเมืองยิริง สิ้นเขตรเมืองรามันห์
@ เขตรแดนเมืองยะลารอบตัว ตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เขาปะราหมะ ปักหลักเรียงลงไปตวันออกถึงปะฆะหลอสะเตาะเหนือบ้านจินแหร ตลอดไปถึงบ้านกะลั่นอะหรอจนถึงคลองใหญ่ท่าสาบจดบ้านบะนางสะตา ฟากเหนือเปนเขตรเมืองยะลา ฟากใต้เปนเขตรเมืองรามันห์ ฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตั้งแต่ตะโหละเปาะย้านิงมีสายห้วยไปจดคลองน้ำท่าสาบ ฟากคลองตวันตกเปนเขตรเมืองยะลา ฟากคลองตะวันออกเปนเขตรเมืองปัตตานี ฝ่ายเหนือต่อพรมแดนเมืองหนองจิก เขาศาลาคิรีเปนแดน ฝ่ายตะวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีคลองบาโงยเปนเขตรแดนขึ้นไปถึงบ้านยิ้นังตลอดไปบ้านบะเหลาะ ฝ่ายตวันตกตลอดไปจดเขาเหมืองดิดะล่าบู สิ้นเขตรเมืองยะลา
@ เขตรแดนเมืองหนองจิกรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเลฝ่ายตวันออกหลักแดนคลองน้ำติดต่อกับเมืองปัตตานี ฝ่ายใต้ต่อพรมแดนเมืองยะลา ฝ่ายตวันออกตั้งแต่หาดลุโบบาโกยริมคลองใหญ่ท่าสาบเรียงไปบ้านทุ่งยาวตลอดไปสายห้วยเรียกว่าคลองสามี พ้นแต่คลองสามีมีต้นมะม่วงใหญ่แลต้นไม้ใหญ่ เรียงไปจดเขาใหญ่ที่ยาวไปตะวันออก ตะวันตกเรียกว่าเขาศาลาคิรี ยาวตลอดไปหาดทรายแขวงเมืองเทพา ฝ่ายใต้เขาศาลาคิรีเปนเขตรเมืองยะลา ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองหนองจิก ฝ่ายตวันตกริมทเลตั้งแต่ปากบางราภาขึ้นไปตามคลองใหญ่สายห้วยโว่น้อย ยักไปตะวันตกเขาเรียกว่าคลองบ้านภูมี ตลอดไปข้างปลายเรียกว่าคลองท่าศาลา ขึ้นไปตะวันตกบ้านป่าบอนบ้านกะโผะ มีห้วยน้ำเรียกว่าคลองช้าง ฟากตวันออกคลองช้างเขตรเมืองหนองจิก ฟากตะวันตกคลองช้างเปนเขตรเมืองเทพา เรียงขึ้นไปเรียกว่าควนหินกอง ที่บ้านบุหร่นคลองหินกองปักหลักเปนแดนตั้งแต่ควนหินกองตลอดขึ้นไป ถึงเขาน้อยบ้านห้วยบอนเปนกลางแดน มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายเปนเขตรไปจนถึงเขาศาลาคิรี สิ้นเขตรเมืองหนองจิก
@ ครั้นพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) แยกเมืองปัตตานีออกเปนเจ็ดเมือง แลปักหลักแบ่งเขตรแดนเสร็จแล้ว พระยาปัตตานี(พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยซึ่งตั้งบ้านเรือนว่าราชการ อยู่ที่ตำบลบ้านย้ามูติดอยู่ในเขตรเมืองยิริงพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พร้อมด้วยพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) กะตัวให้พระยาปัตตานี(พ่าย) เปนพระยายิริง หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ก็ให้คงเปนผู้ช่วยอยู่ แต่เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์ เมืองยะลา เมืองหนองจิก ซึ่งยังไม่มีตัวผู้รักษาราชการเมืองนั้น พระยาอภัยสงครามข้าหลวงพร้อมด้วยพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) บังคับให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เลือกจัดหาในพวกตระกูลตะวันตระกูลหนิ ที่พระยาปัตตานี (พ่าย) ได้เคยใช้สอยเห็นว่าที่ใจเรียบร้อยมาแต่ก่อนนั้น จดรายชื่อกะตัวให้ครบทั้งหกเมือง พระยาปัตตานี (พ่าย) ก็จดรายชื่อขึ้นยื่นต่อพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) รายชื่อที่พระยาปัตตานี (พ่าย) ยื่นนั้น คือหนิดะ เดิมพระยาปัตตานี (พ่าย) ตั้งให้เปนที่ขุนปลัดกรมการหนึ่ง หนิเดะ เปนน้องชายจาก หนิดะขุนปลัดหนึ่ง ตวันหม่าโส่ เดิมพระยาปัตตานี (พ่าย) ตั้งให้เปนนายอำเภออยู่ที่บ้านรามันห์หนึ่ง ตวันยลอ เปนวงษ์ญาติ ตวันหม่าโส่หนึ่ง ตวันสุหลง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านกะเสะหนึ่ง ตวันหนิ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านหนองจิกหนึ่ง ครั้นพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ได้รายชื่อครบหกเมืองแล้ว ก็จัดให้ตวันสุหลงเปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีให้ตวันหนิเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก ให้ตวันหม่าโส่เปนผู้รักษาราชการเมืองรามันห์ ให้ตวันยลอเปนผู้รักษาราชการเมืองยะลาให้หนิดะเปนผู้รักษาราชการเมืองสายบุรี ให้หนิเดะเปนผู้รักษาราชการ
เมืองระแงะ ให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง แต่หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ให้คงเปนผู้ช่วยราชการอยู่ในพระยาปัตตานี (พ่าย) ผู้ว่าราชการเมืองยิริง พระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ครั้นแยกเขตรแดนแลจัดให้มีตัวผู้รักษาราชการเมืองเสร็จแล้ว พร้อมกันกลับกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลรายงานตามที่แยกเมืองปัตตานีออกเปนเจ็ดเมือง แลจัดให้มีผู้รักษาราชการไว้ทุกเมืองแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งตามรายชื่อซึ่งพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) จัดไว้ ในตอนนี้ชื่อพระยาทั้งเจ็ดเมืองที่โปรดเกล้าฯพระราชทานตั้งนั้นสืบไม่ได้ความ ได้ทราบความแต่ว่าพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) เปนผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานทั้งเจ็ดเมือง เปลี่ยนให้พระยาปัตตานี(พ่าย) เปนพระยายิริง ตะวันสุหลงเปนพระยาปัตตานี ตวันหนิเปนพระยาหนองจิก ตวันหม่าโส่เปนพระยารามันห์ ตะวันยลอเปนพระยายะลา หนิดะเปนพระยาสายบุรี หนิเดะเปนพระยาระแงะ เมืองทั้งเจ็ดเมืองนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อมาพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ตั้งพระยาเจ้าเมืองแลมอบเมืองทั้งเจ็ดเมืองเสร็จแล้วก็กลับเมืองสงขลา
@ พระยายิริง(พ่าย) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองนั้นอยู่ที่ตำบลบ้านย้ามู พระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานี อยู่ที่ตำบลบ้านกะเสะใกล้ตำบลบ้านมะนาซึ่งพระยาปัตตานี(ขวัญซ้าย) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองอยู่ก่อน พระยาหนองจิก(ตวันหนิ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองหนองจิกนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหนองจิกพระยายลา(ตวันยลอ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองยะลานั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา พระยารามันห์(ตวันหม่าโส่) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองรามันห์นั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านรามันห์ พระยาสายบุรี(หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองสายบุรีนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยิ้งอ ริมแดนต่อพรมแดนเมืองระแงะทางประมาณสี่ร้อยเส้นเศษ พระยาระแงะ(หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองระแงะนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านระแงะและริมพรมแดนต่อแดนเมืองกลันตันต้นทางที่จะไปตกหมกเหมืองทอง ในระหว่างนั้นบ้านเมืองเปนปรกติเรียบร้อยอยู่หลายปี อยู่มาพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) ถึงอนิจกรรมลง โปรดเกล้าฯให้น้องจากพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) ซึ่งร่วมบิดามารดา ชื่อเถี้ยนเส้ง เปนพระยาว่าราชการเมืองสงขลาขึ้น ในตอนพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่นั้น พระยารามันห์(ตวันหม่าโส่) พระยายลา(ตวันยลอ) พระยาหนองจิก(ตวันหนิ) ก็ถึงแก่กรรม พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดให้ตวันกะจิน้องร่วมบิดามารดาแต่พระยาปัตตานี(ตวันสุหลง) รักษาราชการเมืองหนองจิก ให้ตวันบางกอกบุตรพระยายะลา(ตวันยลอ) รักษาราชการเมืองยะลา ให้ตวันกุโหนบุตรพระยารามันห์(ตวันหม่าโส่) รักษาราชการเมืองรามันห์ ครั้นพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ได้จัดให้มีตัวผู้รักษาราชการเมืองแทนขึ้นเสร็จแล้ว พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ก็เข้ามายังกรุงเทพฯ นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาตามที่พระยาผู้ว่าราชการเมืองถึงแก่กรรม แลได้จัดให้น้องพระยาปัตตานี(ตวันสุหลง) ชื่อตวันกะจิรักษาราชการเมืองหนองจิก ให้บุตรพระยายะลา(ตวันยลอ) ชื่อตวันบางกอกรักษาราชการเมืองยะลา ให้บุตรพระยารามันห์(ตวันหม่าโส่) ชื่อตะวันกุโหนรักษาราชการเมืองรามันห์ ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง)จัดไว้ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) กราบถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) เชิญออกไปด้วย ครั้นพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ออกไปถึงเมืองสงขลา พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้น) มีหนังสือเรียกตัวตะวันกุโหน ตวันกะจิ ตะวันบางกอก เข้ามายังเมืองสงขลา พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ก็มอบตราตั้ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานออกไป ตั้งให้ตะวันกะจิเปนพระยาหนองจิก ตั้งให้ตะวันบางกอกเปนพระยายะลา ตั้งให้ตวันกุโหนเปนพระยารามันห์ พระยายะลา(ตวันบางกอก) พระยารามันห์(ตวันกุโหน) พระยาหนองจิก(ตวันกะจิ) ก็ลาพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) กลับไปบ้านเมือง ในระหว่างนั้นบ้านผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ ก็ยังคงว่าราชการอยู่ที่บ้านเจ้าเมืองคนเก่า หาได้รื้อเลื่อนไปอื่นไม่ บ้านเมืองก็ยังเปนปรกติเรียบร้อยกันอยู่ทั้งเจ็ดเมือง
@ ครั้นอยู่มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี(ตวันสุหลง) พี่พระยาหนองจิก(ตวันกะจิ) น้องพระยายะลา(ตวันบางกอก) พระยาระแงะ(หนิเดะ) สี่เมืองนี้ร่วมคิดกันเปนกระบถขึ้นแยกกันออกตีบ้านพระยายิริง (พ่าย)บ้าง เลยเข้ามาตีถึงเมืองจะนะเมืองเทพาบ้าง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) มีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนแม่ทัพ
ออกไปสมทบช่วยเมืองสงขลา ครั้นกองทัพพระยาเพ็ชรบุรีออกไปถึงเมืองสงขลา ก็รวบรวมสมทบกับกองทัพพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ยกออกตีแขกตั้งแต่เมืองจะนะเมืองเทพาตลอดจนถึงเมืองระแงะ ไปจับได้พระยาปัตตานี(ตวันสุหลง) พระยายะลา(ตวันบางกอก) พระยาหนองจิก(ตวันกะจิ) ที่ตำบลบ้านโต๊ะเดะในเขตรแขวงเมืองระแงะริมพรมแดนเมืองกลันตัน ประหารชีวิตรเสียในที่ตำบลนั้น แต่พระยาระแงะ(หนิเดะ)ที่เปน พวกร่วมคิดกันกระบถนั้นหนีรอดตามไม่ได้ตัว ในระหว่างนั้นพระยาเพ็ชรบุรีแม่ทัพ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดให้หนิบอสูรักษาราชการเมืองระแงะ หนิบอสูคนนี้เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านบางปูแขวงเมืองยิริง พระยายิริง(พ่าย) ให้เปนกรมการอยู่ที่เมืองยิริง เวลาที่รบนั้นก็ได้ไปในกองทัพด้วยมีคำสรรเสริญว่าใจคอกล้าหาญ จัดให้หลวงสวัสดิ์(ยิ้มซ้าย) เดิมเปนผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองยิริงไปรักษาราชการเมืองยะลา จัดให้นายเม่นเมืองจะนะเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก จัดให้ตะวันยุโส่เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานี แต่ตะวันยุโสคนนี้เปนสองชื่ออยู่ เรียกกันว่าโต๊ะกีก็เรียก
@ พระยาเพ็ชรบุรีแม่ทัพ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ครั้นตีแขกกระบถแตก แลเมืองที่ว่างไม่มีผู้ว่าราชการเมืองนั้น ก็จัดให้มีขึ้นอยู่รักษาราชการแทนไว้เสร็จแล้ว พร้อมกันกลับกรุงเทพฯ ตวันยุโส่หรือโต๊ะกี่ได้เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานี ก็เลื่อนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฝ่ายตะวันตกแต่บ้านกะเสะ ห่างจากบ้านพระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) ซึ่งเปนกระบถไปประมาณสามร้อยเส้นเศษ หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองยิริง ซึ่งได้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลานั้น ก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านวังตระแขวงเมืองยะลาอยู่ฝ่ายตวันตกเฉียงเหนือแต่บ้านพระยายะลา(ตวันบางกอก) ซึ่งเปนกระบถห่างออกไปทางประมาณห้าร้อยเส้นเศษ หนิบอสูซึ่งได้เปนผู้รักษาราชการเมืองระแงะ ก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านตะหยงหมะ แขวงเมืองระแงะ ฝ่ายตวันออกแต่บ้านพระยาระแงะ(หนิเดะ) ซึ่งเปนกระบถไกลออกไปทางประมาณวันหนึ่ง ในตอนนี้ขนบธรรมเนียม เมืองยิริง เมืองยะลา เมืองหนองจิก กรมการแลอำเภอใช้อย่างเมืองสงขลาทั้งสิ้น เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์นั้น พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ก็แต่งให้กรมการออกไประวังตรวจอยู่เสมอมิได้ขาด บ้านเมืองก็เปนการเรียบร้อยทั้งเจ็ดเมือง อยู่มาพระยายิริง(พ่าย) ป่วยเปนโรคชราถึงแก่กรรมลง พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดให้หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองยะลา ไปรักษาราชการเมืองยิริง ในระหว่างหลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) รักษาราชการอยู่ที่เมืองยะลานั้น ได้โก่นสร้างเหมืองดีบุกไว้ในเมืองยะลาหกเหมือง ชื่อเหมืองดิดะ เหมืองล่าบู เหมืองหม่าเระ เหมืองบายอ เหมืองใหม่ เหมืองแหมะบุหลัน ครั้นหลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ต้องเลื่อนเปลี่ยนไปอยู่รักษาราชการเสียที่เมืองยิริง หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ก็ทำรายชื่อเหมืองมอบอนุญาตให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ก็ได้รับผลประโยชน์ได้เปนดีบุกบ้าง ได้เปนเงินค่าเช่าบ้างทุกๆปีมิได้ขาด มาจนพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ถึงแก่อนิจกรรม ต่อมาเหมืองรายนี้ก็เลยรวมเปนมรดกของเมืองสงขลาไป ถ้าท่านคนใดได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลาขึ้นแล้ว ก็ได้รับผลประโยชน์ต่อๆ กันมาตลอดจนถึงพระยาวิเชียรคิรี(ชม) ในระหว่างหลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) รักษาราชการเมืองยิริงนั้น พระยากลันตังชื่อเดิมสืบไม่ได้ความถึงแก่กรรมลง พระยาจางวางสุลต่านเดวอหนึ่ง ตะวันปากแดงหนึ่ง ตวนกูปะสาหนึ่ง ตะวันบางโงยหนึ่ง ซึ่งเปนวงษ์ญาติอยู่ในพระยากลันตันที่ถึงแก่กรรม เกิดวิวาทรบพุ่งแย่งชิงกันจะเปนเจ้าเมือง โปรดเกล้าฯให้พระเสน่หามนตรี ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์(บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ออกไประงับการวิวาทที่เมืองกลันตัน ครั้นพระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ไปถึงเมืองกลันตัน ตะวันบาโงยก็หนีไปทางเมืองกะลาปาหัง พระเสน่หามนตรีผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ก็พาตัวพระยาจางวาง(สุลต่านเดวอ) มาไว้เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็พาตัวตนกูปะสามาไว้เสียที่เมืองสงขลา ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ตวันปากแดงเปนพระยากลันตัน เมืองกลันตันก็เปนการเรียบร้อยอยู่มาหลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) ซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองยิริงถึงแก่กรรมลง นายเม่นซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิกไม่ได้ราชการ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ถอดนายเม่นออกจากราชการเสียในระหว่างนั้นเมืองยิริงผู้รักษาราชการเมืองถึงแก่กรรม เมืองหนองจิก ผู้รักษาว่าราชการยังไม่มีตัว เมืองปัตตานี เมืองยะลา ผู้รักษาราชการก็ยังไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ก็พาหนิยุโส่หรือที่เรียกว่าโต๊ะกี่ ซึ่งได้จัดไว้ให้เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองปัตตานีหนึ่ง นายเมืองบุตรพระยายิริง(พ่าย) ซึ่งได้จัดให้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลาอยู่หนึ่ง นายเกลี่ยงบุตรหลวง สวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้รักษาราชการเมืองยิริงที่ถึงแก่กรรมหนึ่ง ตวนกูประสาซึ่งพระสุนทรนุรักษ์(บุญสัง) พามาแต่เมืองกลันตันหนึ่งเข้ามากรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้ หนิยุโส่หรือโต๊ะกีเปนพระยายิริง ให้นายเมืองเปนพระยายะลา ให้นายเกลี่ยงเปนพระยาหนองจิก ให้ตวนกูปะสาเปนพระยาปัตตานี ครั้นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองยิริง ได้รับพระราชทานตราตั้งเสร็จแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยิริง เมืองยะลา กราบถวายบังคมลากลับเมืองสงขลา
@ พระยาปัตตานี(ตวนกูปะสา) ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านจะบังติฆอ ที่พระยาปัตตานีว่าราชการอยู่เดี๋ยวนี้ พระยาหนองจิก(เกลี่ยง) ได้ตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลบ้านตุยง อยู่ฝ่ายทิศตวันออกเคียงบ้านผู้ว่าราชการเมืองหนองจิกเดี๋ยวนี้ พระยายิริง(หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านย้ามู ริมลำน้ำเมืองยิริงฟากทิศใต้ พระยายะลา(เมือง) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านท่าสาบ ริมลำน้ำที่ลงจากเมืองรามันห์ฟากตะวันตก บุตรหลานพระยายะลา(เมือง) ยังได้อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ในระหว่างนั้นเมืองแขกทั้งเจ็ดเมืองก็เปนการเรียบร้อย อยู่มาพระยายะลา(เมือง) ไม่ได้ราชการ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ถอดออกเสียจากราชการ แล้วพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดให้ตะวันบาตูปุเต้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลา ตวันบาตูปุเต้ผู้รักษาราชการเมืองยะลา ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา บ้านที่พระยายะลาว่าราชการอยู่เดี๋ยวนี้ อยู่มาพระยาสายบุรี(หนิดะ) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้หนิละไมบุตรเปนพระยาสายบุรี พระยาสายบุรี(หนิละไม) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนของบิดาที่ตำบลบ้านยิ้งอ ต่อมา ครั้นพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ถึงแก่อนิจกรรม ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเปนพระยาสงขลา ในระหว่างพระยาสงขลา(บุญสัง) ว่าราชการเมืองอยู่นั้น พระยายิริง(หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้พระยาจางวาง(สุล ต่านเดวอ) ซึ่งเสน่หามนตรีพามาจากเมืองกลันตันให้อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น เปนพระยายิริง อยู่มาพระยายิริง(สุลต่านเดวอ) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายแต่งซึ่งเปนบุตรพระยายิริง(หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) เปนพระยายิริง พระยายิริง(แต่ง) คนนี้ทราบความว่า เมื่อครั้งเมืองปัตตานีเกิดกระบถนั้น พระยา ยิริง(แต่ง) อายุประมาณได้ห้าขวบหรือหกขวบ ครั้นบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว กองทัพที่ออกไปนั้นกลับกรุงเทพฯ พระยายิริง(แต่ง) ติดเข้ามากรุงเทพฯด้วย ครั้นพระยายิริง(แต่ง) มีอายุมากขึ้นก็เลยเปนไทยไป ได้บวชเปนสามเณรอยู่จนอายุถึงยี่สิบเอ็ดยี่สิบสองปีแล้วเลยบวชเปนพระภิกษุต่อไปหลายพรรษาจนได้เปน ที่พระใบฎีกา ครั้นสึกจากพระก็ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา ยังหาได้กลับออกไปบ้านเมืองไม่ ต่อเมื่อได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่ พระยายิริงผู้ว่าราชการเมืองยิริงแล้ว จึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกไปบ้านเมือง ครั้นพระยายิงริง(แต่ง) ออกไปถึงเมืองยิริงแล้ว ก็ปลูกเรือนลงในที่บ้านพระยายิริง(หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ผู้เปนบิดา ว่าราชการเมืองอยู่ที่นั้น เมืองยิริงในตอนพระยายิริง(แต่ง) ว่าราชการอยู่ขนบธรรมเนียมจัดอย่างเมืองสงขลา คดีถ้อยความที่ปรับไหมหรือตัดสินก็ใช้ตามพระราชกำหนดกฎหมายสยามทั้งสิ้น เมืองยิริงเวลานั้นเปนที่เรียบร้อยแลมีการเจริญขึ้นมาก อยู่มาพระยาปัตตานี(ตวนกูปาสา) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ตวันปุเต้บุตร เปนพระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมของบิดา ต่อมา เมืองปัตตานีเวลาพระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) ว่าราชการอยู่นั้นขนบธรรมเนียมโรงศาลแขวงแลอำเภอจัดเหมือนอย่างเมืองยิริง อยู่มาพระยารามันห์(ตวันกุโหน) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ตวันติมุนบุตรเปนพระยารัตนภักดีศรีราชบดินทร์สุรินทรวิวังษา ผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ พระยารามันห์(ตวันติมุน) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านรามันห์ ที่พระณรงค์วังษาอยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ เมืองรามันห์ ตอนที่พระยารามันห์(ติมุน) ว่าราชการอยู่นั้น ขนบธรรมเนียมบ้านเมืองจัดอย่างเมืองปัตตานีเมืองยิริงทั้งสิ้น ครั้นเจ้าพระยาสงขลา(บุญสัง) ถึงแก่อสัญกรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระสุนทรนุรักษ์(เม่น) บุตรพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋อง) เปนพระยาวิเชียรคิรีฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา อยู่มาพระยาหนองจิก (เกลี่ยง) ถึงแก่กรรมลง พระยายะลา(ตวันบาตูปุเต้) ก็ถึงแก่กรรม
@ ในระหว่างนั้น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัตยุบันนี้ (รัชกาลที่ ๕) เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองกะลักตา เวลาเสด็จกลับนั้นมาประทับที่เมืองไทรบุรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคแต่เมืองไทรบุรี เสด็จมาลงเรือพระที่นั่งที่เมืองสงขลา ครั้นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกจากเมืองสงขลาแล้ว พระยาวิเชียรคิรี(เม่น) ก็พานายเวียงบุตรหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์(แสง) ตวันกะจิบุตรพระยายะลา(ตวันบาตูปุเต้) เข้ามากรุงเทพฯ
@ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคิรี(เม่น) เปนเจ้าพระยาวิเชียรคิรีฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งให้นายเวียงเปนพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์วาปีเขตรมุจลินท์นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ตั้งให้ตวันกะจิเปนพระยาณรงค์ฤทธีศรีประเทศวิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองยะลา เจ้าพระยาวิเชียรคิรี(เม่น) พระยาหนองจิก(เวียง) พระยายะลา(ตวันกะจิ) ก็กราบถวายบังคมลากลับเมืองสงขลา พระยายะลา (ตวันกะจิ) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนบิดาต่อมา หาได้เลื่อนบ้านไปอยู่ที่อื่นไม่ แต่พระยาหนองจิก (เวียง) นั้น หาได้ว่าราชการที่บ้านพระยาหนองจิก(เกลียง) ไม่ เลื่อนไปตั้งบ้านลงใหม่ห่างบ้านพระยาหนองจิก(เกลียง) ไปฝ่ายตะวันตกประมาณทางห้าสิบเส้นเศษ อยู่มาพระยาสายบุรี(หนิละไม) พระยารามันห์(ตวันติมุน) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้หนิแปะบุตรพระยาสายบุรี(หนิละไม) เปนพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีศรีมหารายามัตตาอัปดุลวิบุลยขอบเขตรประเทศมลายู ผู้ว่าราชการเมืองสายบุรี ให้หนิปิน้องจากพระยาสายบุรี(หนิแปะ) เปนพระรัตนามนตรีผู้ช่วยราชการ ให้หนิอี่ตำน้องจากพระรัตนามนตรี (หนิปี) เปนพระวิเศษวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองสายบุรี ตั้งให้พระณรงค์วังษา(ตวันยาฮง) ผู้ช่วยราชการซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยารามันห์(ติมุน) เปนพระยารัตนภักดีศรีราชบดินทร์สุรินทรวิวังษา ผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ ให้หลวงรายาภักดี(ตวันบาไลยาวอ) บุตรพระยารามันห์(ติมุน) เปนพระณรงค์วังษาผู้ช่วยราชการ ให้ตวันละเบะบุตรพระยารามันห์(ตวันยาฮง) เปนหลวงรายาภักดีผู้ช่วยราชการเมืองรามันห์ พระยาสายบุรี(หนิแปะ) เปนผู้ว่าราชการเมืองขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมบิดาไม่ เลื่อนมาตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองสายบุรีนั้น มาอยู่ที่ตำบลบ้านสะลินงบายู๊ ริมลำน้ำซึ่งลงมาจากอ่าวลุทรายเหมืองทองแขวงเมืองระแงะฟากตะวันออก ว่าราชการมาจนถึงทุกวันนี้ พระยารามันห์(ตวันยาฮง) เปนผู้ว่าราชการเมืองขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยารามันห์(ตวันติมุน) พี่ชายไม่ เลื่อนไปปลูกเรือนอยู่ใต้บ้านพระยารามันห์(ตวันติมุน) ห่างออกไปทางประมาณสองเส้นเศษ อยู่มาพระยาหนองจิก(เวียง) พระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) พระยายิริง(แต่ง) ก็ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯให้ตวนกูปะสาบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ซึ่งมารดาอยู่เมืองกลันตัน เปนพระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ให้พระพิพิธภักดี ผู้ช่วยราชการ เปนพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทรนริศรสุรบดินทร์ นรินทรภักดี ผู้ทะนุบำรุงราชการ ให้ตวนกูบอสูเปนพระศรีบุรีรัฐพินิต ผู้ช่วยราชการ ให้ตวนกูเดบุตรพระยาพิทักษ์ฯ เปนพระพิพิธภักดี ช่วยราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้หนิเหมาะซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยายิริง (แต่ง) เปนพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองยิริง ตั้งให้หนิโหวะบุตรพระยายิริง (หนิเหมาะ) เปนพระโยธานุประดิษฐ ผู้ช่วยราชการเมืองยิริง ตั้งให้นายมิ่งบุตรพระยาเทพา(ช้าง) เปน พระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์วาปิเขตรมุจลินท์นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก พระยาปัตตานี(ตวนกูปะสา) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) ผู้บิดา พระยาหนองจิก(มิ่ง) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาหนองจิก(เวียง) แต่พระยายิริง(หนิเหมาะ) หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยายิริง(แต่ง) พี่ชายไม่ ปลูกบ้านเรือนใหม่ขึ้นว่าราชการ ห่างแต่บ้านพระยายิริง(แต่ง) ลงไปทิศใต้ทางประมาณหกเส้นเศษ อยู่มาพระยาระแงะ(ตวันบอสู) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระคิรีรัตนพิศาล(ตวันโหนะ) บุตรพระยาระแงะ(ตวันบอสู) เปนพระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองระแงะ ตั้งให้ตวันแตะน้องจากพระยาระแงะ(ตวันโหนะ) เปนพระคิรีรัตนพิศาล ผู้ช่วยราชการเมืองระแงะ พระยาระแงะ(ตวันโหนะ) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาระแงะ(ตวันบอสู) ผู้บิดา ครั้นเจ้าพระยาวิเชียรคิรี(เม่น) ถึงอสัญกรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสมบัติภิรมย์(ชุ่ม) เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลาอยู่ พระยาปัตตานี(ตวนกูปะสา) พระยาหนองจิก(มิ่ง) ก็ถึงแก่กรรมทั้งสองเมือง ในระหว่างนั้นเมืองปัตตานี พระศรีบุรีรัฐพินิต(ตวนกูบอสู) ซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ แต่เมืองหนองจิกนั้นพระยาสมบัติภิรมย์(ชุ่ม) แต่งให้หลวงจ่ามหาดไทยกรมการเมืองสงขลาออกไปเปนผู้รักษาราชการ แล้วพระยาสมบัติภิรมย์(ชุ่ม)ก็เข้ามากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสมบัติภิรมย์(ชุ่ม) เปนพระยาวิเชียรคิรีฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ครั้นพระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) กลับออกไปถึงเมืองสงขลาแล้ว แต่งให้นายทัดมหาดเล็กซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) ไปเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก พระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) พักอยู่ที่เมืองสงขลาประมาณสิบห้าสิบหกวัน ก็เลยออกไปเมืองรามันห์พักอยู่ที่เมืองรามันห์ประมาณเดือนเศษ พระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) ให้ป่วยหนักลงก็กลับจากเมืองรามันห์ มาถึงเมืองสงขลาอยู่ได้สี่วันอาการป่วยทรุดหนักลง พระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) ก็ถึงแก่อนิจกรรม ครั้นพระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) ถึงแก่อนิจกรรมลงได้สี่วัน พอประจวบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัตยุบันนี้(รัชกาลที่๕) เสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองสงขลา ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงวิเศษภักดี(ชม) ผู้ช่วยราชการ เปนพระยาสุนทรานุรักษ์ว่าราชการเมืองสงขลา ให้นายพ่วงบุตรพระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) เปนหลวงอุดมภักดีผู้ช่วยราชการ ให้นายผันมหาดเล็กซึ่งเปนบุตรพระอนุรักษ์ภูเบศร์ (ถัด) เปนหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ผู้ช่วยราชการ ครั้นทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งผู้ว่าราชการเมืองผู้ช่วยเมืองสงขลาเสร็จแล้ว ก็เลยเสด็จพระราชดำเนินประพาศเมืองริมทเล ตั้งแต่เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ นั้น เปนปีถึงกำหนดของเมืองแขกเจ็ดเมืองทำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย แลเปนธรรมเนียมมาพร้อมกันลงเรือที่เมืองสงขลาทั้งเจ็ดเมือง เมืองสงขลาต้องแต่งผู้ช่วยกรมการล่ามคุมพาเข้ามายังกรุงเทพฯ ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ เมืองปัตตานี พระศรีบุรีรัฐพินิต(ตวนกูบอสู) ผู้ช่วยราชการ ผู้รักษาราชการหนึ่ง พระพิพิธภักดี(ตวนกูเด) ผู้ช่วยราชการหนึ่ง ตวนกูม่าหมะบุตรพระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) หนึ่ง ตวนกูเงาะบุตรพระศรีบุรีรัฐพินิตหนึ่ง เมืองหนองจิกนายทัดมหาดเล็กน้องชายพระยาวิเชียรคิรี(ชุ่ม) หนึ่ง ซึ่งเปนผู้รักษาราชการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย แต่เมืองสายบุรี เมืองยิริง เมืองรามันห์ เมืองยะลานั้น ผู้ว่าราชการเมืองแต่งให้ผู้ช่วยศรีตะวันกรมการคุมพาเข้ามา พระยาสุนทรานุรักษ์(ชม) ผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา แต่งให้หลวงอนันตสมบัติ(เอม) ผู้ช่วยราชการ หลวงศรีโยธากรมการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการแขกทั้งเจ็ดเมืองเข้ามากรุงเทพฯ
@ ในครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรเลื่อนให้หลวงอนันตสมบัติ(เอม) เปนที่พระอนันตสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้พระศรีบุรีรัฐพินิต(ตวนกูบอสู) เปนพระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษา รัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีเลื่อนให้พระพิพิธภักดี(ตวนกูเด) เปนพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทรนริศรสุรบดินทร์นรินทรภักดี ผู้ทนุบำรุงราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้ตวนกูม่าหมะบุตรพระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) เปนพระศรีบุรีรัฐพินิตรายามุดาเมืองปัตตานี ตั้งให้ตวนกูเงาะบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูบอสู)เปนพระพิพิธภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้นายทัดมหาดเล็กเปนพระยาเพชราภิบาล นฤเบศร์วาปีเขตรมุจลินท์นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก พระยาปัตตานี(ตวนกูบอสู) หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยาปัตตานี(ตวนกูปุเต้) ที่พระยาปัตตานี(ตวนกูปะสา) ว่าราชการอยู่ไม่ ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมของตัวซึ่งปลูกสร้างไว้เมื่อเปนที่พระศรีบุรีรัฐพินิตผู้ช่วยราชการ อยู่ฝ่ายทิศตวันออก แต่บ้านที่พระยาปัตตานี(ตวนกูปะสา) ว่าราชการ พระยาหนองจิก(ทัด) ก็หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยาหนองจิก(มิ่ง)ไม่ เลื่อนไปปลูกสร้างขึ้นใหม่ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านพระยาหนองจิก(มิ่ง) ห่างกันประมาณเจ็ดเส้นเศษ ในปีฉลูเอกศก ศักราช ๑๒๕๑ พระยาระแงะ(ตวันโหนะ) ถึงแก่กรรมลง ในระหว่างนั้นพระยาสุนทรานุรักษ์(ชม) ผู้ช่วยราชการ ผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา จัดให้ตวันเหงาะบุตรตวันสุหลงซึ่งเปนพี่ต่างมารดาแต่พระยาระแงะ(ตวันโหนะ) เปนผู้รักษาราชการเมืองระแงะอยู่ ครั้นปีเถาะตรีศก ศักราช ๑๒๕๓ ถึงกำหนดแขกเจ็ดเมืองนำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย ตวันเหงาะผู้รักษาราชการเมืองระแงะ นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้ตวันเหงาะเปนพระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองระแงะ พระยาระแงะ(ตวันเหงาะ) ว่าราชการเมืองอยู่ที่บ้านพระยาระแงะต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ในที่บ้านตะหยงหมะซึ่งเปนที่เดิมของพระยาระแงะ(ตวันบอสู) สร้างไว้



Create Date : 08 ตุลาคม 2550
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 11:18:04 น. 1 comments
Counter : 419 Pageviews.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: Darksingha วันที่: 14 ตุลาคม 2550 เวลา:16:25:31 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]