In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
เล่าเรื่อง เหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายม ๒๔๗๕

นำมาจากกระทู้พันทิป //topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3744811/K3744811.html
โพสโดยคุณ สุริยวรมัน

ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในห้องนี้ เลยไปยกเอาบทความในนิตยสารหนึ่งเมื่อหกปีก่อน มาพิมพ์ให้อ่าน เผื่อว่ามีบางท่านยังไม่เคยเห็นครับ

เอามาจากนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๒
เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ มีให้อ่านมาก แต่ที่จะหาโดยละเอียดในเล่มเดียว ค่อนข้างยาก เพราะคนรุ่นนั้นตายไปเกือบหมดแล้ว และที่เขียนบันทึกไว้ ก็มักไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ เดียวนี้มีมากขึ้น แต่ก็มักจะเป็นอย่างละนิดอย่างละหน่อย

จากนิตยสารเล่มนี้ ขอบอกว่า เนื้อหาหลวมไปหน่อย ลองพิจารณาดูนะครับ

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ยุทธการยึดเมือง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“คืนนั้นผมเข้านอนปรกติ ถึงเวลาเขามาปลุก บอกว่า ไปกันเถอะ แล้วต่างคนต่างเดินทางแยกย้ายไปตามจุดนัดหมายของตัวเอง ทุกหมู่เหล่ามีชาวบ้านอย่างเราไปอยู่ด้วย ถนนราชดำเนินตอนนั้นเงียบมาก พี่ชายบอกว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมาให้ ผมคิดอย่างเดียวว่า ตั้งใจมาทำงานให้สำเร็จ เขาสู้ก็สู้กับเขา ตายก็ตาย...”

กระจ่าง ตุลารักษ์ วัย ๘๗ปี ผู้อยู่ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ...หกสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกระจ่างเป็นคณะราษฎรเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่

หากเชื่อว่าเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงใดๆในโลกมักเกิดจากคนพียงไม่กี่คนและส่วนใหญ่จะถูกต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของสยามก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน การวางแผนให้เกิดซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

เป็นที่ยอมรับกันว่า การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ สำเร็จลงได้ก็เพราะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งๆที่ในเวลานั้นคณะราษฎรแทบจะไม่มีกำลังในมือ ผู้ร่วมก่อการมีเพียง ๑๑๕ คน แต่สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จโดยไม่มีการนองเลือด

วางแผน ๗ ปี ยึดอำนาจภายใน ๓ ชั่วโมง

จุดเริ่มต้นของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลการปกครอง น่าจะเริ่มจากการที่นักเรียนไทยในยุโรปสองคนได้พบปะกันที่กรุงปารีส และตกลงร่วมมือกันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ นักเรียนไทยสองคนนั้น คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายที่ได้ทุนกระทรวงยุติ.ธรรมไปศึกษาระดับปริญญาเอก และ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ลาออกจากราชการทหารไปศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ นายปรีดีบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“ภายหลังที่ข้าพเจ้าสนทนากับร.ท.ประยูรหลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่า ได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฒะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก”

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ณ หอพัก Rue du summerard กรุงปารีส ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมืองที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(หลวงพิบูลสงคราม กำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ในโรงเรียนนายทหาร) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี(ศึกษาวิชาการทหารม้าในโรงเรียนนายทหารของฝรั่งเศส) นายตั้ว พลานุกรม(นักษึกษาวิทยาศาตร์ระดับปริญญาเอกในสวิตเซอร์แลนด์) หลวงศิริราชไมตรี(จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส) นายแนบ พหลโยธิน(เนติบัณฑิตอังกฤษ) และนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประชุมตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลการปกครองจากรูปแบบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฎหมาย โดยใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” เพื่อป้องกันมิให้มหาอำนาจคืออังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอาณานิคมอยูล้อมรอบสยามประเทศถือโอกาสเข้าแทรกแซงยกกำลังทหารมายึดครองดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น

ผู้ก่อการได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมายหกประการซึ่งต่อมาเรียกว่าเป็น “หลักหกประการของคณะราษฎร” คือ

๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. รักษาความปลดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
๓. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๕. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ที่ประชุมยังได้ตกลงว่า เมื่อกลับสยามประเทศแล้ว หากการก่อการครั้งนี้ล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ ให้นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะดีที่สุด เป็นผู้ดูแลครองครัวของเพื่อนที่ถูกจำคุกหรือเสียชีวิต

ต่อมาภายหลังมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อการเพิ่มขึ้น คือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.(หลวงสินธุสงครามชัย) นายคง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช อดีตนักเรียนเยอรมัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปดูงานในฝรั่งเศสให้เข้าร่วมด้วย ในเวลาต่อมา พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้กลายเป็นตัวเชื่อมให้นายทหารระดับอาวุโสเข้าร่วมกับคณะผู้ก่อการ ซึ่งในเวลานั้นนายทหารหลายคนไม่ค่อยพอใจในระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ดังที่พระยาทรงฯเคยพูดไว้ว่า “พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย...” หรือในกรณีของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีความเห็นว่า “ทำอย่างไรหนอการบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านายและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ทำกันตามอำเภอใจไม่ใคร่เอาใจใส่ความเห็นของผู้น้อย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆไปแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่ ”

หลังจากที่คณะผู้ก่อการกลับสู่สยามประเทศ ต่างคนก็แยกย้ายกันทำงาน แต่ก็ยังมีการติดต่อประชุมกันอย่างลับๆ พระยาทรงสุรเดชบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

“ พวกที่คิดปฏิวัติมีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าพวกพลเรือนซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้า ได้เริ่มคิดการนี้ตั้งแต่ปีไหน แต่ทราบว่าทางการฝ่ายทหารมี นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ กับนายพันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้สนทนากันถึงเรื่องราวเช่นนี้ก่อนเวลาปฏิวัติในราวสองสามปี โดยไม่รู้ว่ามีพวกพลเรือนคิดอยู่เหมือนกัน ทางฝ่ายพลเรือนถึงแม้จะได้ทหารเป็นพวกไว้บ้างแล้ว ก็เป็นแต่เพียงพวกมียศน้อยและไม่มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ด้วยเหตุที่ต้องการได้ทหารตัวสำคัญๆเข้ามาเป็นพวกด้วยนั่นเอง จึงได้ติดต่อรู้ถึงกันขึ้น ”

ในเวลานั้นกลุ่มผู้ก่อการแบ่งได้เป็นสี่ฝ่ายคือ
๑. สายพลเรือน มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้า
๒. สายทหารเรือ มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า
๓. สายทหารบกชั้นยศน้อย มีพันตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า
๔. สายนายทหารชั้นยศสูง มีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “ สี่ทหารเสือ ”

คณะราษฎร์แต่ละสายได้แยกย้ายกันหาสมาชิกที่จะเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ ซึ่งในเวลานั้นคนไทยส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจระบอบการปกครองที่เป็นอยู่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งอย่างจริงจัง จนเมื่อกลุ่มผู้ก่อการเหล่านี้มาติดต่อ จึงมีคนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมมือด้วย มีทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน พ่อค้าและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้สมาชิกของคณะราษฎรแต่ละสายจะไม่รู้ว่าสมาชิกผู้ก่อการสายอื่นๆเป็นใครบ้าง เพื่อปิดลับป้อกันข่าวรั่วไหล ซึ่งอาจทำให้แผนการยึดอำนาจล้มเหลว ภายหลังการปฏิวัติแล้วจึงมีการรวบรวมตัวเลขของคณะผู้ก่อการ ปรากฏว่ามีสมาชิกทั้งสิ้น ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี

“ พี่สงวน (ตุลารักษ์) พี่ชายผม เป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี แต่ผมไม่เคยเห็นท่านมาก่อน เขาปกปิดเก่ง สองสามเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์พี่ชายสั่งว่าให้ไปหาเพื่อนที่แปดริ้วมา ให้ยิงปืนได้ ผมก็พามาก่อนทำงานหนึ่งคืน แล้วพี่ชายก็มอบหน้าที่ให้ทำต่างๆ... งานนี้เป็นงานพิเศษจริงๆ เพราะต่างคนต่างแบ่งสายกันไป ทหาร พลเรือน ข้าราชการ ต่างคนต่างทำหน้าที่ ทุกคนต้องปิดเป็นความลับ จำไม่ได้หรอก ว่าใครชื่ออะไร ” กระจ่าง ตุลารักษ์ เล่าเหตุการณ์แต่ครั้งที่ตนมีอายุ ๑๙ ปีให้ฟัง

ก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ไม่กี่เดือน แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรใช้บ้านพระยาทรงสุรเดชที่ถนนประดิพัทธ์ และบ้านของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ถนนเศรษฐศิริ เป็นที่ประชุมวางแผนการปฏิวัติทั้งหมดเจ็ดครั้ง ทุกครั้งที่มีการประชุมจะนำสำรับไพ่ติดตัวไปด้วย เพื่ออำพรางว่ามาลักลอบเล่นการพนัน หากตำรวจบุกเข้ารวบตัวกะทันหัน การประชุมครั้งแรกมีมติให้พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนักเรียนทหารเยอรมัน เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ มอบหมายให้พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ คณะผู้ก่อการมีมติว่าจะไม่ลงมือกระทำการในระหว่างที่มีงานมหกรรมฉลองพระมหานครครบรอบ ๑๕๐ ปี และเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

ในการประชุมครั้งต่อมา พระยาทรงสุรเดชวางแผนใช้ทหารยึดพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๗ ในเวลากลางคืน และขอถวายความอารักขาแก่ในหลวงในฐานองค์ประกัน แล้วบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย แต่แผนนี้มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างที่บุกเข้าไปอาจเกิดการปะทะกันกับทหารมหาดเล็กจนถึงขึ้นนองเลือด และผู้ก่อการได้ตกลงในหลักการของการปฏิวัติครั้งนี้คือ จะต้องพยายามมิให้เกิดการนองเลือด จะต้องไม่กระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินควร และตกลงว่าจะทำการปฏิวัติในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระราชวังไกลกังวล

๑๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ ณ บ้านของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี พระยาทรงสุรเดชเสนอแผนการปฏิวัติสามแผนด้วยกัน

“ วิธีแรก ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ ”

“ วิธีที่ ๒ ให้จัดส่งหน่วยต่างๆไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิมแล้ว ทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน ”

“ วิธีที่ ๓ ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์กรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่นๆตามที่กล่าวแล้วในวิธีที่ ๒ ”

คณะผู้ก่อการล้วนเห็นชอบในวิธีการสุดท้าย และได้กำหนดเอาวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน เป็นวันลงมือ ไม่อาจชักช้าไปกว่านี้เพราะตำรวจสันติบาลเริ่มระแคะระคายว่าอาจมีการก่อความไม่สงบขึ้น ทว่าภายหลังคณะผู้ก่อการสืบทราบมาว่า ในวันเสาร์ถึงวันจันทร์ กรมพระนครสวรรค์ฯมักจะไม่ประทับในวัง แต่ทรงพักผ่อนในเรือที่ล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา จึงไม่สามารถเข้าจับกุมตัวได้ จำต้องเลื่อนวันออกไปอีก

กล่าวกันว่าเมื่อถึงข้อตกลงที่ต้องจับกรมพระนครสวรรค์ฯด้วยนั้น ผู้ก่อการคนหนึ่งถึงกับจะถอนตัว เพราะคิดว่าแผนนี้ไม่มีทางสำเร็จ เนื่องจากในเวลานั้นกรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุด คุมกำลังทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร เคยดำรงตำแหน่งเป็นทั้งเสนาธิการทหารปก เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือเสนาบดีกระทรงมหาดไทย จนมีผู้กล่าวว่า หากไม่มีการปฏิวัติ๒๔๗๕ พระองค์อาจเป็นผู้สืบสัตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่มีองค์รัชทายาท

เวลานั้นปัญหาใหญ่ของผู้ก่อการโดยเฉพาะสายทหารซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจก็คือ นายทหารเกือบทั้งหมดไม่มีใครมีตำแหน่งที่คุมกำลังไว้ในมือเลย ยกเว้นพระยาฤทธิอัคเนย์ที่คุมกำลังทหารปืนใหญ่สองกองพันเท่านั้น ส่วนพระยาทรงสุรเดชเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหารในโรงเรียนนายร้อย พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นจเรทหารปืนใหญ่ และพระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการ

หากไม่มีกำลังทหารอยู่ในมือไม่สามารถคุมกองกำลังทหารในกรุงเทพฯได้เด็ดขาดแล้ว การปฏิวัติคงได้รับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งโดยมิต้องสงสัย

บันทึกของพระยาทรงสุรเดชเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า “ ในวันประชุมครั้งสุดท้าย หัวหน้าฝ่ายพลเรือน หลวงสินธุและหลวงพิบูลฯ ต้องการทราบอย่างแน่นอนว่า ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร(พระยาทรงฯ) มีกำลังอยู่ในกำมือไว้แล้วเท่าใด เป็นทหารกรมไหนบ้าง ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้แจ้งความจริงให้ทราบว่ายังไม่มีอะไร นอกจากกรมทหารปืนใหญ่ที่๑ แต่ในวันปฏิวัติซึ่งกำหนดวันที่๒๔ จะต้องได้ทหารในกรุงเทพฯทั้งหมด เมื่อถูกซักไซ้ว่าจะได้อย่างไรและจะทำอย่างไร ผู้อำนวยการฝ่ายทหารไม่ยอมบอกว่าจะได้มาด้วยวิธีไร จะทำอย่างไร เพียงแต่ให้หัวหน้าฝ่ายทหารบกนำลูกน้องของตัวเองมาในวันที่ ๒๔ เวลา ๕.๐๐น. ที่ตรงการรถไฟตัดถนน ห่างจากบ้านพระยาทรงฯประมาณ๒๐๐เมตร

“ ส่วนทหารเรือไม่ต้องมา ให้หลวงสินธุฯนำทหารเรือทั้งหมดเท่าที่จะรวมได้ มีอาวุธกระสุนปืนพร้อม มาถึงที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลา๖.๐๐น. ซึ่งทหารบกจะไปถึงที่นั่นตรงกำหนดนี้ ”

ทำอย่างไรจึงจะรวบรวมทหารในกรุงเทพฯมาได้ทั้งหมด... ไม่มีใครล่วงรู้แผนการนี้นอกจากพระยาทรงฯ พระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ ซึ่งต้องเก็บไว้ เป็นความลับจนชั่วโมงสุดท้าย

แผนการของพระยาทรงฯคือการลวงทหารกรมกองต่างๆให้ออกมารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วยความรวดเร็ว มิทันให้ใครได้มีเวลาตั้งสติทัน และออกแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงเวลานั้น

๒๓ มิถุนายน พันเอก พระยาทรงสุรเดชในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อย ได้ไปพบ พันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาววุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำ ทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง

เมื่อเหล่าทหารราบพร้อมแล้ว ปัญหาต่อไปคือ จะเอารถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์มาจากไหน

บรรดาฝ่ายวางแผนต่างเล็งไปที่กรมทหารม้าที่๑รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกรมทหารที่มีอาวุธทันสมัยที่สุดในเวลานั้น โดยเฉพาะรถถัง “เดนลอยส์” รถยนต์หุ้มเกราะและคลังกระสุนอาวุธปืน

ดังนั้นหัวใจสำคัญที่สุดในวันก่อการปฏิวัติ คือ ต้องยึดกรมทหารม้าที่๑ ให้ได้ในเช้าวันนั้นเสียก่อน

ยุทธการยึดเมือง

๕.๐๐ น. ของวันที่๒๔มิถุนายน คือเวลาที่บรรดาผู้ก่อการสายนายทหารบกนัดหมายกันไว้ที่บริเวณริมทางรถไฟถนนประดิพัทธ์

๔.๐๐ น. เศษ พระประศาสน์พิทยายุทธตื่นนอนขึ้นแต่งตัว ก่อนจะขับรถออกไปรับหัวหน้าผู้ก่อการ ได้เขียนหนังสือถึงภรรยาทิ้งไว้บนโต๊ะว่า
“ ขอลาไปก่อน ฝากลูกด้วย ถ้าไม่ตายจึงค่อยพกบันใหม่ ”

ด้านพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการ สั่งเสียไว้กับภรรยาว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า “ การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง ” และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย

พอได้เวลานัดหมาย พระประศาสน์ฯ ขับรถมาจอดหน้าบ้านพระยาพหลฯที่บางซื่อ ลงจากรถตรงเข้าไปเคาะประตูบ้าน ฝ่ายคุณหญิงพหลฯซึ่งไม่ได้นอนมาทั้งคืนไม่กล้าเปิดประตูบ้านเพราะกลัวว่าจะเป็นพวกตำรวจสันติบาลมาจับพวกผู้ก่อการ จนกระทั่งพระประศาสน์ฯส่งเสียงขึ้นมา คุณหญิงพหลฯจึงออกไปเปิดประตู พระยาพหลฯเหน็บปืนพกเดินก้าวออกจากบ้าน พร้อมแล้วที่จะไป “พลิกแผ่นดินสยาม”

ด้านคุณหญิงทรงฯตื่นขึ้นเมื่อเวลาราว ๔.๐๐น.เศษ พบพระยาทรงฯกำลังกินข้าวผัดที่เหลือจากเย็นวาน และลุกออกจากบ้านไปเมื่อ ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึกมารอรับเพื่อที่จะไปดู “การสวนสนามที่หน้าพระลาน” ตามที่พระยาทรงฯบอกภรรยาไว้เมื่อคืนก่อน

๕.๐๐น. บรรดานายทหารบกประมาณ๑๐คนที่นัดหมายไว้ก็มากันพร้อมหน้า แผนการที่พระยาทรงฯเก็บไว้เป็นความลับมาตลอดก็เผยออกมาว่าจะเอาทหารในกรุงเทพฯเป็นกำลังในการทำปฏิวัติได้อย่างไร

ทั้งหมดมุ่งหน้าไปที่กรมทหารม้าที่๑รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย มีเป้าหมายเพื่อยึดรถเกราะ ยึดรถรบ ยึดคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิฯที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อไปถึงกรมทหารม้า ด่านแรกที่จะต้องฝ่าไปให้ได้คือกองรักษาการณ์ที่ด้านหน้า สามทหารเสือ คือ พระยาทรงฯ พระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ เข้าไปในกองรักษาการณ์ ถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วผู้ก่อการก็พูดด้วยเสียงดุว่า

“ เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้ ”

ฝ่ายผู้บังคับการที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ ชั่วอึดใจเดียวเสียงเป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญก็ปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นมาด้วยความโกลาหล

ช่วงเวลาแห่งความระทึกนี้ นายทหารผู้ก่อการต่างๆที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ก็แยกย้ายกันไป

พันเอก พระยาพหลฯ ใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังกระสุนได้สำเร็จ ช่วยกันลำเลียงกระสุนออกมาอย่างรวดเร็ว

พันโท พระประศาสน์ฯ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยฯ เร่งระดมให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว

ร.อ.หลวงรณสิทธิชัยและพรรคพวกพากันขึ้นไปยังโรงทหาร เร่งให้ทหารแต่งเครื่องแบบโดยเร็วด้วยคำสั่งที่ว่า “ ทหารไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที ”

ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารม้าก็พร้อมแล้วที่จะตบเท้าออกเดินทางไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะเอาไว้แล้ว พระยาฤทธิฯสั่งให้ทหารปืนใหญ่ขึ้นรถ พระประศาสน์ฯ นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบาราว๑๕คัน ออกมาจากที่ตั้งกรม นำหน้าขบวนรถทั้งหมด มุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า สมทบกับทหารหน่วยอื่นๆที่นัดหมายกันไว้

เมื่อขบวนรถบรรทุกทหารแล่นผ่านกองพันทหารช่าง ซึ่งเหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน พระยาทรงฯก็กวักมือพลางตะโกนเรียกให้ขึ้นรถ ผู้บังคับการทหารช่างเข้าใจว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน จึงสั่งทหารช่างขึ้นรถบรรทุกไปด้วย

ปฏิบัติการยึดกรมทหารม้าที่๑รักษาพระองค์สำเร็จลงอย่างรวดเร็วตามความคาดหมายภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลฯงัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย

พระยาทรงสุรเดชอธิบายไว้อย่างน่าคิดว่า

“ เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่ ”

ด้านฝ่ายทหารเรือ หลวงสินธุสงครามนำทหารเรือราว ๔๐๐คนที่ถูกลวงว่าให้มาปราบกบฏ มารอที่ลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เวลา ๖.๐๐น. และตั้งหน้าตั้งตารอด้วยความกระวนกระวายในว่ากำลังทหารบกจะมาตามนัดหรือไม่ เพราะหากอีกฝ่ายเกิดหักหลัง คุกตารางและหลักประหารรออยู่เบื้องหน้าแน่

ห้านาทีแห่งความระทึกใจค่อยผ่านไป เมื่อเวลา ๖.๐๕น. ขบวนรถเกราะและรถบรรทุกทหารก็แล่นเข้ามานักเรียนนายร้อยที่นำโดยผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยก็มาถึงตรงเวลานัดหมาย เช่นเดียวกับทหารจากกองพันทหารราบที่นัดหมายกันไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ทหารเรือขยายแนวปิดถนนราชดำเนินที่พุ่งตรงเข้ามาที่ลานพระบรมรูปฯ กระสอบทรายถูกลำเลียงมาเป็นบังเกอร์ล้อมรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนรถเกราะรถถังทั้งหมดจอดเรียงรายปิดล้อมลานพระบรมรูปทรงม้า ปิดเส้นทางที่มาจากถนนศรีอยุธยาทั้งด้านวัดเบญจมบพิตร และทางด้านวังปารุสกวัน พร้อมประจันหน้ากับฝ่ายตรงข้าม

คาดกันว่าในเวลานั้นมีทหารบก ทหารเรือ ถูกลวงมาที่ลานพระบรมรูปทรงม้ารวมกับผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนประมาณ ๒,๐๐๐คน ได้รับคำสั่งให้เข้ามาอยู่ภายในรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันตสมาคม และให้ทหารทั้งหมดเข้าแถวคละกันไปหมดทุกเหล่า เพื่อป้องกันไม่ให้นายทหารคนใดสามารถสั่งการลูกน้องตัวเองได้โดยสะดวก

นาทีแห่งประวัติศาสตร์มาถึงเมื่อพระยาพหลฯ “ นายพันเอกร่างอ้วนอุ้ยอ้าย ดำจ้ำม่ำในเครื่องแบบทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ สวมทอปบู๊ตและเหน็บโคลท์รีวอลเวอร์ที่บั้นเอว ก็ก้าวออกมาจากร่มเงาของต้นโศก ” ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศต่อหน้าเหล่าทหารทั้งหมด ใจความว่า

“ การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองแบบนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎร์เผชิญโชคชะตาทางเศรษฐกิจและการภาษีต่างๆไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายและเป็นไปตามยถากรรมนั้นเป็นการไม่พึงบังควรยิ่ง เราจึงต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย ”

หลังกล่าวจบ มีการประกาศตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารอันประกอบด้วยพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระฤทธิฯ และได้ขอความร่วมมือจากทหารทั้งหมดในการทำปฏิวัติครั้งนี้ ทหารเหล่านี้ไม่มีทีท่าว่าจะขัดขืนแต่อย่างใด พระยาทรงสุรเดชเขียนบันทึกไว้ว่า

“ นายทหารจับกลุ่มซุบซิบห่างจากแถวทหาร เขายังไม่รู้ว่าเกิดอะไร เขาไม่รู้และมีความคิดที่จะทำอะไรกัน เขาดูความเป็นไปด้วยความสงบและไม่เอาใจใส่ ส่วนมากไม่ถูกเรียกใช้จากผู้อำนวยการฝ่ายทหาร เพราะพวกนี้ไม่แสดงความประสงค์ที่จะได้ถูกใช้ เขายับยั้งอยู่แต่ห่างๆ นั่งเป็นกลุ่มๆ ผู้อำนวยการก็ไม่รู้จักเป็นส่วนมาก เพราะจำนวนทหารที่ออกไปจากโรงเรียนหลายรุ่นจำนวนมากด้วยกัน ไม่สามารถจะจำได้ ”

ในขณะที่ผู้ก่อการสายพลเรือนอย่าง กระจ่าง ตุลารักษ์ สะท้อนความรู้สึกวันนั้นให้ฟังว่า

“ พวกที่ทำการเปลี่ยนแปลงมี ทหารบก ทหารเรือ ข้าราชการ และพลเรือน เขาไม่ไว้ใจพวกตำรวจ วันนั้นผมแต่ตัวธรรมดาเป็นชาวบ้าน เรามันคนไทยเชื้อสายจีนแปดริ้ว ผมนุ่งกางเกงสวมเสื้อกุยเฮง ตอนนั้นผมไม่ได้ระแคะระคายเลยว่าจะเป็นการปฏิวัติ ไม่ค่อยรู้หรอก รู้แต่ว่ามาทำงานแล้วต้องทำให้สำเร็จ ทำตามคำสั่งเขาอย่างเดียว ไม่นึกถึงอย่างอื่น เขาให้ตายก็ต้องไปตาย ”

การปฏิวัติสยามได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการในอรุณรุ่งของวันที่๒๔มิถุนายน๒๔๗๕ หลังจากพระพิรุณโปรยกระหน่ำลงมาไม่นาน

งานสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าคือการไปยึดสถานที่สำคัญ และเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งที่จริงพระองค์ก็ทรงรู้ระแคะระคายมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีผู้ก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ในจำนวนนี้มีรายชื่อพระยาทรงสุรเดชด้วย แต่กรมพระนครสวรรค์ฯไม่ทรงเชื่อ เพราะพระองค์คุ้นเคยกับพระยาทรงสุรเดชเป็นอย่างดี ถึงขนาดเคยขอให้เป็นนายทหารประจำพระองค์ แม้กระทั่งเมื่ออธิบดีกรมตำรวจทำหมายจับผู้ก่อการห้าคน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. นายประยูร ภมรมนตรี ดร.ตั้ว พลานุกรม ให้พระองค์ลงพระนาม แต่กรมพระนครสวรรค์ฯก็ทรงปฏิเสธ เพราะคุ้นเคยกับนายประยูรหรือ “ตายูรลูกตาแย้ม” และดร.ตั้วตั้งแต่ยังเด็ก เห็นว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นเด็กๆไม่ได้มีความหมายอะไร

บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปจับกรมพระนครสวรรค์ฯ คือพระประศาสน์ฯ ซึ่งนำนักเรียนนายร้อยประมาณ๕๐นายพร้อมอาวุธปืน เคลื่อนขบวนออกจากลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีรถเกราะ รถปืนใหญ่ นำขบวนไปยังวังบางขุนพรหม เล่ากันว่าขณะนั้นที่วังบางขุนพรหมมีบริวารนับร้อยพร้อมปืนกลเบาคอยป้องกันอยู่

พระประศาสน์ฯใช้ไหวพริบเข้าไปจับตัวหัวหน้าสถานีตำรวจบางขุนพรหมยศร้อยตำรวจโท ให้นั่งรถเกราะไปด้วยกัน เมื่อถึงประตูหน้า ตำรวจวังที่รักษาการณ์อยู่ก็ยอมเปิดประตูให้โดยดี

เมื่อขบวนนักปฏิวัติเข้าประตูวังได้แล้ว ก็เคลื่อนพลไปยังตำหนักหลังใหญ่ ทันใดนั้นพระยาอาษาพลนิกรซึ่งยืนอยู่ที่ลานหญ้าหน้าตำหนัก เมื่อเห็นรถเกราะแล่นเข้ามาก็ยิงปืนใหญ่ พลปืนประจำรถเกราะจึงลั่นกระสุนขู่ออกไป พระยาอาษาฯวิ่งหนีเข้าไปหลังพระตำหนัก

พระประศาสน์ฯสั่งให้ทหารขยายแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งไปตามสนามหน้าตำหนัก เตรียมรับการต่อสู้ และสั่งให้นายร้อยตำรวจผู้นั้นขึ้นไปเจรจาให้กรมพระนครสวรรค์ฯเสด็จมาพบ

สิบนาทีที่ผ่านไปมีแต่ความเงียบ พระประศาสน์ฯจึงสั่งทหารให้ติดดาบปลายปืน เดินเข้าไปด้านหลังตำหนัก และเดินเรื่อยเข้าไปจนถึงเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงพบกรมพระนครสวรรค์ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจพร้อมบริวารประมาณ๑๐๐คนถืออาวุธเตรียมสู้ ขณะที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารเรือฝ่ายปฏิวัติได้ลอยเรือรบคอยสกัดกั้นการหนีของบุคคลผู้ทรงอำนาจที่สุดในพระนครไว้แล้ว ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายที่ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่นั้น พระประศาสน์ฯประกาศก้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้ใครลงมือปฏิบัติการโดยไม่ได้รับคำสั่ง แล้วเดินเข้าไปหากรมพระนครสวรรค์ฯแต่ผู้เดียว

“ตาวัน(ชื่อเล่นพระประศาสน์ฯ) แกก็เป็นกบฏกับเขาด้วยรึ” กรมพระนครสวรรค์ฯตรัสด้วยความขมขื่น

พระประศาสน์ฯมิได้ทูลตอบคำถามนั้น แต่ทูลเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และทูลให้ทราบว่า ที่มานี้เพื่อจะเชิญเสด็จพระองค์ไปประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นการชั่วคราว เป็นประกันมิให้เกิดอันตรายใดๆแก่คณะราษฎร ส่วนอันตรายอันจะเกิดแก่พระองค์ท่านนั้น พระประศาสน์ฯขอรับประกันเอง

แต่กรมพระนครสวรรค์ฯทรงตอบปฏิเสธ พระประศาสน์ฯจึงทูลเชิญออกมาเจรจากันหน้าพระตำหนัก ในที่สุดพระองค์ก็ทรงยินยอมและตรัสว่า

“ฉันอยากให้พวกแกลองปกครองบ้านเมืองดูบ้าง เพราะได้เล่าเรียนกันมามากแล้ว”

ก่อนหน้าการปฏิวัติไม่กี่เดือน กรมพระนครสวรรค์ฯเคยรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า “บ้านเมืองนั้นจะปกครองในรูปใดๆก็ได้ แต่พร้อมหรือยังที่จะปกครอง ความชำนาญนั้นกว่าจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลานาน ฉันกว่าจะรู้อะไรๆครบถ้วนในการปกครองก็มีอายุกว่า๕๐ปีแล้ว”

ในระหว่างการเจรจา พระยาอธิกรณ์ฯได้ชักปืนโคลท์๙มม. ออกมาจะยิงพระประศาสน์ฯ แต่ร.อ.หลวงนิเทศกลกิจเหลือบเห็นก่อน จึงกระโดดเตะมือพระยาอธิกรณ์ฯ จนปืนกระเด็นตกลงที่พื้นสนาม ทหารคนอื่นจึงกรูกันแย่งปืน

พระประศาสน์ฯมีสีหน้าเคร่งเครียดมากขึ้น สั่งให้ทหารเตรียมปลดอาวุธฝ่ายตรงข้าม กรมพระนครสวรรค์จึงปลงใจทรงยอมไปด้วย แต่ขอเวลาเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อนเพราะตอนนั้นอยู่ในฉลองพระองค์กางเกงแพรจีน เสื้อกุยเฮง แต่พระประศาสน์ฯปฏิเสธเนื่องจากเสียเวลามามากแล้ว และไม่แน่ใจว่าเมื่อเสด็จกลับตำหนักแล้วอาจจะเปลี่ยนพระทัย ในวังเองก็มีปืนกลตั้งเรียงรายอยู่ อาจเกิดการนองเลือดขึ้นได้ ท้ายที่สุดพระองค์ขอให้จัดรถที่เหมาะสมกว่ารถบรรทุกทหารมาให้ประทับ แต่พระประศาสน์ฯก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด และทูลเชิญขึ้นรถบรรทุกทันที

ขบวนรถมุ่งหน้าต่อไปทางวัดพระเชตุพนฯ ภารกิจข้างหน้าคือการจับกุมตัวประกันสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นทหารเสือผู้หนึ่ง เพราะมีจิตใจห้าวหาญเด็ดขาด พกปืนติดตัวตลอดเวลา

กระจ่าง ตุลารักษ์ เป็นผู้หนึ่งที่นั่งอยู่ในรถเกราะ “ไอ้แอ้ด”กับพวกบุกเข้าไปในบ้านของพระยาสีหราชเดโชชัย กระจ่างเล่าเหตุการณ์ในขณะนั้นให้ฟังว่า

“ผมรับหน้าที่ไปกับทหาร คนที่นั่งอยู่ในรถด้วยกันก็จำไม่ได้หรอกว่าชื่ออะไร ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป พอไปถึงก็ผลักประตูเข้าไป คนในบ้านก็แตกตื่นนะครับ เราไปกันหน้าหกคน ถืออาวุธทั้งนั้น ทั้งทหารทั้งพลเรือนเต็มบ้านไปหมด ทหารที่ไปด้วยพูดว่า ขอเชิญท่านไปที่กองบัญชาการ ตอนนั้นท่านกำลังอาบน้ำอยู่ พวกเราก็ไปรอท่านที่หน้าห้องน้ำเลย พอออกมาท่านบอกขอแต่ตัวก่อน พอท่านแต่งตัวเสร็จก็นำท่านขึ้นรถ พวกเราก็นั่งคุมท่านกลับมา...”

กระจ่างเพิ่งมาทราบตอนหลังว่า คนที่ไปจับตามานั้นเป็นถึงเสนาธิการทหารบก

“เขาไม่ได้บอกเรานะว่าเป็นใคร...ไม่งั้นเราอาจเป็นลมตายเสียก่อนก็ได้”

ระหว่างทางกลับ ขบวนรถที่นำตัวประกันมุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมขับผ่านท้องสนามหลวง เห็นหลวงวีระโยธา ผู้บังคับกองพันทหารรอบที่๑๑รักษาพระองค์ นำทหารมาฝึกอยู่ พระประศาสน์ฯจึงบอกหลวงวีระฯว่ามีการจลาจลเกิดขึ้น ให้รีบนำทหารตามไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมโดยด่วน

เมื่อไปถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ทหารจากกรมทหารช่างและกรมทหารสื่อสารทยอยกันมาชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆจนคณะผู้ก่อการมีกำลังทหารส่วนใหญ่ทุกกรมกองในกรุงเทพฯอยู่ในมือ ยกเว้นทหารมหาดเล็กและทหารรักษาวังซึ่งถูกปลดอาวุธไปแล้ว

ศักดิ์ ไทยวัฒน์ ซึ่งเคยเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่กองร้อยวังจันทรเกษม(กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) เขียนบันทึกเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า “พอเวลา๕.๐๐น. ก็ต้องลุกขึ้นแต่งตัวลงฝึกทหาร แต่ไม่ทันได้ฝึกก็มีรถบรรทุกทหารเข้ามาที่กองพันประมาณสี่คันพร้อมด้วยทหารเต็มรถอาวุธครบมือ ภายหลังทราบว่าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก พวกเขามาถึงตัวเราที่กลางสนามของกองพัน และสั่งให้พวกเราหยุดฝึกและให้เก็บในฝึกไว้อีกทางหนึ่ง เขาประกาศว่าเวลานี้มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เขาเรียกว่าปฏิวัติ เราไม่รู้ว่าปฏิวัติคืออะไร คณะนายทหารที่มานั้น ส่วนหนึ่งไปที่กองบังคับการกองพัน ยึดกุญแจคลังและยึดอาวุธ ภายหลังจึงทราบว่าการที่เขามายึดกองพันเรา ก็เพราะกองพันเราเป็นทหารรักษาพระองค์ ซึ่งหลายกองพันที่อยู่ที่ถนนราชดำเนินก็ถูกยึดเช่นกัน เพราะเป็นทหารมหาดเล็กทั้งหมด

“การยึดอำนาจการปกครองวันนั้นใช้เวลาประมาณ๖ชั่วโมง พอเที่ยงวัน กองพันของเราก็ถูกสั่งให้ไปอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยตั้งกระโจมสนามหน้าติดพระที่นั่ง เราต้องอยู่เช่นนั้นสามวัน พวกเราส่วนมากเป็นทหารบ้านนอก ก็เดินชมพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความตื่นเต้น เพราะเกิดมาไม่คิดว่าจะได้เข้าชม”

บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นกองบัญชาการใหญ่ ได้จัดวางยามรักษาการณ์อย่างแน่นหนา มีทหารบกทหารเรือติดดาบปลายปืนบนถนนทุกสายที่มุ่งสู่กองบัญชาการ บนตัวตึกมีทหารพร้อมปืนกลมือยืนประจำช่องหน้าต่างโดยรอบ

พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ออกมารอรับสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

“ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันหรือนี่” แล้วรับสั่งต่อว่า

“เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา๑๕๐ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวหรือ”

ส่วนพระยาสีหราชเดโชชัยเมื่อเห็นพระยาพหลฯก็ปรี่เข้าไปหมายจะชกหน้าพรคะยาพหลฯแต่ถูกกันตัวไว้ได้

ทางด้านตำหนักของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีอีกพระองค์หนึ่งนั้น มีตำรวจสันติบาลส่งคนมาทูลว่า พวกทหารกำลังออกไปเที่ยวเชิญเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ตามบ้าน ขอให้ทรงระวังพระองค์ พระองค์ตรัสว่า

“ฉันเกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ ไม่หนี ฉันไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร จะเป็นไรก็เป็นกัน”

ครั้นผู้ก่อการฝ่ายทหารนำทหารเข้ามาในพระตำหนักของพระองค์เพื่อทูลเชิญไปเป็นตัวประกัน พระองค์ตรัสว่า

“ฉันก็เป็นทหารและรู้จักเกียรติของทหารดี แม้เพียงคุณบอกว่าให้ไปที่นั่นเวลานั้น โดยไม่พักต้องควบคุม ฉันก็จะไปให้ถึงที่นั่นตามสัญญา”

เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สองอภิรัฐมนตรีถูกนำมาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในฉลองพระองค์ชุดผ้าม่วงและเสื้อราชปะแตน ได้เผชิญหน้ากับแกนนำของผู้ก่อการ กรมพระยาดำรงฯรับสั่งว่า

“ฉันน่ะไม่มีอะไรหรอก แก่เฒ่าแล้วไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับเขา จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ”

ส่วนอภิรัฐมนตรีอีกพระองค์หนึ่ง คือกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน บิดาแห่งการรถไฟที่อยู่ในรายชื่อที่ต้องเชิญมาเป็นตัวประกันในพระที่นั่งอนันตสมาคม ปรากฏว่าทรงหลบหนีไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหินได้ ความข้อนี้ ทศ พันธุมเสน บุตรชายของพระยาทรงสุรเดชสันนิษฐานว่า

“เป็นเพราะกรมพระกำแพงฯเรียนสำเร็จเป็นทหารช่างคนแรกของประเทศ เป็นบิดาของเหล่าทหารช่าง และเป็นครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณของคุณพ่อที่เป็นทหารช่างด้วย ท่านจึงปล่อยตัวไป”

เช้าวันนั้นขณะราฎรได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ นายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายสิบคนมาคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน คณะราษฎรออกแถลงการณ์ด้วยว่า หากผู้ใดขัดขวางหรือต่อต้านคณะราษฎร ตัวประกันเหล่านั้นจะต้องถูกทำร้าย

บทบาทฝ่ายพลเรือน

การก่อการปฏิวัติในครั้งนี้แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เมื่ฝ่ายผู้ก่อการนำโดยนายสงวน ตุลารักษ์ และร.ท.ขุนศรีศรากรกับพวกบุกเข้าไปจับตัวผู้บัญชาการกองพลที่๑ พลตรี พระยาเสนาสงคราม เกิดการปะทะกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แทนที่จะได้คุมตัวแม่ทัพผู้นี้ไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กลับต้องพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลาง

ทางด้านผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนได้แยกย้ายกันไปยึดสถานที่สำคัญต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย หลายคนนำอาวุธปืนติดตัวไปจากบ้านด้วน โชคดีที่ผู้ก่อการสองพี่น้องคือนายประเสริฐและนายบรรจง ศรีจรูญ เป็นเจ้าของร้านปืน จึงเป็นกำลังสำคัญในการจัดหาอาวุธปืนให้แก่ฝ่ายพลเรือน

สถานีโทรศัพท์กลางและกรมไปรษณีย์ที่วัดเลียบถูกยึดตั้งแต่เวลา๔.๐๐น. สายโทรเลข สายโทรศัพท์ ถูกตัดเพื่อตัดการสื่อสารของฝ่ายรัฐบาล โดยฝีมือของนายประยูร ภมรมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นายวิลาศ โอสถานนท์ และสองพี่น้องร้านปืน

มีเกร็ดขอเล่าเสริมตรงนี้ว่า นายวิลาส โอสถานนท์ ถูกมอบหมายให้ทำลายเสาโทรเลขร่วมกับนายควบ อภัยวงศ์ ต่อมานายควบเป็นผู้หนึ่งที่ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัครผู้แทนราษฏรในเขตอำเภอยานนาวาแข่งกับนายวิลาสซึ่งอยู่คนละพรรค เมื่อวันที่๖มกราคม๒๔๘๙ เกิดคำโฆษณาหาเสียงเป็นที่ฮือฮาในสมัยนั้นว่า “เหล็กวิลาสหรือจะสู้ตะปูควง”

ในเวลานั้นสถานที่สำคัญของทางราชการต่างๆในกรุงเทพฯ ถูกคณะราษฎรเข้ายึดและควบคุมไว้เกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นพระบรมมหาราชวัง วังสวนสุนันทา กรมช่างแสง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สถานีรถไฟหัวลำโพง กรมรถไฟหลวง กรมอากาศยาน ฯลฯ

ภายในระยะเวลาประมาณสามชั่วโมงตั้งแต่ตอนนัดรวมพลเมื่ออรุณรุ่งหกโมงเช้า คณะราษฎรยึดอำนาจในกรุงเทพฯไว้ได้จนหมดสิ้นโดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายรัฐบาล หลังจากที่ใช้เวลาในการเตรียมตัวก่อการครั้งนี้นานถึง ๗ปี ๔เดือน ด้วยจิตใจอันแน่วแน่ ความสำเร็จนี้มาจากแผนการที่กระทำต่อเนื่องอย่างรวดเร็วฉับพลัน ตั้งแต่การลวงทหาร การจับตัวประกัน และการตัดการสื่อสาร

ทางด้านนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรับหน้าที่เขียนแถลงการณ์ ได้ลอยเรืออยู่ในคลองบางลำพูข้างวัดบวรนิเวศฯแจกจ่ายแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎร” ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของตัวเองชื่อ นิติสาสน์ หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆหรือฝ่ายผู้ก่อการทำการไม่สำเร็จ ก็จะทิ้งใบปลิวลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทำลายหลักฐาน แถลงการณ์นั้นมีใจความสำคัญบางตอนว่า

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง... ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าทันถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎร และยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ไขความชั่วร้ายก็โดยที่จะจัดการปกครองโดยมีสภา...คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ...”

ต่อมาได้มีการแจกใบปลิวอีกฉบับ เป็นแถลงการณ์ของกรมพระนครสวรรค์ฯ มีใจความว่า

ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น

ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเองโดยไม่จำเป็นเลย

(ลงพระนาม) บริพัตร
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

เมื่อแถลงการณ์นี้ออกเผยแพร่ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าคณะราษฎรสามารถยึดอำนาจการปกครองได้อย่างเด็ดขาด ต่อมามีประกาศให้ข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมต่างๆทำงานต่อไปตาปรกติ

ตลอดวันที่๒๔มิถุนายน หลังจากประชาชนได้ทราบข่าวการปฏิวัติของสามัญชนครั้งแรกในแผ่นดินสยาม ผู้คนได้หลั่งไหลกันมาที่บริเวณถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความตื่นเต้น ขณะที่ทหารและพลเรือนบ้างขึ้นรถบรรทุก บ้างลงเรือไปตามลำน้ำ กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ และธนบุรี อ่านประกาศแถลงการณ์คณะราษฎรให้ประชาชนฟังตลอดทั้งวัน

ที่สี่กั๊กพระยาศรี มีคนของคณะราษฎรคอยอ่านประกาศอยู่ที่นั่น มีประชาชนสนใจมาฟังอย่างเนืองแน่น

๑๖.๐๐น. คณะราษฎรจัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร เสนาบดี และปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ที่สำคัญคือให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้ต่อสถานทูตต่างๆในกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนเป็นผู้มีบทบาทสูงสุด เนื่อจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารไม่สันทัดในเรื่องนี้

๑๗.๔๕น. นายทหารคนหนึ่งประกาศว่า

“พระที่นั่งอนันต์ฯแต่ก่อนมามีแต่ธงตราครุฑ บัดนี้จะได้เปลี่ยนเป็นธงชาติแต่วาระนี้ไป”

พอธงไตรรงค์สามสีถูกชักขึ้นไปแทนบนยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคณะราษฎร เสียงไชโยโห่ร้องจากทหารและประชาชนนับหมื่นคนที่ไปชุมนุมกันอยู่ ก็ดังกึกก้องขึ้นทั่วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

คืนนั้นสถานีวิทยุกระจายเสียงประกาศการยึดอำนาจและการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้คนไทยและชาวโลกรับทราบอย่างเป็นทางการว่า “บัดนี้ประเทศสยามได้เกิดการปฏิวัติแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้กันมาหลายร้อยปีได้อวสานลงแล้ว สยามตื่นตัวและกำลังจะก้าวไปข้างหน้าแล้ว”

ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกเหตุการณ์หลังจากที่ได้ฟังวิทยุในคืนนั้นไว้ว่า “...แล้วก็อ่านรายชื่อผู้ก่อการ พออ่านจบทุกคนก็ลืมตาโพลง พระราชธรรมฯเอามือกุมหัวร้องออกมาว่า ‘ฉิบหายแล้ว’ เพราะไม่มีชื่อใครที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ว่าจะทำได้สำเร็จ ...มิสเตอร์จอส์น กงสุลอังกฤษถามว่า ‘ท่านรู้ไหมว่าหลวงประดิษฐ์คือใคร ข้าพเจ้าบอกว่า ‘ไม่รู้เลยทีเดียว’ มิสเตอร์จอส์นตอบได้ทันทีว่า ‘พ่อเป็นเจ๊ก เกิดที่กรุงเก่า’ ”

วิทยุคืนนั้นเปิดการกระจายเสียงด้วยเพลง “มหาชัย” แทนที่จะเป็นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” อย่างที่เคยทำกันมาเป็นปรกติ เป็นเรื่องบังเอิญที่เพลง “มหาชัย”นั้น ผู้แต่งทำนองคือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ก่อนเที่ยงคืนของวันที่๒๔มิถุนายน เสียงปืนกลดังระรัวขึ้นกลางดึกปลุกให้คนในละแวกนั้นตื่นกลัวว่า การนองเลือดกำลังเกิดขึ้นแล้วหรือ ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ว่า

“ เสียงปืนกลดังเปรี๊ยะๆ ลั่นจนข้าพเจ้าลืมตา พอดีน้องสาวสองคนเปิดมุ้งเข้ามาอยู่รวมกันทันที เราลุกขึ้นนั่งหัวชนกันดูนาฬิกาว่า ๕ทุ่มเศษ เสียงปืนก็ยังไม่หยุด ดังลั่นอยู่ทางพระที่นั่งอนันต์ฯ แล้วก็ดังอีกเป็นพักๆ เรานั่งตะลึงพึมพำกันว่า ‘ตายหมดแล้วหรือ หรือใครต่อสู้’ แต่ใครเล่าจะเป็นผู้ตอบได้ในเวลานั้น นอกจากนอนลืมตาอยู่บนที่นอนเดียวกันเช่นนั้น จนเช้าไปกับที่ ”

เสียงปืนกลที่ดังขึ้นนั้น ภายหลังทราบว่าเป็นฝีมือของ ร.ท.ขุนศรีศรากร ที่รัวปืนกลขึ้นฟ้าด้วยความเครียดสุดขีด นึกว่าฝ่ายรัฐบาลจะบุกเข้าโจมตีคณะราษฎรในคืนนั้น

กระจ่างเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนนั้นว่า

“จะชนะหรือแพ้ก็ไม่รู้นะครับ รู้แต่ว่ามาทำตามหน้าที่ พวกเรารวมพลกันอยู่ที่นั้น ไม่รู้ว่าใครจะมาสู้เอาคืน แต่ว่าเราได้ไอ้แอ๊ดมาแล้ว สมัยก่อน กองพันอื่นเขาไม่มี แต่เราเอากองพันรถเกราะมาอยู่กับเรา ถ้ามีใครยิงเข้ามา บุกเข้ามาก็ยิงกันเละ ”

จากไกลกังวลสู่ศุโขทัย

ในใจของแกนนำคณะราษฎรทราบดีว่า แม้จะสามารถยึดอำนาจได้แล้ว แต่โจทย์ใหญ่อีกประการหนึ่งยังแก้ไขไม่สำเร็จ นั่นคือ จะทำอย่างไรให้พระบาทสมเพ็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สยามประเทศ

จาก “พระราชบันทึกทรงเล่า” ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีความตอนหนึ่งว่า

“เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ พอเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พระยาอิศราฯเป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ ในหลวงก็รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก เล่นกันต่อไปเถอะ แต่ฉันกลับก่อนแล้ว จึ่งไม่ทราบเรื่องจนเสด็จกลับก็รับสั่งกับฉันว่า ‘ว่าแล้วไหมล่ะ’ ฉันทูลถามว่า ‘อะไร ใครว่าอะไรที่ไหนกัน’ จึงรับสั่งให้ทราบว่า มีเรื่องยุ่งยากทางกรุงเทพฯ ยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์ ระหว่างนั้นก็ทราบข่าวกระท่อนกระแท่นจากวิทยุ แต่ก็ไม่แน่ว่าอะไรเป็นอะไร...”

ทางด้านคณะราษฎรได้ตกลงกันว่าจะส่งทูตไปเจรจากับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทำหนังสือกราบบังคมทูลว่า

“ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน

“คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึ่งขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฏรได้สร้างขึ้น

“ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน๑ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็กษัตริย์”

ลงนามโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเนย์

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถือหนังสือไปเจรจาคือ น.ต.หลวงศุภชลาศัย ผู้ก่อการคนสำคัญฝ่ายทหารเรือ และราชพาหนะที่จะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคือ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งบรรจุอาวุธจำนวนหนึ่งในสี่ของอัตราศึก และไปถึงหัวหินในเวลา๑๐.๐๐น. ของวันที่๒๕มิถุนายน

เรือรบหลวงสุโขทัยจอดทอดสมอห่างจากฝั่งหัวหินราว ๒,๕๐๐เมตร น.ต.หลวงศุภฯลงเรือเล็กเพื่อนำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ และสั่งให้ทหารบนเรือเตรียมพร้อมเต็มที่ “หากยังไม่เห็นข้าพเจ้ากับคณะกลับลงมาที่เรือบด ให้ปืนใหญ่หัวเรือระดมยิงโดยมิพักต้องคำนึงถึงข้าพเจ้าและคณะแต่ประการใด ”

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าว่า “ต่อมาในหลวงก็ทรงได้รับโทรเลขมีความว่า ทางกรุงเทพฯได้ส่งเรือรบมาทูลเชิญเสด็จกลับ ในหลวงก็รับสั่งว่า มาก็มาซิ หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ หลวงศุภชลาศัยก็มาถึง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร(สมุหราชองครักษ์) สั่งให้ปลดอาวุธเสียก่อนถึงจะให้เข้าเฝ้าฯ ทางวังไกลกังวลน่ะก็เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน ทหารรักษาวังกองร้อยพิเศษไปตั้งปืนที่หน้าเขื่อน เสร็จแล้วหลวงศุภฯก็ขึ้นมาข้างบน ...ทูลเชิญเสด็จกลับโดยเรือหลวงสุโขทัย ในหลวงท่านรับสั่งว่า ไม่กลับหรือกเรือสุโขทัย พวกนั้นจึงกลับไป ระหว่างนั้นเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร บางคนก็กราบบังคมทูลว่าให้เสด็จออกไปข้างนอกเสียก่อนแล้วค่อยต่อรองกันทางนี้ ท่านรับสั่งว่า ‘ไม่ได้’ ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ เจ้านายหลายองค์ก็ถูกจับเป็นประกันอยู่ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ทำอะไร แต่ก็รับสั่งว่าจะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่เพราะฉันต้องไปกับท่าน... ในตอนนั้นฉันจำได้ว่าเป็นเวลาเย็นแล้ว กรมพระกำแพงฯ ซึ่งจะหนีจากกรุงเทพฯไปได้อย่างไรไม่รู้ ได้ขอเข้าเฝ้าฯ ท่านบอกว่า ไม่มีประโยชน์หรอก เขาเข้ากันได้หมด ทุกคนจึงได้แต่ฟังเอาไว้เฉยๆ แต่ก็ตกลงว่าจะเดินทางกลับโดยรถไฟ”

บุคคลสำคัญที่มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายความเห็นที่พระตำหนัก ได้แก่ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระสัสสุระ(พ่อตา) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี(พระชนนีของสมเด็จฯ) กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระองค์เจ้าอลงกฎ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลตรี พระยาพิไชยสงคราม แม่ทัพกองทัพที่๑ ส่วนใหญ่ถวายความเห็นให้ทรงสู้โดยคิดว่าทหารหัวเมืองส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีหรือไม่ก็หนีไปหาดใหญ่เพื่อถ่วงเวลาในการเจรจากับคณะราษฎร แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ถวายความเห็นไปอีกทางหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ในอีกสองเดือนต่อมาว่า

“...ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จและหญิงอาภาควรได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูง ที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้น เพราะว่าเราทุกๆคนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯต่อไปเขาอาจฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้น ฉันเห็นด้วยทันที”

๒๕มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก ถ้าเพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ...”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษ ที่ทางฝ่ายผู้รักษาพระนครส่งมาแทนเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งเล็กคับแคบไม่สมพระเกียรติ ตามคำร้องขอของหลวงศุภฯ

หลวงศุภชลาศัยเล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีพระราชดำรัสว่า

“ตาบุง(หลวงศุภฯ) เธอรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม...นี่เธอจะมาจับฉันใช่ไหม...”

เมื่อหลวงศุภฯปฏิเสธ ก็รับสั่งต่อไปอีกว่า

“จะไม่ให้เกียรติยศแก่ฉันในฐานะพระเจ้าแผ่นดินบ้างเชียวรึ ฉันก็ยอมทุกๆอย่างแล้วนี่นะ”

มรดกชิ้นสุดท้าย

เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งมาถึงพระนครในเวลาตีหนึ่งเศษของวันที่ ๒๖มิถุนายน นั้น หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ดวงประทีป ฉบับประจำวันที่๑กรกฎาคม๒๔๗๕ รายงานบรรยากาศว่า

“...ในเวลากลางคืนดึกสงัดปราศจากกองทหาร มีแต่ลูกเสือไปเฝ้ารับเสด็จ ข้าราชการที่ไปคอยเฝ้ารับเสด็จมีแต่ข้าราชการกระทรวงวัง ไฟที่สถานีจิตรลดาขมุกขมัว ความมืดกับความเงียบสงัดผสมกัน และนอกจากเสียงล้อรถยนต์บดถนนแล้วก็ไม่มีเสียงอันใด เป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสู่พระนครในท่ามกลางความมืดและเยือกเย็น...ผู้ได้เห็นยังยืนยันว่ายังทรงร่าเริงอยู่อย่างปรกติ ”

เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎรเจ็ดคนได้เดินทางเข้าเฝ้า ณ วังศุโขทัย นำเอกสารสำคัญขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายรวมสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช๒๔๗๕ ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช๒๔๗๕

ภารกิจสำคัญของคณะราษฎรภายหลังการยึดอำนาจแล้วคือ การเร่งสถาปนาระบอบใหม่ที่มาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิได้หมายถึงการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายมีความหมายมากกว่านั้น คือ

- การมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลใหม่จะบริหารประเทศอย่างมีหลักเกณฑ์แน่นอนเป็นลายลักษณ์อักษร มิได้เป็นไปตามน้ำพระทัยส่วนพระองค์เช่นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

- รัฐธรรมนูญเป็นทั้งที่มาและเป็นหลักประกันแห่งสิทธิของราษฎร ดังจะเห็นได้จากมาตราแรกของธรรมนูญฉบับนี้ที่ประกาศว่า “อำนาจสุงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

- รัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันในการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ว่า จะไม่ทรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์อีกต่อไป แต่จะมีการแบ่งอำนาจเป็นสามส่วน คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

- รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของระบอบใหม่ ถูกยกเป็นหนึ่งในสี่ของคำขวัญคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ มีการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นมิ่งขวัญของประเทศ มีการส่งผู้แทนออกไปเผยแพร่รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด

ในช่วงเวลานั้น คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นคำพูดที่เริ่มติดปากคน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร จนบางคนคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกชายของพระยาพหลฯ

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพุทธศักราช๒๔๗๕ แต่ได้ทรงขอตรวจพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ ๒๗มิถุนายน โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติว่า “ชั่วคราว” ซึ่งมีความหมายว่า มิใช่สิ่งที่ผู้นำของคณะราษฎรจะกำหนดได้ฝ่ายเดียว จะต้องมีการประนีประนอมออมชอมกับฝ่ายอื่นต่อไป

คืนนั้น เพลงปิดรายการวิทยุกระจายเสียงที่เคยเป็นเพลง “มหาชัย” ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ดังเดิม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกในเวลาต่อมาว่า

“ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว ...ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะพยายามรักษาความสงบไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึ่งได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย...”


Create Date : 18 ธันวาคม 2554
Last Update : 18 ธันวาคม 2554 1:13:30 น. 2 comments
Counter : 611 Pageviews.

 
ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถือได้ว่าเป็นวันแห่งความผันผวนครั้งใหญ่ทางการเมือง จนมีการประนีประนอมระหว่างกลุ่มพลังในสังคม และมีการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว ๗๐คน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ จากวันนั้นไปจนถึงคืนก่อการเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘พฤศจิกายน ๒๔๙๐ (ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกไปอยู่ใต้อำนาจเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องไปอีกยาวนาน) นับเป็นเวลา๑๕ปีอันถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่สมาชิกของคณะราษฎรได้มีอำนาจและบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ จะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีทุกคนที่ได้รับเลือกมาในช่วงเวลานั้น หากไม่ใช่สมาชิกคณะราษฏรเอง ก็เป็นบุคคลที่คณะราษฎรสนับสนุนอย่างเข้มแข็งทั้งสิ้น


อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลานั้นเกิดความแตกแยกขัดแย้งขึ้นในหมู่คระราษฎร มีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า อาทิ กรณีเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์, กบฏบวรเดช, ความขัดแย้งระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม, การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต้องยอมรับว่า สิ่งที่คณะราษฎรสร้างสำเร็จในวันนั้น และยังสืบทอดมาจนปัจจุบันก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ดังที่ กระจ่าง ตุลารักษ์ คณะราษฎรคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นทรัพย์สมบัติของประชาชนคนรุ่นหลัง ”


โดย: ขอบฟ้าบูรพา วันที่: 18 ธันวาคม 2554 เวลา:1:14:04 น.  

 
สีตัวอักษรอ่านยากมากค่ะ



โดย: addsiripun วันที่: 18 ธันวาคม 2554 เวลา:16:14:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.