It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
All blogs
 

บาหลี อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรม

โดย เบบิวา



ป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตที่ยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิม แต่ที่มัดใจใครต่อใครบาหลี ไม่ใช่จุดหมายใหม่ของนักเดินทางชาวไทย และอาจจะไม่ใช่ดินแดนในฝันถึงขนาดลั่นวาจาว่าจะต้องไปให้ได้ “สักครั้งในชีวิต” แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่ยังไม่เคยไปบาหลี ขอบอกว่า..."ถือเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง"

บาหลีเป็นเกาะเล็กๆ ของอินโดนีเซีย ได้รับการขนานนามว่า "อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย" ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ถึงไม่สวยบาดตา แต่ก็มีเสน่ห์เพียบพร้อม เกาะเล็กๆ นี้มีทั้งชายหาดที่สวยงาม ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตที่ยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิม แต่ที่มัดใจใครต่อใคร ดูจะ




เป็น..ผู้คนที่ไม่เคยหวงแหนรอยยิ้มและมิตรไมตรี


ฉันวางแผนการเดินทางนานเป็นเดือน เพื่อจะใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำด้วยต้นทุนที่ต่ำจริงๆ หรือจะเรียกว่าเตรียมตัวกันนานเป็นปีก็ได้ หากนับจากวันที่สัญญากับตัวเองว่า สบโอกาสเมื่อไหร่จะสูดกลิ่นบาหลีให้ชื่นใจ

หลังจากสำรวจความสนใจของตัวเองและหาข้อมูลตามสมควร ฉันเลือก อูบุด (Ubud) เพื่อทำความรู้จักกับบาหลีแบบย่นย่อ


ไม่ต้องอ้อมค้อมและไม่วอกแวก ทันทีที่ถึงสนามบินนานาชาติเดนปาซาร์ เราใช้บริการแท็กซี่ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายแบบ ที่สำคัญต่อรองราคากันได้ มุ่งตรงสู่เมืองเล็กๆ ที่เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกแบบยิ้มๆ ว่า “ถ้าไม่หลงรักก็ออกจะเย็นชาเกินไป”

แม้ความง่วงที่สะสมมาจากกรุงเทพฯ จะบั่นทอนร่างกายพอสมควร แต่ใครเล่าจะหลับลง ยิ่งเมื่อถนนพาเรามุ่งหน้าออกจากเมือง อาคารบ้านเรือน ร้านค้า แกลลอรี่ต่างๆ ล้วนตกแต่งประดับประดาด้วยลวดลายแบบบาหลีที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ต่างจากสถาปัตยกรรมในบ้านเราที่อ้างอิงบาหลีแต่ดูไร้จิตวิญญาณ ขาดมิติทางศิลปะอย่างเทียบกันไม่ได้

คนขับแท็กซี่พาเราแวะชมโรงงานผ้าบาติกเป็นการเรียกน้ำย่อย ที่นี่มีทั้งการสาธิตการทำผ้าบาติก ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผ้าบาติกหลากสีสัน จะแค่ชมหรือช้อปไปเป็นของฝากของที่ระลึกก็ได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง เราจึงขอแค่เก็บข้อมูลไว้ก่อน


ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ อูบุดก็ทักทายนักเดินทางชาวไทยด้วยบรรยากาศแบบชนบท ก่อนจะเข้าสู่ถนนสายศิลปะที่มีทั้งภาพเขียน งานแกะสลักไม้ชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงประติมากรรมขนาดใหญ่




เราบอกให้แท็กซี่ไปส่งที่ ถนน Monkey Forest แหล่งเกสท์เฮ้าส์สำหรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าเบา ทันทีที่เห็นป่ากลางเมือง หรือจะเรียกว่าสวนสาธารณะก็ไม่ผิด ขวักไขว่ไปด้วยนักท่องเที่ยวและลิงจอมซน เป็นอันรู้กันว่า...ถึงที่หมายแล้ว

การหาเกสท์เฮ้าส์ราคาประหยัดในอูบุดไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยการเดินซอกแซกเข้าไปตามตรอกซอกซอย มีทั้งที่ตกแต่งสไตล์บาหลีเต็มรูปแบบ และแบบเรียบง่ายไม่เน้นบรรยากาศ ซึ่งแน่นอนว่าราคาย่อมแตกต่างกันไป


เมื่อได้ที่พักเหมาะใจแล้ว เราใช้เวลาในช่วงเย็นเดินเล่นไปตามถนนที่สองฟากมีทั้งร้านขายสินค้าแบรนด์เนม ร้านขายของพื้นเมือง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ก่อนจะหยุดตรง "โรงละคร" จุดนักหมายของนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน


โรงละครที่นี่มีทั้งที่เป็นอาคารประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นสวยงามแปลกตา และที่เป็นลานโล่ง การแสดงส่วนใหญ่เรียกว่า “บารอง” ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวบาหลี


สำหรับคนขี้เมื่อย หากยังไม่อยากชมการแสดงก็สามารถไปนวดผ่อนคลายสไตล์บาหลีได้ตามสปาที่มีอยู่หลายแห่ง รับรองว่าจะหลับสบายตลอดคืน ส่วนฝันดีหรือฝันร้าย (อีกเรื่องหนึ่ง)

-1-

อาหารเช้าแบบเรียบง่ายเสิร์ฟที่หน้าห้องโดยหนุ่มบาหลีผู้มีรอยยิ้มเหลือเฟือ ...ขนมปัง ผลไม้ และกาแฟสีขุ่นๆ เข้ากันได้ดีสีขรึมๆ ของห้องพักที่รายล้อมด้วยต้นลั่นทมอวดดอกสีชมพูสด

เช้าแรกในอูบุด อากาศเย็นสบายจนแทบไม่อยากขยับตัวไปไหน แต่นี่ไม่ใช่เวลาอ้อยอิ่ง เรามีนัดหมายกับคนขับรถซึ่งได้เจรจาเรื่องเส้นทางและต่อรองราคากันไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ...8 นาฬิกาเป็นเวลาล้อหมุน

ข้อดีของบาหลีก็คือ นักท่องเที่ยวที่ชั่วโมงบินไม่มากสามารถเดินทางมาเองได้ไม่ยาก ขอให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้พอประมาณ บอกทิศบอกทางต่อรองราคาได้ก็น่าจะเอาตัวรอดได้ บนถนน Monkey Forest จะมีร้านค้าที่ขายทัวร์แบบวันเดย์ทริป มีโปรแกรมให้เลือกตามความพอใจ หรือถ้าไปกันหลายคนจะหารถเช่าพร้อมคนขับ ก็มีทั้งที่เป็นบริษัทและรถส่วนบุคคลให้เลือกตามความพอใจ

เราตกลงปลงใจกับรถมินิแวน 6 ที่นั่ง หลักเกณฑ์ในการพิจารณา นอกจากโหงวเฮ้งคนขับแล้วก็คงเป็นเรื่องราคาที่สมเหตุสมผล

สารถีของเราพาไปเปิดม่านบาหลีด้วยการชมระบำบารอง (Barong) การแสดงที่มีชื่อเสียง เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายดี กับปีศาจ "บารอง" เป็นคนครึ่งสิงห์ตัวแทนฝ่ายดี ส่วน "รังดา" เป็นมารร้าย ทั้งสองมีสมุนอีกหลายตัวต่อสู้กัน ในที่สุดก็จบลงตรง...ธรรมะย่อมชนะอธรรม

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงละครที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวมานักต่อนัก แต่อย่าได้จินตนาการถึงโถงอาคารและเวทีการแสดงหรูหรา โรงละครสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยวัสดุในท้องถิ่น ด้านข้างเป็นทุ่งโล่ง ส่วนด้านหลังคือต้นไม้ใหญ่น้อยตามธรรมชาติซึ่งถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของฉากการแสดงได้อย่างไม่เคอะเขิน

หลังปิดม่านการแสดง ผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือด้วยความประทับใจ เหนืออื่นใดนักแสดงพื้นบ้านเหล่านี้ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั่นคือ การรักษา "คุณค่า" แบบดั้งเดิมไว้โดยไม่จำเป็นต้องปรับให้เป็น "สากล" เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวเหมือนหลายๆ แห่ง

ก่อนจะเดินทางต่อไปยังที่หมายถัดไปซึ่งมีชื่อเรียกแบบไทยๆ ว่า "ถ้ำช้าง" เราได้รับคำแนะนำให้แต่งกายตามธรรมเนียมการเข้าชมศาสนสถาน ผู้หญิงจะต้องนุ่งผ้าโสร่งหรือกระโปรงยาวโดยมีผ้าคาดเอว ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชม แต่ถ้าไม่ได้เตรียมมาโดยทั่วไปจะมีบริการให้ยืมหรือให้เช่าแล้วแต่สถานที่




จ่ายค่าบัตรเรียบร้อย ฉันหยิบผ้าคาดเอวที่เตรียมมาคาดทับลงไปที่ขอบกระโปรงยาวกรอมเท้า เดินไปตามทางลงสู่เบื้องล่าง มองเห็นบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ และปากถ้ำอยู่อีกด้านหนึ่ง

ตามประวัติระบุว่า ปุรากัวกาจาห์ (Pura Goa Gajah) หรือวัดถ้ำช้าง ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวดัตช์ เมื่อปี ค.ศ. 1923 มีสิ่งที่โดดเด่นคือแผ่นหินแกะสลักหน้าปากทางเข้าถ้ำ ลักษณะเป็นการเจาะจากด้านหน้าของหินผา มองดูคล้ายใบหน้าช้าง บ้างก็ว่าคล้ายยักษ์อ้าปากกว้าง ชาวบาหลีเชื่อว่า นี่คือปากของปีศาจร้าย ภายในถ้ำด้านหนึ่งเป็นรูปปั้นพระพิฆเนศ ส่วนอีกด้านเป็นรูปปั้นศิวลึงค์ตามความเชื่อของฮินดู

ใกล้ๆ กันคือสระศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำไหลพุ่งจากรูปแกะสลักสตรี 6 นาง ชาวบาหลีเชื่อว่า ถ้าใครอยากมีลูกให้มาดื่มหรืออาบน้ำที่นี่ จะมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ...ฉันลองเอามือวักน้ำมาประพรมเนื้อตัว ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ แค่อยากรู้ระดับอุณหภูมิ ซึ่งก็ได้ผล..เย็นสดชื่นจริงๆ

ก่อนจะเผลอลงไปอาบน้ำในสระ เราเดินทางต่อไปยัง ปุราเตียร์ตาอัมปึล (Pura Tirta Empul) หรือ วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ มีบ่อน้ำเหมือนกัน แต่ความเชื่อต่างกัน น้ำพุแห่งนี้ผุดขึ้นจากใต้ดิน เป็นที่เคารพสักการะของชาวบาหลี เชื่อว่าพระอินทร์เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดน้ำพุ หากใครได้มาอาบน้ำจะเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งเลวร้าย ทั้งยังรักษาโรคต่างๆ ได้ ก่อนการอาบน้ำจะมีการทำพิธีบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำพุที่แท่นบูชา จากนั้นจึงมาอาบน้ำกันที่ "ที่อาบน้ำโบราณ" สร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10

แม้จะอยากจะลงอาบน้ำกับเขาบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา สาวไทยจึงได้แต่สังเกตการณ์ รอบๆ บริเวณนอกจากจะมีสถาปัตยกรรมสไตล์บาหลีที่ขรึมขลังแล้ว ยังมีบ้านพักหลังใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง สอบถามได้ความว่าเป็นบ้านพักประธานาธิบดีซูฮาร์โต จะถูกผิดอย่างไรไม่แน่ใจ แต่มุมนี้ก็ถูกบันทึกไว้พร้อมเจ้าของกล้องเรียบร้อย

ผ่านไปครึ่งวัน สารถีบอกว่านี่แค่ออเดิฟ เพราะหลังจากนี้เขาจะเสกภาพในโปสการ์ดให้เห็นต่อหน้าต่อตา ขับรถขึ้นเขามาได้ไม่นาน ภาพหมู่บ้านที่มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟสูงทะมึน รายล้อมด้วยทะเลสาบสงบนิ่งในชื่อ “คินตามณี” ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า

กุนุงบาตูร์ หรือภูเขาไฟคินตามณี ภาษาราชการเรียกว่า Mount Batur มีความสูง 1,171 เมตร อยู่ติดกับทะเลสาบบาตูร์ เป็นภูเขาไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 บนเกาะบาหลี ในอดีตภูเขาไฟแห่งนี้เคยปะทุพ่นลาวาทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย แต่ทุกวันนี้กลับชดเชยด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี

เพื่อให้ได้ละเลียดวิวแบบพาโนรามา สารถีเจ้าถิ่นแนะนำให้ฝากท้องไว้กับร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์บนจุดที่อยู่สูงขึ้นไป เป็นมื้อที่อร่อยพอประมาณ แต่อิ่มไปด้วยบรรยากาศ ท้องฟ้าสีสดใสไล่โทนกับภูเขาไฟซึ่งยามนี้ดูสงบเยือกเย็นไร้พิษสง เบื้องล่างเหมือนไร้ความเคลื่อนไหว แต่เราต่างรู้ดีว่าชีวิตของผู้คนหมุนเปลี่ยนไปตามคืนวัน เช่นเดียวกับแสงและเงาที่เล่นล้อกับธรรมชาติเสมอมา

หมู่บ้านคินตามณี นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมี ปุราเบซากิห์ (Pura Besakih) หรือวัดเบซากิห์ (บางคนออกเสียงว่าเบซากีห์) เป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบาหลีด้วย

ด้วยอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบด้วยวัดเล็กๆ อีก 23 แห่ง เรียงรายอยู่เป็นขั้นๆ กว่า 7 ขั้นไปตามไหล่เขา ภาพที่เห็นจึงเปรียบเหมือนฉากอันตระการตาของมวลหมู่เจดีย์ซึ่งมีความสูงต่ำลดหลั่นกันไป ในยามที่ฝนโปรยปราย หมอกบางๆ ส่งให้วัดที่อยู่สูงจากระดับสายตาดูไม่ต่างจากวิมานของปวงเทพ

ฉันค่อยๆ เดินขึ้นไปตามบันไดที่พุ่งตรงสู่ใจกลางศาสนสถาน สายตายังจับจ้องยังเบื้องบน แต่แล้วต้องหยุดชะงักเพราะผู้ดูแลวัดส่งสัญญาณว่า "ขึ้นมาไม่ได้"

แม้จะมีทางเดินอันสง่างามอยู่ด้านหน้า แต่นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ชาวฮินดูจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทางนี้ ต้องใช้บันไดด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้บริการไกด์ท้องถิ่นเพื่อนำชมรอบบริเวณ ไม่เช่นนั้นอาจเจอกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการตามตื๊อแบบไม่ลดราวาศอก แต่ถ้าถือว่าเป็นการสนับสนุนรายได้ของคนท้องถิ่นก็ไม่มีอะไรให้ต้องหงุดหงิด



-2-

โมงยามที่เพิ่มขึ้นในอูบุด ไม่เพียงร่ายมนต์ให้สาวไทยเริ่มหลงเสน่ห์ ยังเผยให้เห็นศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมคลายแม้ว่าโลกสมัยใหม่จะมาเยือนบาหลีนานแล้ว

เช้าวันใหม่ ตามบ้าน ร้านค้า เกสท์เฮ้าส์ หรือแม้แต่ถนนหนทางต่างๆ จะมีกระทงดอกไม้หลากสีวางไว้สำหรับบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เว้นแม้รถยนต์ที่ใช้ในการเดินทาง

สารถีคนเดิมบอกว่า คนบาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู พวกเขาเชื่อว่าในทุกๆ สิ่งจะมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ การกราบไหว้บูชาจึงถือเป็นการแสดงความเคารพและจะทำให้ "โชคดี"

ดูเหมือนเราจะได้รับอานิสงส์นั้นไปด้วย เพราะสองวันมานี้ฟ้าฝนออกจะเป็นใจ การเดินทางก็ราบรื่น เราออกสตาร์ทกันด้วยการไปชมสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง นั่นคือ ปุราทามันอายุน (Pura Taman Ayun) เดิมเป็นวังเก่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวี มองจากภายนอกเห็นได้ถึงแผนผังที่ลงตัว ทั้งกำแพง ประตู ตัวอาคาร และสระน้ำ กระทั่งเมื่อผ่านเข้าสู่ด้านในจึงเห็นลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง

ฉันเดินไปหยุดอยู่ที่มุมหนึ่งซึ่งจัดแสดงภาพวาดสีสันสดใส ศิลปินจดจ่ออยู่กับปลายพู่กันของเขา โดยมีฉากหลังเป็นสถาปัตยกรรมอายุหลายร้อยปี แม้รูปแบบของศิลปะจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความเป็นศิลปินคงเป็นมรดกทอดของคนบาหลีด้วยเช่นกัน

ระหว่างทางไป ปุราอูลันดานูบราตัน (Pura Ulun Danu Bratan) ความคิดก็ล่วงหน้าไปถึงศาสนสถานริมทะเลสาบบราตัน ฉากหลังเป็นภูเขาสูงคลอเคลียด้วยเมฆขาว ในอดีตคงมีคนบาหลีในชุดพื้นเมืองมาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กันเป็นจำนวนมาก เพราะวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 เพื่ออุทิศแด่เทวี ดานู เทพแห่งสายน้ำ เคยใช้ทำพิธีทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู

และแล้วเมื่อรถมาหยุดลงตรงลานกว้าง ไม่รอช้า...ฉันคว้ากล้องคู่ใจเดินตามนักท่องเที่ยวคนอื่นไปติดๆ ทะเลสาบบราตัน (Lake Bratan) สงบนิ่งอยู่เบื้องหน้า ศาลาหลังคาทรงสูงเป็นชั้นๆ คือที่หมาย ยิ่งเข้าใกล้ภาพในจินตนาการก็ยิ่งแจ่มชัด คนบาหลีในชุดพื้นเมืองกำลังทำพิธีเหมือนในอดีต นี่คือของขวัญชิ้นพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์รอนแรมมาไกล

แม้จะไม่อาจบันทึกภาพได้งดงามเท่าตาเห็น แต่ในความทรงจำนั้นทุกองค์ประกอบยังคงแจ่มชัด กว่าจะละสายตาจากวัดริมทะเลสาบแห่งนี้ได้ ก็เมื่อได้รับคำเตือนว่า เราอาจจะพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ระหว่าง นาขั้นบันได กับ วัดริมทะเล

มื้อกลางวัน หรือพูดให้ถูกคือ "มื้อบ่าย" ผ่านไปอย่างรวดเร็วเรียบง่ายด้วยก๋วยเตี๋ยวข้างทางที่แม่ค้ากับลูกค้าพูดกันไม่รู้เรื่อง ได้แต่ใช้ภาษามือกับรอยยิ้มโต้ตอบกันไปมา จบไปหนึ่งอิ่มกับหนึ่งงีบเราก็มาถึงจุดชมนาขั้นบันไดที่แม้จะไม่ได้สวยที่สุด แต่ก็ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

นาขั้นบันไดถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายทางการท่องเที่ยวของบาหลี ที่เมืองไทยก็พอมีให้เห็นบ้าง แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศแล้ว นาขั้นบันไดที่นี่มีขนาดใหญ่และลดหลั่นกันสวยงาม โดยเฉพาะในฤดูกาลทำนาดูราวกับผืนพรมสีเขียวผืนใหญ่เลยทีเดียว

ระหว่างทางยังมีนาขั้นบันไดผืนเล็กผืนน้อยให้เห็นเป็นระยะ แต่ที่สวยจริงๆ คงต้องมีเหลี่ยมมุมที่เห็นได้กว้างและติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ ใช้เวลาพอสมควร รถก็มาหยุดตรงลานจอดรถขนาดใหญ่ที่ดูก็รู้ว่าสถานที่แห่งนี้จะต้องเป็นเป้าหมายของบรรดานักท่องเที่ยว

รอบๆ บริเวณเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก ทั้งผ้าบาติก รูปแกะสลัก ภาพเขียน เสื้อผ้า กระเป๋าฯ แม้จะเรียกความสนใจได้ไม่น้อย แต่เราต่างลงความเห็นว่าสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้านั้นเทียบกันไม่ได้เลย

คลื่นนักท่องเที่ยวเคลื่อนตัวสู่ ปุราทานาห์ลอต (Pura Tanah Lot) หรือ วัดทานาห์ลอต โดยไม่ได้นัดหมาย เป็นที่รู้กันว่าวัดริมทะเลแห่งนี้จะสวยบาดตายามอาทิตย์อัสดง บ่ายแก่ๆ จึงเหมือนเป็นเวลารวมพล

ไม่นานคลื่นคนก็มาสยบยอมให้กับคลื่นลมที่สาดซัดโขดหิน จุดนี้สามารถมองเห็นอาคารที่อยู่รายรอบ รวมถึงตัววัดบนเกาะเล็กๆ กลางทะเล หากเป็นเวลาน้ำลงนักท่องเที่ยวสามารถเดินข้ามไปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่ถ้าใครอยากจะใช้เวลาเหม่อมองท้องฟ้าที่ค่อยๆ เจือแสงสีทองก่อนจะส่งต่อความระยิบระยับสู่ผืนน้ำ...ก็ถือว่าไม่ผิดธรรมเนียม

เสียดายที่ไม่อาจรอให้ดวงอาทิตย์ดวงนั้นหายลับไปกับท้องทะเลเบื้องหน้า เราจำใจจากมาด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและเงื่อนไขบางประการ ทว่า ไม่ลืมคำมั่นที่ให้ไว้กับตัวเอง "สักวันจะกลับมาชมพระอาทิตย์ตกที่นี่"

อาจไม่ใช่เพราะคำร่ำลือว่าสวยกว่าที่ไหน จริงๆ ก็แค่อยากกลับมา "บาหลี" อีกสักครั้ง




การเดินทาง

การเดินทางไปบาหลีง่ายนิดเดียว มีทั้งการบินไทยและสายการบินโลว์คอสท์ให้เลือก ใช้เวลาประมาณ 1.45 นาที ก็ถึงสนามบินเดนปาซาร์ นักเดินทางชาวไทยไม่ต้องขอวีซ่า ใช้เพียงแค่หนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก็สามารถเดินทางได้ทันที เมื่อไปถึงบาหลีแล้วให้ปรับเวลาเร็วกว่าประเทศไทยอีก 1 ชั่วโมง

หน่วยเงินของบาหลีและอินโดนีเซียเป็นรูเปี๊ยะห์ (Rupiah) หากเดินทางออกไปตามหมู่บ้าน ควรแลกเงินรูเปี๊ยะห์ออกไปให้พอสำหรับการใช้จ่าย แม้ว่าร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่จะรับเงินสหรัฐ รวมถึงเงินบาทไทยก็ตาม และควรแลกเงินเฉพาะกับธนาคารหรือร้านรับแลกเงินที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

สำหรับสภาพอากาศในบาหลี อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 26 อาศาเซลเซียส มี 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งและฤดูมรสุม ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน โดยมีเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่มีอากาศเย็นที่สุด ฤดูมรสุมเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนสูงที่สุด


-------

ที่มา....//www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20100918/353571/มนตรา-บาหลี




 

Create Date : 18 กันยายน 2553    
Last Update : 18 กันยายน 2553 22:16:49 น.
Counter : 2028 Pageviews.  

ถวิลหาอดีต เซี่ยงไฮ้ (ชัฟเฟิล)

วันนี้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ถนนทุกสายมุ่งสู่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีงาน Expo 2010 World's Fair เป็นแม่เหล็กยักษ์



วันนี้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ถนนทุกสายมุ่งสู่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีงาน Expo 2010 World's Fair เป็นแม่เหล็กยักษ์ และงานนี้ได้กลายเป็นกระแสสร้างความตื่นตัวในบ้านเรา เมื่อรัฐบาลไทยอาสาจะขอเป็นเจ้าภาพในอีก 10 ปีข้างหน้ากับเขาบ้าง

คนไทยเราคุ้นเคยกับชื่อ "เซี่ยงไฮ้" กันดี ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงรู้จัก "เซี่ยงไฮ้" ในฐานะยี่ห้อขนมเวเฟอร์ (ว่ากันว่า เป็นคู่แข่งกับขนมเวเฟอร์ยี่ห้อ "ปักกิ่ง" หวานกรอบ ชอบจริงๆ ...) นอกจากนั้น ยังมีก๋วยเตี๋ยวเส้นเซี่ยงไฮ้ ก่วยเตี๋ยวหลอดเซี่ยงไฮ้ ไปนถึงหนังซีรีส์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ทั้งเวอร์ชั่นเก่า

และใหม่

แม้กระทั่งหนังใหญ่เรื่อง Shanghai ยังต้องมาหาโลเกชั่นย้อนยุค ถ่ายทำกันถึงเมืองแปดริ้วเลยด้วยซ้ำ !


เมื่อเปรียบเทียบกับมหานครอื่นๆ ในจีน จัดได้ว่า เซี่ยงไฮ้ หรือ "ช่างไห่" สะท้อนถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมยุคใหม่ระหว่างจีนกับตะวันตกจนเกิดลักษณะเฉพาะตัว ดังปรากฏร่องรอยผ่านวิถีชีวิต แฟชั่น สถาปัตยกรรม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งภาษาพูดของคนที่นี่ บางครั้งยังทำเอาคนจีนในมณฑลอื่นฟังแล้ว "อึ้งกิมกี่" คือไม่เข้าใจเหมือนกัน



ตั้งแต่ยุคอาณานิคม มหานครแห่งนี้ได้รับคลื่นความเจริญตะวันตกอย่างเต็มเหนี่ยว ตามประสาเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนได้ชื่อว่าเป็น "ปารีสตะวันออก" เซี่ยงไฮ้มาเติบโตสุดๆ อีกคราวในระยะหลัง โดยมีฐานะเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง เมื่อจีนเปิดประเทศและปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นสรีมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ ใครๆ ก็อยากไปเยือน "เซี่ยงไฮ้" สักหน เพื่อชมความเจริญในรูปแบบต่างๆ


นอกจากต้นเมเปิลเก่าแก่ที่ฝรั่งเศสปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ หรือจะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมตามเขตเช่าเดิมของพวกฝรั่งแล้ว สัญลักษณ์ของเซี่ยงไฮ้วันนี้ ยังประกอบด้วยหอไข่มุก ที่เป็นภาพสะท้อนความเจริญยุคใหม่ ส่วนใครที่สนใจร่องรอยอดีต อาจจะต้องเลาะเขตเมืองเก่าบริเวณสวน Yuyuan ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งยังคงสไตล์สถาปัตยกรรมจีนเอาไว้

แหล่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้กัน คือ ถนนหนานจิง ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนกับร้านค้าที่ตั้งเรียงราย โดยเฉพาะในยามค่ำคืน ความสว่างของแสงไฟนีออนของที่นี่ เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความมีชีวิตของมหานครแห่งนี้


ในแวดวงดนตรี มีคนอย่าง จีน ร็อดมิช แต่งเพลง Shanghai Shuffle มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1924 แล้ว และต่อมา เพลงนี้ถูกนำมาบรรเลงในวงบิ๊กแบนด์ของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน ซึ่งจัดเป็นวงดนตรีบิ๊กแบนด์วงแรกๆ ในยุคสมัยของสวิง (Swing Era) โดยเวอร์ชั่นที่มีการบันทึกเสียงในปีถัดมานั้น มี หลุยส์ อาร์มสตรอง หนุ่มวัยย่างเบญจเพส ที่เพิ่งเข้าร่วมวงของ เฟล็ทเชอร์ ฝากไลน์โซโลที่จัดจ้านร้อนแรงเอาไว้ด้วย





จากชื่อเพลง Shanghai ในที่นี้ น่าจะหมายถึงเมืองเซี่ยงไฮ้แน่นอน ส่วน Shuffle ถือเป็นจังหวะดนตรีอีกรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในเวลานั้น โดยการใช้ huffle ก็เพื่อสื่อถึงสไตล์ของเพลง เหมือนการใช้คำว่า Rag หรือ Blues ในยุคก่อนหน้านั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคนแต่งเพลง Shanghai Shuffle มีความฝังใจอันใดกับมหานครแห่งนี้ แต่พอจะอนุมานได้ว่า ณ เวลานั้น เมืองเซี่ยงไฮ้ น่าจะเป็น "สถานที่" ที่มีผู้คนพูดถึงอยู่พอสมควร อาจจะในฐานะสวรรค์อันเต็มไปด้วยแสงสีของดินแดนตะวันออก (ดังปรากฏในเพลง Shanghai ซึ่งเป็นคนละเพลงกับ Shanghai Shuffle ที่ถ่ายทอดเสียงร้องโดย ดอริส เดย์ ก็มีเนื้อความพูดถึงการเดินทางไปเยือนที่นั่น)

การหยิบเพลง Shanghai Shuffle มาฟังในห้วงเวลานี้ นับเป็นการมองย้อนอดีตความเปลี่ยนแปลงในรอบเกือบ 7-8 ทศวรรษของมหานครแห่งนี้ ที่บางคราวก็ให้อารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างจากการถวิลหาอดีตเท่าไหร่นัก


หากคุณอยากสัมผัสรสชาติแบบนั้น ขอแนะนำให้ไปฟังจากเว็บไซต์ Youtube (https://www.youtube.com/watch?v=a-1OAGBBQz0) เพื่อชมการเล่นเพลงนี้จากแผ่นครั่ง ณ ความเร็ว 78 rpm ซึ่งหาฟังได้ยาก แต่สำหรับคนที่มี perfect pitch หรือมีหูจับตัวโน้ตไม่แม่นๆ อาจจะรู้สึกรำคาญสักหน่อย เมื่อเสียงตัวโน้ตที่บรรเลงในเพลงนี้ ฟังแล้วสูงกว่าปกติพอควร สืบเนื่องมาจากคนเล่นตั้งรอบหมุนของมอเตอร์เครื่องเล่นแผ่นครั่ง เร็วกว่าปกตินั่นเอง.

Song: Shanghai Shuffle (1924)
Composer : Larry Conley & Gene Rodemich
Artists: Fletcher Henderson, Louis Armstrong, Bunny Berigan
Place : Shanghai, China
Time Zone : UTC + 8

-------------------------

โดย : อนันต์ ลือประดิษฐ์
.....//www.bangkokbiznews.com




 

Create Date : 15 กันยายน 2553    
Last Update : 15 กันยายน 2553 7:31:39 น.
Counter : 1968 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.