It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
All blogs
 
บาหลี อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรม

โดย เบบิวา



ป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตที่ยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิม แต่ที่มัดใจใครต่อใครบาหลี ไม่ใช่จุดหมายใหม่ของนักเดินทางชาวไทย และอาจจะไม่ใช่ดินแดนในฝันถึงขนาดลั่นวาจาว่าจะต้องไปให้ได้ “สักครั้งในชีวิต” แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่ยังไม่เคยไปบาหลี ขอบอกว่า..."ถือเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง"

บาหลีเป็นเกาะเล็กๆ ของอินโดนีเซีย ได้รับการขนานนามว่า "อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย" ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ถึงไม่สวยบาดตา แต่ก็มีเสน่ห์เพียบพร้อม เกาะเล็กๆ นี้มีทั้งชายหาดที่สวยงาม ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตที่ยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิม แต่ที่มัดใจใครต่อใคร ดูจะ




เป็น..ผู้คนที่ไม่เคยหวงแหนรอยยิ้มและมิตรไมตรี


ฉันวางแผนการเดินทางนานเป็นเดือน เพื่อจะใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำด้วยต้นทุนที่ต่ำจริงๆ หรือจะเรียกว่าเตรียมตัวกันนานเป็นปีก็ได้ หากนับจากวันที่สัญญากับตัวเองว่า สบโอกาสเมื่อไหร่จะสูดกลิ่นบาหลีให้ชื่นใจ

หลังจากสำรวจความสนใจของตัวเองและหาข้อมูลตามสมควร ฉันเลือก อูบุด (Ubud) เพื่อทำความรู้จักกับบาหลีแบบย่นย่อ


ไม่ต้องอ้อมค้อมและไม่วอกแวก ทันทีที่ถึงสนามบินนานาชาติเดนปาซาร์ เราใช้บริการแท็กซี่ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายแบบ ที่สำคัญต่อรองราคากันได้ มุ่งตรงสู่เมืองเล็กๆ ที่เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกแบบยิ้มๆ ว่า “ถ้าไม่หลงรักก็ออกจะเย็นชาเกินไป”

แม้ความง่วงที่สะสมมาจากกรุงเทพฯ จะบั่นทอนร่างกายพอสมควร แต่ใครเล่าจะหลับลง ยิ่งเมื่อถนนพาเรามุ่งหน้าออกจากเมือง อาคารบ้านเรือน ร้านค้า แกลลอรี่ต่างๆ ล้วนตกแต่งประดับประดาด้วยลวดลายแบบบาหลีที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ต่างจากสถาปัตยกรรมในบ้านเราที่อ้างอิงบาหลีแต่ดูไร้จิตวิญญาณ ขาดมิติทางศิลปะอย่างเทียบกันไม่ได้

คนขับแท็กซี่พาเราแวะชมโรงงานผ้าบาติกเป็นการเรียกน้ำย่อย ที่นี่มีทั้งการสาธิตการทำผ้าบาติก ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผ้าบาติกหลากสีสัน จะแค่ชมหรือช้อปไปเป็นของฝากของที่ระลึกก็ได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง เราจึงขอแค่เก็บข้อมูลไว้ก่อน


ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ อูบุดก็ทักทายนักเดินทางชาวไทยด้วยบรรยากาศแบบชนบท ก่อนจะเข้าสู่ถนนสายศิลปะที่มีทั้งภาพเขียน งานแกะสลักไม้ชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงประติมากรรมขนาดใหญ่




เราบอกให้แท็กซี่ไปส่งที่ ถนน Monkey Forest แหล่งเกสท์เฮ้าส์สำหรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าเบา ทันทีที่เห็นป่ากลางเมือง หรือจะเรียกว่าสวนสาธารณะก็ไม่ผิด ขวักไขว่ไปด้วยนักท่องเที่ยวและลิงจอมซน เป็นอันรู้กันว่า...ถึงที่หมายแล้ว

การหาเกสท์เฮ้าส์ราคาประหยัดในอูบุดไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยการเดินซอกแซกเข้าไปตามตรอกซอกซอย มีทั้งที่ตกแต่งสไตล์บาหลีเต็มรูปแบบ และแบบเรียบง่ายไม่เน้นบรรยากาศ ซึ่งแน่นอนว่าราคาย่อมแตกต่างกันไป


เมื่อได้ที่พักเหมาะใจแล้ว เราใช้เวลาในช่วงเย็นเดินเล่นไปตามถนนที่สองฟากมีทั้งร้านขายสินค้าแบรนด์เนม ร้านขายของพื้นเมือง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ก่อนจะหยุดตรง "โรงละคร" จุดนักหมายของนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน


โรงละครที่นี่มีทั้งที่เป็นอาคารประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นสวยงามแปลกตา และที่เป็นลานโล่ง การแสดงส่วนใหญ่เรียกว่า “บารอง” ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวบาหลี


สำหรับคนขี้เมื่อย หากยังไม่อยากชมการแสดงก็สามารถไปนวดผ่อนคลายสไตล์บาหลีได้ตามสปาที่มีอยู่หลายแห่ง รับรองว่าจะหลับสบายตลอดคืน ส่วนฝันดีหรือฝันร้าย (อีกเรื่องหนึ่ง)

-1-

อาหารเช้าแบบเรียบง่ายเสิร์ฟที่หน้าห้องโดยหนุ่มบาหลีผู้มีรอยยิ้มเหลือเฟือ ...ขนมปัง ผลไม้ และกาแฟสีขุ่นๆ เข้ากันได้ดีสีขรึมๆ ของห้องพักที่รายล้อมด้วยต้นลั่นทมอวดดอกสีชมพูสด

เช้าแรกในอูบุด อากาศเย็นสบายจนแทบไม่อยากขยับตัวไปไหน แต่นี่ไม่ใช่เวลาอ้อยอิ่ง เรามีนัดหมายกับคนขับรถซึ่งได้เจรจาเรื่องเส้นทางและต่อรองราคากันไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ...8 นาฬิกาเป็นเวลาล้อหมุน

ข้อดีของบาหลีก็คือ นักท่องเที่ยวที่ชั่วโมงบินไม่มากสามารถเดินทางมาเองได้ไม่ยาก ขอให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้พอประมาณ บอกทิศบอกทางต่อรองราคาได้ก็น่าจะเอาตัวรอดได้ บนถนน Monkey Forest จะมีร้านค้าที่ขายทัวร์แบบวันเดย์ทริป มีโปรแกรมให้เลือกตามความพอใจ หรือถ้าไปกันหลายคนจะหารถเช่าพร้อมคนขับ ก็มีทั้งที่เป็นบริษัทและรถส่วนบุคคลให้เลือกตามความพอใจ

เราตกลงปลงใจกับรถมินิแวน 6 ที่นั่ง หลักเกณฑ์ในการพิจารณา นอกจากโหงวเฮ้งคนขับแล้วก็คงเป็นเรื่องราคาที่สมเหตุสมผล

สารถีของเราพาไปเปิดม่านบาหลีด้วยการชมระบำบารอง (Barong) การแสดงที่มีชื่อเสียง เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายดี กับปีศาจ "บารอง" เป็นคนครึ่งสิงห์ตัวแทนฝ่ายดี ส่วน "รังดา" เป็นมารร้าย ทั้งสองมีสมุนอีกหลายตัวต่อสู้กัน ในที่สุดก็จบลงตรง...ธรรมะย่อมชนะอธรรม

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงละครที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวมานักต่อนัก แต่อย่าได้จินตนาการถึงโถงอาคารและเวทีการแสดงหรูหรา โรงละครสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยวัสดุในท้องถิ่น ด้านข้างเป็นทุ่งโล่ง ส่วนด้านหลังคือต้นไม้ใหญ่น้อยตามธรรมชาติซึ่งถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของฉากการแสดงได้อย่างไม่เคอะเขิน

หลังปิดม่านการแสดง ผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือด้วยความประทับใจ เหนืออื่นใดนักแสดงพื้นบ้านเหล่านี้ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั่นคือ การรักษา "คุณค่า" แบบดั้งเดิมไว้โดยไม่จำเป็นต้องปรับให้เป็น "สากล" เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวเหมือนหลายๆ แห่ง

ก่อนจะเดินทางต่อไปยังที่หมายถัดไปซึ่งมีชื่อเรียกแบบไทยๆ ว่า "ถ้ำช้าง" เราได้รับคำแนะนำให้แต่งกายตามธรรมเนียมการเข้าชมศาสนสถาน ผู้หญิงจะต้องนุ่งผ้าโสร่งหรือกระโปรงยาวโดยมีผ้าคาดเอว ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชม แต่ถ้าไม่ได้เตรียมมาโดยทั่วไปจะมีบริการให้ยืมหรือให้เช่าแล้วแต่สถานที่




จ่ายค่าบัตรเรียบร้อย ฉันหยิบผ้าคาดเอวที่เตรียมมาคาดทับลงไปที่ขอบกระโปรงยาวกรอมเท้า เดินไปตามทางลงสู่เบื้องล่าง มองเห็นบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ และปากถ้ำอยู่อีกด้านหนึ่ง

ตามประวัติระบุว่า ปุรากัวกาจาห์ (Pura Goa Gajah) หรือวัดถ้ำช้าง ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวดัตช์ เมื่อปี ค.ศ. 1923 มีสิ่งที่โดดเด่นคือแผ่นหินแกะสลักหน้าปากทางเข้าถ้ำ ลักษณะเป็นการเจาะจากด้านหน้าของหินผา มองดูคล้ายใบหน้าช้าง บ้างก็ว่าคล้ายยักษ์อ้าปากกว้าง ชาวบาหลีเชื่อว่า นี่คือปากของปีศาจร้าย ภายในถ้ำด้านหนึ่งเป็นรูปปั้นพระพิฆเนศ ส่วนอีกด้านเป็นรูปปั้นศิวลึงค์ตามความเชื่อของฮินดู

ใกล้ๆ กันคือสระศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำไหลพุ่งจากรูปแกะสลักสตรี 6 นาง ชาวบาหลีเชื่อว่า ถ้าใครอยากมีลูกให้มาดื่มหรืออาบน้ำที่นี่ จะมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ...ฉันลองเอามือวักน้ำมาประพรมเนื้อตัว ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ แค่อยากรู้ระดับอุณหภูมิ ซึ่งก็ได้ผล..เย็นสดชื่นจริงๆ

ก่อนจะเผลอลงไปอาบน้ำในสระ เราเดินทางต่อไปยัง ปุราเตียร์ตาอัมปึล (Pura Tirta Empul) หรือ วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ มีบ่อน้ำเหมือนกัน แต่ความเชื่อต่างกัน น้ำพุแห่งนี้ผุดขึ้นจากใต้ดิน เป็นที่เคารพสักการะของชาวบาหลี เชื่อว่าพระอินทร์เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดน้ำพุ หากใครได้มาอาบน้ำจะเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งเลวร้าย ทั้งยังรักษาโรคต่างๆ ได้ ก่อนการอาบน้ำจะมีการทำพิธีบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำพุที่แท่นบูชา จากนั้นจึงมาอาบน้ำกันที่ "ที่อาบน้ำโบราณ" สร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10

แม้จะอยากจะลงอาบน้ำกับเขาบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา สาวไทยจึงได้แต่สังเกตการณ์ รอบๆ บริเวณนอกจากจะมีสถาปัตยกรรมสไตล์บาหลีที่ขรึมขลังแล้ว ยังมีบ้านพักหลังใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง สอบถามได้ความว่าเป็นบ้านพักประธานาธิบดีซูฮาร์โต จะถูกผิดอย่างไรไม่แน่ใจ แต่มุมนี้ก็ถูกบันทึกไว้พร้อมเจ้าของกล้องเรียบร้อย

ผ่านไปครึ่งวัน สารถีบอกว่านี่แค่ออเดิฟ เพราะหลังจากนี้เขาจะเสกภาพในโปสการ์ดให้เห็นต่อหน้าต่อตา ขับรถขึ้นเขามาได้ไม่นาน ภาพหมู่บ้านที่มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟสูงทะมึน รายล้อมด้วยทะเลสาบสงบนิ่งในชื่อ “คินตามณี” ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า

กุนุงบาตูร์ หรือภูเขาไฟคินตามณี ภาษาราชการเรียกว่า Mount Batur มีความสูง 1,171 เมตร อยู่ติดกับทะเลสาบบาตูร์ เป็นภูเขาไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 บนเกาะบาหลี ในอดีตภูเขาไฟแห่งนี้เคยปะทุพ่นลาวาทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย แต่ทุกวันนี้กลับชดเชยด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี

เพื่อให้ได้ละเลียดวิวแบบพาโนรามา สารถีเจ้าถิ่นแนะนำให้ฝากท้องไว้กับร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์บนจุดที่อยู่สูงขึ้นไป เป็นมื้อที่อร่อยพอประมาณ แต่อิ่มไปด้วยบรรยากาศ ท้องฟ้าสีสดใสไล่โทนกับภูเขาไฟซึ่งยามนี้ดูสงบเยือกเย็นไร้พิษสง เบื้องล่างเหมือนไร้ความเคลื่อนไหว แต่เราต่างรู้ดีว่าชีวิตของผู้คนหมุนเปลี่ยนไปตามคืนวัน เช่นเดียวกับแสงและเงาที่เล่นล้อกับธรรมชาติเสมอมา

หมู่บ้านคินตามณี นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมี ปุราเบซากิห์ (Pura Besakih) หรือวัดเบซากิห์ (บางคนออกเสียงว่าเบซากีห์) เป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบาหลีด้วย

ด้วยอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบด้วยวัดเล็กๆ อีก 23 แห่ง เรียงรายอยู่เป็นขั้นๆ กว่า 7 ขั้นไปตามไหล่เขา ภาพที่เห็นจึงเปรียบเหมือนฉากอันตระการตาของมวลหมู่เจดีย์ซึ่งมีความสูงต่ำลดหลั่นกันไป ในยามที่ฝนโปรยปราย หมอกบางๆ ส่งให้วัดที่อยู่สูงจากระดับสายตาดูไม่ต่างจากวิมานของปวงเทพ

ฉันค่อยๆ เดินขึ้นไปตามบันไดที่พุ่งตรงสู่ใจกลางศาสนสถาน สายตายังจับจ้องยังเบื้องบน แต่แล้วต้องหยุดชะงักเพราะผู้ดูแลวัดส่งสัญญาณว่า "ขึ้นมาไม่ได้"

แม้จะมีทางเดินอันสง่างามอยู่ด้านหน้า แต่นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ชาวฮินดูจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทางนี้ ต้องใช้บันไดด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้บริการไกด์ท้องถิ่นเพื่อนำชมรอบบริเวณ ไม่เช่นนั้นอาจเจอกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการตามตื๊อแบบไม่ลดราวาศอก แต่ถ้าถือว่าเป็นการสนับสนุนรายได้ของคนท้องถิ่นก็ไม่มีอะไรให้ต้องหงุดหงิด



-2-

โมงยามที่เพิ่มขึ้นในอูบุด ไม่เพียงร่ายมนต์ให้สาวไทยเริ่มหลงเสน่ห์ ยังเผยให้เห็นศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมคลายแม้ว่าโลกสมัยใหม่จะมาเยือนบาหลีนานแล้ว

เช้าวันใหม่ ตามบ้าน ร้านค้า เกสท์เฮ้าส์ หรือแม้แต่ถนนหนทางต่างๆ จะมีกระทงดอกไม้หลากสีวางไว้สำหรับบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เว้นแม้รถยนต์ที่ใช้ในการเดินทาง

สารถีคนเดิมบอกว่า คนบาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู พวกเขาเชื่อว่าในทุกๆ สิ่งจะมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ การกราบไหว้บูชาจึงถือเป็นการแสดงความเคารพและจะทำให้ "โชคดี"

ดูเหมือนเราจะได้รับอานิสงส์นั้นไปด้วย เพราะสองวันมานี้ฟ้าฝนออกจะเป็นใจ การเดินทางก็ราบรื่น เราออกสตาร์ทกันด้วยการไปชมสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง นั่นคือ ปุราทามันอายุน (Pura Taman Ayun) เดิมเป็นวังเก่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวี มองจากภายนอกเห็นได้ถึงแผนผังที่ลงตัว ทั้งกำแพง ประตู ตัวอาคาร และสระน้ำ กระทั่งเมื่อผ่านเข้าสู่ด้านในจึงเห็นลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง

ฉันเดินไปหยุดอยู่ที่มุมหนึ่งซึ่งจัดแสดงภาพวาดสีสันสดใส ศิลปินจดจ่ออยู่กับปลายพู่กันของเขา โดยมีฉากหลังเป็นสถาปัตยกรรมอายุหลายร้อยปี แม้รูปแบบของศิลปะจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความเป็นศิลปินคงเป็นมรดกทอดของคนบาหลีด้วยเช่นกัน

ระหว่างทางไป ปุราอูลันดานูบราตัน (Pura Ulun Danu Bratan) ความคิดก็ล่วงหน้าไปถึงศาสนสถานริมทะเลสาบบราตัน ฉากหลังเป็นภูเขาสูงคลอเคลียด้วยเมฆขาว ในอดีตคงมีคนบาหลีในชุดพื้นเมืองมาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กันเป็นจำนวนมาก เพราะวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 เพื่ออุทิศแด่เทวี ดานู เทพแห่งสายน้ำ เคยใช้ทำพิธีทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู

และแล้วเมื่อรถมาหยุดลงตรงลานกว้าง ไม่รอช้า...ฉันคว้ากล้องคู่ใจเดินตามนักท่องเที่ยวคนอื่นไปติดๆ ทะเลสาบบราตัน (Lake Bratan) สงบนิ่งอยู่เบื้องหน้า ศาลาหลังคาทรงสูงเป็นชั้นๆ คือที่หมาย ยิ่งเข้าใกล้ภาพในจินตนาการก็ยิ่งแจ่มชัด คนบาหลีในชุดพื้นเมืองกำลังทำพิธีเหมือนในอดีต นี่คือของขวัญชิ้นพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์รอนแรมมาไกล

แม้จะไม่อาจบันทึกภาพได้งดงามเท่าตาเห็น แต่ในความทรงจำนั้นทุกองค์ประกอบยังคงแจ่มชัด กว่าจะละสายตาจากวัดริมทะเลสาบแห่งนี้ได้ ก็เมื่อได้รับคำเตือนว่า เราอาจจะพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ระหว่าง นาขั้นบันได กับ วัดริมทะเล

มื้อกลางวัน หรือพูดให้ถูกคือ "มื้อบ่าย" ผ่านไปอย่างรวดเร็วเรียบง่ายด้วยก๋วยเตี๋ยวข้างทางที่แม่ค้ากับลูกค้าพูดกันไม่รู้เรื่อง ได้แต่ใช้ภาษามือกับรอยยิ้มโต้ตอบกันไปมา จบไปหนึ่งอิ่มกับหนึ่งงีบเราก็มาถึงจุดชมนาขั้นบันไดที่แม้จะไม่ได้สวยที่สุด แต่ก็ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

นาขั้นบันไดถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายทางการท่องเที่ยวของบาหลี ที่เมืองไทยก็พอมีให้เห็นบ้าง แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศแล้ว นาขั้นบันไดที่นี่มีขนาดใหญ่และลดหลั่นกันสวยงาม โดยเฉพาะในฤดูกาลทำนาดูราวกับผืนพรมสีเขียวผืนใหญ่เลยทีเดียว

ระหว่างทางยังมีนาขั้นบันไดผืนเล็กผืนน้อยให้เห็นเป็นระยะ แต่ที่สวยจริงๆ คงต้องมีเหลี่ยมมุมที่เห็นได้กว้างและติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ ใช้เวลาพอสมควร รถก็มาหยุดตรงลานจอดรถขนาดใหญ่ที่ดูก็รู้ว่าสถานที่แห่งนี้จะต้องเป็นเป้าหมายของบรรดานักท่องเที่ยว

รอบๆ บริเวณเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก ทั้งผ้าบาติก รูปแกะสลัก ภาพเขียน เสื้อผ้า กระเป๋าฯ แม้จะเรียกความสนใจได้ไม่น้อย แต่เราต่างลงความเห็นว่าสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้านั้นเทียบกันไม่ได้เลย

คลื่นนักท่องเที่ยวเคลื่อนตัวสู่ ปุราทานาห์ลอต (Pura Tanah Lot) หรือ วัดทานาห์ลอต โดยไม่ได้นัดหมาย เป็นที่รู้กันว่าวัดริมทะเลแห่งนี้จะสวยบาดตายามอาทิตย์อัสดง บ่ายแก่ๆ จึงเหมือนเป็นเวลารวมพล

ไม่นานคลื่นคนก็มาสยบยอมให้กับคลื่นลมที่สาดซัดโขดหิน จุดนี้สามารถมองเห็นอาคารที่อยู่รายรอบ รวมถึงตัววัดบนเกาะเล็กๆ กลางทะเล หากเป็นเวลาน้ำลงนักท่องเที่ยวสามารถเดินข้ามไปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่ถ้าใครอยากจะใช้เวลาเหม่อมองท้องฟ้าที่ค่อยๆ เจือแสงสีทองก่อนจะส่งต่อความระยิบระยับสู่ผืนน้ำ...ก็ถือว่าไม่ผิดธรรมเนียม

เสียดายที่ไม่อาจรอให้ดวงอาทิตย์ดวงนั้นหายลับไปกับท้องทะเลเบื้องหน้า เราจำใจจากมาด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและเงื่อนไขบางประการ ทว่า ไม่ลืมคำมั่นที่ให้ไว้กับตัวเอง "สักวันจะกลับมาชมพระอาทิตย์ตกที่นี่"

อาจไม่ใช่เพราะคำร่ำลือว่าสวยกว่าที่ไหน จริงๆ ก็แค่อยากกลับมา "บาหลี" อีกสักครั้ง




การเดินทาง

การเดินทางไปบาหลีง่ายนิดเดียว มีทั้งการบินไทยและสายการบินโลว์คอสท์ให้เลือก ใช้เวลาประมาณ 1.45 นาที ก็ถึงสนามบินเดนปาซาร์ นักเดินทางชาวไทยไม่ต้องขอวีซ่า ใช้เพียงแค่หนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก็สามารถเดินทางได้ทันที เมื่อไปถึงบาหลีแล้วให้ปรับเวลาเร็วกว่าประเทศไทยอีก 1 ชั่วโมง

หน่วยเงินของบาหลีและอินโดนีเซียเป็นรูเปี๊ยะห์ (Rupiah) หากเดินทางออกไปตามหมู่บ้าน ควรแลกเงินรูเปี๊ยะห์ออกไปให้พอสำหรับการใช้จ่าย แม้ว่าร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่จะรับเงินสหรัฐ รวมถึงเงินบาทไทยก็ตาม และควรแลกเงินเฉพาะกับธนาคารหรือร้านรับแลกเงินที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

สำหรับสภาพอากาศในบาหลี อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 26 อาศาเซลเซียส มี 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งและฤดูมรสุม ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน โดยมีเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่มีอากาศเย็นที่สุด ฤดูมรสุมเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนสูงที่สุด


-------

ที่มา....//www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20100918/353571/มนตรา-บาหลี




Create Date : 18 กันยายน 2553
Last Update : 18 กันยายน 2553 22:16:49 น. 1 comments
Counter : 2026 Pageviews.

 
รูปสวยจังเลยค่ะ


โดย: Sugar lip วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:0:13:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.