ยิ้มนี้มีความหมาย


วันหนึ่งผมโชคดีที่ได้มีโอกาสไปงาน reunion ของพรรคพวกที่เรียนอยู่ที่ฝึกหัดครูเชียงใหม่ด้วยกันสมัยยังเป็นวัยรุ่น เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นการไปงานแบบนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมเลยทีเดียว เนื่องจากผมไม่เคยมีเวลาว่างไปงานแบบนี้เลย และผมเองอยู่ไกลจากเชียงใหม่จึงลำบากเรื่องการเดินทาง จะขับรถก็ใช้เวลานาน จะนั่งเครื่องบินก็ดูจะไม่ใช่ เพราะนั่งเครื่องบินไปราคาแพง มันต้องไปทำงานถึงควรจะนั่งเครื่องบินไป

ในงานสังสรรค์วันนั้น ผมจำเพื่อนไม่ได้หลายคนเลยทีเดียว พวกเขาเองก็เหมือนกัน หลายคนก็จำผมไม่ได้เหมือนกัน บางคนดูแล้วไม่มีเค้าของตอนที่เป็นวัยรุ่นเอาเสียเลย ผมคิดว่ารวมอายุพวกเราทั้งหมดอาจจะได้หลายพันปีเลยทีเดียว เพราะแต่ละคนก็ปาเข้าไปคนละหกสิบกว่าปี ไปกันเกือบห้าสิบคนก็ประมาณสามพันกว่าปีแล้ว คืนนั้นผมไม่ได้อยู่ค้างคืนกับเขา ต้องกลับก่อนเนื่องจากอยู่ระหว่างการนำสัมมนาที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพอดีจัดให้ผมนำสัมมนาที่โรงแรมในเมือง ระหว่างทางกลับนั้น เพื่อนที่ผมอาศัยรถเขากลับมาด้วยนั้นคุยกันถึงเพื่อนในรุ่นที่ไปร่วมงานนี้ว่าคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร สุขสบาย หรือลำบากอย่างไร เท่าที่ฟังเขาคุยให้ฟัง น่าดีใจที่ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ในรุ่นของเรานั้นดูมีความสุขกับชีวิตดีกันทุกคน แน่ละใครที่ไม่มีความสุขในชีวิตย่อมไม่มีกะจิตกะใจที่จะมางานสังสรรค์รุ่นกันหรอก พวกที่มาได้ย่อมเป็นพวกที่อยู่ดีกินดีแล้วทั้งนั้น

แวบหนึ่งของช่วงเวลานั่งรถกลับเข้าเมืองเชียงใหม่นั่นเอง ผมนึกถึงเพื่อนจากหนังสือรุ่นที่พวกเราเคยทำเป็นที่ระลึกในรุ่นของเรา และเริ่มจะได้ข้อมูลว่ามีเพื่อนหลายคนของรุ่นเราที่ชีวิตล้มเหลว แน่นอนว่าคนพวกนี้ไม่ได้มางานอย่างนี้แน่ ทำให้ผมนึกไปถึงการวิจัยที่เคยได้อ่านเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์เพื่อทำนายความสุขในชีวิต การแต่งงาน และความเป็นอยู่ที่ดีด้วยการดูจากรอยยิ้มอย่างจริงใจ (Genuineness) ของพวกเขาจากหนังสือที่ระลึกของรุ่น

การวิจัยดังกล่าวนั้นทำโดย Lee Anne Harker and Dacher Keltner ในปี 2001 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาหญิงที่มีรูปอยู่ในหนังสือรุ่นสมัยที่ยังเรียนในวิทยาลัยเมื่อ 30 ปีก่อน นักวิจัยได้ตามไปให้คนเหล่านี้ตอบมาตรวัดและสัมภาษณ์ แล้วนำไปหาความสัมพันธ์กับรอยยิ้มในรูปภาพของพวกเธอสมัยเมื่อ 30 ปีที่ยังเรียนอยู่ในวิทยาลัย เขาพบว่า ถ้าเธอคนไหนมีรอยยิ้มที่จริงใจแล้วใน 30 ปีต่อมา เมื่อให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และชีวิตครอบครัว พวกนี้จะได้คะแนนจากแบบทดสอบสูงกว่าคนอื่น

ขอนอกเรื่องสักนิดหนึ่งเกี่ยวกับยิ้มอย่างจริงใจ (Genuineness) ปัจจุบันนักจิตวิทยามีเทคโนโลยีในการวัดรอยยิ้มว่าจริงใจหรือไม่ นักจิตวิทยาอย่าง บาร์บาร่า เฟรดเดอริคสันอธิบายว่า คนเรายิ้มอย่างจริงใจต้องใช้กล้ามเนื้อสองชนิด ชนิดแรกเรียกว่า Zygomaticus Major ซึ่งจะทำให้ริมฝีปากถูกยกขึ้น และ Obacularis Oculi ซึ่งจะทำให้เกิดรอยย่นที่หางตาเวลายิ้ม ดังนั้นเวลาเขาทดลองว่า ยิ้มนี้จริงใจหรือเปล่า เขาจะใช้เซนเซอร์หรือเครื่องมือวัดกล้ามเนื้อทั้งสองนี้ แต่สำหรับการวิจัยของ Harker และ Keltner นี้ไม่ได้ใช้เครื่องมือเซนเซอร์ เพราะว่าใช้ดูจากรูปภาพเท่านั้น แต่สำหรับชีวิตประจำวันของเรา เราอาจจะสังเกตได้จากรอยย่นของหางตา เมื่อตอนที่เขายิ้ม ว่าเขายิ้มอย่างจริงใจตามความรู้สึกของเขาในใจจริงๆ หรือเปล่า

ผลการวิจัยของ Harker และ Keltner มักจะถูกอ้างถึงเรื่อยๆ เพื่อยืนยันทฤษฎีขยายและสร้าง (Broaden and Build Theory) ของเฟรดเดอริคสันซึ่งบอกว่า อารมณ์ด้านบวกของคนเรานั้นช่วยสร้างและพัฒนาทุนทักษะทางสังคมและเป็นทุนทางจิตใจสำหรับคนเรา พูดให้ง่ายขึ้นคือ การที่นักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างมีความสุขในตอนที่เรียนที่วิทยาลัยนี้ (ซึ่งอนุมานจากรอยยิ้มอย่างจริงใจใน
หนังสือรุ่นเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านั้น) มันส่งผลไปยังความสุข การมีชีวิตครอบครัวที่ดี และความอยู่ดีในอีก 30 ปีต่อมา (คะแนนความพึงพอใจในชีวิต ความสัมพันธ์และความอยู่ดีในปัจจุบัน) เพราะว่าอารมณ์เชิงบวกของพวกเขาได้ขยายมุมมองในการมองโลก ทำให้ความคิดได้รับการขยายไปด้วย ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมได้อย่างสร้างสรรค์มากกว่า ทำให้เกิดทักษะทางสังคมที่ดี กับทุนทางจิตใจที่ดี ซึ่งช่วยเกี่ยวกับการปรับตัวในชีวิตได้ดีทำให้เกิดความเจริญงอกงามได้ดีกว่า

ข้อน่าคิดคือ กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหญิง แต่ถ้าเป็นผู้ชายละ ผลจะออกมาเหมือนกันหรือไม่ เพราะมีหลักฐานทางการวิจัยเหมือนกันว่า ยิ้มของหญิงกับของชายนั้นมีความหมายแตกต่างกัน นักวิจัยเขาพบว่า ยิ้มของผู้หญิงนั้นสะท้อนความรู้สึกของอารมณ์เชิงบวกจริง คือยิ้มของผู้หญิงนั้นส่งสัญญาณให้รู้ว่า คนยิ้มนั้น อบอุ่น เชื่อถือได้ กระตือรือร้นที่จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่า ยิ้มของผู้หญิงเป็นยิ้มรับแขก

แต่สำหรับผู้ชายนั้นยิ้มกลับสะท้อนความรู้สึกของอารมณ์เชิงลบ และเป็นยิ้มไล่แขกเสียมากกว่า เพราะการยิ้มของผู้ชายสะท้อนให้เห็นว่า กำลังมั่นใจ มีความสงบ ไม่มีความกดดันอะไรในใจ ดูไปแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเชิญชวนสร้างความสัมพันธ์ด้วยเลย อาจจะทำให้ขาดโอกาสที่จะได้ฝึกฝนทักษะทางสังคม และทุนทางจิตใจไม่ได้งอกงาม จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ยิ้มของผู้ชายนั้นจะทำนายความสุขในชีวิตอนาคตได้เหมือนกับยิ้มของผู้หญิงหรือไม่?

บทความที่เขียนนี้ต้องการให้กำลังใจกับนักวิจัยรุ่นใหม่ครับ ว่ามีเรื่องที่น่าตั้งคำถามที่สามารถนำไปสู่การวิจัยเรื่องใหม่ๆ ได้อีกเยอะนะครับ เหมือนกับที่ผมลองตั้งคำถามจากการอ่านงานวิจัยว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายบ้างละ ผลการวิจัยจะต่างกันมั๊ย? ขอให้กล้าคิดสร้างสรรค์สักหน่อย และรู้สึกเบื่อกับเรื่องเก่าๆ ที่วนเวียนทำกันแล้วทำกันอีกเสียบ้าง




 

Create Date : 28 มีนาคม 2554   
Last Update : 28 มีนาคม 2554 21:23:48 น.   
Counter : 3923 Pageviews.  


ทฤษฎีการพัฒนาการของกลุ่ม (Group Development Theory): ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ทฤษฎีการพัฒนาการของกลุ่ม (Group Development Theory): ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

วันนี้อยากเขียนเรื่องธรรมดาเล็กๆ ที่สามารถนำไปขยายความต่อในเรื่องใหญ่ๆ ได้ ที่น่าสนใจคือมันมีหลักทางวิชาการที่ใช้ทำความเข้าใจได้ทั้งเรื่องธรรมดาเล็กๆ และเรื่องใหญ่ นอกจากนั้นยังใช้เป็นหลักในการจัดการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนั้นได้

ผมจะเริ่มจากทีมเล็กๆ คือการนึกถึงตอนที่ผมแต่งงาน ผมแอบได้ยินญาติทางฝ่ายเจ้าสาวของผมนั้นสั่งสอนเจ้าสาวอย่างเอาจริงเอาจังว่า ตอนที่ตักบาตรพระในพิธีตอนเช้านั้น ต้องจับเหนือมือเจ้าบ่าวไว้นะ เขาจะได้อยู่ในโอวาทเราตลอดไป ผมนึกขำอยู่เหมือนกันว่า มันจะจริงได้อย่างไร แค่จับทัพพีนี่นะ แต่เมื่อตอนนี้มานึกถึงเหตุการณ์วันนั้นแล้วชักคิดในเชิงสัญลักษณ์ว่า การจับเหนือมือเจ้าบ่าวไว้นั้นเป็นการที่เจ้าสาวตั้งใจแสดงอำนาจเหนือเจ้าบ่าวทางหนึ่ง เป็นการให้กำลังใจว่า กิจการอย่างอื่นๆ ก็ให้พยายามแสดงอำนาจเหนืออย่างนี้ด้วยนะ เพราะในการใช้ชีวิตร่วมกันหลังจากวันนั้นเป็นต้นไปเป็นการเริ่มต้นระยะเวลาแห่งการชิงอำนาจในการอยู่ร่วมกัน ใครจะยอมใคร ใครจะนำใครในทีมของเรา จนบัดนี้ผมถึงรู้แล้วว่า ทำไมผมเกรงใจภรรยาผมจังเลย

ผมว่าชีวิตการแต่งงานของผมหรือของใครๆ ก็ได้ มันช่างสอดคล้องกับทฤษฎีการพัฒนากลุ่ม(Group Development Theory) ซึ่งเมื่อประมาณปี ค.ศ.1965 นักจิตวิทยาชื่อทัคแมน (Bruce W. Tuckman) ได้พัฒนาทฤษฎีการพัฒนากลุ่มว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ชีวิตของกลุ่มนั้นจะมีขั้นตอนการพัฒนาเหมือนกันหมดคือ 1. การรวมกลุ่ม (Forming) 2. การชิงอำนาจการนำในกลุ่ม (Storming) 3. การยอมรับในกฎเกณฑ์ของบทบาทตนเองในกลุ่ม (Norming) 4. การตั้งใจทำงานตามบทบาทหน้าที่ซึ่งยอมรับแล้ว (Performing) 5. การแยกจากกลุ่มไป (Adjourning)

ตอนที่เราแต่งงานใหม่ๆ เป็นขั้นของการร่วมกลุ่ม (forming) สิ่งที่เป็นข้อกังวลในขั้นนี้คือ เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในกลุ่มใหม่ของเรานี้ เราจะทดลองปฏิบัติแล้วดูผลว่า คู่ของเราเขาจะยอมรับแค่ไหนเพียงไร ใครจะทำหน้าที่อะไร เราเองก็จะกังวลเหมือนกันว่าทำไปแล้วเขาจะถูกใจหรือเปล่า ผมว่าเมื่ออยู่ร่วมกันใหม่ บ้านเรามันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่แน่ใจว่าที่เราทำไปนี้เขาจะพอใจมั๊ย เราจะไม่ค่อยกล้าที่จะไว้ใจกันอย่างเต็มที่ จึงมีการสงวนท่าทีเอาไว้ก่อนมากเหมือนกัน

ถ้าจะลองคิดเลยต่อไปอีกนิดหนึ่งถึงกลุ่มทำงานใหญ่ๆ อย่างการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไม่ว่าจะเป็นไปในเชิงของการควบกิจการหรือรวมกิจการ (Merger and Acquisition) ผมว่าเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ในพนักงานทั้งสองฝ่ายคงไม่แตกต่างกันกับคู่แต่งงานรู้สึก แต่คงต้องเพิ่มคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ด้วยนะ ซึ่งบอกให้รู้ว่ามีความไม่แน่นอน ไม่แน่ใจ อยู่ด้วย

พอเวลาผ่านไปสักสามสี่เดือน พัฒนาการกลุ่มของคู่แต่งงานจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า การชิงอำนาจการนำในกลุ่ม (storming) ขั้นนี้ชายหญิงจะเริ่มแสดงความต้องการที่แท้จริงของตนเองออกมาอย่างไม่ปิดบัง การต่อรองบทบาทการนำจะเกิดขึ้นมาในช่วงนี้ ฝ่ายที่ใช้วิธีไม่ชนะก็แพ้ไปเลยนั้นจะเริ่มแสดงอาการปลีกตัวออกไปจากกลุ่ม ต่างจากพวกที่ใช้วิธีประนีประนอม พวกเอาอกเอาใจ หรือพวกอดทนรอเป้าหมายระยะยาวของกลุ่ม พวกเหล่านี้จะอดทนหาทางให้เกิดการยอมรับในบทบาทการนำของกันและกัน

ในพนักงานที่เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทใหม่ๆ ก็เป็นอย่างเดียวกันนี้ ถ้ายอมไม่ได้ในบทบาทที่ได้รับก็จะลาออกไป ส่วนบริษัทที่มีการควบรวมกิจการก็จะเริ่มมีความไม่สงบสุขเกิดขึ้นจากการทำงานแล้วเกิดความขัดแย้งของสองฝ่ายที่มารวมกัน ด้วยความแตกต่างของความเชื่อ ค่านิยม กติกาสังคมและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันมาก่อน

ครั้นเวลาผ่านไปอีก การพัฒนากลุ่มเริ่มเข้าสู่ระยะที่สามคือ การยอมรับในบทบาทของกันและกันในกลุ่ม (Norming) สงครามชิงอำนาจระหว่างคู่แต่งงานก็จะเข้าที่เข้าทาง ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่า ตนเองมีบทบาทอย่างไรในชีวิตการแต่งงาน ใครจะมีอำนาจเหนือใคร ในสถานการณ์แบบใด ต่างฝ่ายต่างก็ไม่พยายามรุกรานล่วงล้ำเข้าไปในบทบาทของอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อไม่ได้รับการขอร้อง

ในบริษัทก็เป็นเช่นเดียวกันคือ เมื่อมาถึงระยะนี้พนักงานรู้แล้วและยอมรับแล้วว่าใครมีอำนาจเหนือใคร การทำงานแบบใดที่จะนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จ ใครบ้างเป็นคนสำคัญที่คาดหวังอะไรจากการทำงานของเรา และเราจะต้องทำอย่างไรกับความคาดหวังเหล่านั้น มาถึงตอนนี้จะมีความชัดเจนเกิดขึ้นแล้วว่า อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ที่ใคร ความรู้สึกในน้ำใจความเป็นทีมที่มีความสามัคคีเกิดขึ้นในระยะนี้

มาถึงขั้นสำคัญคือ ขั้นการตั้งใจทำงานตามหน้าที่บทบาทของตนที่ได้รับมา (Performing) คู่แต่งงานมักจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะมาถึงขั้นนี้อย่างที่ฝรั่งมีภาษิตว่า Seven years itching คือมักจะใช้เวลาประมาณ 7 ปีกว่าจะลงตัว สำหรับสังคมไทยผมคิดว่า ไม่ยาวนานขนาดนั้น จากการสังเกตส่วนตัวคิดว่าประมาณสามสี่ปี คู่แต่งงานมักจะยอมรับในบทบาทที่ได้รับ โดยมีลูกๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้ยอมรับได้เร็วขึ้น หน้าที่หลักของคู่แต่งงานตอนนี้คือรีบเร่งสร้างครอบครัวให้มั่นคงไปในระยะยาวเพื่อลูก สามีภรรยาต่างทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวโดยไม่ก้าวก่ายกัน มีบรรยากาศของการสื่อสารที่เปิดเผยต่อกันมากขึ้น มีการร่วมมือกัน การช่วยเหลือกันมากขึ้น ความขัดแย้งมักจะได้รับการจัดการอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าได้บรรลุความสำเร็จของเป้าหมายชีวิตมากกว่าที่จะแยกกันทำ

ในบริษัทที่มีพนักงานเข้ามาทำงานและได้รับการยอมรับในบทบาทสมควรกับอำนาจที่ตนเองต้องการแล้ว พนักงานย่อมมีความสุขที่จะได้ทำงานตามบทบาทที่ได้รับนั้นอย่างเต็มที่

ส่วนที่เรามักจะเห็นการพัฒนามู่ขั้นนี้อย่างลำบากยากเย็นมักจะเป็นกรณีของบริษัทที่มีการควบรวมกิจการ ทั้งนี้เพราะฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ไม่ได้รับการยอมรับในบทบาทอำนาจที่ตนเองคาดหวัง มันไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ แล้วไม่ได้รับความเข้าใจจากฝ่ายที่ครอบครองอำนาจมากกว่า ฝ่ายที่รู้สึกว่า ตนเองมีอำนาจน้อยกว่าจึงแสดงอาการต่อต้านเท่าที่คิดว่าตนเองทำได้ เช่น อาจจะถ่วงเวลาทำงานช้าลง ไม่ช่วยเหลืออีกฝ่ายหนึ่งแม้ว่าจะรู้ว่าช่วยได้ ฯลฯ การแก้ปัญหาอย่างนี้จึงอยู่ที่ต้องพูดจาสื่อสารกันอย่างไรจึงจะตกลงกันได้ว่า บทบาทที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าดีและให้เกียรติแล้วคืออย่างไร ถ้ามีความไว้ใจกัน พูดกันได้อย่างเปิดเผยและให้เกียรติต่อกันจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญคือข้อตกลงกันนั้นต้องทำให้เป็นสัญญาเกียรติยศที่ทุกฝ่ายต้องมีความผูกพันใจ (Commitment) กับมัน

เมื่อผ่านขั้นตั้งใจทำงานนี้ไปแล้ว กลุ่มก็จะเคลื่อนไปสู่สถานการณ์แห่งการแยกจากกัน (Adjourning) ถ้าเป็นคู่แต่งงานคงเป็นระยะที่ต้องจากกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะการตายจากกันหรือการหย่าร้างเพราะหมดความรักกันแล้ว ส่วนพนักงานบริษัทก็อาจจะหมายความถึงการจากบริษัทไปเพราะไปอยู่กับบริษัทใหม่หรือเพราะเกษียณ ส่วนบริษัทที่มีการควบรวมกิจการกันเพื่อร่วมกันทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง บัดนี้ผลประโยชน์ร่วมกันก็ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ได้เวลาที่จะต้องลาจากกันแล้วเช่นกัน

ครับ ผมหวังว่าข้อเขียนเล็กๆ นี้จะทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นการประยุกต์ไปยังสถานการณ์อื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นทีมกีฬาที่เพิ่งซื้อตัวผู้เล่นมาร่วมทีม ทีมสร้างหนัง สร้างละคร ล้วนแล้วแต่มีขั้นตอนทั้งห้าตามลำดับทั้งนั้นครับ




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2554 15:59:57 น.   
Counter : 6446 Pageviews.  


ปีใหม่ควรตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ด้วยนะ ชีวิตจึงจะพัฒนา

วันขึ้นปีใหม่ 2554 แม้ว่าจะผ่านไปแล้วหลายวัน แต่บรรยากาศของปีใหม่ในใจของคนหลายคนรวมทั้งผมด้วยก็ยังคงติดอยู่กับมันบ้างนิดหน่อยเหมือนกัน สำหรับผมนั้นโดยปกติผมจะใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่จะได้ตั้งเป้าหมายให้กับชีวิตตนเอง เพื่อให้ชีวิตของตนเองดีขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง อย่างที่เขาเรียกกันว่า New Year’s Resolution

สมัยเป็นวัยรุ่นนั้น ผมมักจะใช้การเขียนเป็นคำสัญญากับตัวเองว่า ปีใหม่นี้จะทำอะไรให้มากขึ้น อะไรน้อยลง และจะเลิกอะไรบ้าง ผมพบว่า New Year’s Resolution ได้ช่วยให้ชีวิตของผมเดินไปได้ถูกทางมากขึ้น เพราะว่ามันทำให้ผมได้ไตร่ตรองว่า ตลอดเวลาหนึ่งปีที๋ผ่านไปนั้นได้ทำอะไรดี อะไรไม่ดีอย่างไร และปีใหม่ที่จะมาถึงนี้จะแก้ไขอะไรบ้างจึงจะทำให้ชีวิตดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สมัยโน้นที่ผ่านไปแล้ว แม้จะได้ทำ New Year’s Resolution แต่ก็เป็นการทำแบบลูกทุ่ง ไม่มีแบบแผน พอได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของทฤษฎีการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting Theory) ผมคิดว่า ถ้าเรานำเอามาเป็นแนวทางในการทำ New Year’s Resolution น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำแบบไม่มีแบบแผนเหมือนอย่างที่เคยทำมาในสมัยก่อน

ก่อนอื่นขอเล่าถึงทฤษฎีการตั้งเป้าหมายเสียก่อน เอ็ดวิน ล๊อค (Edwin Locke) และคณะของเขาได้ทำการวิจัยในหลายรูปแบบเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เขาได้ค้นพบสาเหตุที่คนบางคนทำงานได้ผลดีกว่าคนอื่นๆ ว่า เป็นเพราะการตั้งเป้าหมายไว้ก่อนจะปฏิบัติงาน ซึ่งล๊อคและคณะของเขาได้วิจัยเรื่องการตั้งเป้าหมายจนได้ข้อค้นพบหลายอย่าง ซึ่งสรุปกลายเป็นทฤษฎีการตั้งเป้าหมายในที่สุด ข้อค้นพบดังกล่าวที่สำคัญๆ มีดังนี้

• เป้าหมายยากทำให้คนเรามีการปฏิบัติงานสำเร็จมากกว่าเป้าหมายง่าย

• เป้าหมายมีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนมากทำให้ต้องแสดงพฤติกรรมที่ชัดเจนมาก

• เป้าหมายที่ทั้งมีความเฉพาะเจาะจงและยากจะนำไปสู่การปฏิบัติงานได้มากเป้าหมายที่ไม่เฉพาะเจาะจง

• ความผูกพันใจกับเป้าหมายจะมีอย่างสำคัญต่อเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและยาก ความผูกพันใจต่อเป้าหมายคือความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานไปให้ถึงเป้าหมายอย่างจริงใจ

• ความผูกพันใจต่อเป้าหมายจะมีสูงเมื่อ ก.) บุคคลได้รับการยืนยันว่าเป้าหมายนั้นสำคัญ ข) บุคคลได้รับการยืนยันว่าเป้าหมายนั้นสามารถไปถึงได้ อย่างน้อยก็สามารถเห็นความสำเร็จที่มุ่งไปสู่เป้าหมายได้

• การตั้งเป้าหมายจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีการให้ข้อมูลย้อนกลับที่แสดงให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย

ต่อมาได้มีคนนำเอาข้อค้นพบเหล่านี้ไปทำเป็นคำย่อว่า SMART เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น โดยตัวอักษรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้

S – Specific มีความเฉพาะเจาะจง, M – Measurable สามารถวัดผลได้เป็นปริมาณ, A – Attainable สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้, R – Reasonable มีเหตุผลสมควรกระทำ, T – Trackable สามารถติดตามผลได้เป็นระยะ

ดังนั้นโดยอาศัยนวัตกรรมแห่งทฤษฎีการตั้งเป้าหมายนี้ ผมอยากเชิญชวนผู้อ่านบทความนี้ได้ตั้งเป้าหมายโดยอาศัยหลัก SMART นี้ในด้านต่างๆ ของชีวิตตนเอง

ไม่ว่าใครก็ควรตั้งเป้าหมายทั้งด้านการทำงาน การเรียน การหาความรู้ การสังคม นิสัยส่วนตัว การรักษาสุขภาพ การพัฒนาจิตใจด้วยศาสนา การพักผ่อนหย่อนใจ งานอดิเรก ฯลฯ

ผมขอแนะนำให้ท่านใช้กระดาษสมุด หรือถ้าใครมีไดอะรี่ก็จะหรูขึ้นมาอีกหน่อย เปิดหน้าแรกเขียนได้เลย เพราะว่าถ้าไม่เขียน เราจะไม่ค่อยผูกพันใจกับมัน ท้ายที่สุดจะลืมไปเลย แต่ถ้าเขียนไว้เราจะได้เปิดดูมันเป็นระยะ เป็นการเตือนใจตนเองว่าต้องกระทำตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ นี่เรียกว่าเป็นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้เราผูกพันใจกับสิ่งที่เราต้องการจะทำให้ดีขึ้นหรือยังไม่ได้ทำต้องทำขึ้นมาใหม่ก็ตาม

ในเทคนิคการปรับพฤติกรรม (Behavior Modification Intervention) บางกรณีเราอาจจะให้ผู้ที่เราจะปรับพฤติกรรมเขาเป็นผู้เขียนสัญญาพฤติกรรม (Behavioral Contract) เนื่องจากเราต้องการให้เขาเกิดความผูกพันกับข้อสัญญาเหล่านั้น และเรามักจะใช้สัญญาพฤติกรรมนั้นๆ เป็นแนวทางในการให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับความก้าวหน้าหรือถอยหลังของการปรับพฤติกรรมของเขา ดังนั้นสัญญาพฤติกรรมจึงมักจะถูกเขียนขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง วัดผลได้เป็นระยะ มีเป้าหมายที่ชัดเจน

ลองเขียนให้เป็นตัวอย่างคงจะได้ประมาณนี้ครับ

ในปีใหม่นี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจทำสิ่งต่อไปนี้คือ

ด้านการเขียนหนังสือ จะเขียนหนังสือจิตวิทยาสำหรับคนทั่วไปอ่านได้เข้าใจได้ นอกจากนั้นผู้ที่เรียนจิตวิทยาก็สามารถอ่านได้ด้วย ให้หนังสือสำเร็จออกมาวางขายในร้านขายหนังสือได้ 2 เล่ม

อธิบายเสริมไว้หน่อยได้ว่า กรณีตามตัวอย่างนี้ Specific คือการเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิทยาให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่นักศึกษาจิตวิทยาอ่านได้ Measurable ภายในปีนี้ 2 เล่ม Attainable คือมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้สำเร็จ เนื่องจากได้เขียนเก็บเอาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว Reasonable มีเหตุผลสมควรทำ เนื่องจากหนังสือแนวนี้ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีในท้องตลาด ส่วนมากเป็นการแปล Trackable สามารถติดตามงานได้เป็นระยะๆ

อย่าลืมว่าชีวิตของเรานั้นมีหลายด้าน เราคงต้องพิจารณาด้านต่างๆ ให้รอบตัวเรา เขียนเป้าหมายในการพัฒนาตนเองในด้านเหล่านั้น (เช่น ด้านสุขภาพ น้ำหนัก ศาสนา การเรียนวิชาต่างๆ การสังคม ฯลฯ) เอาไว้อย่างจริงใจนะครับ หมายความว่าตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจัง ถ้าเห็นว่ามันมากด้านเกินไป อาจจะเริ่มจากด้านที่ทำได้ไม่ยากนักเสียก่อน พอทำได้จริงๆ มันจะได้ทำให้เกิดกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองในด้านอื่นอีกต่อไป

ขอให้เชื่อคำพระพุทธองค์ที่ว่า ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าว ใครที่ไหนก็ช่วยเราไม่ได้ นอกจากเราต้องอธิษฐานให้เรามีจิตใจแข็งแกร่งที่จะเอาชนะ สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้

ขอแถมหลักธรรมที่จะช่วยเป็นแนวทางให้สำเร็จในการพัฒนาตนเอง ซึ่งผมยึดเอาไว้ในใจเสมอในการกระทำสิ่งต่างๆ ได้แก่ หลักธรรมแห่งอิทธิบาท มี 4 แนวทางได้แก่ ฉันทะคือความพอใจรักในสิ่งที่ทำ วิริยะคือความหมั่นเพียรที่จะทำ จิตตะคือความมีสมาธิเอาใจใส่จดจ่อในสิ่งที่ทำอยู่เสมอไม่วอกแวก วิมังสาคือการหมั่นทบทวนการกระทำที่ทำไปแล้วว่ามีที่ดีหรือไม่ดีอย่างไรจะได้ปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไปได้

ขออวยพรให้ท่านที่ตั้งใจจะนำไปปฏิบัติ ประสพความสำเร็จ และสนุกกับมันด้วยครับ




 

Create Date : 10 มกราคม 2554   
Last Update : 10 มกราคม 2554 23:26:10 น.   
Counter : 460 Pageviews.  


มาเถลิงศกใหม่ด้วยนิสัยดีๆ กันดีกว่า: Self-regulation ภาคปฏิบัติ

สำหรับคนปกติธรรมดา เรามักจะเป็นอย่างนี้กันมากใช่ใหม (ชิมิ?) รู้น่าว่าควรต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ แต่มันขี้เกียจนี่นา รู้นะว่าดื่มเบียร์สังสรรค์กับเพื่อนแล้วจะอ้วน แต่มันอดไม่ได้ก็มันสนุกดีนี่นา รู้ตัวนะว่าเงินกำลังจะขาดมือ แต่อยากได้รองเท้าคู่นี้มันถูกใจนี่นา ถึงจะแพงไปหน่อยก็ตามนะ หรือรู้น่าว่าต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานให้ทัน แต่แหมมันอยากนอนต่ออีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง ฯลฯ

อาการแพ้ใจตัวเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้กระทำพฤติกรรมที่รู้ว่าควรทำนี้เป็นกันทุกคนในชีวิตของเรา ดังที่ผมอ้างสโลแกนท้ายรถแท๊กซี่เสมอว่า ไม่ใช่ใจง่ายแต่ร่างกายมันยอม ชั่วดีรู้หมดแต่มันอดใจไม่ไหว

บัดนี้ได้มีข่าวดีบ้างแล้วที่จะช่วยเให้เอาชนะใจตัวเอง สามารถสร้างสมนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองได้ แต่ตามประสานักวิชาการ ผมคงต้องเตรียมความรู้เบื้องต้นให้กับผู้อ่านเสียก่อน เพื่อที่จะได้อ่านต่อไปอย่างเข้าใจเรื่องราวที่เขาทำการทดลองได้

ในทางจิตวิทยานั้นมีมโนทัศน์สำคัญอย่างหนึ่งเรียกว่า การกำกับหรือควบคุมการแสดงพฤติกรรมของตัวเอง (Self Regulation) หมายถึงการที่คนเราสามารถควบคุมและกำกับการแสดงพฤติกรรมด้วยตนเองให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในความสามารถของตนเอง (Perceived Self efficacy)

หมายความว่า ถ้าคนเราเชื่อว่าตนเองมีความสามารถเพียงพอที่จะแสดงพฤติกรรมให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คนเราก็จะมีการควบคุมกำกับการแสดงออกของตนเอง (Self regulation) เข้มข้นพอที่จะกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมออกไป เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่ถ้าหากไม่เชื่อในความสามารถของตนเองว่าจะมีพอ คนเราจะกำกับการแสดงออกของตนเอง (Self regulation) น้อย อันจะส่งผลให้ขาดการกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมออกไปให้ได้ตามเป้าหมาย

ที่กล่าวมานี้เป็นความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดไปยังการทดลองของ รอย บอมมิสเตอร์ (Roy Baumeister) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาเสตท ซึ่งได้พบผลที่น่าจะทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆ นี้ได้นำไปใช้ในการสร้างนิสัยดีๆ ได้หลากหลาย และมีกำลังใจมากขึ้นที่จะเปลี่ยนนิสัยไม่ดีของตนเอง

ในการทดลองที่หนึ่ง ศาสตราจารย์บอมมิสเตอร์ได้ให้ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองคอยระวังการวางท่าทางของร่างกายตนเองให้ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์อยู่ 2 สัปดาห์ และให้ปรับท่าทางของตนเองเมื่อท่าทางไม่ถูกต้อง ส่วนผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุมนั้นไม่ได้ให้ทำอะไร หลังจากนั้นให้ผู้รับการทดลองทั้งสองกลุ่มตอบมาตรวัดการควบคุมกิจกรรมที่ตนเองทำ (Self-control activity test) ผลปรากฏจากการเปรียบเทียบคะแนนจากการตอบมาตรวัดสรุปได้ว่า ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองนั้นควบคุมตนเองได้ดีกว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุม การทดลองนี้คงทำให้บรรดาแม่ๆ และครูทั้งหลายดีใจนะครับ เพราะมันบอกให้รู้ว่า การฝึกควบคุมตนเองอยู่เสมอนั้นส่งผลดีต่อการควบคุมตนเองมากกว่าการไม่ได้ฝึก

ดังนั้นบอมมิสเตอร์จึงได้เสนอแนวคิดว่า การควบคุมกำกับพฤติกรรมตนเอง (Self Regulation) นั้นเหมือนกับการออกกำลังเพื่อสร้างกล้ามเนื้อนั่นคือ ประการที่หนึ่ง ยิ่งออกกำลังใช้กล้ามเนื้อมาก กล้ามเนื้อยิ่งแข็งแรง ประการที่สอง ถ้ากล้ามเนื้ออ่อนแอ จะหมดแรงได้ง่าย คนเราจึงควรฝึกควบคุมกำกับความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกของตนเองบ่อยๆ เพื่อให้มีความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกของเราเข้มแข็งดังใจที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเรายกน้ำหนักทุกวัน กล้ามเนื้อเราย่อมแข็งแรง

ตัวอย่างเช่น กรณีมีการออกกำลังเสมอทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง สำหรับคนที่ฝึกควบคุมตนเอง ควรคิดและพูดกับตนเองบ่อยๆ ว่า ดื่มเบียร์แล้วขับรถอาจจะมีอุบัติเหตุ ดื่มไปแล้วสุขภาพเสื่อม ดื่มแล้วจะติดลม เสียการเสียงานกลับมาอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ถ้าขับรถอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ฯลฯ การคิดและพูดกับตนเองอย่างนี้บ่อยๆ ก็เหมือนกับการได้ใช้กล้ามเนื้อบ่อยๆ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ดังนั้นเมื่อมีคนชวนไปดื่มเบียร์ มีความเป็นไปได้สูงกว่าที่เขาจะปฏิเสธได้ เพราะเขาได้ฝึกซ้อมการปฏิเสธมามากแล้ว

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึก เมื่อมีคนชวนไปดื่มเบียร์ อาจจะพูดกับตนเองว่า แก้วเดียวน่า ไม่เป็นไรหรอกน่า ในที่สุดก็จะยอมแพ้เพราะหมดแรงต้าน คล้ายกับข้อเสนอประการที่สองที่ว่ากล้ามเนื้ออ่อนแอย่อมหมดแรงได้ง่ายกว่า


บอมมิสเตอร์ยังได้ทำการทดลองซึ่งได้ผลน่าสนใจในแง่ที่ว่า ถ้าเราแก้นิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งให้ดีขึ้นแล้วมันจะทำให้นิสัยอื่นดีไปด้วย

การทดลองที่บอมมิสเตอร์นำมาเสนอนั้นมี 2 การทดลอง
การทดลองแรกนั้นเขาแบ่งผู้รับการทดลองเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ในกลุ่มทดลองนั้นให้ออกกำลังด้วยการยกน้ำหนัก (Weight Lifting) เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมนั้นไม่ได้ให้ทำอะไร หลังจากนั้นให้ตอบมาตรวัดการควบคุมกำกับกิจกรรมที่ตนเองทำ เพื่อเอาคะแนนจากแบบวัดมาเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มทั้งสอง ผลปรากฏว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองนั้นได้คะแนนสูงกว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุม ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังดื่มกาแฟน้อยกว่า ดื่มแอลกอร์ฮอร์น้อยกว่า สูบบุหรี่ลดลง กินอาหารขยะ (Junk foods) น้อยกว่า นี่ยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับว่า พวกเขาดูทีวีน้อยกว่า อ่านหนังสือมากกว่า แถมด้วยการรักษาความสะอาดห้องพักบ่อยกว่าด้วย

ในการทดลองอีกครั้งหนึ่ง บอมมิสเตอร์ได้ให้ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองดูแลเรื่องเงินของตนตามระบบที่สอนให้เป็นเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่า พวกเขาสามารถเพิ่มเงินออมได้จาก 8% กลายเป็น 38% นอกจากนั้นพวกเขายังปรับปรุงนิสัยการเรียนได้ดีขึ้น สูบบุหรี่น้อยลง ทำความสะอาดห้องพักบ่อยขึ้นด้วย

แสดงว่า เมื่อคนเราสร้างนิสัยดี (คือการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักในการทดลองที่หนึ่ง และการดูแลเงินตามระบบที่ได้รับการสอนมาในการทดลองที่สอง) อย่างหนึ่งแล้ว นิสัยดีๆ อย่างอื่นก็จะติดตามมาเอง

นี่ก็เป็นการยืนยันข้อเสนอของบอมมิสเตอร์ที่บอกว่า การควบคุมกำกับพฤติกรรมตนเองนั้นเหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งฝึกออกกำลังมากเท่าไรยิ่งทำให้แข็งแรงมากขึ้น

ขอเสริมด้วยความเห็นของนักจิตวิทยาพีเตอร์ ฮอลล์ (Peter Hall) แห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู เขาบอกว่า สมองส่วนที่อยู่ด้านหน้า (Frontal Lobe) นั้นทำงานควบคุมกำกับการแสดงพฤติกรรมของตนเอง การฝึกสมองส่วนนี้ให้ทำงานบ่อยๆ จะทำให้คนเรามีความเข้มแข็งในการควบคุมกำกับตนเอง เขายกตัวอย่าง Stoop Test (วิธีการคือให้อ่านคำที่หมายความถึงสี เช่น แดง น้ำเงิน ฯลฯ แต่พิมพ์คำที่ให้อ่านด้วยสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีแดง น้ำเงิน) ถ้าคนเราฝึกอ่านบ่อยๆ จะฝืนได้ดีกว่าไม่ได้ฝึก

ดังนั้นคาถาสำหรับการควบคุมกำกับการแสดงพฤติกรรมของตนเองคือการฝึกทำนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วมันจะเหมือนกับการออกกำลังครับ คือทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นิสัยดีที่ทำบ่อยเข้าจะแข็งแรงเหมือนกันกับการออกกำลัง ซึ่งทำเป็นประจำแล้วจะแข็งแรง

ที่สำคัญคือ พอนิสัยดีอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว มันจะมีนิสัยดีๆ อย่างอื่นตามมาเป็นพรวนเลยครับ เหมือนกับที่ได้เล่าการทดลองให้อ่านนั่นแหละครับ

คำแนะนำของผม (ซึ่งผมเองคงต้องทำตามนี้ด้วยเหมือนกัน) คือ เราต้องหมั่นคิดและพูดกับตนเองในสิ่งที่ดีๆ ว่า เราจะต้องทำ ๆ และเราต้องหมั่นคิดและพูดกับตนเองว่าจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีนั้น ยิ่งถ้าเราเอาแนวคิดของนักพฤติกรรมนิยมที่ใช้ สัญญาพฤติกรรม (Behavior Contract) มาร่วมกำกับ โดยทำสัญญาแล้วให้ใครสักคนที่เราไว้วางใจมารับรู้ จะยิ่งกำกับพฤติกรรมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นอย่างแน่นอน

ในวาระอันเป็นศุภฤกษ์แห่งปีใหม่ 2554 ที่กำลังจะเวียนมาถึง ผมขออำนาจคุณพระรัตนตรัยดลบันดาลให้ทุกท่านประสพแต่สิ่งที่ดี ปราศจากความทุกข์ โรค ภัย อันตรายทั้งปวง

สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับ




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2553   
Last Update : 15 ธันวาคม 2553 23:54:54 น.   
Counter : 725 Pageviews.  


Basking in the reflected glory of the others (BIRG) : ปรากฏการณ์ขอเกาะกระแสคนดัง

ครั้งหนึ่งนักบริหารระดับสูงท่านหนึ่งพูดกับผมด้วยความเสียดายว่า พนักงานของบริษัทซึ่งเป็นคนที่ท่านได้ให้ความเมตตา ให้ความใส่ใจ ได้รับการสนับสนุนให้เลื่อนตำแหน่งไปแล้วไม่นานมานี้เอง แต่ทำไมถึงจะลาออกไปจากบริษัท ทำไมถึงไม่อยู่ต่อเพื่อที่จะทำงานต่อไปในเมื่ออนาคตของบริษัทออกจะรุ่งเรือง

หลังจากนั้นคำถามนี้ยังวนเวียนอยู่ในความคิดคำนึงของผมเสมอ คำตอบที่ผมได้คุยกับท่านนักบริหารในวันนั้นเองก็ไม่ได้ชัดเจน คือผมตอบว่า ตามข้อมูลที่ผมได้ทราบมา ผมคิดว่าพนักงานไปอยู่บริษัทใหม่เพราะว่า ที่ใหม่นั้นให้ตำแหน่งสูงขึ้นกว่าและเงินเดือนมากกว่าที่นี่ จึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มาจากฐานะธรรมดาที่จะต้องตัดสินใจอย่างนี้ เพราะทุกคนต่างก็ทำงานเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงกว่าเดิมทั้งนั้น

อย่างไรก็ดีผมคิดว่า คำอธิบายประกอบที่อาจจะป้องกันปัญหาพนักงานลาออกนั้นน่าจะมีมากกว่านั้น ผมคิดไปถึงการทดลองภาคสนามของชิอัลดีนี (Cialdini) และคณะ ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 1976 เขาเรียกแนวการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ที่นำไปเป็นหลักการในการทดลองว่า BIRG (Basking in the reflected glory of the others) วันนี้ผมอยากเล่าถึงปรากฎการณ์ BIRG นี้ เพื่ออธิบายประกอบปัญหาของนักบริหารที่ได้เขียนไว้ในย่อหน้าแรกด้วย

ชิอัลดีนี่และคณะเชื่อว่า มนุษย์เรามีความต้องการที่จะทำให้ตัวเองดูดี มีค่า ทุกคน เรียกว่า ทุกคนต้องการมีความนับถือตนเองสูง (High Self Esteem) อยากให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ รอบตัว แต่บางครั้งตนเองไม่สามารถที่จะสร้างการยอมรับได้ด้วยตนเอง วิธีที่จะให้ได้รับการยอมรับจากคนอื่นอีกวิธีหนึ่งคือ การทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มของผู้ชนะ (Basking in the reflected glory of the others :BIRG) เสียเลย

นักการตลาดเองจับไต๋ของปรากฎการณ BIRG ได้ดีแล้วนำไปใช้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพมากทีเดียว ผมกำลังอธิบายถึงการตลาดของทีมกีฬาระดับโลกที่ได้ก้าวมาสู่บ้านเราและประสพความสำเร็จอย่างมากเหมือนกัน

ผู้อ่านคงจะเริ่มมองเห็นแล้วนะครับว่า ทำไมแฟนผีแดง แฟนหงส์ แฟนปืน ถึงได้จงรักภักดีกันเหลือเกินในเมืองไทยของเรา ทั้งที่เราอยู่ห่างจากอังกฤษมาก และที่สำคัญคือเราไม่ได้ไปเชียร์ถึงขอบสนามสักหน่อย ไม่เคยเห็นนักฟุตบอลดังๆ ที่เรารู้จักเขา และถึงขนาดประมูลซื้อเสื้อในราคาหลายหมื่นเมื่อเขามาเมืองไทย เพราะนี่คือวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนเหล่านั้น (แฟนทีมเหล่านั้น) ในเมืองไทยเป็นที่ยอมรับไปด้วย นี่คือ BIRG บางทีเราคุยกันในหมู่เพื่อนฝูงว่า นี่เป็นการเกาะกระแสคนดังนั่นเอง

ในสังคมไทยเรานั้น ผมว่าเราคงมีความปรารถนาที่จะยอมรับนับถือตนเองเป็นอย่างมาก พอเราไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรให้ได้รับมันด้วยตนเอง เราจึงหันเหไปขอพ่วงเอาความดังของคนอื่นมาหน้าด้านๆ เลยเชียวแหละ

เอาจากที่เห็นชัดเจนก็คงเป็นนักกอล์ฟลูกครึ่งที่ดังเป็นมือหนึ่งของโลก คนไทยเองพยายามที่จะเกาะเขาดังทั้งที่เขาไม่ได้อินังขังขอบกับความเป็นคนไทยเลย ผมรำคาญทุกครั้งที่สื่อมวลชนเอ่ยถึงเขาผู้นี้ว่าเป็นลูกครึ่งไทยเสมอ แล้วเป็นไงนอกจากแม่เขาเป็นคนไทยแล้วมีอะไรที่เกี่ยวกับไทยไปทำให้เขาประสพความสำเร็จอย่างนั้น เขามาได้ระดับนี้เพราะเขาอยู่ในสังคมฝรั่ง พร้อมกว่าพวกเราที่จะเก่งแบบนั้นได้

ขอออกนอกประเด็นสักหน่อยนะครับ ผมว่าคนไทยโดยเฉพาะพวกสื่อมวลชนควรต้องปรับทัศนคติมายกย่องคนไทยด้วยกันที่ประสพความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ธงชัย ถาวร บุญชู ฯลฯ และนักกอล์ฟชื่อดังของเราที่สู้ชีวิตโคตรลำบากมาตั้งแต่เป็นเด็กเก็บลูกกอล์ฟจนก้าวขึ้นมาสู่ระดับเป็นนักกอล์ฟที่ยืนซดกับแชมป์ฝรั่งได้พอกัน ต้องน่าชื่นชมมากกว่า เมื่อเทียบกับพวกแชมป์ฝรั่งที่มีความพร้อมตั้งแต่เด็กๆ สบายกว่าพวกเราเยอะ ไม่เชื่อลองเอากรณีของธงชัย ใจดีกับไทเกอร์ วูด มาเปรียบเทียบกันตั้งแต่เด็กสิครับ

เอาเป็นว่าผมคิดว่าคนไทยเราชอบเกาะความดังของคนอื่น พอเราได้รับการแนะนำให้รู้จักกัน คำพูดที่เรามักจะคุยกันจะเป็นทำนองว่า คุณรู้จักคนนั้น คนนี้ (ดังๆ หน่อย) หรือเปล่า ผมเป็นรุ่นเดียวกัน เป็นเพื่อนกับเขา(คนดัง) ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยครับ เดี๋ยวนี้มันเลยเถิดไปจนกลายเป็นจัดหลักสูตรเพื่อสร้าง connection ที่เรียกว่าหลักสูตรสำหรับผู้บริหารทั้งหลายนั่นแหละ พวกนี้เขาไปเรียนเพื่อสร้างเส้นสายจริงๆ ผมเคยไปบรรยายในหลักสูตรประเภทนี้ด้วยเหมือนกัน มีนักการเมืองเพียบเลยครับ พอสังเกตได้ดังที่เขียนไปนั่นแหละครับ

กลับมาเรื่อง BIRG ตรงๆ อีกครั้งดีกว่า เราคงเคยเห็นกันนะครับว่า เมื่อทีมกีฬาเหล่านี้ได้รางวัลชนะเลิศ ผู้คนในเมืองที่สโมสรตั้งอยู่จะออกมาฉลองกันอย่างเต็มที่ มายืนต้อนรับนักกีฬาที่นั่งรถบัสเปิดประทุนชูถ้วยรางวัลพร้อมทำท่าทางมอบให้ผู้คนที่มาต้อนรับไปด้วย นี่ก็คือ BIRG ของแฟนๆ ที่มาร่วมต้อนรับทีมที่ตนเองจงรักภักดี พูดตรงๆ คือ ข้าพเจ้าขอดังร่วมด้วยคนนั่นเอง

ที่นี้ขอกลับมาเล่าการทดลองภาคสนามของชิอัลดีนีกับคณะเสียทีหลังจากเล่าอิทธิฤทธิ์ของ BIRG มาให้อ่านในแง่ที่เขานำไปใช้เป็นการตลาด

มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาจะมีการแบ่งกลุ่มแข่งกีฬากัน ที่มีคนดูกันมากล้นสนามทุกนัดได้แก่ อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล การจัดการแข่งขันมักจะใช้วันหยุดเสาร์อาทิตย์ แข่งแบบเหย้าเยือน นักศึกษาและผู้คนในเมืองมหาวิทยาลัยมักจะนิยมไปชมกีฬาเหล่านี้ด้วยการซื้อตั๋วแบบเป็นฤดูไปเลยทีเดียว

ชิอัลดีนี่ได้ให้ผู้ช่วยของเขาไปยืนตามหน้าหอสมุด โรงอาหาร ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มีการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลของทีมมหาวิทยาลัยตนเอง เพื่อบันทึกการแต่งตัวและของใช้ที่เป็นตราหรือโลโก สัตว์นำโชค (Mascot) แสดงความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ

ผลปรากฏว่า ถ้าหากว่าทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยชนะในวันที่มีการแข่งขัน วันรุ่งขึ้นจำนวนของนักศึกษาที่สวมเสื้อ เข็มขัด ของใช้ต่างๆ จะได้รับการประดับมากขึ้นจากนักศึกษาที่เขาสัมภาษณ์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทีมของมหาวิทยาลัยประสพความพ่ายแพ้ จำนวนนักศึกษาก็จะสวมเสื้อมหาวิทยาลัย หรือใช้ของประดับแสดงความเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยลดลงไปด้วยเหมือนกัน

นอกจากนั้นในการสัมภาษณ์ถึงผลการแข่งขันกีฬายังได้คำตอบที่แสดงความแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ในคำถามที่ว่า ผลการแข่งขันกีฬาเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าหากว่าชนะมา นักศึกษาผู้ให้สัมภาษณ์จะใช้คำว่า WE WON แต่ถ้าแพ้มา เขาจะใช้คำว่า THEY LOST

ชิอัลดีนีสรุปผลการทดลองภาคสนามนี้ว่า คนเราต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น ถ้าหากว่าตนเองทำเองไม่ได้ก็จะใช้วิธีการพ่วงเข้าไปกับกลุ่มคนที่ได้รับชัยชนะหรือประสพความสำเร็จ

หัวใจของปรากฎการณ์ BIRG จึงอยู่ที่การยอมรับนับถือตนเอง (SELF ESTEEM) ที่ทุกคนต่างก็อยากกันทุกคน เพียงแต่ว่าการยอมรับนับถือตนเองที่ว่านี้ มันมักจะต้องมีการเปรียบเทียบกับคนอื่นเสียก่อน

ประเด็นปัญหาพนักงานลาออกไปอยู่ที่อื่นนั้น ผมว่าถ้าเราจะป้องกัน (ซึ่งได้ไม่เต็มร้อยแน่นอน) เราควรป้องกันโดยการเพิ่มการยอมรับนับถือตนเองของพนักงานให้สูง คือทำให้เขาเชื่อมั่นว่า เขาเก่ง เขาดี

นั่นคือการเปิดโอกาสให้เขาประสพความสำเร็จร่วมกับบริษัทเป็นระยะ ดังนั้นผมคิดว่าถ้าบริษัทใด ทำกิจการทางธุรกิจแล้ว ควรมองที่เป้าหมายในระยะสั้นๆ ที่สามารถเห็นความสำเร็จได้เป็นระยะ จะทำให้พนักงานรับรู้ได้ว่า ตนเองทำงานประสพความสำเร็จ ยิ่งเป้าหมายสั้นๆ นั้นทำแล้วเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปจะยิ่งเป็นเหมือนหลักกิโล (MILESTONES) ที่พนักงานเห็นเป็นรูปธรรม พนักงานเกิดปรากฎการณ์ BIRG แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้มีส่วนทำเองกับความสำเร็จนั้น แต่การขอเกาะกระแสความดังของบริษัทไปด้วย

ความจงรักภักดีต่อบริษัทแบบแฟนผี แฟนหงส์ก็จะเกิดตามมา




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2553 20:21:58 น.   
Counter : 1224 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com