จิตวิทยาของผู้นำ: บทเรียนจากวิกฤติการเมือง พ.ศ. 2551

เหตุวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2551 นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้มากทีเดียว เราสามารถมองเหตุการณ์นี้ได้ในหลายรูปแบบ แต่ผมอยากเลือกมองเพียงด้านเดียวคือ จิตวิทยาของผู้นำ

เราได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่ไร้บารมีที่จะกระตุ้นให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเชื่อถือ ถูกกลุ่มคนจำนวนหนึ่งยึดทำเนียบจนต้องระเหเร่ร่อนหาสถานที่ทำงานไม่ได้ ครั้นออกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินยังไร้บารมีที่จะสั่งการทหารให้ใช้มาตรการทางทหารยึดทำเนียบคืนทั้งที่นั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมด้วย

เอาเข้าจริงๆ การมีตำแหน่งบังคับบัญชาหรือบริหารยิ่งใหญ่ที่สุดขนาดนายกรัฐมนตรีของประเทศก็ไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามความต้องการของตนได้

ในทางจิตวิทยาสังคมนั้น ผู้นำคือผู้ที่สามารถใช้อำนาจกระตุ้นให้ผู้อื่นเต็มใจที่จะปฏิบัติตามที่ผู้นำปรารถนาให้ทำ

นักจิตวิทยาสังคมได้แบ่งอำนาจในการกระตุ้นคนออกเป็น 5 ประเภทคือ
1) อำนาจจากตำแหน่งหรือกฎหมาย
2)อำนาจจากการให้รางวัล
3) อำนาจจากการข่มขู่
4) อำนาจจากการมีบารมี
5) อำนาจจากการมีความเชี่ยวชาญ

อำนาจประเภทที่ 1-3 นั้นพวกนักจิตวิทยาสังคมเรียกว่า อำนาจการเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหาร ส่วนอำนาจที่ 4-5 นั้นเรียกว่า อำนาจการเป็นผู้นำ
เราได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่า แม้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประเภทที่ 1-3 แต่พอสั่งการไปแล้วทหารกลับไม่ทำตาม ทั้งที่ทหารมีระเบียบวินัยที่จะต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีการจัดสายการบริหารที่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การไม่ทำตามคำสั่งสามารถทำให้ถูกลงโทษได้

กรณีของการที่ทหารดื้อไม่ทำตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการ อาจจะเรียกว่า Hat (ตำแหน่ง) ไม่สำคัญเท่ากับ Heart (บารมี ความรัก ความเคารพ) ก็ได้
แต่เมื่อเราหันไปดูกลุ่มพันธมิตรบ้าง เราจะเห็นการจัดระเบียบหลวมมาก ไม่มีกฎหมายระเบียบอะไรมารองรับความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มาร่วมเลย ไม่มีใครเป็นผู้นำชัดเจนแต่ร่วมกันนำ 5 คน และทั้ง 5 คนนี้ไร้อำนาจประเภทที่ 1-3 โดยสิ้นเชิง แต่เขากลับสามารถกระตุ้นให้ผู้คนมากมายมาร่วมชุมนุมและยึดทำเนียบได้ ฝนตกแดดออกยังไงก็มา

จะเห็นได้เลยว่า อำนาจกระตุ้นให้คนมาร่วมชุมนุมนั้นมาจากอำนาจที่ 4-5 บารมีและความเชี่ยวชาญของผู้นำกลุ่มเป็นส่วนสำคัญ พวกเขามาเพื่อฟังการอภิปรายข้อมูลเชิงลึกของผู้คนในฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพวกเขามีความเชื่ออยู่แล้วว่าทุจริต

พวกเขามาเพื่อหาข้อมูลตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่แต่เดิม ยิ่งมารู้ข้อมูลเชิงลึกที่แฉกันบนเวที ยิ่งทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น ยิ่งนับถือแกนนำ 5 คนมากขึ้น ยิ่งเห็นความเสียสละตนเองของแกนนำมากขึ้น ยิ่งเกลียดนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชมากขึ้น

สิ่งที่เป็นคุณต่อแกนนำพันธมิตรคือ นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชชอบออกรายการโทรทัศน์และวิทยุ ยิ่งพูดยิ่งพลาด ยิ่งทำให้คนทั่วไปเห็นชัดขึ้นทุกวันว่า นายกรัฐมนตรีไม่ทำงานที่ควรทำคือพัฒนาประเทศ ไร้ผลงาน เอาแต่เถียง เอาแต่โทษ เอาแต่ทะเลาะกับผู้คนทั่วไปหมดไม่เว้นแม้แต่ผู้สื่อข่าวเด็กๆ วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง เอาแน่ไม่ได้

ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจประเภทที่ 4-5 แสดงให้ผู้คนเห็น ไร้คนเชื่อถือ จึงเป็นได้แต่เพียงผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารตามตำแหน่ง แต่ไม่ได้เป็นผู้นำ

อันที่จริงเราอาจจะมองในแง่คำสอนทางพุทธศาสนาอีกมุมหนึ่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ศาลตัดสินคดีความเป็นเหตุต่อเนื่องให้ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนก็ออกมาแถลง ว่า จะเสนอนายสมัคร สุนทรเวชกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งแบบสวนหมัดทันทีเหมือนกัน

ไม่มีสติพอที่จะยึดคำสอนในพุทธศาสนาว่าด้วย สัปปุริสธรรม ที่ว่า คนที่สมบูรณ์มีคุณค่าอย่างแท้จริงต่อมนุษยชาติควรมีคุณสมบัติว่า รู้หลักการหรือเหตุ รู้จุดหมายหรือผล รู้จักตนเอง รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล (ที่สำคัญเขาว่า โฆษกพรรคผู้ออกมาแถลงนั้นเคยบวชมานานก่อนจะมาเล่นการเมืองด้วย)

ความขาดแคลนสัปปุริสธรรมของนายสมัคร สุนทรเวชและสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่ออกมาแถลงสวนทันทีนั้นทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่ารับไม่ได้
ผมคิดว่า สัปปุริสธรรม นั้นเป็นธรรมข้อสำคัญมากทีเดียวสำหรับการปฏิบัติตนในสังคมทั่วไป ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นที่ใด ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ที่ประชุมชนสาธารณะ และไม่เว้นว่าจะเป็นผู้ใด ฯลฯ

สำคัญตรงที่ว่า ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จะมีผลเสียหายต่อตนเองเป็นอย่างยิ่งอย่างทันทีด้วย เช่น ไปฟังดนตรีในโรงแสดงดันไปคุยกันเสียงดัง อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้จักกาล ไม่รู้จักชุมชน

เมื่อประเทศไทยได้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงแรก เพราะว่าบุคลิกภาพของนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นแตกต่างจากคนที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปอย่างหน้ามือกับหลังมือ

การที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์สามารถพูดภาษาถิ่นได้ทั้ง 3 ภาคทำให้เกิดความหวังว่า เขาจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นมาได้จากคนทั่วประเทศ และการที่เขาพูดเสมอว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนทั้งประเทศ ตอกย้ำด้วยการพยายามแสดงให้รู้โดยการเดินสายไปทุกภาค

กล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์เรียนรู้ความผิดพลาดของนายสมัคร สุนทรเวชและแก้ไขได้ดี แม้ว่าจะมีชนักปักหลังด้ามใหญ่คือการเป็นน้องเขยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตัวป่วนตัวใหญ่ที่สุดของประเทศ เขากลับทำให้คนไทยยอมรับได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ความหวังนั้นก็ได้พังไปเมื่อมีการสลายม๊อบของตำรวจในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีประชาชนตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ความหวังในตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะพลิกฟื้นสถานการณ์บ้านเมืองให้ดีได้พลอยพังทลายไปด้วย

นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์น่าจะหมดอำนาจบารมีที่จะสื่อสารกับพันธมิตรประชาธิปไตยไปเสียแล้ว หมดอำนาจในการกระตุ้นให้พวกเขาเปลี่ยนใจเสียแล้ว

จิตวิทยาเสนออะไรในเรื่องการเป็นผู้นำ?

ข้อเสนออย่างง่ายจากจิตวิทยาสังคมคือ ใครที่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารสมควรสร้างอำนาจบารมีและความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นอำนาจของผู้นำ โดยที่อำนาจจาก 2 แหล่งนี้จะทำให้เขารัก เคารพ ยกย่อง บูชา ยินยอมที่จะกระทำการใดๆ ให้แก่ผู้บริหารที่สั่งการด้วยความเต็มใจ

ผมได้รวบรวมข้อเสนอของนักจิตวิทยาสังคมในการสร้างความเป็นผู้นำที่สามารถใช้อำนาจได้ดี เผื่อท่านที่ต้องการจะก้าวหน้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นไปในองค์การต่างๆ ตลอดจนนักการเมืองที่จะเข้าไปบริหารท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ จะฝึกหัดสั่งสมในตนเองให้แก่กล้า ของอย่างนี้ต้องการเวลาในการสั่งสมด้วย

การพัฒนาความเป็นผู้นำควรต้องปฏิบัติตนอย่างนี้ครับ

1. สร้างวิสัยทัศน์ที่ทำให้ผู้ตามใส่ใจคิดว่าควรไปสู่จุดนั้น ง่ายในการจำได้ และเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ วิสัยทัศน์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกน้องมักจะมีลักษณะ ชัดเจน ทำให้เห็นว่างานที่ทำมีความหมาย เป็นจุดประสงค์ร่วมของผู้คนในองค์การ เป็นอุดมคติที่องค์การต้องการไปให้ถึงจุดนั้น

เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ประกาศว่า บริษัทต้องการที่จะเป็นครัวของโลก วิสัยทัศน์นี้มีความชัดเจน ง่าย จำง่าย และเป็นไปได้ เพราะบริษัทนี้ผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ จำหน่ายเนื้อชำแหละ อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ไปในหลายประเทศ

การประกาศและรณรงค์ให้มุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ด้วยการสื่อสารอย่างชัดเจนและจับใจ ส่วนมากมักจะใช้ถ้อยคำที่กระตุ้นอารมณ์ ทำให้จำง่าย เป็นคำขวัญ เช่น คิดใหม่ ทำใหม่ หรือตาดูดาว เท้าติดดิน เป็นต้น

2. แสดงความเชื่อมั่นด้วยความเชี่ยวชาญ ความเก่ง ความรู้ลึกซึ้ง และมองโลกในแง่ดีที่จะทำให้ลูกน้องเชื่อว่าจะไปถึงสภาพการณ์ในอนาคตอันเป็นวิสัยทัศน์นั้นได้ด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแข็งแกร่งขององค์การและจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข

แม้แต่การพูดการแสดงออกของผู้นำก็ต้องแสดงอย่างมั่นใจ ไม่พูดคำว่า ผมคาดว่า ผมหวังว่า แต่ต้องบอกว่า ผมเชื่อมั่นว่า รวมทั้งท่าทาง ใบหน้า นัยน์ตาต้องแสดงออกมาอย่างมั่นใจ ขอให้ดูตัวอย่างจากนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ในการออกมาแสดงปาฐกถาทฤษฎีสองสูงให้ผู้คนได้ทราบในภาวะที่คนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของบ้านเมือง

3. การแสดงตนเป็นผู้ให้ การแสดงความห่วงใย ช่วยเหลือด้านสวัสดิการความเป็นอยู่ของลูกน้องให้เป็นตัวอย่างที่ประทับใจ ขอเล่าตัวอย่างที่ผมเคยได้ยินจากเจ้าของกิจการคนหนึ่งคือ ในโอกาสพิเศษครั้งหนึ่ง เจ้าของกิจการผู้นี้อยากทำบุญด้วยวิธีใหม่ เขาได้เลือกพนักงานที่กำลังเดือดร้อนทางการเงินแต่ประพฤติดีไว้จำนวนหนึ่ง แล้วไปเยี่ยมลูกน้องเหล่านี้ถึงบ้านเช่าพร้อมทั้งเอาข้าวสาร อาหารแห้งไปมอบให้ พร้อมทั้งมอบเงินค่าใช้จ่ายพิเศษให้จำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเช่าบ้าน

การให้ครั้งนี้สร้างความประทับใจได้มากเพราะมาในจังหวะที่พวกเขาเดือดร้อนพอดีเพราะมีพนักงานของเขาหลายคนติดค้างค่าเช่าบ้านอยู่พอดี นี่เป็นตัวอย่างเพียงครั้งเดียว ความจริงท่านผู้นี้ให้ความเมตตาต่อบรรดาพนักงานในบริษัทของท่านมานานหลายสิบปี จนเป็นที่เคารพรักของพนักงานเป็นอย่างยิ่ง

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นเช่นเดียวกัน นโยบายของเขาคือแจกคนจน ไม่ว่าจะเป็นชาวนา แท็กซี่ คนจนในเมือง แจกเงินเดือนนักการเมืองฝ่ายตน ฯลฯ จึงจะแปลกมากถ้าหากพวกนักการเมืองในพรรคของเขาและคนจนจะไม่ชอบ ไม่เคารพ ไม่รักเขา

เรื่องการให้ (จาคะหรือทาน) เป็นสิ่งสำคัญมากในวัฒนธรรมไทย เพราะว่าค่านิยมไทยที่สำคัญคือ กตัญญู การให้ความช่วยเหลือผู้น้อยจะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกกตัญญู อันจะนำไปสู่การตอบแทนบุญคุณต่อไป

4. พยายามทำให้ลูกน้องประสบความสำเร็จในการทำงานทีละน้อยเป็นตอน ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเองให้เกิดขึ้นในตัวของลูกน้อง ด้วยการกำหนดเป้าหมายการทำงานเป็นขั้นๆ เมื่อลูกน้องทำสำเร็จตามเป้าหมายในระยะแรกๆ ควรทำพิธีฉลองความสำเร็จของลูกน้องเป็นครั้งคราว เพื่อเสริมแรงและทำให้ลูกน้องมองเห็นความเป็นไปได้ในทางดีของงานนั้นในระยะยาวว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้

5. ใช้การกระทำที่ทำให้จำได้นานๆ เน้นคุณค่าที่ต้องการ เช่น นักบริหารที่รู้จักกันดีท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อพนักงานผลิตเหล็กของเขาทำงานได้บรรลุเป้าหมายเป็นครั้งแรก เจ้าของบริษัทขับรถจากสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครมาจัดปาร์ตี้โดนัทและโค๊กเลี้ยงพนักงานทั้งหมดที่หน้าเครื่องจักร แล้วกล่าวขอบคุณและชมเชยพนักงานที่ร่วมกันทำงานจนบรรลุเป้าหมาย

เขากล่าวว่า คุณค่าของการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ เมื่อทำได้เขามีความสุขถึงขนาดเลิกนัดนายแบงค์ที่มาพบเพื่อเจรจาให้ยืมเงินลงทุน ขับรถจากกรุงเทพฯ มาชลบุรีเพื่อมาร่วมแสดงความยินดีกับพนักงานถึงโรงงาน การปฏิบัติเช่นนี้ได้ทำให้พนักงานภาคภูมิใจและเล่าสู่กันฟังไปอีกนาน

6. เป็นผู้นำที่เน้นการกระทำตนอย่างมีจริยธรรมเป็นตัวอย่างการกระทำที่คงเส้นคงวาตามค่านิยมที่น่ายกย่อง ไม่เป็นผู้ที่ดีแต่พูดเรียกร้องคนอื่นให้ทำดีแต่ตนเองไม่สามารถทำได้ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ นายธนินทร์ เจียรวนนท์เน้นค่านิยมการช่วยเหลือตอบแทนบุญคุณคืนแก่สังคม เขาทำให้พนักงานเห็นด้วยการช่วยเหลือหลายแบบ เช่น ตั้งมูลนิธิช่วยศาสนา การไปช่วยสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ พนักงานในกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ทุกคนรู้กันดีและยอมรับ

จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวยิ่งสำคัญ ลูกน้องจะเคารพนับถือนายมาก ถ้าหากว่านายของเขาเป็นคนดีมีความประพฤติที่น่ายกย่องเป็นตัวอย่างในสังคมได้อย่างไม่อายใคร ผู้นำบางคนอาจจะมีความรู้เก่งมาก ทำงานได้เก่ง แต่ถ้าลูกน้องรู้ว่าชอบใช้อำนาจเอาประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวเป็นใหญ่กว่าส่วนรวม พวกเขาจะเลิกนับถือในที่สุด

พูดให้ง่ายคือคนจะมีบารมีเป็นที่เคารพของคนอื่นได้ต้องประพฤติตนให้มีศีล

7. เป็นผู้นำควรมีการเชื่อมโยงกับผู้คนทั้งภายนอกและภายในองค์การ หรือจะพูดให้ง่ายคือ ต้องรู้วิธีสร้างบารมีในการช่วยเหลือคนทั้งภายนอกและภายในองค์การมาตั้งแต่อดีต ทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกว่าต้องแสดงมิตรไมตรีต่างตอบแทน เรื่องแบบนี้ในสังคมไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยมที่ยึดถือค่านิยมสำคัญคือ ความกตัญญู ซึ่งผลการวิจัยในเมืองไทยของ ดร.สุนทรี โคมิน แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เองก็สนับสนุนข้อเสนอนี้

อย่างไรก็ตามความพิเศษของสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ ความเชื่อมโยงของการเป็นญาติ เป็นมิตร นับว่าสำคัญ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์นั้นมีฐานะเป็นน้องเขยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีภรรยาเป็นผู้มีอิทธิพลในพรรคพลังประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ให้เป็น ส.ส. สมัยแรกและได้เป็นนายกรัฐมนตรี

คนหนุ่มสาวที่อาศัยเส้นทางแบบนี้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในวงการเมืองของบ้านเรามีให้เห็นเสมอ เท่าที่เห็นในข่าวมักจะเดินตามพ่อแม่ที่เป็นนักการเมือง หรือบางทีพ่อแม่เอาไปฝากให้เดินตามนายกรัฐมนตรี คนพวกนี้มักจะได้ตำแหน่งตามอำนาจของพ่อแม่ แต่พวกเขาต้องพิสูจน์ตนเองมากกว่าคนอื่น เพราะว่าจะถูกสังคมตั้งข้อสงสัยในความสามารถ เพราะเขารับรู้ว่ามาเพราะเส้น เมื่อพ่อแม่หมดอำนาจฝากฝัง คนพวกนี้มักจะหายหน้าตามไปด้วยถ้าเก่งไม่จริง

อย่างไรก็ตามคนหนุ่มพวกนี้บางคนใช้เงินลงทุนซื้อเสียงเข้าไปเพื่อจองตำแหน่งที่สามารถใช้อำนาจฉ้อฉลจนได้ผลตอบแทนมากกว่าที่ได้ลงทุนซื้อเสียง

เรื่องแบบนี้เป็นของธรรมดาในวงการธุรกิจของเมืองไทย บรรดาลูกเจ้าของกิจการใหญ่ๆ มักจะได้รับการวางแผนมาอย่างดีให้สั่งสมประสบการณ์ในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กด้วยการเข้าศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้คบกับเพื่อนร่วมสถาบันที่เป็นลูกผู้มีฐานะสูงทางสังคม การเข้าเป็นสมาชิกสโมสรสำหรับคนชั้นสูง บางคนอาจจะเข้ารับราชการสักระยะเวลาหนึ่ง เมื่อกลับเข้ามาทำงานในกิจการของตนเองคนเหล่านี้จะเต็มไปด้วยประสบการณ์และเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้การทำงานใหญ่ๆ ได้สำเร็จสะดวกมากขึ้น

สรุปทั้ง 7 ประการนี้ไม่มีข้อใดจัดเป็นอำนาจประเภทที่ 1-3 เลย ล้วนแล้วแต่จัดว่าเป็นแหล่งอำนาจที่ 4 กับ 5 คืออำนาจบารมีและความเชี่ยวชาญ
หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำในสังคมไทยนั้นคือ บารมี ผู้บริหารควรสั่งสมบารมีด้วยการทำตามแนวทาง 7 ประการที่ได้เสนอไว้ ยิ่งเริ่มเร็วได้เท่าไรก็ดีเท่านั้น

จะทำนอกจาก 7 ประการนี้ก็ได้ ตราบใดที่มันจะไปเพิ่มอำนาจบารมีและความเชี่ยวชาญให้ก็ถือว่าดีทั้งนั้นสำหรับอนาคตของท่าน



Create Date : 15 ตุลาคม 2551
Last Update : 15 ตุลาคม 2551 0:17:46 น. 6 comments
Counter : 759 Pageviews.  
 
 
 
 
ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และสอบถามอาจารย์ไปพร้อมกันเลยครับ
การดำเนินกิจกรรมใดๆในองค์การ นอกจากลักษณะที่ดีที่ผู้นำควรมีแล้ว ผมว่าผู้ตามก็มีความสำคัญไม่น้อยนะครับ ขอยกตัวอย่างในกรณีของผมเองซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับบทความที่ได้เสนอไปในวิชา จิตวิทยากับการบริหาร (ภาค 2)
ผู้ใต้บังคับบัญชาของผมสองคนขออนุมัติลาออกก่อน(ก่อนกำหนด) คนหนึ่งเป็นพนักงงานอายุ 57 อีกสามปีเกษียณ ก็ดูมีเหตุมีผลกับการที่จะลาออก เพราะได้เงินคุ้มค่าที่สุด แต่ว่าอีกกรณีหนึ่งเป็นวิศวกร อายุงาน11 ปี ขออนุมัติเช่นเดียวกัน (ขอเป็นรอบที่ 3) แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ไป เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นขอย้ายฝ่าย (ทั้งๆที่รอการอนุมัติแล้ว แต่เจ้าตัวขอระงับด้วยตนเอง)
เจอปัญหาอย่างนี้เข้า ผมในฐานะที่เป็นหัวหน้าแผนกที่ลูกน้องต้องการจะจากไปพร้อมกันสองคน (ในแผนกมี 7 คนรวมผมด้วย) ก็ต้องหันกลับมามองตัวเองว่า ว่าตัวเองเป็นผู้นำแบบไหนในกันแน่
พิจารณาแล้วก็พบว่าตัวเอง ไม่เป็นแน่ๆคือแบบที่ 2 และ 3 ส่วนแบบที่ 1 นั้นเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนแบบอื่นไม่กล้าพิจารณาตัวเอง
ข้อสงสัยที่วิศวกรคนนี้ทำไมอยากจะไปจากงานที่ตนทำมาสิบกว่าปี มันเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเดิมวิศวกรคนนี้อยากจะลาออกและได้เงินก้อนไปก้อนหนึ่งตามความตั้งใจเดิม เพราะพนักงานคนนี้มีธุรกิจส่วนตัวภายนอก มักเอาเวลางานไปทำงานนอกเสมอ และงานที่ปฏิบัติก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเพราะระบบของหน่วยงานเองที่ไม่สามารถดำเนินการเช่นเดียวกับเอกชน (และผมก็ไม่นิยมใช้วิธีรุนแรง) ไล่ออกไม่ได้ ตัดเงินเดือนไม่ได้ (อย่าให้เล่ามากกว่านี้เลยครับ) วิธีเดียวที่ทำได้คือต้องใช้วิธีแบบหางานให้ทำ คิดเชิงบวก สงสัยต้องนำวิธีการพัฒนา Psycap มาใช้แล้วครับ

ครับ แต่พอมาถึงวินาทีสุดท้ายวิศวกรคนนี้เปลี่ยนจากลาออกเป็นย้าย มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า การบริหารของเราเป็นอย่างไรกันแน่
แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า พนักงานท่านนี้เค้ามีจุดมุ่งหมายการย้ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารใดๆของผม เพราะอะไรไม่ขออธิบายเพิ่มเติม แต่ดุจากจุดมุ่งหมายแล้วต้องการจะทำงานใน ที่สามารถจะสนับสนุนงานนอกได้สะดวกกว่า
ก่อนหน้าจะพนักงานคนนี้จะขอลาออกนั้น ผมได้ลองใช้วิธีทุกอย่างที่เป็นเชิงบวก แต่พบว่าประสิทธิภาพที่ได้ในงานนั้นไม่มีพัฒนาการใดๆ ผมจึงสงสัยว่า การพัฒนา Psycap นี้จะสามารถใช้ได้กับคนที่ไม่มีความต้องการจะทำงานกับเราได้หรือไม่และทำอย่างไร
เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มี Hope อะไรกับเราเลย มีเป้าหมายโดยใช้ Pathways อื่นที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติงานกับเรา แล้วเราควรจะดำเนินการอย่างไร ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
ในฐานะองค์การควรจะทำอย่างไรกับกรณีเช่นนี้ ซึ่งมีมากเหลือเกินในองค์การรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และในฐานะส่วนบุคคลที่เป็นหัวหน้าควรจะปฏิบัติอย่างไร
ขอบคุณครับ
 
 

โดย: เกรียงไกร IP: 202.44.210.41 วันที่: 17 ตุลาคม 2551 เวลา:11:13:08 น.  

 
 
 
จากมุมมองของเขาเดาว่าน่าจะมีประเด็นนี้ด้วยคือ
1. ออกไปตอนนี้เศรษฐกิจกำลังแย่ งานนอกที่เคยมีอาจจะไปไม่รอด ดังนั้นอยุ่ต่อดีกว่า มั่นคงกว่า
2. อยู่ต่อไปแต่น่าจะหาที่เหมาะกว่าที่อยู่ขณะนี้ ซึ่งหัวหน้าไม่ expect มากเท่านี้ ที่ซึ่งสามารถรับงานนอกได้โดยไม่มีใครว่า
3. ถ้าเกิดเขามี Hope ในหน่วยงานนี้ ที่ใหม่ที่ขอย้ายไปอาจจะเป็น pathway ใหม่ ถ้าอยู่กับคุณต่อไป เขามองไม่เห็น pathway
ขอเสนอให้คุณเกรียงไกรขบคิดเรื่องนี้ดูว่า ไม่ว่า Psycap หรืออะไรก็ตาม คุณว่ามันอยู่ภายใต้หลักอนิจจังมั๊ยครับ คือการเปลี่ยนแปลงเป็นของปกติที่เรา (ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือใครก็ตาม) ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด เนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในอำนาจเราทั้งหมด Psychological Constructs ทุกตัวก็เหมือนกันครับ
ขอให้กำลังใจแก้ไขต่อไปนะ เท่าที่เรามีโอกาสได้มี Interaction ต่อกันมา ผมเห็นได้ว่า ผมกำลังจะได้นักจิตวิทยาที่ลุ่มลึกทั้งทฤษฎีและปฎิบัติให้พวกเราได้ภาคภูมิใจกันในไม่ช้านี้
 
 

โดย: sithichoke (sithichoke ) วันที่: 20 ตุลาคม 2551 เวลา:10:12:20 น.  

 
 
 
เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งค่ะ
จากที่ฟังทั้งหมด เราสรุปได้ด้วย คำพูคที่ว่า
"กรรมุนา วตจี โลโก" หรือเปล่าค่ะ

ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้
ณ วันหนึ่งที่เรามี วันรุ่งขึ้นสิ่งที่มีก็มลายหายไป
ถ้าการเรียนจิตวิทยาแล้วสามารถช่วยคนให้ลุกขึ้นสู้ได้
คิดว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์นะคะที่เป็นแรงบันดาลใจ
ลูกศิษย์โง่ คนนี้จะพยายามเป็นนักจิตวิทยาที่ดีให้ได้ค่ะ
อย่าเพิ่งเหนื่อยที่จะแนะนำนะคะ
 
 

โดย: Mena IP: 125.24.99.243 วันที่: 30 ตุลาคม 2551 เวลา:19:17:26 น.  

 
 
 
ขอเดาเสริมต่อจากของอาจารย์ครับ...

ประเด็นที่เขาตัดสินใจขอย้ายฝ่ายแทน หลังจากเปลี่ยนใจไม่ลาออกนั้น อาจเป็นไปได้ว่า เขาพิจารณาแล้ว กลัวถูกวิจารณ์หรือเปล่าครับ? มันเหมือนกับในกรณีของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งมีพนักงานคนหนึ่งขอลาออก เพื่อเรียกร้องเงินเดือนที่สูงขึ้น และเมื่อได้ตามประสงค์ก็เปลี่ยนใจไม่ลาออก ซึ่งคนอื่นๆ ในบริษัทก็วิพากย์วิจารณ์เขาไปต่างๆ นาๆ (แต่ด้วยความที่ว่าเขาเป็นคนที่เก่งคนหนึ่งในหน่วยงานนั้น คำวิพากย์ต่างๆ จึงจางหายไปในเวลาไม่นาน)
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.234.247 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:18:39 น.  

 
 
 
คุณคงเดชครับ ถ้าเขาขอร้องเงินเดือนสูงแล้วบริษัทให้เขา เขาก็ต้องอยู่นะ ถ้าที่อื่นไม่ได้ offer มากกว่าบริษัทนี้แต่กรณีอย่างนี้เคยเห็นในบริษัทอื่นเหมือนกันว่า พนักงานที่ไปสมัครงานกับบริษัทคู่แข่งได้เงินเดือนสูงกว่า พอจะไปบริษัทเก่าปรับเงินเดือนให้สูงตาม เลยไม่ไป และได้กลายเป็นจุดปะทุสำคัญคือ คนอื่นก็เอาอย่างบ้าทำให้คนที่ไม่คิดจะไปสมัครงานที่อื่นต้องพยายามทำด้วย
สิทธิโชค
 
 

โดย: สิทธิโชค IP: 203.156.27.231 วันที่: 1 ธันวาคม 2551 เวลา:12:49:24 น.  

 
 
 
ขออภัยที่เพิ่งมาอภิปรายเรื่องนี้ต่อช้าไปหน่อยครับอาจารย์...

โดยปรกติแล้ว เมื่อตัดสินใจจะลาออกไปอยู่ที่บริษัทคู่แข่งแล้ว (เพราะเขาให้เงินเดือนสูงเท่าที่เราต้องการ) แต่บริษัทเดิมของเราเกิดสู้เงินเดือนขึ้นมา แล้วให้เท่ากัน ผมว่าในใจของคนคนนั้นจะเกิดการเปรียบเทียบ 2 ทางเลือก คือ

1. เลือกที่ทำงานใหม่ ซึ่งจะได้ไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นๆ ในบริษัทจะมองตนเอง หรือนินทาตนเองอย่างไร แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ระบบการทำงานใหม่ๆ
2. เลือกทำอยู่ที่เดิม ไม่ต้องปรับตัวใหม่อะไร แต่อาจต้องทนเสียงนกเสียงกาบ้าง

ถ้าเกิดคนคนนั้นมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และการลาออกมีเหตุมีผลดี (เช่น ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องเรียกร้องหาเงินเดือนที่สูงกว่าเดิม) ทางเลือกที่สองอาจน่าสนกว่า...

อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องนินทา หรือเรื่องที่คนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร มันก็จะอยู่ไม่นานนัก เพราะคนเราลืมง่ายกันอยู่แล้ว (หากไม่ใช่เรื่องของเรา)

ประเด็นสำคัญอยู่ที่สิ่งที่อาจารย์ยกขึ้นมาอภิปราย คือ เชื้อปะทุที่ทำให้คนอื่นๆ พยายามทำตามนี่แหละครับ ซึ่งปีนี้บริษัทที่ผมทำงานอยู่ ก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน ทำให้ต้องมีการปรับตำแหน่ง เพื่อรั้งคนทำงานเอาไว้ถึง 4 คน (2 ในนั้นถูกปรับเป็นระดับผู้จัดการ ส่วนอีก 1 ในนั้น ถูกปรับตำแหน่งเพียงเพื่อให้ตำแหน่งสูงกว่าคนที่ถูกปรับตำแหน่งเพื่อรั้งไม่ให้ลาออก)... ผมเองก็ยอมรับว่าผลกระทบนั้นรุนแรงครับ และที่สำคัญคือ 2 คนใน 4 คน ที่ได้รับการปรับตำแหน่ง มีผลการปฏิบัติงานแย่ลงกว่าเดิมด้วย ในขณะที่ 1 คนทำงานได้ดีเท่าเดิม และอีก 1 คน ทำงานได้ดีกว่าเดิม

ในมุมมองของผม ผมมองว่าที่ต้องประสบปัญหาเช่นนี้ เพราะบริษัทขาดอำนาจในการต่อรอง คือ ไม่สามารถหาคนมาทดแทนได้ ทำให้ต้องง้อคนทำงาน หากจะแก้ไขที่ต้นเหตุ คงต้องมีเรื่องของ Succession Plan เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.98.215 วันที่: 27 ธันวาคม 2551 เวลา:22:40:58 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com