ปรากฏการณ์การทึกทักเอาเอง

นิยายกำลังภายในสมัยก่อนที่ผมชอบอ่านนั้น ตัวเอกมักจะต้องบังเอิญไปพบคัมภีร์วิทยายุทธ์ชั้นเลิศในหุบเขา แล้วต้องอยู่คนเดียวฝึกวิชาตามคัมภีร์นั้นเป็นเวลาเป็นปีๆ กว่าจะออกจากหุบเขาเข้าสู่บู้ลิ้ม ผู้ประพันธ์จึงต้องแต่งเรื่องให้ตัวเอกนั้นมีปณิธานเด็ดเดี่ยว ฝึกวิชาเพื่อแก้แค้นให้พ่อแม่

มิฉะนั้นตัวเอกนั้นต้องบ้าเสียก่อนจะเก่งแน่ๆ เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้นต้องอยู่กับคนอื่นๆ ตลอด เราไม่สามารถอยู่คนเดียวนานๆ ได้

นักจิตวิทยาเคยทดลองให้คนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสได้ คือ อุดหู ปิดตา สวมถุงมือ อยู่ในห้องคนเดียวไม่ให้พบใคร พบว่า ผู้รับการทดลองมักอยู่ได้ไม่นานเกิน 2-3 วัน พวกเขามักจะรายงานว่า เริ่มได้ยินเสียง หรือเห็นภาพหลอนเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 20 ชั่วโมง

ประสบการณ์ครั้งหนึ่งของผมที่เป็นอย่างเดียวกันนี้คือ เมื่อผมได้ทุนไปทำงานวิจัยที่เยอรมัน ผมได้ขอให้เจ้าภาพจัดที่อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ไม่ขออยู่คนเดียว เจ้าภาพจัดให้อยู่หอพัก 8 ชั้นร่วมกับนักศึกษา มีห้องนอนส่วนตัว แต่ใช้ครัวและห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งผมชอบมากที่จะได้คุยกับผู้คนบ้าง

แต่วันสุดสัปดาห์วันหนึ่ง นักศึกษาทั้งหอพักกลับบ้านกันหมด มีผมอยู่คนเดียวทั้งตึก 8 ชั้น คืนนั้นผมดันนอนไม่หลับ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ก็มีแต่ภาษาเยอรมัน ผมก็ไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ไม่มีสมาธิ เวลาผ่านไปผมเริ่มรู้สึกว่า ได้ยินเสียงว่า ผมคิดอะไร ผมเริ่มรู้แล้วว่า ชักไม่ดีแล้ว จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาเลขานุการอาจารย์หัวหน้าโครงการวิจัย ขอให้พาสามีมาด้วย คืนนั้นต้องพากันไปดื่มเบียร์สักพักใหญ่ แล้วค่อยกลับมานอนหลับได้

คนเราต้องสังสรรค์สัมพันธ์กับผู้คนครับ ทั้งที่มันสำคัญต่อเรามากเรายังเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์น้อยกว่าควร มักจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ

เชื่อมั๊ยครับว่า ในการสัมพันธ์กับคนอื่นนั้นเรามักจะมีปัญหาอันเกิดจากตัวเราเองสร้างขึ้นด้วยเหมือนกัน (ส่วนมากยามที่ความสัมพันธ์มีปัญหา เรามักคิดว่า เขาเป็นคนสร้างปัญหามากกว่าจะคิดว่า เราเป็นตัวสร้างปัญหาเอง)

เรื่องที่ผมว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันที่สำคัญมากๆ คือ การทึกทักเอาเองตามใจเรา เพื่อให้ดูเป็นวิชาการอย่างศักดิ์สิทธิ์สักหน่อย นักจิตวิทยาเรียกว่า Fundamental Attribution Error ครับ

คนเราชอบที่จะทึกทักเอาเองตามใจเราเสมอเวลาที่เราสัมพันธ์กับใครๆ
ในความสัมพันธ์แบบลูกกับพ่อแม่ เราที่เป็นพ่อแม่มักชอบทึกทักเอาตามใจพ่อแม่ว่า ลูกคงอยากได้อย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อยากทำอย่างนั้น ด้วยความรักลูกพ่อแม่มักจะจัดการอะไรตามที่ตนเองทึกทักเอาว่า ลูกต้องการ พอลูกแสดงอาการไม่เอาด้วย พ่อแม่ก็จะน้อยใจว่าลูกไม่รักพ่อแม่

ตัวอย่างในละครไทยจะเห็นได้บ่อยๆ เมื่อพ่อแม่ทึกทักเอาว่า นางเอกต้องได้ผู้ชายคนนี้จึงจะมีชีวิตที่เป็นสุข แต่นางเอกต้องไม่เอาด้วย เพราะรักพระเอก จนพระเอกต้องเดือดร้อน ทำงานแก้ปัญหาชีวิตของนางเอกกับพ่อแม่

ในความสัมพันธ์แบบชายหญิงเชิงคู่รัก ต่างฝ่ายต่างก็จะทึกทักเอาตามใจตนเองว่า อีกฝ่ายหนึ่งคงเป็นอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหญิง (มักเป็นมากกว่าฝ่ายชาย) ชอบทึกทักเอาเองว่า ฝ่ายชายจะต้องซื้อดอกกุหลายสีแดงให้ในวันวาเลนไทน์ พอฝ่ายชายไม่ได้ซื้อให้ก็งอนตามระเบียบให้ง้อ

ในความสัมพันธ์เชิงการเมืองนั้นชวนขำขันได้เหมือนกัน เมื่อฝ่ายค้านลุกขึ้นมาอภิปรายรัฐมนตรีอย่างรุนแรงแล้วทึกทักเอาว่าทุจริตแน่ พอฝ่ายรัฐมนตรีขึ้นมาชี้แจงก็ตอบว่า ที่ทำมาทั้งหมดนี้ ทำอย่างเดียวกันกับที่ผู้อภิปรายด่าว่าตนนั้นเคยทำเมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้เหมือนกัน

แม้แต่ความสัมพันธ์เชิงการทำงานระหว่างเจ้านายกับลูกน้องก็มีการทึกทักเอาตามใจตนเองเหมือนกัน เช่น ลูกน้องมักจะทึกทักเอาตามใจตนเองว่า ตำแหน่งนั้นนี้นายเราคงต้องแต่งตั้งเราเป็น เพราะเรามีคุณสมบัติดีที่สุดกว่ามวลมนุษย์ใดๆ อีกแล้ว พอนายแต่งตั้งคนอื่นก็เสียใจหาว่านายตาบอด มองไม่เห็นความเก่งของตัว พาลโกรธนาย กินเหล้าแล้วด่า กินเหล้าแล้วด่า

จำได้ว่า ตอนเรียนวิชาพฤติกรรมองค์การ อาจารย์เขาเคยให้อ่านกรณีศึกษาที่มี ผู้ชายคนหนึ่งแต่งงานกับสาวอริโซนา แต่ทำงานที่นิวยอร์ค ฤดูร้อนหนึ่งทั้งสามีภรรยาพักร้อนไปเยี่ยมพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่เมืองเล็กแห่งหนึ่งในรัฐอริโซนา ซึ่งทั้งร้อน ทั้งแห้ง และเล็ก

พักอยู่ที่บ้านพ่อตาแม่ยายได้สัก 3-4 วัน วันหนึ่งพ่อตาทึกทักเอาตามใจตนเอง แล้วคุยปรึกษากับภรรยาว่า ท่าทางลูกเขยคงร้อน เบื่อและเหงา เพราะเคยอยู่แต่นิวยอร์คเมืองใหญ่อากาศเย็น จึงอยากเอาใจลูกเขย เลยชวนไปกินอาหารกลางวันที่อีกเมืองหนึ่งซึ่งต้องขับรถไปครึ่งวัน ที่นั่นมีอะไรสนุกๆ ให้ได้ทำ และอากาศดีกว่าเมืองเล็กๆ อย่างนี้

แม่ยายรีบทึกทักเอาเองว่า ใช่แล้ว เราไปชวนลูกเขยแสนน่ารักกันเถอะ
พอไปชวนลูกเขยซึ่งความจริงไม่ได้รู้สึกเหงา ไม่ได้คิดอยากไปเลย แต่ทึกทักเอาเองว่า พ่อตาแม่ยายคงอยากไปเที่ยวบ้าง จึงตอบว่า ตกลง แต่ขอชวนภรรยาไปด้วยกัน

พอสามีมาชวน ภรรยาเองรู้สึกสงสารสามีที่ต้องมาอยู่เมืองเล็กๆ เหงาๆ อย่างนี้รีบทึกทักเอาเองเลยว่า สามีคงเหงาอยากไปเปลี่ยนบรรยากาศ จึงแสดงท่าทีตกลงไปด้วย

ตกลงวันนั้นทั้งหมดใช้เวลาขับรถไปครึ่งวัน รับประทานอาหารกลางวัน แล้วขับรถกลับมาที่บ้านอีกครึ่งวัน

สามีอดรนทนไม่ไหว กระซิบบอกภรรยาว่า เราไม่น่าจะใช้เวลาทั้งวัน ขับรถไปมาอย่างนี้เลยนะ ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน ทั้งเสียเวลา

ฝ่ายภรรยาสวนกลับมาทันทีว่า เอ้า ฉันนึกว่า คุณอยากจะไป ความจริงฉันไม่อยากไปหรอกนะ อยากเอาใจคุณมากกว่า

พ่อตากับแม่ยายเองก็บอกว่า ความจริงเราทั้งคู่ก็เหนื่อยไม่อยากไปหรอกนะ เราเคยไปแล้ว แต่อยากให้คุณเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง เมืองนี้ไม่มีอะไรสนุกให้คุณทำหรอก

ตกลงทั้ง 4 คน ต่างก็ทึกทักเอาตามใจตัวเองทุกคน ไม่มีใครอยากไปสักคนเดียว แต่ทั้งหมดได้ไปจริงๆ

ในเชิงวิชาการ ปรากฏการณ์อย่างนี้เรียกว่า Fundamental Attribution Error

คือว่าคนเรานั้น เมื่อเราสังเกตพฤติกรรมของใคร เรามักจะไม่ได้สังเกตเฉยๆ เรามักจะระบุไปด้วยว่า การที่เขาทำอย่างนั้น เป็นเพราะอะไรเป็นเหตุ
คือเราอนุมานสาเหตุให้กับพฤติกรรมของเขาที่เราสังเกตนั้นด้วย (แถมให้โดยที่เขาไม่รู้) การอนุมานนี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ โดยที่สติของเราไม่ทันจับมัน

และเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกันว่า เมื่อเราเป็นผู้สังเกต (Observer) เรามักอนุมานสาเหตุของพฤติกรรมของผู้กระทำไปที่สาเหตุภายใน (Internal Causes) ที่เป็นคุณสมบัติภายในอันเป็นส่วนตัวของเขา (Disposition) เช่น นิสัย ค่านิยม ทัศนคติ ฯลฯ

แน่นอนว่า การอนุมานสาเหตุแบบนี้ย่อมมีโอกาสผิด เหมือนกับพ่อตา แม่ยาย ลูกเขย คือ เป็นการทึกทักเอาตามใจตัวเอง ความจริงแล้วเขาอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น

เช่น เห็นนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพูดแสดงเหตุผลแบบกว้างๆ ไม่โต้ตอบแบบฟันธงเมื่อฝ่ายต่อต้านพูดถึงพลทหารที่ตายในบ้านพักแม่ทัพภาค 1 ก็บอกว่า นายกฯ ขี้โกหก ไม่กล้าสู้กับความจริง บิดเบือน เหล่านี้เป็นลักษณะภายในส่วนตัวหมด ซึ่งอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ในความเป็นจริง เพราะฝ่ายต่อต้านนั้นทึกทักเอาตามใจตัวเอง

ในอีกมุมหนึ่งนั้น Fundamental Attribution Error เกิดได้อีกแบบหนึ่งคือ เมื่อผู้กระทำ พฤติกรรม (Actor) อนุมานสาเหตุของพฤติกรรมตนเอง เขามักจะระบุสาเหตุภายนอก (External Cause) เป็นเหตุของพฤติกรรมที่เขาแสดงออกไป

เช่น พฤติกรรมที่ฝ่ายเสื้อแดง (Actor) อ้างว่า พลทหารที่ตายไปนั้นเนื่องจากมาร่วมชุมนุมกับฝ่ายเสื้อแดง นั้นเป็นพฤติกรรมที่มาจากเหตุสำคัญคือการต่อต้านอำนาจทหารเข้ามาจัดการกับพวกเขาอันเป็นสาเหตุภายนอก (External Cause) จากตัวฝ่ายเสื้อแดงผู้กระทำพฤติกรรม (Actor) นั้น

บทเรียนนี้สรุปแล้วเอาไปใช้อย่างไรได้บ้าง

ผมว่าการระบุเหตุพฤติกรรม (Attribution) นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำ และทำกันอย่างเป็นอัตโนมัติ ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม ควรจะต้องยับยั้งชั่งใจให้ได้ ด้วยการ

1. อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะเป็นอย่างนั้นตามที่เราทึกทักเอาตามใจตัวเอง ถ้าเราเป็นผู้สังเกตพฤติกรรม (Observer) ควรซักไซ้ไต่ถามความจริงกันก่อนที่จะอนุมานเหตุของพฤติกรรมว่า เขาเป็นอย่างนั้นจริงหรือ เขาต้องการอย่างนั้นแน่หรือไม่ มีอะไรเป็นสาเหตุภายนอกมาเกี่ยวข้องหรือไม่

2. ข้อนี้สำคัญมาก ทำให้เกิดการทะเลาะ ฆ่าฟันกันมานักต่อนักแล้วคือ เมื่อเราสังเกตพฤติกรรมใครก็ตาม นักสังเกตพฤติกรรมคนอื่นๆ ก็ทำอย่างเดียวกันกับเราคืออนุมานสาเหตุไปที่เหตุภายในของผู้กระทำ ปัญหาคือ เราอนุมานไม่ตรงกัน เพราะความรักความชอบที่มีต่อผู้กระทำต่างกัน จึงมักก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อพูดไปแล้วไปกระทบกระเทือนคนที่เขารัก เขาก็ต้องปกป้อง โดยเฉพาะการเมืองเหลืองแดงในยุคนี้มีปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยๆ หลีกเลี่ยงเสียดีกว่าครับ

3. กรณีที่เราเป็นผู้กระทำพฤติกรรม (Actor) เราไม่ควรเพ่งความสนใจไปที่สถานการณ์ภายนอกตัวจนเกินไป เพราะจะทำให้เราละเลยที่จะถามใจตัวเองว่า เราต้องการอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เรามีแนวโน้มของทัศนคติ ค่านิยมที่จะตัดสินใจทำอย่างนั้นหรือไม่



Create Date : 16 มิถุนายน 2552
Last Update : 16 มิถุนายน 2552 21:03:57 น. 11 comments
Counter : 996 Pageviews.  
 
 
 
 
เรื่องแบบนี้พบบ่อยมากด้วยในองค์การครับ... ผมเคยเจอกรณีศึกษาของหัวหน้างาน (ตำแหน่งหัวหน้ากะฝ่ายผลิต) กับลูกน้อง (ตำแหน่งช่างประจำเครื่อง) ไม่คุยกันเพราะปรากฏการณ์ทึกทักกันเอาเองนี่แหละครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ด้วยพฤติกรรมของหัวหน้างานที่เน้นจ้ำจี้จ้ำไชเป็นทุนเดิม ประกอบกับการที่ช่างคนนี้มีพฤติกรรมหยุดลาบ่อยครั้งและไม่เอาใจใส่งาน ทำให้หัวหน้ากะเพ่งเล็งคอยจ้ำจี้จ้ำไชเขาเป็นพิเศษ ทำให้ช่างคนนี้รู้สึกทึกทักเอาเองว่า หัวหน้ากะคนนี้เกลียดตน และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เลยไม่ใส่ใจในสิ่งที่หัวหน้ากะท่านนี้ตักเตือน หนำซ้ำบางครั้ง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุด้วย

เมื่อช่างทำตัวแบบนี้ หัวหน้ากะรู้สึกว่าช่างคนนี้นิสัยไม่ดี มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทึกทักเอาว่า คงอยากลองของ หรือไม่ก็เกลียดตัวหัวหน้ากะ

สุดท้าย ต่างฝ่ายต่างนึกว่าอีกฝ่ายเกลียดตนเอง และท้ายที่สุดก็กลายเป็นต่างก็เขม่นใส่กัน ไม่พูดคุยกันไปจริงๆ

ปัจจัยที่เข้ามาเสริมอีก (ซึ่งผมคิดว่าพบได้มากในสังคมไทย) ก็คือ มีคนเข้ามาเป็นพรรคเป็นพวกด้วย ฝ่ายหัวหน้ากะก็มีพนักงานบางคนที่เล็งเห็น (และทึกทักเอาเช่นกัน) ว่าหัวหน้ากะคนนี้คงไม่ถูกกับช่างคนนี้ ก็คอยจะเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้ของช่างคนนี้มานินทา ในขณะที่ฝ่ายช่างก็มีเพื่อนๆ (ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ดื่มเหล้าด้วยกัน มีพฤติกรรมที่ละเลยงานบ่อยครั้ง ทำให้หัวหน้ากะก็คอยมาจ้ำจี้จ้ำไชตลอดเหมือนกัน) คอยเข้าข้าง เรื่องมันก็เลยยิ่งไปกันใหญ่

ทางแก้กรณีแบบนี้ผมว่ามันยากพอสมควรเลยครับ เพราะต้องอาศัยคนที่เป็นต้นเรื่อง มาพูดแบบเปิดอกให้รู้กันไป (อย่างในกรณีของผม หัวหน้ากะเข้ามาปรึกษาผมก่อน ผมจึงได้เรียกอีกฝ่ายเข้ามาไกล่เกลี่ย) ก็เหมือนกับที่สามีในกรณีศึกษาที่อาจารย์ยกตัวอย่างมา อดรนทนไม่ไหว ต้องคุยกับภรรยากระมังครับ
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.98.90 วันที่: 17 มิถุนายน 2552 เวลา:23:30:59 น.  

 
 
 
ชอบบทความนี้มากน่ะค่ะ เพระอ่านแล้วก็นึกถึงตัวเองว่า บางครั้งเราก็เป็นแบบนี้ ซึ่งบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาจากเรื่องเล็กๆให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
 
 

โดย: No Name IP: 203.144.184.190 วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:10:17:37 น.  

 
 
 
-ถ้าเรานำมาผูกกับทฤษฎี impression management งั้นเราก็สามารถที่จะ ทำให้บุคคลอื่นทึกทัก เอาเองได้ว่าเราต้องการอะไรใช่ไหมครับ ?
- ซึ่งสองทฤษฎีเอง นี้อยู่ที่มุมมองของผู้ถูกกระทำกับผู้กระทำใช่ไหมครับ
- เท่ากับ ถ้าจะแก้ปห. เหล่านี้คือ ต้องใช้สติและปัญญาใช่ไหมครับ
 
 

โดย: หัดเม้นท์ IP: 58.64.89.33 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:12:22:38 น.  

 
 
 
ประเด็นของคุณ "หัดเม้นท์" นี่น่าสนใจ... ผมอยากให้ลองนึกถึงกรณีศึกษานี้ดูครับ

เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า พวกบรรดาลูกน้องขี้ประจบมักจะพยายามเอาใจเจ้านายอยู่เสมอๆ (นี่คงเป็น Impression management ที่ลูกน้องพวกนี้พยายามจะสอพลอนายว่า พวกเขาซื่อสัตย์และรู้ใจ) สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพยายามทำบ่อยๆ คือ การเดาใจเจ้านายว่าเขาต้องการอะไร

เลยมักพบเห็นได้บ่อยๆ เวลาที่เจ้านายพูดอะไรบางอย่างออกมา แล้วคนพวกนี้เขาก็มักจะทำให้ในทันที โดยไม่ได้ถามให้แน่ใจว่าเจ้านายอยากทำเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่

ในสามก๊ก เอี้ยวสิ้ว กุนซือคนหนึ่งของโจโฉ เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและรู้ใจโจโฉเป็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งนำทัพออกรบกับเล่าปี่ ติดพันยืดเยื้อมาก จนถึงขนาดที่ตอนทานข้าว แฮหัวตุ้น ถามว่าจะสู้ด้วยแผนการอะไร โจโฉเห็นโครงไก่ก็เปรยๆ ขึ้นมาเนือยๆ ว่า "แผนโครงไก่"

เอียวสิ้วผู้มากด้วยความฉลาด ก็ทึกทักเอาว่า อันโครงไก่นั้นแล้วมีแต่เนื้อนิดเดียวติดกระดูก จะเอาไปทำอาหารก็ไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือเอาไปเคี่ยวทำน้ำซุบซึ่งเสียเวลามาก แต่เป็นสิ่งที่จะทิ้งก็เสียดาย จะเอามาเคี่ยวก็เสียเวลา

ความหมายของโจโฉ ในคำว่า "โครงไก่" ก็น่าจะเป็น การทำสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อเสียเวลา ไม่คุ้มค่า ควรจะถอนทัพกลับท่าจะดีกว่า

เมื่อคิดได้เช่นนั้น เอียวสิ้วก็เลยสั่งเตรียมการให้เก็บข้าวของ เตรียมถอยทัพ... โจโฉรู้เรื่องเข้า ก็ตกใจ (เพราะช่างตรงกับความคิดของตัวเองจริงๆ... เอียวสิ้วสามารถตีความได้ถึงเพียงนี้ เป็นคนที่รู้ใจจนน่ากลัว)

ผลคือ เอียวสิ้วถูกตำหนิ หากว่าตีความผิดๆ ทำให้ขวัญทหารเสีย เลยถูกประหาร (ซะงั้น) ส่วนโจโฉ เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นว่าเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น ก็เลยต้องจำใจสู้ต่อและสุดท้ายก็พ่ายแพ้แก่ทัพเล่าปี่ และต้องถอนทัพกลับในที่สุด

เอียวสิ้วเองก็มี Impression management หลังจากทึกทักเอาจากคำพูดของโจโฉ (ซึ่งก็ถูกต้องซะด้วย) โดยอยากแสดงภูมิความฉลาดออกมา แต่กลับกลายเป็นมีฉลาดขาดเฉลียว สุดท้ายเงาหัวตัวเองก็เลยหายครับ... เป็นการใช้ Impression management ที่ผิดพลาดไป
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.136.168.147 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:16:30:51 น.  

 
 
 
ต้องขออภัยอาจารย์อีกแล้ว ที่ต้องนำเนื้อหาเกี่ยวกับ Learned helplessness มา post เป็น comment ในเรื่องปรากฏการณ์ทึกทักเอาเอง เพราะผมไม่สามารถไป post comment ในตอนหมดอาลัยตายอยากฯ ได้ (เนื่องจากไม่ใช่สมาชิกครับ)

พอดีจากที่ได้เรียนกับอาจารย์ในชั้นเรียนวันนี้ แล้วผมบังเอิญไป search ใน Youtube.com ด้วยคำว่า learned helplessness ก็พบว่ามี Video clip ที่เกี่ยวกับการทดลอง Induced learned helplessness อยู่หลาย clip น่าสนใจดี หนึ่งในนั้นคือ clip แรกที่ปรากฏมาจากการ search ครับ

//www.youtube.com/watch?v=gFmFOmprTt0

เป็นคลิปของการทำให้เกิด learned helplessness โดยการให้นักศึกษาลองเรียงคำศัพท์ที่ได้รับแจกไปในกระดาษ โดยไล่ทีละข้อ (มี 3 ข้อ) แต่นักศึกษาจะได้รับกระดาษคำถาม 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้คำง่ายๆ ไปก่อน 2 คำ ในขณะที่อีกกลุ่มจะได้รับคำศัพท์ที่ไม่สามารถเรียงใหม่ได้เลย ส่วนคำที่สามจะเหมือนกันทั้งสองกลุ่ม

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับคำศัพท์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จะไม่สามารถเรียงคำศัพท์คำที่สามได้เลย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คำศัพท์ง่าย จะมีบางคนที่สามารถทำได้

เหตุผลหลักๆ มาจาก 2 แหล่ง คือ

1. เนื่องจากทำสองข้อก่อนไม่ได้ ตนเองเลยรู้สึกว่าโง่ขึ้นมา ทำให้หมดกำลังใจที่จะทำในข้อสุดท้าย
2. เห็นเพื่อนๆ (กลุ่มที่ได้คำศัพท์ง่ายไป) เขาทำได้ ยิ่งทำให้เกิด attribution ว่า ตนเองโง่ (นักศึกษากลุ่มที่ได้ศัพท์ยาก ไม่รู้ว่ากลุ่มที่ทำได้นั้นเขาได้ศัพท์ง่ายไป)
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.99.247 วันที่: 25 มิถุนายน 2552 เวลา:22:12:55 น.  

 
 
 
ตามความคิดของผม จากกรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้นที่อาจารย์กรุณายกขึ้นมานั้น ผมกคิดว่า โจโฉ กับ เอียวสิ้ว นั้น ทั้งสองได้ทำพฤติกรรมไปตามทฤษฎี "การทึกทักเอาเอง" ตามที่อาจารย์ได้ให้ความรู้ไว้ เพราะหาก ...
เอียวสิ้วใช้ สติ+ปัญญา คิดไตร่ตรองซักนิดว่า โจโฉไม่ชอบผู้ที่รู้ทันตนและโอ้อวดว่าฉลาดกว่า เอียวสิ้วก็จะไม่เสียหัว
หาก โจโฉ ใช้ สติ+ปัญญา คิดเช่นกันว่า เอียวสิ้วนั้นเป็นผู้มีความสามารถหาตัวจับยากน่าจะทำนุบำรุงเพื่อไว้ใช้ภายภาคหน้าก็จะไม่สั่งประหารเอียวสิ้ว
ไม่ทราบว่าความคิดของผมนั้นได้ไปถูกทางหรือเปล่าครับ?
 
 

โดย: หัดเม้นท์ IP: 58.9.14.138 วันที่: 27 มิถุนายน 2552 เวลา:5:54:59 น.  

 
 
 
ในมุมมองของผม คงเป็นประมาณนี้ครับ

เอี้ยวสิ้ว ทึกทักเอาว่า โจโฉซึ่งมีบุคลิกภาพที่ชอบคนที่เฉลียวฉลาด น่าจะชื่นชอบตนเอง ที่สามารถรู้ใจโจโฉได้อย่างลึกซึ้ง จึงพยายามที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความฉลาดของตน (เบื้องหลังของการถูกประหารนี้ ยังมีที่มาจากการที่เอียวสิ้วไปช่วยเดาคำถามของโจโฉ ที่ใช้ถามลูกๆ เพื่อพิจารณาตำแหน่งรัชทายาทด้วย)

ส่วนโจโฉนั้น ในฐานะจอมคน ผู้มีตำแหน่งสูงระดับมหาอุปราชอย่างเขา ไม่แปลกที่จะต้องคอยระแวงกลัวใครมาเลื่อยเก้าอี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเขาจึงกลัวคนที่ฉลาดเกินกว่าเขา รู้ใจเขาไปเสียหมด ในส่วนนี้โจโฉไปทึกทักเอาเอง (เหตุจากความระแวง) ว่าเอียวสิ้วรู้ใจไปเสียหมด เกิดวันหน้าคิดคดมักใหญ่ใฝ่สูงก็จะไม่ดี ว่าแล้วก็ฆ่าทิ้งเสียดีกว่า
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.236.180 วันที่: 27 มิถุนายน 2552 เวลา:19:53:16 น.  

 
 
 
เรื่องที่อาจารย์เสนอมา มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ใกล้ตัวมากเเต่เรามองข้ามไป ต้องขอขอบพระคุณ และขอเป็นกำลังใจในการศึกษาค้นคว้า และเผยเเพร่ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ต่อไปค่ะ

ปล. ที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเรามักจะพยายามทำนายหรือ"ทึกทัก"นิสัยคนอื่นจากการกระทำของเขา ทั้งนี้เพื่อเป็นเเนวทางในการมีปฏิสัมพันธที่ดีต่อกันสืบต่อไปค่ะ อย่างกรณีของเอียวสิ้วกับโจโฉ ดิฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่โจโฉจะทำเช่นนั้น เพราะเขาแบกรับภาระหน้าที่ต่างๆมากมาย และก็มีศัตรูรอบตัวเช่นเดียวกัน ทำให้เขาไม่อาจไว้ใจใครได้อย่างสนิทใจ...
 
 

โดย: nropus IP: 124.122.36.47 วันที่: 27 มิถุนายน 2552 เวลา:20:59:31 น.  

 
 
 
การทึกทักเอานั้น พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ตลอดเวลาครับ เราอาจจะเคยรู้สึกทึกทักเอาเองเหมือนกันว่า คนที่มองเราบ่อยๆ นั้น เขาน่าจะรู้จักเราหรือเราน่าจะรู้จักเขา เป็นต้น

ในเรื่องของการจัดการความประทับใจ ที่อาจารย์เคยได้กล่าวถึงไปนั้น สอดคล้องกับเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งนี้เพราะว่า คนเรานั้นต้องการให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจในตัวเรา ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะคาดเดาว่าคนอื่นเขาคิดหรือมองตัวเราอย่างไร แล้วเราอยากให้เขาคิดหรือมองตัวเราเป็นอย่างไร (เหมือนกรณีของพ่อตา ที่เดาใจลูกเขยว่าคงจะเบื่อบ้านนอก และอยากเปลี่ยนบรรยากาศ... อันนี้พ่อตาต้องการสร้าง Impression ให้กับลูกเขยว่า พวกเขาเอาใจใส่ลูกเขยดีนะ)

ปัญหาคือในกระบวนการรับรู้ของคนเรานั้น แม้ที่จริงแล้วเราควรที่จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ จึงค่อยประเมินว่าคนอื่นเขาคิดหรือมองเราอย่างไรก็ตาม แต่ก็จนด้วยอุปสรรคที่ขวางกั้น กล่าวคือ เราไม่อาจเข้าไปถึงจิตใจคนอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ว่าเขาคิดอย่างไรกับเราจริงๆ ทำให้เราต้องพึ่งพาการสังเกตพฤติกรรมที่ผ่านมาหรือพฤติกรรมในปัจจุบันเพื่อเดาใจ

นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่เราจะนำมาใช้ประมวลผลนั้น ก็มากมายเสียเหลือเกินจนไม่อาจที่จะประเมินให้สมบูรณ์ได้ด้วยเวลาอันสั้น คนเราจึงมักที่จะอาศัย cue หรือ สัญญาณบางอย่าง ในการช่วยตัดสินใจ เหมือนดังกรณีที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น ว่าเวลาที่เราเห็นใครเขามองเราบ่อยๆ มันก็เป็น cue ที่แสดงให้เห็นว่า 1) คนคนนั้นรู้จักเรา หรือ 2) คนคนนั้นสนใจเรา หรือ 3) ตัวเราต้องมีอะไรผิดปรกติ ที่ทำให้เขามามองเรา (เช่น เสื้อขาด, ลืมรูดซิปกางเกง ฯลฯ)
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.236.180 วันที่: 28 มิถุนายน 2552 เวลา:0:51:49 น.  

 
 
 
ส่วนใหญ่ ทึกทักแบบนี้ครับ

ที่เค้าทำเป็นเพราะนิสัย
แต่เราทำเป็นเพราะอารมณ์หรือสถานการณ์

ดังนั้นปัญหาจึงตามมา
 
 

โดย: สุดลึก วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:12:32:19 น.  

 
 
 
ได้อ่านบทความก็นึกถึงละครเรื่อง "เซน สื่อรักสื่อวิญญาณ" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นตอนที่ดูแล้วคิดถึงบทความนี้ของอาจารย์มากค่ะ เรื่องเกิดจากสามีเป็นคนขยันทำงาน หามรุ่งหามค่ำ โดยที่ภรรยาเป็นแม่บ้าน ออกงานสังคม ด้วยความไม่มีเวลาใกล้ชิดกัน ภรรยาเป็นคนที่ระแวงสามีกลัวสามีไปมีเด็กๆๆ ภรรยาเลยชอบทำศัยกรรมให้ตัวเองเด็กตลอดเวลา ทำทุกส่วนของร่างกาย จนสามีเริ่มเบื่อหน่าย แล้วบอกภรรยาว่า "ผมต้องการคนที่แก่ไปพร้อมๆ กับผม ผมไม่ต้องการแก่คนเดียว"

พอจบ คุณพ่อของหนูก็เลยพูดขึ้นมาบ้าง "พ่อก็ต้องการคนที่แก่ไปพร้อมๆ พ่อ ไม่ช่าย แก่ก่อนพ่อ" แค่นี้เสียงหัวเราะของลูกๆก็ดังสนั่น แต่คุณแม่หมดอารมณ์ร่วมไปเลยค่ะ

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงเราชอบคิดไปเองว่า ผู้ชายต้องการเด็กๆ สาวๆ สวยๆ เหมือนขาดความเชื่อมั่น(self-confidence) เลยชดเชยพฤติกรรมที่ชอบทำศัลยกรรมให้ตัวเองดูดี บางทีก็เกินไปจนเกิดเป็นเรื่อง เป็นราวขึ้นมานะค่ะ
 
 

โดย: Chanoknunt IP: 172.20.0.70, 61.90.41.149 วันที่: 1 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:11:06 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com