Positive Organizational Scholarship (POS) แนวทางใหม่ในการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับองค์การ

คำโปรยในบทความของ Cameron, Dutton, Quinn ที่ชื่อว่า Foundations of Positive Organizational Scholarship1 ได้สร้างความกระตือรือร้นให้กับผมที่จะร่วมสร้างแนวทางใหม่ให้กับการค้นคว้าหาความรู้ทางจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อนำไปประยุกต์กับการทำงานในองค์การเป็นอย่างมาก เขาว่าอย่างนี้ครับ

ขอให้จินตนาการถึงโลกแห่งการทำงานในปัจจุบันในองค์การต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ความเอาแต่ได้ ความลับ การชักใยลวงหลอก การมุ่งเอาแต่ชนะอย่างเดียว เพื่อความร่ำรวยอันเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จเพียงประการเดียว คนในองค์การเหล่านั้นคงต้องทำงานกันอย่างไร้ความไว้วางใจกัน เอาตัวรอด วิตกกังวล กลัว เครียด ปัญหาความขัดแย้งกัน การฟ้องร้องกัน การไม่ให้ความยอมรับกัน มีอยู่เต็มไปหมด นักวิชาการจึงต้องศึกษาวิจัยเรื่องของทฤษฎีว่าด้วยการแก้ปัญหา การแลกเปลี่ยน เพื่อหาความยุติธรรม การบริหารงานท่ามกลางความไม่แน่นอน การเอาชนะการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การทำกำไรมากกว่าคนอื่น ฯลฯ

ผมลองพลิกตำราว่าด้วยพฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior) หลายเล่มดู มันเป็นอย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ ความจริงมันก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะไม่ทำอย่างนี้ก็อยู่ไม่รอด เราอาจจะเรียกว่านักวิชาการต้องศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ เพื่อการอยู่รอดขององค์การ

ผมลองคิดตามและคำนึงจากประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีกับการบริหารในบริษัทหรือองค์การต่างๆ มันเป็นอย่างที่ว่านี้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการเมือง รัฐบาล ฝ่ายค้านของประเทศไทยยามนี้ (2552) บรรยากาศการทำงานอย่างนี้มันช่างน่าอับเฉาเสียจริง ผู้เขียนทั้งสามว่าต่อไปว่า

ขอให้จินตนาการถึงโลกแห่งการทำงานอีกแบบหนึ่งซึ่งองค์การๆ ต่างๆ ส่งเสริมความชื่นชมกัน ความร่วมมือกัน คุณธรรม การมีชีวิตที่มีความหมาย เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่มนุษย์อันเป็นดัชนีวัดความสำเร็จขององค์การ คนทำงานในองค์การเหล่านี้ย่อมเต็มไปด้วยความไว้วางใจกัน ใช้ความถ่อมใจถ่อมตน ปัญญา ความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ โดยอาศัยความรัก ความเมตตา ความซื่อสัตย์ การให้อภัย ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดี นักวิชาการคงจะเน้นศึกษาทฤษฎีว่าด้วยความเป็นเลิศ การปฏิบัติงานที่ได้ผลเป็นพิเศษ ความเจริญงอกงามของผู้คน

นักวิชาการจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยความรู้เพื่ออธิบายจินตนาการแบบหลังนี้ให้มากขึ้น เพราะว่ามันทำให้เกิดความสุขในการทำงานมากขึ้น ที่ทำงานจะไม่อับเฉาเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะความมุ่งหมายสำคัญนั้นอยู่ที่การทำให้พนักงานมีความสุข

ดังนั้นจึงต้องศึกษาสิ่งที่เป็นด้านดี ด้านสุข ของการทำงานให้มากขึ้น เช่น ทำอย่างไรจึงจะทำให้ งานมีความหมายต่อผู้ทำ ผู้บริหารมีกระบวนการนำที่นำความสุขมาให้ผู้ตาม เน้นความใส่ใจทางอารมณ์ด้านดีในการทำงาน สร้างความมีคุณธรรมในการบริหารงาน การแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่เน้นแต่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก การลดขนาดองค์การ (downsize) ที่ทำให้คนงานมีความสุขในการทำงานมากกว่าความกลัวและเครียด ฯลฯ

แนวคิดนี้ปัจจุบันเรียกว่า Positive Organizational Scholarship (POS)
จะเห็นได้ว่าแนวคิดจินตนาการประการหลังนี้ยังมีที่ว่างให้ศึกษาวิจัยได้อีกมากมาย ถ้าเปิดหนังสือตำราที่เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์การจะเห็นได้เลยว่า ยังไม่มีการเขียนเรื่องทำนองนี้เลย เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมา นักวิชาการวิจัยค้นคว้าไปในแนวทางของจินตนาการอย่างแรกเสียมากมาย

แนวคิดทางสังคมศาสตร์ใดบ้างที่สัมพันธ์กับ POS

POS มิได้เกิดขึ้นมาอย่างโดดๆ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับศาสตร์ทางสังคมสาขาอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่

• Positive Psychology ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 1998 เมื่อมาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) เข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน เขาได้ชี้ให้เห็นว่าจิตวิทยาที่ผ่านมาได้ค้นคว้าวิจัยหาความรู้เพื่อการรักษาทางจิตมามากเกินไป นักจิตวิทยาศึกษาแต่จุดอ่อนของมนุษย์ละทิ้งแนวทางการค้นคว้าจุดแข็งซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ด้วยเช่นกัน เพื่อนำไปส่งเสริมป้องกันปัญหาทางจิตของมนุษย์ หลังจากนั้นจึงได้มีพัฒนาการของแนวคิดนี้จนก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

• Community Psychology ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วเพื่อเน้นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของบุคคล แต่อยู่ในแวดวงของการใช้ชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมความสุขทางจิตของบุคคล โดยเน้นส่งเสริมให้บุคคลมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง การพัฒนาตนเองแบบองค์รวม ความมีศักดิ์ศรี ความมีอิสระพึ่งตนเองได้ การรับรู้ตามจริง การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัว

• Organizational Development and Appreciative Inquiry ในทศวรรษที่ 50 ได้มีแนวคิดการพัฒนาองค์การเกิดขึ้นเป็นศาสตร์ที่มีการค้นคว้าวิจัยกันอย่างกว้างขวางจนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน โดยตัวของมันเอง การพัฒนาองค์การเป็นการนำเอาแนวคิดและเทคนิคทางพฤติกรรมศาสตร์มาวางแผน และจัดกระทำในองค์การเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้นำไปสู่ความมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปี 2000 เดวิด โคออปเปอไรเดอร์ (David Cooperider) ได้ริเริ่มนำเอาเทคนิคอย่างหนึ่งเรียกว่า Appreciative Inquiry (AI) มาใช้เป็นพาหะวิธี (Intervention) ในการพัฒนาองค์การ และประสพความสำเร็จเป็นอย่างสูง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา AI ได้รับความสนใจศึกษาวิจัยกันอย่างมากมายในปัจจุบัน

Appreciative Inquiry เป็นกระบวนการพัฒนาองค์การที่เน้นการแสวงหาเพื่อการชื่นชมความสำเร็จที่ผ่านมาหรือกำลังเป็นอยู่ขององค์การ แล้วนำไปเป็นรากฐานสู่วิสัยทัศน์ที่องค์การปรารถนาจะเป็นในอนาคต

• Prosocial and Citizenship Behavior แนวทางในการศึกษาวิจัยที่ได้ทำเกี่ยวกับพฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ (Prosocial) และการเป็นพนักงานที่แสดงพฤติกรรมทำงานนอกเหนือไปจากหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือองค์การ (Citizenship Behavior) ได้มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 80 การวิจัยในแนวทางนี้เป็นการพยายามอธิบายมนุษย์ในแง่ความดีว่าเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับ POS ด้วย

• Corporate Social Responsibility (CSR) เป็นแนวทางใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่บริษัทเอกชนทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยความเชื่อว่าสำนึกอย่างนี้มีผลกระทบในทางดีต่อสินค้าที่ตนเองผลิตและบริการ ดังนั้นบริษัทเอกชนที่เชื่ออย่างนี้จึงมักมีโครงการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นต้นว่า จะเป็นการผลิตด้วยการเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทางตรงคือเป็นธุรกิจของบริษัท หรือการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า ซึ่งเป็นทางอ้อมซึ่งไม่ใช่ธุรกิจของบริษัท แต่ทำให้สังคมมีความสำนึกช่วยเหลือกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการวิจัยค้นคว้าในแนวทางเหล่านี้ยังคงแคบอยู่กับเรื่องของการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมมนุษย์ ยังไม่ได้ก้าวไปในเชิงการวิจัยในบริบทการจัดการองค์การยกเว้นแนวทางของ Positive Psychology และ Appreciative Inquiry

POS มีแนวทางในการศึกษาวิจัยอะไรบ้าง

ดังที่ได้กล่าวถึงที่มาและความเกี่ยวข้องของศาสตร์ต่างๆ กับ POS ตอนนี้ถึงตอนที่เราจะต้องมารู้จักให้ชัดเจนมากขึ้นว่า POS คืออะไร

ผมขอสรุปจากบทความของนักวิชาการทั้ง 3 คนที่ได้อ้างไว้แล้วในตอนต้นว่า POS หรือ Positive Organizational Scholarship เป็นศาสตร์สาขาใหม่ที่พัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาจากการค้นคว้าวิจัยด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ด้วยแนวทางที่เน้นแสวงหาและพัฒนาจุดเด่นหรือจุดแข็งของมนุษย์ในบริบทของสมาชิกองค์การ

จากคำอธิบายที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบสำคัญใน POS เรียงตามลำดับอักษรในตัวมันเองเลยทีเดียวคือ

P – Positive การค้นคว้าวิจัยของ POS เน้นไปที่สภาพการณ์เชิงบวก เช่น ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ ต่อบุคคล ความกตัญญู อารมณ์เชิงบวกทั้งหลาย ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่การศึกษาวิจัยในอดีตไม่ค่อยได้สนใจเนื่องจากมัวแต่ไปค้นคว้าความรู้ที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาในองค์การ ซึ่งปัญหามักจะมาจากจุดอ่อน สิ่งที่เป็นจุดแข็งจึงถูกละเลย
การแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมานั้นมองในแบบชั้นเดียวและเป็นทางตรงคือ หาสาเหตุแล้วเสนอวิธีแก้ไข แต่ใน POS มุมมองเป็นแบบ Positive Spiral คือมีหลายระดับและหลายเหตุ

ส่วนมุมมองอีกอย่างหนึ่งคือ การมุ่งเน้นศึกษาวิจัยความรู้เกี่ยวกับด้านบวกของปรากฏการณ์ในองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเลิศที่แตกต่างออกไปจากความคาดหวัง เช่น ความคาดหวังนั้นคือเป้าหมายในการผลิต ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผลผลิตที่ได้นั้นสูงเกินเป้าหมายและมีผลทางบวกอย่างอื่นๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นภาวะผู้นำ การทำงานกลุ่ม อารมณ์ของพนักงาน ฯลฯ

O – Organizational การค้นคว้าวิจัยแนวทางของ POS อยู่ในบริบทขององค์การ เพื่อที่จะอธิบาย ทำนาย และควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์ในองค์การ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นปรากฏการณ์ที่เกิดในองค์การแต่เป็นด้านบวกมักจะถูกละเลย

เช่น การลดขนาดขององค์การซึ่งไปสัมพันธ์กับฐานะทางการเงินของบริษัทมีผลดีอย่างไรต่อพนักงานบ้าง แทนที่จะวิจัยหาแต่ผลร้ายที่มีต่อพนักงาน
หรือ การมุ่งใช้แนวทางพัฒนาจุดเด่นทำให้เกิดผลิตภาพดีขึ้นอย่างไรในองค์การด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านภาวะผู้นำ การสื่อสารในองค์การ กำไร ฯลฯ

S – Scholarship ในอดีตที่ผ่านมาเรื่องราวของ ความสุข ความมีประสิทธิผล การอยู่ดีมีสุข การทำงานที่มีความหมาย ฯลฯ เหล่านี้มักจะเป็นความรู้ที่ได้มาจากวิธีการอื่นที่ไม่ใช่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนมากมักจะเป็นการคิดสรุปเอาเองจากประสบการณ์ของผู้รู้ ผู้ที่ประสพความสำเร็จมาก่อน ซึ่งเรามักจะได้อ่านจากหนังสือที่พิมพ์จากข้อเขียนบันทึกของบรรดาผู้ประสพความสำเร็จในด้านต่างๆ เมื่อเขาเกษียณแล้ว

อย่างไรก็ตามประสบการณ์ของเขาเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่มากจากมุมมองด้านเดียว และเป็นข้อมูลเพียงชุดเดียวของเขาเท่านั้นเอง

POS เป็นการค้นคว้าวิจัยจากข้อมูลที่มาจากการสังเกตในสถานการณ์จริง (Empirical) มีระบบการสุ่มตัวอย่าง มีการตรวจสอบเครื่องมือให้มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) และความตรง (Validity) มีขั้นตอนของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์

ช่องว่างที่ยังไม่ได้เติมให้เต็มของ POS

เมื่อได้เรียนรู้แนวทางของนักวิชาการ POS แล้วจะรู้สึกได้เลยว่า เน้นมุมมองด้านบวกจนเกินไปอีกเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดไตร่ตรองตามประสาคนยึดมั่นในทางสายกลาง ผมคิดว่า โลกเรานั้นมีลักษณะดังที่พุทธศาสนากล่าวว่า โลกธรรม 8 คือ มีของคู่อยู่ในโลกเสมอ เช่น มีลาภ คู่กับ เสื่อมลาภ มียศ คู่กับ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ คู่กับ นินทา มีสุข คู่กับ มีทุกข์

ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์ในองค์การจำเป็นต้องพิจารณาทุกด้านคือ ทั้งด้านบวกที่ POS เสนอ ด้านลบตาม Medical Model แบบเดิมที่เรามองหาจุดอ่อนหรือปัญหาเพื่อการแก้ไข และแม้แต่ที่ไม่เป็นทั้งบวกและลบก็น่าจะต้องนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ด้วย นอกจากนั้นวิธีการวิเคราะห์ต้องเป็นเชิงพหุลักษณ์ คือตัวแปรสาเหตุอาจจะมาจากหลายทิศทางพร้อมๆ กันส่งผลกระทบต่อตัวแปรตาม

นอกจากนั้นในความเป็นจริงของการทำงานตามองค์การต่างๆ ยังมีประเด็นสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมทั้งภายนอกและภายในของพนักงานในองค์การ ประเด็นที่ว่านั้นได้แก่ผลกระทบที่มาจากสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์การ

ถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกหรือของประเทศกำลังตกต่ำทำให้บริษัทขาดทุนทางธุรกิจขนาดหนักจนต้องมีการให้พนักงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย พนักงานทุกคนย่อมจะรู้สึกหวาดหวั่น ไม่มีทางที่จะมีความสุขได้
ในทางตรงกันข้ามถ้าบริษัทมีผลการดำเนินงานดีมาก มีกำไรมาก พนักงานย่อมรู้สึกมีความสุข

ที่ผมทักท้วงมานี้เจตนาเพียงต้องการให้เห็นว่า ไม่ใช่ POS เท่านั้นหรอกที่จะเป็นยาวิเศษให้กับนักวิชาการนำไปใช้ในการทำงานพัฒนาองค์การ อย่าคิดเพียงพัฒนาด้านบวกหรือจุดแข็งของพนักงานเพียงด้านเดียวแล้วจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จไปหมด

สิ่งที่นักวิชาการควรกระทำคือ นำเอาแนวคิดของ POS เข้ามาร่วมกับแนวคิดอื่นๆ ในการพัฒนาองค์การ ซึ่งจังหวะที่เหมาะสมกับการนำมาใช้น่าจะเป็นขณะที่องค์การมีการดำเนินการทางธุรกิจเป็นปกติดี หรือประสพความสำเร็จดี ไม่มีปัญหารุนแรงใดๆ ที่จะทำให้เกิดความระส่ำระสาย การเริ่มต้นในระยะปกติ หรือระยะที่กำลังประสพความสำเร็จ ซึ่งไม่ต้องพะวงกับการแก้ปัญหาจะทำให้การพัฒนาจุดแข็งให้เป็นฐานรากของวิสัยทัศน์มีความเป็นไปได้ในสายตาของพนักงาน

น่าเสียดายที่ระยะที่องค์การดำเนินธุรกิจได้ดีนั้น ผู้คนที่ทำงานในองค์การมักจะประมาทและไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ข้อควรระวังที่สำคัญอย่างหนึ่งเฉพาะปัญหาของวัฒนธรรมไทยคือ คนไทยยึดถือค่านิยมการถ่อมตน เราไม่คุ้นเคยกับการนำเอาแนวคิดเชิงบวก ด้านดี ความสำเร็จ ของตนเองมาประกาศให้คนอื่นรู้ด้วย เราเกรงว่าจะถูกหมั่นไส้ จึงอยู่เฉยๆ ดีกว่า กลายเป็นอุปสรรคในการใช้แนวคิด POS ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงองค์การได้

ครั้งหนึ่งผมเคยนำเอาแนวคิดสุนทรียแสวงหา (Appreciative Inquiry: AI) ไปทดลองใช้ในการพัฒนาองค์การของบริษัทหนึ่ง เราเริ่มต้นด้วย Discovering Process คือการแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิดของตนเองที่มีประสบการณ์กับความสำเร็จ จุดแข็งของกิจกรรมบริษัทที่ผ่านมาในอดีต
ผู้อำนวยการฝ่ายได้เล่าความรู้สึกอย่างภูมิใจในความสำเร็จของงานส่วนที่เขาดำเนินการไป แต่ผู้ใหญ่ของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งทำงานสัมพันธ์กันอดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงผลเสียที่เขาได้รับจากความสำเร็จของฝ่ายแรก

แม้ว่าผมจะทำหน้าที่กรรมการตัดบททันทีมิให้มีการอภิปรายต่อไปอีก แต่ บรรยากาศการร่วมกันมองความสำเร็จร่วมกันก็ชืดชาไปทันที กว่าความรู้สึกร่วมและไว้วางใจที่จะพูดแล้วไม่เป็นอันตรายจะกลับมาคึกคักอีกครั้งต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง

วิธีป้องกันเหตุการณ์อย่างนี้มิให้เป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นกันเมื่อจะใช้วิธีนี้เป็นพาหะวิธีนำการเปลี่ยนแปลงคือ การให้ผู้เข้ากิจกรรมเรียนรู้หลักการของ POS และฝึกหัดการรับรู้ด้านดีเสียก่อน และการแจ้งกติกาการอภิปรายกลุ่มก่อนว่า ผู้นำสัมมนาจะต้องหยุดการอภิปรายของผู้ที่แสดงความเห็นในทางลบทันที

เมื่อผ่านขั้นแรกของ AI คือ Discovering Process ไปแล้ว การดำเนินงานในขั้นต่อๆ ไปคือ Dreaming สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน, Designing ออกแบบแนวทาง โครงสร้างการจัดระบบงาน วางแผนการณ์ไปสู่วิสัยทัศน์, Delivering การวางแผนปฏิบัติการของแต่ละส่วนงาน จะไม่ยาก ความยากอยู่ที่ขั้นแรกเท่านั้นว่าจะทำให้ร่วมใจกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี ความสำเร็จที่ผ่านมาได้อย่างไร


1 - Cameron, K.S., Dutton, J.E. & Quinn, R.E. (2003). Foundations of Positive Organizational Scholarship, Positive Organizational Scholarship: Foundations of a New Discipline. San Francisco: Berrett-Koehler Publishers, Inc.



Create Date : 06 เมษายน 2552
Last Update : 6 เมษายน 2552 21:37:48 น. 5 comments
Counter : 2112 Pageviews.  
 
 
 
 
สุขสันต์วันจักรีค่ะอาจารย์ :)

ยุ้ยรออ่าน article ของอาจารย์ตลอดเลยค่ะ เพราะได้ความรู้ดีๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ

สำหรับหัวข้อนี้ ยุ้ยเห็นด้วยว่าการมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ยุ้ยว่าการเดินทางสายกลางแน่นอนกว่า เพราะความเป็นจริงในโลกใบนี้มันมีหลายแง่มุม และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

อย่างเช่น ผู้นำที่เป็นคนดีอย่างที่ใครหลายๆ คนต้องการ อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาอะไรหลายๆ อย่างในเวลาที่เหมาะสมได้ บางครั้งผู้นำก็ต้องเล่นหลายบทบาทเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำบางคนไม่กล้า assertive เพราะกลัวว่าคนจะมองว่าเป็น aggressive ไม่กล้าใช้ punishment เพราะคิดว่าเป็นการบริหารที่ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การใช้ punishment อาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในบริบทนั้นๆ ก็เป็นได้ ยุ้ยว่าคนที่ดีและมีคุณธรรมก็สามารถแสดงความเข้มแข็งเด็ดขาดได้ในเวลาที่จำเป็นและเหมาะสม ไม่จำเป็นว่าจะต้องรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีด้วยการรอมชอม ประนีประนอม ยอมอ่อนข้อให้ผู้อื่นโจมตี เสมอไป (อืมมม คุ้นๆ นะคะ นี่ยุ้ยกำลังพูดถึงใครก็ไม่รู้สิ คนที่คุณสมบัติดี แต่ leadership ต้องปรับปรุงนิดนึงน่ะค่ะ ฮ่าๆ)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เรียนวิชา Characteristics & Skills of Development Practice สอนโดย Dr.Pete Mann เค้าก็สอนเรื่อง Poliitcal Skills and Conflict Handling Skills ค่ะ มีวิธีการสอนที่น่าสนใจ และมี VDO Clips ให้ฝึกในการ Judge/Indentify ว่าคู่สนทนาอยู่ใน Dimension ไหนของ Model ที่เรียน สิ่งนึงที่เค้า mentioned และยุ้ยว่าน่าสนใจก็คือ คนใน field HR/OD มักจะเป็นพวก Humanistic จะไม่ชอบ Politics in organization แต่ความเป็นจริงก็คือเราเลี่ยงไม่ได้ หากเราจะทำตัว beyond political issues คือไม่สนใจการเมืองในองค์กรเลย เราอาจอยู่ในกลุ่ม "Innocent" ตาม Model ขอว Baddeley and James (1987) จริงๆ แล้วเราควรมี politically aware แต่ act with integrity คือไม่เล่นการเมืองแต่ต้องรู้เท่าทัน ก็เลยนึกโยงกับบทความนี้ของอาจารย์ในแง่ที่ว่า คนเราอาจไม่ต้องเน้นการมองโลกในแง่ดีอย่างเดียวก็ได้ คือมองโลกและองค์กรอย่างที่มันเป็นนั่นแหละแต่ขอให้เรายึดถือคุณธรรมความดีในจิตใจและในการกระทำให้มั่นคงไว้เท่านั้นพอ

ขอให้อาจารย์มีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ
ยุ้ยจะรออ่านบทความใหม่อย่างใจจดใจจ่อเลยค่ะ
แล้วคุยกันใหม่ค่ะ ;)
 
 

โดย: Yui IP: 130.88.183.28 วันที่: 6 เมษายน 2552 เวลา:23:37:32 น.  

 
 
 
"รู้อยู่เต็มอกครับว่ามันไม่ได้ผล แต่ก็ยังทำ" ผมหมายถึง Negative Feedback ในภาษาทางวิศวกรรม Neg. Feedback นี้คือลักษณะเดียวกันกับ Punishment ถ้าเป็นระบบไฟฟ้า ก็เหมือนกับส่งข้อมูลกลับไปยังต้นทางของกระบวนการว่าเร็วไปนะ ช้าไปนะ มากไป น้อยไป เหมือนกับการคอยจับผิดอยู่ตลอดเวลา กับกระบวนการผลิตที่ไม่มีจิตใจ เป็นเครื่องยนต์กลไก นั้นย่อมไม่มีผลว่าคุณจะส่ง Feedback ประเภทใด Feedback ก็คือ Feedback ไม่มีลบไม่มีบวก แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องของความเป็นมนุษย์นั้นจิตใจ อารมณ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเราส่ง Neg Feedback ไปยังบุคคลนั้นแน่นอน อำนาจหน้าที่อาจบังคับเขาทำได้ แต่ทำด้วยความไม่เต็มใจ ไร้ประสิทธิภาพ
ที่กล่าวว่า รู้อยู่เต็มอกฯ แต่ก็ยังทำ เพราะว่าผมก็ยังใช้วิธีนี้กับการทำงานข้ามหน่วยงาน แจ้งข้อผิดพลาดให้กับหน่วยงานที่เป็นต้นน้ำในกระบวนการผลิตเสมอ (หน้าที่ของหน่วยงานผมคือการตรวจสอบแบบฯ ให้มีความถูกต้องตามมาตรฐาน หรือจับผิดนั่นเอง) ทำอย่างไรได้ และผมก็สามารถสัมผัสได้กับความรุ้สึกของหน่วยงานที่เราต้องส่งข้อมุลให้ ผมก็ทราบดีครับว่าผลจะเป็นอย่างไร และผลที่ได้ก็เป็นไปตามคาด คือไม่ได้รับความร่วมมือใดๆเพิ่มเติม กับบุคคลที่มีปัญหา แต่กลับบุคคลที่ไม่มีปัญหาใดๆ กลับทำงานได้ดียิ่งขึ้นๆไป (นั่นอาจเป็นขอ้ดีข้อเดียวที่มี)
ครั้งหนึ่งมีงานที่หน่วยงานนี้ออกแบบมาได้อย่างถูกต้องมาก ผมเคยเสนอให้หัวหน้าของผมทำบันทึกแสดงความชื่นชม หรืออย่างน้อยก็ขอบคุณที่ทำงานให้ได้อย่างเรียบร้อย แต่คำตอบที่ได้รับจากหัวหน้า ก็คือ "มันจะมากเกินไปหรือเปล่า เดี๋ยวคนอื่นเค้าจะหมั่นไส้เอานะ" ช่างเป็นคำพูดถึงการแสดงออกถึงวัฒนธรรมการถ่อมตนสุดขั้วของไทย จริงๆ นอกจากนี้หัวหน้ายังส่งเสริมให้ดำเนินการเช่นเดิมคือ Neg. Feedback ต่อไปโดยไม่ได้คิดว่า "มันจะมากเกินไปหรือเปล่า เดี๋ยวคนอื่นเค้าจะหมั่นไส้เอา"
ครับ ผมว่าในองค์การใหญ่ๆ เก่าแก่ มีวัฒนธรรมไทยฝังลึกนี่ เป็นงานที่ท้าทายมาสำหรับ นักจิตวิทยาที่จะเข้ามาแก้ปัญหา โดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหาร
สุดท้ายผมกำลังหาวิธีการ Pos. Feedback ที่เหมาะสมต่อไป เมื่อทดลองใช้แล้วจะนำมาเสนอผลการทดลองครับ
ขอบคุณครับ
เกรียงไกร
 
 

โดย: เกรียงไกร IP: 203.149.16.43 วันที่: 8 เมษายน 2552 เวลา:10:31:46 น.  

 
 
 
ในการบริหารจัดการพวกที่ทำตัวเป็นพวก "พี่นี้มีแต่ให้" มีเยอะเพราะไม่อยากรับความกดดันต่างๆ แต่คนอื่นก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่พวกท่านเลี่ยงอยู่ดี

หากมีแต่ positive approach อย่างเดียวแล้วองค์กรและบุคลากรสามารถ win-win ร่วมกันได้จริงๆ ก็คงไม่มีใครจำเป็นต้องใช้ negative approach เช่น การ down sizing ไม่มีใครอยากทำแต่จำเป็นต้องทำ หากผู้บริหารมีกล่องเครื่องมือเพียงชุดเดียวที่จะใช้กับทุกสถานการณ์ คงลำบากกับองค์กรแล้ว

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมนักวิชาการยังคงศึกษาเรื่อง situational / contingency theory เพราะโลกแห่งความเป็นจริงคุณต้อง keen พอที่จะ adapt และเลือกใช้ approach ที่เหมาะสม

สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งได้เพียงด้านเดียวคงไม่ practical
หาก too positive ก็ไปบวชซะ (แต่ก็อาจเจอเรื่องแย่ๆ ในวัดบางวัด)
หาก too negetive สุดท้ายคงเข้าคุกหรือตกนรก
หากรักจะเป็นนักวิชาการหรือนักบริหารไม่ควร rigid เกินไป ควรจะ realistic, flexible, adaptable อย่างมี ethics
 
 

โดย: Be Realistic !!! IP: 130.88.183.28 วันที่: 8 เมษายน 2552 เวลา:23:46:54 น.  

 
 
 
ผมเห็นด้วยกับเรื่องการผสมผสานระหว่างด้านที่เป็นทางลบและด้านที่เป็นทางบวกครับ บางเรื่องนั้นผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะให้ Positive feedback อย่างไรดี เช่น ในกรณีที่หน่วยงานหนึ่งเขาส่งมอบวัตถุดิบที่ไม่ได้ตามสเป็คมาตรฐานมา ในกรณีเช่นนี้ ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้อนข้อมูลกลับไปว่า วัตถุดิบที่ได้มานั้นไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับตัวผม มันคือ Feedback ที่ไม่ได้ออกมาในเชิงบวกหรือเชิงลบนะครับ มันเป็นแค่ข้อเท็จจริง (Fact) ที่ป้อนกลับไป ผมอยากเรียกมันว่า Constructive feedback เสียมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะผู้รับจะได้นำข้อมูลดังกล่าวกลับไปปรับปรุงงาน

ปัญหาก็คือ อย่างที่คุณเกรียงไกร (พี่เล้งรึเปล่า??) บอกครับ คือ ผู้รับ Feedback มักจะมองเป็น Negative feedback ซะงั้น

แต่ในกรณีของการให้ Feedback นั้น ผมกลับมองว่า หากเรามีความรู้พื้นฐานเรื่อง Transactional analysis อยู่บ้าง แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการให้ Feedback ผมว่าน่าจะช่วยให้ปัญหาการมอง Constructive feedback กลายเป็น Negative feedback บรรเทาลงได้ครับ

(อยากรู้เกี่ยวกับ Transactional analysis เพิ่มเติม ลองไปหาอ่านจาก I'm OK, You're OK ของ Thomas A. Harris ได้ครับ ผมว่าอ่านง่ายดี
 
 

โดย: คงเดช IP: 202.139.223.18 วันที่: 9 เมษายน 2552 เวลา:22:19:53 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ อาจารย์
ผมเห็นด้วยกับคุณคงเดช ที่ควรจะผสมผสานทั้งทางด้านบวก และด้านลบเข้าด้วยกัน
คนส่วนมากมักมองด้านลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากกว่าที่จะมองด้านบวก
อย่างตัวอย่างที่คุณคงเดชเสนอมา
ถ้าเขาส่งของที่ไม่ได้คุณภาพมาให้
เมื่อหน่วยงานที่ทำงานนี้ได้รับข้อมูลนี้เข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น
1. มองด้านลบ "กูโดนมันเล่นงานอีกแล้ว"
2. มองด้านบวก "ดีแล้ว เราจะได้ทำการปรับปรุงต่อไป"
ดังนั้นในความเห็นของผม ก่อนที่เราจะดำเนินการพัฒนาด้านบวกในองค์กร ก็ควต้องเริ่มจากการพัฒนาด้านบวกในปัจเจกบุคคลก่อน
ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แกองค์กร แต่เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองมากกว่า
เรื่องลบมีเข้ามาเยอะ แต่อยู่ที่เราตีความหรือ Interprete มากกว่าว่ามันคือ บวก หรือ ลบ
และควรตอบสนองต่อมันอย่างไร
ทุกข์ สุข อยู่ที่ใจใช่ที่อื่น
 
 

โดย: บรรณวิท IP: 113.53.190.214 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2553 เวลา:10:59:24 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com