The Broaden and Build Theory: เพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างสี

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ได้ละเลยส่วนสำคัญไปนานพอควร ส่วนสำคัญที่ว่านั้นคือ จิตพิสัย (Affective) ซึ่งได้แก่ อารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ เปรียบเทียบกับความสนใจค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ พุทธิพิสัย (Cognitive) หรือความสามารถในการคิด การรับรู้ การใช้เหตุผล ไม่ได้เลย เพียงแค่เดินดูตามชั้นหนังสือในห้องสมุดก็พอบอกได้ เพราะเราจะเห็นตำราเกี่ยวกับ Cognitive มากกว่า Affective อย่างเทียบกันไม่ได้เอาเลยทีเดียว

แต่เมื่อเราหันกลับมามองดูความเป็นจริงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในระยะที่มีปัญหาความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดง เราจะเห็นได้ว่า ที่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับฟังความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นมีสาเหตุลึกๆ มาจากเรื่องอารมณ์โดยแท้

แม้แต่ในระดับบุคคลในสังคมไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยม (Collectivism) เน้นการได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคมรอบตัวเป็นหลักมากกว่าความสามารถ คนไทยเราก็เน้นจิตพิสัยคืออารมณ์มากกว่าความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นพุทธิพิสัย ต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นความสามารถส่วนตนมากกว่าการยอมรับในเชิงความสัมพันธ์ของระหว่างกัน เพราะเขาเป็นวัฒนธรรมปัจเจกชนนิยม (Individualism)

คนไทยเรานั้นลองได้รักนับถือกันแล้ว เขาจะคิดจะทำอะไร คนไทยเราก็จะปรับความคิดไปตามคนที่เรารักและนับถือนั้น และตรงกันข้ามถ้าหากว่าเกลียดใคร คนไทยเราจะไม่ฟังทั้งนั้นว่า คนที่เราเกลียดนั้นจะอธิบายเป็นเหตุผลดีหรือไม่อย่างไร

เราจึงได้เห็นทั้งกลุ่มคนสีเหลือง สีแดง ซึ่งประกาศว่า รักประชาธิปไตย แต่เที่ยวไปปิดล้อม ด่าทอ ด้วยอารมณ์ด้านลบ(เกลียด) ห้ามมิให้ฝ่ายตรงกันข้ามแสดงความคิด หรือการกระทำตามหน้าที่ของเขา แสดงว่า อารมณ์ด้านลบนั้นไปทำให้ปิดตัวเองที่จะฟังคนอื่น

ถึงกระนั้นก็ตาม ทฤษฎีทางจิตวิทยาของฝรั่งตะวันตกที่จะมาเล่าสู่กันฟังนี้สามารถอธิบายให้เห็นว่า อารมณ์สามารถส่งผลกระทบต่อการคิดและการกระทำของคนเราในทุกวัฒนธรรม

อารมณ์ด้านบวกทำให้เปิดใจรับความคิด และสร้างการกระทำโต้ตอบได้กว้างขวางหลายแนวทาง
อารมณ์ด้านลบทำให้ปิดใจ ไม่รับความคิด และปิดแนวทางสร้างการกระทำโต้ตอบให้แคบลง

The Broaden and Build Theory

ในปี 1998 บาร์บารา เฟรเดอริคสัน (Barbara Frederickson) ได้เสนอ Broaden and Build Theory ในวารสาร Review of General Psychology ซึ่งอธิบายว่า

อารมณ์ด้านลบ (Negative Emotion) ของมนุษย์ถือว่าสำคัญในแง่ที่ว่า ทำหน้าที่กระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมหนีอันตรายจากสิ่งแวดล้อมอย่างทันใด ด้วยเหตุนี้ถ้าเราเผชิญหน้ากับอันตราย เช่น ไฟไหม้ อารมณ์กลัวจึงทำให้เราวิ่งหนี (Flight) ไฟไหม้ หรือหันหน้ามาสู้ (Fight) กับไฟไหม้เพื่อป้องกันทรัพย์สินหรือคนที่เรารักซึ่งอาจจะได้รับอันตรายจากไฟไหม้

ความกลัวซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบจึงเป็นเหตุให้คนเราเลือกพฤติกรรมตอบสนองได้แคบเพียง 2 พฤติกรรมคือ สู้หรือหนี

แต่อารมณ์ด้านบวก (Positive Emotion) ทำหน้าที่ต่างออกไปคือ
หนึ่ง เตรียมแนวโน้มที่ไม่เฉพาะเจาะจงให้กับการแสดงพฤติกรรมตอบสนอง ตัวอย่างเช่น อารมณ์รื่นเริงในเด็ก มักจะสัมพันธ์กับแรงกระตุ้นที่จะเล่น สำรวจ สร้างสรรค์ ขณะที่ในผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์รื่นเริงนั้นมักจะสังสรรค์กับคนอื่น แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ กระโจนเข้าหาความท้าทาย หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือคนอื่น ฯลฯ

หมายความว่า อารมณ์ด้านบวกไปกระตุ้นให้คนเราเลือกช่องทางแสดงพฤติกรรมได้กว้างขวางและสร้างสรรค์ได้มากกว่าเดิม

สอง อารมณ์ด้านบวกมักจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมของพุทธิปัญญา (Cognitive) ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการปรับแต่งระหว่างความคิดกับการกระทำ (Thought – Action Tendencies) ในทิศทางใหม่ๆ และเก็บจำแนวโน้มการแสดงพฤติกรรมแบบใหม่นี้ในสมอง นำไปใช้ภายหลังได้ ตัวอย่างเช่น ระหว่างที่เด็กมีกิจกรรมเล่นในสนาม ถ้าเด็กเกิดการเรียนรู้วิธีเล่นแบบใหม่จากการเล่นนั้น เขาสามารถเก็บจำไว้ และสามารถนำพฤติกรรมการเล่นแบบใหม่นั้นไปแสดงภายหลังได้
เฟรเดอริคสันจึงได้เสนอว่า อารมณ์ด้านบวกทำให้คนเราขยาย (Broaden) การรู้ตัว (Awareness) จนภายหลังมีผลต่อการสร้าง (Build) การเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ทำให้คนเราสร้างเสริมคลังแห่งแหล่งรวมของพฤติกรรมทางอารมณ์และปัญญาได้กว้างขวาง และยังเก็บจำพฤติกรรมเหล่านั้นได้ยาวนานมากขึ้น

โดยสรุปคือ อารมณ์ด้านบวกไปทำให้คนเราขยายการรับรู้และการคิด อันจะนำไปสู่การกระตุ้นจิตใจของคนเราให้ขยายช่องทางความคิดและทางเลือกของพฤติกรรมให้กว้างขวางและยาวนานไปในอนาคตมากขึ้น ในขณะที่อารมณ์ด้านลบจะไปทำให้ช่องทางของความคิดและการกระทำแคบลง

ได้มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ข้อสรุปนี้ ด้วยการนำเอาผู้รับการทดลอง 5 กลุ่ม มาชมวีดิทัศน์ที่ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ด้านบวก (สนุกสนาน, สำราญใจ) อารมณ์ด้านลบ (โกรธ, กลัว) และไม่กระตุ้นอารมณ์ หลังจากนั้นให้ผู้รับการทดลองเลือกแสดงพฤติกรรม ผลปรากฏว่ากลุ่มผู้รับการทดลองที่ถูกกระตุ้นอารมณ์ด้านบวกทั้ง 2 กลุ่มเลือกแสดงพฤติกรรมมากอย่างกว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มที่เหลือทั้ง 3 กลุ่ม

ถ้าเรายอมรับว่าอารมณ์ด้านบวกขยายความคิดและการกระทำของคนเรา เราจะเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในระยะยาว การทดลองกระตุ้นอารมณ์บวกให้กับผู้รับการทดลองด้วยวิธีต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งๆ เช่น การนั่งสมาธิสัก 2 เดือน มีผลทำให้ผู้รับการทดลองมีสุขภาพดีขึ้นและยังมีความพอใจในชีวิตสูงขึ้นด้วย ไม่มีผลกระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ในทำนองตรงกันข้ามอารมณ์ด้านลบไม่ว่าจะเป็น กลัว เกลียด เศร้า ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติทั้งสิ้น

ขอเล่าการทดลองที่น่าสนใจในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ด้านบวกนั้นยังสามารถลดระดับของการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ให้เข้าสู่สภาพปกติได้เร็วกว่าอารมณ์ด้านลบด้วย โดยนักจิตวิทยาได้กระตุ้นให้ผู้รับการทดลองเกิดความเครียดด้วยการให้พูดต่อหน้าชั้นเรียน แล้ววัดระดับการเต้นของหัวใจ ความดัน และเหงื่อ หลังจากนั้นจึงบอกเลิกการพูดต่อหน้าชั้น แต่ให้ดูวีดิทัศน์ที่กระตุ้นอารมณ์ด้านบวก (สนุก, สำราญใจ) อารมณ์ด้านลบ (กลัว, เศร้า) และไม่กระตุ้นอารมณ์ พบว่ากลุ่มผู้รับการทดลองที่ได้ดูวีดิทัศน์กระตุ้นอารมณ์ด้านบวกมีระดับการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด และเหงื่อกลับเข้าสู่ระดับปกติเร็วกว่าทุกกลุ่ม

การนำเอา Broaden and Built Theory ไปทำการวิจัยในมิติต่างๆ เพื่อดูผลกระทบของอารมณ์ด้านบวกต่อด้าน (Resources) เหล่านั้นกำลังเป็นที่สนใจในต่างประเทศ เช่น
• ด้านกาย (Physical Resources): คุณภาพการนอนหลับ ระบบป้องกันการเจ็บป่วย
• ด้านสังคม (Social Resources): การติดต่อกับคนอื่น การสนับสนุนสังคม
• ด้านเชาวน์ปัญญา (Intellectual Resources): ความคิดสร้างสรรค์ การมีสติสัมปชัญญะ
• ด้านจิตใจ (Psychological Resources): การมองโลกในแง่ดี ความยืดหยุ่นได้ (Resilience)

การนำเอาไปใช้ในชีวิตจริง

Broaden and Build Theory ของ Barbara L. Frederickson เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเราในการทำความเข้าใจว่า เหตุใดมนุษย์เราจึงแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ง่ายนัก เหตุ เนื่องจากมนุษย์เราไม่ได้ตระหนักในความสำคัญของอารมณ์ด้านบวก ซึ่งเข้าไปทำให้จิตใจเปิดกว้างที่จะมองเห็นและยอมรับความคิดอื่นๆ ในขณะที่อารมณ์ด้านลบไปทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการปิดกั้นการเห็น การคิดในมุมอื่นๆ นอกจากมุมเดิม เพราะอารมณ์ด้านลบมักจะก่อให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองหลักๆ ต่อสถานการณ์ขณะนั้นคือ สู้หรือหนี (Fight or Flight) เท่านั้น

ในแง่ของการนำเอาไปใช้ในชีวิตของเรา การสร้างอารมณ์ด้านบวกเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพหรือบทบาทอะไรก็ตาม อารมณ์ด้านบวกจะทำให้คนเราพัฒนาคลังแห่งพฤติกรรมทุกด้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น กาย อารมณ์ สังคม จิตใจ ให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมทำให้เจริญงอกงาม (Flourish) มากขึ้น

นอกจากตัวเราเองจะเจริญงอกงามแล้ว ผู้อื่นที่สัมพันธ์กับเราตามสถานภาพและบทบาทของเขาย่อมจะได้รับอานิสงส์ในทางเดียวกันไปด้วย คือได้เปิดใจกว้างขยายคลังแห่งพฤติกรรมการตอบสนองของเขาให้กว้างขวางกว่าเดิมทำให้เจริญงอกงาม (Flourish) ไปด้วย

กิจกรรมที่มนุษย์ทำไม่ว่าจะในสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องพบกันความยุ่งยากของความขัดแย้งกัน ถ้าเราเชื่อทฤษฎีนี้ มนุษย์เราต้องสร้างอารมณ์บวกให้กันและกันทุกแห่งหน เพื่อจะได้ขยายคลังแห่งความคิดและพฤติกรรมการตอบสนองต่อเขาขยายตัวกว้างขวาง สร้างสรรค์มากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งจะลดน้อยลง

พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องหมั่นแสดงอารมณ์ด้านบวกกับลูกๆ ด้วยการกอด หอม จัดกิจกรรมสนุกๆ กับลูกๆ ผู้บริหารต้องขยันมองหาผลงานดีๆ ของลูกน้องแล้วให้รางวัล พระควรจูงใจให้คนเข้าวัดไปทำบุญเป็นระยะ ครูทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งกิจกรรมดึงดูดให้เด็กๆ อยากมา ถ้าทุกสถาบันทางสังคมทำได้อย่างนี้ คนในสังคมจะมีเวลาของอารมณ์ด้านบวกมากกว่าด้านลบ อันจะนำไปสู่การคิดอย่างคนใจกว้าง เปิดใจมากขึ้น และสร้างพฤติกรรมด้านสร้างสรรค์ได้มากขึ้นด้วย

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขอะไรได้ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต่างสั่งสมอารมณ์ด้านลบต่อกันทุกวัน ด้วยการใช้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการเสียดสี ต่อว่า ประณาม ดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่ง ให้โกรธ เมื่อมีอารมณ์ด้านลบต่อกันแล้วต่างฝ่ายต่างจะปิดใจ ปิดมุมมองด้านอื่น และการคิดต่อกันให้แคบลงไปเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างจะมองเห็นด้านไม่ดีของอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามถ้ายึดเอาทฤษฎีนี้มาแก้ปัญหาทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกัน จุดสำคัญคือ เราต้องเริ่มต้นที่การสร้างอารมณ์บวกต่อกันและกันเสียก่อน นั่นคือต้องหยุดการแหย่ยั่วแสดงความเห็นเสียดสีกันรายวันผ่านสื่อมวลชน ควรมีการพบปะกัน คุยกันระหว่างคนทั้งสองฝ่าย มีคณะทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กันเป็นช่องทางสำหรับการเจรจาประเด็นร้อนที่ต้องการความเร่งด่วนในการจัดการ ใช้เวลาสร้างอารมณ์บวกต่อกันสักระยะหนึ่งก่อน ทั้งสองฝ่ายจะได้เปิดใจรับฟังกันได้ แสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อกันในด้านดีได้หลากหลายพฤติกรรมมากขึ้น แล้วค่อยแก้ปัญหาความคิดขัดแย้งกัน

การที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหยุดตอบโต้รายวันเป็นสิ่งที่ช่วยลดอารมณ์ทางลบของฝ่ายเสื้อแดงที่มีต่อตนเอง แต่ควรต้องหาทางพบปะกับฝ่ายเสื้อแดง นปช. และพรรคเพื่อไทยบ้าง นายกรัฐมนตรีคงต้องอดทนมากในการพบกับคนเหล่านี้ เขาคงแสดงพฤติกรรมไล่ท่านแน่นอน ขออย่าได้โต้ตอบ นานเข้าเขาเห็นว่าการแสดงพฤติกรรมแบบนั้นไม่ได้ผล เขาคงต้องเลิกไปเอง (ทางจิตวิทยาเรียกวิธีการลบพฤติกรรมแบบนี้ว่า Extinction )

ถ้านายกรัฐมนตรีทำต่อไปจนพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หมั่นแสดงผลงาน สร้างนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคมให้ถูกใจประชาชนไปสักระยะหนึ่ง แม้แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้แต่บ้านเมืองสงบน่าจะเป็นไปได้ว่า ประชาชนจะมีอารมณ์บวกต่อท่านมากขึ้น รวมทั้งคนเสื้อแดงตลอดไปจนถึงพรรคเพื่อไทยด้วย ถึงตอนนั้นการขัดแย้งระหว่างสีคงเบาลงไปเรื่อย




 

Create Date : 14 มีนาคม 2552   
Last Update : 14 มีนาคม 2552 20:46:12 น.   
Counter : 1694 Pageviews.  


จิตเอ๋ย เธออยู่ที่ไหน

เรามักมีคำถามเสมอว่า จิตอยู่ที่ไหน คำตอบที่ว่า จิตนั้นเป็นนาม รวมกับรูปแล้วกลายเป็นขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญา 4 ตัวสุดท้ายนี้รวมเป็นจิต

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาทางพิสูจน์แบบจับให้มั่นคั้นให้ตายว่า จิตอยู่ไหนกันแน่

ศาสตราจารย์อีริค แคนเดิล (Eric Kandel) นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาวิจัยทางประสาทสมองที่ได้รับรางวัลโนเบลมาแล้วได้ทำนายว่า ภายในศตวรรษนี้จะมีการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์แห่งจิต (Science of Mind) โดยที่การวิจัยที่ว่านี้จะมีลักษณะของการร่วมกันศึกษาระหว่างสาขาวิชาประสาทวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา การร่วมมือกันวิจัยแบบนี้จะช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจภาวะทางชีววิทยาของจิตดีขึ้น

แคนเดิลเห็นว่า การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งจิตดังกล่าวจะต้องยึดหลักการ 5 ประการคือ
1. จิตและสมองเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้
2. การทำงานของสมองทั้งหลายเกิดขึ้นโดยวงจรประสาทเฉพาะที่
3. แต่ละวงจรประสาทนั้นประกอบด้วยเซลประสาทจำนวนหนึ่ง
4. โมเลกุลเป็นตัวกำเนิดประจุสัญญาณภายในเซลประสาทและระหว่างเซลประสาท
5. โมเลกุลที่บรรจุประจุสัญญาณเหล่านี้ได้รับการอนุรักษ์มาตลอดเวลาแห่งการวิวัฒนาการหลายล้านปีที่ผ่านมา

ประจุสัญญาณที่มีการเคลื่อนไหวไปมาในวงจรประสาทนี้เรียกว่า แผนที่สมอง (Brain Maps) ซึ่งจะบรรจุประสบการณ์ทุกสรรพสิ่งของคนเราเอาไว้ นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เหมือนกระดิกนิ้วเท้าไปจนถึงเรื่องซับซ้อนทางการคิดและอารมณ์ ตลอดจนการป่วยทางจิต

แผนที่สมองนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร นักประสาทวิทยาอธิบายว่า นิสัยของคนเรานี้เองที่ก่อให้เกิดและปั้นแต่งแผนที่สมองขึ้นมา นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงในแผนที่สมองนี้ยังอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วรุนแรงจากความรักและบาดแผลทางใจอย่างรุนแรงได้เหมือนกัน

ดังนั้นนักจิตวิทยาเชิงนิมาน (Positive Psychologists) จึงมีความเห็นและมุมมองว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำเป็นนิสัยย่อมจะไปทำให้แผนที่สมองเกิดการจัดโครงสร้างของวงจรประสาทใหม่ได้

ด้วยเหตุที่ว่าพฤติกรรม ความจำ หรือแม้แต่ความคิดเชิงนามธรรมนั้นเมื่อสมองรับรู้แล้ว วงจรประสาทในแผนที่สมองก็จะทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในเชิงของการมีอิทธิพลมากกว่าวงจรประสาทในแผนที่สมองส่วนอื่น หรือการส่งเสริมให้กระทำการใดๆ หรือการหักห้าม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดโครงสร้างใหม่ของวงจรประสาท ซึ่งจะเรียกว่าแผนที่สมองที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ดังนั้นแผนที่สมองจึงมีความเป็นพลวัตร (Dynamic) อยู่ตลอดเวลา หมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงในแผนที่สมองได้ตลอดเวลานั่นเอง

นักวิจัยพบว่า สมองนั้นตอบสนองอย่างยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดระเบียบแผนที่สมองอยู่เสมอ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในวงจรประสาท บางครั้งเปลี่ยนไปในลักษณะของการปรับตัว แต่บางทีก็สร้างวงจรใหม่

ดังนั้นการทำสิ่งใหม่อยู่บ่อยๆ จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ (Practice makes perfect) ในทำนองกลับกันการแก้นิสัยที่เคยชินนั้นถึงได้ยากเย็นเอาเสียจริง เพราะว่าเรายังคงทำนิสัยเก่าๆ นั้นอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้วงจรประสาทในแผนที่สมองส่วนนั้นมีโครงสร้างที่มั่นคงอยู่เสมอนั่นเอง

นักจิตวิทยาเชิงนิมานยอมรับว่า การจัดระเบียบวงจรประสาทเป็นแผนที่สมองนั้นเกิดมาจากการที่คนเรามองโลกอย่างไร กระทำตอบสนองออกไปอย่างไร และคิดอย่างไรต่อโลกรอบตัวอย่างไร การมองโลกในแง่ดีและอารมณ์ดี ทำให้ได้ประสบการณ์เป็นบวกจะมีความสำคัญต่อความยืดหยุ่นของประสาทในวงจรประสาทในแผนที่สมองด้วย

บทเรียนสำคัญจากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ทางประสาทวิทยาคืออะไร

แม้ว่านักวิจัยทางประสาทวิทยาเขาจะยังตอบไม่ได้ว่า จิตอยู่ไหน แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่เขาพิสูจน์ให้เรารับรู้คือ การทำงานของสมองนั้นเกิดจากประจุสัญญาณในประสาทแต่ละตัวที่ได้จัดระบบกันเป็นวงจร รวมตัวกันเป็นโครงสร้างต่างๆ เป็นชุดๆ ไป เรียกชุดของโครงสร้างประสาทเหล่านี้ว่า แผนที่สมอง (Brain Maps) ซึ่งนับว่า ใกล้เคียงกับจิตเข้าไปมากแล้ว แต่คงยังไม่ใช่
ทุกอย่างในชีวิตของเราที่เรารับรู้เข้าไปในสมองนั้นไปเป็นโครงสร้างที่ว่านี้ในสมองทั้งสิ้น

โครงสร้างของวงจรประสาทเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อมีการกระตุ้นในเซลประสาทอันเกิดจากประจุสัญญาณในโมเลกุล

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของวงจรประสาท แผนที่สมองก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย การสั่งการของสมองจะเปลี่ยนแปลงไปตาม

การรับรู้โลกรอบตัว การกระทำตอบสนอง และการคิดต่อโลกรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผนที่สมอง (Brain Maps) ได้ เพราะโครงสร้างวงจรประสาทจะเปลี่ยนแปลงใหม่

ดังนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยนอะไรในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสัย

จงสร้างการกระทำอย่างใหม่ให้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพื่อจะได้เป็นนิสัยใหม่ หรือจงสร้างความคิดต่อนิสัยนั้นในทิศทางใหม่บ่อยๆ โครงสร้างวงจรประสาทในสมอง (Brain Maps) จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และจะมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นนิสัยใหม่เกิดขึ้นได้

ต่อไปในอนาคตแพทย์อาจจะเข้าไปดัดแปลงโครงสร้างวงจรประสาทนี้ได้ ถึงเวลานั้นถ้ามนุษย์อยากเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม ความคิด ฯลฯ อะไรจะทำได้ทั้งนั้น เพียงแต่ผ่าตัดเข้าไปกระทำการดัดแปลงแผนที่สมองเท่านั้นเอง

8 สิ่งที่ควรกระทำให้เกิดวงจรประสาทในแผนที่สมองเพื่อชีวิตที่มีความสุข

ขึ้นต้นผมเสนอความรู้ที่นักวิจัยทางประสาทวิทยาพยายามค้นหาว่า จิตอยู่ที่ไหน พวกเขาตั้งสมมติฐานว่า น่าจะอยู่ในสมองในรูปของประจุสัญญาณในวงจรประสาทที่เมื่อจัดเป็นโครงสร้างแล้วเรียกว่า แผนที่สมอง (Brain Maps) ซึ่งบรรจุประสบการณ์ในชีวิตเราทุกชนิดไม่ว่าจะซับซ้อนหรือไม่ก็ตาม

เขายังพบว่า เมื่อคนเราสร้างการกระทำใหม่ๆ ขึ้นมา วงจรประสาทจะเปลี่ยนแปลง และเมื่อทำบ่อยขึ้นโครงสร้างของมันจะเป็นระเบียบชัดเจน เมื่อนั้นการกระทำใหม่จะกลายเป็นนิสัยคอยควบคุมการกระทำนั้นต่อไป

ในชั้นนี้เราจึงไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ผ่าตัดไปจัดกระทำต่อแผนที่สมองก็ได้ เพียงแต่เราสร้างวงจรประสาทในแผนที่สมองด้วยการกระทำของเราเอง เช่น เราอยากรู้สึกมีความสุข เราก็ต้องกระทำสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกเป็นสุข การกระทำของเราจะเข้าไปดัดแปลงวงจรประสาทในแผนที่สมองเอง ทำบ่อยเข้าโครงสร้างวงจรประสาทส่วนนี้จะคงตัวกลายเป็นแผนที่สมองส่วนที่ควบคุมนิสัย

เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างแผนที่สมองส่วนที่เป็นความรู้สึกมีความสุข ผมอยากนำเอาแนวคิดของนักจิตวิทยาเชิงนิมาน (Positive Psychologists) ซึ่งได้สรุปจากการวิจัยหลายครั้งเกี่ยวกับการแสวงหาความสุข เขาพบว่า การกระทำ 8 ประเภท ต่อไปนี้ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต หรือมีความสุขในชีวิตได้ การกระทำเหล่านั้นคือ

1. นับครั้งของการได้รับพรหรือสิ่งดีๆ จากคนอื่นรอบตัว จงบันทึกลงไปในสมุดบันทึก ประมาณ 3-5 อย่างที่ท่านอยากจะขอบคุณ ไม่ว่าจะเล็กไม่ค่อยมีความหมายหรือใหญ่โตวิเศษเพียงใด ทำอย่างนี้สัปดาห์ละครั้ง พยายามให้บันทึกนี้มีความหลากหลายในสิ่งที่บันทึกลงไปให้มากที่สุด

2. ฝึกหัดการเป็นคนมีเมตตาต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนแปลกหน้า สัตว์ การทำอย่างนี้จะทำให้คุณเป็นคนใจดีมีเมตตาและมีสายสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้คุณยิ้มแย้ม เป็นที่ยอมรับ ได้รับความเมตตาตอบสนองกลับมา ทุกคนจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

3. ใส่ใจกับความรื่นรมย์ของชีวิต จงใส่ใจกับทุกขณะจิตแห่งความสุขและความสำราญ เช่น เมื่อคุณกำลังก้าวออกไปสู่สวนดอกไม้ข้างทาง ขอให้ใส่ใจกับสีสรรพ์ของดอกไม้และอากาศรอบตัวอย่างเต็มที่

4. ขอบคุณผู้ส่งเสริม อุปถัมภ์ค้ำชู ถ้าคุณมีใครสักคนที่คุณเป็นหนี้บุญคุณ อย่าลืมที่จะแสดงความซาบซึ้งต่อเขาอย่างตั้งใจ อย่าทำเพียงขอให้ได้ทำ ขอให้ทำอย่างละเอียด ให้เขารู้สึกว่า เขาได้รับเกียรติ

5. เรียนรู้ที่จะให้อภัย ทำลายความโกรธให้หมดไปด้วยการให้อภัยด้วยการเขียนจดหมายถึงเขา ผู้ซึ่งทำร้ายคุณหรือเข้าใจคุณผิด การไม่ให้อภัยก่อให้เกิดความคิดพยาบาท แก้แค้น ขณะที่การให้อภัยไขความรู้สึกดีๆ ของคุณออกมา ทำให้คุณมีใจสงบ

6. ลงทุนให้เวลากับการทำอะไรก็ได้ให้แก่เพื่อนและครอบครัว ขอให้รู้ไว้เถิดว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้านใหญ่โตเพียงใด สุขภาพดีเพียงใด มีความก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงเพียงใดก็ทำให้คุณมีความพอใจกับชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณมีความสุขมากกว่านั้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับครอบครัว และคุณกับเพื่อนของคุณ (ลองดูก็ได้ ขอให้ท่านนึกถึงคนดัง ตำแหน่งสูง รวย ฯลฯ สมัยที่ท่านยังเด็ก เวลานี้เขาอยู่ไหน เหมือนเดิมมั้ย)

7. รักษาสุขภาพของคุณให้ดี นอนหลับให้พอ ออกกำลัง ยืดหยุ่นข้อและลำตัว ยิ้มและหัวเราะ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณมีอารมณ์ดี ถ้าคุณทำมันเป็นประจำจะทำให้ชีวิตของคุณในแต่ละวันมีความสุข

8. พัฒนากลยุทธ์ในการอยู่กับความเครียดและความทุกข์ ตราบใดที่คุณอยู่ในโลก ไม่มีทางที่คุณจะหนีจากความทุกข์ได้หรอก ผมว่าการมีความเชื่อทางศาสนาช่วยทำให้มนุษย์เราสู้กับความเครียดได้ จะยิ่งดีขึ้นมากอีกถ้าหากว่าคุณลองปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาของคุณ แต่สำหรับคนไทยเรานั้นน่าดีใจที่เราสามารถหาที่ปฏิบัติธรรมได้ทั่วไปไม่ยากนัก ลองปฏิบัติธรรมให้เป็นนิสัยเถิด คุณจะเครียดและทุกข์น้อยลงอย่างนึกไม่ถึงเลยทีเดียว

อยากให้คุณผู้อ่านทั้งหลายลองปฏิบัติดูทั้ง 8 ข้อนะครับจะได้มีความสุขในชีวิต เพราะว่าทำไปนานๆ แล้วแผนที่สมองจะเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นด้วย การกระทำทั้งหมดจะกลายเป็นนิสัยไปนะครับ ชะตาชีวิตจะมีแต่ดี ดังคำคมที่เคยได้ยินจากการเทศน์ของ พระมหา ว.วชิรเมธี ท่านว่า

ให้ระวังความคิด เพราะความคิดนำไปสู่การกระทำ
ให้ระวังการกระทำ เพราะการกระทำนำไปสู่นิสัย
ให้ระวังนิสัย เพราะนิสัยนำไปสู่ชะตาชีวิต

สรุปเอาง่ายๆ ว่า ความสุขอยู่ที่จิตใจ ถ้าหากอยากมีความสุข ในแต่ละวันจงกระทำสิ่งดีๆ จนกลายเป็นนิสัยประจำตัว อย่างที่พระท่านว่า ทำบุญทำกุศล แล้วความรู้สึกหรือจิตใจจะมีความสุขตามไปเองครับ

อ้อ ลืมไปว่า ทำบุญกุศลนี่ทำได้หลายวิธี ไม่ได้หมายความแต่บริจาคหรือทำทานอย่างเดียวนะครับ ง่ายๆ แค่ถือศีล 5 ก็เป็นการทำบุญแล้วครับ




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2552 23:58:06 น.   
Counter : 526 Pageviews.  


วิทยานิพนธ์เรื่องคนหลงตัวเองกับพฤติกรรมถ่วงความเจริญ

วิชาจิตวิทยาสังคมเป็นวิชาการสาขาหนึ่งที่มีการวิจัยค้นคว้าเพื่ออธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมในหลายรูปแบบ

มีการวิจัยสนุกๆ ทั้งแบบการทดลองในห้องปฏิบัติการ ทดลองในสนาม หรือแม้แต่การวิจัยที่ใช้แบบสอบถามอย่างที่ทำกันมากมาย

อย่างที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังก็เป็นการวิจัยในประเทศไทยของเรานี้แหละ แต่เนื้อเรื่องน่าสนใจมากครับ เนื่องจากมันช่างตรงเวลากับเหตุการณ์ขัดแย้งแบ่งสีเสื้อในประเทศพอดีเลย

งานวิจัยนี้เป็นวิทยานิพนธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมได้อ่านวิทยานิพนธ์ของคุณประภาพิมพ์ จรัลรัตนกุลครับ คิดว่าเป็นเรื่องที่กำลังอธิบายอะไรบางอย่างในสังคมไทยพอดี เจ้าตัวคนเขียนวิทยานิพนธ์อาจจะไม่ได้เอ่ยอะไรที่สามารถนำเอาผลการค้นคว้าไปอธิบายเรื่องดังกล่าวได้ เพราะเป็นเอกสารวิชาการ แต่ผมคิดว่าน่าจะนำมาขยายความคิดต่อ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังแทนผู้วิจัยก็แล้วกันครับ

สำหรับคนที่สนใจจะอ่านฉบับของแท้ คงจะสามารถหาอ่านได้จากหอสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อาจจะอ่านยากสักหน่อยถ้าหากวิชาสถิติไม่แข็งแกร่งพอ ไปค้นตามรายละเอียดนี้นะครับ

ประภาพิมพ์ จรัลรัตนกุล การทำนายพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การและเพื่อนร่วมงานจากบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ลักษณะนิสัยด้านความโกรธและสิ่งเร้าความเครียดในการทำงาน วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2550

สำหรับผมจะขอไม่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการทำงานวิจัยชิ้นนี้ แต่จะขอเล่าผลการวิจัย ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมากครับ คือผู้วิจัยพบคำตอบที่เป็นข้อสรุปว่า (ขอเขียนอย่างภาษาชาวบ้าน)

• ใครที่มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานมักจะทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน

• ใครที่มีความขัดแย้งกับหัวหน้างานมักจะทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญก้าวหน้าขององค์การ

• ใครคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และกำลังมีความโกรธเป็นเจ้าเรือนมักจะชอบกำกับการความขัดแย้งกับหัวหน้ากับการทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญขององค์การ

• ใครคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและมีความโกรธมักจะชอบกำกับการความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานกับการทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญของเพื่อนร่วมงาน

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผมหลังจากได้อ่านวิจัยของประภาพิมพ์ จรัลรัตนกุลจบแล้ว ผมคิดขยายความต่อไปว่า (ถ้าวิจัยนี้ถูกทำซ้ำจนได้ข้อสรุปอย่างเดียวกันนี้อย่างชัดเจนแล้ว)

คุณผู้อ่านคงพอเห็นอะไรลางๆ แล้วนะครับว่า ถ้าในสังคมส่วนรวม ในองค์การ หรือในบริษัท เกิดมีคนหลงตัวเอง แล้วคนนี้ถูกทำให้โกรธ เขาจะคอยกำกับการ (ชักใย) ความขัดแย้ง ที่เขามีกับหัวหน้าของเขา และจะทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญของสังคม องค์การหรือบริษัทไปด้วย

นอกจากนั้นคนหลงตัวเองยังกำกับการความขัดแย้งที่เขามีอยู่กับเพื่อนร่วมงานและทำพฤติกรรมถ่วงความเจริญของเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน
คุณผู้อ่านคงมองเห็นแล้วนะครับว่า ทำไมสังคมใด องค์การใด บริษัทใด มีคนหลงตัวเองแล้วกำลังโกรธจึงไม่ก้าวหน้า

เพราะว่าคนหลงตัวเองนั้นจะคอยทำแต่พฤติกรรมถ่วงความเจริญทั้งต่อสังคมส่วนรวมและต่อเพื่อนร่วมสังคมนั้นด้วย

ถ้าเป็นสังคมระดับประเทศเขาจะคอยสร้างเหตุการณ์มิให้ประเทศสงบ เราอาจจะเดาได้ว่า เขาอาจจะคิดว่า เมื่อสังคมสงบ คนจะไม่คิดถึงเขา ไม่พูดถึงเขา ไม่กล่าวชมเชยผลงานที่เขาเคยทำให้ประเทศ เขาจะกลายเป็นคนที่ประชาชนลืม ทั้งที่เคยเทใจให้เขาอย่างมากมาย

เมื่อประเทศสงบ ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ประเทศย่อมมีความเจริญก้าวหน้า ผู้นำคนใหม่จะได้รับอานิสงส์แห่งคำชมเชย ชื่อเขาจะค่อยเลือนหายไป

การต้องอยู่กับตนเองนานๆ อาจจะทำให้เขาหมกมุ่นครุ่นคิดแต่ตนเองหนักกว่าเดิม คนธรรมดายิ่งคิดย่อมจะยิ่งโกรธ โกรธไม่ว่าจะเป็นใครที่ทำให้ตนเองหลุดจากอำนาจหน้าที่ ซึ่งทำให้ตนเองได้รับแต่ความชื่นชมว่า คนเก่ง คนประสบความสำเร็จ

เขาอาจจะต้องกระทำอะไรซึ่งเขาคิดว่ามันต้องเรียกร้องความเก่ง ความดัง ความสำเร็จให้กลับมาสู่ตัวเขาอีก

เพียงแต่สิ่งที่เขากระทำนั้นมักจะเป็น พฤติกรรมถ่วงความเจริญของสังคม หรือองค์การ หรือประเทศก็ตาม

ขอจบท้ายด้วยคำนิยามที่คุณผู้อ่านอาจจะลองเทียบเคียงกับใครคนนั้นที่เห็นลางๆ ดูก็แล้วกัน ประภาพิมพ์ จรัลรัตนกุลได้ให้คำนิยามคนหลงตัวเองไว้ว่า

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง หมายถึงลักษณะของบุคคลที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินจริง คิดว่าตนมีความพิเศษกว่าผู้อื่นเกินจริง หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันถึงความสำเร็จ อำนาจ ความงาม ความรักในอุดมคติ ต้องการได้รับความสนใจและชื่นชมจากผู้อื่นมากกว่าปกติ เชื่อว่าตนสมควรได้รับสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น เพิกเฉยขาดอารมณ์ร่วม ขี้อิจฉา คิดว่าผู้อื่นอิจฉาตน หยิ่งยโส มักดูหมิ่นผู้อื่น และมีปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่น แบ่งเป็น 2 แบบ

1.บุคลิกภาพแบบหลงตนเองแบบแสดงออก มีลักษณะการแสดงออก 7 ด้านคือ การแสดงอำนาจ ความสามารถในการพึ่งตนเอง ความเหนือกว่า การชอบแสดงออก การแสวงหาผลประโยชน์ การทะนงตน และการสมควรได้มากกว่าที่เป็นอยู่

2.บุคลิกภาพหลงตนเองที่หวั่นไหวมากกว่าปกติ หมายถึงลักษณะของบุคคลที่มีความรู้สึกไวต่อปฏิกิริยาของผู้อื่นมาก วิตกกังวลระแวงว่าผู้อื่นจะปฏิเสธ ทอดทิ้ง หรือกำลังพูดถึงตน เมื่อถูกวิจารณ์หรือตำหนิเพียงเล็กน้อยจะเจ็บปวดมาก และสนใจภาพลักษณ์ของตนมากเกินไป ชอบสร้างภาพลวงตาทางบวกเกี่ยวกับตน

คราวนี้คุณผู้อ่านคงพอเห็นภาพใครสักคนลางๆ แล้วนะครับว่า คนผู้นี้มีลักษณะหลายประการที่ต้องตามคำนิยามนี้ ขอยกตัวอย่างคำพูดที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ นิตยสารชื่อ CEO Middle East ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2551 (เหยี่ยวถลาลม มติชน ฉบับ 6 ม.ค. 2552 หน้า 12) เขาว่าดังนี้

ขณะนี้ประเทศกำลังตกต่ำมาก ผู้คนไร้ความเชื่อมั่นในประเทศไทย ผมสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนให้ไทยได้อย่างรวดเร็ว เราต้องหาทางที่จะให้ผมกลับประเทศให้ได้

ถ้าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากผม ผมก็จะกลับไป ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกว่าผมเป็นประโยชน์ ผมก็จะกลับไป โดยพระองค์อาจจะพระราชทานอภัยโทษให้ผม

อ่านคำให้สัมภาษณ์แล้วรู้สึกว่า เข้ากับนิยามบุคลิกภาพหลงตัวเองได้ดี
คนผู้นี้มักจะถูกเอ่ยอ้างถึงเสมอว่า อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เขาเป็นคนกำกับการเคลื่อนไหวด้วยทรัพย์สินเงินทองที่เขามีมากมายมหาศาลจากเล่ห์กลบังตาซุกในนามคนโน้น ซ่อนในนามคนนี้จนตามไม่ทัน ทำให้ดูเหมือนว่าการได้ทรัพย์สินมานั้นถูกต้อง

บังเอิญค่านิยมของคนไทยเองก็สอดรับกันพอดีด้วย หลักฐานจากการสำรวจของสำนักสำรวจความคิดเห็นแห่งหนึ่งได้เคยรายงานว่า คนไทยจำนวนมากมีความเห็นว่า รับได้กับคนทุจริตถ้าหากว่าเขาเก่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า เพราะนโยบายการแจกของเขานั้น คนรากหญ้าได้ไปด้วย แต่ไม่ทันคิดว่า เงินมันหมุนกลับคืนไปในกิจการของเขาและพวก

ดังนั้นคนไทยจำนวนหนึ่งจึงพร่ำเรียกหา ประหนึ่งว่าขาดเขาไปแล้ว ประเทศไทยจะต้องหายไปจากแผนที่โลก ถ้าใครเป็นคนที่ถูกพร่ำเรียกหาคนนั้น แน่นอนว่าย่อมต้องยิ่งคิดว่าตนเองดี เก่ง เป็นที่ต้องการ ยิ่งหลงตัวเองมากขึ้นไปอีก

ผมว่าความยุ่งยาก ความรุนแรง ความไม่สงบ การถ่วงความเจริญของประเทศ คงจะเป็นปัญหาของประเทศไทยไปอีกนาน เพราะบังเอิญเรามีคนหลงตัวเองที่มีทรัพย์มหาศาลที่สามารถใช้หว่านให้คนไทยจำนวนหนึ่งไปจุดไฟแห่งความยุ่งยาก รุนแรง ไม่สงบได้อีกนาน เขาสามารถกำกับการความขัดแย้งในประเทศได้อีกนาน

เพียงแต่ว่า ยิ่งยาวนานเท่าไร ประเทศไทยยิ่งถูกถ่วงความเจริญไปยาวนานเท่านั้นครับ

ในฐานะคนไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจวาสนาอะไร ผมสงสารประเทศไทยจริงๆ ขอช่วยบ้านเมืองด้วยการเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้แหละครับ




 

Create Date : 11 มกราคม 2552   
Last Update : 11 มกราคม 2552 20:11:41 น.   
Counter : 788 Pageviews.  


การจัดการกับความประทับใจ (Impression Management): บทเรียนสำหรับนักบริหาร

ในช่วงปี 2490 - 2530 ดาราตลกที่ประสบความสำเร็จโด่งดังที่สุดของเมืองไทยน่าจะได้แก่ล้อต๊อก หรือชื่อจริงว่า สวง ทรัพย์สำรวย สิ่งที่ผู้คนเป็นจำนวนมากไม่ค่อยได้ทราบคือ ภรรยาสุดที่รักของท่านคือ คุณสมจิต ทรัพย์สำรวย ดาราหญิงแสนสวยที่สวมบทบาทของนางเอกมานาน พอใครรู้ว่าคุณสมจิต เป็นภรรยาล้อต๊อก ทุกคนจะแปลกใจ เนื่องจากล้อต๊อกเป็นผู้ชายที่หน้าตาไม่หล่อแถมยังออกทะเล้นด้วย

การจีบคุณสมจิต ทรัพย์สำรวยของคุณล้อต๊อกนั้นมีเทคนิคหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่ดูไปแล้วน่ารักและเข้ากับบทความที่ผมกำลังจะเสนอพอดี
เทคนิคการจีบอย่างหนึ่งของล้อต๊อกคือ เขาจะไปยืนที่เสาไฟฟ้าข้างบ้านของคุณสมจิตตั้งแต่ทุ่มหนึ่งจนคุณสมจิตเข้านอน ไฟฟ้าในห้องดับแล้วจึงจะไปเที่ยวต่อ พอใกล้ตีสี่ คุณล้อต๊อกจะกลับมายืนที่เสาไฟฟ้าที่เดิม เพื่อให้คุณสมจิตตื่นนอนเปิดหน้าต่างแล้วจะเห็นว่ายืนอยู่ทั้งคืน ทำอย่างนี้อยู่หลายเดือน จนคุณสมจิตเห็นใจยอมรับรัก

ทั้งคู่ได้แต่งงานและมีชีวิตสมรสที่มีความสุขจนกระทั่งคุณสมจิต ทรัพย์สำรวยตายจากไป หลังจากนั้นอีกหลายปีล้อต๊อกจึงจะยอมแต่งงานใหม่
..............................................................................................

เทคนิคที่ยอดดาวตลกล้อต๊อกใช้จีบคุณสมจิตนี้ทางจิตวิทยาเราเรียกว่า การจัดการความประทับใจ (Impression Management) ซึ่งผมคิดว่าได้มีการนำเอามาใช้กันแพร่หลาย ไม่ใช่แต่วงการดารา นักร้องเท่านั้นแม้แต่ในวงการการเมืองของไทยก็ได้มีการริเริ่มนำเอามาใช้อย่างได้ผลโดยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของไทย

เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาดำรง พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาหลายอย่าง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเรียนรู้อย่างมากในแง่ของการนำเอาวิชาจิตวิทยาสังคมไปประยุกต์ใช้ในการเมืองได้อย่างเยี่ยมยอด บุคคลผู้นี้สามารถสร้างความประทับใจและครองใจผู้คนได้อย่างมากในเวลารวดเร็วด้วย

เราน่าจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์เหล่านื้ทางวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยา เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ของเรา

เมื่อบริหารประเทศอยู่นั้น อดีตนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างความฮือฮาในวงการสื่อเสมอด้วยการจัดรายการวิทยุทุกเช้าวันเสาร์ด้วยการบอกกล่าวถึงสิ่งที่ได้ทำสำเร็จ สิ่งที่กำลังจะทำ ทำให้ผู้คนเกิดความประทับใจอดีตนายกฯ ในความขยันทำงาน ความเก่ง

ในหมู่แม่บ้านต่างก็ประทับใจว่า อดีตนายกฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นรักครอบครัว เพราะจะได้ข้อมูลเสมอว่า รักและดูแลลูกเมียเป็นอย่างดี แม้จะมีงานมากมายแต่ก็ให้เวลากับครอบครัวเสมอ เช่น ไปร่วมงานกีฬาสีเล็กๆ ของลูกที่โรงเรียนมัธยม เขากล่าวยกย่องเสมอว่าภรรยานั้นเป็นคนสำคัญทำให้ตนเองมาได้ขนาดนี้

ในหมู่คนชาวบ้านยากจนนั้นก็ให้ข้อมูลอย่างชัดเจนด้วยการไปอาศัยนอนที่วัดในหมู่บ้าน หรือนอนบ้านกำนัน มีโทรทัศน์ถ่ายทอดภาพเหล่านั้นให้ผู้คนได้ชมทั้งประเทศ ทำให้เกิดความประทับใจว่า เข้าใจคนจน รู้จักคนจนดี ทำตัวใกล้ชิดกับชาวบ้านรากหญ้า

แม้แต่เมื่อถูกปฏิวัติต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ ครั้นเวลากลับมาก็ยังสามารถสร้างความประทับใจด้วยการตั้งใจให้ข้อมูลแก่ผู้คนทั้งประเทศว่า แผ่นดินไทยนั้นมีค่าสำหรับเขามากด้วยการก้มกราบแผ่นดินตรงประตูสนามบิน ซึ่งจะส่งข้อมูลภาพนี้ไปทั่วประเทศได้ผ่านหนังสือพิมพ์

แม้ภายหลังจะต้องคดีและต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศก็ยังสามารถส่งสัญญาณหรือข้อมูลในทางเสริมบารมีของตนเองว่าเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเพียงใดมาให้คนไทยได้รับรู้อย่างต่อเนื่องว่า ประเทศไทยทำไมไม่ต้องการคนเก่งคนดีระดับนานาชาติให้การยอมรับอย่างนี้

ที่เล่ามาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่อดีตนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้หลักการทางจิตวิทยาสังคมในการทำงานของเขา แต่ผมอยากวิเคราะห์จิตวิทยาสังคมที่อดีตนายกรัฐมนตรีนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่านักการเมืองทุกคนว่ามาจากแนวคิด การจัดการกับความประทับใจ (Impression Management)

นักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า การจัดการความประทับใจ (Impression Management) คือการที่คนเราใช้กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อไปสร้างความประทับใจต่อตนเอง ด้วยการออกแบบ ควบคุม จัดกระทำ หรือสร้างข้อมูลให้เข้าไปมีอิทธิพลทำให้บุคคลเป้าหมายเกิดความประทับใจต่อตนเองในทิศทางที่มีจุดมุ่งหมายตั้งไว้ก่อนแล้ว

โดยกระบวนการสร้างความประทับใจสามารถปรับเปลี่ยนหรือควบคุมความประทับใจที่บุคคลมีต่อตัวบุคคล (ตัวเรา, เพื่อน, ผู้บริหาร, ศัตรู ฯลฯ) ต่อวัตถุสิ่งของ เช่น ของขวัญ รถยนต์ สินค้าต่างๆ บริษัท หน่วยงาน และต่อเหตุการณ์ที่เป็นนามธรรม เช่น การปกครองระบบประชาธิปไตย ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ฯลฯ

เมื่อเกิดความประทับใจต่อสิ่งใดหรือบุคคลใดตามข้อมูลที่ได้รับแล้ว ข้อมูลที่จัดกระทำไว้นี้จะมีอิทธิพลต่อคนเราให้ตอบสนองต่อสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นไปในทิศทางของข้อมูลการรับรู้ที่ตนเองประทับใจนั้น

คราวนี้ไม่ได้ตอบสนองตามข้อมูลที่ถูกจัดรูปแบบมาแล้วอย่างเดียว แต่จะแฝงด้วยความรู้สึกรัก ชอบ หลง ไปด้วย

ในทางการตลาดเรียกว่า การสร้างภาพลักษณ์ (Image Making) หรือการสร้างความภักดีให้แบรนด์ (Brand Loyalty)

ดังนั้นคนไทยส่วนมากจึงยอมรับในความเก่ง ความขยันทำงานของอดีตนายกฯ ทักษิณ

แม่บ้านส่วนใหญ่จึงชื่นชมอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ชายที่น่ายกย่องในความรักความเสียสละต่อครอบครัว

คนจนจำนวนมากจึงหลงใหลและประทับใจในตัวอดีตนายกฯ ว่า เป็นคนเห็นอกเห็นใจคนจน ไม่เหมือนกับผู้นำประเทศในยุคก่อนหน้านั้นที่อยู่ไกลห่างจากคนจน

อดีตนายกรัฐมนตรีฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความประทับใจไปทั่ว ในหลายกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแท็กซี่ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้ประกอบการเล็ก กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มวัยรุ่น ฯลฯ และกลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงการตอบสนองความประทับใจต่อเขาด้วยการไปร่วมรายการความจริงวันนี้อย่างมากมายเต็มสนามกีฬาราชมงคล ด้วยความรู้สึกสงสาร หลงใหล รัก เทิดทูน ดังที่จะเห็นได้จากการแสดงออกในจอโทรทัศน์

ดังนั้นเรื่องการสร้างความประทับใจ (Impression Management) จึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ ผู้สนใจ ผู้อยากทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ควรต้องศึกษา

ผมจะขอกล่าวอย่างง่ายๆ เป็นข้อสรุปว่า การสร้างความประทับใจคือ การที่บุคคลจัดกระทำกับข้อมูล ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งข้อมูลที่ได้รับการออกแบบจัดกระทำนี้ไปสู่บุคคลที่เป็นเป้าหมายให้ได้รับทราบแล้วเกิดความประทับใจต่อตนเอง อันจะนำไปสู่การควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป้าหมายให้ปฏิบัติต่อตนเองในแนวทางที่ตนเองอยากให้เป็น

คำว่าการจัดการความประทับใจจึงมักจะหนีไม่พ้นที่จะไปคู่กับคำว่า การชักใย ควบคุมความคิดและการกระทำหรือ Manipulation ในภาษาอังกฤษ

ทำไมจึงควรจะรู้จักและเข้าใจเรื่องการสร้างความประทับใจ
ในวงสนทนามักจะมีคำกล่าวกันว่า อดีตนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักสร้างภาพตัวฉกาจ ผมคิดว่า ถ้าจะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ใครบ้างไม่สร้างภาพครับ

แม้แต่ผู้อ่านซึ่งกำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็เป็นนักสร้างภาพเหมือนกัน ผมขอยืนยันว่า ทุกคนเป็นนักสร้างภาพทั้งนั้น เพราะในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งเหล่านี้เราได้ทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในทุกสังคม

ลองคิดดูว่า ถ้าผู้หญิง ผู้ชายที่กำลังจีบกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างบอกข้อมูลของตนอย่างไม่จัดกระทำให้เหมาะสม ความสัมพันธ์จะก้าวหน้าถึงขั้นที่จะได้แต่งงานกันหรือ

ถ้าฝ่ายหญิงรู้ข้อมูลว่า ผู้ชายคนนี้กำลังจีบผู้หญิงอื่นอีกหลายคน เคยมีเมียมาแล้ว และยังจดทะเบียนกันอยู่ ฝ่ายหญิงจะสานสัมพันธ์ต่อไปอีกหรือ
และถ้าระหว่างรับประทานอาหารกัน ฝ่ายชายสังเกตเห็นผู้หญิงที่กำลังจีบอยู่แอบเรอทีเผลอ เขายังจะเห็นว่าน่ารักอยู่หรือไม่

คู่รักทุกคู่จึงต้องพยายามสร้างความประทับใจให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้แต่ข้อมูลด้านดีของตนเอง นี่ก็เป็นการสร้างภาพนั่นเอง

ทั้งคู่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง คือการได้รับการยอมรับ และเพื่อให้ถูกรัก ถูกชอบ

กิจกรรมการควบคุมข้อมูลเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความประทับใจต่อตนเองนั้น คนเราทำในสถานการณ์อื่นด้วยทั้งนั้น เช่น นักเรียนสร้างภาพกับครู นักหลอกต้มสร้างภาพกับเหยื่อ นักธุรกิจสร้างภาพกับคู่ค้า เจ้าของสินค้าสร้างภาพสินค้ากับคนซื้อ

แต่ในวงการดารา หรือนักร้องน่าจะเป็นแวดวงที่มีการสร้างภาพให้เกิดความประทับใจมากที่สุด ตัวอย่างที่ทำกันจนรู้ไต๋กันไปหมด แต่ก็ยังใช้มุขเดิมไม่ยอมปรับปรุงสักทีคือ การโปรโมทความรักของคู่พระนางในละครให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อเรียกเรตติ้ง (Rating)

เห็นมั้ยครับว่า ทุกหนทุกแห่งที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน คนเรามีการจัดการความประทับใจหรือสร้างภาพกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

เพียงแต่อดีตนายกฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นทำได้อย่างเป็นระบบและทำอย่างมีหลักวิชาทางการตลาด กล่าวคือ การแยกกลุ่มตลาด (Market Segmentation) แล้วสร้างภาพลักษณ์(Brand Image) ที่ตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละกลุ่ม และริเริ่มนำมาใช้กับการเมืองการบริหาร
นักการเมืองอื่นๆ ตามไม่ทัน ได้แต่นินทา ทั้งที่ตนเองก็ทำอยู่เป็นปกติวิสัยเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ทำอย่างมีหลักวิชาการ ไม่ได้เห็นความสำคัญอย่างที่อดีตนายกฯ เห็นและทำ แต่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จึงได้ผลประทับใจผู้คนเทียบกับอดีตนายกฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้

ประวัติของการศึกษาวิจัยทฤษฎีการสร้างความประทับใจ

มหากวีอย่างเช็คสเปียร์เคยแต่งบทกวีซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงแปลได้อย่างไพเราะเหลือเกินว่า โลกนี้เปรียบเหมือนละครโรงใหญ่ ชายหญิงไซร้เปรียบเหมือนตัวละครนั่น ด้วยแนวคิดเดียวกันกับเชคสเปียร์นักสังคมวิทยาชื่อ เออวิ่ง กัฟแมน (Erving Goffman) ได้เขียนหนังสือชื่อ The Presentation of Self in Everyday life เมื่อ ปี ค.ศ.1959 โดยอาศัยวิธีการเปรียบเทียบกับละคร (Dramaturgical Analogy) ตามแนวทางของเชคสเปียร์ที่ได้กล่าวไว้

กัฟแมนเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนเรานั้นเหมือนการเล่นละคร ที่บุคคลแต่ละคนต้องแสดงพฤติกรรมต่อกันไปตามบทบาท (Social Role) และกฎเกณฑ์ (Rule) เขาเห็นว่า

“ตราบใดที่บุคคลปรากฏกายต่อหน้าคนอื่น เขาจะต้องสร้างกิจกรรมที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองให้ดูเป็นที่น่าประทับใจของผู้คนอื่นๆ เหล่านั้น เพื่อผลประโยชน์ที่เขาต้องการ ”

คำถามที่ต้องค้นคว้าต่อไปให้ละเอียดมีอยู่หลายประเด็น ซึ่งนักจิตวิทยาสังคมได้ศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความประทับใจ เช่น

1. ทำไมคนเราจึงต้องจัดการความประทับใจ คนเราต้องจัดการความประทับใจเพราะมันเป็นเหมือนสะพานไปสู่การยอมรับและผลลัพธ์ที่มีคุณค่าสูงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลลัพธ์ทางเศรษฐทรัพย์ ตำแหน่ง หรือนามธรรมอย่างเรื่องความเคารพ ฯลฯ มันเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอันแฝงอยู่ในโครงสร้างที่แท้จริงของการมีชีวิตในสังคม

ที่ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญเพราะว่า ก่อนที่จะเข้าสู่ปฏิสัมพันธ์ใดๆ คนเราต้องทำความเข้าใจสถานการณ์นั้นว่าใครจะแสดงบทบาทอะไร และความประทับใจที่บุคคลมีต่ออัตลักษณ์(Indentity) ประจำบทบาทจะทำหน้าที่เป็นตัวสื่อสารอัตลักษณ์ที่พึงปรารถนาไปสู่กันและกัน ถ้าใครได้รับบทบาทอะไรบุคคลนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของบทบาทนั้น ด้วยกระบวนการอย่างนี้จึงทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น

ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เช่นว่า ในสถานการณ์ของการทำงาน หัวหน้าต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อง ทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำความเข้าใจในบทบาทของตนเองและของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในบทบาทของตนนั้นแต่ละฝ่ายต่างสอดใส่อัตลักษณ์ (Identity) ที่พึงปรารถนาของตนลงไปด้วย เพื่อที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับตนด้วยการปฏิบัติต่อตนตามอัตลักษณ์นั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นหัวหน้าต้องทำให้ลูกน้องประทับใจในอัตลักษณ์ว่า ใจดี ตัดสินใจเร็ว เก่ง ซึ่งข้อมูลจากอัตลักษณ์อย่างนี้จะไปควบคุมการแสดงออกในปฏิสัมพันธ์ต่อหัวหน้าในทิศทางนี้ด้วย นั่นหมายความว่า เมื่อลูกน้องมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจในการทำงาน เขาจะไม่รอช้าที่จะมาขอคำปรึกษาจากหัวหน้า เพราะเขารู้ว่า หัวหน้าใจดี เก่ง ตัดสินใจเร็ว การกระทำของลูกน้องนั้นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของนายที่สื่อออกมาสู่ลูกน้อง

ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้ว ผมคิดว่าอยากแนะนำให้หญิงสาวที่ยอมออกนัดไปทานอาหารค่ำกับชายหนุ่มว่า เครื่องดื่มที่ควรสั่งคือ น้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือน้ำส้ม น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะไปทำให้ชายหนุ่มเกิดความประทับใจในอัตลักษณ์ของเราว่า น่ารัก ไร้เดียงสา ซึ่งจะทำให้เขาปฏิบัติต่อเราไปในแนวทางนั้นด้วยความห่วงใย ประคับประคอง ดูแล
ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสั่งไวน์ เบียร์ หรือเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้เกิดความประทับใจในอัตลักษณ์ว่า เป็นไก่แก่ ประสบการณ์มาก ผ่านโลกมาช่ำชอง อันจะมีผลให้เขาปฏิบัติต่อเราไปในแนวทางดังกล่าวอีกเหมือนกันคือ อาจจะรุกรานทางกายเร็วขึ้น อาจจะวางแผนพาเราไปในที่อันไม่สมควรสำหรับผู้หญิง

กล่าวอย่างสรุป การสร้างความประทับใจนั้นเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ทุกคนทำเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นยังประโยชน์แก่ตนเองในแง่ที่ตนเองต้องการ

2. ภาพลักษณ์อะไรที่ผู้คนพยายามสร้างขึ้นมาหรือป้องกันไว้ ด้วยเหตุว่าการจัดการความประทับใจนั้นนักจิตวิทยาสังคมได้ศึกษาวิจัยในเชิงบุคคลกระทำเองเรียกว่า การเสนอตนเอง (Self-presentation) ซึ่งได้พบว่า ส่วนมากคนเราเสนอตนเองไม่เพียงแต่ด้านบวก เพื่อให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบเท่านั้น แต่บางที่เสนอตนเองด้านลบเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เช่น หัวหน้าที่เสนอตนเองด้านความดุ ข่มขู่ ลงโทษ คนงาน เพื่อให้ทำงานได้ผลิตภาพมากๆ

แสดงว่าการเสนอภาพลักษณ์ของคนเราทำกันทั้งด้านบวกและลบ แล้วแต่ประโยชน์ที่จะได้จากการเสนอภาพลักษณ์มากกว่า

ดังนั้นภาพลักษณ์อะไรที่คนเราจะเสนอตนเองออกไปจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากนัก สิ่งสำคัญมากกว่านั้นน่าจะเป็น วิธีการที่เสนอภาพลักษณ์ของตนเองออกไปมากกว่า

หลักการสำคัญสำหรับการเสนอตนเองให้ได้ประสิทธิผลดีนั้นมีเพียง 2 ประเด็นคือ
• เสนอตนเองด้วยข้อมูลที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด
• ข้อมูลที่เสนอนั้นต้องน่าเชื่อถือ ข้อมูลที่ขัดแย้งต้องซ่อนให้มิดชิด

ในประเด็นที่สองนั้นถือว่าสำคัญ เพราะคนในสังคมใดก็เหมือนกันหมดทุกแห่งว่า ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความสอดคล้องกันระหว่าง การกระทำที่ปรากฏต่อสาธารณะกับอัตลักษณ์ที่อยู่ภายในตนเอง (คล้ายกับว่า ใจเป็นอย่างไร ปากก็สะท้อนความคิดในใจตรงกัน)

ดังนั้นทุกสังคมจึงมีบรรทัดฐานเหมือนกันว่า ยอมรับและยกย่องคนที่มีความสอดคล้องกันระหว่างการกระทำที่แสดงออกมากับความเป็นจริงที่สื่อสารให้ผู้คนทราบ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ที่แสดงออกมาให้คนอื่นรับรู้นั้นเป็นของจริงหรือไม่ และไม่ยอมรับคนที่สื่อสารออกมาหลอกให้รับรู้ว่าดี แต่แอบกระทำตรงกันข้ามกับที่สื่อสารออกมา

เรื่องเล่าสนุกๆ อย่างนี้มิได้มีแต่ในวงสนทนาเล่นๆ แต่มีในชีวิตจริงด้วย
ในชีวิตจริงจะเห็นได้จากดาราหญิงที่ประชาชนเกิดความประทับใจต่ออัตลักษณ์ของเธอซึ่งได้สื่อสารออกมาเป็นเวลาหลายปีว่า เป็นตัวแทนหญิงไทยที่มีเกียรติ ความประพฤติดี เป็นน้องเป็นลูกที่ดี เมื่อมีข้อมูลไม่สอดคล้องกันโผล่มาในสังคมว่า เธอท้องทั้งที่ไม่ได้แต่งงาน ความประทับใจที่มีต่อเธอของประชาชนก็เสื่อมไป เพราะอัตลักษณ์ที่เธอได้รับการปั้นขึ้นมาไม่สอดคล้องกับความจริง ประชาชนรู้สึกว่าถูกหลอกจึงแปรความรักที่มีต่อเธอกลายเป็นความแค้น

ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับอดีตนายกฯ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหมือนกัน แม้จะสร้างความประทับใจในอัตลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่เก่ง มีความสามารถ ร่ำรวยไม่จำเป็นต้องโกง ไว้ได้ในหลายกลุ่ม แต่เมื่อคนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครได้รับทราบข้อมูลการขายหุ้นที่สิงคโปร์เป็นจำนวนเงินมหาศาลของเขาโดยเลี่ยงการเสียภาษี เป็นเหตุสำคัญที่จุดชนวนชอบกลายเป็นชังจนกระทั่งกลายเป็นความไม่ไว้ใจในความซื่อสัตย์ในการบริหารประเทศของเขา จนต้องออกไปอยู่นอกประเทศในที่สุด

3. การจัดการกับความประทับใจสร้างภาพลักษณ์แห่งความจริงใจได้หรือไม่ ดูเหมือนว่าเท่าที่ผมได้เขียนมาจนถึงบัดนี้นั้น การเสนอตนเอง (Self-presentation) ดูจะไม่จริงใจเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ถ้าหากว่าบุคคลเสนอตนเองอย่างที่สอดคล้องกับความคิดความรู้สึกที่แท้จริงภายใน ถือว่ามีความจริงใจ แม้ว่าสิ่งที่เสนอไปอาจจะไม่ใช่เรื่องดีในสายตาคนอื่น

ในมุมมองอีกด้านหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงคือ นักวิจัยเรื่องการสร้างความประทับใจได้พบจากการวิจัยเป็นข้อสรุปที่น่าสนใจว่า คนเรานั้นเมื่อได้เสนอตนเองไปสู่สาธารณะอย่างไร ภายหลังมักจะพยายามปรับความรู้สึกและความคิดของตนเองให้เป็นไปตามการเสนอตนเองนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันขึ้นระหว่างความประทับใจที่สังคมมีต่อตนเองกับความคิด ความรู้สึกและทัศนคติภายในของตนเอง

ดังนั้นผู้ที่อยากให้ใครเปลี่ยนความคิด หรือทัศนคติภายในของผู้อื่น อาจจะต้องหาทางให้ผู้นั้นได้ทำอะไรออกมาสู่สังคม ให้สังคมได้รับรู้ว่าอัตลักษณ์ของเขาเป็นอย่างนั้น เช่น พ่อแม่อาจจะส่งเสริมให้ลูกได้เล่นกีฬาหรือดนตรีตั้งแต่ยังไม่เข้าวัยรุ่น เพื่อให้เขาได้แสดงตนเองอย่างนั้น (แม้ว่าเขายังไม่ชัดเจนกับตนเองในด้านนั้นก็ตาม) เป็นอัตลักษณ์ของเขาที่ทำให้คนใกล้ชิดประทับใจ อย่างนี้มีความเป็นไปได้ว่า ลูกจะปรับความคิด ความรู้สึก และทัศนคติมาชอบกีฬาหรือดนตรีอย่างแท้จริงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ที่สังคมรับทราบเกี่ยวกับตนเอง

หมายความว่า ยิ่งคนเราได้แสดงตนเองต่อสังคมในสถานการณ์หนึ่งๆ ว่าความคิด ความรู้สึก ทัศนคติของตนเป็นอย่างไร เขาผู้นั้นจะยิ่งปรับความคิด ความรู้สึก และทัศนคติของเขาให้เป็นไปตามนั้นเข้มข้นไปทุกที

คนที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดๆ ในครั้งแรกๆ ไม่ว่าจะไปร่วมกับฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายเสื้อเหลือง อาจจะไปกับเพื่อนฝูงไม่ได้คิดอะไรมากนัก แต่จะกลายเป็นอัตลักษณ์ที่ทำให้สังคมทราบความเห็นทางการเมือง นานเข้าอาจจะต้องไปบ่อยขึ้น และแสวงหาข้อมูลของฝ่ายที่ตนไปร่วมมากขึ้น ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติทางการเมืองจะปรับเปลี่ยนไปในทางเข้มข้นมากขึ้นกับฝ่ายที่ตนไปร่วมมากขึ้นทุกที เพื่อให้สอดคล้องกันระหว่างอัตลักษณ์ที่เสนอตนเองออกไปสู่สายตาคนอื่นๆ กับความคิดเห็นภายในตัวเองจริงๆ

สรุปประเด็นในการนำไปใช้ประโยชน์

การจัดการความประทับใจเปรียบสถานการณ์ในชีวิตเหมือนการเล่นละคร ทุกคนมีบทบาทแสดงตามท้องเรื่อง และต้องแสดงให้สมบทบาท คือต้องสื่อสารออกไปให้ผู้ชมรู้ว่า มีตัวตนหรืออัตลักษณ์อะไร

การจัดการความประทับใจเป็นกิจกรรมปกติที่มนุษย์ทุกคนต้องการสื่อสารอัตลักษณ์ของตน ด้วยการเสนอตนเอง (Self-presentation) จัดกระทำ ตกแต่ง ตัดต่อข้อมูล เพื่อให้บุคคลอื่นที่ตนมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้รับข้อมูลอย่างที่ตนต้องการ จะได้ประทับใจกับข้อมูลนั้น และข้อมูลที่ว่าจะมีอิทธิพลไปทำให้เขาปฏิบัติตนต่อเราตามนั้น

มนุษย์เราจัดการความประทับใจให้เกิดแก่ตนเองเพื่อที่จะได้รับประโยชน์คือ การยอมรับและประโยชน์ทางเศรษฐทรัพย์

มนุษย์ผู้ที่ไม่ทำการเสนอตนเอง (Self-presentation) มีแต่ผู้บรรลุอรหัตผลเท่านั้น เพราะผู้บรรลุสถานะอย่างนั้น ไม่มีอัตตาแล้ว ไม่มีตัณหา มานะ และทิฐิแล้ว

ในเมื่อทุกคนต้องทำอยู่แล้วตามธรรมชาติ เราต้องทำให้ได้ผลดี

สิ่งสำคัญที่ควรยึดเป็นหลักการทำคือ ต้องจัดการกับความประทับใจให้เหมาะสมกับบทบาทในสถานการณ์ของตน เช่น

ในสถานการณ์ครอบครัว พ่อ แม่ ควรเสนอตนเอง (Self-presentation) ให้ชัดเจนแก่ลูกอย่างถูกต้องตามบทบาทพ่อแม่ที่ตนเองอยากให้เป็น เพื่อให้ลูกยอมรับและปฏิบัติตนต่อพ่อแม่ตามภาพที่พ่อแม่เสนอนั้น ภาพลักษณ์ของพ่อแม่นั้นต้องสอดคล้องกับการแสดงออกของพ่อแม่อย่างแท้จริง

พ่อที่เสนออัตลักษณ์ให้ลูกรับรู้ว่า พ่อเป็นคนใส่ใจกับการเรียนรู้ พ่อต้องแสดงออกให้ลูกเห็นว่า อ่านหนังสือให้ลูกเห็นเสมอ พ่อพาลูกไปห้องสมุด พ่อพาไปงานสัปดาห์หนังสือ พ่อติดตามเทคโนโลยี ฯลฯ
แม่ ครู หัวหน้า ฯลฯ ต่างก็ต้องเสนออัตลักษณ์ของตนเองทั้งนั้น
อีกประเด็นหนึ่งคือ การจัดการความประทับใจทำให้ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปตามการแสดงบทบาทออกไปภายนอกของคนเราทำให้ผู้อื่นรับรู้

วิธีเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ทัศนคติของคนจึงต้องกระตุ้นให้เขาได้แสดงพฤติกรรมออกไปให้สังคมรับรู้ โดยที่พฤติกรรมนั้นสะท้อนความคิดและทัศนคติที่พึงปรารถนาที่ต้องการให้เขาเป็น

ผู้เขียนทั้งสองได้เคยลองนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริหารงานของเรา ทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น น.พ. สุทธิศักดิ์ คณาปราชญ์ ผู้เขียนที่สองได้เสนอเป็นหลักปฏิบัติว่า PAVE ซึ่งย่อมาจาก
• Publicly Known ต้องกระตุ้นให้บุคคลเป้าหมายกระทำพฤติกรรมพึงประสงค์ออกไปสู่สายตาของคนรอบข้าง
• Affirmative ต้องให้บุคคลเป้าหมายกระทำพฤติกรรมทำนองนั้นหลายครั้งไปในทิศทางเดียวกัน
• Voluntary บุคคลเป้าหมายต้องกระทำพฤติกรรมพึงประสงค์นั้นโดยรู้สึกว่าอาสาทำเอง ไม่มีใครมาบังคับให้ทำ
• Effort บุคคลเป้าหมายต้องใช้ความพยายามพอควรที่จะกระทำพฤติกรรมพึงประสงค์นั้น ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ

ถ้าใช้แนวทาง PAVE แล้ว บุคคลเป้าหมายนอกจากจะกระทำพฤติกรรมพึงประสงค์นั้นแล้วยังจะปรับความคิด ค่านิยม ทัศนคติของตนให้สอดรับไปในทางเดียวกันกับพฤติกรรมพึงประสงค์นั้นด้วย

เมื่อหัวหน้าได้ลูกน้องคนใหม่เข้ามาในแผนก หัวหน้าควรถือจังหวะนี้ ส่งเสริม สอนแนะ (Coaching) ให้ลูกน้องคนใหม่ปฏิบัติงานในแนวทางที่เป็นค่านิยมที่บริษัทต้องการออกสู่สายตาของสังคมรอบข้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานอย่างนั้นเป็นตัวปรับค่านิยม ความคิด ทัศนคติจริงๆ ภายในของเขาให้สอดคล้องกับการแสดงออกในการทำงานของเขา

ผลการวิจัยในจิตวิทยาอุตสาหกรรมได้ผลชัดเจนเป็นการสนับสนุนข้อเสนอในย่อหน้าที่ผ่านมาว่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาแล้วได้รับการสอนแนะจากหัวหน้าในปีแรก จะทำงานได้ประสิทธิผลดีกว่า มีทัศนคติต่องาน และต่อบริษัทดีกว่า มีความก้าวหน้าในตำแหน่งการงานดีกว่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาแล้วไม่ได้โอกาสอย่างนี้




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2551   
Last Update : 21 ธันวาคม 2551 1:04:44 น.   
Counter : 5832 Pageviews.  


ความสมปรารถนาแห่งการทำนาย (Self-fulfilling Prophecy) หรือผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion Effect) ต่อพฤ

มีเรื่องที่นักจิตวิทยาศึกษาวิจัยเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมให้คนทั่วไปได้เข้าใจเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่เรื่องคำสาปของพ่อมดหมอผีวูดู (Voodoo) ที่นิยมนำมาเสนอกันในหนังผีของฝรั่ง

วูดูเป็นศาสนาที่นับถือกันมากในเฮติ มีส่วนผสมของคริสเตียน แบบโปรเทสแต้นต์ และ แคธอลิค หมอผีหรือนักบวชในศาสนาวูดูมักจะเป็นผู้มีอำนาจสูงมาก ได้มีบันทึกของนักจิตวิทยาที่ไปสังเกตการณ์ว่า นักบวชวูดูยกไม้ชี้ไปที่ชายคนหนึ่ง ทันใดนั้นเขากรีดร้อง ล้มลงบิดตัวที่พื้นอย่างรุนแรง ไม่กี่นาทีต่อมาเขาควบคุมตัวเองได้ เอาแต่นั่งเฉย ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน จนกว่าหมอผีจะยกเลิกคำสาป และไม่ช้าเขาก็ตาย

เบื้องต้นนักจิตวิทยาสังคมเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แต่ต่อมากลับบอกว่ามีความเป็นไปได้ แต่ได้อธิบายว่า การที่เหยื่อที่ถูกสาปเชื่อถือศรัทธาในนักบวชมาก เมื่อโดนสาปจึงตกใจมาก หดหู่มาก เขาเชื่ออย่างหมดใจว่า ชะตาชีวิตของเขาถูกควบคุมไว้แล้วโดยนักบวชผู้นั้น

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์กลัวอย่างสุดๆ แบบนี้มีผลอย่างแรงต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ประกอบกับการไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนจึงมีผลทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลวอย่างที่เรียกกันว่า ช๊อค (Shock) ซึ่งเป็นตัวทำลายการทำงานของหัวใจและสมอง บางทีมีความเข้มข้นน้อยก็อาจจะเพียงแค่เป็นลมไป แต่ถ้าเข้มข้นมากก็อาจจะถึงกับตาย

ในสงครามมักจะมีเรื่องแบบนี้เกิดกับทหารที่เกิดความกลัวมากๆ มีรายงานว่าทหารบางคนกลัวถึงขนาดล้มลง และช๊อคตายโดยไม่ได้โดนกระสุนของข้าศึกเลย

มีรายงานในเฮติเกี่ยวกับหญิงสาวผู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เธอและพี่สาวจะตายเพราะคำสาปที่ว่า พี่สาวคนโตจะตายก่อนวันเกิดอายุ 16 พี่สาวคนที่สองจะตายก่อนวันเกิดอายุ 21 และปรากฏว่าเป็นอย่างนั้นจริง ทั้งสองคนประสพอุบัติเหตุตายตรงกับคำสาป แต่สำหรับเธอนั้นถูกสาปให้ตายก่อนวันเกิดอายุ 23 ปี

ก่อนครบรอบวันเกิดอายุ 23 ปี เธอได้พยายามขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอย่างลนลานด้วยความกลัว และโรงพยาบาลได้รับเธอเป็นคนไข้ แม้ว่าเมื่อตรวจร่างกายเธอแล้วทุกอย่างเป็นปกติดี อย่างไรก็ตาม 2 วันก่อนที่จะถึงวันเกิด เธอก็ตายบนเตียงในโรงพยาบาลนั้นเอง

อาการที่คนเรามีความเชื่ออย่างผิดๆ แล้วทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามความเชื่อผิดๆ นั้นจริงตามความเชื่อ มีศัพท์ทางวิชาการจิตวิทยาเรียกว่า ความสมปรารถนาตามการทำนาย (Self-fulfilling Prophecy)

ในเวลาต่อมาได้มีการอธิบายในทางเป็นคุณต่อผู้คนด้วย ไม่ใช่แต่ทางร้ายเสมอไปดังตัวอย่างที่ได้ยกไปในตอนต้น เพื่อความเข้าใจประวัติที่มาของชื่อเรื่องของบทความ ผมขอเล่านิทานประกอบอีกสักเรื่องหนึ่ง

นิทานความนำ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วบนสวรรค์อันแสนสุขอันเป็นที่อาศัยของเทวดาทั้งหลายยังมีเทวดาหนุ่มน้อยองค์หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า พิกแมเลียน (Pygmalion) ผู้ซึ่งมีความสามารถในการปั้นรูปได้อย่างวิเศษเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง วันหนึ่งพิกแมเลียนเกิดแรงบันดาลใจขึ้น เธอจึงได้ปั้นรูปเทพธิดาองค์หนึ่งขึ้นมา รูปปั้นเทพธิดานี้สวยงามมาก มากเสียจนทำให้พิกแมเลียนอดใจไม่ได้ที่จะรักและหลงใหลอย่างไม่ลืมหูลืมตา เฝ้าแต่พูดคุยปรนนิบัติรูปปั้นนั้นปานประหนึ่งว่ามีชีวิตจริงๆ

บนสวรรค์ของชาวกรีกนั้นบรรดาเทวดาต่างก็คงไม่มีอะไรทำจึงได้ซุบซิบนินทาพิกแมเลียนจนกระทั่งรู้ไปถึงหูของซูส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ ทรงเห็นใจในความรักของพิกแมเลียน ท้าวเธอจึงได้เสกให้รูปปั้นนั้นให้มีชีวิตกลายเป็นเทพธิดาจริงๆ ทั้งสองเทพจึงได้แต่งงานอยู่กินกันอย่างเป็นสุขนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จากนิทานสู่บทละครและภาพยนตร์

นิทานเทพปกีรณัมของกรีกเรื่องนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่เขียนบทละครเรื่อง Pygmalion ขึ้นมา มีการนำไปแสดงเป็นละครเวที และ ในที่สุดได้มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งในตำนานแห่งการภาพยนตร์ขึ้นมาคือ My Fair Lady (บุษบาริมทาง) ดารานำแสดงคือออดรีย์ เฮพเบิร์น ซึ่งแสดงเป็นอีไลซ่า เด็กขายดอกไม้จากสลัมในลอนดอนซึ่งพูดภาษาคอกนีย์ของคนชั้นต่ำซึ่งถูกศาสตราจารย์ทางภาษาชื่อฮิกกินส์ แสดงโดยเรกซ์ แฮริสัน ผู้มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถที่จะฝึกสอนให้อีไลซ่าสามารถพูดภาษาอังกฤษและมีชีวิตความเป็นอยู่ได้แบบคนในสังคมไฮโซ เช่นเดียวกับการที่พิกแมเลียนปฏิบัติต่อรูปปั้นเหมือนกับว่ามีชีวิต แล้วในที่สุดรูปปั้นก็มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ

ในบทละครของชอว์ตอนหนึ่ง อีไลซ่า ดูลิตเติลตัวเอกของเรื่องได้กล่าวว่า " จริง ๆ นะ นอกเหนือไปจากสิ่งต่างๆ ที่คนเราจะหยิบฉวยมาใส่ตนเอง เช่น การแต่งตัว การพูดจา ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างเด็กขายดอกไม้กับคุณผู้หญิงสูงส่งไม่ได้อยู่ที่การกระทำของเธอเองหรอก แต่มันอยู่ที่เธอได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างอย่างไรต่างหาก สำหรับท่านศาสตราจารย์นั้น ฉันคงต้องเป็นเด็กขายดอกไม้เสมอ เพราะว่าท่านปฏิบัติต่อฉันอย่างกับเด็กขายดอกไม้ แต่สำหรับคุณนั้นฉันสามารถทำตัวเป็นสุภาพสตรีในสังคมชั้นสูงได้ก็ เพราะว่าคุณปฏิบัติต่อฉันอย่างนั้นมาตลอดเวลา และฉันคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป "

จากการทดลองทางจิตวิทยาและทางด้านอื่น

นักจิตวิทยาเชื่อในประโยคที่อีไลซ่าพูดเอาไว้มากทีเดียว เราเชื่อว่า ถ้าคนเรามีความคาดหวัง (Expectation) ต่อใครในทางใดก็ตาม ความคาดหวังนี้จะได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นการปฏิบัติต่อเขา ซึ่งเขาจะเรียนรู้ความคาดหวังของเราจากวิธีการปฏิบัติที่เราทำต่อเขา และเขาจะพยายามที่จะทำพฤติกรรมออกมาให้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังกับเขา คล้ายกับว่าเราเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของเขา โดยที่เขาเองก็จะพยายามทำตัวให้เหมือนกับกระจกเงาที่เขาเห็นตัวเอง ทั้งนี้ข้อสำคัญคือ เราต้องเป็นเหมือนกระจกเงาที่เที่ยงตรง ซื่อสัตย์ ไม่หลอก เป็นกระจำเงาที่เขานับถือและเชื่อมั่นได้

นักจิตวิทยาสังคมเรียกปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า ผลกระทบของความคาดหวัง (Expectancy Effect) ซึ่งอธิบายได้ว่า เมื่อบุคคลหนึ่งมีความเชื่อและความคาดหวังเกี่ยวกับตนเองและบุคคลอื่น ความเชื่อหรือความคาดหวังนี้จะมีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างกันของพวกเขาไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อและความคาดหวังที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้น

พูดให้เข้าใจง่ายคือ ความเชื่อและความคาดหวังของเราต่อใครก็ตาม จะทำให้เราแสดงพฤติกรรมต่อเขาตามความเชื่อหรือความคาดหวังนั้น คือถ้าเราคาดหวังหรือเชื่อว่า ลูกเราสติปัญญาดี เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างที่ทำกับคนฉลาด

อย่างไรก็ตามยังมีปรากฏการณ์ที่คล้ายกันเรียกว่า การสมปรารถนาแห่งคำทำนายของตน (Self-fulfilling Prophecy) เมื่อบุคคลหนึ่งคาดหวังผิดไปจากความจริงต่ออีกบุคคลเป้าหมายหนึ่ง เขาจะแสดงพฤติกรรมต่อบุคคลเป้าหมายตามความคาดหวังที่ไม่ตรงนั้น ในที่สุดบุคคลเป้าหมายจะเป็นไปตามการคาดหวังอย่างผิดๆ ของเขา

หมายความว่า ถ้าเราคาดหวังว่าลูกเราสติปัญญาดี (ความจริงอาจจะแค่สติปัญญาพอใช้) แล้วเราได้ปฏิบัติต่อเขาอย่างคนฉลาดมาก ในที่สุดเขาจะเป็นคนฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นระดับสติปัญญาพอใช้

ข้อยืนยันความเชื่อดังกล่าวของนักจิตวิทยาเริ่มต้นมาจากการทดลองทางจิตวิทยาของโรเซนทอลและเจคอบสัน (Rosenthal & Jacobson) เมื่อปี 1968 ในเรื่องผลกระทบพิกแมเลียนในห้องเรียน (Pygmalion in the classroom: Teacher expectations and student intellectual development) นักจิตวิทยาทั้งสองได้เรียกผลกระทบจากความคาดหวังไม่ตรงต่อความจริงว่าผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion effect) คงเพื่อสื่อความหมายว่า การคาดหวังอย่างไม่ตรงความจริงเหมือนกับพิกแมเลียนคาดหวังว่ารูปปั้นนั้นมีชีวิต ในที่สุดก็จะเป็นไปตามความคาดหวังที่ไม่จริงนั้นคือรูปปั้นกลายเป็นเทพธิดาที่มีชีวิตจริงๆ

ต่อมาได้มีการขยายการทดลองไปสู่ การทหาร การแพทย์ ธุรกิจ ซึ่งผลการทดลองในหลายวงการได้ทำให้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า มีความเชื่อถือได้ว่า ผลกระทบความสมปรารถนาของการทำนายของตน (Self-fulfilling Prophecy) นี้มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมตามความคาดหวังที่ไม่ตรงนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ตามความปรารถนาแห่งตนนั้น

สำหรับการทดลองครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว มีนักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสองคนชื่อ โรเซนธอลกับเจคอบสัน (Rosenthal & Jacobson) ได้นำข้อสอบวัดเชาวน์ปัญญาเข้าไปสอบเด็กในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ครั้นเสร็จการสอบแล้วก่อนจะกลับ เขาได้บอกกับครูประจำชั้นว่า มีเด็กอยู่จำนวนหนึ่งที่กำลังมีสติปัญญาเบ่งบานเหนือคนอื่น (Sputters) และเขาได้แจ้งชื่อเด็กจำนวนนั้นให้ครูทราบด้วย (รายชื่อที่แจ้งนี้ความจริงนักจิตวิทยาทั้งคู่เลือกชื่อขึ้นมาอย่างสุ่ม ๆ หรือส่งเดชนั่นเอง)

ครั้นเวลาผ่านไปหกเดือนต่อมา พวกเขาได้กลับไปวัดเชาวน์ปัญญาเด็กกลุ่มเดิมอีก ผลปรากฏออกมาน่าฉงนว่า เด็กอื่นๆ นั้น ได้คะแนนใกล้เคียงกับการวัดครั้งแรก แต่เด็กที่ได้รับเลือกดังกล่าวที่ได้บอกรายชื่อแก่ครูไปกลับได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเดิมไปจริงๆ กลายเป็นว่า เด็กที่เลือกชื่อขึ้นมาบอกครูแบบส่งเดชเกิดเก่งขึ้นมาจริง ๆ

นักจิตวิทยาผู้ทำการวิจัยทั้งสองได้อธิบายว่า เมื่อเขาได้บอกรายชื่อเด็กให้แก่ครูนั้น ทำให้ครูเกิดการทำตามความเชื่อที่ได้รับทราบมาจะได้เกิดการทำนายเพื่อความสมปรารถนาของตน (Self Fulfilling Prophecy) คือความเชื่อมั่นตามที่นักจิตวิทยาบอกเอาไว้ว่า เด็กเหล่านั้นกำลังจะเก่งขึ้นมา ครูจึงได้ปฏิบัติต่อเด็กกลุ่มดังกล่าวในลักษณะของคนเก่ง เช่น ให้เป็นคนช่วยสอนเพื่อนแทนครู ถามคำถาม และสนใจเด็กเหล่านี้มากขึ้นในทางวิชาการ ยกย่องเมื่อพวกเขาทำงานทางวิชาการได้ดี ฯลฯ

การปฏิบัติของครูต่อเด็กกลุ่มนี้คงเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะครูนึกว่า เป็นเช่นนั้นจริงตามที่นักจิตวิทยาได้บอก มันคงออกมาทั้งภาษาท่าทาง และคำพูดของครู เด็กก็คงได้เห็นภาพของตนเป็นคนเก่งในสายตาของครู ซึ่งเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เด็กได้ทราบ เด็กจึงได้เกิดภาพลักษณ์ของตนเองตามกระจกสะท้อน และปฏิบัติตนตามภาพลักษณ์นั้น ทำให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้น กล้าคิดอะไรยากๆ มากขึ้น กล้าหาประสบการณ์ใหม่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้สติปัญญาของเขาเพิ่มพูนขึ้นในที่สุด

ในงานวิจัยทางการแพทย์เองก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าหากว่าผู้ป่วยมีความคาดหวังอย่างแรงกล้ามากเท่าใดว่าเขาจะหายจากการเจ็บป่วยได้ เขาก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะหายได้อย่างนั้นจริง

ที่ประเทศอิสราเอลศาสตราจารย์อีเดน (Eden) แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟวิจัยพบว่า เมื่อนายทหารได้รับข้อมูลที่บอกว่า ทหารลูกแถวที่จะต้องมารับการฝึกในกลุ่มที่เขาเป็นครูฝึก เป็นคนเก่ง ผลของการฝึกจะออกมาดีกว่าเมื่อครูฝึกได้รับข้อมูลว่า ลูกแถวของเขามีความ สามารถปกติ ( การประเมินประสิทธิภาพของการฝึกเป็นการประเมินจากคนที่ไม่ได้เป็นครูฝึก) ทั้งที่ในความเป็นจริงทหารลูกแถวที่มารับการฝึกนั้นมีความสามารถเท่าเทียมกัน โดยที่ข้อมูล ที่แจ้งแก่นายทหารครูฝึกนั้นเป็นข้อมูลที่นักทดลองกุขึ้นมาเองให้แตกต่างกัน

อธิบายได้ว่าครูฝึกได้เกิดความคาดหวังหลังจากได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถ ของทหารลูกแถวของตน ความคาดหวังได้รับการถ่ายทอดไปยังทหารลูกแถวตามนั้น ทำให้ทหารลูกแถวพยายามทำให้ได้ตามนั้น

สำหรับการทดลองในทางการบริหารธุรกิจนั้นได้มีขึ้นมาหลายครั้งเช่นกัน เช่น การทดลองของโอเบอร์แลนเดอร์ (Oberlander) แห่ง Metropolitan Life Insurance Company เมื่อปี 1961 เขาพบว่า พนักงานขายประกันที่ได้ทำงานกับสาขาที่มีผลการทำงานดีเยียมจะ ทำงานขายได้ดีกว่าพนักงานที่ได้ไปประจำที่สาขาซึ่งผลงานขายต่ำ ทั้งที่ก่อนจะไปประจำตามสาขาได้มีการทดสอบความถนัดทางการขายแล้วพบว่าไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นเขาจึงทดลองจัดกลุ่มพนักงานขายเข้ากับผู้ช่วยผู้จัดการที่มีผลงานดี และผลงาน ต่ำในจำนวนที่เท่ากัน เรียกกลุ่มที่ผลงานดีว่า Superstaff ผลก็ออกมาดังคาดคือ พนักงานขาย ในกลุ่ม Superstaff ทำงานทะลุเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่กลุ่มผลงานต่ำก็ได้ผลงานต่ำกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป

ผู้ทดลองได้อธิบายว่า พนักงานในกลุ่ม Superstaff มีความรู้สึกว่าตนมีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปในที่ทำงานมองว่าเป็นคนทำงานเก่ง ตนเองจึงต้องพยายามขายให้ได้มาก ถ้าทำไม่ ได้ก็จะรู้สึกว่าเสียหาย

จะเห็นได้ว่าการที่คนอื่นในบริษัทคาดหวังเอากับกลุ่ม Superstaff ว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานเก่ง การคาดหวังนี้มีอิทธิพลต่อตัวพนักงานผู้ถูกคนอื่นคาดหวังด้วย อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็น การขนานนามทางสังคม (Social Labeling) ซึ่งมีการทดลองทางจิตวิทยาสังคมสนับสนุนอย่างมากมายว่า เป็นวิธีการที่ทำให้คนยอมทำตามที่ได้ผลอย่างมาก (นิยายกำลังภายในของจีนจะเป็นตัวอย่างของ Social Labeling ได้ดี ตัวละครในนิยายเหล่านี้มีฉายา เช่น กระบี่พิทักษ์บู้ลิ้ม ผู้อ่านจะรู้ว่าตัวละครที่มีฉายานี้จะประพฤติตนเป็นผู้กล้าหาญที่ช่วยคนอื่นตลอดเวลา แม้แต่ ชีวิตตนเองก็สละให้ ถ้ามีฉายาว่าอสูรหน้าหยก ก็จะเป็นตัวละครที่มีหน้าตาสวยงามแต่ใจโหด เหี้ยม เจ้าเล่ห์โหดร้าย ทุกตัวละครมีความประพฤติออกมาตามฉายา)

อำนาจแห่งความคาดหวัง

จากการทดลองต่าง ๆ ที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้นแสดงให้เห็นได้ว่า คนเราคาดหวังอะไรกับใคร มักจะทำให้ผู้นั้นทำได้ตามความคาดหวังนั้น อย่างไรก็ตามการคาดหวังดังกล่าวยังต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยในแง่ปฏิบัติอีกบ้างเหมือนกัน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

นักบริหารจะช่วยให้ลูกน้องปฏิบัติงานได้ดีขึ้นด้วย Pygmalion Effect ได้อย่างไร นักจิตวิทยาองค์การเสนอให้นำแนวคิดผลกระทบพิกแมเลียนไปใช้ในการบริหารเพื่อยกระดับ การปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยได้ให้แนวทางการนำไปใช้เอาไว้หลายประการดังต่อไปนี้

1. ผู้บริหารจะต้องได้รับความไว้ใจ (Trust) จากลูกน้อง การแสดงออกซึ่งความคาดหวังในตัวลูกน้องและการทำงานของเขาต้องได้รับการรับรู้จากลูกน้องว่าเป็นไปอย่างจริงใจบริสุทธ์ใจ เพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกน้องเองและหน่วยงาน มิใช่เป็นการหลอกใช้เพื่อประโยชน์ของนาย ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจในหน่วยงานเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำหน่วยงาน ทุกคนเชื่อและคิดอย่างไว้วางใจกันจนกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว ยิ่งมีประวัติเล่าขานมาจากอดีตในเรื่องความไว้วางใจกันในหน่วยงานนี้ด้วยก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้น ความไว้วางใจนี้หมายความรวมไปถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของลูกน้องด้วยว่าสูงพอที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ผู้บริหารต้องสื่อสารความคาดหวังไปยังลูกน้องอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่จะสื่อความคาดหวังไปยังลูกน้องต้องตระหนักและรู้กลไกในการสื่อสารว่า มีทั้งภาษาที่ใช้คำพูด (Verbal Language) และภาษาที่ไม่ใช้คำพูด (Nonverbal Language) ทั้ง สองแบบนี้สามารถถ่ายทอดความคาดหวังได้เป็นอย่างดีทั้งสองอย่าง แต่ส่วนมากนักบริหารมักไม่ได้สนใจกับภาษาที่ไม่ใช้คำพูด ตัวอย่างเช่น เมื่อเวลาผู้เป็นนายฟังรายงานแล้วเงียบไป คนที่เป็นลูกน้องจะรับรู้ความหมายว่า นายไม่ชอบสิ่งที่รายงานไป จะเห็นได้ว่าแม้แต่การเงียบของนายก็ยังเป็นการสื่อสารไปยังลูกน้องได้

นอกจากนั้นการสื่อสารทั้งคำพูดและภาษาที่ไม่ใช้คำพูดต้องสอดคล้องกันเป็นอย่างดีที่เรียกว่าปากกับใจตรงกันนั่นเอง ถ้าหากว่าการสื่อสารทั้งสองภาษาไม่สอดคล้องต้องกันลูกน้องจะเกิดความไม่มั่นใจว่าควรจะเชื่ออันไหนดี แม้ว่าจะปฏิบัติงานแล้ว ก็อาจจะทำไปไม่เต็มตามศักยภาพ เพราะความไม่แน่ใจเกรงว่าจะผิดไปจากความต้องการของนาย

การสื่อสารนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นอีกเมื่อจะต้องให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) แก่ลูกน้อง เพราะว่าการให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นการทำให้ลูกน้องเกิดการเรียนรู้ความคาดหวังของนายได้ชัดเจนขึ้น

3. การกำหนดระดับความคาดหวังให้แก่ลูกน้อง การวิจัยทางจิตวิทยาของนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคือ แมคคลีแลนด์และแอตคินสันพบว่า คนเราจะมีแรงจูงใจสูงสุดในการทำงานให้สำเร็จต่อเมื่อมองเห็นโอกาสที่จะทำสิ่งนั้นได้ประมาณครึ่งๆ ถ้าเห็นว่าโอกาสสำเร็จน้อย (แปลว่างานยากเกินความสามารถ) หรือเห็นว่างานนั้นมีโอกาสสำเร็จมาก (แปลว่างานนั้นง่ายเกินไป) แล้วคนเราจะมีแรงจูงใจ ที่จะทำงานน้อยลง เพราะทั้งสองกรณีนี้ไม่ท้าทายเขา

ดังนั้นคนที่เป็นนายจึงต้องเรียนรู้ว่า การกำหนดระดับความคาดหวังในการทำงานที่จะให้แก่ลูกน้องควรจะต้องเป็นระดับความคาดหวังที่ลูกน้องเห็นโอกาสสำเร็จได้ครึ่ง ๆ เนื่องจากการทำเช่นนี้เป็นการไปกระตุ้นหรือท้าทายให้เขาเกิดแรงจูงใจในการทำงานสูง จะเห็นได้ว่าผู้เป็นนายที่จะตั้งระดับความคาดหวังให้จูงใจลูกน้องต้องมีทักษะในการตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกน้องด้วย นั่นคือนายควรแปลง ความหมายของระดับความคาดหวังเปลี่ยนเป็นเป้าหมายที่วัดได้ สังเกตได้ เพื่อความชัดเจนในการรับรู้ร่วมกันระหว่างนายกับลูกน้อง และควรเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ ท้าทายความสามารถในสายตาของลูกน้องด้วย

4. ความมั่นใจในตนเองของหัวหน้า จากการศึกษาของโอเบอร์แลนเดอร์อีกส่วนหนึ่ง เขาพบว่า ผู้จัดการที่ใช้ประโยชน์จากการตั้งความคาดหวังเพื่อให้ลูกน้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มักจะเป็นผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จและเชื่อมั่นในการเลือกคนมาทำงาน การสอนงาน และการจูงใจลูกน้องของตนเอง ด้วยอิทธิพลของความเชื่อมั่นนี้เองที่ได้ถ่ายทอดความคาดหวังจากหัวหน้าออกมาสู่ลูกน้องในทางปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างเป็นอัตโนมัติ ทำให้ลูกน้องได้เรียนรู้ความคาดหวังของหัวหน้าในที่สุด

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยทูเลนเป็นตัวอย่างข้อนี้ได้ดี เจมส์ สวีนนี (James Sweeny) เป็นอาจารย์สอนวิชาการบริหารอุตสาหกรรมและคอมพิวเตอร์ เขามีความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถสอนคนที่ไม่ได้รับการศึกษาให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ เขาได้เลือกเจ้าหน้าที่ขนของคนหนึ่งชื่อ จอร์จ จอห์นสัน (George Johnson) มาพิสูจน์ความเชื่อของเขา ทั้งที่คนนี้เป็นคนขนของในโรงพยาบาลและย้ายมาเป็นภารโรงในศูนย์คอมพิวเตอร์ของสวีนนี่ เขามีคะแนนการสอบวัดสติปัญญาต่ำกว่าระดับที่อาจารย์ในฝ่ายคอมพิวเตอร์ตั้งเอาไว้ด้วย ซ้ำร้ายคะแนนนี้ระบุว่า อย่าว่าแต่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย เขายังไม่สามารถเรียนพิมพ์ดีดได้ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามจอห์นสันทำหน้าที่ภารโรงในตอนเช้าและตอนบ่ายเรียน คอมพิวเตอร์กับสวีนนี่ ปัจจุบันนี้จอห์นสันทำหน้าที่ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ และรับผิดชอบในการฝึกอบรมการเขียนโปรแกรม การควบคุมเครื่องให้แก่พนักงานใหม่ในศูนย์ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าสวีนนีมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการสอนและการจูงใจลูกน้องของตนเอง ความเชื่อมั่นนี้เป็นรากฐานสำคัญทำให้หัวหน้ากล้าตั้งความคาดหวังซึ่งเป็นไปได้ให้แก่ลูกน้อง เพราะหัวหน้ารู้ว่าเขาทำได้ และลูกน้องก็จะรับรู้จากความเชื่อมั่นของหัวหน้าว่าตนเองทำได้

เราจะนำเอาผลกระทบพิกแมเลียนไปปฏิบัติการให้ได้ประโยชน์อย่างไร

1. ผู้ที่เป็นครูหรือพ่อแม่ของเด็กควรแสดงความคาดหวังกับลูกศิษย์หรือลูกว่า เขามีความสามารถสูงที่จะทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นต้นว่า ทำเลขได้ เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ เล่นกีฬาได้ ฯลฯ แน่นอนที่สุดว่า การแสดงความคาดหวังมิใช่จะเพียงแค่การพูด การกระทำอย่างจริงใจของครูหรือพ่อแม่ต่างหากที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า เขาไว้ใจเชื่อมั่นได้ว่า การคาดหวังนั้นเป็นความจริงใจของพ่อแม่หรือครู

สิ่งที่จะต้องระวังอย่างมากคือ พ่อแม่หรือครูก็แล้วแต่ ต้องแสดงความคาดหวังต่อลูกหรือลูกศิษย์โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่า เขากำลังถูกพ่อแม่หรือครูชักใย (Manipulate) เพื่อให้เขามีชีวิตเป็นไปตามที่พ่อแม่หรือครูอยากให้เป็น เพราะถ้าเขารู้สึกอย่างนั้น เขาจะต่อต้านมากกว่าที่จะทำตาม

ผมมีประสบการณ์ในการสร้างความคาดหวังกับลูกที่จะเล่าให้ผู้อ่านฟังเป็นตัวอย่างเหมือนกัน ผมมีความเชื่อมั่นในตัวลูกมากว่า สติปัญญาดีมาก มีความถนัดทางศิลปะเพียงพอ ดังนั้นผมจึงมักจะพูดกับเขาเป็นครั้งคราวเสมอว่าเขามีความสามารถไปได้อีกไกล ซื้ออุปกรณ์ทางศิลปะให้เขา เมื่อเขาทำอะไรได้ผลดี เช่น ได้รางวัลจากการสอบ จากการประกวดผลงานทางศิลปะก็พาไปเลี้ยงฉลอง ซึ่งก็ได้ผลดีว่า ลูกได้เลือกที่จะยึดวิชาชีพเป็นมัณฑนากร ในขณะที่อีกคนหนึ่งเกือบที่จะเลือกเป็นสถาปนิกเหมือนกันทั้งที่สอบเข้าเรียนได้แล้ว แต่ในที่สุดเลือกเป็นวิศวกรแทน โดยที่ทั้งสองคนมีอิสระในการเลือกอย่างเต็มที่

พ่อแม่และครูไม่ควรแสดงความคาดหวังต่อเด็กด้วยการส่งสัญญาณอย่างรุกเร้าเชิงบังคับจะให้เด็กเป็นอย่างความคาดหวังของตนเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็นการบังคับจากผู้ใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ครู กับเด็กไปในที่สุด

2. การวิจัยในองค์การได้พบว่า ผู้บริหารที่ใช้เทคนิคการสร้างความคาดหวังกับลูกน้อง มักจะทำได้สำเร็จมากกับคนหนุ่มผู้ที่เข้ามาทำงานเป็นครั้งแรก ความสำเร็จนี้จะน้อยลงไปเรื่อย ตามเวลาที่พนักงานผู้นั้นอยู่ทำงานในองค์การ เหมือนกับการวิจัยกับเด็กในโรงเรียนดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าใช้เทคนิคนี้กับเด็กที่เข้ามาชั้นอนุบาลได้ผลดีกว่าเด็กที่อยู่ชั้นประถม

อธิบายได้ว่า เมื่อเข้ามาใหม่พนักงานยังไม่มีภาพลักษณ์ของตนเองอย่างแน่นอน เมื่อ อยู่นานไปประสบการณ์ในองค์การนี้ได้กลายเป็นระเบียนสะสมสำหรับความสำเร็จหรือความ ล้มเหลวของเขา สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองของพนักงานแน่นอนมากขึ้น หัวหน้า ย่อมจะใช้เทคนิคสร้างความคาดหวังให้ทำงานมีประสิทธิภาพสูงกับคนที่เคยมีประสบการณ์ของความสำเร็จได้ง่ายกว่าใช้กับคนที่ไม่ค่อยมีระเบียนแห่งความสำเร็จให้ภูมิใจอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นจังหวะที่สำคัญคือช่วงที่พนักงานยังอายุน้อย และเข้างานครั้งแรก ในช่วงเวลานี้มีการสำรวจของบริษัท AT & T พบว่า ถ้าพนักงานใหม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน บรรลุระดับความคาดหวังขององค์การในห้าปีแรก เขาจะเป็นคนมีประสิทธิภาพและจะอยู่กับองค์การนาน และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย

ครั้นมีการวิจัยละเอียดลงไปอีกที่บริษัท AT&T นี้อีกก็พบว่า ช่วงที่ความคาดหวังขององค์การหรือของนายจะมีอิทธิพลหรือมีความหมายต่อพนักงานมากที่สุดคือช่วงปีแรกของการทำงาน

ดังนั้นช่วงปีแรกของการทำงานจึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่องค์การจะชิงสร้างเสริมให้ พนักงานเกิดภาพลักษณ์ของพนักงานเองอย่างที่องค์การปรารถนา ด้วยการตั้งระดับความคาดหวังที่เหมาะสมท้าทายให้เขาได้ทำงาน และสำเร็จบรรลุความคาดหวังได้ องค์การก็จะได้พนักงานที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ทำงานได้ตามความคาดหวัง มีผลงานที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ต่อองค์การ และความพึงพอใจในงานในที่สุด

เมื่อผมได้ทำหน้าที่บริหารคณะวิชาในมหาวิทยาลัย ผมจะถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะแสดงให้อาจารย์ใหม่ หรืออาจารย์ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาทำงานว่า พวกเขาเป็นผู้มีความสามารถ ซึ่งจะทำงานให้คณะวิชาของเราก้าวหน้าต่อไป ผมจะขอเชิญเขามาพบในวันแรกที่เขาเข้ามาทำงาน เลี้ยงกาแฟ คุยให้เขาฟังว่า คณะวิชาอยากเห็นพวกเขาทำงานอย่างไร จะส่งเสริมเขาอย่างไร ขอเชิญเข้ามาร่วมการทำงานในคณะกรรมการต่างๆ เพื่อให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการอย่างนี้ พวกเขาจะรู้สึกเป็นเกียรติ มีความหมายต่อคณะวิชา และจะยินดีทุ่มเทกำลังทำงานอย่างเต็มที่

3. การเลือกนายดีให้แก่พนักงานใหม่นับเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหมือนกัน ผลการวิจัยพบว่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาได้นายคนแรกดีทำให้เขาได้ทำงานและประสพความสำเร็จในงานที่นายมอบให้ทำจะกลายเป็นรากฐานให้แก่อาชีพของเขาในอนาคตไปในที่สุด

Mentoring System หรือระบบที่องค์การคัดเลือกคนระดับบริหารให้เป็นพี่เลี้ยงให้แก่พนักงานใหม่นับเป็นตัวอย่างที่ดี หัวหน้าที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องรับเอาพนักงานที่เข้าใหม่มาสอนงานและสอนการครองตนแบบคนต่อคน เขาทั้งสองจะอยู่ด้วยกันบ่อยๆในที่ทำงาน แม้แต่เวลารับประทานอาหาร เวลาบันเทิงคลายเครียดหลังเลิกงานเขาก็จะไปด้วยกัน ระหว่างที่เขาอยู่ด้วยกันนี้เองที่หัวหน้าจะถ่ายทอดวิธีทำงาน และทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ อันเป็นวัฒนธรรมองค์การให้แก่พนักงานใหม่ไปอย่างที่ต่างก็ไม่รู้ตัว

ผู้อำนวยการส่วนการเลือกสรรคนเข้าทำงานของบริษัท AT&T ถึงกับบอกว่า " เราต้องเอาหัวหน้าที่ดีที่สุดมาเป็นหัวหน้าของพนักงานใหม่ของเรา " นี่เป็นการแสดงให้เห็นความ สำคัญของนายคนแรกในชีวิตการทำงานของพนักงานเลยทีเดียว

4. การสร้างวัฒนธรรมองค์การที่ส่งเสริมให้พนักงานได้แนวทางของความคิด ความเชื่อ ค่านิยม อย่างที่องค์การต้องการ วัฒนธรรมองค์การจะช่วยให้หัวหน้ามั่นใจยิ่งขึ้นว่าควรจะตั้งระดับความคาดหวังอย่างไรกับลูกน้องของตนเอง เพราะวัฒนธรรมเป็นแนวทางกำหนดพฤติกรรมทั้งมวลของสมาชิกในองค์การอยู่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากบรรทัดฐานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์การ ซึ่งทุกคนต้องทำตาม

ข้อสรุป

ผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion effect) เกิดจากคนๆ หนึ่งซึ่งต้องเป็นคนที่มีความหมายสำหรับคนอีกคนหนึ่ง เขามีความเชื่อมั่นและได้ปฏิบัติต่อคนอีกคนหนึ่งในทิศทางที่เขาคาดหวังเอาไว้อย่างจริงใจและจริงจัง คล้ายดังว่าความคาดหวังของเขาเปรียบดังกระจกสะท้อนภาพให้ผู้ที่ถูกคาดหวังได้เรียนรู้จากความคาดหวังนั้น และจะปฏิบัติให้ได้ตามความคาดหวังที่มีต่อเขา
หัวหน้าสามารถใช้วิธีการนี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกน้องได้ส่วนหนึ่ง ในขณะที่องค์การก็ใช้ประโยชน์จากวิธีการนี้ได้เช่นกัน เช่นเดียวกันกับพ่อแม่สามารถทำได้กับลูก ครูสามารถทำได้กับลูกศิษย์

หลักสำคัญที่จะช่วยให้ผลกระทบพิกแมเลียนมีอิทธิพลต่อผู้เป็นลูก ลูกน้อง หรือลูกศิษย์นั้นคือ ต้องเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงจัง ปฏิบัติต่อพวกเขาตามความเชื่อมั่นนั้นอย่างจริงใจแท้จริงไม่เสแสร้ง อย่าให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่า พวกเขากำลังถูกชักใย

ช่วงเวลาที่การปฏิบัติจะได้ผลดีคือ ช่วงแรกแห่งความสัมพันธ์ เช่น เข้าทำงานใหม่ เข้าเรียนใหม่ แต่สำหรับลูกๆ นั้นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าอนุบาล เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้ว พ่อแม่มักจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อเขาเท่าเพื่อน




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 19:44:58 น.   
Counter : 4204 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com