EQ สำหรับผู้บริหาร

บทความนี้เขียนขึ้นมาในปี พ.ศ. 2551 ระหว่างที่ประเทศไทยมีปรากฏการณ์แปลกๆ คือ มีนายกรัฐมนตรีชื่อ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้รับการขอร้องจากผู้มีอำนาจของพรรคพลังประชาชนให้เป็นหัวหน้าพรรคแทน ดังนั้นเมื่อได้เสียงข้างมากจึงต้องทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในระดับกลางขึ้นไปที่มีการศึกษาสูงและทำงานตามบริษัทต่างๆ

พฤติกรรมในการนำประเทศของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวชที่ได้แสดงออกมาระหว่างบริหารงานไม่ได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง แม้จะพยายามพูดจาสื่อสารให้ใกล้ชิดประชาชนด้วยการจัดรายการพูดจาประสาสมัครทุกวันอาทิตย์ก็ตาม

แต่ด้วยวิธีการพูดที่ใช้วาจาสามหาว เสียดสี ยอกย้อน เยาะเย้ยถากถาง ตอบโต้ด่าว่าผู้วิจารณ์ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือกับบุคคลที่ไม่สลักสำคัญถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสำคัญของประเทศจะไปตอดเล็กตอดน้อยด้วย ตลอดไปจนกระทั่งการพูดกลับไปกลับมา ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอดชีวิตในวงการเมืองของเขา ทำให้ผู้คนไม่เชื่อถือ เกิดความไม่นับถือ บางส่วนถึงกับปิดไม่ยอมฟัง

บางครั้งนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช จะยืนหน้าถมึงทึง กวาดสายตาแสดงความไม่พอใจไปยังกล้องโทรทัศน์ แต่ไม่พูด ทำให้คนดูโทรทัศน์ที่ได้เห็นภาพนี้รู้ได้ทันทีว่ากำลังโกรธ เป็นที่รู้กันว่าการแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาแบบนี้เป็นกริยาปกติของนายกรัฐมนตรีคนนี้

นอกจากนั้นบางคนถึงกับเรียกนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชด้วยคำนำหน้าที่แสดงความไม่นับถืออย่างแรงอีกด้วย อาการอย่างนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดว่า กรรมนั้นตอบสนองตามกรรมที่กระทำต่อกัน ใครหยาบคายต่อใคร ก็จะได้รับความหยาบคายตอบแทน

นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนแรกที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งเรียกชื่อด้วยคำนำหน้าที่แสดงความไม่นับถืออย่างแรง

การบริหารประเทศ 4 เดือนแรกภายใต้การนำของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช นอกจากไม่กระตุ้นผู้คนให้มีความเชื่อมั่นแล้ว ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดปัญหาม็อบบานปลายไปในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร อุตสาหกรรมประมง การขนส่ง และม็อบสำคัญคือ พันธมิตรประชาชน นับว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกประท้วงรวดเร็วมากถ้านับว่าโดยทั่วไปประชาชนมักจะให้โอกาสแก่รัฐบาลที่เพิ่งเริ่มงานยาวกว่านี้

โดยปกติแล้วรัฐบาลที่เพิ่งจะเข้ามาทำงานมักจะได้รับการเฝ้ามองให้กำลังใจในช่วงแรกของการได้รับการแต่งตั้งที่เรียกว่า ระยะฮันนีมูน แต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชมีระยะฮันนีมูนสั้นมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการไม่ยอมรับรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวชคือ ความเชื่อที่ว่าพรรคพลังประชาชนนั้นมีหัวหน้าพรรคตัวจริงแอบสั่งการผ่านบรรดารัฐมนตรีโดยตรง หัวหน้าพรรคตัวจริงนั้นคือผู้ที่เชิญนายสมัคร สุนทรเวชมาเป็นหัวหน้าพรรค

นอกจากนั้นสาเหตุประกอบยังมาจากตัวนายกรัฐมนตรีเองที่ขาดการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่แสดงความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนยอมรับและเดินทางไปสู่วิสัยทัศน์ของรัฐบาล

พูดอย่างสั้นๆ ได้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวชอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง

ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือเชาวน์อารมณ์ (Emotional Quotient: EQ เป็นมาตรวัดเชาวน์อารมณ์ทำนองเดียวกับ IQ) แล้วแต่จะเรียก เป็นแนวคิดของนักจิตวิทยาชื่อ แดนเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ซึ่งได้ทำการวิจัยพบว่า การเป็นผู้นำที่จะประสบความสำเร็จในการนำนั้นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์สูง

โกลแมนอธิบายว่า EQ เป็นความสามารถของบุคคลในการตระหนักรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเองตลอดจนแรงผลักดันในตัวเอง (Self Awareness) สามารถจัดการกับอารมณ์และแรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันของตนได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอารมณ์ร้าย (Self Regulation) มีความเข้าอกเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นดี (Empathy) มีทักษะในทางสังคม (Social Skills) ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นให้มาร่วมเป็นกลุ่มคนที่ร่วมกันทำงานได้ และมีความอยากจะทำงาน (Motivation) ด้วยแรงจูงใจที่สูงกว่าเงิน
นักบริหารควรจะมีความสามารถในประเด็นทั้ง 5 ที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจชัดเจน ผมขอยกเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมพอสังเขปได้ดังนี้

Self Awareness - มีความมั่นใจในตนเอง ประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา รับฟังความเห็นด้านลบต่อตนเองได้
Self Regulation - มีความเชื่อถือได้ ความมีศักดิ์ศรี ความอดทนต่อความไม่แน่นอนที่ทำให้สามารถรอการตัดสินใจได้
Empathy - มีทักษะในการสร้างสายสัมพันธ์กับคน จัดการกับคนได้ดีเหมาะกับอารมณ์ของเขา
Motivation - มีความต้องการบรรลุเป้าหมาย มองโลกในแง่ดีแม้จะล้มเหลว มีความยึดมั่นที่จะรับผิดชอบต่อองค์การ
Social Skills - มีทักษะในการหาจุดร่วมและสร้างความสนิทสนมจากนั้น สามารถนำทีมงานได้ดี นำการเปลี่ยนแปลงได้

จะเห็นได้ว่า ผู้มีคุณสมบัติและการแสดงออกที่ได้ยกตัวอย่างมานั้นน่าจะเป็นคนที่นำผู้อื่นได้ดี

โกลแมนถึงกับกล่าวว่า แต่เดิมนั้นเราเชื่อว่า EQ เป็นเรื่อง Nice to have สำหรับผู้บริหารหรือผู้นำ เพราะเชื่อใน IQ (Intelligent Quotient) มากว่า ความฉลาด ความเก่ง ความมีปัญญาดีจะนำไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่ผู้นำ ผู้บริหาร

สำหรับปัจจุบันนั้นเราต้องเชื่อว่า EQ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารหรือผู้นำ Need to have มากกว่า เพราะว่าการดูแลกิจการไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็กจำเป็นที่จะต้องบริหารคน ผู้บริหารที่มีความสามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นจึงจะทำให้องค์การประสบความสำเร็จ

การดูแลบริหารคนนั้นต้องการผู้บริหารที่มีความสามารถในการจัดการคน ซึ่งผู้บริหารที่มี EQ สูงเท่านั้นจึงจะจัดการได้ดีกว่า

ดังนั้นจึงมีคำคมกล่าวกันหลังจากแนวคิด EQ เป็นที่ยอมรับกันมากแล้วว่า IQ gives you a job, EQ gets you promoted. หมายความว่า ความฉลาดทางปัญญาทำให้คุณได้งานทำ แต่ความฉลาดทางอารมณ์ต่างหากที่จะทำให้คุณเจริญในหน้าที่การงาน

ทั้งนี้เพราะว่า มีแนวโน้มว่า การแต่งตั้งคนเข้าสู่ตำแหน่งบริหารนั้นเริ่มดูกันที่ความฉลาดทางอารมณ์แล้ว

EQ นั้นสามารถฝึกฝนได้หรือไม่?

เหมือนกับคุณสมบัติในตัวมนุษย์อื่นๆ EQ มีส่วนหนึ่งเป็นพันธุกรรม แต่จะมีปริมาณเท่าไรนั้นยังไม่มีการวิจัยพบอย่างชัดเจนจนสรุปได้

การวิจัยยังพบอีกว่า EQ สามารถสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการเรียนรู้
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ EQ มักจะมีความสัมพันธ์กับอายุ หมายความว่า ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมี EQ สูงขึ้นด้วยเช่นกัน บางทีอาจจะอธิบายได้ว่า เมื่อคนเรามีวุฒิภาวะ (Maturity) มากขึ้น คนเราก็มี EQ สูงตามไปด้วย

อย่าลืมว่า วุฒิภาวะนั้นมีองค์ประกอบสำคัญคือประสบการณ์ คนที่อายุไม่มากแต่มีประสบการณ์เข้มข้นย่อมมีวุฒิภาวะสูง แตกต่างจากคนที่อาจจะมีอายุมากกว่าแต่ประสบการณ์ไม่เข้มข้นเท่า วุฒิภาวะย่อมต่ำกว่า

การจัดการฝึกอบรมเรื่อง EQ นั้นต้องระมัดระวังให้ดี เนื่องจาก EQ นั้นเกี่ยวกับอารมณ์เป็นหลัก การจัดหลักสูตรสอน EQ ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยเน้นปัญญาความรู้ (Cognitive) ย่อมไม่สามารถเพิ่ม EQ ได้ เพราะความรู้ที่ได้นั้น กับการปฏิบัติไม่ไปด้วยกัน เนื่องจากการปฏิบัตินั้นอาศัยอารมณ์มากกว่า ดังคำพูดที่ว่า ชั่วดีรู้หมด แต่มันอดใจไม่ได้

กล่าวอย่างนักจิตวิทยาได้ว่า สมองของคนนั้น อารมณ์อยู่ที่ส่วนที่เรียกว่า Limbic System แต่ความรู้ การวิเคราะห์เหตุผลนั้นอยู่ที่ Prefrontal Cortex
ดังนั้นถ้าการฝึกอบรมไม่ไปกระตุ้นสมองให้ถูกส่วนย่อมจะไม่ได้ผลดี

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ นักบริหารที่รู้ปัญหาตนเองว่า ไม่ค่อยฟังลูกน้อง มักจะตัดบทและบังคับให้ลูกน้องฟังเหตุผลความคิดของตนเองแล้วนำไปปฏิบัติโดยเร็ว ทำให้ลูกน้อง เกรงกลัวเขา เมื่อมีข้อมูลที่ไม่ดี (Bad news) ลูกน้องมักจะไม่กล้าบอกเขา เพราะกลัวโดนดุ

เขาต้องการฝึก EQ ของตนเองเพื่อที่จะปรับนิสัยไม่ฟัง ไม่อ่านอารมณ์ของลูกน้องให้ถูกต้อง เขาจ้างโค้ชส่วนตัวให้มาช่วยทำให้เขาเข้าใจ เห็นใจผู้อื่น สามารถฟังข้อมูลย้อนกลับได้

โค้ชได้เริ่มโปรแกรมแรกด้วยการส่งเขาไปพักผ่อนในประเทศที่ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาต้องสื่อสารด้วยปฏิกิริยาท่าทาง ต้องแสดงออกอย่างเปิดเผย และคอยสังเกตท่าทางของผู้คนที่เขาต้องติดต่อด้วย

เมื่อกลับมาจากพักผ่อน เขาได้ขอร้องให้โค้ชไปร่วมกับเขาในการประชุม หรือการเรียกลูกน้องมาชี้แจงงานให้ฟัง และขอให้โค้ชให้ข้อมูลย้อนกลับแก่เขาภายหลังว่า เขาปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างไร เขาฟังลูกน้องอย่างไร

หลังจากนั้นเขาได้ถ่าย VDO การพบกับลูกน้องเพื่อสั่งงาน หรือเพื่อการประชุม แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับโค้ชภายหลัง เพื่อการเรียนรู้และการปรับปรุงตัวเอง

ด้วยความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา EQ ของนักบริหารคนนี้ หลังการฝึกอบรมผ่านกระบวนการดังกล่าวมา ทำให้ EQ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานในภาพรวมของเขาด้วยในทางดีขึ้น

ผู้บริหารสามารถฝึกฝนด้วยตนเองได้หรือไม่?

การแก้ไขพฤติกรรมของตนเองนั้นแท้จริงแล้วสำคัญที่สุดคือตัวผู้เป็นเจ้าของพฤติกรรมนั้นจะยินยอมด้วยใจของตนเอง ดังนั้นการพัฒนา EQ ด้วยตนเองนั้นย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน

บทสวดเกี่ยวกับพระธรรมนั้น ท่อนหนึ่งบอกว่า โอปนยิโก ปัจจัตตัง หมายความว่า น้อมนำธรรมเข้ามาคิดวิเคราะห์ตนเอง ถือว่าสำคัญมาก ถ้าคนเราวิเคราะห์อารมณ์ และการแสดงอารมณ์ของเราที่กระทำต่อคนอื่นอย่างเห็นใจเข้าใจเขาและเรา อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันตรัสว่า การแก้ปัญหาภาคใต้นั้นต้อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

การพัฒนา EQ ก็เป็นเช่นเดียวกันคือ ต้องเข้าใจเขา เข้าใจเรา ในแง่ของอารมณ์และการแสดงอารมณ์ ต้องเข้าถึงจิตใจของเขา คือต้องปฏิบัติต่อเขาให้ได้อารมณ์พึงประสงค์ของเขามา และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเราและเขาต้องดำเนินการต่อไปในอนาคตด้วย

การฝึกฝนด้วยตนเองย่อมสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่ผู้บริหารต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองในการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ตนเอง ต้องไม่มีอคติต่อตนเองและผู้อื่น ต้องมีสติรู้ตัวในขณะกำลังอยู่ในระหว่างติดต่องานกับลูกน้องว่า กำลังฝึกฝนตนเอง

ดังนั้นการฝึกฝนตนเองให้มีสติ มีความรวดเร็วในการรู้สึกตัวว่า กำลังทำอะไรอยู่ในขณะปัจจุบันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมี EQ

เท่าที่ได้กล่าวไปแล้วจะเห็นว่า ค่อนข้างจะยาก เพราะบางทีผู้บริหารมีสมาธิอยู่กับงานที่คุยกับลูกน้อง อาจจะลืมสติไปว่า กำลังจะต้องอดทนกับความเห็นต่างของลูกน้อง กำลังต้องสังเกตอารมณ์และท่าทางของลูกน้อง
หรือแม้จะมีสติกำหนดได้ แต่อาจจะมีอคติเห็นแต่สิ่งที่อยากเห็นคืออารมณ์ส่วนดีของลูกน้อง แต่ไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็นคืออารมณ์และท่าทางไม่สะดวกใจของลูกน้อง

ที่สำคัญคือในที่สุด ข้อมูลย้อนกลับที่ได้มาด้วยตนเองก็จะบิดเบือน
ผู้บริหารที่ตั้งใจเพิ่ม EQ อย่างจริงใจจึงควรมีโค้ชช่วย

โค้ชอาจจะเป็นใครก็ได้ที่ผู้บริหารสะดวกใจ อาจจะเป็นพนักงานในบังคับบัญชาก็ได้ เพราะสิ่งที่เขาจะต้องทำให้ผู้บริหารคือการให้ข้อมูลย้อนกลับ ตามที่ผู้บริหารจะกำหนดให้เขาเป็นแนวทางในการสังเกต

อย่างไรก็ตามถ้านักบริหารผู้ใดคิดที่จะฝึกตนเอง ด้วยตนเอง ผมคิดว่าการฝึกสมถะกรรมฐานน่าจะเป็นจุดเริ่มที่มีความเป็นไปได้ เพราะฝึกบ่อยๆ แล้วน่าจะทำให้มีสติตามทันกับอารมณ์

ยิ่งสามารถก้าวไปถึงระดับฝึกวิปัสสนากรรมฐานได้ก็จะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก เพราะจะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น เข้าใจตนเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย ทำให้มี Self Awareness และ Empathy อันเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญของคนที่มี EQ สูง

ยิ่งหากว่ายึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการบริหารด้วยก็จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นอีกในการชักจูงใจลูกน้อง

นั่นคือ เมตตา เขาเมื่อเห็นว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา
กรุณาต่อเขา เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าเรา
มุทิตาต่อเขา เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าเรา
ทั้ง 3 ประการนี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องอยู่กับอารมณ์เชิงบวก ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าอกเข้าใจเขา (Empathy) และเป็นทักษะทางสังคม (Social Skills) ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความรักความนับถือต่อผู้บริหาร

แต่หัวข้อธรรมสุดท้ายในหมวดนี้คือ อุเบกขา เป็นการใช้ปัญญาที่ต้องเข้าใจเหตุผล หลักการ และปฏิบัติตามความถูกต้องของหลักการและเหตุผลนั้น

ผู้บริหารต้องตัดสินใจด้วยอุเบกขา คือใช้ปัญญา เหตุผล และหลักการ ไม่ใช่ตัดสินตามความเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์

ถ้าเขาทำผิดจากกฎ ระเบียบ นโยบาย เราต้องใช้อุเบกขาเมื่อเขาจะต้องรับวิบากกรรมที่เขาได้กระทำไป การช่วยเหลือด้วยความกรุณาเพื่อให้เขาไม่ต้องรับวิบากกรรมจึงไม่ถูกต้องตามพรหมวิหารธรรม

การใช้พรหมวิหาร 4 จึงเป็นการใช้สมองทั้งส่วนที่เป็น Limbic System และ Prefrontal Cortex คือใช้ทั้งปัญญาและอารมณ์นั่นเอง

ปัจจุบันนี้ได้มีรายงานการวิจัยโดยนักจิตวิทยาชื่อ ริชาร์ด เดวิดสัน (Richard Davidson) พบว่า พฤติกรรมของคนเราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองได้ เช่น คนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงเป็นโทษต่อบุคคลมานั้น สมองส่วนที่เรียกว่าPrefrontal cortex จะได้รับการกระตุ้นสูงมากกว่าปกติ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า Prefrontal cortex เกิดการตรวจสอบเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านั้น (สิ่งเร้า) และสร้างกลไกเพื่อปรับตัวและแก้ไขให้เหตุการณ์เป็นด้านมีคุณต่อตนเอง (การตอบสนอง)

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจึงมีผลทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ในสมองเปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น Prefrontal cortex หรือ Amigdala ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นอารมณ์กลัวทำให้ตอบสนองในเชิงการหนีภัย นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ยังพบอีกว่า เส้นประสาทส่วนที่เชื่อมต่อระหว่าง Prefrontal cortex กับ Amigdala มีความแข็งแรงขึ้นถ้าถูกกระตุ้นบ่อยๆ แสดงว่า เมื่อการกระทำพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปสมองจะเปลี่ยนแปลงตามไป
ดังนั้นในยามที่เราอยากจะมีความสุข อารมณ์ดี เราจึงควรกระทำพฤติกรรมแสดงความสุข อารมณ์ดี แล้วการทำงานของสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมนั้น

หมายความว่าคำคมที่ฝรั่งพูดว่า I don’t sing because I’m happy, I’m happy because I sing. (ฉันไม่ได้ร้องเพลงเพราะว่าฉันมีความสุข แต่ฉันมีความสุขเพราะฉันได้ร้องเพลงต่างหาก) เป็นความจริงตามการวิจัยของริชาร์ดสันที่กล่าวมา

สรุปว่า การพัฒนา EQ ทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกเสียก่อน แล้วความคิดและจิตใจความเป็น EQ จะสูงขึ้นตามมาได้
นั่นคือ การฝึกสติให้สามารถจับอารมณ์ได้รวดเร็ว การแสดงออกให้คู่สัมพันธ์ของเรารู้ว่าเราเห็นใจและเข้าใจเขา เราควบคุมอารมณ์ตนเองได้ การยิ้ม การหัวเราะ ฯลฯ พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้อารมณ์ความรู้สึกภายในของเราเปลี่ยนแปลงตามการแสดงออกไปด้วย




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2551 23:17:22 น.   
Counter : 887 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com