Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
เวียดนาม (17) : พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง

[ภาพ-เล่า-เรื่อง]


[อ่าน ท่องเที่ยว เวียดนาม ตอนอื่น ๆ]

<< ตอนที่แล้ว

ตอนต่อไป >>





จากเมืองฮอยอัน พวกเราเดินทางย้อนกลับมาที่ดานัง (หลังจากที่นั่งรถผ่านไปโดยยังไม่ได้แวะเยี่ยมชม) เพื่อขึ้นเครื่องบินไปเมืองไซ่ง่อน แต่ก่อนจะไปสนามบิน พวกเราแวะกันที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม (Museum of Cham Sculpture) กันก่อน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) โดย อองรี ปาร์มองติเอร์ (Henri Parmentier) นักประวัติศาสตร์ศิลปะจาม และ หัวหน้าแผนกโบราณคดีของ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient) เพื่อเก็บรวบรวมประติมากรรม ศิลปะวัตถุ จากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรจามปาอันรุ่งเรือง

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส คือ Delaval กับ Auclair ซึ่งได้ประยุกต์เอาองค์ประกอบในศิลปะจาม มาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส ในตอนแรกสร้างไว้ไม่ใหญ่นัก แต่ต่อมามีการค้นพบโบราณวัตถุมากขึ้น จนในราวปี พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935) ต้องขยายอาคารออกไปอีก และทำพิธีเปิดเป็นทางการในปีต่อมา โดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่า Musée Henri Parmentier



เมื่อผ่านประตูทางเข้า ก่อนถึงอาคารจะเห็นรูปสลักอยู่ทั้งสองข้างยืนอยู่ ข้าพเจ้าฟังไกด์ไม่ทัน ไม่ทราบว่าคืออะไร แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า น่าจะเป็นหินที่สลักเป็นรูปเทพทวารบาล ซึ่งตามคติความเชื่อนั้น จะสร้างไว้ที่ประตูทางเข้าออก เพื่อช่วยปกป้อง รักษาสถานที่



อาณาจักรจามปา เป็นอาณาจักรโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 (บ้างก็ว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เพราะ ในช่วงแรก ความสัมพันธ์กับอาณาจักร Lâm Ấp ยังไม่ชัดเจน) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นตอนกลาง และ ตอนใต้ของเวียดนามปัจจุบัน มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15



หลังจากนั้นอาณาจักรจามปาก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง มีศึกสงครามกับอาณาจักรไดเวียด (Đại Việt) ทางเหนือ และ เขมรทางใต้ ตลอด แพ้บ้างชนะบ้าง (ที่ชนะนี่ก็เคยบุกไปถึงนครวัดมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ช่วงหลัง ๆ จะแพ้)

ปี พ.ศ. 2014 (ค.ศ. 1471) จักรพรรดิ์เลถั่นตอง (Lê Thánh Tông) ของเวียดนามสามารถตีเมืองหลวงของอาณาจักรจามปาแตกได้ และในที่สุด จักรพรรดิ์มิงห์หม่าง (Minh Mạng) ก็ผนวกดินแดนส่วนที่เหลือของจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม กลืนชาติชาวจามไปในปี พ.ศ. 2375 (ค.ศ. 1832)



วัฒนธรรมของอาณาจักรจามปานั้น ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งไศวนิกาย (ซึ่งบูชาพระศิวะ) มาตั้งแต่ต้น ศาสนาพุทธนิกายมหายานมีอิทธิพลเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 แต่หลังจากนั้นศาสนาฮินดูก็กลับมาเป็นศาสนาหลักอีกครั้ง

ศาสนาอิสลามเริ่มเข้าสู่อาณาจักรจามในพุทธศตวรรษที่ 15 จากการค้าขายกับชาวอาหรับ แต่ก็ไม่แพร่หลายมากนัก ศาสนาฮินดูยังคงเป็นศาสนาหลักอยู่ แต่ต่อมาหลังจากที่อาณาจักรจามแพ้เวียดนามในปี พ.ศ. 2014 (ค.ศ. 1471) ศาสนาอิสลามก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ราชวงศ์ของกษัตริย์แห่งจามปาก็ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันนี้ แม้ว่าชาว(เวียดนามเชื้อสาย)จามส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ทว่า สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมฮินดูนั้น ก็ยังคงมีอิทธิพลกับชาวจามอยู่ค่อนข้างมาก



พิพิธภัณฑ์ชั้นบนจะมีภาพแสดงชีวิตของชาวจามในปัจจุบัน ข้าพเจ้าแวะขึ้นไปชมในส่วนนี้ก่อน (ภาพถ่ายใน blog entry นี้ก็ถ่ายจากภาพถ่ายที่แสดงในห้องนี้อีกที)







จะเห็นได้ว่า ชาวจามมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกับชาวเวียดนามส่วนใหญ่เลย ออกจะคล้าย ๆ ทางกัมพูชา และ ทางอีสานบ้านเราด้วยซ้ำ







ทางพิพิธภัณฑ์จะแสดงศิลปวัตถุในห้องต่าง ๆ ตามยุคสมัยของอาณาจักรจามปา ซึ่งโบราณวัตถุทั้งหมดที่มีมากกว่า 300 ชิ้นนี้ ผู้เข้าชมสามารถถ่ายรูปได้

ข้าพเจ้าขอแสดงภาพให้ชมเป็นบางส่วนเท่านั้น



ศิวลึงค์ หรือ รูปนิมิตแทนองค์พระศิวะ ซึ่งทำเป็นรูปคล้ายอวัยวะเพศชาย เป็นศิลปวัตถุที่พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมฮินดู



แต่อันที่เป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมจาม ที่มีแนวการสร้างที่ไม่มีแม้แต่ในอินเดีย (เค้าว่ามาแบบนี้นะ ข้าพเจ้าไม่เคยไปอินเดียเหมือนกัน เคยไปแต่ศรีลังกา) คือการสร้างศิวลึงค์ศิลาบนฐานโยนีทรงกลม แล้วรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าเป็นศิลปะแบบจ่าเกี่ยว (Trà Kiệu) มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 16



ที่รอบฐานสี่เหลี่ยม ทางหนึ่งสลักเป็นภาพนูนต่ำ เป็นนางอัปสรกำลังร่ายรำ



ลองมองดูอีกครั้ง ที่ด้านหนึ่งของฐานสี่เหลี่ยม สลักภาพนูนต่ำเล่าเรื่องราวของคนผู้หนึ่งกำลังยกคันธนูขึ้น ผู้รู้ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นภาพเหตุการณ์ในรามเกียรติ์ ตอนที่พระรามยกธนูโมลี (หนักพันแรงคนยก) และพบรักกับนางสีดา



บางครั้ง ที่ฐานโยนีรูปกลมนั้น จะสลักตกแต่งเป็นรูปหน้าอกของสตรีไว้โดยรอบ





รูปสลักหินในศิลปะแบบจ่าเกี่ยว (Trà Kiệu) อีกชิ้นที่แนะนำ คือ The Trà Kiệu Dancer เป็นนางอัปสร กำลังร่ายรำในท่าที่มือซ้ายไปทางขวาของลำตัว มือขวาหักข้อศอก งอเข่าย่อตัวลง





หินสลักรูปครุฑ ศิลปะแบบเถิบเหมิ่ม (Thap Mam) สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 17



หินสลักรูปมังกร ในศิลปะแบบเถิบเหมิ่ม ซึ่งในจุดนี้แสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเวียดนาม ซึ่งบูชามังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์



พวกเราอยู่ที่นี่กันไม่ถึงชั่วโมง (ประมาณ 40 นาทีได้) ก็ต้องรีบเดินทางไปที่สนามบินดานัง (Đà Nẵng International Airport )







จุดหมายถัดไปคือ โฮจิมินห์ซิตี้ หรือ ไซ่ง่อน





<< ตอนที่แล้ว

ตอนต่อไป >>


[อ่าน ท่องเที่ยว เวียดนาม ตอนอื่น ๆ]



[ภาพ-เล่า-เรื่อง]


Create Date : 02 มีนาคม 2551
Last Update : 7 กรกฎาคม 2551 22:09:58 น. 7 comments
Counter : 4249 Pageviews.

 
ตามมาเที่ยว


โดย: หลังจอ วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:16:57:52 น.  

 
ตามไปเที่ยวด้วยครับ เวียตนามเป็นอีกปรเทศหนึ่งที่อยากไปมากๆ


โดย: กระต่ายไม่ขูดมะพร้าว วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:20:16:56 น.  

 
เอ...รูปที่มีคนเดินขึ้นไปปราสาทบนยอดเขากันเป็นสายยาว เค้าขึ้นไปทำพิธีอะไรกันหรือเปล่าคะ เหมือนเดินขึ้นเขาพนมรุ้งบ้านเราหรือเปล่า

รูปปั้นนางอัปสรร่ายรำของเค้าก็ดูอ่อนช้อยดีเนาะ


โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:10:06:50 น.  

 
ที่จริงข้าง ๆ รูปนางอัปสร จะมีการสลักรูปคนเล่นดนตรีด้วยครับ พอดีตอนนั้นไม่ได้ถ่ายไว้ เค้าว่ากันว่า เครื่องดนตรีที่เล่นดูคล้ายพิณเปี๊ยะของทางล้านนาด้วย

ส่วนคนเดินนั้น คุณ guide บอกว่า เป็นพิธีอะไรสักอย่าง แต่พอดีไม่ได้ตั้งใจฟัง เลยจำไม่ได้ ตอนหาข้อมูลก่อนเขียน entry นี้ ก็หาไม่ได้ว่า ตอนนี้เค้ามีประเพณีอะไรอยู่บ้าง แล้วก็จำไม่ได้ว่าภาพถ่ายนี้เป็นที่ไหน

คุณ Maple เคยไป My son มาแล้ว คล้าย ๆ กันไหมล่ะครับ


โดย: Plin, :-p วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:17:41:01 น.  

 
ตอนแรกที่ดูภาพก็คล้ายกันนะคะ แต่พอกลับไปดูรูปที่เคยถ่ายไว้ มันไม่ค่อยเหมือนกันซักเท่าไหร่ หมี่เซินจะตั้งอยู่บนผืนป่าซึ่งเป็นที่ราบท่ามกลางหุบเขาแวดล้อมน่ะค่ะ จำได้ว่าตอนที่ไปเที่ยวนั้นไกด์พาเดินผ่านป่าเข้าไปก่อนที่จะเจอกลุ่มโบราณสถาน มีปราสาทตั้งอยู่หลายหลังด้วยกัน ไม่ได้ตั้งอยู่บนภูเขาแบบภาพที่คุณ plin ถ่ายมา แต่ขอไม่ firm ก็แล้วกันนะคะ เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะมุมกล้อง หรืออาจเป็นส่วนอื่นๆที่ไกด์ไม่ได้พาไปดูก็เป็นได้

เสียดายจังที่ไม่ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมที่ดานัง ก่อนไปเที่ยวหมี่เซิน ไม่งั้นคงสนุกขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ


โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:17:00:35 น.  

 
ทำไมต้องสลักหน้าอกสตรีด้วยอ่ะ ไม่เห็นเป็นศิลปะตรงไหนเลย อย่างงี้ใครจะไปกล้ายืนดูล่ะ อายตายเลยค่ะ


โดย: เเสงตะวัน วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:0:06:59 น.  

 
สลักอกสตรี ไว้ที่ฐานโยนี แล้วมีศิวลึงค์ศิลาวางไว้ตรงกลาง

ศิวลึงค์ อยู่ กับ โยนี นี่ เป็นความเชื่อของไศวนิกาย

ในตอนนั้นเค้าคงไม่ได้มองเป็นศิลปะมั้งครับ คนภายหลังต่างหากที่ไปมองว่าจะเป็นหรือไม่เป็น คนทำเค้าคงมองอะไรในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

อย่างศิวลึงค์ สร้างเลียนแบบอวัยวะเพศชาย คนทำเค้าคงไม่ได้หมกมุ่นกับมัน แต่ในสมองเค้า เค้าคงเห็นว่าแบบนี้จะเป็นตัวแทนพระศิวะได้ ส่วนโยนีก็เหมือนกัน เค้าคงจะทำนองเดียวกัน การเพิ่มหน้าอกเข้าไป ก็น่าจะเป็นการเน้นความเป็นหญิง และ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์มากกว่า


โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog) IP: 58.8.96.81 วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:0:22:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.