Trilogie Nikopol - Love me Love my babe

Trilogie Nikopol - Love me Love my babe


     ฉันเคยเขียนคำนำในหนังสือแปลของตัวเองเล่มหนึ่งเอาไว้ว่า การแปลหนังสือเหมือนการรับลูกเล็กๆ ของคนอื่นมาเลี้ยงต่อ พอเลี้ยงดูอุ้มชูได้สักพักก็ต้องปล่อยสู่มือผู้อ่าน

     เด็กน้อยที่ฉันรับมาดูแลแต่ละเล่มจะมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ขณะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงอยู่แนบอกยามไกว ‘แปล’ ฉันจะดูออกว่า เด็กสร้างที่ปลุกปั้นอยู่ในมือจะมีอนาคตเป็นอย่างไร ใครจะชื่นชมรักใคร่รับไว้ในอ้อมใจ ใครจะเกลียดชังแช่งชักไม่สนใจแยแส

     เด็กหวานๆ ซึ้งๆ อย่าง “ปาฏิหาริย์รักต่างภพ” และบรรดาหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ติดตามมาเป็นพรวนของมาร์ค เลอวี ต้องถูกอกถูกใจนักอ่านชาวไทยที่ส่วนใหญ่จะชอบเด็กเรียบร้อยๆ นิ่มนวลน่ารัก ไม่มีฤทธิ์เดช ไม่มีอะไรให้ตกอกตกใจ (หรือปฏิเสธไม่รับวางขาย)

     ไอ้หนูแสนฉลาดหน้าทะเล้น “ทำอย่างไรให้โง่” กับแม่สาวน้อยหน้าใสหากซ่อนเล่ห์ลึก “ปั้นศิลปอให้เป็นศิลปิน” จากปลายปากกาของมาร์แต็ง ปาจ เหมาะสำหรับหนุ่มสาวผู้อัดอั้นคับข้อง รู้สึกสะกิดใจว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติในชีวิตประจำวัน แต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ครั้นจะเอ่ยตรงๆ ก็เกรงจะสื่อได้ไม่ถึง ผิดประเด็นหรือแรงเกินไป อารมณ์ขันเสียดสีเข้ามาทำหน้าที่ไขข้อข้องใจ ช่วยปลดปล่อยและสะท้อนความจริงให้เห็นชัดเจนเสมอ

     ส่วน “ฉันเคยรัก” และ “เพียงเรามีกัน แค่นั้นพอ” ของแอนนา กาวาลดา เป็นเด็กสาวชาวเมืองสมัยใหม่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เก๋ไก๋ กระชับฉับๆ ไม่นิยมการพูดพล่ามเยิ่นเย้อ เสนอมุมมองด้วยบทสนทนาฉลาดๆ ชวนติดตาม สัมผัสแล้วได้ความรู้สึกสดชื่น น่าจะถูกใจผู้ที่มีบุคลิกใกล้เคียงกัน

     ยิ่งเขียนยิ่งเหมือนแอบโฆษณางานตัวเองเข้าทุกทีแฮะ เล่มอื่นๆ ขอข้ามไปไม่แจกแจงนะคะ ตอนแรกตั้งใจจะดึงเด็กๆ ในสังกัดครั้งอดีตมาช่วยเบิกโรง เป็นอารัมภบทเปิดเรื่องเฉยๆ แต่เขียนไปเขียนมาชักจะยืดยาวเกินควร



     เข้าเรื่องดีกว่า … วันนี้ฉันอยากจะพูดถึง เด็กน้อยเล่มล่าสุดที่ฉันเพิ่งปล่อยตัวไปเพ่นพ่านซุกซนแถวๆ ร้านหนังสือบางร้าน แกชื่อ ไตรภาคนิโกโปล เป็นงานรวมการ์ตูนสามเล่มสามตอนจากหนังสือการ์ตูนระดับตำนานในยุโรป La Trilogie Nikopol ผลงานของนักเขียน นักวาดการ์ตูน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อกระฉ่อนของฝรั่งเศส เอ็นกิ บิลัล (Enki Bilal)

     (จะไม่เสียเวลาสารยายให้ข้อมูลซ้ำเกี่ยวกับชื่อเสียง ประวัติความเป็นมาและผลงานของบุรุษมากความสามารถผู้นี้นะคะ หลายคนอาจจะได้อ่านผ่านตาจากสื่อต่างๆ แบบกว้างๆ และได้รู้จักเขาแบบลึกๆ ในฟรีฟอร์มฉบับนี้แล้วอย่างละเอียดยิบแล้ว)

     ถ้าจะเปรียบหนังสือแปลเล่มนี้เป็นเด็กน้อย ไตรภาคนิโกโปลเป็นเด็กที่มีอิสรเสรีภาพเต็มเปี่ยม สมกับที่ “บิดาผู้ให้กำเนิด” ของแกตั้งใจไว้ เราจึงไม่สามารถนำกรอบใดๆ มากางกั้นไว้ไม่ให้แกปีนป่ายแหกคอกออกไปได้ ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ฉันนำเสนอเด็กน้อยเล่มนี้กับฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ฉันจึงบอกได้คร่าวๆ แค่

     ‘เป็นการ์ตูนค่ะ แต่ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก เป็นการ์ตูนผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่การ์ตูนโป๊ จะบอกว่าเป็นนิยายภาพ ก็ยังน้อยไป เพราะเนื้อหาเรื่องราวมีความซับซ้อนมากกว่าการเป็นแค่นิยายดาดๆ จะจัดให้เป็นวรรณกรรมก็ได้ แต่เป็นวรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เล่าเรื่องจากรูปประกอบด้วย และรูปประกอบก็ไม่ใช่ธรรมดา เป็นงานระดับศิลปะภาพวาด... เอ้อ... เอาเป็นว่า เดี๋ยวพอแปลเสร็จ ลองดูก็แล้วกันนะคะ’

     ดังนี้เอง “วรรณกรรมกราฟิกไซไฟ-แฟนตาซี” คำจำกัดความที่เพียรพยายามสรรหามากำหนดเด็กน้อยผู้มีคุณสมบัติแพรวพราวเล่มนี้ให้รวบรัดได้ใจความที่สุดจึงยาวเหยียด เนื่องจากไม่เคยมีถ้อยคำใดหรืองานแบบนี้ปรากฏให้อ้างอิงถึงในบ้านเรา ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงได้ลึกล้ำแปลกประหลาดหลุดจากความคุ้นชินขนาดนั้น คงต้องสืบสาวไปตั้งแต่รากเหง้าต้นตอ


     วิธีอธิบายที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด คือการแนะนำให้รู้จักกับคำว่า Bande dessinée (บองด์ เดสซิเน) คำภาษาฝรั่งเศสคำนี้แปลตรงๆ ได้ว่า แถบที่มีการวาดรูปใส่ลงไป (bande = แถบ, dessinée = ถูกวาด) เห็นได้ว่าเป็นคำผสมที่ไม่มีความหมายแฝงเร้นใดๆ ว่าจะต้องเป็นเรื่องเบาๆ เปิดให้นักวาดนักเล่าเรื่องฝรั่งเศสมีอิสระในการใส่เรื่องราวทั้งสุขทั้งโศก หรือสนุกสนานเฮฮาลงไปโดยไม่ผิดกติกา (ที่ใครตั้งก็ไม่รู้) และเปิดจิตใจให้คนอ่านไม่ครอบกะลาตัดสินล่วงหน้าว่าพอเป็นงาน Bande dessinée แล้ว จะต้องสื่อเรื่องราวอะไรเป็นปฐม

     ขณะที่คำเทียบเคียงในภาษาอังกฤษว่า comic strip ฟังแล้วรู้สึกถึงมุกเบาสมองวาดลงช่องๆ เป็นแถบๆ (กันหรือเปล่าคะ - ฉันคงไม่ได้รู้สึกไปคนเดียวกระมัง) ทั้งนี้เป็นเพราะเจ้าคำว่า comic (ตลก น่าขบขัน น่าหัวร่อ)ทีเดียวเชียว ส่วนคำว่า cartoon ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ต้องขุดค้นหารากศัพท์อะไรที่ไหนมายืนยัน ได้ยินปุ๊บ ความจริงจังหดหายปั๊บ ถูกลดระดับไปให้เป็นหนังสือไร้สาระสำหรับเด็กไม่ประสาในทันที ทั้งๆ ที่การ์ตูนหลายเล่มมี “อะไร” มากกว่านั้น

     กวีหนุ่มปุถุชน ซะการีย์ยา อมตยา น้องชายสหายสนิทที่แลกเปลี่ยนสนทนาผ่านเอ็มเอสเอ็นกันอย่างสม่ำเสมอให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การดำเนินเรื่องและความต่อเนื่องของภาพในไตรภาคนิโกโปลแตกต่างจากมังก้าญี่ปุ่นหรือคอมิคส์อเมริกันที่เราๆ คุ้นเคย งานการ์ตูนจากสองประเทศดังกล่าววาดภาพเหมือนจะให้แทนฟิล์ม เราจะชินกับชิ้นภาพที่ต่อๆ กัน อ่านแล้วไม่ต้องคิด ไม่ต้องตั้งข้อสงสัย ส่วนนิโกโปล เราจะไม่เห็นทุกเฟรม แต่เห็นเป็นภาพที่ฉายบนจอ ต้องใช้จินตนาการ ชวนให้ขบคิด ไม่บอกตรงๆ

     ผู้ที่อ่านแล้วคนอื่นเห็นเป็นอย่างไร จะเขียนมาเล่าให้ฟังก็ได้นะคะ




     สำหรับประเด็นที่ว่าภาพเปลือยเจ้ากรรมที่ปรากฏในเล่มเป็นศิลปะหรืออนาจารกันแน่ ขอกล่าวผ่านเรื่องส่วนตัวสั้นๆ

     ตอนไปปารีสครั้งที่แล้ว ฉันมีโอกาสไปเดินเล่นเย็นใจ มือถ่ายรูป หูฟังเครื่องบรรยายข้อมูลประวัติของงานศิลปะชิ้นต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์อ็อกเซย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่ามูเซด็อกเซย์ (Musée d’Orsay)

     พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมงานประติมากรรมงานปั้นชั้นเลิศของปรมาจารย์ชั้นครูของฝรั่งเศสและยุโรปตั้งแต่อดีตย้อนไปถึงยุคแรกเริ่มของศิลปะแขนงนี้มาจัดแสดงให้ชมกัน งานปั้นหลายชิ้นเป็นรูปผู้หญิงเปลือยอก พันผ้าผืนน้อยบางเบา (แต่ทำจากหินอ่อนทึบ) ที่สมจริงจนน่าประทับใจในความละเอียดอ่อนของศิลปิน

     หากไม่ได้ฟังคำบรรยายจากเครื่องหน้าตาเหมือนมือถือรุ่นกระติกน้ำที่แนบข้างหู ฉันคงไม่ได้รู้ว่า รูปปั้นเปลือยร่างเปิดอกเปิดเผยเนื้อตัวเหล่านี้ เคยถูกเหยียดหยามและถูกปฏิเสธจากคณะผู้ทรงเกียรติผู้กุมอำนาจทั้งการปกครองและการกำหนดรสนิยมของทวยราษฎรขนาดไหน กว่าจะได้กลับมาตั้งเด่นเป็นสง่ากลางพิพิธภัณฑ์ใหญ่ระดับชาติในฐานะงานศิลปะชั้นเยี่ยมแบบนี้ ต้องอดทนรอคอยเนิ่นนานนับร้อยปี

     ต้องใช้เวลายาวนานหนึ่งถึงสองร้อยปีสำหรับการชำระล้างความดักดาน

     ข้อมูลนี้ทำให้ฉันมีความหวัง เบาใจขึ้นบ้างว่า การเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ การเปิดให้แสดงออกทางศิลปะอย่างเสรีไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แม้แต่ในฝรั่งเศสเอง เมื่อสองร้อยปีก่อน เคยมีการเซ็นเซ่อ มีการกระทำอันแสดงถึงการปิดหูปิดตา และพยายามปาดป่ายยื่นมือไปปิดใจคนอื่นเช่นกัน

     เบาใจสักพักก็พลันหนักใจ ประเทศจุดจุดจุดไม่ใกล้ไม่ไกลแถวนี้จะต้องรอจนถึง พ.ศ. 2750 เชียวหรือ ถึงจะได้มีวันนั้น



     แล้วฉันจะรอไหวมั้ยเนี่ย








Create Date : 30 ตุลาคม 2550
Last Update : 30 ตุลาคม 2550 12:16:21 น. 0 comments
Counter : 1478 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.