bloggang.com mainmenu search


กำลังจะตกงาน จัดการภาระผ่อนบ้านยังไงดี ? กำลังจะตกงาน จัดการภาระผ่อนบ้านยังไงดี ?
Money Hub

สนับสนุนเนื้อหา

ช่วงนี้อาจจะมีหลายๆ คนที่ประสบปัญหาหรือสภาวะที่เศรษฐกิจส่วนตัวไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยมีก็อาจจะมีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะค่าเลี้ยงดูลูก ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งของตัวเองและคนภายในครอบครัว หรือไม่ก็รายได้ประจำที่เคยมี แต่ด้วยเหตุผลของบริษัทก็อาจจะทำให้เราต้องออกจากงาน ไม่มีรายได้มาใช้ผ่อนบ้านเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหากใครที่กำลังประสบภาวะแบบนี้อย่าเพิ่งท้อหรือหมดกำลังใจกัน ทุกปัญหามีทางออกเสมอ

เอาเป็นว่าถ้ารู้ตัวว่ากำลังจะตกงานเราก็ต้องมาเริ่มที่ตัวเองก่อน คือ ไปติดต่อกับสำนักงานจัดหางานที่ใกล้  เน้นนะว่าสำนักงานจัดหางาน ไม่ใช่สำนักงานประกันสังคม เพื่อไปขอเงินทดแทนเนื่องจากว่างงาน ซึ่งถ้าเงินเดือนเราเกิน 15,000 บาท เราก็จะได้เงินทดแทนประมาณเดือนละ 4,500 บาท 3 เดือนมาใช้ช่วงที่ไม่มีงานทำ และก็เผื่อไว้หากจะไม่ได้ทำงานประจำก็ควรที่จะต้องไปยื่นใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ก่อน

จบจากเรื่องส่วนตัวก็มาถึงเรื่องภาระหนี้สินก้อนใหญ่ของเรากัน นั่นก็คือ การผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาระก้อนโตและมีระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น  มาดูวิธีจัดการปัญหากันดีกว่า เริ่มแรกเราต้องติดต่อธนาคารตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เรายังเป็นลูกหนี้ที่ดีกับธนาคารอยู่ เพราะการพูดคุยเจรจาต่างๆ จะทำได้ง่าย ประวัติของเราที่จะแสดงในเครดิตบูโรก็จะไม่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย ดังนั้นมาเริ่มกันเลย ซึ่งเมื่อเราติดต่อไปที่ธนาคารแล้วธนาคารก็จะมีทางเลือกให้เรา 3 ทางเลือก เป็นอะไรบ้างมาดูกัน

ทางเลือกแรก ที่ธนาคารจะเสนอให้เรา คือ การปรับลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน วิธีนี้จะเป็นการลดเงินที่ต้องผ่อนลง เช่น จากเดิมที่เราต้องผ่อนบ้านเดือนละ 18,000 บาท ก็จะเหลือประมาณเดือนละ 10,500 บาท ระยะเวลาสูงสุดได้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคารจะอนุมัติมาให้เราอาจจะเป็น 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ว่ากันไป วิธีนี้เราจะไม่เสียประวัติในเครดิตบูโร สถานะบัญชีของเราก็ยังเป็นบัญชีปกติเหมือนเดิม และพอพ้นระยะเวลา 1-2 ปี ที่ธนาคารปรับลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนแต่ละเดือนไปแล้ว เราก็ต้องกลับไปผ่อนที่เดือนละ 18,000 บาทเหมือนเดิม

ทางเลือกที่สอง ธนาคารก็อาจจะเสนอให้เราก็คือ การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งวิธีนี้จำนวนเงินที่ผ่อนแต่ละเดือนนั้น จะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่เราผ่อนเลยทีเดียว ตามตัวอย่างเดิมที่เราเคยผ่อนอยู่เดือนละ 18,000 บาท ก็อาจจลดลงเหลือเดือนละ 5,000-7,000 บาท เป็นระยะเวลา 1-2 ปี ซึ่งวิธีนี้ธนาคารก็อาจจะเข้ามาคุยกับเราว่าถ้าลดจำนวนเงินผ่อนให้เหลือเท่านี้ยังจะผ่อนไหวอยู่หรือเปล่า

ถ้าธนาคารลดจำนวนเงินผ่อนในแต่ละเดือนให้เหลือเท่านี้แล้ว เรายังผ่อนไม่ไหวก็ต้องบอกธนาคารไปว่าเราสามารถผ่อนได้ที่จำนวนเท่าไร ถ้าไม่น้อยมากจนเกินไปธนาคารก็อาจจะลดลงให้ได้อีก แต่ด้วยวิธีนี้ประวัติในเครดิตบูโรของเราจะถูกปรับเป็นบัญชีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็อาจจะมีผลต่อการขอสินเชื่อของเราในอนาคตได้

มาถึงทางเลือกสุดท้าย ที่เราสุดจะยื้อแล้วและหากบ้านหลังนี้ไม่มีเราก็ยังมีที่อื่นให้อยู่ได้อีก หรือว่าตั้งใจขายแล้วก็ยังขายไม่ออกแถมโดนกดราคาอีกต่างหาก และพอขายได้ก็ยังต้องหาเงินมาใช้หนี้อีกถึงจะปิดบัญชีได้  ธนาคารก็อาจจะเสนอให้ขายบ้านคืนให้กับธนาคารได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นวิธีนี้ธนาคารจะซื้อบ้านคืนด้วยยอดหนี้ที่เราค้างอยู่กับธนาคาร เราจะไม่ได้ส่วนต่างที่เราผ่อนไปตั้งมากมายคืนเลย เช่น

บ้านของเราราคา 3 ล้านบาท ผ่อนมาได้ 5 ปี เหลือเป็นหนี้ค้างอยู่กับธนาคารทั้งหมด 2.5 ล้านบาท ธนาคารก็จะรับซื้อคืนที่ 2.5 ล้านบาท เราก็จะไม่ได้เงิน 5 แสนที่เป็นส่วนต่างกลับมา แต่เราจะไม่มีภาระหนี้สินกับธนาคารอีกเลย อีกทั้งวิธีนี้ประวัติในเครดิตบูโรของเราก็จะถูกปรับเป็น บัญชีโอนหนี้คืนธนาคาร ซึ่งจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตได้เหมือนกัน

แต่อย่าลืมกันนะว่าให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ คือ ให้ติดต่อธนาคารก่อนที่เราจะเป็นหนี้เสีย เพราะบัญชีปกติธนาคารจะช่วยดำเนินการให้เราได้ง่ายกว่า บัญชีที่เป็นหนี้เสียเพราะถ้าเป็นหนี้เสียไปแล้วธนาคารก็อาจจะมีขั้นตอนในการดำเนินการที่ยุ่งยากมากไปกว่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าเรากำลังจะมีปัญหาอย่ากลัวที่จะเข้าไปคุยกับธนาคาร ทุกปัญหามีทางออกเสมอ

Create Date :11 พฤษภาคม 2559 Last Update :11 พฤษภาคม 2559 8:30:55 น. Counter : 683 Pageviews. Comments :0