bloggang.com mainmenu search




สปท.ลงมติท่วมท้นขึ้นภาษีน้ำอัดลมชาเขียว นมเปรี้ยว 20-25% ส่งให้ครม.พิจารณาดำเนินการระบุคนไทยกินน้ำตาลติดอันดับโลก เสี่ยงโรคอ้วน ความดัน คาดได้เงินเข้ารัฐ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.59 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. เรื่อง "การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ" มีสาระสำคัญคือการเสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลืองที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยเสนอจัดเก็บภาษี 2 อัตราตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาล 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีก และปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลงเนื่องจากคนไทยบริโภคน้ำตาลมากเป็นอันดับ 9 ของโลก เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร การขึ้นภาษีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงมหาดไทยควบคุมการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชคของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพื่อควบคุมการกระตุ้นการบริโภคที่มีน้ำตาลควบคู่ไปด้วย

จากนั้นสมาชิก สปท.หลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ นายกษิต ภิรมย์ เห็นว่า ควรใช้วิธีรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานแทนการขึ้นภาษีเพราะเป็นการผลักดันภาระให้ผู้บริโภค ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ สปท. กล่าวว่า การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ในลักษณะเช่นเดียวกับบุหรี่ สุรา เชื่อว่าคนไทยคงรับไม่ได้ และข้อมูลที่ระบุว่า ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันนั้น ขอถามว่าเป็นผลวิจัยที่มีความครอบคลุมหรือไม่ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ไม่ได้มีผลมาจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นมาร่วมด้วย เช่น อาหารกรรมพันธุ์ควรมีการวิจัยให้ลงลึกไปกว่านี้ เพราะถึงอย่างไรน้ำตาลยังมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปท.อภิปรายครบถ้วนแล้วที่ประชุมสปท.ลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 153 ต่อ 2 งดออกเสียง 6 โดยให้ส่งรายงานต่อ ครม.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป


เดบิท - //www.thairath.co.th/content/611444
Create Date :28 เมษายน 2559 Last Update :28 เมษายน 2559 8:52:20 น. Counter : 641 Pageviews. Comments :0