bloggang.com mainmenu search
ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยรอบล่าสุด นอกจากยืดเยื้อยาวนาน ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง

หากนับตั้งแต่ 30 พ.ย.2556 - 14 พ.ค.2557 มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 25 คน บาดเจ็บกว่า 783 คน

การกระทำอันอุกอาจต่อประชาชนครั้งล่าสุด เป็นสิ่งที่กองทัพไม่อาจจะนิ่งเฉยได้ล่าสุด ผบ.ทบ.จึงได้มอบหมายให้รองโฆษกกองทัพบก แถลงความเห็นต่อสถานการณ์ โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า “...ขอเตือนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้หยุดการกระทำนั้น ตั้งแต่บัดนี้ เพราะหากสถานการณ์ยังคง มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติ”

หลังการแถลงของกองทัพบกในสังคม ก็มีการตีความไปมากมายกับสัญญาณจากฝ่ายกองทัพ บ้างก็บอกว่าทหารพร้อมที่จะทำปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่อย่างไร?

หากตีความจากถ้อยแถลงของ ผบ.ทบ.ก็ต้องบอกว่าแม้แถลงการณ์ดังกล่าวจะมีความแข็งกร้าว แต่ก็เป็นการแข็งกร้าวต่อผู้ที่กระทำความผิด และเป็นเสมือนคำเตือนที่ปรามการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งสองฝ่าย ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าม็อบชนม็อบได้ตามจังหวะการขู่ยกระดับมวลชนของกลุ่ม นปช.รวมทั้งฝั่ง กปปส.ก็ประกาศท่าทีเตรียมปฏิวัติประชาชน หากวุฒิสภาไม่ดำเนินการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง ตามมาตรา 7

กงล้อประวัติศาสตร์มักหมุนซ้ำรอยเดิม แต่ใช่ว่าจะลงเอยเหมือนเดิมทุกครั้งเสมอไป แม้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้บันทึกว่าระหว่างวันที่ 18 - 20 พ.ค.ของปีที่ผ่านๆมาเคยเกิดความรุนแรงทางการเมืองมาแล้ว ทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 และในปี 2553 ที่เกิดการจราจลกลางสี่แยกราชประสงค์และสถานที่ต่างๆรอบกรุงเทพฯมาแล้ว แต่สมมุติฐานที่มีการพูดถึงในขณะนี้ก็คือการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ในกรณีที่เกิดความรุนแรง มีการปะทะกันของมวลชน หรือมีการใช้อาวุธสงครามจำนวนมาก

ภาคเอกชนก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างแตกต่าง คนแรกเป็นเอกชนที่คร่ำหวอดในวงการส่งออก เขาบอกว่ากฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือทางกฎหมายอย่างหนึ่งและเชื่อว่าทหารเองมีบทเรียนเพียงพอที่จะไม่ทำอะไรรุนแรงเกินกว่าเหตุเพราะรู้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูไทยอยู่ทุกขณะ หากใช้กฎอัยการศึกแล้วสามารถนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยและมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มได้ก็จะส่งผลดีต่อประเทศที่จะก้าวเดินออกไปจากมุมอับได้

ส่วนภาคเอกชนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวยอมรับว่ามีความกังวลต่อเรื่องนี้ไม่น้อยเพราะเกรงว่าหากประกาศใช้กฎอัยการศึกตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยจะลดลง กรุ๊ปทัวร์จะยกเลิกเดินทางมาประเทศไทยเพราะมองว่าดีกรีการใช้กฎอัยการศึกเข้มข้นกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ค่าประกันภัยการท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ภาคเอกชนเห็นตรงกันคือ หากมีความจำเป็นและกฎอัยการศึก สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ ย่อมดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

การแก้ปัญหาตามหลังจะยากกว่าการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น


//www.bangkokbiznews.com


Create Date :20 พฤษภาคม 2557 Last Update :20 พฤษภาคม 2557 7:21:56 น. Counter : 1059 Pageviews. Comments :0