บทสัมภาษณ์ ฟูชิโกะ ฟูชิโอะ ผู้เขียนโดราเอมอน
จากนิตยสารโลกหนังสือ ปีที่6 ฉบับที่7 เมษายน 2526 (ผมซื้อมาจากร้านหนังสือเก่าน่ะครับ) สัมภาษณ์โดย กวี บ้านไท และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- ฟูชิโกะ ฟูชิโอะเป็นนามปากกาของนักวาดการ์ตูน 2 คน คือ ฟูจิโมะโตะ ฮิโระชิ และ อะบิโกะ โมะโตะโอะ -

โลกหนังสือ - มีความรู้สึกอย่างไรบ้างที่การ์ตูนโดราเอมอน ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย
ฟูจิโมะโตะ - เคยมีคนเคยถามคำถามนี้มาก่อน* รู้สึกดีมากที่ประเทศซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมต่างกันสามารถเข้าใจและได้รับความบันเทิงจากการ์ตูนโดราเอมอน (*สถานีโทรทัศน์ NHK ได้รายงานเกี่ยวกับการ์ตูนโดราเอมอนในเมืองไทย 2 วันก่อนที่โลกหนังสือจะขอเข้าสัมภาษณ์ที่โตเกียว)
โลกหนังสือ – นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีประเทศอื่นที่การ์ตูนโดราเอมอนได้รับความนิยมอีกบ้างไหม
อะบิโกะ – ดูเหมือนจะมีที่ฮ่องกง เพราะตอนที่ผมไปเที่ยวที่ฮ่องกง เคยเห็นการ์ตูนโดราเอมอนวางขายอยู่บนแผงหนังสือ
โลกหนังสือ – ไม่ทราบว่าคุณทั้งสองได้รับอิทธิพลในการวาดการ์ตูนมาจากใคร
ฟูจิโมะโตะ – ผมได้รับอิทธิพลการเขียนการ์ตูนมาจากอาจารย์ เทจซือคะ โอะซามู(เทจซือคะ โอะซามู เป็นผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนสมัยใหม่คนสำคัญของประเทศญี่ปุ่น เจ้าของผลงาน เจ้าหนูปรมาณู และหนูน้อยเจ้าป่า)
โลกหนังสือ – เราแปลกใจมากที่มาเห็นคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่อ่านการ์ตูนกันมากผิดปกติ อยากทราบว่ามีเหตุผลอะไรบ้าง
อะบิโกะ – ถ้าจะให้อธิบายโดยละเอียดคงกินเวลานานมาก ประเทศญี่ปุ่นมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือชอบอ่านการ์ตูน มันเป็นเรื่องของความเคยชิน แล้วอ่านเสียจนติดใจ
ฟูชิโอะ – ในสมัยก่อน การ์ตูนเป็นสิ่งสำหรับเด็ก แต่ใยปัจจุบันที่มีผู้ใหญ่นิยมกันมาก ก็อาจเป็นเพราะเนื้อหาเทคนิคการวาดการ์ตูนนั้นดีขึ้น จนถูกใจคนอ่านที่เป็นผู้ใหญ่
โลกหนังสือ – ทำไมการ์ตูนของคุณทั้งสองมักมีลักษณะบิดเบี้ยว(deform) ตัวอย่างเช่น โอะบะคิว(ผีน้อยคิวทาโร่มั้ง – จขบ.) และโดราเอมอน
ฟูซิโกะ – การ์ตูนของเราเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ตัวละครจึงเป็นเด็กๆ มีลักษณะกลมๆเพราะความรู้สึกของรูปร่างกลมนั้นเป็นคุณสมบัติของเด็กๆ เป็นความรู้สึกที่น่ารักอ่อนโยน และเต็มไปด้วยมิตรภาพ
โลกหนังสือ – คุณทั้งสองมีความเข้าใจเด็กณี่ปุ่นดี คุณมีความเห็นเกี่ยวกับเด็กญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่างไร
ฟูจิโกะ – พูดถึงเด็กญี่ปุ่นในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กญี่ปุ่นในสมัยก่อนแล้ว เด็กญี่ปุ่นสมัยนี้ไม่ค่อยมีความอดทน และมารยาทเลวลงมาก นี่เป็นการมองแบบผิวเผินนะ แต่ส่วนลึกของเด็กญี่ปุ่นนั้นยังคงมีความรู้สึกที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือเด็กๆยังคงรักความเป็นธรรม ความถูกต้องและสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ผมคิดว่าความรู้แบบนี้คงหายไปไหน
ฟูชิโอะ – ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เด็กๆญี่ปุ่นต้องแข่งขันและได้รับความกดดันมาก ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นมา ในสมัยก่อนไม่มีการแข่งขันมากนัก เด็กๆจึงมีเวลาของตัวเองออกไปเล่นข้างนอก ในสมัยนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เด็กๆไม่มีเวลาออกไปเล่นเป็นของตัวเอง เพื่อนๆของพวกเด็กๆก็ลดน้อยลง เราสองคนจึงเขียนการ์ตูนต่างๆ ตัวอย่างเช่นในโดราเอมอน มีโนบิตะ ไจแอนท์ กับตัวโดราเอมอนขึ้นมาเป็นเพื่อนของเด็กๆ ถึงแม้การ์ตูนเหล่านี้จะมีการทะเลาะต่อสู้กันก็ตาม แต่สิ่งที่ผมต้องการเน้นก็คือความเป็นเพื่อนในหมู่เด็กๆ
โลกหนังสือ – คิดอย่างไรที่มีคนฉวยโอกาสเอาการ์ตูนชุดนี้ไปก็อปปี้ขายในเมืองไทยโดยไม่ได้ติดต่อขอลิขสิทธิ์
ฟูชิโกะ – เรื่องลิขสิทธิ์ ..ถ้าว่ากันตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว จะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เราเองก็ไม่เดือนร้อน ฐานะเราดีอยู่แล้วเพราะได้ค่าลิชสิทธิ์ในญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง เราเองกลับดีใจเสียอีกที่เด็กไทยชอบอ่านการ์ตูนของเรา(หัวเราะด้วยความเบิกบาน)
โลกหนังสือ - อาจเป็นเพราะการ์ตูนของคุณทั้งสองมีรสชาติแบบคนเอเชียหรือเปล่า
ฟูชิโอะ – เราเขียนการ์ตูนเพื่อเด็กๆญี่ปุ่นเท่านั้น เด็กๆในประเทศอื่นชอบอ่าน เราก็ดีใจ การ์ตูนของเราไม่ใช่เป็นแบบการ์ตูนทั่วไป อย่างการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ในแนวการวาดของเราเลย การ์ตูนของเราเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเพื่อเด็กญี่ปุ่น
โลกหนังสือ – แนวโน้มการเขียนการ์ตูนในอนาคตของคุณทั้งสองจะออกมาในรูปแบบไหนต่อไป
ฟูชิโกะ – เราเขียนการ์ตูนไว้เยอะไม่ใช่มีแต่โดราเอมอนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการ์ตูนแต่ละเรื่องจึงมีแนวความคิดในการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกันไป
โลกหนังสือ – เวลาเขียนการ์ตูน คุณสองคนเขียนร่วมกัน หรือว่าต่างคนต่างเขียน
ฟูชิโกะ – เขียนร่วมกัน เราทั้งสองจะคุยกันเรื่องแนวคิดและรายละเอียดต่างๆ ตอนแรกๆ ต่างคนต่างมีความคิดกันคนละแบบ แล้วต่อมาจึงค่อยเอาเข้ามารวมเป็นเรื่องอีกที
ฟูจิโกะ – ผมมีคำถามเล็กน้อย ทำไมโดราเอมอนถึงได้รับความนิยมในประเทศไทย เพราะสาเหตุอะไรหรือ
โลกหนังสือ – ครั้งแรกมันไม่ได้ฮิตอะไรมากมายนัก แต่เป็นเพราะนักวาดการ์ตูนของเราได้รับความสนใจน้อย และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เป็นนักวาดการ์ตูนที่ยากจน เลยไม่ค่อยได้พัฒนาแนวความคิดให้กว้างขึ้น เจ้าของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนก็มีอยู่น้อย และไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะพัฒนาการเขียนการ์ตูนให้มีคุณภาพมากนัก ผลที่เกิดขึ้นก็คือการ์ตูนดีๆมักจะหายไป หรือไม่ก็ไปปรากฏเป็นการ์ตูนการเมืองแทรกอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์
ฟูชิโกะ – ในประเทศไทย มีคนวาดการ์ตูนน้อยหรือไง
ครับ
โลกการ์ตูน – ถ้าจะว่าไปเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมีน้อย และต่างกับการ์ตูนญี่ปุ่นตรงที่มีเนื้อหาซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ฝีมือนักวาดการ์ตูนของไทยนั้นอยู่ในขั้นเทียบกับญี่ปุ่นได้ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน การ์ตูนโดราเอมอนฮิตในเมืองไทยก็เพราะพ่อค้าคนไทยฉวยโอกาสนำไปเผยแพร่ สิ่งที่แตกต่างอีกประการหนึ่ง คือในประเทศไทย เด็กอ่านการ์ตูน เด็กไม่มีกำลังซื้อของตัวเอง ส่วนในญี่ปุ่นผู้ใหญ่อ่านการ์ตูนและมีกำลังซื้อมากกว่า เลยทำให้การ์ตูนเกิดขึ้นมาก ผมคิดว่าผู้ใหญ่ญี่ปุ่นชอบอ่านการ์ตูนอาจเป็นเพราะสังคมญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงจากลักษณะเก่ามาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีเวลา ต้องแข่งขันกันต้องรับรู้อะไรต่อมิอะไรมากมาย การ์ตูนเลยกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจไป เพราะมันใช้เวลาน้อย
ฟูชิโอะ – ครับ เวลาอ่านการ์ตูนไม่จำเป็นต้องอ่านตัวหนังสือมาก จึงดีสำหรับคนที่ต้องการพักสมอง แต่คนที่จบมหาลัยแล้วไม่ค่อยดูการ์ตูนก็มี การ์ตูนเป็นเรื่องของความฝัน แต่เราต้องรับรู้สภาพของสังคมเราด้วย
ฟูชิโกะ – คนญี่ปุ่นอายุราว 20 – 30 ปีมักถูกเรียกว่าเป็นคนยุคการ์ตูน เด็กญี่ปุ่นเติบโตขึ้นมากับการ์ตูนทั้งทางหนังสือและทางโทรทัศน์ การอ่านการ์ตูนจึงกลายเป็นนิสัยของคนญี่ปุ่นไป แต่การอ่านการ์ตูนอย่างเดียวก็อาจเป็นปัญหาในอนาคตได้ หากไม่อ่านหนังสือวรรณกรรมอื่นด้วย
โลกหนังสือ – มันอาจเป็น ปัญหาสำหรับเด็กไทยต่อไป เพราะสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมอุสาหกรรม คนไทยรุ่นต่อไปก็อาจจะอ่านหนังสือน้อยลง
ฟูชิโกะ – ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน
โลกหนังสือ – สภาพของนักวาดการ์ตูนในญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง มีรัฐบาลคอยช่วยเหลือรึเปล่า
ฟูชิโกะ – รัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร แต่เป็นเพราะการ์ตูนตื่นตัวขึ้นมาทำให้คนวาดมีรายได้ แต่การ์ตูนที่ไม่มีคนอ่านก็มี มีคนอ่านเพียง 300-500 คนก็ยังมี เนื่องจากคนญี่ปุ่นชอบอ่านการ์ตูนมาก การแข่งขันระหว่างนักวาดการ์ตูนก็ย่อมมาก บางคนได้รับความนิยมมาตลอด แต่พอมีเรื่องใหม่ๆออกมาโดยนักวาดคนอื่น คนที่ได้รับความนิยมคนนั้นก็อาจไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป
ฟูชิโอะ – รัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามายุ่งก็ตอนเข้ามาเก็บภาษี(หัวเราะดังลั่น)
ฟูชิโกะ – นักวาดการ์ตูน เป็นพวกที่ไม่ได้ทำตามนโยบายของรัฐที่จะให้เป็นคนดีหรือคนเลว เราชอบของเรายังไง เราก็เขียนของเราอย่างนั้น
โลกหนังสือ – ผมอยากทราบว่าถ้าไม่ได้เป็นนักวาดการ์ตูน พวกคุณจะทำมาหากินอะไรครับ
ฟูชิโอะ – คงจะเป็นพระ เพราะทางบ้านมีวัดอยู่ พ่อแม่คงให้บวชเป็นพระสืบทอดมรดกวัดต่อไป
ฟูชิโกะ – ตอนเด็กๆสมัยนั้นเป็นตอนที่มีสงคราม คนทั่วไปอยากเป็นทหารออกไปสู้รบเพื่อชาติ ตัวเองชอบวาดการ์ตูนมาก เลยอยากเป็นนักวาดการ์ตูน แต่ทางบ้านพ่อแม่ไม่ชอบเลย แถมต่อว่าใหญ่หาว่าไม่ไปเรียนหนังสือ ผมเป็นนักวาดการ์ตูนเพราะใจรักจริงๆ
โลกหนังสือ – แนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกในเรื่องราวของการตูนต่างๆไม่ทราบว่าได้มาจากไหน
ฟูชิโกะ – ได้มาขณะที่ทำงาน บางทีมีแนวคิดผุดขึ้นมาปั๊บ ก็นำมาเขียนเป็นเรื่องราวได้ ไม่ต้องไปแสวงหาอะไร นอกจากจะเป็นกรณีพิเศษจริงๆจึงต้องออกไปหาข้อมูล
โลกหนังสือ – มีอะไรอยากฝากบอกเด็กไทยที่อ่านการ์ตูนของคุณทั้งสองบ้างไหม
ฟูชิโอะ – ขอบคุณมากที่เด็กไทยรักการ์ตูน “โดราเอมอน” ของเรา ถึงแม้ว่าประเทศจะต่างกัน การ์ตูนโดราเอมอนยังได้รับความนิยม หุ่นยนต์โดราเอมอนยังใช้ได้ อีกหน่อยความฝันของเด็กไทยที่จะมีหุ่นยนต์คงเป็นจริง
โลกหนังสือ – ผมคิดว่ายังอีกไกล เพราะปัญหาของเราเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องหุ่นยนต์ อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณครับที่กรุณาสละเวลามาคุยกับโลกหนังสือ
ฟูชิโอะ – เราต่างหาก ต้องขอบคุณโลกหนังสือ ..อุส่าห์มาจากแดนไกล
ฟูชิโกะ – ผมขอฝากความคิดถึงมายังคนไทยด้วย

**ฟูจิโมะโตะ ฮิโระชิ = Fujimoto Hiroshi / อะบิโกะ โมะโตะโอะ = Abiko Motoo / เทจซือดะ โอะซามู = Tezeska Osamu**

เกร็ดเล็กๆของโดราเอมอน(จากโลกหนังสือ) ฟูชิโกะ ฟูชิโอะ ได้ความคิดที่จะสร้างลักษณะของโดราเอมอน มาจากตุ๊กตาล้มลุกและแมว ส่วนชื่อโดราเอมอนมาจากคำว่า โดรา แปลว่า ไม่มีเจ้าของ ถูกทอดทิ้ง และ เอมอน เป็นคำยกย่องนักรบณี่ปุ้นสมัยโบราณ โดยให้ความหมายรวมๆว่า คนดีที่ไม่มีเจ้าของ หรือคนเก่งที่ถูกทอดทิ้ง

----------------------------

จากการพูดคุยเล็กๆนี้เราก็ได้เห็นจิตใจอันดีและความถ่อมตนของ 2 ผู้เขียนโดราเอมอน ซึ่งทำให้พอจะเข้าใจว่าทำไมโดราเอมอนจึงเป็นการ์ตูนที่มีความเป็นสากล มีคุณค่าแก่เด็กๆอย่างชัดเจนและสนุก! อีกทั้งยังมีความน่าประทับใจแรงพอจนตรึงติดหัวใจเด็กๆไปกระทั่งเด็กเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ชอบแมวสีฟ้าหูด้วนกลัวหนูตัวนี้เหลือเกิน




Create Date : 03 สิงหาคม 2549
Last Update : 3 สิงหาคม 2549 23:32:16 น.
Counter : 606 Pageviews.

10 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
No. 1259 สาระเกือบมี (ตอนทำงานที่ใหม่ ถูกลองดี) ไวน์กับสายน้ำ
(1 ม.ค. 2567 05:58:05 น.)
  
รักดี ทำดี พูดดี คนดี

รักโดราเอมอน

โดย: keyzer วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:2:32:14 น.
  
รู้สึกดีจังเลยครับที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
โรมอนเป็นการ์๖นที่ผมไม่เคยเบื่อเลยครับ
ช่อง 9 การ์ตูนเอามาฉายกี่ครั้งๆ ก็ยังดู

บทสัมภาษณ์นี้พิมพ์เมื่อปี 2526 สิ่งที่ "โลกหนังสือ" ทำนายไว้ว่า คนไทยจะอ่านหนังสือ น้อยลง ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ผมได้ดูข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อหลายวันก่อน เขาให้เหตุผลว่า บ้านเรายังขาดหนังสือภาพดีๆ หรือยังมีอยู่น้อยมาก มันไม่พอที่จะช่วยปลูกฝังเด็กให้รักการอ่านตั้งแต่อายุยังน้อย
โดย: King Of Pain วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:12:57:10 น.
  
รักโดราเอมอนที่สุด...

เพราะเป็นการ์ตูนเล่มแรกที่ได้สัมผัส ได้อ่าน ได้รู้สึกว่าโลกนี้มีหนังสือที่อ่านแล้วสนุกจัง (ความคิดตอนประถม)

ถึงตอนนี้โตแล้วก็ยังรักโดราเอมอนไม่เปลี่ยน
โดย: belittle big วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:13:27:19 น.
  
โรมอนเป็นการ์๖นที่ผมไม่เคยเบื่อเลยครับ
^
^
ผมพิมพ์ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย
โดย: King Of Pain วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:23:08:57 น.
  
ชอบด้วยเหมือนกันค่ะ

แต่อ่านเรื่องอื่นของลุงทั้งสองก่อนโดราเอมอนนะคะเพราะพี่ชายซื้ออ่าน
ยกเว้นพอปอหนึ่งที่ซื้อการ์ตูนมาอ่านเอง
ก็เริ่มด้วยโดราเอมอนนี่แหละ

ปล. ไปเจอร้านหนังสือที่คุณ แมวโลโมบอกไว้ที่แฟชั้นแล้วล่ะ
ได้เห็นการ์ตูนที่ตัวเองซื้อมาเก็บตอนเด็ก ๆ ด้วย
ไม่น่าเชื่อเลย :D
โดย: หมาเลี้ยงแกะ วันที่: 6 สิงหาคม 2549 เวลา:23:30:57 น.
  
โดราเอมอนคือการ์ตูนเล่มแรกในชีวิตของผม ตอนอายุ 7 ขวบ และผมก็ซื้อทุกเล่มเท่าที่จะหาได้ในตลาดนัดแถวบ้านในตอนนั้น (ทยอยซื้อ) รวมถึงปาร์แมน คิวทาโร่ เออิชิสมองกล ฯลฯ

(ยังรวมถึงงานของนักเขียนท่านอื่นในยุคนั้น อาทิ โทริยามะ อากิร่า เป็นต้น)

ต่อมา...

โตขึ้น ผมก็ลืมโดราเอมอนไปนาน นานจนกลับมาคิดถึงอีก
และผมก็รู้แล้วว่าแมวอ้วนตัวนี้ไม่เคยเลือนไปจากความทรงจำดำรงเฮฮาได้เลย

จบแล้วครับ ขอบคุณสำหรับบทสัมภาษณ์ที่นำมาเผยแพร่ ขออนุโมทนา

โดย: ดำรงเฮฮา วันที่: 9 สิงหาคม 2549 เวลา:2:09:00 น.
  
ชอบ โดราเอมอน มากๆค่ะ
โดย: เจน IP: 158.34.240.21 วันที่: 9 สิงหาคม 2550 เวลา:14:39:03 น.
  
อยากดูมากๆ
โดย: กบ IP: 124.157.219.118 วันที่: 29 ตุลาคม 2550 เวลา:13:08:28 น.
  
อยากดูมากๆ
โดย: กบ IP: 124.157.219.118 วันที่: 29 ตุลาคม 2550 เวลา:13:08:28 น.
  
โอ้โหเราปรื๊มปลืมโดราเอม่อนอย่างแรงโฮะๆๆๆ
โดย: คนนะจ๊ะ IP: 125.24.149.169 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา:14:51:57 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Lomocat.BlogGang.com

lomocat
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด