นิทานแผ่นดิน...จารึกรอยศิลป์บนแผ่นดินไทย




นิทานแผ่นดิน-สุนทรี เวชชานนท์





นิทานแผ่นดิน...จารึกรอยศิลป์บนแผ่นดินไทย
โดย ชาธิป สุวรรณทอง



ทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่มากมายที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนคนไทยมาตั้งแต่ทรงครองราชย์ ไม่มีโอกาสได้เห็นว่าตลอดรัชสมัยที่ผ่านมาทรงงานหนักเพียงใด ทั้งยังไม่รู้ว่า ทรงรอบรู้และพระปรีชาญาณในการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ เพียงใด


'ศิลปิน' และ 'ศิลปินอาสา' รวมใจถวายพระเกียรติ 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' ด้วย Land Art จำนวน ๙ ชิ้น กระจายอยู่ใน ๙ จังหวัด ครบทุกภาค ศิลปินกลุ่มนี้ร่วมกันทำงานนิเวศศิลป์เชื่อมโยงชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อบันทึกเรื่องราวของพระราชาที่ทรงงานหนัก




 

โครงการเทิดพระเกียรติ “นิทานแผ่นดิน” หรือ "The Chronicle Of The Land" คือ โครงการสร้างสรรค์ทางศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสทรงมีพระชนม์มายุ ๘๔ พรรษา ริเริ่มโดยนักแต่งเพลงมือทองอย่าง พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โดยวางเป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านงานศิลปะสู่การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบของงานศิลปะ ดนตรี แอนิเมชั่น ฯลฯ
 

งานนิเวศศิลป์ (Land Art) ขนาดใหญ่บนผืนแผ่นดิน ๙ ชิ้นที่มีความหมายเกี่ยวพันกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ ถูกกำหนดให้จัดสร้างขึ้นบน ๙ พื้นที่ทั่วแผ่นดินไทย ด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของ ๙ ศิลปินระดับชาติ โดยมีประชาชนจากชุมชนในบริเวณสถานที่สร้างผลงานนั้น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน




 

ผลงานนิเวศศิลป์บนพื้นที่โครงการศึกษาทดลองแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก สร้างสรรค์โดยอาจารย์นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ในหัวข้อ “พลังงานทดแทนตามแนวพระราชดำริ” ภายใต้แนวคิด “ดินน้ำลมตะวัน พลังงานจากผักหญ้า หมุนเวียนเปลี่ยนกลับมา รักษาโลกของเรา” ส่วนพื้นที่ป่าโกงกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด สร้างสรรค์โดยอาจารย์ไพโรจน์ วังบอน ในหัวข้อ “การปลูกป่าโกงกางรักษาป่าชายเลน” ภายใต้แนวคิด “ทรัพย์ในดินงอกงาม สินในน้ำล้ำค่า อนุบาลเผ่าพันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน”




 

เกาะยอ สงขลาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นิเวศศิลป์โดยอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในหัวข้อ “การรักษาแหล่งน้ำและบำบัดน้ำตามแนวพระราชดำริ ภายใต้แนวคิด “น้ำสะอาดโลกสุขสันต์ กังหันชัยพัฒนา แหล่งน้ำล้วนล้ำค่า คือมรรคาแห่งชีวิต” Chiang Mai Art Museum อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ถูกมอบหมายให้สร้างสรรค์ผลงานนิเวศศิลป์โดยอาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ในหัวข้อ “เรื่องดินและน้ำ ตามแนวพระราชดำริ” ภายใต้แนวคิด “ดิน ก่อกำเนิดปวงชีวิต น้ำ หล่อเลี้ยงลิขิตสรรพสิ่ง สองปัจจัยล้ำค่าที่แท้จริง คือรากฐานสำคัญยิ่ง ธ ทรงวาง”






อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างสรรค์นิเวศศิลป์โดยอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ในหัวข้อ “เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ” ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติรังสรรค์สมดุลย์ ผู้คนดินฟ้าเกื้อกูล พูลสุขอยู่อย่างพอเพียง” ส่วนพื้นที่ของโรงแรม แอทพันตา ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นเวทีสำหรับผลงานนิเวศศิลป์ของอาจารย์ทวี รัชนีกร ในหัวข้อ “ธ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม” ภายใต้แนวคิด “พระเมตตาหยั่งรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืนนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน”




 

ทุ่งนา ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย สร้างสรรค์งานนิเวศศิลป์โดย อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ในหัวข้อ “การปลูกข้าวผสมและเกษตรธรรมชาติ” ภายใต้แนวคิด “ข้าวเขียวชะอุ่มเต็มนา ฝนฟ้า น้ำท่าสมบูรณ์ ผลผลิตค้ำจุนปวงประชา” ขณะที่ไร่เชิญตะวัน วัดป่าวิมุตตยาลัย จังหวัดเชียงรายสร้างสรรค์งานศิลปะโดย สุริยา นามวงศ์ ในหัวข้อ “พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นตัวอย่างแห่งความเพียร” ภายใต้แนวคิด “ทำการใดไม่ท้อถอยตามรอยพระยุคลบาท พระมหาชนกนาถ มหาราชแห่งความเพียร”
 

และผลงานชิ้นสุดท้ายที่จะสรุปภาพรวมของงานทั้งหมด บนพื้นที่สนามยุทธกีฬา กองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๑ กรุงเทพฯงานศิลปะจะสร้างสรรค์โดยอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ในหัวข้อ “ฝนหลวง” ภายใต้แนวคิด “ฝนหลวงห่วงใยไพร่ฟ้า ร่มเย็นทั่วหล้า ผาสุขทั่วแผ่นดิน”









"สุโขทัย" รอยศิลป์แห่งความรุ่งเรือง

 

พื้นที่นาของนางบังเอิญ ทุยจันทร์ ณ แยกแจกัน ถนนเลี่ยงเมืองสุโขทัย-ตาก ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ถูกใช้เป็นผืนผ้าใบเพื่อบันทึกผลงานนิเวศศิลป์ของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ที่สร้างสรรค์โดยใช้หุ่นไล่กาใส่เสื้อต่าง ๆ จำนวน ๑,ooo ตัว โดยมีพระมหาดำรงค์ สนตจิตโต เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง เป็นศูนย์กลางในการรวมใจชาวบ้านมาร่วมจัดทำ ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น นักเรียน และประชาชน

  

หุ่นไล่กาจากการสร้างและตกแต่งโดยชาวบ้านในพื้นที่ถูกนำไปปักบนผืนนา จัดเรียงเป็นลายเส้นพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เพื่อถ่ายทอดความอุดมสมบูรณ์ของเมืองสุโขทัย ความสุขของผู้คนในสมัยสุโขทัย และประเทศไทยในปัจจุบัน





 

อาจารย์ปัญญา บอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานศิลปะบนผืนนาสุโขทัยว่า ศิลปะสุโขทัยมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา มีการสร้างศิลปวัตถุเพื่อแสดงอุดมคติทางพุทธศาสนาที่มุ่งหาความสงบ และยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น อีกทั้งสุโขทัยมีโบราณสถานมากมายที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของยุคสมัย จึงต้องการสร้างงานศิลปะที่เชื่อมโยงความเป็นอุดมคติในสมัยสุโขทัยที่ถือว่าเป็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคหนึ่งเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน





 

"ศิลปะในปัจจุบันเข้ามาร่วมอยู่กับวิถีชีวิตคนประจำวันมากขึ้น การที่ชาวบ้านเอาหุ่นไล่กามาปักไล่นกก็เป็นกิจกรรมในวิถีชีวิตอยู่แล้ว แต่งานนี้เรามาร่วมกันทำเพื่อให้เห็นความหมายและคุณค่าทางศิลปะที่แฝงอยู่ในกิจกรรม ก็ทำให้กิจกรรมนั้นมีความหมายในเชิงศิลปะ ที่ผ่านมาผมเขียนพระพักตร์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมายาวนาน ในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้กลับมาทำงานศิลปะในยุคสุโขทัยบนแผ่นดินสุโขทัย ผมพยายามนึกถึงการทำงานที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ก็เลยเลือกพื้นที่นาและหุ่นไล่กามานำเสนอเป็นภาพความร่วมมือของชุมชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม"





 

"ความสำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวงานอย่างเดียว แต่อยู่ที่เรามีชาวบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรม มีพิธีการทางสงฆ์ เหมือนได้ทำบุญให้ผืนนา แผ่นดิน บูรพกษัตริย์ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ให้เรากลับมามองว่าสิ่งที่ดีงามที่เรามีอยู่คืออะไร แล้วเราจะทำอะไรคืนกลับไปให้กับสิ่งที่ดีงามเหล่านั้นบ้าง" อาจารย์ปัญญา สรุป

 

เส้นสายที่เรียบง่ายจากแนวแถวของหุ่นไล่กาที่แสดงความงามบริสุทธิ์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ด้วยพระพักตร์ที่ดูเหมือนจะก้มลงมามองลงมายังแผ่นดิน แสดงถึงความเมตตา ความอ่อนน้อย และความปิติยินดี ที่สะท้อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้







บันทึกเรื่อง "ธรรมราชา"


 

“ธ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม” คือ หัวข้อการสร้างสรรค์ผลงานนิเวศศิลป์ของอาจารย์ทวี รัชนีกร ภายใต้แนวคิด “พระเมตตาหยั่งรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืนนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน” บนพื้นที่ของโรงแรม แอท พันตา ภูเก็ต

 

"พอเราทราบเรื่องโครงการนิทานแผ่นดินเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง เราก็คิดว่านี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราได้มีโอกาสทำเพื่อในหลวง ก็เลยเสนอพื้นที่ของเราให้เป็นที่ทำงานศิลปะ พอพื้นที่ได้ใช้จริง ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติมาก เราก็ได้ประชาสัมพันธ์ภายในจังหวัดเพื่อหาอาสาสมัคร ติดต่อตำบลเทพกษัตรี ติดต่อโรงเรียนในอำเภอถลาง องค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน บุคคลทั่วไปรวมถึงพนักงานของโรงแรมเองให้เข้ามาช่วยกันทำงานศิลปะจากการออกแบบของอาจารย์ทวี รัชนีกร" พรรณวิตา เต็มไตรเพท ผู้บริหารโรงแรมฯ เล่า





 

อาสาสมัครจากหลายกลุ่มคนในจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันลงแรงเตรียมพื้นที่ รังวัด ปักหมุดกำหนดแนวภาพของผลงานนิเวศศิลป์ ช่วยกันจัดหาวัสดุที่ใช้ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นอิฐบล็อค หญ้า ต้นไม้ ดอกไม้ เพื่อให้แนวคิดจากการสร้างสรรค์ของอาจารย์ทวี รัชนีกร ปรากฎเป็นรูปร่างบนพื้นที่ ณ จุดหนึ่งในภูเก็ต 

 

"อาสาสมัครที่เข้ามาก็มาช่วยกันเรียงอิฐ ตัดหญ้าเป็นรูปใบโพธิ์ บางคนก็เป็นน้องๆ ป.๕ - ป.๖ ก็มาช่วยส่งต้นไม้ เสิร์ฟน้ำ เก็บขยะ ทุกคนรู้สึกสนุกกับการที่ได้ร่วมทำแลนด์อาร์ต เชื่อว่าทุกคนภาคภูมิใจที่ได้ทำงานศิลปะในแผ่นดินภูเก็ต เราได้เห็นความประทับใจ เห็นความสามัคคี เห็นความเสียสละของคนภูเก็ตก็รู้สึกดีใจมาก"





 

พรรณวิตารับปากว่า แม้การสร้างสรรค์ผลงานจะเสร็จสิ้น แต่ตลอดระยะเวลาที่เปิดให้เข้าชมจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ทางโรงแรมยังคงรับหน้าที่ในการดูแลผลงานนิเวศศิลป์ชิ้นนี้ต่อไป ทั้งการรดน้ำ พรวนดินใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ที่เป็นส่วนประกอบของผลงาน เพื่อให้ศิลป์แผ่นดินชิ้นนี้คงความงามสดชื่นต้อนรับผู้ที่มาชม







ชุ่มเย็นด้วย "ฝนหลวง"
 

 

แนวความคิดและการลงมือสร้างสรรค์ผลงานนิเวศศิลป์ทั้ง ๙ ชิ้นในโครงการ "นิทานแผ่นดิน" ถูกนำเสนอผ่านผลงานชิ้นสุดท้าย บนพื้นที่สนามยุทธกีฬา กองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๑ บางเขน กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “ฝนหลวง” ภายใต้แนวคิด “ฝนหลวงห่วงใยไพร่ฟ้า ร่มเย็นทั่วหล้า ผาสุขทั่วแผ่นดิน”


 
สร้างสรรค์โดย อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินไทยที่บุกบั่นไปสร้างชื่อลือไกลถึงสหรัฐอเมริกาจากการสร้างสรรค์ผลงานนิเวศศิลป์ขนาดใหญ่กว่า ๑ กิโลเมตร บนผืนทะเลทรายโมฮาเว กับการทำงานครั้งล่าสุดนี้ อาจารย์กมลโดยยังคงเอกลักษณ์ในการทำงานศิลปะที่ผสมผสานความหลากหลายของแนวทางการสร้างงานและการใช้วัสดุ โดยมีเรื่องราวของ "เมฆ" และ "ฝน" เป็นประเด็นหลัก






 
"ที่ผ่านมาผมเคยสร้างผลงานประติมากรรมที่มีเรื่องราวมีลายฉลุเกี่ยวกับก้อนเมฆและเม็ดฝน พอได้มาทำงานแลนด์อาร์ตครั้งนี้ ผมก็เอาประเด็นเรื่องของเมฆกลับมาอีกครั้ง โดยเอามาจัดเต็มพื้นที่สนามกีฬา ไอเดียผมก็คือเมฆ มีสายฝนที่จะไหลลงไปในสระน้ำซึ่งจะแทนที่แก้มลิง พื้นที่รอบ ๆ จะทำเป็นก้อนเมฆที่ใช้เป็นฉากในการฉายภาพยนตร์เรื่องราวโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน ภาพการทำงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ ในโครงการนี้ แล้วก็มีจอยักษ์แยกต่างหากฉายภาพจากมุมสูงเพื่อให้เห็นภาพรวมของผลงานทั้งหมด"





 

ความหลากหลายขององค์ประกอบในผลงาน รวมไปถึงการใช้เครื่องบินวิทยุบังคับ ๓ ลำ บินโฉบเหนือพื้นที่พร้อมกับโปรยละออง จำลองภาพการทำงานของโครงการฝนหลวง รวมไปถึงบรรดาทหารจาก "ราบ ๑๑" ที่รับหน้าที่แสดงเป็นเม็ดฝนจากฟ้าที่โปรยลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับพืชพันธุ์และผืนดิน นอกจากนี้ อาจารย์กมลยังได้ออกแบบสติกเกอร์ "น้ำพระทัย ฝนหลวง" สำหรับแจกจ่ายไปติดตามยานพาหนะต่าง ๆ เพื่อส่งต่อเรื่องราวของโครงการต่อไปในวงกว้าง 

 

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของหลากหลายงานนิเวศศิลป์ที่ประสานงานศิลปะเข้ากับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อบันทึกเรื่องราวของพระราชาที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชนตลอดมา

 

ติดตามรายละเอียดและภาพการทำงานนิเวศศิลป์ และผลงานศิลปะอื่น ๆ ในโครงการนิทานแผ่นดินได้ที่ เฟซบุคนิทานแผ่นดิน







ภาพและข้อมูลจาก
nitarnpandin.org
bangkokbiznews.com
เฟซบุครวมภาพถ่ายคุณณัฐพล บุญปาสาณ




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่
กรอบจากคุณ ebaemi และคุณ lozocat


Free TextEditor





Create Date : 16 มกราคม 2557
Last Update : 16 มกราคม 2557 22:40:38 น.
Counter : 4990 Pageviews.

0 comments
几度花落时( จี่ตู้ฮวาลว่อสือ) by 任光 (เหยินก่วง)​ ปรศุราม
(5 เม.ย. 2567 10:45:31 น.)
วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา สายหมอกและก้อนเมฆ
(3 เม.ย. 2567 16:30:22 น.)
Udankhatole(उड़न खटोला) from Jubilee (TV Series) ปรศุราม
(2 เม.ย. 2567 10:34:32 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 14 : กะว่าก๋า
(26 มี.ค. 2567 04:51:34 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด