คารวาลัย...อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี (๑)



ภาพจาก เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี





แด่การจากไปของอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์


จิตรกรรม ดำหม่น จนตนสั่น
เพิ่งพินิจ จนจิตหวั่น ต่อตัณหา
ทมิฬมืด จนสั่นเทา เย้าโลกา
กลับด้านวาด ศาสนา น่าไตร่ตรอง


เหล่าอสูร พร้อมเพรียง เคียงยักษี
เดียรัจฉาน มารภูติผี สีหน้าหมอง
ตาแดงก่ำ ร่ำอุรา น้ำตานอง
พวกเพื่อนผอง พรรคพ้อง ร้องระงม


ถึงกายจาก แต่ใจฝาก ยากจะลบ
คุณค่าคู่ ควรครบ สบสิ่งสม
ให้รุ่นลูก สืบไว้ ได้เชยชม
ศิลปะ ยังดำรง คงต่อไป


ร่วมอำลา อาลัย จากใจศิษย์
ดลบันดาล ดวงจิต สถิตย์ไว้
สู่ภพภูมิ สวรรค์ ครรลาลัย
จะจำจด จากใจ ไปตลอดกาล


ร้อยกรองโดย ตฤณ
จาก กระทู้บทกลอนแด่การจากไปของอ.ถวัลย์ ดัชนี






ภาพจาก เฟซบุคในวิหารดวงตะวัน



ถวัลย์ ดัชนี


“ถวิลเทวษโอ้.................................อาดูร

ถวัลย์มาดับสูญ........................ร่างแล้ว

เหลืองานอันจรูญ.....................จรัสโรจน์

เลอค่าดั่งดวงแก้ว.....ก่องฟ้าเรืองโพยม”



ขอคารวะและอาลัยในการจากไปของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) - พี่หวันเป็นทั้งศิลปินที่ใหญ่ยิ่ง และพี่ชายที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของผมเสมอและตลอดไป

ผมรู้จักชื่อเสียงและผลงานของพี่หวันมานานมากแล้ว ก่อนจะมีโอกาสได้พบกันครั้งแรกในรายการ “สี่ทุ่มสแควร์” ประมาณ ๒๕ ปีที่แล้ว รายการนั้นมีคุณวิทวัส สุนทรวิเนตร์ เป็นพิธีกร และในคืนนั้นมี พี่หวัน, “ติ๊นา” หรือคุณคริสตินา อากีลาร์ และผมเป็นแขกรับเชิญ - คำแรกที่พี่หวันเอ่ยกับผมเมื่อเจอหน้ากันก็คือ “อ่าน ตรอติลญ่า แฟลต ภาษาอังกฤษ ด้วยหรือเปล่า” ...ตอร์ติญญ่า แฟลต เป็นหนังสือที่เขียนโดย จอนห์น สไตน์เบ็ค และคุณประมูล อุณหธูป นำมาแปลในพากย์ไทย ที่ให้ชื่อว่า “โลกียชน” และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชื่นชอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พี่หวันให้ความสนใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนรุ่นน้องอย่างผม เมื่อผมตอบว่ายังครับ พี่หวันก็กำชับว่า “คุณไปหาหนังสือฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านนะ จะได้รสชาติที่สมบูรณ์ขึ้น”

ผมมีโอกาสใกล้ชิดกับพี่หวันอย่างมากในช่วง ๓ ปีหลัง เมื่อร่วมอยู่ในคณะ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ของหออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินงานให้ศิลปินแห่งชาติเดินทางไปถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาและเยาวชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทุกครั้ง พี่หวันในชุดม่อฮ่อมสีคราม หนวดเคราขาว จะเป็นเสมือนศูนย์กลางของเหล่าศิลปินแห่งชาติ และผู้ร่วมคณะ พี่หวันมีเรื่องเล่าเรื่องคุยที่เรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ บางครั้งก็มีอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ เป็นคู่แซว โดยมีอาจารย์กมล ทัศนาญชลี นั่งอมยิ้มและคอยถ่ายรูปพี่หวันที่อาจารย์กมลให้ฉายาว่า “ซูป’สตาร์” อยู่เงียบ ๆ - เมื่อคณะศิลปินแห่งชาติสัญจรไปสเปนและอังกฤษ เมื่อปีที่แล้ว พี่หวันมีความสุขมากเมื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ของปีกัสโซ และบรรยายผลงานของจิตรกรเอกผู้นั้นให้ผมและคนอื่น ๆ เข้าใจได้ดีขึ้น

ไม่ใช่เพียงเรื่องของศิลปะที่พี่หวันมีความรู้อย่างกว้างขวาง ในเรื่องของวรรณคดีและวรรณกรรม พี่หวันก็มีความรอบรู้อย่างลึกซึ้ง สามารถที่จะท่องบทกลอนเก่า ๆ ให้ฟังได้ยาว ๆ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พี่หวันสนใจเรื่องต่าง ๆ รอบด้าน และนำมาพูดคุยหรือเล่าเล่นเป็นเรื่องสนุกสนานให้ฮากันได้อยู่เป็นประจำ

พี่หวันค่อนข้างจะให้ความเมตตาผมมาก ครั้งหนึ่งโทรศัพท์มาหาที่บ้านแต่เช้า เพียงเพื่อบอกว่า เมื่อคืนได้ยินเสียงผมในรายการวิทยุก็เลยโทรมาคุยด้วย - บางครั้งเมื่อพบกันก็จะพูดถึงคอลัมน์ของผมใน “คม ชัด ลึก” และนิยายเรื่อง “เวลาในขวดแก้ว” แต่สิ่งที่พี่หวันพูดล้อเล่นอยู่บ่อย ๆ จนผมเกือบนึกว่าเป็นเรื่องจริงก็คือ เรื่องที่พี่หวันบอกว่าจะให้คุณวิทวัส เชิญพี่หวัน, ติ๊นา และผม ไปออกรายการโทรทัศน์ร่วมกันอีกครั้ง

เมื่อครั้งที่ไปสเปนและอังกฤษ ตอนที่คณะไปชมบริติชแกลเลอรี่ พี่หวันออกมานั่งที่ลานหน้าแกลเลอรี่ตามลำพัง เมื่อผมตามมานั่งเป็นเพื่อน พี่หวันก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องการทำงาน และชีวิตบางช่วง ซึ่งเป็นการคุยที่ค่อนข้างจะซีเรียสกว่าทุกคราว และทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสบางมุมทีเงียบเหงาและเคร่งเครียดของพี่หวัน - ผมพบกับพี่หวันครั้งสุดท้าย เมื่อคณะศิลปินแห่งชาติสัญจร ไปญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ตอนนั้นแม้ร่างกายพี่หวันต้องต่อสู้กับโรคร้าย แต่ก็ยังมีจิตใจที่เข้มแข็ง ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เป็นปกติ และที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือ อาการป่วยทำให้พี่หวันไม่สามารถขึ้นเขียนภาพบนเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการแสดงวรรณวิจิตร-พิพิธทัศนา “ในสวนฝัน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมานี้ ตามที่ตั้งใจไว้ได้

ครับ วันนี้ผมขอเขียนถึงพี่ชายผู้ยิ่งใหญ่ของผม ถวัลย์ ดัชนี


(ณ พุธ ๓/๙/๕๗ พี่หวันจากไปเมื่อตอน o๒.๑๕ น.ของคืนอังคาร o๒/๙/๕๗ รพ.รามคำแหง)



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี












ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่


วงการจิตรกรรมถึงคราวสูญสิ้นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกครา โดย นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดาลงในเฟซบุ๊ก หลังจากล้มป่วยจากอาการตับอักเสบ เมื่อวันที่ ๓ ก.ย. ๕๗ เวลาประมาณ o๒.oo น. ณ โรงพยาบาลรามคำแหง สิริอายุ ๗๔ ปี ๑๑ เดือน

ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย. ๒๔๘๒ ที่ จ.เชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๔ คน ถวัลย์ มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นเลิศ ได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูป จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็นศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ ถวัลย์ ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง ๑oo+ แต่เมื่อขึ้นปี ๒ เขากลับทำได้แค่ ๑๕ คะแนน เพราะเหตุผลที่ อ.ศิลป์ให้ไว้ว่า "ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ"

คำวิจารณ์ดังกล่าวทำ ให้ ถวัลย์ เปลี่ยนแปลงการทำ งานทุกอย่างใหม่หมด ได้รับการสนับสนุนจาก อ.ศิลป์ ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์ แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัย

ผลงาน อ.ถวัลย์ สามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ทรงพลัง ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทย โดยมีผลงานแสดงเดี่ยวและกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ แถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา เป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชีย เมืองฟุกุโอกะ ครั้งที่ ๑๒ ประจำปี ๒๕๔๔

ได้ก่อตั้ง "มูลนิธิถวัลย์ ดัชนี" เพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะศิลปะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้งได้ใช้เวลากว่า ๒๕ ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า ๑oo ไร่ ที่บ้านดำ ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ๒๕๔๔

อ.ถวัลย์ ได้อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์การสร้าง สรรค์งานศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษา ศิลปินรุ่นใหม่ นับเป็นประ โยชน์อย่างมากต่อการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้ทรงคุณค่าเป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป.


ภาพและข้อมูลจาก
คอลัมน์ "ฅนปนข่าว"นสพ.แนวหน้า ๔ ก.ย. ๒๕๕๗
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี











อาลัย 'ถวัลย์ ดัชนี' ศิลปินล้านนาผู้ 'เอกอุ'
ผกามาศ ใจฉลาด


นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในวงการศิลปะ เมื่ออาจารย์ "ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติ สาขาสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๒๕๔๔ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ได้จากไปด้วยโรคตับอักเสบในวัย ๗๔ ปี ทั้งนี้กว่าทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลงานด้านศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ที่รังสรรค์ขึ้นมาด้วยมือสอง ได้รับการยอมรับว่า "เป็นเอกอุ และทรงคุณค่า" เพราะผลงานทุกชิ้นของท่านจะแฝงมาในรูปแบบปรัชญาเกี่ยวกับมุมมองชีวิต และหลักพุทธศาสนา

แต่จากนี้ไปเราคงไม่ได้เห็นศิลปินนามกระเดื่องชาว จ.เชียงราย หรือ ชายผู้ถือพู่กัน ภายใต้เคราสีขาวในชุดม่อฮ่อมทะมึน พร้อมกับมุกตลก และเสียงหัวเราะอันเปี่ยมไปด้วยความสุขอีกแล้ว วันนี้คงเหลือไว้แค่ภาพความทรงจำในฐานะพ่อครูงานศิลปะชาวล้านนา และข้อคิดอันเป็นสัจธรรมตามความเชื่อพระพุทธศาสนา และแนวทางการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญ คงไม่มีใครลืม “ผลงานศิลปะ” อันโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยรูปแบบโทนสีดำ และแดง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากงานพุทธศิลป์ดั้งเดิม




ทั้งนี้ ผลงานศิลปะที่อาจารย์ถวัลย์ทิ้งไว้เป็นมรดกสู่ชนรุ่นหลัง ล้วนมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ละชิ้นจะถูกนำไปแสดงในงานนิทรรศการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ แม้กระทั่งงานจิตรกรรมฝาผนังก็ยังปรากฏในโบราณสถาน สถานที่ราชการ หรือเอกชนหลายแห่ง เช่น พระตำหนักดอยตุง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และอาคารเชลล์ ของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ฯลฯ

นอกจากนี้อาจารย์ถวัลย์ยังเป็นผู้ออกแบบ "ตุงทองคำ" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และยังเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะของไทย และเอเชีย ในงานสำคัญระดับโลกเกือบทุกแห่ง โดยงานแต่ละชิ้นแทบจะประเมินค่ามิได้ แต่เหนือคำว่า มูลค่า นั่นคือ คุณค่า ข้อคิด ความเชื่อที่ท่านแฝงไว้ในลายเส้น สี กระดาษทุก ๆ แผ่น

แต่ผลงานชิ้นหนึ่งที่ถือว่าเป็นมรดกที่เชื่อว่าอาจารย์ถวัลย์คงจะภูมิใจที่สุด คงหนีไม่พ้น "บ้านดำ" หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ตั้งอยู่ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย สร้างขึ้นโดยอาจารย์ถวัลย์ได้รังสรรค์งานด้านศิลปะ ทั้งจิตรกรรม และประติมากรรม งานปูนปั้นอันวิจิตร งานศิลปะที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาที่วิจิตรแปลกตาไว้มากมายไว้ในบ้านดำ




ลักษณะของบ้านดำจะเป็นกลุ่มบ้านศิลปะแบบล้านนา บ้านทุกหลังทาด้วยสีดำ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” และยังเป็นสีที่อาจารย์ถวัลย์โปรดปรานมาก ในบ้านแต่ละหลังจะประดับด้วยไม้แกะสลักที่มีลวดลายงดงาม นอกจากไม้แกะสลักแล้ว ยังประดับด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาควาย เขากวาง และยังมีกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกช้าง เป็นต้น

ส่วนในบริเวณบ้านเต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ บรรยากาศร่มรื่น เป็นธรรมชาติ บริเวณบ้านประกอบไปด้วยบ้านทั้งหมด ๓๖ หลัง มีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งบ้านทุกหลังถือเป็นสถานที่หนึ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์และศิลปะแบบล้านนาที่ทรงคุณค่าและควรอนุรักษ์ และที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์บ้านดำจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามตลอด ๒๔ ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ก่อนการจากไปของอาจารย์ถวัลย์เพียงไม่กี่วัน ผลงานศิลปะของท่านที่ถือว่าเป็นชิ้นสำคัญยิ่งยวด ถูกนำไปแสดงเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการ “มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก+พลังสร้างสรรค์" โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปชมฟรี ตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม-๑๖ พฤศจิกายน บริเวณชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่จะรวมโบราณวัตถุ ศิลปะอันล้ำค่าของชาติที่รังสรรค์จากช่างโบราณมาจัดแสดง พร้อมกับงานศิลปะร่วมสมัย




ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บอกเล่าถึงการแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ว่า ผลงานอาจารย์ถวัลย์ที่นำมาแสดงโชว์ในงานนั้น เป็นงานวาดภาพชุดลายเส้น เป็นภาพที่ไม่เคยนำออกแสดงที่ไหนมาก่อน ตลอดเวลาอาจารย์ถวัลย์ถือเป็นศิลปินที่มีฝีมือเป็นเลิศในเรื่องนำเอาเนื้อหาความหมาย ความเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ฮินดู วิญญาณนิยม นำมาเขียนเป็นภาพลักษณะของลายเส้น ในอิริยาบถต่างๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากไตรภูมิกถา ซึ่งมีบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ สวรรค์ โลกมนุษย์ นรก มาถ่ายทอดผ่านความรู้ความสามารถของอาจารย์ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศด้วย

“เราอยากให้เห็นผลงานชิ้นนี้ ผมคิดว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของอาจารย์ถวัลย์ กล่าวคือ เป็นชุดลายเส้นภาพเหมือนจริงใบหน้าของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตอนยังหนุ่มเมื่อ ๓o-๔o ปีที่แล้ว เรานำมาจัดแสดงที่นี่เป็นที่แรก โดยผลงานชุดนี้เป็นงานสะสมของ คุณรอล์ฟ วอน บูเรน ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ที่อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า ๕o ปี เราต่างก็ทราบว่าอาจารย์ถวัลย์มีฝีมือและความสามารถมากมาย และอยากจะบอกว่า ท่านเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่องานศิลปะระหว่างช่างนิรนามกับช่างศิลปินร่วมสมัยที่จะร่วมสืบทอดเทคนิคการทำงานศิลปะให้เป็นมรดกร่วมสมัย”

แม้การจากไปของอาจารย์ถวัลถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการศิลปะประเทศไทย แต่เชื่อว่าผลงานศิลปะในด้านต่าง ๆ พร้อมข้อคิดที่แฝงด้วยปรัชญาของท่านจะอยู่ในใจของชนรุ่นหลังไปตราบนานเท่านาน....


ภาพและข้อมูลจาก
นสพ.คม ชัด ลึก ๔ ก.ย. ๒๕๕๗
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี











จากเพียงร่าง ผลงานคืออมตะ
ช่อ ชัยพฤกษ์


ไม่ใช่เรื่องง่าย หากคิดจะเติบใหญ่ ยึดรากฐานชูความเป็น “ศิลปิน” ยิ่งถ้าต้องฝ่าฟันในยุค เต้นกินรำกินคงหนีไม่พ้นคำติฉินเป็น ศิลปินไส้แห้ง ไร้คนเหลียวแล!?

แต่เส้นทางนี้เกิดด้วย “รัก” ไม่อาจกีดขวางหักห้ามกันได้ คนที่ประจักษ์รู้จึงจะเข้าใจ ว่าทำไมถึงยอมทรมานกายเพื่อให้ได้ “ทำ”

กว่าจะก้าวขึ้นถึงขั้น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) “ถวัลย์ ดัชนี” ต้องพิสูจน์ตัวเองทุกเช้า-ค่ำ สร้างสรรค์ ปั้นแต่ง ปลดปล่อยพลัง กว่าที่จะถึงวัน“ผลงาน” ได้รับการชื่นชม

ถวัลย์ ดัชนี (เกิด ๒๗ ก.ย. ๒๔๘๒) เด็กรักงานศิลป์จากภาคเหนือ โบกมือลา เชียงราย บ้านเกิด เพื่อเปิดเส้นทางตามฝัน ใน โรงเรียนเพาะช่าง...พรสวรรค์เรื่องวาดเขียน โดดเด่นมานานวัน เมื่อได้เข้าเรียนในโรงเรียนเพาะช่าง เหมือนดั่ง “เพชร” ได้รับการเจียระไน

นักเรียนเพาะช่างดีเด่น ได้รับการติดโล่ ประกาศตัวก่อนจะเลื่อนชั้น เพิ่มวุฒิ อุดรูรั่ว เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่คือ มูลเหตุ จุดก่อเกิด และแรงผลักดัน คำ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่สอนสั่ง จุดประกายให้ ถวัลย์ ดัชนี เข้าสู่วิถีทางแห่งศิลปะอย่างแท้จริง!!

ถวัลย์ ดัชนี สอบชิงทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปเรียนต่อโทที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และต่อปริญญาเอกในสาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ นำพาให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับ “สากล”

แต่ก่อนจะเกิด ยุคทอง ย่อมต้องผ่าน ด้านมืด... ถวัลย์ ดัชนี เคยโซซัดโซเซจนเกือบไม่มีที่ยืน เพราะถูกคนวิจารณ์งานดาษดื่นไม่มีชิ้นดี!! แต่ “เพชร” ย่อมเป็น“เพชร” เมื่อความเท็จถูกลบล้าง ผลงานถูกขยายความ ชิ้นงานจึงได้รับการยอมรับ และยกย่องชื่นชม

ทรัพย์จากความมีชื่อเสียง ถวัลย์ ดัชนี ผันเปลี่ยนเป็นทุน สร้างประโยชน์แก่วงการศิลปะ บำรุงการศึกษาและผลักดันการสร้างสรรค์ ด้วยหวังว่าสักวัน สังคมไทยจะให้ความสำคัญแก่ ศิลปะ และการสร้างสุนทรียรส ให้กับผู้คน

บั้นปลายชีวิต เขาทุ่มเทเวลาฟูมฟัก ศิลปสถาน “บ้านดำ” ดอยนางแล ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด ให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื้อที่ร้อยไร่ เรียงร้อยด้วยอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ พ่วงด้วยผลงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนวัตถุสะสมจากหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก

วันนี้สิ้นแล้วผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณเพื่องานศิลป์ สร้างคุณูปการมาจวบจนสิ้นลมหายใจ จากนี้มิอาจได้เห็นปัจเจกภาพรูปแบบใหม่ แต่ที่คงเหลือไว้ คือ สมบัติชั้นครู ที่จะคงอยู่เป็น “อมตะ” ตลอดกาล!!


ภาพและข้อมูลจาก
คอลัมน์ "คนเฝ้าจอ"นสพ.แนวหน้า ๕ ก.ย. ๒๕๕๗
naewna.com
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี










จดจาร จำลึก 'ถวัลย์ ดัชนี'


"ในประเทศไทยจะมีคนแบบถวัลย์ ดัชนี หรือเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สักกี่คน" คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นของอาจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติอีกท่าน ที่กล่าวถึงอาจารย์ถวัลย์ ในงานศิลปินแห่งชาติสัญจร จังหวัดสงขลา เมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปในแวดวงศิลปะของบ้านเรา แต่สะท้อนถึงความเป็นเอกศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้อย่างดี

ฝีแปรงที่ตวัด สะบัดปลาย จนปรากฏเป็นผลงานอันน่าพิศวง ท่ามกลางผู้ชมมากมาย สายตานับร้อยคู่ที่เฝ้ามองจดจ่อ แต่ฝีแปรงที่สะบัดก็ไม่ได้สั่นไหว กลับมั่นคง เพราะจิตใจเจ้าของ ฝีแปรง ตั้งมั่นในมโนนึกว่าจะสะบัดแปรงไปทางไหน

สมาธิอันแน่วแน่ และไม่มีครั้งไหนที่ฝีแปรงจะสะบัด ตวัด "พลาด" เลยสักครั้ง เป็นความมหัศ จรรย์ที่ศิลปินด้วยกันเองยังยอมรับว่าหาใครที่จะสร้างผลงานรูปแบบนี้ได้เหมือนอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

เมื่อถูกถามว่า ทำไมอาจารย์จึงสามารถวาดผลงานได้อย่างไม่มีที่ติ แม้มีคนห้อมล้อมเฝ้าชมเป็นร้อย อาจารย์ถวัลย์ ผู้ไม่ถ่อมตน บอกว่า แม้จะมีคนเป็นล้านล้อมรอบก็เหมือนอยู่คนเดียว ฝีแปรงที่ตวัดขึ้นลงนั้นเป็นไปตามจิตที่สั่ง ดังนั้น สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เหมือนผิวหนังกำพร้าที่ไม่ได้รบกวนจิตใจแต่อย่างใด

ตัวตนความเป็นถวัลย์ ดัชนี ถ้าเปรียบเป็นสี ก็เหมือนสีรุ้ง สีดำ-ขาว ซึ่งเป็นสีประจำที่อาจารย์ถวัลย์ใช้สร้างผลงาน หรือบางครั้งก็เป็นสีแดง เพราะความร้อนแรงในความคิด อารมณ์ หรือครั้งก็เป็นสีชมพู เพราะมีมุมคิกขุที่หลายคนคาดไม่ถึง หรือสีขาวในความเป็นปราชญ์ ปรัชญา ผู้รอบรู้วงการศิลปะโลกอย่างชนิดที่มีไม่กี่คนในบ้านเรา

ความเป็นนักพูด นักเล่า ที่มีเรื่องหักมุมเจ็บแสบ หรือการเปรียบเปรยคนที่กล่าวถึงที่เรียกเสียงฮาจากคนฟังได้ไม่หยุด หรือความเป็นนักจำที่หาใครทาบได้ โดยเฉพาะกลอนของอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้ล่วงลับ อาจารย์ถวัลย์สามารถร่ายออกมาได้ครบทุกบท ทุกตอน แต่การร่ายกลอนอาจารย์อังคารไม่ได้เป็นแบบ ทื่อ ๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย เพราะนั่นไม่ใช่ถวัลย์ ดัชนี แต่กลอนบทนั้นบทนี้จะมี Story สลับฉาก เป็นเรื่องราว มีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ที่มาที่ไปของกลอนทั้งหมด สร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ผู้ชมผู้ฟัง เคลิบเคลิ้ม ซาบซึ้ง อิ่มเอิบไปกับความยิ่งใหญ่ของอาจารย์อังคาร และทึ่งไม่หยุดกับความเป็นถวัลย์ ดัชนี

คนที่รู้จักลุงหวัน หรืออาจารย์ถวัลย์ ต่างรู้ว่านอกจากการวาดรูป อาจารย์ถวัลย์ยังมีความสุขกับการได้เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ เสียงฮาเสียงหัวเราะของคนฟังคือความสุขของคนเล่า แม้เป็นศิลปินพันล้าน แต่อาจารย์ถวัลย์ไม่ได้นั่งบนหอคอยทองคำ แล้วได้แต่มองคนที่อยู่เบื้องล่างอย่างเดียว ในช่วงปัจฉิมวัย อาจารย์ถวัลย์ร่วมกับอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ที่มีฐานที่มั่นในสหรัฐอเมริกา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเลือกเฟ้นศิลปินรุ่นใหม่ หรืออาจารย์ด้านศิลปะไปดูงานศิลป์ โดยเฉพาะผลงานศิลป์ระดับโลกในพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา โดยใช้บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ที่จังหวัดเชียงรายเป็นหนึ่งในฐานการอบรม คัดเลือก

ตลอดเวลาหลายปีทั้งอาจารย์ถวัลย์และอาจารย์กมลไม่เคยเหน็ดหน่ายกับโครงการที่ทำซ้ำทุกปี เพราะหวังจะให้โอกาสศิลปินไทยได้มีประสบการณ์ในโลกกว้าง เป็นหนึ่งในวิถีของการ

"สร้าง" ศิลปินคุณภาพให้กับประเทศชาติ การสอนของอาจารย์ถวัลย์ไม่ได้อยู่ที่การสะบัดแปรงโชว์ ซึ่งเรียกความเร้าใจจากนักเรียนศิลปะให้ตื่นตะลึงเท่านั้น หากแต่วาทศิลป์ สไตล์ "อวดร่ำอวดรวย" ของอาจารย์ถวัลย์ เช่น วาดแค่นี้ขายภาพได้กี่ร้อยล้านฟังเผิน ๆ ดูน่าหมั่นไส้หน่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้ว คำพูดเหล่านี้แฝงไว้ด้วยแรงเจตนา หวังกระตุ้นให้หัวใจน้อย ๆ ของนักเรียนนักศึกษาที่ยืนฟังเกิดความมุมานะที่จะเป็นศิลปินชั้นดีต่อไปในวันข้างหน้า

เมื่อต้นปี ๒๕๕๗ อาจารย์ถวัลย์รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย แต่ด้วยความตั้งใจจะเชิดชูงานศิลปะไทยร่วมสมัยสู่สากล อาจารย์ก็ไม่เปลี่ยนใจร่วมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจรสร้างสรรค์งานศิลป์ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งเอเชีย เมืองฟุกุโอกะ ในฐานะศิลปินคนสำคัญ จิตรกรไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชีย เมืองฟุกุโอกะ ครั้งที่ ๑๒ ประจำปี ๒๕๔๔ สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับคนไทย วันนั้นสื่อสิ่งพิมพ์แดนปลาดิบสนใจสัมภาษณ์ชีวิตและการทำงานของอาจารย์ถวัลย์

และในฐานะ "ศิลปิน" ผู้ปวารณาตนสร้างศิลปะให้กับมวลมนุษยชาติ อาจารย์ได้เอ่ยปากจะให้การสนับสนุนศิลปินญี่ปุ่นที่ต้องการมาเรียนรู้ศิลปะไทยร่วมสมัยที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ มหาวิหารของท่าน ภายในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังสะสมงานศิลปะที่อาจารย์รังสรรค์ขึ้นหลายชิ้น ก็เป็นงานชิ้นเอกที่ฝากไว้ในมิวเซียมต่างแดนที่มีผู้คนจากทั่วโลกแวะเวียนมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

อาจารย์ถวัลย์ปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นจนเสร็จสมบูรณ์ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยและเข้ารับการรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่อาจารย์ได้ประกาศความยิ่งใหญ่ของศิลปินไทยสู่สากล ตลอดระยะเวลา ๒ เดือน แทบทุกคนที่รู้ข่าวคราวการเจ็บป่วยของอาจารย์ต่างภาวนาให้มีปาฏิหาริย์ ในที่สุดอาจารย์ถวัลย์ได้จากไปด้วยอายุ ๗๔ ปี ๑๑ เดือน

วันนี้แม้วงการศิลปะไทยจะสูญเสียเสาหลัก แต่ที่ "บ้านดำ" ซึ่งอาจารย์ถวัลย์ใช้เงินทุนส่วนตัวสร้างขึ้น เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวปรารถนามาชมงานศิลปะ สัมผัสความอลังการตระการตาของที่นี่ ยังเป็นจิตวิญญาณของศิลปินเอกผู้นี้ ที่คนรุ่นหลังจะมีโอกาสสัมผัสอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ในวันที่ท่านยังอยู่และจากไป

"บ้านดำไม่เคยเปิด เพราะบ้านนี้ไม่เคยปิดประตู ผมเปิดต้อนรับผู้ที่มีจิตใจรักงานศิลปะตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด แล้วผมก็เขียนรูปที่นี่ทุกวัน" อาจารย์เคยประกาศก้องเมื่อวันที่มีพิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ

บ้านดำแห่งนี้เองที่อาจารย์บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์น้อยใหญ่ ก่อนเติบโตงอกเงยขึ้นใหม่ เพื่อสืบทอดจรรโลงศิลปะที่แสดงอารยธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ไม่ผิดไปจากชีวิตของถวัลย์ ดัชนี.


ภาพและข้อมูลจาก
นสพ.ไทยโพสต์ ก.ย. ๒๕๕๗
ryt9.com
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี












รำลึก 'ถวัลย์ ดัชนี' คำสอนทรงคุณค่าสู่กลางใจศิลปินล้านนา
ณัฐวัตร ลาพิงค์


การจากไปของ "ถวัลย์ ดัชนี" เสมือนการคืนลมหายใจให้แผ่นดิน แต่ในโลกความเป็นจริงสำหรับคนไทยแล้ว เรามิได้แค่สูญเสียศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี ๒๕๔๔ แต่เป็นการสูญเสียครูสล่าล้านนาแห่งอุษาคเนย์

ศิลปินนามอุโฆษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยเคราสีขาวยาว ถือเป็นผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์ มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระและท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยวและกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"อาจารย์ถวัลย์ หรือพี่หวันของผมนั้นยิ่งใหญ่มาก ถือว่าระดับโลกของจริง ผมและศิลปินหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจศิลปะทั่วโลกถือว่าเป็นการสูญเสียคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศชาติของเราคนหนึ่ง บุคคลคนนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง นำศิลปะของตัวเองไปสู่ซีกโลกทุกซีกโลก และสร้างบ้านดำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน จ.เชียงราย" อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติและผู้สร้างวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย ซึ่งในแววตาเปี่ยมไปด้วยความอาลัย กล่าว

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า เป็นผู้ตามรอยเท้าของ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งในวัยเด็กปรารถนาว่าจะยิ่งใหญ่ให้เหมือน ชีวิตที่ประสบความสำเร็จนั้นมีถวัลย์ ดัชนี เป็นครูบาอาจารย์ ที่เห็นไปข้างหน้าคือผู้เดินไปข้างหน้า ถางพงหญ้าป่าหญ้าทุกอย่างให้ ทำให้สะดวกสบายมาก

"ชีวิตของพี่ถวัลย์ คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของผม เป็นที่สุดของศิลปินทุกคนในประเทศชาติ เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่างแท้จริง สร้างทุกอย่างให้แก่ประเทศชาติของตัวเอง เป็นที่น่าเสียดายมาก หวังว่าลูกชายของพี่ถวัลย์จะรักษาและสืบสานต่อบ้านดำให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป เชื่อว่าพี่น้องชาวเชียงรายและศิลปินทุกคนต่างก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน" อาจารย์เฉลิมชัย กล่าว

เช่นเดียวกันกับ อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ ผู้ร่วมก่อตั้งขัวศิลปะ ซึ่งเป็นแกลเลอรีที่รวบรวมงานศิลปะของศิลปินใน จ.เชียงราย กล่าวว่า พลันที่ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์ถวัลย์ ตกใจมาก และถือเป็นการสูญเสียของวงการศิลปะ ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นระดับโลก เพราะถือเป็นศิลปินที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้วยผลงานศิลปะ อาจารย์ถวัลย์ถือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นน้องที่ได้เกิดมาใหม่ในวงการ ทั้งด้านการวางตัวในแบบของศิลปิน และเป็นผู้ที่รวบรวมศิลปินใน จ.เชียงราย เข้าด้วยกัน โดยการสร้างขัวศิลปะขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานและศิลปิน ใน จ.เชียงราย

"หากไม่มีอาจารย์ถวัลย์ การรวบรวมเหล่าศิลปินใน จ.เชียงราย คงเป็นไปได้ยาก ศิลปินชาวเชียงรายต่างมีความผูกพันกับอาจารย์ถวัลย์เป็นอย่างมาก ในช่วงที่เปิดขัวศิลปะขึ้น อาจารย์ถวัลย์ได้มอบภาพวาดเป็นรูปม้าไว้ให้ โดยยกให้ขัวศิลปะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถพิมพ์จำหน่ายได้เพียงผู้เดียว โดยไม่คิดเงินค่าภาพ ภาพดังกล่าวมีมูลค่ากว่า ๑ ล้านบาท" อภิรักษ์ กล่าว

ไม่ต่างไปจาก ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงราย ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ กับแรงบันดาลใจในพระพุทธศาสนา (พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จ.เชียงราย) กล่าวว่า อาจารย์ถวัลย์ เป็นศิลปินต้นแบบของน้อง ๆ ศิลปินรุ่นใหม่ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ผลงาน ด้านศิลปะและการวางตัว ท่านเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนการสร้างผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งการให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน อาจารย์ถวัลย์เป็นผู้ที่ไม่ถือตัว มีความเป็นกันเองและมักจะคอยเตือนเสมอ

"ศิลปินจะต้องรู้หน้าที่ของตนเอง อย่าได้หลงไปทำกิจกรรมเดรัจฉานที่ทำให้หลงมัวเมา ทำให้ลืมการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งคำสอนของท่านทำให้ศิลปินรุ่นน้องมีความตั้งใจที่จะผลิตผลงานศิลปะออกมาอย่างเต็มความสามารถและมีผลงานที่ออกมางดงามเป็นที่พึงพอใจ" ศิลปินชาวเชียงราย กล่าว

ด้าน "นพดล เขื่อนเพชร" ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หนึ่งในงานมรดกชิ้นสำคัญของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กล่าวว่า ตั้งแต่ได้ร่วมงานกับอาจารย์ถวัลย์ นอกจากจะเห็นท่านสร้างผลงานทางศิลปะแล้ว ยังได้ตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี เพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะด้านทัศนศิลป์ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดศิลปินรุ่นใหม่ที่มีฝีมือด้านศิลปะ

"อาจารย์ถวัลย์เคยกล่าวไว้ว่าที่ผ่านมาได้สร้างผลงานให้แก่ประเทศ เป็นที่รู้จักทั่วโลกมาแล้วด้วยศิลปะ จึงอยากจะสร้างอะไรไว้ให้ จ.เชียงรายที่เป็นแผ่นดินเกิด จึงได้สร้างบ้านดำขึ้นมา เพื่อเป็นที่จัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะให้ชาวเชียงราย โดยไม่มีการเก็บเงินค่าเข้าชม ทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก จ.เชียงราย" นพดล กล่าว

สุดท้าย "ณรงค์ฤทธิ์ พันสุภะ" พนักงานต้นห้องบ้านดำ คนใกล้ชิดอาจารย์ถวัลย์ บอกว่า การสูญเสียอาจารย์ถวัลย์ นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งที่ยิ่งใหญ่ ส่วนตัวแล้วรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างมากเพราะได้ร่วมทำงานกับอาจารย์ถวัลย์ มาเกือบ ๑o ปี โดยจะคอยทำหน้าที่เป็นลูกมือให้เวลาที่ท่านสร้างผลงานและคอยดูแลในช่วงเวลาที่ท่านทำงานศิลปะ เพราะในเวลาที่ท่านรังสรรค์ผลงานศิลปะแต่ละครั้งนั้นจะต้องการสมาธิมาก และใช้ความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง แต่เมื่อพักจากการทำงานเมื่อใด อาจารย์ถวัลย์จะออกมาทักทายแขก นักท่องเที่ยว ที่บ้านดำ โดยจะคอยแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับผลงาน สร้างความเป็นกันเองกับแขกผู้มาเยือนอยู่เสมอ และตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์ถวัลย์ ท่านได้พร่ำสอนเสมอว่า "ให้รู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียงและรู้จักประเมินตนเอง"


ภาพและข้อมูลจาก
นสพ.คม ชัด ลึก ๕ ก.ย. ๒๕๕๗
komchadluek.net












ถวัลย์ ดัชนี กับผลงานบ้านดำ เชียงราย มรดกทรงคุณค่าทางศิลปะ
เปลว สีเงิน


ถวัลย์ ดัชนี กับผลงานบ้านดำ หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย ที่ทุ่มเทสร้างนานกว่า ๒๕ ปี จนกลายเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางศิลปะ

นับเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ต่อวงการศิลปะของไทย เมื่อนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี ๒๕๔๔ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย ๗๔ ปี ทิ้งไว้เพียงผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจ ที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางงานศิลปะให้อยู่กับคนไทยตลอดกาล

สำหรับหนึ่งในผลงานล้ำค่าที่ อ.ถวัลย์ ได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่า คือ "บ้านดำ" หรือ "พิพิธภัณฑ์บ้านดำ" ในตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่นอกจากจะเป็นบ้านพักอาศัยในปัจจุบันและสถานที่ทำงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งรวมงานศิลปะอันทรงคุณค่า รวมถึงของสะสมล้ำค่าต่าง ๆ มากมายของ อ.ถวัลย์

โดย อ.ถวัลย์ จบปริญญาบัณฑิตเกียรตินิยม จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จบปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ปริญญาเอกด้านอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจใช้เวลานานกว่า ๒๕ ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นหมู่อาคารจำนวน ๔๒ หลัง ในเนื้อที่กว่า ๑oo ไร่ อาคารเหล่านั้นสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือที่ออกแบบสร้างสรรค์โดย อ.ถวัลย์ อันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีโทนสีดำเป็นหลัก

ภายในอาคารแต่ละหลังใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่แสดงความเป็นตัวตนของ อ.ถวัลย์ ไว้อย่างชัดเจน อาทิ งานไม้แกะสลัก ศิลปะจากเขาสัตว์ หัวควาย เขาควาย กระดูกสัตว์ หนังเสือ ศิลปะงานจัดวางงานไม้แกะสลักอันงดงาม งานปูนปั้นอันวิจิตร งานศิลปะที่แฝงไว้ด้วยปรัชญา และห้องน้ำที่ตกแต่งอย่างวิจิตรแปลกตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบ้านดำแกลลอรี่ เป็นสถานที่จัดแสดงภาพวาดและผลงานศิลปะของ อ.ถวัลย์ ดัชนี รวมถึงมีรอยฝ่ามือประทับของ อ.ถวัลย์ ให้ได้ชม

ส่วนผลงานภาพวาด ได้แก่ ผลงาน มารผจญ ๑ และ มารผจญ ๒ ขนาดใหญ่ความยาว ๓ เมตร ซึ่งแสดงไว้ที่อาคารส่วนหน้าของบ้านดำ โดยภาพนี้เป็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตที่อาจารย์ถวัลย์ได้วาดขึ้น

ขณะที่ทางด้าน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เปิดใจว่า "การจากไปของอาจารย์ถวัลย์ หรือพี่หวันนั้นทำให้ผมรู้สึกเสียใจ เพราะพี่หวันถือเป็นศิลปินแห่งชาติที่มีฝีมือสูงส่งยิ่งใหญ่มากระดับโลกของจริงและถือเป็นศิลปินแห่งชาติตัวจริงเสียงจริงที่ผมและศิลปินทั้งหลายคนให้ความสนใจและเคารพ โดยผลงานของอาจารย์ถวัลย์ไม่ใช่มีให้เฉพาะคนไทยแต่ให้กับคนทั้งโลก ดังนั้นจึงถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และผมบอกได้เลยว่าบุคคลคนนี้ยิ่งใหญ่จริง ๆ เพราะได้นำผลงานทางศิลปะของตนเองไปสู่ซีกโลกทุกซีกโลกได้"





ภาพและข้อมูลจากเวบ
kapook.com
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี



บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ


บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ somjaidean100

Free TextEditor









Create Date : 09 กันยายน 2557
Last Update : 3 กันยายน 2566 20:26:37 น.
Counter : 6232 Pageviews.

0 comments
几度花落时( จี่ตู้ฮวาลว่อสือ) by 任光 (เหยินก่วง)​ ปรศุราม
(5 เม.ย. 2567 10:45:31 น.)
วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา สายหมอกและก้อนเมฆ
(3 เม.ย. 2567 16:30:22 น.)
รักแรก โคตรลืมยาก (2566) ไมเคิล คอร์เลโอเน
(21 มี.ค. 2567 00:37:20 น.)
วัดศรีสุภณ Wat Si Suphon, Nakhon Ratchasima. nanakawaii
(21 มี.ค. 2567 00:48:34 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด