นกจุนจู๋หัวสีตาล นกจุนจู๋หัวสีตาล Tesia castaneocoronata (Chestnut-headed Tesia)เป็นนกตัวเล็กหางสั้นจุนจู๋สมชื่อ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 8.5-9.5เซ็นติเมตร หัวและหน้าสีน้ำตาลแดงมีวงรอบตาสีขาวไม่เต็มวงและกว้างเป็นพิเศษด้านหลังตาทำให้ดูเป็นแถบสีขาว คอสีเหลืองสดใส ท้องลายสีเหลืองสลับเขียวอ่อน ลำตัวด้านบนและสีข้างสีเขียวแกมเหลือง ตัวผู้และตัวเมียรูปร่างและสีสันเหมือนกัน ![]() นกจุนจู๋ (Tesia) มีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด จัดเป็นชนิดที่พบทางเหนือ(พบได้ในประเทศจีนทางตอนใต้ พม่า ตอนเหนือของไทย ลาวและอินเดีย เนปาลตอนใต้และเวียตนาม) 3 ชนิด และชนิดที่พบทางใต้(พบได้ในเกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อยทางตอนใต้ของอินโดนีเซีย) 2 ชนิด เป็นนกที่อาศัยตามพื้นป่า มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 7-10 เซ็นติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 6-12 กรัม ขายาว(เมื่อเทียบกับตัว) ชอบยืนตัวตรง และมีหางสั้นจนดูเหมือนไม่มีหาง ปากของนกจุนจู๋ทุกชนิดจะยาวและมีสองสี คือจะงอยปากบนสีเข้ม จะงอยปากล่างสีเนื้อ ![]() นกจุนจู๋อาศัยตามป่าชั้นล่างของป่าดิบเขา โดยมักจะอยู่ในป่าที่ชุ่มชื้น มักพบใกล้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกจุนจู๋หัวสีตาลและนกจุนจู๋หัวเหลือง นกจุนจู๋ที่พบทางเหนือเป็นนกอพยพตามระดับความสูง กล่าวคือทำรังวางไข่ในที่สูงได้ถึง 4000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอพยพลงมาในฤดูหนาวได้จนถึงที่ความสูงเพียง 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนอีกสองชนิดที่พบทางใต้เป็นนกที่อยู่ประจำถิ่น อาหารของนกจุนจู๋คือพวกแมลงเล็กๆโดยนกจะหากินใกล้พื้นดินใต้พุ่มไม้ใบบังและกองใบไม้ นกจุนจู๋หัวสีตาลทำรังวางไข่ตามฤดูกาล โดยจะวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่ บางครั้งนกชนิดนี้ก็ถูกนกคัคคูเล็ก (Lesser Cuckoo) แอบมาวางไข่ในรังฝากเลี้ยงลูกด้วย ![]() นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน ไทย ลาว และเวียตนาม ในประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นทางเหนือของประเทศตามพื้นป่าดิบ ที่ความสูง 950-2565เมตรจากระดับน้ำทะเล นกในบล็อกถ่ายมาจากบริเวณใกล้จุดสกัดดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ เดือนมกราคม 2553 ![]() ข้อมูลจาก : หนังสือคู่มือนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล,2550 //en.wikipedia.org |
บทความทั้งหมด
|