ศาลเตี้ยออนไลน์ , นักเล่าเรื่อง , นักสืบหน้าจอ , เขียนฟรีๆแล้วได้อะไร (คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนไวท์) ... เราอยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีส่งเสริมให้ผู้คนนินทากันอย่างโจ้งแจ้งผ่านsocial media เพียงแค่ไม่ได้ใช้คำว่านินทาครับ แต่จะเลี่ยงไปใช้คำว่าแชต , คอมเม้นต์ , แบ่งปันความเห็น ฯลฯ เหมือนเช่นแทนที่จะใช้คำว่า อวด แต่ปรับให้ฟังแล้วไม่สะดุ้งแทนด้วยคำว่า โพสต์หรือแชร์ เลี่ยงที่จะใช้คำว่า อยากรู้เรื่องชาวบ้าน เพราะสบายใจกว่าที่จะใช้คำว่าฟอลโล่ว์ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือผิดศีลธรรมนะครับที่เราจะมีคุณลักษณะเหล่านั้น (นินทา/อวด/อยากรู้เรื่องชาวบ้าน) เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มนุษย์ที่อยากเปิดเผยความภาคภูมิใจ + มีความอยากรู้อยากเห็น แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทเราจะพบว่าการนินทาในยุคนี้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งคือ ไม่ใช่คุยกันเฉพาะตอนเจอหน้า ไม่ใช่ซุบซิบเฉพาะกลุ่มที่เราไว้ใจ แต่การนินทาผ่านหน้าจอเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรารวมกลุ่มนินทากับคนแปลกหน้าที่ต่อมาอาจเป็นมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ การนินทายุคใหม่ไม่ได้จางหายไปพร้อมกับการระเหยของน้ำลายที่พูดคุย แต่มันประทับหนักแน่นยิ่งกว่าน้ำหมึกบนหน้ากระดาษเพราะมันกลายเป็น ข้อความนินทา ที่จะอยู่ในโลกออนไลน์ชั่วกัปกัลป์ แล้วประการสำคัญ เมื่อมองถึงรูปแบบการนินทา เช่น การไลน์ เขียนสเตตัส คอมเม้นต์ ทวีต โพสต์เว็บบอร์ด ฯลฯ เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่มีแค่เรากับเพื่อนไม่กี่คนอ่าน แต่ยังมีคนอื่นอ่านอีกมากที่สามารถเห็นความเห็นของเรา การนินทาของเรามีนัยที่ต้องการจะ บอกให้โลกรู้ ด้วย ***** ... ยังไม่ใช่แค่นั้นนะครับ นอกจาก อยากบอก การรวมกลุ่มนินทายังต่อยอดไปสู่อาชีพใหม่ๆเช่นนักสืบหน้าจอ , ศาลเตี้ยออนไลน์ ฯลฯ เราจะเจอได้บ่อยครับในเพจ ในเว็บบอร์ดที่ถือกำเนิดขึ้นมากลายเป็นจุดศูนย์รวมของการนินทาเรื่องชาวบ้านแต่ไม่ได้ใช้คำตรงตัวแบบนั้นว่า เพจนินทา แต่รูปแบบคือ หยิบชีวิตบุคคลในข่าวหรือบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงมาตั้งเป็นหัวข้อแล้วเปิดช่องทางให้คนมาแสดงความเห็น ซึ่งหัวข้อก็มักส่อไปในทางเชื้อเชิญคนมาร่วมยำ (ดูตัวอย่างในนิยาย คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ก็จะมีเพจของตัวละครหลัก และหน้าเว็บบอร์ดที่ผู้คนมารวมกลุ่มกันคุยเรื่องคดีฆาตกรรม) การรวมกลุ่มมีพวกพ้องมักทำให้ผู้คนที่นินทาก็พัฒนาตัวเองไปเป็นศาลเตี้ยออนไลน์ คือ หากคิดว่าคนในข่าวผิดก็เขียนๆแหย่ๆคล้ายปรักปรำจนเขาเป็นจำเลย แล้วหาทางทำให้โดนลงโทษอย่างสาสมซึ่งก็มักมีมาตรฐานไม่ตรงกับกฎหมายบ้านเมือง เช่น ไม่ได้คิดจะส่งเรื่องให้ตำรวจหรือผู้เกี่ยวข้องแต่อยากจะให้คนผิดแสดงการขอโทษ อยากให้โดนไล่ออก ฯลฯ และถ้าอีกฝ่ายยังไม่แสดงความสำนึกหรือยังโดนลงโทษไม่สาสมแก่มวลชนที่เปรียบได้กับเหล่าคณะผู้พิพากษาสมัครเล่น ก็จะพยายามหาทางลากมาขึ้นเขียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยเหตุผลที่ว่า มันสมควรโดน ***** ![]() ... เราจะเห็นลักษณะดังกล่าวที่ว่ามาในนิยาย คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ มิกิ โนะริโกะ ถูกแทงตายอย่างโหดเหี้ยมแล้วถูกเผาจนศพไหม้ดำอยู่กลางป่าบนเขา เธอเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางที่สวยสะดุดตาการที่คดีนี้ได้รับการขนานนามว่า คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนไวท์ ก็เพราะความสวยของผู้ตายแถมเธอยังอยู่บริษัทขายสบู่ทำให้ผิวขาวรุ่นที่ขายดีจนชาวบ้านเรียกว่าสบู่สโนไวท์ นิยายเล่มนี้ไม่ได้บรรยายเรื่องด้วยการมีตัวละครนำเราไปแกะรอยหาคนร้ายเหมือนนิยายสืบสวนส่วนใหญ่แต่ทั้งเล่มคือ บทสัมภาษณ์คนเกี่ยวข้องกับคดี , บทสนทนาของคนสองคนคุยโทรศัพท์กัน ,คอลัมน์ที่เขียนถึงคดีนี้ในนิตยสาร , คอมเม้นต์ในเว็บบอร์ดหรือหน้าเพจที่คนแปลกหน้ามาคุยกันฯลฯ นิยายเล่มนี้เหมือนตีแผ่โลกออนไลน์ที่เห็นได้ในปัจจุบันอาทิเช่น เว็บไซต์แมนมาโลที่มีคนมาจับกลุ่มวิเคราะห์คดี ก็ไม่ต่างอะไรกับนักสืบพันทิปนักสืบหน้าจอ หรือหน้าเพจในเฟซบุ้คที่รวมคนมาคุยเรื่องคดีสำคัญๆ ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ารูปแบบการรวมกลุ่มแบบนี้ มีการนำความรู้มารวมกันคล้ายกับ collective intelligence นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ช่วยให้ทางการดำเนินคดีช่วยให้คนทำผิดในสังคมมากมายถูกลงโทษ แต่ก็ปฏิเสธอีกไม่ได้นะครับว่าบทบาทนักสืบหน้าจอกับศาลเตี้ยออนไลน์ ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ให้เสียชื่อเสียงมาก็เยอะ, ปล่อยข่าวมั่วซั่วไปก็บ่อย , ทำให้สังคมขัดแย้งเกลียดชังมากขึ้นก็มี ฯลฯ และเมื่อเกิดผลลัพธ์ดังกล่าวชาวเราที่ทำหน้าที่นักสืบหรือผู้พิพากษาก็มักจะพูดเหมือนตัวเอกในนิยายที่ชื่อ อะคะโฮะชิ ยูจิ ***** ... อะคะโฮะชิ ยูจิ เป็น คอลัมนิสต์มือใหม่ที่เพิ่งมาจับบทความข่าวคดีฆาตกรรมโดยเขามีล็อกอินในเว็บบอร์ดของตัวเอง (ประมาณว่า ผมอยู่ข้างหลังคุณ ที่มีเพจตัวเองแต่ก็เขียนลงFilmax และนิตยสารเล่มอื่นๆ) เขานำบทสัมภาษณ์หรือเรื่องราวที่ไปสืบมาโพสต์ในโลกออนไลน์(ประมาณว่าตั้งกระทู้พันทิป , เขียนเพจของตัวเอง ฯลฯ) แล้วก็มีผู้คนมาร่วมวิเคราะห์คดี ครั้นเมื่อมีคนท้วงติงหรือตำหนิเช่น คุณเขียนโดยอาศัยการคาดเดาล้วนๆไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจน คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร ฉันกำลังคิดว่าจะฟ้องคุณด้วยข้อหาหมิ่นประมาทดีมั้ย แทนที่จะมัวโพสต์ในนี้พวกนายแจ้งตำรวจดีกว่าหรือเปล่า เขาก็จะตอบว่า - นี่มันอะไรกันนักหนาฉันทำแค่ไปสัมภาษณ์ข้อมูลแล้วรวบรวมเขียนเป็นบทความเฉยๆ แต่กลับถูกกล่าวหาราวกับฉํนจงใจเขียนให้เพื่อนร่วมงานของผู้ตายเป็นผู้ต้องสงสัยทำอย่างนั้นแล้วฉันจะได้อะไร - คนให้สัมภาษณ์ต่างหากที่ตัดสินเพื่อนร่วมรุ่นในบริษัทถ้าอยากด่าใครซักคน ก็ควรว่าพวกให้ข้อมูล - ฉันมันก็แค่นักเขียนรับจ้างถึงบ่นกับฉันไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าไม่พอใจเธอก็ทำเว็บไซตปกป้องผู้ต้องสงสัยซิ แล้วใช้พื้นที่นั้นไขความกระจ่าง รวบรวมเบาะแสหรือเขียนให้กำลังใจก็ได้ คนดีผู้เสแสร้งทั้งหลาย - ไม่มีใครปกป้องฉันเลยหรือไงต่อไปไม่บอกข้อมูลอะไรแล้ว ซึ่ง การตอบของเขาเป็นการตอบที่เราก็เห็นในโลกออนไลน์ได้ประจำครับ คือคุณลักษณะ (1) ปัดความรับผิดชอบ แล้วอ้างว่าตัวเองเป็นแค่ฟรีแลนซ์(นักเขียนรับจ้าง)เหมือนที่เราเคยอ่านเจอในเน็ต ที่คนชอบอ้างว่าตัวเองเป็นแค่คนที่มีใจรักไม่ได้หวังอะไร เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาๆมาเขียนจะเอาอะไรนักหนา (2) โยนความผิดให้คนอื่น (3) หลงตัวเองว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งดี ทั้งที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ แล้วลำเลิกบุญคุณจากผู้อื่น (4) อ้างเสมอว่าเขียนฟรีๆไม่ได้อะไรตอบแทน แต่จริงๆแล้วคนเขียนล้วนได้ สิ่งตอบแทนที่อาจไม่ใช่เงินทอง อัตตาของคนเขียนบทความก็เสพคำชื่นชมจากคนอ่านเกิดความภาคภูมิใจ เช่นเขียนอะไรแล้วก็มีคนมาเม้นต์ว่า นายเขียนเรื่องอื่นนอกจากอาหารได้ดีเหมือนกันนี่นา รวมไปถึง การปูทางสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต เช่นที่ เจ้าตัวบอกว่า ดูเหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่ๆจะเห็นความสามารถฉันแล้ว ***** ทุกคนมีเรื่องเล่า ... เวลาเล่นโซเชียลมีเดียถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าเราอยู่ท่ามกลาง นักเล่าเรื่อง (storyteller)ครับ นี่คือยุคที่เทคโนโลยีสนับสนุนให้มีนักเล่าเรื่องมาจำนวนมากโดยไม่ได้จำกัดแค่อาชีพนักเขียนดูอย่างอาชีพหมอ แต่ก่อนจะมี หมอเขียนบทความที่ไม่ใช่วิชาการให้อ่านซักกี่คน แต่ปัจจุบันมีเพจที่แอดมินเป็นหมอน่าจะเกือบครึ่งร้อยโดยเนื้อหาที่เขียนไม่ใช่ความรู้ทางการแพทย์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาชีพอื่นก็เช่นกัน เรามีเรื่องเล่ามากมายที่เขียนจากคนหลากหลายสาขาวิชาชีพ หลากหลายปูมหลังให้อ่านในโซเชี่ยลมีเดีย เราสนุกไปกับการอ่านประสบการณ์ชีวิตที่ต่างจากชีวิตของเรา สนุกไปกับการตามติดเรื่องของคนอื่น ความสนุกเวลาเราอ่าน เรื่องเล่า ทำให้เรามักไม่ทันคิดที่จะตรวจสอบความจริง เพราะมันไม่ใช่ข่าวไม่ใช่ข้อสอบ แล้วยิ่งถ้าคนเล่ามีฝีมือในการเล่าเก่งโน้มน้าวเก่ง ก็จะเหมือนตัวละครในหนังสือเล่มนี้ที่แต่ละคนเล่าเรื่องของตัวเองออกมาแล้วก็มีคนเชื่อถือมีแฟนคลับติดตาม ทั้งที่ความจริงเหล่านั้นเหมือนกับ ราโชมอนคือเป็นความจริงที่ไม่ตรงกันเลย แต่เมื่ออคติในใจเราทำงานในระบบออโต้ทำให้เรามองข้ามความจริงอีกหลายอย่างที่นักเล่าเรื่องไม่ได้บอกเรา, ไม่เอะใจว่ากำลังฟังความจริงครึ่งเดียวแบบ half truth, ไม่เกิดความคิดแบบ skeptic ในสิ่งที่คนๆนั้นกำลังเล่าแล้วก็ทำให้ไม่รู้ตัวว่า ความจริงที่เขาเล่าผ่านการเบี่ยงเบนหรือดัดแปลง ถ้าเรื่องเล่าเหล่านั้นเป็นนิยายก็คงไม่เป็นไรแต่ทุกวันนี้ ข่าวหรือบทความวิชาการหรือความขัดแย้งในสังคม ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็น เรื่องเล่า เช่นกัน (คล้ายกับรายการคุยข่าวเพียงเปลี่ยนเป็นวิเคราะห์หรือเล่าข่าวโดยแอดมินเพจหรือเซเล็บ) การสนุกกับเรื่องเล่าในประเด็นดังกล่าวแบบไม่เอะใจ มันก็จะทำให้เราเสพติดจิตวิญญาณของโคนัน สนุกกับการเป็นนักสืบหน้าจอ ,รู้สึกดีกับการพิพากษาแล้วลงโทษคนผิดในสังคมด้วยคีย์บอร์ด ฯลฯ แล้วเมื่อเราทำผิดพลาดอาจจะโดยไม่ตั้งใจ เช่นการโพสต์หรือคอมเมนต์ของเราทำให้บางคนต้องตกเป็นจำเลยสังคมทั้งที่ไม่มีความผิด หรือมีเหยื่อหลายรายในโลกจริงที่ถูกทำร้ายผ่านโลกโซเชี่ยล หรือมีข่าวผิดๆมากมายที่เราแชร์ออกไป ก็มักไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบ เช่น ยอมรับผิดแล้วแชร์ในสิ่งที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยแสดงความรู้สึกเสียใจที่ตัวเองมีส่วนทำผิดไป กล่าวคำว่า ขอโทษ' ก็แทบไม่มีให้เห็น เพราะในขณะที่จำเลยสังคม(จากเหล่านักสืบและศาลเตี้ย)ต้องเผชิญกับคำด่า หรือในขณะที่มีคนพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อแก้ต่างในสิ่งที่นักสืบหน้าจอและศาลเตี้ยออนไลน์นำเสนอผิดไป ในเวลานั้น เราก็มีเรื่องใหม่ๆ มีข่าวใหม่ๆ มีดราม่าใหม่ๆ มาให้เราอ่านแล้วมีส่วนร่วมอีกแล้ว ***** คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนไวท์ ... นิยายเล่มนี้เป็นผลงานของคนเขียนนิยายเรื่อง คำสารภาพ (Confession) ซึ่งถ้าเทียบกัน ผมชอบคำสารภาพมากกว่า ทั้งสองเล่มมีวิธีการเล่าคล้ายกันตรงเล่าผ่าน มุมมองของแต่ละคน โดยในนิยายคำสารภาพ เมื่ออ่านคำสารภาพครบทุกคนเราจะเห็นภาพรวมว่าอะไรเป็นอะไร เข้าใจว่าแต่ละชีวิตส่งผลกระทบกันอย่างไร ในขณะที่ในคดีฆาตกรรมสโนไวท์ เมื่ออ่านครบทุกคน เราจะได้คำตอบหรือความจริงเพียงหนึ่งเดียว สิ่งที่ทำให้ชอบน้อยกว่าคำสารภาพคือเทคนิกในการเล่าเรื่องของ คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนไวท์ ที่อาจหวือหวาน่าสนใจทันยุคสมัย แต่มันชวนปวดหัวเกินไป อ่านไปเรื่อยๆแล้วสะดุด ไม่ชวนติดตาม รู้สึกแห้งแล้ง แล้วตัวพล็อตก็ไม่ได้ทำให้คนอ่านอึ้งหรือประหลาดใจ ยิ่งคนอ่านนิยายแนวนี้บ่อยๆคงเดาได้ไม่ยากแล้วก็พอรู้ว่าเจตนาของผู้เขียนจะสื่อไปในทางไหน แถมตอนท้ายแต่ละบทที่เขียนว่า ' ดูข้อมูลประกอบชุดที่... หน้า ...' ไอ้เราก็นึกว่าเป็นกิมมิคประกอบแต่ละตอน แต่ปราฎว่าพออ่านไปจนเฉลยจบ ถึงรู้ว่าต้องอ่านข้อมูลประกอบทันทีหลังอ่านแต่ละบท จึงจะเก็ต ดังนั้นพอต้องมาอ่านข้อมูลประกอบอีกรอบในช่วงท้าย ก็ต้องพลิกไปพลิกมาเล่นเอาหน้ามืด ส่วนที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือ การได้เห็นกระบวนการที่ ความจริง ถูกบิดเบือนโดยแต่ละคน อาจจะด้วยความชั่วร้ายในใจ ด้วยอคติที่ไม่รู้ตัว ด้วยความรู้สึกละอายในเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับคดี (โดยไม่สนว่าการบิดเบือนนั้นจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน) เหมือนกับที่เราอ่านข่าว ดูโทรทัศน์ อ่านเฟซที่เราไม่รู้ว่าความจริงที่เราเชื่อนั้นถูกบิดมามากแค่ไหน กว่าจะส่งต่อมาถึงเรา แล้วที่น่าคิดเล่นๆคือไอ้ความจริงท้ายที่สุดในนิยายหรือความจริงสุดท้ายที่เราเชื่อ มันก็อาจไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะอย่างในนิยายมันก็ถูกเล่าผ่านปากของตัวละครเช่นกัน หรือในชีวิตจริงที่เราเชื่อก็เพราะมันคือความจริงจากบุคคลที่เราไว้ใจ/ศรัทธา ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเป็น ความจริง [Declaration of conflict of interest : บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ได้หนังสือยืมมาอ่านฟรีจากมิตรสหายเจ้าของร้านหนังสือผู้มากน้ำใจนาม ฮะเก๋า จึงกราบขอบพระคุณแบบออกหน้าออกตาอีกครั้ง ฮ่าๆๆ] น่าอ่านจังครับ
โดย: Plasom IP: 27.130.138.97 วันที่: 19 กันยายน 2558 เวลา:23:13:00 น.
จัดเต็มเลยนะครับ อัดอั้นมากสินะ 55
ขอเอาไปแชร์นะครับ ชาวเราจะได้รู้ว่าคุณหมอกลับมาแล้ว โดย: แฟนผมตัวดำ IP: 1.46.228.153 วันที่: 20 กันยายน 2558 เวลา:23:56:45 น.
ตามมาอ่านค่ะ คิดถึงผลงานคุณหมอจัง ^^
โดย: กุ้งจัง IP: 49.229.159.23 วันที่: 21 กันยายน 2558 เวลา:0:27:54 น.
ชอบบทวิเคราะห์มากครับ ทำให้ได้ย้อนกลับมองตัวเอง ;)
โดย: Gonz IP: 1.10.254.13 วันที่: 27 กันยายน 2558 เวลา:16:43:21 น.
อ่านแล้วครับ ชอบในระดับนึง แต่ไม่ชอบที่มันเวียนหัวจริง ๆ เดี๋ยวคงต้องไปคำสารภาพมาอ่านบ้างครับ ^^
โดย: TazmaN IP: 118.174.167.248 วันที่: 14 ตุลาคม 2558 เวลา:21:53:34 น.
|
บทความทั้งหมด
|
(ดีใจที่กลับมานะคะ ^^ ยังตามผลงานอยู่ค่ะ)