Blog No.6 : Big Brother ผู้หลงรักซิงเกิ้ลเกตเวย์ (1984 ตอน 1) ... จอร์จ ออร์เวลส์ น่าจะได้ชื่อว่าเป็น เจ้าพ่อนิยาย 'แบน' นะครับ ![]() หลังจากเคยเขียน Animal farm + Snowpiercer ลง Filmax เมื่อ 2 ปีก่อนก็ตั้งใจว่าจะเขียน1984 ผลงานของผู้เขียนคนเดียวกันต่อกันเลย แต่ที่ไม่เคยได้เขียนซักทีเพราะ 1984 เป็นนิยายที่อ่านยากพอสมควรสำหรับคนรุ่นยาวไปไม่อ่าน มันเรียกร้องสมาธิสูง อ่านแล้วพักเป็นช่วงๆจนลืมอ่าน แต่หลังจากอ่านจบมันกระตุ้นต่อมอยากเขียนได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 บทความ เอาแค่ประเด็น 2+2=5 , กระบวนการปลูกฝังให้รักและศรัทธาโดยกระทรวงแห่งความรัก, ผู้ควบคุมปัจจุบันคือผู้ควบคุมอดีต, Doublethink และ Newspeak ก็เขียนได้เป็นเดือนๆแล้วนะครับผมว่า ![]() แต่ที่ผมสนใจมากเป็นอันดับแรกจาก 1984 แล้วขอเขียนถึงก่อนคือเรื่องของ Big Brother ที่จะเชิญผู้สมัครจากทางบ้านมาใช้ชีวิตร่วมกันโดยคนดูจะ... เฮ้ย ไม่ใช่ละครับ แต่ก่อนจะไปถึง Big Brother ผมขอแนะนำให้รู้จัก 1984 คร่าวๆก่อนว่า พระเอกของเรื่องคือวินสตัน ชายอายุ 39เท่าที่อ่านจินตนาการได้เลยว่า ไม่ใช่คนหล่อไม่เท่ไม่เก่ง เป็นเหมือนข้าราชการประจำที่ไม่มีจุดเด่นให้ใครจำได้ เขาทำงานอยู่ในกระทรวงแห่งความจริงแห่งเมืองโอชันเนีย งานของเขาคือตรวจสอบเอกสารของรัฐในแต่ละวัน แล้วคอยดัดแปลงคำ , ตัวเลข หรือบิดเบือนข้อมูลของรัฐก่อนบันทึกลงเอกสารราชการให้เป็นตามเจตจำนงที่พรรคต้องการ เขารู้สึกเป็นคนนอกของสังคม เพราะแม้จะพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับคนอื่นๆแต่กิจกรรมหลายอย่างของชาวเมืองโอชันเนียทำให้เขารู้สึกแปลกแยก ตัวอย่างเช่น ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมที่ผมขอตั้งชื่อว่า 2 นาทีแห่งความเกลียดชัง คือ พรรค(ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมือง)จะจัดให้คนในเมืองนั่งดูคลิปของชายชื่อโกลด์สไตน์ซึ่งทรยศต่อพรรค เขาเป็นบุคคลที่สนับสนุนให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเต็มที่ แต่เขาถูกรัฐทำให้กลายเป็นปีศาจที่น่าขยะแขยง ![]()
ในแต่ละวันเครื่องโทรภาพที่ติดตั้งอยู่ทั่วเมืองรวมถึงในที่ทำงาน จะเปิดคลิปแล้วให้ประชาชนออกมาแสดงความเกลียดโห่ร้อง ประมาณว่าให้ทุกคนระเบิดความขยะแขยงใส่'บุคคลที่รัฐหล่อหลอมให้เกลียด'ได้ตามที่ตัวเองต้องการ แล้วเมื่อวิดิโอจบลง ก็จะปิดด้วยภาพของ Big Brother เมื่อนั้นทุกคนก็จะสวดร้องด้วยน้ำเสียงของความศรัทธา แต่วินสตั้น ไม่เป็นเช่นนั้น หลักการที่พรรคกำหนดมาแต่ละอย่างทำให้เขารู้สึกขัดแย้งมากเอาแค่ค่านิยมของพรรคที่ติดทั่วเมืองว่า - สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง มันก็ขัดกับสามัญสำนึกของเขาแล้ว แต่ถึงจะรู้สึกแปลกแยกอย่างไรก็ไม่สามารถแสดงออกได้เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองเมืองโอชันเนียให้ความสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องคิดเหมือนกัน, รักและศรัทธาเหมือนกัน กระทั่งเกลียดก็ต้องเกลียดเหมือนกัน Big Brother กำลังจับตาดูคุณ มันไม่ใช่เป็นประโยคขู่แต่มันคือการจับตามองอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะทั้งเมืองจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าโทรภาพ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องส่งสัญญาณผ่านจอโทรทัศน์ คอยถ่ายทอดข่าวสารจากรัฐให้ประชาชนติดตาม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโฆษณาชวนเชื่อของพรรคสลับกับกิจกรรมชวนคนให้มาเกลียดคนคิดต่าง และคุณสมบัติอีกอย่างของโทรภาพคือเป็นเครื่องรับ ทำหน้าที่ดักฟัง ดักจับความคิดของประชาชน ตามที่วินสตันบรรยายว่า คุณต้องดำเนินชีวิตโดยมีนิสัยเป็นสัญชาติญาณว่ามีคนได้ยินเสียงทุกเสียงที่ทำความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคุณจะถูกจับตามองดังนั้น เรียกได้ว่ามีกล้องจับตามองทุกซอกมุมตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเหมือนอยู่ในรายการเกมโชว์ บิ๊กบราเธอร์ ดังนั้นถึงวินสตันจะพบ ความไม่ชอบมาพากลที่รัฐบิดเบือนความจริงแก่ประชาชน , อึดอัดกับชีวิตที่ไร้เสรีภาพซึ่งไม่ใช่แค่แนวคิดทางการเมือง แต่ยังรวมถึงเซ็กส์ , ความรัก , การใช้ชีวิต ฯลฯ แต่วินสตันก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะแม้จะเขียนสาปแช่งลงกระดาษก็ยังกลัวว่าจะถูกจับได้ แม้แต่จะคิดก็ยังกลัวว่าจะถูกจับได้เช่นกัน สังคมที่ผู้คนแบบวินสตันใช้ชีวิตด้วยความกลัวจึงกลายเป็นสังคมที่สงบและเป็นระเบียบอย่างมาก *****
![]() ... ชะตากรรมของ วินสตันชายที่เริ่มคิดต่างจะเป็นอย่างไร ? ไว้มีโอกาสเขียนถึง 1984 ต่อบล็อกหน้าครับแต่จะขอเขียนในส่วนที่ผมสนใจมากคือแนวคิด Big Brother กำลังจับตาดูคุณ ในนิยายบรรยายไว้ว่า ไม่มีใครเคยเห็น Big Brotherตัวจริง เขาคือใบหน้าในใบประกาศ คือเสียงในโทรภาพ คือหน้ากากที่พรรคเลือกแสดงต่อโลก หน้าที่ของเขาคือประพฤติตนเสมือนหนึ่งศูนย์รวมแห่งความรัก ความกลัว และ ความเคารพยำเกรง การจับตาดูประชาชนของ Big brother ผ่านเครื่องโทรภาพ ทำให้ผมเห็นว่ามันมีหน้าที่สำคัญสามอย่าง (1) ทำลายเส้นแบ่งของความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ (2) สอดส่อง ...ความเป็นไปของประชาชน (2) คัดกรอง ...สิ่งที่ให้ประชาชนเสพ ที่น่าสนใจคือ เพราะอะไรประชาชนส่วนใหญ่ของโอชันเนีย จึงไม่ตะขิดตะขวงต่อการมี Big Brother? โอเค เราเข้าใจว่าบางคนยินยอมเพราะ 'กลัว' เช่นพระเอกของเรื่อง พวกเขาเชื่อจริงๆว่า การที่รัฐมีอำนาจทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมของตัวเองมั่นคงทำให้พวกเขาปลอดภัย พวกเขาไม่รู้สึกอายที่จะถูกล้วงเรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาคิดว่าเรื่องส่วนตัวนั้นไม่สำคัญเท่าความมั่นคงปลอดภัยของชาติ พวกเขาเชื่อมั่นให้รัฐคัดกรองข้อมูลให้ เพราะมั่นใจว่ารัฐจะเลือกสิ่งดีๆมากกว่าที่ตัวเองเลือกได้ พวกเขาไม่ได้รู้สึกถึงการถูกลิดรอนเสรีภาพ เพราะพวกเขาไม่ได้คิดว่าเสรีภาพนั้นมีความสำคัญเท่าความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ซึ่งผมคิดว่า Mindset แบบประชาชนในโอชันเนียที่ยินดีให้มีการสอดส่องและควบคุมไม่ได้มีแค่นิยาย เพราะธรรมชาติของมนุษย์เราให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ตามยีนส์ที่กำหนดมาและตามสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต เราคงไม่สามารถบังคับคนทั้งโลกให้คุณค่าได้เท่าเทียมกัน แต่เมื่อสังคมคือการใช้ชีวิตร่วมกัน ในแต่ละสังคม สมาชิกจึงต้องมีการตกลงร่วมกันว่า เราจะหาจุดสมดุลอย่างไร ***** ... ถ้า Big Brother มีอยู่จริงในโลกความเป็นจริง ในยุคสมัยนี้ บทบาทของโทรภาพของ Big Brother ที่น่าจะถูกต่อต้านมากที่สุดจากสามหน้าที่หลักข้างต้นคือ การสอดส่อง เพราะคนรุ่นใหม่ถึงจะรักในถ่ายทอดชีวิตตัวเอง ป่าวประกาศเรื่องส่วนตัวให้โลกรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยินดีกับการถูกสอดส่องเลย เราเปิดเผยเรื่องส่วนตัว กับการที่มีคนมาสอดส่องเรื่องส่วนตัว มันเป็นคนละเรื่องกัน กรณีแรกคือ การที่มนุษย์มีอำนาจสูงสุดในการเลือกว่าจะเปิดเผยอะไรแล้วจะปกปิดอะไร กรณีหลังคือ การที่มนุษย์ไม่ได้มีอำนาจนั้นแต่รัฐมีอำนาจมากกว่า แต่กระนั้นก็ดี ถึงมีเสียงต้านในการถูกสอดส่องโดยรัฐ ก็มักจะมีเสียงจากประชาชนฝั่งที่ยินดีให้รัฐสอดส่องถามออกมาว่า "ไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร" ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำถามสุดแคลสสิคเสมอ เมื่อกระบวนการเซ็นเซอร์หรือสอดส่องเกิดขึ้น ถ้าลองไปถามว่า "ไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร" ต่อหน้าวินสตันพระเอกใน 1984 อาจมีโดนต่อยกลับนะครับ และไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังมีสิทธิถูกยัดเยียด 'ความผิด' เหมือนผู้คิดต่างคนก่อนๆโดนเล่นงาน ซึ่งก็ไม่สามารถจะแก้ตัวอะไรได้ เพราะอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลอยู่ในมือ Big Brother *****
![]() ... ตอนผมอ่าน 1984 อาทิตย์ก่อน (ที่เคยตั้งสเตตัสว่าจะเขียนถึง) ผมอ่านไปยังคิดอยู่เลยว่าถ้า Big Brother กับตำรวจความคิดต้องมาทำงานในปี 2015 น่าจะทำงานหนัก เพราะคนรุ่นนี้มีวิธีสื่อสารได้ล้ำกว่าแต่ก่อนมาก พวกเราสามารถส่งไลน์ , ส่งเมลล์ , ส่งอินบ็อก ฯลฯ ซึ่งเครื่องโทรภาพคงไม่สามารถตรวจจับได้หมดหรือเพียงแค่แอบหลบมุมเอานิ้วจิ้มมือถือเพื่อส่งข้อความก็น่าจะพอหลอกเครื่องโทรภาพได้ จนกระทั่งกระแส Single Gateway มาถึง ผมได้แต่ตบเข่าป้าดใหญ่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ Big Brother กับตำรวจความคิดแห่งยุค1984 คงไม่ต้องกังวลกับการทำงานแล้ว เพราะในปี 1984 พวกเขาต้องหาทางทำลายความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยการสอดส่อง แล้วพวกเขาสามารถปกครองประชาชนด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวกล่อมประชาชนตลอดเวลา
ซึ่งจะว่าไปแล้วด้วย Mindset ของการอยากให้มี Single gateway เองก็สอดคล้องกับ Mindset แบบ Big brother เอามากๆครับ ดังนั้นต่อให้ Single Gateway จะล่มไปแต่ตราบใด 'วิธีคิด' แบบนี้ยังดำรงอยู่แล้วผู้ใต้ปกครองยอมรับได้ อีกไม่นานก็จะมีโครงการใหม่ๆภายใต้แนวคิดนี้กำเนิดออกมา แล้วถ้าประจวบเหมาะกับ Big Brother และ ตำรวจความคิด เดินทางมาถึงปี 2015 แล้วมีเจตจำนงสอดส่อง ควบคุมประชาชน จับคนเห็นต่าง เผยแพร่หลักการของตัวเองฝ่ายเดียว เราคงเห็น Big Brother และ ตำรวจความคิด ลูบปากพลางคิดว่า หวานหมู แน่นอน
*** *** หมายเหตุ : ภาพส่วนใหญ่มาจากหนังเรื่อง 1984 และนิยายเรื่องนี้กำลังจะถูกสร้างเป็นหนังเร็วๆนี้โดย พอล กรีนกราส โคว้ตที่ยกมา นำมาจากในนิยายฉบับแปลไทย ตามปกสีส้ม (รูปปกจากเว็บ readery.com) ลิสต์รายชื่อนิยาย'แบน' ที่โดนแบนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_books_banned_by_governments
เนื้อหาก็น่าถูกแบนอยู่นะคะ น่าอ่านมาก แต่ถ้าหนามาก อาจจะรอดูหนัง เพราะหนังสือท่าทางจะเรียกร้องสมาธิสูงอย่างที่ว่า .. เอ่ยถึงหนัง อ่านรีวิวนี้แล้วคิดว่า 12 Years A slave น่าจะเป็นหนังดีที่น่าดู เป็นหนังที่ลิตท์ไว้ว่าอยากดูมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ดูเสียที และที่เอ่ยถึง Snowpiercer ชื่อเหมือนหนัง Snowpiercer ของเกาหลีเป๊ะเลยค่ะ แต่คิดว่าน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน ..
โดย: prysang
![]() น่าจะ Snowpiercer เดียวกันครับ
![]() เพราะเรื่องนี้มีนักแสดงเกาหลีร่วมด้วยกับนักแสดงฮอลลีวูด เหมาะแก่การดูคู่กับอ่านนิยาย Animal Farm ครับ เพราะมันพูดถึงประเด็นคมๆว่าด้วย 'การปฏิวัติ'เหมือนๆกัน ต่างกันแค่เรื่องหนึ่งเกิดบนรถไฟ อีกเรื่องเกิดในฟาร์มที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายต้องการเปลี่ยนผู้นำ โดย: "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
![]() ถ้าทำเป็นหนัง จะเข้าฉายในไทยได้ไม๊ :)
โดย: Gonz IP: 1.10.254.9 วันที่: 5 ตุลาคม 2558 เวลา:10:00:56 น.
|
บทความทั้งหมด
|