ประชา แม่จัน. pracha_meachun@yahoo.com
ผมถามสหายบักสมด้วยข้อสงสัยที่มีมาหลายปี คือ ฝ่ายนำพรรค ระดับเขตและจังหวัด มีการรณรงค์ต่อต้านความเชื่อฤๅษี ถึงแม้ว่าจะไม่มีท่าปรปักษ์อย่างเปิดเผย แต่ได้ใช้ประเด็นที่เน้นหนักการเลี้ยงไก่ และหมูซึ่งเป็นข้อห้ามของความเชื่อฤๅษี
ผมถามลุงบักสม ว่า จัดตั้งเสียเวลามากในการทะเลาะกับฤๅษีไป แทนที่จะสามัคคีและทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ลุงบักสม เห็นด้วย และเพิ่มเติมว่า จัดตั้งเสียเวลามากเกินไปในการทะเลาะกับฤๅษี
ดังนั้น จึงมีคำถามต่อมา แล้วฤๅษีและผู้นับถือฤๅษียอมรับการมาถึงพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร
วันหนึ่ง ผมไปพบกับลุงเนเตอะ ที่บ้านเกริงโบ ในยุคสงครามประชาชน ลุงเนเตอะ ได้ก่อตั้งคณะรำกะเหรี่ยงปฏิวัติ เขาเป็นผู้แต่งเพลง คิดท่าเต้น ลุงเนเตอะเป็นผู้ให้ข้อมูลปริญญาโท อย่างน้อย 2 คน คนแรกทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษา คนที่สองทำวิทยานิพนธ์ด้านภูมิปัญญา องค์ความรู้ของวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ ในฉบับที่สอง ไม่ได้พูดถึงลุงเนเตอะในฐานะผู้ให้ข้อมูล
ลุงเนเตอะ เล่าถึง ช่วงเวลาที่ ผู้ปฏิบัติงาน พ.ค.ท.มาถึงลุ่มแม่จันโดยการเชื้อเชิญของลุงพินิจ ข่าวนี้ได้แพร่ออกไป ชาวบ้านตื่นเต้นมาก แต่มีความสับสนมากเช่นกัน พวกเขาไม่แน่ใจว่าควรเข้าร่วมหรือไม่ ขณะที่ ฤๅษีองค์ที่ 8 ไม่มีท่าทีชัดเจน ถึงแม้จะรู้ว่า เรื่องนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ของฤๅษีองค์ที่ 7 ก็ตาม
ลุงเนเตอะ เป็นผู้หนึ่งที่เข้าพบฤๅษี เพื่อโน้มน้าวให้เข้าร่วมกับ พ.ค.ท. ลุงเนเตอะอธิบายว่า เป้าหมายของ พ.ค.ท. คือ การสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ สังคมนี้เป็นแบบเดียวกับสังคมพระศรีอาริยะ ที่เป็นเป้าหมายของผู้นับถือฤๅษี ดังนั้น จึงเป็นสังคมเดียวกัน เพียงแต่เรียกกันคนละชื่อ
ลุงเนเตอะยังเสนอว่า วินัยของ ท.ป.ท. (กองทัพปลดแอกประชาชนไทย) มีข้อหนึ่ง ห้ามกินเหล้าในขณะปฏิบัติหน้าที่ อีกข้อ ซื้อขายราคายุติธรรม ยืมของต้องคืน ทำเสียต้องชดใช้ ก็เหมือนกับวินัยของชาวกะเหรี่ยง
คำอธิบายที่บอกกับฤๅษีนี้ ลุงเนเตอะ และผู้นำการเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้นำไปโฆษณากับชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษีในลุ่มแม่จัน
ในที่สุด ฤๅษีองค์ที่ 8 ยินยอมให้เข้าร่วมกับ พ.ค.ท. โดยผู้มีสิทธิเข้าในวัดเลตอคุ ต้องยึดถือข้อปฏิบัติของฤๅษี ผู้นับถือฤๅษีที่บ้านม่งกั๋วะ 10 ครัวเรือน ได้แยกไปอยู่บ้านไกบอทะ
ขณะเดียวกันชาวกะเหรี่ยงตลอดลุ่มแม่จันก็เข้าร่วม พ.ค.ท. ด้วยความพยายามของลุงเนเตอะและลุงพินิจ ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษีจำนวนมากในเขตพม่าก็ได้เข้าร่วม จนสร้างความหวั่นไหวให้กะเหรี่ยงอิสระ นายพลส่วยชัย ผู้บัญชาการกองพลที่ 6 ในเวลานั้น ต้องมาเจราจากับ พ.ค.ท. อุ้มผาง เพื่อระบุเขตแดน และข้อตกลงพันธมิตร ยินยอมให้ พ.ค.ท. สามารถเดินทางผ่านเขตแดนของกะเหรี่ยงอิสระ การลำเลียงอาวุธ ยุทธปัจจัย
ความสำเร็จของลุงเนเตอะ เหมือนกับสิ่งที่ กรัมชี่ นำเสนอในเรื่องการครอบครองความคิด (Hegemony) ลุงเนเตอะเชื่อมโยงแนวคิดสังคมคอมมิวนิสต์เข้ากับความเชื่อเรื่องสังคมพระศรีอาริยะ และวินัย ท.ป.ท.เข้ากับจริยธรรมทางสังคมกะเหรี่ยง จนเป็นพลังการโน้มน้าวให้ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษีเข้าร่วมกับ พ.ค.ท. อย่างกว้างขวาง
เขตงานอุ้มผาง สังขละบุรี ด่านช้าง และบ้านไร่ เติบโตได้ด้วยความสามารถของผู้นับถือฤๅษี ไม่ใช่จากผู้ปฏิบัติพรรคชาวไทยที่ราบจำนวนไม่กี่คน เรื่องนี้ได้ตอบคำถามว่า ในขณะที่ ผู้ปฏิบัติพรรคตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมา ทะเลาะกับชาวกะเหรี่ยงในเรื่องความเชื่อ แต่เขตงานก็ขยายตัวไปได้