VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
กองทัพฟิลิปปินส์ ตอนที่ 3

กองทัพฟิลิปปินส์ (ตอนที่ 3)

โดย

พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand


ลงพิมพ์ในนิตยสารท้อปกัน ปี พ.ศ.2557


สงวนลิขสิทธิ์ในการลอกเลียนเพื่อการค้า เนื่องจากกำลังรวมเล่ม อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อความรู้และการศึกษาเท่านั้น




นอกจากนี้ กองทัพฟิลิปปินส์ยังเสนอโครงการถึง 24 โครงการ ในห้วงเวลาสามปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพของตนเอง เช่น การจัดหาเครื่องบินรบความเร็วสูง การจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชั้น "แฮมิลตัน" (Hamilton class) จากหน่วยป้องกันและรักษาฝั่งสหรัฐฯ (United States Coast Guard) ซึ่งเรือดังกล่าวจำนวน ลำ ได้เข้าประจำการในกองทัพเรือฟิลิปปินส์อยู่แล้ว หนึ่งในนั้น คือ เรือ "เกรโกริโอ เดล พิลาร์" (Gregorion del  Pilar) รวมทั้งการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ/เอ-50 (F/A-50) จากบริษัทอุตสาหกรรมการบินของเกาหลีใต้ (KoreaAerospace Industries) จำนวน 12 ลำ มูลค่ากว่า 440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางทะเลและทางอากาศให้กับกองทัพฟิลิปปินส์ได้พอสมควร

ขณะเดียวกัน โฆษกกองทัพอากาศ นาวาอากาศโท ไมโก โอกอล (Miko Okol) ยังได้กล่าวว่า กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ได้ขอซื้อเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ-16 (F-16) จากสหรัฐฯ ตลอดจนเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกลเฮลิคอปเตอร์โจมตีระบบเรดาห์ที่ทันสมัย และอากาศยานไร้นักบิน หรือ ยูเอวี (UAV) ซึ่งรายการจัดซื้อบางส่วนนี้ ได้รับการอนุมัติแล้ว ".. แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงได้ เพียงแต่บอกได้ว่ายุทโธปกรณ์เหล่านี้ เราจะได้รับภายในสองถึงสามปีข้างหน้า ..” ไมโก โอกอล กล่าวกับผู้สื่อข่าวในที่สุด

ในช่วงที่การพัฒนาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามแผนการที่วางไว้ ฟิลิปปินส์ก็พยายามเดินหมากด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อคานอำนาจกับจีน ด้วยการเชื่อมความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดกับฟิลิปปินส์มาตั้งแต่อดีต มีการพูดถึงการกลับมาใช้ฐานทัพเรืออีกครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการสนองตอบนโยบาย "การปรับสมดุลย์" (Rebalancing) ของสหรัฐฯ ในการหวนกลับมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อมุ่งคานอำนาจกับกองทัพประชาชนจีน อันเป็นวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกัน ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ทุ่มเทความสนใจไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางมาเป็นเวลานาน การกลับมาใช้ฐานทัพในครั้งนี้ จะทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับค่าเช่าพื้นที่จำนวนมหาศาล เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนากองทัพอีกทางหนึ่งด้วย เรียกได้ว่า เอื้อประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อเดือนสิงหาคม  ค..2011 สหรัฐฯ ได้มอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง "เกรโกริโอ เดล พิล่าร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งอีกลำหนึ่ง ให้กับกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ทำให้เรือ "เกรโกริโอ เดล พิล่าร์กลายเป็นเรือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด ในกองทัพเรือฟิลิปปินส์

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแนวความคิดที่จะเพิ่มกำลังทหารของตน ที่ประจำการอยู่ในฟิลิปปินส์จำนวน 600 นายให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จากนักวิชาการว่า การช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรที่แนบแน่นและยาวนานนั้น ดูจะมีน้อยจนเกินไปอย่างน่าใจหาย เช่น ศาสตราจารย์ เบนิโต ลิม (Benito Lim) จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมะนิลา ได้กล่าวว่า ".. การสนับสนุนของสหรัฐฯ ในครั้งนี้เปรียบได้กับ พวกอเมริกันรู้ว่า จีนมีปืนกลในครอบครอง แต่พวกเขากลับให้ มีดทำครัว (kitchen knife) กับฟิลิปปินส์ มันทำให้เราดูเป็นตัวตลก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับจีนในดินแดนพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ ..”

ในระหว่างที่ฟิลิปปินส์ ถูกพายุไต้ฝุ่น "ไห่เยียนพัดเข้าถล่มอย่างรุนแรง ช่วงปลายปี ค..2013 นั้นสหรัฐฯ ก็ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "ยูเอสเอส จอร์ช วอชิงตัน" (USS George  Washington) เดินทางนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมกำลังพลหน่วยนาวิกโยธินอีกกว่า 5,000 นาย พร้อมเครื่องบินแบบโบอิ้ง วี 22 ออสเพรย์ (Boeing V 22 Osprey) จำนวนกว่า 20 ลำและเครื่องบินชนิดต่างๆ เดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกือบจะในทันที อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้น ของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งภารกิจในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น นับเป็นภารกิจที่สามารถนำกองทัพสหรัฐฯ หวนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้ ตามนโยบาย "ปรับสมดุลย์ของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า โดยปราศจากข้อกังขาจากมหาอำนาจอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย และรัสเซียอีกด้วย

นอกจากการปรับนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการเร่งขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แล้ว ฟิลิปปินส์ยังเร่งพัฒนาความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่กรณีที่มีข้อขัดแย้งเรื่องอำนาจอธิปไตยกับจีน เหนือดินแดน เกาะเซนกากุ (Senkaku) หรือ "เตียวหยี" (Diaoyu) เช่นเดียวกัน จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหาร ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อต้องการคานอำนาจกับจีน โดยนำนโยบาย "ฟูโกกุ เคียวเฮ" (Fukoku Kyohei : Fu = รุ่งเรือง, koku = ประเทศ, kyo = แข็งแรง, hei = ทหารหรือ "ประเทศรุ่งเรือง กองทัพแข็งแกร่งในสมัยราชวงศ์เมจิ กลับมาใช้ในการบริหารประเทศอีกครั้ง

ตัวอย่างการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinso Abe) ของญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค..2013 ที่ผ่านมา และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเกินความคาดหมาย ทั้งที่ในสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่สองที่ผ่านมา กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างความทรงจำอันเจ็บปวดขึ้น ในจิตใจของชาวฟิลิปปินส์ เมื่อทหารญี่ปุ่นได้สังหารประชาชนฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภายหลังความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิ "บาตานหรือ "บาตาอัน" (Bataan) ที่ทหารของกองทัพพระมหาจักรพรรดิบังคับเชลยศึกสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จำนวนนับหมื่นนาย เดินเท้าเป็นเวลาหลายวัน ตลอดการเดินทางนี้ มีการปฏิบัติกับเชลยศึกเหล่านั้นอย่างโหดเหี้ยม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีการขนานนามการเดินทางครั้งนี้ว่า "การเดินแห่งความตาย" (Death march)

แต่การเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ ประวัติศาสตร์และความทรงจำอันขมขื่นของฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นิตยสาร "ไทม์" (Time) ฉบับวันที่ ตุลาคม ค..2013 ระบุข้อมูลว่า นับตั้งแต่จีนก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจ และแสดงบทบาทเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อฟิลิปปินส์ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์กว่า ร้อยละ 80 หันกลับมามองญี่ปุ่นในแง่บวก เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่พร้อมที่จะต้อนรับการหวนกลับมาของญี่ปุ่น

นอกจากนี้นายชินโซ อาเบะ ยังได้ให้คำสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้อยู่ในสภาพต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยจะมอบเรือลาดตระเวนจำนวน 10 ลำ ซึ่งแต่ละลำ มีความยาวประมาณ 40เมตร (131ฟุตมูลค่าลำละกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (473 ล้านเปโซให้กับฟิลิปปินส์ อีกทั้งในเดือนกันยายนก่อนหน้านั้น เรือรบของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นก็ได้เข้าเทียบท่าในฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์อีกด้วย

คลาริต้า คาร์ลอส (Clarita Carlos) อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ".. ญี่ปุ่นมีสิทธิในทุกๆ ด้านที่จะพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการทหาร อันเป็นผลเนื่องมาจากการยั่วยุ (provocation) ของจีน .. จีนมักจะแสดงบทบาทว่า พวกเราเคยถูกรุกราน กดขี่ และปกครองโดยญี่ปุ่น ถึงแม้ทุกคนยังจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี แต่พวกเราก็เรียนรู้วิธีที่จะ ยกโทษ (forgive) ให้กับญี่ปุ่น ..” 

คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงมุมมองของชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะมุมมองด้านความมั่นคง ที่แสดงออกว่า พวกเขาพร้อมที่จะเคียงข้างกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในการรับมือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน แม้จะมีอดีตที่ขมขื่นเพียงใดก็ตาม แต่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า ชาวฟิลิปปินส์ก็พร้อมที่จะลืมความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นเหล่านั้น

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้แสดงบทบาทอันสำคัญ เมื่อครั้งที่พายุไต้ฝุ่น "ไห่เยียนพัดเข้าถล่มฟิลิปปินส์ ในปี ค..2013 โดยกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (Japanese Self Defense Forces) ได้ส่งกำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินทางเข้าไปช่วยเหลือในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ นับเป็นภารกิจด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุด ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิที่อาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นต้นมา

การพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับกลุ่มประเทศพันธมิตรต่างๆ นับเป็นวิธีการหนึ่งในการ "ซื้อเวลาเพื่อให้กองทัพของตน สามารถพัฒนาแสนยานุภาพให้มีความเข้มแข็งขึ้น แม้จะต้องประสบกับภาวะวิกฤติด้านงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม 

แม้นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่า การพัฒนากำลังรบของกองทัพฟิลิปปินส์จะไม่สามารถทัดเทียมกับศักยภาพของกองทัพจีนที่มีการเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างยิ่งใหญ่ได้เลย แต่อย่างน้อยการพัฒนาดังกล่าวก็จะทำให้จีนต้อง "ลังเลใจหรือ "คิดทบทวนอีกครั้ง" (second thought) ก่อนที่จะตัดสินใจใช้มาตรการทางการทหารกับฟิลิปปินส์ หากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ขยายตัวลุกลามออกไป

ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และจีน เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลี ในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเกาะที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า "ปานาตัค" (Panatag) ส่วนจีนเรียกว่า "ฮวงหยาน" (Huangyan) อันเชื่อว่า อุดมสมบูรณ์ไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนในการแผ่ขยายอำนาจทางทะเลสู่ทะเลจีนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิคอีกด้วย

ในช่วงปี ค..2012เป็นต้นมา เรือรบเรือสำรวจสมุทรศาสตร์ ตลอดจนเรือประมงของฟิลิปปินส์ และจีนมีการกระทบกระทั่งกัน ในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการเผชิญหน้าในลักษณะยั่วยุซึ่งกันและกัน ยังไม่ขยายตัวไปถึงระดับของการยิงต่อสู้กันด้วยอาวุธ เช่น ในช่วงต้นเดือนเมษายน ค..2012 เรือรบของฟิลิปปินส์ลำหนึ่ง ได้เข้าตรวจค้นเรือประมงของจีนจำนวน ลำ ที่เข้าไปจับปลาในพื้นที่พิพาท โดยทหารเรือฟิลิปปินส์ได้ขึ้นไปตรวจค้นบนเรือประมง และอ้างว่าได้พบปะการังและปลาจำนวนมากที่ผิดกฏหมาย ก่อนที่เรือตรวจการณ์ของจีนจะมาถึง และช่วยเหลือเรือประมงทั้งหมดให้รอดพ้นจากการจับกุม

การเผชิญหน้าดังกล่าว เกือบจะขยายตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะอีกไม่นาน จีนก็ตอบโต้ด้วยการจัดการฝึกซ้อมทางทะเลของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีน นั่นคือบริษัท China National Offshore Oil Corporation ที่ทำการฝึกซ้อมใกล้กับบริเวณพื้นที่พิพาท เป็นเวลานานถึง 56 วัน เพื่อฝึกการค้นหาน้ำมันในทะเลลึก รวมทั้งจีนยังตอบโต้ด้วยการสั่งกักกล้วยหอม ที่นำเข้าจากฟิลิิปปินส์ จำนวน 1,200 ตู้คอนเทนเนอร์ตามเมืองท่าต่างๆ ของจีน

โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในกล้วยหอมเหล่านั้น นอกจากนี้บริษัทท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ก็ประกาศยกเลิกการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งออกคำเตือนนักท่องเที่ยวของตนให้ระมัดระวังกระแสการต่อต้านชาวจีน หากต้องเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

ความขัดแย้งที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี้เองทำให้กระแสชาตินิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในประเทศฟิลิปปินส์สื่อต่างๆ นำเรื่องราวการรบระหว่างทหารฟิลิปปินส์และทหารจีนในสงครามเกาหลี ซึ่งทหารฟิลิปปินส์สามารถกำชัยชนะเหนือสมรภูมิต่างๆ มานำเสนอรวมทั้งมีเสียงเรียกร้องให้พัฒนากองทัพเพื่อป้องกันอำนาจอธิปไตยของประเทศ จนมีคำกล่าวกันว่า ".. หากกองทัพฟิลิปปินส์แข็งแกร่ง เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น ..”

กองทัพฟิลิปปินส์ จึงกลายเป็นตัวละคร (player) สำคัญที่โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ตกเป็นจำเลยของสังคม มาตั้งแต่ยุคของจอมเผด็จการมาร์กอส และถูกชาวฟิลิปปินส์ลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แม้ว่ากองทัพจะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญด้านความมั่นคงของประเทศมาโดยตลอด เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีบทบาทอย่างมาก ทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านการเมือง นับตั้งแต่การประกาศเอกราชตั้งแต่ปี ค..1898 แต่ในเวลานั้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมไม่ยอมรับการประกาศดังกล่าว ส่งผลให้เกิดสงครามระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ขึ้น ชาวฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันก่อตั้ง "กองทัพปฏิวัติฟิลิปปินส์" (The Philippine Revolutionary Army) ที่เมือง "คาวิตี" (Cavite) ก่อนหน้าการประกาศเอกราชเพียงหนึ่งปี โดยมีพลเอก อาร์เตมีโอ อากินัลโด (Artemio Aguinaldo) เป็นผู้บัญชาการ และถือเป็นจุดกำเนิดของกองทัพฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน

กองทัพปฏิวัติฟิลิปปินส์ได้เข้าทำการรบกับทหารสหรัฐฯ อย่างกล้าหาญทั้งๆ ที่ขาดแคลนอาวุธและกระสุน จนกระทั่งต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ ในปี ค..1901 อย่างไรก็ตามชาวฟิลิปปินส์ ก็ยกย่องพลเอก อาร์เตมีโอ อากินัลโด ให้เป็นผู้ก่อกำเนิดหรือเป็น "บิดาของกองทัพฟิลิปปินส์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฟิลิปปินส์ถูกกองทัพพระมหาจักรพรรดิ์ของญี่ปุ่น เคลื่อนทัพเข้าบุกโจมตี ทหารฟิลิปปินส์ต่างเข้าร่วมรบเคียงข้างกับทหารสหรัฐฯ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในฟิลิปปินส์ในนามของ "กองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล" (U.S. Army Forces Far East : USAFFE) ของพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) โดยตั้งมั่นยืนหยัดต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น จนกระทั่งถูกทหารญี่ปุ่นที่มีกำลังเหนือกว่าอย่างมากมายเข้าโจมตีและต้องยอมแพ้ในที่สุด

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ฟิลิปปินส์ก็ได้รับเอกราชอีกครั้งในปี ค..1946 (ได้รับเอกราชเป็นครั้งที่สอง แต่ชาวฟิลิปปินส์นับการประกาศเอกราชครั้งแรกเป็นหลักและในปี ค..1947 ก็ถือเป็นปีแห่งก่อกำเนิดกองทัพฟิลิปปินส์ยุคใหม่ มาจนถึงปัจจุบัน

(โปรดติดตามตอนที่ 4)




Create Date : 03 กันยายน 2557
Last Update : 3 กันยายน 2557 9:21:39 น. 1 comments
Counter : 2042 Pageviews.

 
My brother suggested I might like this web site. He was once entirely right. This put up actually made my day. You cann't imagine just how so much time I had spent for this info! Thank you!
cyber monday bargains //www.centermedical.pl/plugins/system/cache/shopping8/Pi9coo2G5B/


โดย: cyber monday bargains IP: 192.99.14.36 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2557 เวลา:13:07:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.