VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
10 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
อัฟกานิสถานและเวียดนาม ... ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย ?

อัฟกานิสถานและเวียดนาม ...

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553

สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ เพื่อการพาณิชย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน






ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากกำลังสนใจกับรายงานข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวในสาธารณรัฐเฮติทางสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น และ บีบีซีอยู่นั้น ก็มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งแทรกขัดจังหวะเข้ามา นั่นก็คือข่าวกลุ่มตาลีบันจำนวน 20 คนบุกเข้าโจมตีใจกลางกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อก่อนเวลา 10 นาฬิกาของวันที่ 18 มกราคม โดยการใช้มือระเบิดพลีชีพโจมตีบริเวณใกล้กับที่พักของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Kazai’s palace)และบริเวณกระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือเป็นจุดที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงที่สุดแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน

ในขณะที่กลุ่มตาลีบันอีก 7 คนได้เข้ายึดย่านการค้า ธนาคารกลางและโรงแรมเซอร์รานา (Serana Hotel) ซึ่งเป็นที่พักของชาวต่างชาติที่อยู่ตรงข้ามกับกระทรวงยุติธรรมแล้วโจมตีเจ้าหน้าที่ตลอดจนประชาชนในละแวกดังกล่าว จนส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง อาคารธุรกิจสูงสี่ชั้นถูกเพลิงลุกไหม้เกือบทั้งอาคารหลังจากที่กลุ่มตาลีบันโยนระเบิดเข้าไปในอาคารดังกล่าว

แม้ว่ากำลังทหารสหรัฐอเมริกาและอัฟกานิสถานจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเวลาสามชั่วโมงต่อมาโดยสามารถสังหารกลุ่มตาลีบันทั้งหมดลงได้ ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอัฟกานิสถานเสียชีวิต 3 คนพร้อมกับพลเรือนอีก 2 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 70 คน ซึ่งการโจมตีในครั้งนี้นับเป็นการโจมตีกรุงคาบูลครั้งที่รุนแรงที่สุดนับแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และทำให้ความเชื่อมั่นในมาตรการรักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯ และกองกำลังอัฟกานิสถานตกลงอย่างมาก








โมฮัมหมัด ฮุสเซน เจ้าของร้านค้าในย่านธุรกิจดังกล่าวถึงกับกล่าวว่า สหรัฐฯ และนาโต้ (NATO – North Atlantic Treaty Organization) ส่งทหารเข้ามามากมายแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นเลย

“... พวกเราผิดหวังอย่างมากกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในกรุงคาบูล มีทหารของสหรัฐฯ และนาโต้เข้ามานับหมื่น นับแสนคน แต่พวกเขาไม่สามารถให้ความมั่นใจในด้านความปลอดภัยกับประชาชนอัฟกันได้ แม้กระทั่งในใจกลางของเมืองหลวง ...”

จากคำให้สัมภาษณ์ของโมฮัมหมัด ฮุสเซน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของกลุ่มตาลีบันในการสั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถานนั้น ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมและไม่เปลี่ยนแปลง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายหวนนึกถึงเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นในสงครามเวียดนามเมื่อวันที่ 31 มกราคม ปี ค.ศ.1968 หรือเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ในการรบวัน “ตรุษญวน” หรือ Tet Offensive เมื่อทหารเวียดนามเหนือและทหารเวียดกงได้แทรกซึมเข้าไปกลางกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ และเมืองสำคัญต่างๆ เช่น เว้ ดานัง นาตรังและกวางตรี เป็นต้น

แม้ว่าขนาดของการรบในครั้งนั้นจะแตกต่างกันอย่างมากกับครั้งนี้ก็ตาม แต่รูปแบบของการรุกของตาลีบันและเวียดนามเหนือค่อนข้างคล้ายคลึงกันมาก นั่นคือ เป็นการรุกที่เด็ดขาด รวดเร็ว สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง แต่ไม่หวังผลในชัยชนะทางทหารและไม่ต้องการยึดครองพื้นที่หรือดินแดนอาณาเขตของฝ่ายตรงข้าม ดังจะเห็นได้จากจุดจบของการรบคือ พวกตาลีบันและทหารเวียดนามเหนือถูกสหรัฐฯ กวาดล้างทำลายจนหมดสิ้นทั้งสองเหตุการณ์







หากแต่เป้าหมายที่แท้จริงของการรุกดังกล่าวทั้งสองครั้งคือ ต้องการสร้างผลกระทบต่อขวัญ กำลังใจของฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญคือ หวังผลในการสื่อสารออกไปยังประชาคมโลกว่า สงครามที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินอยู่นั้น เป็นสงครามที่ไม่มีวันเอาชนะข้าศึกขั้นเด็ดขาดได้ โดยเวียดนามเหนือและตาลีบันยังคงมีศักยภาพที่น่าเกรงขามในการรวมกำลังเข้าตีเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐทั้งในเวียดนามใต้และในอัฟกานิสถานได้ทุกเวลา

... เพื่อก่อให้เกิดความกังวลและสงสัยจากประชาชนเวียดนาม อัฟกานิสถาน สหรัฐฯ และประชาคมโลกว่า ชัยชนะเหนือตาลีบันและเวียดนามเหนือนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะหลังจากการรบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผลลัพธ์ที่ปรากฏกลับไม่ใช่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดตามที่คาดหวังไว้แต่อย่างใด

“ความกังวลและสงสัย” นี้เองที่จะส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามขึ้นในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ อันนำมาสู่การถอนทหารออกจากสงครามในที่สุด เหมือนดังเช่นที่เวียดนามเหนือประสบความสำเร็จในการใช้การรบในวันตรุษญวนหรือ Tet Offensive ในการปลุกกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งส่งผลให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ของสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ ส่งผลให้เวียดนามเหนือสามารถมีชัยชนะเหนือเวียดนามใต้ได้ในปี ค.ศ.1975 ในที่สุด

สำหรับในอัฟกานิสถาน แม้ที่ปรึกษาทางด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะพยายามชี้แจงอยู่เสมอว่า อัฟกานิสถานไม่ใช่เวียดนาม และไม่มีวันที่เหตุการณ์สองเหตุการณ์นี้ซ้ำรอยกันอย่างเด็ดขาด แต่ก็มีนักวิเคราะห์หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า มันจะเป็นความจริงดังที่กล่าวหรือไม่ เพราะแนวโน้มของหลายๆ เหตุการณ์มีความใกล้เคียงกันอย่างคาดไม่ถึง

ดังเช่น เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศส่งกำลังทหารสหรัฐฯ กว่า 30,000 นายเข้าไปเพิ่มในอัฟกานิสถาน ในขณะที่กองกำลังนาโต้ก็ประกาศเพิ่มกำลังทหารอีกกว่า 7,000 คนเข้าไปตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่ว่า “ส่งกำลังเข้าไปให้มากและถอนตัวออกมาให้เร็ว” (getting in big to get out fast)

ทำให้ในช่วงต้นปีนี้จะมีกำลังทหารสหรัฐฯ และนานาชาติอยู่ในอัฟกานิสถานภายใต้ชื่อ ISAF (International Security Assistance Forces) เป็นจำนวนกว่า 150,000 คน

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังโหมการโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นของตาลีบันและอัล กออิดะฮ์ทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถานตอนเหนืออย่างต่อเนื่องและรุนแรงก่อนการถอนทหารจะมีขึ้นในปี ค.ศ.2011 หรืออีกเพียงหนึ่งปีนับจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ เคยใช้ในสงครามเวียดนามเมื่อปี ค.ศ.1972 นั่นคือการประกาศของประธานาธิบดีนิกสันในการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี 52 จำนวนกว่า 200 ลำระดมทิ้งระเบิดจำนวนมากมายมหาศาลลงในสมรภูมิอินโดจีนภายใต้ชื่อยุทธการ “ไลน์แบ็คเกอร์” (Linebacker) และ “ไลน์แบ็คเกอร์ 2” (Linebacker II) เพื่อหวังทำลายกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือและฝ่ายเวียดกงให้อ่อนล้า และสร้างความได้เปรียบให้กับกองทัพเวียดนามใต้ (ARVN – Army of the Republic of Vietnam) ก่อนการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากสงครามเวียดนาม








นอกจากนี้ความเหมือนกันอย่างบังเอิญที่สุดในสองสมรภูมินี้ ก็คือการประกาศใช้นโยบายสร้างกองทัพอัฟกานิสถานในชื่อ Afghanization และสร้างกองทัพเวียดนามใต้ในชื่อ Vietnamization ซึ่งนโยบายการสร้างกองทัพเวียดนามใต้ในปี ค.ศ.1970 ของประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐฯนั้นระบุว่าจะต้องสร้างกองทัพเวียดนามใต้ให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะเข้ารับช่วงต่อจากทหารสหรัฐฯ ในการป้องกันตนเองได้จากรุกของเวียดนามเหนือและเวียดกงเมื่อมีการถอนทหารสหรัฐฯ ออกไป โดยนิกสันได้ระบุเวลาที่แน่นอนในการถอนทหารออกจากเวียดนามไว้ในนโยบาย Vietnamization ของเขาด้วย

แต่ก่อนที่จะถอนทหารทั้งหมดออกจากเวียดนามเหนือ นิกสันได้สร้างความประหลาดใจให้กับประชาคมโลกและชาวอเมริกันด้วยการประกาศส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มในเวียดนามและกัมพูชาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อทำลายแหล่งซ่องสุมกำลังของเวียดนามเหนือ

หากแต่การประกาศเพิ่มกำลังทหารของริชาร์ด นิกสันได้สร้างความโกรธแค้นให้กับกลุ่มต่อต้านสงครามในสหรัฐฯ จนเกิดการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จนทางการต้องประกาศปิดมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาจำนวน 536 แห่งเพื่อยุติการประท้วง

แต่การประท้วงก็บานปลายจนมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ คล้ายคลึงกับการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าได้สร้างความประหลาดใจต่อชาวอเมริกัน และประชาคมโลกด้วยการประกาศเพิ่มทหารสหรัฐฯ เข้าไปในอัฟกานิสถานอีก พร้อมๆ กับการขีดเส้นตายการถอนทหารในปี ค.ศ.2011 นั่นเอง

จำนวนทหารที่ประธานาธิบดีโอบาม่าส่งเข้าไปในอัฟกานิสถาน 30,000 คนนั้น 2 ใน 3 คือจำนวน 20,000 นายจะถูกส่งไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานและพรมแดนที่ติดกับปากีสถาน ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่เรียกได้ว่า เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการรบในสมรภูมิอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ นั่นคือ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ของอัฟกานิสถานซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอัฟกานิสถานรองจากกรุงคาบุล (Kabul) มีประชากรประมาณ 800,000 คนถึง 1,300,000 คน

ซึ่งพลเอกสแตนลี่ย์ แมคคริสตัล (Stanley McChrystal) ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF (ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นพลเอกเดวิด เพรทเตรอุส) ได้กล่าวว่า “กันดาฮาร์เป็นจุดสำคัญ ดังนั้นการรบที่นี่นับจากนี้ต่อไป เราจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายก็คือ การปกป้องชาวอัฟกานิสถาน เพราะ “ประชาชน” คือวัตถุประสงค์หลักของการส่งกำลังทหารเข้ามาที่อัฟกานิสถานแห่งนี้ ส่วนยุทธวิธีก็คือ ทหารของ ISAF จะถอนกำลังจากพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อเข้ามาปกป้องตัวเมืองและชุมชนในเมือง ด้วยการแบ่งกำลังออกเป็น “หมวด” (platoon) แต่ละหมวดจะเข้ารับผิดชอบเขตชุมชนต่างๆ เสมือนการสร้างป้อมปราการรอบเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มตาลีบันเข้ามาเคลื่อนไหวในตัวเมืองได้”

ยุทธวิธีดังกล่าว แมคคริสตัลขนานนามว่า การสร้าง “วงแหวนแห่งความมั่นคง” (Ring of stability) การดำเนินยุทธวิธีนี้ทหารสหรัฐฯ และ ISAF จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนและทหารอัฟกานิสถานมากขึ้น ชนิดที่เรียกว่า ทำอาหารทานร่วมกัน (baking the bread with Afghan soldiers)

ในขณะเดียวกันภายในตัวเมืองหรือภายในวงแหวนแห่งความมั่นคงนี้ สหรัฐอเมริกาจะดำเนินการปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อเอาชนะความคิดและจิตใจของประชาชนอัฟกานิสถาน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเห็นว่ากองทัพอัฟกานิสถานจะเป็นผู้กำชัยชนะในสงครามครั้งนี้

และที่สำคัญคือ ชี้ให้ประชาชนเห็นว่าโอกาสที่ตาลีบันจะเป็นผู้พ่ายแพ้มีสูงมาก ดังนั้นจึงควรหันมาให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ และรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของการจัดกำลังแต่ละหมวดออกตั้งฐานปฏิบัติการรายรอบชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างแนวป้องกันเมืองกันดาฮาร์และจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยอาศัยบ้านเรือนและสถานที่ราชการของอัฟกานิสถานเป็นฐาน เท่ากับเป็นการเปิดเผยที่ตั้งที่ชัดเจนของทหารสหรัฐฯ ต่อกลุ่มตาลีบัน ซึ่งจะส่งผลให้ทหารสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อการโจมตีจากกลุ่มตาลีบันมากขึ้น








อีกทั้งยิ่งทหารสหรัฐฯ มีการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนโดยการออกไปพบปะกับประชาชน ก็ยิ่งทำให้กลุ่มตาลีบันสามารถแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มประชาชนหรือแม้แต่แฝงตัวเข้ามาในกลุ่มทหาร ตำรวจอัฟกานิสถานได้ง่ายยิ่งขึ้น

การแยกแยะมิตรหรือศัตรูของฝ่ายสหรัฐฯ จะกระทำได้ยากลำบากมาก รวมทั้งหากเกิดการโจมตีด้วยการแฝงตัวเข้ามาเป็นประชาชนแล้ว ความหวาดระแวงต่อประชาชนอัฟกานิสถานของทหารสหรัฐฯ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เหมือนที่ทหารสหรัฐฯ ประสบปัญหาในสงครามเวียดนามที่ไม่สามารถแยก “มิตร” และ “ศัตรู” ได้จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่หมู่บ้าน “มาย ลาย” (My lai) เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1968 ในที่สุด

นอกจากนี้หากกลับไปมองนโยบาย Vietnamization ของสหรัฐฯ ในเวียดนาม จะพบว่ามีความเหมือนกับนโยบาย Afghanization ในปัจจุบันคือ มุ่งเน้นการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามคือ เวียดนามเหนือ เพื่อหาหนทางยุติสงครามอันยาวนานในเวียดนาม รวมทั้งเพื่อเปิดทางให้มีการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม








โดยการเจรจาเปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ.1973 ภายใต้ชื่อ “ข้อตกลงสันติภาพร่วมกันกรุงปารีส” (Paris Peace Accord) กำหนดให้มีการหยุดยิงของทั้งฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1973 เป็นต้นไป และเมื่อการหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายเริ่มมีผลบังคับให้ทหารสหรัฐฯ เริ่มถอนทหารออกจากพื้นที่การรบภายในหกวัน และให้มีการส่งกลับเชลยศึกของทั้งสองฝ่ายทันที

อย่างไรก็ตามข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวได้ถูกละเมิดโดยฝ่ายเวียดนามเหนือ ด้วยการส่งทหารรุกเข้าไปในเวียดนามใต้ ทำให้การเจรจายุติลง แต่การถอนทหารสหรัฐฯ ยังคงเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพเวียดนามใต้ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา สำหรับนโยบายสร้างกองทัพอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ หรือ Afghanization นั้นมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกันมาก

เนื่องจากเป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นโดยมีเส้นตายการถอนทหารของสหรัฐฯ เป็นตัวกำหนดเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกองกำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถาน รวมทั้งเพิ่มจำนวนทหาร ตำรวจเหล่านี้ให้มีมากเพียงพอที่จะเข้ารับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ สืบต่อจากทหารสหรัฐฯ และนาโต้เมื่อถึงเวลาถอนทหารในปี ค.ศ.2011

โดยในขณะนี้มีทหารอัฟกันที่ผ่านการฝึกจากกองทัพสหรัฐฯ อยู่เป็นจำนวน 95,000 คน และสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 194,000 คนในเดือนตุลาคม ค.ศ.2010 และเพิ่มเป็น 240,000 คนในปี ค.ศ.2013 ในขณะที่ปัจจุบันมีตำรวจอัฟกานิสถานอยู่จำนวน 92,000 คน และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 160,000 คนในปี ค.ศ.2013 นั่นแสดงว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่สหรัฐฯ วางเอาไว้ จะมีทหารและตำรวจอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.2013 อยู่ถึง 400,000 คน

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์จำนวนมากที่ยังคลางแคลงใจในจำนวนและประสิทธิภาพของทหาร ตำรวจอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ คาดหวังเอาไว้ โดยจากข้อมูลในห้วงเวลาที่ผ่านมา อัตราการฝึกทหารและตำรวจใหม่ชาวอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วพอๆ กับอัตราการสูญเสียที่เพิ่มขึ้น

โดยมีอัตราการสูญเสียร้อยละ 25 ของกำลังพลที่ฝึกมาทั้งหมด รวมทั้งยังมีกำลังพลจำนวนมากที่หลบหนีออกไปจากหน่วย ทั้งอาจจะด้วยเพราะความกลัวต่อกลุ่มตาลีบัน หรืออาจเพราะเล็งเห็นถึงความไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่มีต่อตนเองและครอบครัว และบางส่วนของกำลังพลที่เข้ามาฝึก ก็คือกลุ่มตาลีบันที่แฝงตัวเข้ามานั่นเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้จำนวนกำลังทหาร ตำรวจ 400,000 คนที่สหรัฐฯ คาดหวังไว้ว่าจะมีขึ้นในปี ค.ศ.2013 ยากที่จะเป็นได้ทั้ง “ปริมาณ” และ “คุณภาพ”

นอกจากนี้สิ่งที่มีความเหมือนกันในสงครามเวียดนามและอัฟกานิสถาน ราวกับลอกมาจากประวัติศาสตร์เล่มเดียวกันอีกประการก็คือ รัฐบาลที่ฉ้อฉลของเวียดนามใต้และอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางโครงการต่างๆ ที่สหรัฐฯ ทุ่มเทลงไปเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับประเทศเวียดนามใต้และอัฟกานิสถาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัฟกานิสถาน ที่สหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มการพัฒนาด้วยการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนมากขึ้นเท่าใด เท่ากับว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจะถูกส่งผ่านมือรัฐบาลอัฟกานิสถานลงสู่ประชาชนมากขึ้นเท่านั้น และไม่ว่าจะมีขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณที่รัดกุมมากมายเพียงใดก็ตาม ช่องทางในการคอร์รัปชั่นจากรัฐบาลอันฉ้อฉลของนายฮาร์มิด คาร์ไซก็ยังมีอยู่อย่างมากมาย

จึงมีข้อกังขากันว่าการหว่านเม็ดเงินเพื่อสร้างความนิยมขึ้นในหมู่ประชาชนกันดาฮาร์ของสหรัฐฯ จะมีผลสักเพียงไร เมื่อเม็ดเงินเหล่านั้นไหลเข้าสู่กระเป๋าสตางค์ของบุคคลในรัฐบาลอัฟกานิสถานเสียเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐบาลเวียดนามใต้ในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้น หากเราศึกษาและเปรียบเทียบเหตุการณ์สำคัญทั้งสองเหตุการณ์นี้แล้ว จะเห็นได้ว่า สงครามในอัฟกานิสถานกำลังดำเนินไปตามเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ของสงครามเวียดนามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บทเรียนแห่งความล้มเหลวในอดีต หากถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนในการเรียนรู้ จะเปรียบเสมือนเกราะป้องกันความล้มเหลวอันทรงคุณค่ายิ่ง แต่หากบทเรียนดังกล่าวถูกละเลยหรือเพิกเฉย ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล อีกทั้งยังจะสร้างรอยแผลแห่งความพ่ายแพ้ให้เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์สงครามอีกครั้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้




Create Date : 10 กันยายน 2553
Last Update : 10 กันยายน 2553 9:06:21 น. 2 comments
Counter : 3161 Pageviews.

 
บ้นเราอย่ามีสงครามเลย // ทีมงานหมอกันขโมย และทีมงาน คนขี่สองล้อ MRD แว๊ะมาให้กำลังใจท่านเจ้าของ บร้อก


โดย: หมอกันขโมย วันที่: 10 กันยายน 2553 เวลา:9:26:04 น.  

 



โดย: หน่อยอิง วันที่: 10 กันยายน 2553 เวลา:14:25:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.