VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในแอฟริกา (2)

การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในแอฟริกา (2)

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ ใช้เพื่การศึกษาเท่านั้น ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์




"การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ตรงกับคำว่า "genocide" ในภาษาอังกฤษหมายถึง การสังหารอย่างเป็นระบบเพื่อทำลายล้างชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ชนเชื้อสายใดเชื้อสายหนึ่ง ชนเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่งหรือชนศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้หมดสิ้นไป ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราได้เคยเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุที่โหดเหี้ยมในยุคนาซีเรืองอำนาจระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมันในสมัยนั้นสั่งการให้สังหารชาวยิวกว่า 7 ล้านคน เพื่อมุ่งหวังทำลายล้างชนเชื้อสายยิวให้หมดไปจากยุโรป หรือการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโปแลนด์ที่ฮิตเลอร์มองว่าเป็นชนชั้นทาส (slave) ที่ไร้คุณค่า รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียที่พรรคนาซีมองว่าเป็นชนชั้นที่ "ต่ำกว่ามนุษย์" (sub-human) การสังหารแบบล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้หวนกลับมาซ้ำรอยเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าชาวบอสเนียในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายๆ ประเทศของแอฟริกา เป็นต้น

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในทวีปแอฟริกานอกเหนือจากประเทศ "รวันดา" และ "ภูมิภาคดาร์ฟูร์" ของประเทศ "ซูดาน" ที่ได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งบทความในตอนนี้จะขอนำเสนอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศ "โซมาเลีย" และ “บุรุนดี" ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความโหดเหี้ยมไม่แพ้การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในรวันดาและซูดานเลย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากมายเท่ากับสองประเทศดังกล่าว แต่ชีวิตมนุษย์เพียงชีวิตเดียวก็มีีค่าเอนกอนันต์จนไม่สามารถจะประมาณได้





โซมาเลีย

โซมาเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า ดินแดนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกาแห่งนี้เต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 คนไทยรู้จักโซมาเลียผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญสองอย่างคือ เหตุการณ์แรกคือการสูญเสียเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 64 แบล็คฮอว์ค (UH 64 Black Hawk) ของกองทัพสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1993 ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อจับกุมตัวผู้นำกองกำลังติดอาวุธโซมาเลีย ผ่านทางภาพยนตร์เรื่อง "Black Hawk Down” และเหตุการณ์ที่สองคือการปฏิบัติภารกิจของ "หมู่เรือปรามโจรสลัดโซมาเลีย" ของราชนาวีไทยภายใต้กรอบของสหประชาชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการคุ้มกันขบวนเรือสินค้านานาชาติที่แล่นผ่านน่านน้ำอ่าวเอเดนของประเทศโซมาเลีย

นอกเหนือจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เราแทบไม่ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศโซมาเลียเลย เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา โซมาเลียไม่มีรัฐบาลกลางปกครองประเทศ แม้จะมีความพยายามหลายครั้งหลายคราในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ในรูปของสงครามกลางเมืองก็ส่งผลให้ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด กลุ่มต่างๆ ล้วนประกาศตนเป็นอิสระ หรือไม่ก็ประกาศตนเป็นเขตปกครองตนเอง (autonomous)

เช่น กลุ่มในพื้นที่ "โซมาลีแลนด์" (Somaliland) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ, กลุ่ม "อัล-ชาบาบ" (Al-Shabaab) ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงที่เชื่อว่ามีการติดต่อประสานงานกับกลุ่มก่อการร้ายชื่อก้องโลก "อัล กออิดะฮ์" หรือ "อัล เคด้า" (Al Qaeda) ควบคุมส่วนหนึ่งของกรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของประเทศและพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศ, กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในพื้นที่ "พุนทแลนด์" (Puntland) ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกาศเป็นเขตปกครองตนเองแต่ไม่ขอเป็นเอกราชจากโซมาเลีย ในขณะที่นานาชาติให้การรับรอง "รัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ" (Transitional Federal Government) ที่ควบคุมพื้นที่เพียงบางส่วนของกรุงโมกาดิชชู และบางส่วนของพื้นที่ภาคกลาง เป็นต้น

ความขัดแย้งและการสู้รบในโซมาเลียส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่ตกอยู่ระหว่างกลางของความขัดแย้งกลายเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งที่ชาวบ้านถูกกองกำลังทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฎโจมตีสลับไปมา เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกบฎ ในขณะที่กลุ่มกบฎก็เชื่อว่าการโจมตีของรัฐบาลที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการสนับสนุนให้ข่าวสารของพวกชาวบ้าน ผลที่เกิดขึ้นก็คือประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในอันตรายอย่างไม่มีหนทางเลือก

ตัวเลขสถิติขององค์การสหประชาชาติประมาณว่า ตั้งแต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา มีประชาชนหลายหมื่นคนถูกสังหาร ข่มขืนและกระทำทารุณ อีกกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานของตน และอีกกว่าหกแสนคนแปรสภาพเป็นผู้ลี้ภัยสงครามไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และต้องทนกับสภาพที่อดอยาก แร้นแค้นและเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด รวมทั้งมีหลายครั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกโจมตีโดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฎจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก






การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโซมาเลียที่ถูกบันทึกไว้ตอนหนึ่งคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโซมาเลียเชื้อสาย "บันตู" (Bantu) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในหุบเขา "จับบา" (Jubba Valley) โดยหุบเขาจับบานั้นตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโซมาเลีย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 500 ไมล์ กว้างใหญ่ไพศาลทอดยาวจากชายแดนที่ติดกับประเทศเอธิโอเปียไปจนจรดมหาสมุทรอินเดีย มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำ "จับบา" ไหลผ่าน ทำให้มีประชาชนอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้กว่าหนึ่งล้านคน และส่วนหนึ่งก็คือชาวบันตูนั่นเอง

ชาวบันตูเป็นชนกลุ่มน้อยที่อดีตเคยเป็นชนชั้นทาส มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ พวกเขามักถูกดูหมิ่นและเหยียดหยามจากชาวโซมาเลีย ชาวบันตูมีถิ่นฐานถาวรอยู่ในหุบเขาจับบาเนื่องจากมีอาชีพเกษตรกร ที่ต้องอาศัยที่ดินทำการเพาะปลูกจึงลงหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง ทำให้ง่ายต่อการเข้าโจมตีจากกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนที่ผ่านไปมา นอกจากนี้พืชผลทางการเกษตรที่พวกบันตูเก็บเกี่ยวไว้ ก็เป็นสิ่งล่อตาล่อใจกลุ่มติดอาวุธทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฎที่ต้องการเสบียงอาหารไปเลี้ยงคนของตน เพราะสถานการณ์การสู้รบที่ยืดเยื้อในโซมาเลีย ส่งผลให้การเพาะปลูกทั่วประเทศไม่ประสบผลสำเร็จ ประชาชนอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร ดังนั้นเสบียงอาหารในพื้นที่ของชาวบันตูจึงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจบุคคลภายนอกเป็นอย่างดี

ตลอดห้วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 มาจนถึงปี ค.ศ.2000 ชาวบันตูในหุบเขาจับบาตกเป็นเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นับครั้งไม่ถ้วน ส่วนใหญ่เป็นผลจากน้ำมือของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนำโดยจอมเผด็จการ ซิยาด แบเร่ (Siyad Barre) ที่เรืองอำนาจมาจนถึงปี ค.ศ.1991 ก่อนถูกโค่นล้มลง จนอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลของนายซิยาด แบเร่เป็นผู้เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบันตูมากกว่ากองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ชาวบันตูถูกกวาดล้างจนแทบจะสูญพันธ์ไปจากโซมาเลีย จนเจ้าหน้าที่ขององค์กรนานาชาติ "ออกซ์แฟม" (OXFAM) ถึงกับขนานนามหุบเขาจับบาว่าเป็น "หลุมศพขนาดใหญ่" (One big graveyard) เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในหุบเขาแห่งนี้ จะต้องพบกับซากศพของชาวบันตูที่ถูกสังหารเสมอ

การเข่นฆ่าชาวบันตูดำเนินต่อไปอย่างโหดเหี้ยมแม้นายซิยาด แบเร่ จะพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ตาม เพราะรูปแบบการทำลายล้างชาวบันตูของเขาได้กลายเป็นแม่แบบให้กับหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติสืบมา ไม่ว่าจะเป็นการปล้นเสบียงอาหารเพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูกำลังพลฝ่ายตน หรือการทำลายล้างชาวบันตูเพื่อเข้าครอบครองพื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนการข่มขืน กระทำชำเราสตรีชาวบันตูในหุบเขาแห่งนี้

แม้กระทั่งการเข้าแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1992-1993 ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวลงได้ ในทางตรงกันข้ามชาวบันตูกลับมีความรู้สึกว่าการเข้ามาของสหประชาชาติทำให้พวกเขามีความเสี่ยงภัยสูงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะเมื่อกองกำลังสหประชาชาติถอนออกไปจากพื้นที่บางส่วนของโซมาเลีย ชาวบันตูก็ถูกคิดบัญชีแค้นทันที

ความโหดเหี้ยมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบันตูถูกถ่ายทอดจากนายริยาด แบเร่ ต่อมายังกลุ่มติดอาวุธต่างๆ จนพวกบันตูที่เหลืออีกนับหมื่นคนจำต้องละทิ้งถิ่นฐานในหุบเขาจับบา เดินทางไปยังชายแดนติดกับประเทศเคนยาที่แสนยากลำบาก เพราะต้องเดินทางฝ่าทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลและร้อนระอุในยามกลางวันและหนาวเหน็บในยามค่ำคืนจนชาวบันตูจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะความทุรกันดารของเส้นทางและความอดอยาก แห้งแล้ง

แม้จะมีความพยายามในการตั้งรกรากของชาวบันตูขึ้นใหม่ในแอฟริกาตะวันออก แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตแดนเข้าไปได้ ต้องอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยและเผชิญกับการบุกเข้ามาเข่นฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งในปี ค.ศ.1999 สหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจรับชาวบันตูจำนวน 12,000 คนเข้าไปตั้งรกรากในประเทศ นับเป็นการรับผู้อพยพจากแอฟริกาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพชาวบันตูชุดแรกเดินทางถึงสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2004 และเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขาที่นั่น

นอกจากชาวบันตูที่ตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ประชาชนชาวโซมาเลียเองก็อยู่ในชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เขตอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธ "อัล-ชาบาบ" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนาแบบสุดโต่งและต่อต้านรัฐบาลเพื่อหาทางยึดครองประเทศโซมาเลีย พวกอัล-ชาบาบจะใช้หลักกฎหมายทางศาสนาที่รุนแรงต่อชาวบ้าน อีกทั้งยังเข่นฆ่าประชาชนไม่เลือกหน้า หากสงสัยหรือเพียงแค่เชื่อว่าประชาชนเหล่านั้นให้การสนับสนุนกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล แม้กระทั่งในปัจจุบันประชาชนชาวโซมาเลียก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอัล-ชาบาบอย่างต่อเนื่อง กลุ่มที่สร้างปัญหาให้กับประชาชนน้อยที่สุดดูเหมือนจะเป็นกลุ่มในพื้นที่ "พุนทแลนด์" ที่ดูจะมีคุณธรรมอยู่พอสมควร และมีความตั้งใจที่จะสร้างอาณาจักรที่มีความสมบูรณ์พูนสุขให้กับประชากรในพื้นที่ของตน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศโซมาเลียเป็นอุทาหรณ์ให้โลกได้รับรู้ว่า ชนกลุ่มน้อยที่อดีตเคยเป็นทาสดังเช่น ชาวบันตู ตลอดจนประชนชาวโซมาเลียผู้บริสุทธิ์ล้วนต่างมีสิทธิและความชอบธรรมในการดำรงอยู่และมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้ที่จ้องจะทำลายล้างพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมวลมนุษยชาติทุกคนที่จะต้องร่วมกันหาทางหยุดยั้งพฤติกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มิให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าในผืนแผ่นดินแห่งใดบนพื้นพิภพแห่งนี้







บุรุนดี

ประเทศบุรุนดีเป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่เคลื่อนตัวผ่านหน้าประวัติศาสตร์แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเช่นเดียวกับประเทศรวันดา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกัน และมีชนชาติคู่อริสองชนชาติคือ "ทุตซี่" (Tutsi) และ "ฮูตู" (Hutu) สลับกันขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง โดยเฉลี่ยแล้วบุรุนดีมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตูซึ่งมีประมาณ 86 % ของประชากรทั้งหมด และมีชาวทุตซี่เพียง 13 % และชนชาติอื่นอีก 1 % เมื่อฝ่ายใดขึ้นสู่อำนาจก็จะแสวงประโยชน์จากอำนาจที่ตนมีอยู่ หาทางทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้ออ้างที่ว่า "เป็นการแก้แค้นให้กับบรรพบุรุษ"

เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งสำคัญในบุรุนดีเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1972 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูโดยรัฐบาลบุรุนดีที่มีชาวทุตซี่เป็นชนชั้นปกครอง และครั้งที่สองเกิดขึ้นพร้อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา คือในปี ค.ศ.1993 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ครั้งใหญ่

สาเหตุของการสังหารโหดทั้งสองครั้งเปิดฉากขึ้นมาตั้งแต่บุรุนดีได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1962 เนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความไม่พอใจที่ชาวทุตซี่ครอบครองการบริหารประเทศทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ ผู้แทนฮูตูได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง 23 คนจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 33 คน แต่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีกลับเป็นชาวทุตซี่ จึงสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวฮูตูเป็นอย่างมากและมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

และแล้วในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1972 กลุ่มกบฎฮูตูก็เปิดฉากโจมตีพื้นที่ของชาวทุตซี่ครั้งใหญ่ในเมืองรูมองเก (Rumonge) ซึ่งเป็นเมืองที่มีภูมิประเทศติดทะเลสาปและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม พร้อมๆ กับการประกาศตนเองเป็น "สาธารณรัฐมาร์ทยาโซ" (Martyazo Republic) ในระหว่างการโจมตีของพวกฮูตู มีชาวทุตซี่กว่า 1,200 คนถูกสังหาร พยานคนหนึ่งเล่าว่า พวกกบฎฮูตูจะสังหารชาวทุตซี่ทุกคนที่อยู่ในสายตาของพวกเขา ไม่มีการซักถาม ไม่มีการสอบประวัติ นอกจากชาวทุตซี่ที่ตกเป็นเหยื่อของความเหี้ยมโหดแล้ว ยังมีชาวฮูตูสายกลางที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับกลุ่มกบฎถูกสังหารอีกจำนวนหนึ่งด้วย

ประธานาธิบดีมิเชล มิคอมเบโร (Michael Micombero) ซึ่งมีเชื้อสายทุตซี่จึงประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศบุรุนดี พร้อมทั้งสั่งการให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูเพื่อเป็นการแก้แค้นทันที กองทัพของประเทศบุรุนดีที่มีกำลังพลเป็นชาวทุตซี่เคลื่อนกำลังพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากฐานที่มั่นของตน เพื่อทำการสังหารชาวฮูตูทุกคน ทุกระดับ การสังหารเป็นไปอย่างมีระบบ ชนชั้นสูง กลุ่มผู้มีการศึกษาและทหารที่มีเชื้อสายฮูตูเป็นเหยื่อชุดแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขาถูกกวาดต้อนออกจากที่พัก ที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ค่ายทหาร สถานที่ราชการ แล้วนำมารวมตัวกันกลางลานกว้างเท่าที่จะหาได้ ก่อนที่จะถูกระดมยิงจากทหารทุตซี่ และปิดฉากลงด้วยการจ่อยิงทีละนัด ทีละคนเพื่อยืนยันว่าเหยื่อเสียชีวิตแล้ว

จากนั้นทหารทุตซี่ก็เข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ เพื่อค้นหาชาวฮูตู และเพื่อพบก็จะทำการสังหารทันที ตัวเลขความสูญเสียมีมากจนไม่สามารถบันทึกได้ถูกต้อง เพราะทหารทุตซี่ทำการฝังศพหรือนำไปทิ้งในพื้นที่ป่าเขา เพื่อทำลายหลักฐาน แต่แหล่งข่าวตะวันตกประมาณการว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนของการทำลายล้างในปี ค.ศ.1972 นี้ มีชาวฮูตูกว่าสองแสนห้าหมื่นคนเสียชีวิตหรือสูญหาย และอีกหลายหมื่นคนที่หลบหนีไปอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศรวันดาและแทนซาเนีย เป็นต้น

การสังหารโหดครั้งนี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังรากลึกลงในหัวใจของชาวฮูตู ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศบุรุนดีและในประเทศใกล้เคียง เช่น รวันดา ชาวฮูตูนำเรื่องราวความโหดเหี้ยมของชาวทุตซี่ไปขยายผล เผยแพร่ เพื่อรอคอยการแก้แค้น แม้จะมีหลายฝ่ายที่พยายามลบเลือนบาดแผลเหล่านี้ให้สูญสิ้นไป แต่ดูเหมือนความพยายามดังกล่าวจะไร้ผล ในทางตรงกันข้ามด้วยเงื่อนไขทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความโกรธเกลียด เคียดแค้น ชิงชัง ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศบุรุนดีครั้งที่สอง

ความรุนแรงครั้งที่สองเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1993 เมื่อนายเมลชัวร์ นดาดาเย (Melchior Ndadaye) ชาวฮูตูได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของชาวฮูตูในประเทศบุรุนดี ความตึงเครียดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นชาวทุตซี่มีปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรง ทั้งการไม่ยอมรับทางนิตินัย มีการก่อกวนในรัฐสภา ในขณะเดียวกันก็ติดอาวุธทั้งดาบและปืนให้กับแก๊งอันธพาลทุตซี่ ในที่สุดแก๊งต่างๆ ทั้งฮูตูและทุตซี่ก็เกิดการปะทะกันกลางเมืองหลวง "บูจุมบูรา" (Bujumbura)

จนกระทั่งในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีนดาดาเยของชาวฮูตูก็ถูกลอบสังหาร ความอดทน อดกลั้นขั้นสุดท้ายของชาวฮูตูในบุรุนดีก็หมดสิ้นลง ชาวฮูตูออกมาตามท้องถนนด้วยการปลุกระดมจากวิทยุกระจายเสียง แล้วเริ่มเข่นฆ่าชาวทุตซี่ไม่เลือกหน้า ในขณะที่กองทัพซึ่งมีกำลังพลเป็นชาวทุตซี่ก็ตอบโต้กลับ ด้วยการสังหารชาวฮูตูไม่เลือกหน้าเช่นกัน เพียงไม่กี่วันเมืองหลวงของบูรุนดีก็เต็มไปด้วยซากศพของชาวทุตซี่กว่า 25,000 ศพ ในขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตชาวฮูตูก็มีจำนวนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความขัดแย้งในประเทศบูรุนดีส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น รวันดา ที่มีรัฐบาลเป็นชาวฮูตูตึงเครียดตามไปด้วย ชาวฮูตูในรวันดารวมตัวกันต่อต้านชาวทุตซี่ในประเทศรวันดา ก่อนที่จะตามมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบแปดแสนคนในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

แม้ในวันนี้ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างชนสองเชื้อสายคือ ฮูตู และ ทุตซี่ จะสงบเงียบลงไปมาก เนื่องจากผู้คนต่างเข็ดขยาดกับจิตใจอันโหดเหี้ยมอำมหิตประดุจ "สัตว์ป่า" ของมนุษย์ด้วยกันเอง หลายคนมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์สังหารโหดเหล่านั้นมาได้ ยังคงจำภาพต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ สตรีหลายคนถูกประทับตราบาปไปตลอดชีวิตเพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ครอบครัวจำนวนมากสูญเสียสมาชิกอันเป็นที่รักของตนไปอย่างไม่มีวันกลับ คราบน้ำตาและหยดเลือดได้กลายเป็นยารักษาบาดแผลแห่งความอำมหิตเหล่านั้น แต่เมื่อยามใดที่คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ แล้วหยิบประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาศึกษา โดยปราศจากประสบการณ์แห่งความเจ็บปวดเป็นข้อมูลประกอบ พวกเขาก็จะเริ่มสะสมความเกลียดชังและเคียดแค้นขึ้นมาอีกครั้ง และในที่สุดกงล้อแห่งประวัติศาสตร์อันเหี้ยมโหดก็จะหมุนย้อนกลับมาอีกครั้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง





Create Date : 15 กันยายน 2554
Last Update : 25 กันยายน 2554 17:40:36 น. 5 comments
Counter : 5913 Pageviews.

 


โดย: aodblo22 วันที่: 25 กันยายน 2554 เวลา:5:03:34 น.  

 

อยากอ่านเกี่ยวกับสงครามบอสเนียครับ
สงครามระหว่าง โครแอทvsเซิร์บvsบอสเนียมุสลิม


โดย: รอตอนต่อไป ขอบคุณครับ IP: 180.183.120.37 วันที่: 19 ตุลาคม 2554 เวลา:21:34:47 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: Mickeu IP: 14.207.235.56 วันที่: 7 ธันวาคม 2554 เวลา:17:20:49 น.  

 
มนุษย์พยายามทุกทางเพื่อให้ทำให้ตนเองนั้นมีชีวิตรอด แท้จริงแล้ว การเข่นฆ่ากันเพื่อเอาชีวิตรอดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว หากแต่มนุษย์ได้เสาะหาหาทางต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกุศโลบายในการสร้างศาสนาขึ้น หรือการสร้างกฏหมายต่างๆ ขึ้นมาบังคับใช้ แต่ เมื่อทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้น มันก็ย่อมจะ" แพ้" ต่อความเป็นจริงที่มันดำรงตั้งอยู่ " ความต้องการ " ที่มนุษย์มีมันมากเกินกว่า การมีชีวิตรอด หากแต่ ยังมีอีกหลาย " ความอยาก" ที่ผสมอยู่ในตัวมนุษย์ ดังนั้น เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์นั้น มันยากเหลือเกินที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก


โดย: ปณิตา IP: 123.150.159.184 วันที่: 14 ตุลาคม 2555 เวลา:12:10:22 น.  

 
อ่านแล้วสลดใจ แต่ก็ถามตัวเองว่าเราโหดร้ายแบบนี้ได้ไหมได้คำตอบว่าได้คือเกลียดชังพวกนักการเมืองข้าราชการขี้ฉ้อทั้งหลายอยากฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกนี้จัง


โดย: คนไทยคนหนึ่ง IP: 27.55.1.163 วันที่: 21 กรกฎาคม 2557 เวลา:10:37:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.