"ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ..........อหึสา สญฺญโม ทโม..........ส เว วนฺตมโล ธีโร..........โส เถโรติ ปวุจฺจติ" ส่วนผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีสัญญมะ มีทมะ ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์สลัดมนทินได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่..พุทธศาสนสุภาษิต
ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกครับ...เปิดตัวเมื่อวันที่ 24/11/2552 ยังคงมีการปรับแต่งอยู่บ้างในบางจุด ดังนั้นหากเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ และหากเป็นไปได้รบกวนแจ้งให้ผมทราบด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ หากพบข้อผิดพลาดกรุณา คลิกที่นี่.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่? ตอนที่ 1

ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?

การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค-ผล-นิพพานในทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ “การเจริญวิปัสสนา” ซึ่งหากผู้ใดที่ปรารถนาจะถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ หยุดการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นแล้ว จะต้องทำการเจริญวิปัสสนา จะขาดการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะฝึกสมาธิจนได้ฌานสมาบัติต่างๆ สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ก็ตาม หากไม่ผ่านการเจริญวิปัสสนาแล้ว จะเป็นเพียงปุถุชน ยังไม่ใช่อริยบุคคล ยังไม่หลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

ดังมีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่กล่าวถึง พระเทวทัตที่ท่านมีสมาธิมาก มีความสามารถแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ท่านหาสำเร็จอรหัตตผล ล่วงพ้นภูมิแห่งปุถุชนไม่ ยังมีกิเลสอยู่มาก จนขนาดปองร้ายพระพุทธเจ้า ก่ออนันตริยกรรม คือ ทำให้พระบาทของพระพุทธเจ้าห่อพระโลหิต และโดนธรณีสูบจนสิ้นชีวิตถึงกาลมรณภาพในที่สุด

เท่าที่กล่าวมาคงได้รู้แล้วว่า การเจริญวิปัสสนามีความสำคัญอย่างมาก จะขาดเสียไม่ได้ หากขาดการเจริญวิปัสสนาเสียแล้ว ย่อมจะทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ย่อมจะไม่สามารถเข้าถึงมรรค-ผล-นิพพานได้

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) วิธีเจริญวิปัสสนาได้มีเกิดขึ้นมากมายหลายแบบ หลายแนวทาง แยกออกไปหลายสำนัก ผู้ปฏิบัติของแต่ละสำนักต่างบอกว่าวิธีการของตนถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก ตรงตามพระพุทธเจ้าสอน และมีผู้ปฏิบัติจำนวนไม่น้อยได้บอกว่าวิธีการอื่นที่ไม่ตรงกับของตนผิดพลาดไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันขึ้นระหว่างผู้ปฏิบัติ หรือระหว่างสำนักกันอยู่เป็นประจำ ในบรรดาความไม่เข้าใจกันเหล่านั้น มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ได้โต้เถียงกัน คือ การเจริญวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่? โดยฝ่ายหนึ่งได้เห็นว่าการเจริญวิปัสสนาจะต้องใช้ความคิดช่วยพิจารณา หากไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณาแล้วจะเป็นการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นว่าการเจริญวิปัสสนาต้องห้ามใช้ความคิดช่วย หากใช้ความคิดช่วยพิจารณาแล้วถือว่าไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา เมื่อเกิดการโต้เถียงกันขึ้นมา และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าอย่างไรถูกต้องกันแน่ จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มสนใจปฏิบัติใหม่ เกิดความลังเลไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไรกันแน่ และที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ หรือว่าที่กำลังสนใจจะนำไปปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ ปฏิบัติไปแล้วจะผิดพลาด ผิดทางหรือเปล่า? แม้กระทั่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว แต่ติดปัญหาหรือไม่ก้าวหน้า คำถามและข้อสงสัยต่างๆ ดังเช่นที่ยกตัวอย่างไป ยังคงมีเกิดขึ้นรบกวนจิตใจให้เกิดสับสน ลังเลไม่แน่วแน่จนบางท่านปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่งกลับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติใหม่อยู่เรื่อยไปมีให้เห็นจำนวนไม่น้อย

ด้วยความสำคัญของปัญหาที่กล่าวมาจึงได้เกิดบทความนี้ขึ้น เพื่อที่จะช่วยไขปัญหาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ว่า “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” ซึ่งผู้เขียนหวังว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านทำความเข้าใจในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว คงจะได้คำตอบที่ช่วยคลายความลังเลสงสัย สามารถกำจัด “วิจิกิจฉา” อันเป็นนิวรณ์ที่มารบกวนจิตใจ และนำไปเจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกต้องต่อไปไม่มากก็น้อย ดังนั้น เพื่อให้บทความนี้ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลางในการวินิจฉัย ผู้เขียนจึงขอนำเอาหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้มาช่วยในการพิจารณา เรียกว่า “มหาประเทศ 4” ดังต่อไปนี้


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาประเทศ 4 นี้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มหาประเทศ 4 เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้นครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตรพึงสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยบทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ภิกษุนี้รับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันได้ในพระสูตรสอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และภิกษุนี้รับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 1 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้นพร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระวินัยในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และสงฆ์นั้นรับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว

อนึ่งภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และสงฆ์นั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 2 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระมากด้วยกันอยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูต ชำนาญในนิกาย [นิกาย 5 คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย] ทรงธรรม ทรงวินัยทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมา รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น ... ข้าพเจ้าได้สดับมารับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่แท้ และพระเถระเหล่านั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 3 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูต ชำนาญในนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้น ... ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่แท้ และพระเถระรูปนั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 4 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาประเทศ 4 นี้แล ฯ[1]


หลักมหาประเทศ 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสข้างต้น มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อผู้ใดก็ตามได้แสดงธรรม หรือแสดงวินัย โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตนเองได้รับมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือได้ฟังมาจากใครคนใดคนหนึ่งอีกทีก็ตาม ขอให้ผู้ฟังอย่าเพิ่งเชื่อโดยทันที หรืออย่าเพิ่งคัดค้านโดยทันที ขอให้เรียนเนื้อหาสาระของข้อธรรมเหล่านั้นให้ดี แล้วนำไปตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยเสียก่อน ถ้าหากว่าตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยแล้ว บทและพยัญชนะเหล่านั้นรวมลงกันได้ ขอให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงจดจำคำเหล่านั้นเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ แต่ถ้าหากตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยแล้ว รวมลงกันไม่ได้ ขอให้สันนิษฐานได้ว่า ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงทิ้งคำเหล่านั้นไปเสียอย่าได้จำเอาไปใช้ประโยชน์เลย

หากเราได้ทำการศึกษาในชั้นอรรถกถาถึงเรื่องมหาประเทศ 4 เพิ่มเติมแล้ว จะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า พระไตรปิฎกทั้ง 3 คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก จะถือเป็นหลักที่ใช้ในการเทียบเคียงสอบสวน เป็นสิ่งที่ใครจะคัดค้านไม่ได้ ใครคัดค้านพระไตรปิฎกเหล่านี้ ขึ้นชื่อว่าคัดค้านพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าต้องเป็นพระไตรปิฎกที่อยู่ในการสังคายนาครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 3 เท่านั้น ครั้งที่ 4 เป็นต้นไปจะถือเอามาเป็นหลักใช้ตัดสินไม่ได้ และคัมภีร์ชั้นรองลงมา คือ อรรถกถา เรียกว่าเป็นชั้น “อาจาริยวาท” ให้ถือเอาเฉพาะที่ไม่คัดค้านกับพระไตรปิฎกเท่านั้น ส่วนคัมภีร์ชั้นถัดจากอรรถกถาเป็นต้นมาอีกทีเรียกว่าชั้น “อัตตโนมัติ” ให้ถือเอาเฉพาะที่ไม่คัดค้านกับในพระไตรปิฎกเช่นเดียวกัน[2]

นอกเหนือจากคำอธิบายในอรรถกถาที่กล่าวไป ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่นำมาช่วยให้เข้าใจเรื่องมหาประเทศ 4 เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นว่าอะไรที่จัดเป็นพระธรรมและพระวินัย หรืออะไรที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาบ้าง ได้แก่เรื่อง “นวังคสัตถุศาสน์” ดังนี้

นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ 9, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ 9 อย่าง, ส่วนประกอบ 9 อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ

1. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส)

2. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด)

3. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น)

4. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น)

5. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน 82 สูตร)

6. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ 110 สูตร)

7. ชาตกะ (ชาดก 550 เรื่อง)

8. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ)

9. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น)

เขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์[3]


จากเรื่อง นวังคสัตถุศาสน์ ทำให้เห็นว่ามีความสอดคล้อง และรวมลงกันได้กับเรื่องมหาประเทศ 4 และรวมลงกันได้จากที่อรรถกถาจารย์ได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือ พระธรรมและพระวินัยสามารถเรียกได้ว่าเป็น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากแจกแจงโดยละเอียดมีด้วยกัน 9 อย่างเรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ แต่หากย่อ นวังคสัตถุศาสตร์ ลงแล้วได้แก่ พระไตรปิฎก 3 คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก นั่นเอง (พระธรรมและพระวินัย=คำสั่งสอนของพระศาสดา=นวังคสัตถุศาสน์=พระไตรปิฎก)

เท่าที่นำหลักมหาประเทศ 4 และนวังคสัตถุศาสน์มาให้ทราบข้างต้นไปแล้ว ผู้อ่านคงจะรู้ว่าอะไรที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง และบทความนี้จะมีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร กล่าวโดยสรุป คือ เพื่อให้บทความนี้ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลางในการวินิจฉัย ผู้เขียนจึงพยายามนำเอาข้อมูลต่างๆ มาจากชั้นปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎกมาเป็นหลักการวินิจฉัยเป็นหลักก่อน ต่อไปจากนั้นจึงนำเอาชั้นทุติยภูมิ คือ อรรถกถามาวินิจฉัยอีกทีหนึ่ง จะไม่พยายามนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น หากส่วนใดจำเป็นต้องนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น จะนำมาจากแหล่งที่ส่วนรวม หรือทุกฝ่ายต่างยอมรับกันว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้อง ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค, คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์และประมวลธรรมของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นต้น จะไม่พยายามนำหลักฐานต่างๆ ของครูอาจารย์สายปริยัติ หรือสายปฏิบัติในยุคปัจจุบันนอกเหนือจากที่กล่าวไปมาตัดสินความถูกผิด หรือนำมาใช้วินิจฉัยแต่อย่างไร เพราะเป็นส่วนที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความเห็นไม่ตรงกัน แม้มีการนำมาชี้แจงกัน แต่ว่ายังไม่สามารถหาข้อยุติติดสินความถูกผิดจนถึงที่สุดได้ กลับเป็นการทำให้ประเด็นปัญหาบานปลายออกไปอีกด้วย



(โปรดติดตามตอนต่อไป...)
 

----------------------------------------------------------------------------

[1] องฺ.จตุกฺก. (ไทย) 21/180/185-197.

[2] ดูรายละเอียดใน ที.ม.อ. (ไทย) 13/403-407.

[3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 96.




Create Date : 26 ตุลาคม 2553
Last Update : 27 ตุลาคม 2553 9:46:46 น. 0 comments
Counter : 399 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศิรัสพล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จำนวนผู้เข้าชมบล็อก : คน
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : คน
Friends' blogs
[Add ศิรัสพล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.