"ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ..........อหึสา สญฺญโม ทโม..........ส เว วนฺตมโล ธีโร..........โส เถโรติ ปวุจฺจติ" ส่วนผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีสัญญมะ มีทมะ ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์สลัดมนทินได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่..พุทธศาสนสุภาษิต
ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกครับ...เปิดตัวเมื่อวันที่ 24/11/2552 ยังคงมีการปรับแต่งอยู่บ้างในบางจุด ดังนั้นหากเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ และหากเป็นไปได้รบกวนแจ้งให้ผมทราบด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ หากพบข้อผิดพลาดกรุณา คลิกที่นี่.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
28 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 4

หลักการเจริญวิปัสสนา

หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง สามารถศึกษาได้จากความหมายของคำว่าวิปัสสนา และจากคำศัพท์ย่อย แต่ละคำที่อยู่ในความหมาย ซึ่งในอรรถกถาได้ช่วยอธิบายขยายความเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกมาให้เข้าใจง่ายขึ้นชั้นหนึ่งแล้วว่า วิปัสสนา คือ “เห็น เห็นแจ้ง โดยประการต่างๆ” “ญาณเป็นเครื่องกำหนดสังขาร”, “การตามเห็น (อนุปัสสนา) 7 อย่าง” แต่ทว่า การขยายความเพิ่มเติมเพียงเท่านี้ จัดว่ายังยากอยู่ ยังก่อให้เกิดความคลุมเครือ เข้าใจไม่ตรงกันได้ จึงขออธิบายเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

เริ่มต้นอธิบายหลักการเจริญวิปัสสนาจากคำศัพท์ที่ว่า “เห็น” คำว่า “เห็น” คือ ปัสสนา อยู่ในคำว่า “วิปัสสนา” ถามว่าเห็นอย่างไรเล่า? ถึงจะเป็นการเห็นแจ้ง ตอบว่า ต้องเห็นด้วยปัญญานั่นเอง ถึงจะเป็นเห็นแจ้ง หาได้มุ่งหมายถึงการเห็นด้วยตาเนื้อแต่อย่างไร แต่จะอาศัยตาเนื้อ เพื่อช่วยให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาก็ได้ การเห็นด้วยปัญญามาจากความหมายของคำว่า “ทัสสนา” หรือ “ทัสสนะ” ที่นำมาใช้แทนคำว่า ปัสสนา อยู่เสมอๆ ในพระไตรปิฎก เพราะทั้งสองคำนี้ มาจากรากศัพท์เดียวกัน ทัสสนะ แปลว่า “การเห็น, การเห็นด้วยปัญญา, ความเห็น, สิ่งที่เห็น”[1] ตัวอย่างคำที่ใช้ทัสสนะแทนปัสสนา แล้วมีความหมายไม่แตกต่างกัน เช่นคำว่า ญาณทัสสนะ (การเห็นกล่าวคือ การหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือเห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ), ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง), ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค 4), วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย) ฯลฯ ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น แม้แต่การปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ 3 ประการให้หมดสิ้นไป พระพุทธเจ้ายังทรงใช้คำว่า ทัสสนะ มาแทนคำว่า ปัสสนา แปลว่า เห็น มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ขอยกมาแสดงเป็นตัวอย่างสักแห่งหนึ่ง เรื่อง “ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น” ดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการเมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ? เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่? เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้นเพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น
[2]

พระสูตรข้างต้น พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนว่า อาสวะ คือ “กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ”[3] ทั้ง 3 ประการได้แก่ กามาสวะ, ภวาสวะ, อวิชชาสวะ สามารถถูกละได้ด้วยการเห็น และได้อธิบายลึกลงไปอีกว่า การเห็นในที่นี้ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วย “การมนสิการโดยแยบคาย” ตามแนวอริยสัจสี่เพื่อให้เห็นว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเพียรทำอยู่อย่างนี้ สังโยชน์ทั้ง 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมหมดสิ้นไป สังเกตว่าการเห็นในที่นี้จะไม่ใช่การเห็นด้วยตาเนื้อ แต่หมายถึง การเห็นด้วยปัญญาที่ปรากฏชัดขึ้นในจิตใจ แต่ผู้ปฏิบัติสามารถใช้ตาเนื้อเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาอีกทางหนึ่งก็ได้ เมื่อได้นำเนื้อความในพระสูตรไปตรวจสอบจากชั้นของอรรถกถาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีกพบว่า ภาษาบาลีที่ใช้ในแทนคำว่า “เห็น” ในภาษาไทย ได้แก่คำว่า “ทัสสนะ” มีเนื้อความปรากฏในหัวข้อ “พรรณนาอาสวธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ” ดังนี้ว่า

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงกระทำให้แจ้งซึ่งบทเหล่านั้นโดยลำดับ จึงทรงตั้งปัญหาว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่ควรละด้วยทัสสนะดังนี้แล้ว ทรงเริ่มเทศนาอันเป็นปุคคลาธิฏฐานว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับในธรรมวินัยนี้[4]

เนื้อความแห่งอรรถกถาข้างต้น แสดงให้ทราบแล้วว่า มีการใช้คำศัพท์ว่า ทัสสนะ มาใช้แทนคำว่า “เห็น” หรือมาแทนคำว่า ปัสสนา และยังได้แสดงให้เห็นอีกว่า เป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเจริญวิปัสสนา คือ สามารถส่งผลให้ละอาสวะ กำจัดสังโยชน์ 3 ให้หมดสิ้นไปได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ควรทำความเข้าใจให้ดี เพราะหากไม่เข้าใจจุดนี้ หรือไม่ยอมรับตรงจุดนี้ ย่อมยากแก่การทำความเข้าใจหลักการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงถูกต้องว่าเป็นอย่างไรต่อไปได้ เหตุที่ต้องเน้นย้ำ เนื่องจาก ปัจจุบัน มีปัญหาการตีความ คำว่า “ปัสสนา” คือ เห็น กันไปต่างๆ ไม่เหมือนกัน ตีความตรงข้ามขัดแย้งกันก็มี สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากใช้การตีความเอาจากความหมายในทันทีตามแต่เข้าใจว่าอย่างไร เมื่อมีบางคำที่ไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้แน่ชัดว่าปฏิบัติอย่างไร ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าในพระไตรปิฎกขยายความอย่างไร จึงไปใช้การคาดเดาเอา หรือตีความเอา จากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง หรือผู้อื่น บางครั้งใช้วิธีการปฏิบัติที่สอนกันอยู่มาตัดสิน แล้วฟันธงสรุปว่าต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ใช้การตรวจสอบเทียบเคียงกับปริยัติสืบค้นให้เกิดความกระจ่างชัด หายคลุมเครือด้วยหลักฐานในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีการพยายามเอาหลักฐานในพระไตรปิฎกมาช่วยตัดสิน แต่นำเอามาเฉพาะพระสูตรที่สนันสนุนกับความเห็นของตน ไม่ได้ทำอย่างเป็นกลางจริงๆ เพราะผู้ทำมีคำตอบตั้งรอเอาไว้ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกว่า ตีความพระสูตรเดียวกันไม่เหมือนกัน ตีความพระสูตรเข้าข้างวิธีการปฏิบัติของตน บางวิธีการรวมลงกับบางพระสูตรได้ แต่ไม่อาจรวมลงกับบางพระสูตร ขัดแย้งกับบางพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ดังนั้นในที่นี้ ผู้เขียนจึงไม่ทำการตั้งคำตอบรอเอาไว้ก่อนแต่อย่างไร แต่ใช้การค้นหา วิเคราะห์ เจาะลึก จากคำศัพท์ที่มีอยู่ในความหมายของวิปัสสนา ไปทีละขั้น เพื่อความบริสุทธิ์ และเป็นกลาง หากเข้าใจว่า ปัสสนา กับ ทัสสนะ เป็นคำที่ใช้แทนกัน มีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างกัน ปฏิบัติให้เกิดการสิ้นสังโยชน์ สิ้นอาสวะเหมือนกันได้แล้ว ย่อมมองออกว่า เมื่อปฏิบัติตามการเห็นอย่างทัสสนะในพระสูตรข้างต้นอยู่ ย่อมชื่อว่าปฏิบัติการเห็นอย่างปัสสนา หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาอยู่นั่นเอง ไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น หากทำความเข้าใจได้ว่าพระสูตรดังกล่าวข้างต้นปฏิบัติอย่างไร ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่าหลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องปฏิบัติอย่างไรได้เช่นเดียวกัน

เรื่อง “ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น” ศึกษาให้ดีจะพบว่าไม่ใช่การเห็นด้วยปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างทันที แต่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งที่กระทำเนื่องๆ มาก่อน ถึงจะทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือ ทัสสนะ ขึ้นมาในภายหลังอีกทีหนึ่งได้ สิ่งที่ต้องทำมาก่อนนั่นคือ “การมนสิการโดยแยบคาย” หรือ “โยนิโสมนสิการ” ขอยกเนื้อความที่เกี่ยวข้องมายืนยันอีกครั้งว่า

อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น[5]

เนื้อความข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงให้มนสิการโดยแยบคายในอริยสัจจ์สี่ เมื่อมนสิการโดยแยบคายแล้วย่อมเกิดการเห็น ย่อมสามารถทำให้สังโยชน์ทั้ง 3 สิ้นไป หมายถึง สำเร็จอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้ เนื่องจากลักษณะของพระโสดาบัน เป็นบุคคลที่สามารถละสังโยชน์ 3 ประการได้นั่นเอง เหตุผลประการหนึ่งที่โยนิโสมนสิการสามารถทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือเกิดการเห็นแจ้งขึ้นได้นั้น เนื่องมาจากว่า โยนิโสมนสิการ เห็นข้อธรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนการทำในใจโดยแยบคายนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญยิ่งขึ้นฯ[6]

พุทธพจน์ข้างต้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โยนิโสมนสิการเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สัมมาทิฐิบังเกิดขึ้น ถามว่าโยนิโสมนสิการทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเกี่ยวอะไรกับการทำให้เกิดความเห็นแจ้งเกิดขึ้นในวิปัสสนาเล่า? ข้อนี้ตอบว่า เพราะหากได้ทำการตรวจสอบให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จะพบว่าคำว่า สัมมาทิฐิ กับ วิปัสสนา มีความใกล้ชิดกัน มีความคล้ายคลึงกันอยู่ อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ส่วนวิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง ตรงนี้เป็นจุดสังเกตหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าข้อธรรมทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน หรือใกล้เคียงกันอยู่ คือ มีคำว่า “เห็น” เหมือนกัน เป็นตัวปัญญาทั้งคู่เหมือนกัน หากสืบให้ลึกยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก มีหลักฐานปรากฏในชั้นพระไตรปิฎกแสดงว่า สัมมาทิฐิ กับ วิปัสสนา มีความคล้ายคลึง และใกล้เคียงกันอย่างมาก เมื่อมีวิปัสสนาอยู่ที่ไหนชื่อว่ามีสัมมาทิฐิอยู่ที่นั่น เมื่อมีสัมมาทิฐิอยู่ที่ไหนชื่อว่ามีวิปัสสนาอยู่ที่นั้น ดังต่อไปนี้

วิปัสสนา มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด[7] ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิปัสสนา มีในสมัยนั้น.[8]

สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญาปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัย สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจัย สัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น.[9]


(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ...)

----------------------------------------------------------------

[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 75.
[2] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16.
[3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 354.
[4] ม.มู.อ. (ไทย) 17/162.
[5] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16.
[6] อง.เอกก. (ไทย) 20/186/33.
[7] คำว่า ความคิด แปลมาจากคำศัพท์ภาษาบาลีว่า จินฺตา
[8] อภ.สงฺ (ไทย) 34/254/96.
[9] อภ.สงฺ (ไทย) 34/216/90.




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2553
2 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2553 9:08:10 น.
Counter : 498 Pageviews.

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: TREE AND LOVE 28 ตุลาคม 2553 11:35:05 น.  

 

ขอบคุณครับ ที่แวะมาทักทาย

 

โดย: ศิรัสพล 28 ตุลาคม 2553 13:14:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศิรัสพล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จำนวนผู้เข้าชมบล็อก : คน
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : คน
Friends' blogs
[Add ศิรัสพล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.