การศึกษา,แคลคูลัส,ข้อสอบทั่วไป,อย่างเก่งภาษาอังกฤษ,การเขียนโปรแกรมภาษาซีเบื้องต้น,เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์,แวดวงอินเทอร์เน็ต เรื่องน่ารู้,วิทยาศาสตร์น่ารู้,ประวัติศาสตร์น่ารู้,การใช้ชีวิตให้มีความสุข ,ความรัก คืออะไร?,เรื่องขำขำ,เกร็ดความรู้,การถ่ายภาพ,สิ่งแวดล้อม, คุณธรรมจริยธรรม,มาคุยกันเรื่องธรรมะ,จิตวิทยา,นิยาย เรื่องสั้น,เรื่องลี้ลับ,เทคนิคการเล่นกีฬา,สุขภาพ,อาการของโรคภัยไข้เจ็บ,ข่าวสารกีฬา,Sex สุขภาพ,สมุนไพรเพื่อสุขภาพ,ผู้หญิง ความงาม,การลดความอ้วน,ครอบครัว แม่และเด็ก,บ้านและสวน,การใช้รถรักษารถ,เคล็ดลับการใช้โทรศัพท์,อาหารของญี่ปุ่น,ขนมและอารหาร,รวมสูตรการทำแยมผลไม้,สูตรการทำแซนวิชที่อร่อย,เคล็ดลับการทำสลัด,เคล็ดลับในครัว,ผลไม้,ผัก แปรรูป,โภชนาการ,นานาสาระ,อภิสิทธิ์แสงแพง
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
การทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึก

น้ำตาลสดและน้ำตาลปึกมีทำที่บ้านเกยไชย ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้เริ่มหันมายึดอาชีพทำน้ำตาลสด และทำน้ำตาลปึกจำหน่ายเสริมรายได้จากอาชีพทำไร่ทำนา ทำให้มีรายได้ดีขึ้น และยึดเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านที่จัดทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึกของตำบลเกยไชย คือหมู่ที่ 4 , 6 , 7 , 9 , 13 ที่ทำกันมานานมาก และทำสืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือ หมู่ที่ 6 โดยเฉพาะบ้านของนายสุเทพ พลไพรินทร์ ซึ่งภรรยาทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มจำหน่ายน้ำตาลสด และน้ำตาลปึกของตำบลสร้างผลงานดีเด่น จนได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2541 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล

1. ขั้นตอนการทำ

1. การเตรียมอุปกรณ์
1.1 ไม้พะองตาล ใช้ไม้ไผ่ป่ามาพาดกับต้นตาล ต้นตาล 1 ต้น จะใช้ไม้พะอง 2 อัน โดยมัดติดกับต้นตาล สำหรับปีนขึ้นต้นตาลได้ง่าย

1.2 ไม้นวดจะมี 2 แบบ คือ ไม้นวดตัวเมียและไม้นวดตัวผู้ ไม้นวดตัวเมียจะกลมยาวประมาณ 1.50 เมตร ใช้สำหรับนวดงวงตาลตัวเมีย ไม้นวดตัวผู้จะแบนยาวประมาณ 1 เมตร ใช้สำหรับนวดตาลตัวผู้ โดยชาวบ้านมีข้อห้ามเกี่ยวกับไม้นวดตาลว่า ห้ามข้ามไม้นวดทั้ง 2 แบบ เพราะจะทำให้ประสบอันตราย และมีอันเป็นไปได้

1.3 มีดปาดตาล ใช้สำหรับปาดงวงตาลและดอกตาล จะมีความคมมาก

1.4 กระบอกตาล ใช้สำหรับรองรับน้ำตาลจากงวงตาลและดอกตาล เพื่อให้ได้น้ำตาลจากยอดตาลมาทำต่อไป

1.5 เตารมกระบอก ใช้สำหรับรมไฟให้ความร้อนกระบอกตาลก่อนที่จะนำกระบอกตาลไปรองรับน้ำตาลสดจากยอดตาล เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในน้ำตาล

1.6 เตาเคี่ยวน้ำตาล ใช้สำหรับเคี่ยวน้ำตาลให้เหนียว

1.7 กระทะ ใช้กระทะใบบัวใหญ่เพื่อเคี่ยวน้ำตาล ครั้งหนึ่งจะเคี่ยวได้ประมาณ 50 กิโลกรัม

1.8 ไม้คน สำหรับคนน้ำตาลที่เคี่ยวได้ที่แล้ว หลังจากลงจากเตาเพื่อให้เกิดความเหนียวของน้ำตาล

1.9 กระชอนกรองน้ำตาลใช้สำหรับกรองเศษผงที่อาจติดมากับน้ำตาลสด

1.10 ไม้แป้น ใช้สำหรับหยอดน้ำตาลลงในเบ้าที่เตรียมไว้

1.11 กะลาหยอดน้ำตาล ใช้สำหรับตัดน้ำตาลที่เคี่ยวแล้วหยอดในเบ้า

1.12 พิมพ์หยอดน้ำตาล สำหรับหยอดน้ำตาลลงในพิมพ์หรือเบ้า เพื่อให้ได้น้ำตาลปึกตามที่ต้องการและเก็บรักษาไว้ได้นาน ๆ เบ้าน้ำตาลปึกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ลึก 1 นิ้ว เบ้า 1 แผ่น สามารถหยอดน้ำตาลได้ 40 อัน

2. วัตถุดิบ
ใช้น้ำตาลสดที่รองจากงวงตาลล้วน ๆ เคี่ยวเท่านั้น โดยไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น จึงจะได้น้ำตาลสดที่แท้จริง

3. วิธีการผลิต
3.1 วิธีการนวดงวงตาล
การนวดงวงตาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราจะทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลออกมามากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับการนวดงวงตาล ในช่วงฤดูที่ตาลชุก จะมีน้ำตาลออกมามาก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของทุกปี หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ตาลทะวาย คือน้ำตาลจะออกมาน้อย การนวดงวงตาลทำโดยใช้ไม้นวดไปบีบที่รอบงวง โดยนวดครั้งแรกจะใช้เวลา 2 วัน แล้วจะหยุด 1 วัน แล้วนวดต่ออีก 2 วัน แล้วนวดต่ออีก 2 วัน พอถึงวันที่ 6 จะนำน้ำไปแช่ที่ดอกตาลเพื่อให้ดอกเน่า โดยจะแช่ 2 วัน บางครั้งไม่ต้องแช่ดอกตาลก็ได้ ซึ่งเรียกว่า นวดสด นวดแล้วเอามีดไปปาดปลายงวงบาง ๆ เพื่อให้น้ำตาลหยด แล้วเอากระบอกขึ้นไปรองน้ำตาล ในแต่ละวันจะสับเปลี่ยนกระบอก โดยจะเก็บน้ำตาลและสับเปลี่ยนกระบอกในตอนเช้าและตอนเย็น

3.2 การผลิตน้ำตาลสดจะนำกระบอกที่รมไฟไว้แล้วประมาณ 10 นาที ส่วนมากจะจัดเตรียมไว้ 2 ชุด คือ ชุดเช้าและชุดเย็น โดยก่อนขึ้นต้นตาลที่นวดไว้แล้ว กระบอกตาลจะต้องใส่แก่นตะเคียนลงไปตามสมควร แล้วจึงนำขึ้นไปแขวนไว้บนยอดต้นตาล โดยการเก็บน้ำตาลจะเก็บตอนเช้าและตอนเย็น ซึ่งเมื่อได้น้ำตาลมาแล้วจะเคี่ยวให้งวดเป็นน้ำตาลปึก

3.3 เมื่อได้น้ำตาลสดมาแล้วจะเทใส่ลงในกระทะที่เตรียมไว้ แล้วจุดไฟเคี่ยวน้ำตาลประมาณ 30 –45 นาที แล้วจึงนำลงมาพักไว้ในบริเวณที่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อรอให้น้ำตาลนอนตัว และให้เย็น แล้วนำน้ำตาลมากรองด้วยผ้าขาวบาง นำไปบรรจุในขวดพลาสติกหรือถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป

3.4 การผลิตน้ำตาลปึก จะใช้วิธีการผลิตเหมือนการผลิตน้ำตาลสด โดยหลังจากเคี่ยวน้ำตาลสดไปแล้ว ประมาณ 30 – 45 นาที แล้วก็เคี่ยวน้ำตาลต่อไปอีกประมาณ 30 – 40 นาที รวมแล้วการเคี่ยวน้ำตาลปึก 1 กระทะ จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยดูได้จากน้ำตาลในกระทะจะงวดลง และจะมีความเหนียวในตัวเองแล้วจึงยกกระทะมาที่อุปกรณ์ไม้คน เพื่อทำการคนน้ำตาลในกระทะต่อ โดยใช้ไฟอ่อน ๆ คนไปจนกว่าน้ำตาลเริ่มแห้งและเหนียวก็ยกเอาน้ำตาลมาหยอดที่แป้นหยอดน้ำตาลตามเบ้า โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงแกะน้ำตาลปึกออก รอให้เย็นจึงบรรจุลงในถุงหรือกล่อง ๆ ละ 20 กิโลกรัม แล้วทำการจำหน่ายต่อไป

ในแต่ละปีผู้ที่มีอาชีพการทำน้ำตาลสดจำหน่าย จะมีพิธีไหว้ครูดงตาลเพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ โดยจะทำพิธีกันในช่วงเดือน 5 ถึงเดือน 9 โดยจะไหว้ในวันพฤหัสบดี อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู เช่น หัวหมู ไก่ เหล้า ขนมต้มขาว – แดง ขนมปลากริมขาวแดง บายศรีปากชาม ข้าว ดอกไม้ ธูปเทียน ไข่เป็ดต้ม ข้าวปากหม้อ และจะนำเครื่องมือทุกชนิดมากองรวมกันไว้ แล้วจึงจัดทำพิธีไหว้ จะไหว้ที่บ้าน หรือที่ดงตาลก็ได้ ซึ่งถือเป็นการแก้บน และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อการประกอบอาชีพทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึกนั่นเอง

4. การจำหน่าย
น้ำตาลสดและน้ำตาลปึกของบ้านเกยไชย จะมีรสหวาน หอม อร่อย เพราะทำจากน้ำตาลสดแท้ ๆ ไม่มีการปลอมปน ชาวบ้านจะนำน้ำตาลสด และน้ำตาลปึก ออกวางจำหน่ายบริเวณช้างทางถนนสายชุมแสง – ปากน้ำโพ ช่วงระหว่างกิโลเมตรที่ 30 ถึงกิโลเมตรที่ 35 โดยปลูกเป็นร้านค้าริมทางเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ผ่านไปมา หรือไม่ก็พ่อค้าจากถิ่นอื่นรับซื้อถึงที่

นับได้ว่าการทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพที่น่าอนุรักษ์ส่งเสริมให้ยั่งยืนตลอดไป

ที่มา //www.cha-amcity.go.th/article-detail.php?id=76


Create Date : 12 ตุลาคม 2554
Last Update : 12 ตุลาคม 2554 3:07:45 น. 0 comments
Counter : 1122 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

apisit.az
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]








Friends' blogs
[Add apisit.az's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.