space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
15 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

รูปกาย - ธรรมกาย ปรากฏและเป็นไป ที่สังเวชนียสถาน ๔ ต่อไปนี้ จะพูดถึงความหมายอีกสักอย่างหนึ
รูปกาย - ธรรมกาย  ปรากฏและเป็นไป ที่สังเวชนียสถาน ๔
 
 
     ต่อไปนี้ จะพูดถึงความหมายอีกสักอย่างหนึ่ง ซึ่งได้พูดอ้างอิงไป ครั้งหนึ่งแล้ว คือ เรื่อง รูปกาย และ ธรรมกาย
 
     พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สถานที่นี้คือที่ลุมพินีวัน ก็คือการปรากฏขึ้นแห่งพระรูปกายของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
 
     พระรูปกาย ของเจ้าชายสิทธัตถะนี้  มีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะว่า ด้วยอาศัยรูปกายนี้แหละ ความเป็นพระพุทธเจ้าจึงเกิดขึ้นได้
 
     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียร  ก็อาศัยรูปกายนี้เอง บำเพ็ญเพียร และต่อจากนั้น ก็ได้อาศัยรูปกายนี้รองรับการปฏิบัติจนได้บรรลุธรรม  ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายความว่า ได้ทรงอาศัยรูปกายนี้ทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้น
 
     หลังตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงใช้พระรูปกายนี้แหละ เสด็จจาริกไปเพื่อช่วยทำให้ธรรมกายเกิดและเจริญขึ้นแก่ผู้อื่น
 
     ธรรมกายของพระองค์  ปรากฏขึ้นที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา นั่นคือ การตรัสรู้อันเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒
 
     สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ คือ ที่ประสูติเป็นที่ปรากฏขึ้นแห่งพระรูปกาย ส่วนสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ ที่ตรัสรู้  ก็เป็นที่ปรากฏขึ้นแห่งพระธรรมกาย

     “ธรรมกาย”  ก็คือ ชุมนุม หรือ  กองแห่งธรรม ดังเคยอธิบายไปครั้งหนึ่งแล้ว
 
     เมื่อพระพุทธเจ้าอาศัยพระรูปกาย  ทำพระธรรมกายให้ปรากฏแล้ว   ก็เป็นส่วนแห่งประโยชน์ของพระองค์เอง
 
     ต่อแต่นั้น พระองค์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะฯ อันเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ และ ณ ที่นี้  พระองค์ก็ได้ทรงเผื่อแผ่ธรรมกายนี้  ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วยโดยมีประจักษ์พยานบุคคล  คือ  อัญญาโกณทัญญะ  ผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม  ทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้นเป็นท่านแรก  ถัดจากพระพุทธเจ้า
 
     นี่ก็คือการที่พระพุทธเจ้าได้ทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้นแก่โลก โดยเผื่อแผ่ออกไปยังผู้อื่น
 
     เมื่อธรรมกายปรากฏแล้ว และรูปกายได้ทำหน้าที่จนสมบูรณ์   ทำธรรมกายให้ปรากฏไว้ในโลกพอสมควรแล้ว รูปกายนั้นก็ไปสิ้นสุดลง ณ สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ คือที่ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา
 
     รูปกายทำหน้าที่ให้ธรรมกายปรากฏแก่ชาวโลกแล้ว   รูปกายกดับไป   แต่ทิ้งธรรมกายไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป ธรรมกายนี้ไม่พลอยสูญสิ้นไปด้วย   นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปกาย  กับ  ธรรมกาย
 
     เป็นอันว่า ใน ๔ สถานนี้ เริ่มแรกรูปกายปรากฏ ณ ที่ประสูติ อาศัยรูปกายนี้ไปทำให้ธรรมกายปรากฏขึ้นที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา แล้วก็ทำธรรมกายนั้นให้แผ่ขยายออกไปเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวนั ครั้นเมื่อทำหน้าที่จบครบถ้วนแล้ว รูปกายก็ดับลงที่ กุสินารา ปล่อยธรรมกายไว้ให้คงอยู่ต่อไป
 
     นี้เป็นคติความหมายอีกอย่างหนึ่งของเรื่องสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของธรรมกาย
 
     ขอย้ำว่า ธรรมกาย  นั้น  ในภาษาบาลีแปลว่า  กอง  หรือที่ชุมนุม ที่ประชุม  ที่มารวมแห่งธรรม  ส่วนรูปกาย   ก็เป็นที่ประชุมหรือกองที่มารวมแห่งรูปธรรม กล่าวคือ ดิน น้ำ  ลม ไฟ มาประชุมกันเข้าอย่างเป็นระบบ
 
     ธรรมกาย    ก็มีความหมายทำนองเดียวกับรูปกาย ในแง่ที่ว่า ธรรม นั้น  เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ แต่มาเป็นประโยชน์แก่ มนุษย์เมื่อมีการประชุมขึ้น โดยการรู้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติเมื่อเรา รู้เข้าใจธรรมต่างๆ ธรรมนั้นๆ ก็มารวมเข้าเป็นกายของเราด้วย
 
     การที่มีคุณความดีมาประกอบกันขึ้นทีละอย่างๆ ก็ทำให้มีชุมนุม หรือกองแห่งธรรมเกิดและเจริญในตัวเรามากขึ้น
 
     เราเจริญเมตตา  เราก็มีเมตตาเข้ามาอย่างหนึ่ง  เราบำเพ็ญกรุณา  กรุณาก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มุทิตาก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง อุเบกขาก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง หรือถ้าบำเพ็ญอินทรีย์เรามีศรัทธาๆ ก็มาองค์หนึ่ง มีวิริยะๆ ก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีสติๆ ก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีสมาธิๆ ก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีปัญญาๆก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง  รวมเข้าเป็นธรรมกายของเรา  
 
     เมื่อปฏิบัติไป ธรรมกายก็ปรากฏและเจริญเติบใหญ่มากขึ้นตามลำดับ  จนกระทั่งเป็นธรรมกายที่มั่นคง คือ มรรค ผล  นิพพาน
 
     ถ้าเป็นธรรมกายในตอนแรกก็ยังไม่มั่นคง เพราะว่าธรรมที่เรา ประพฤติปฏิบัติ ที่เรารู้เข้าใจนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเสื่อมได้ หมายความว่า  บางทีเราได้ธรรมข้อนี้แล้ว   ต่อมาเราก็เสื่อมไปจากธรรมข้อนั้น ขึ้นๆลงๆ ไม่แน่นอน จนกว่าเมื่อไรได้ มรรค ผล นิพพาน ธรรมกายนั้นจึงแน่นอน
 
     ธรรมกายนี้ไม่มีรูปร่าง เพราะถ้าเป็นรูปร่างก็กลายเป็นรูปกาย    รูปกายก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ประชุมแห่งรูปธรรม ส่วนธรรมกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งธรรม
 
     “ธรรม” ในที่นี้  เป็นนาม เพราะฉะนั้น ธรรมกาย ก็คือ นามกาย นั่นเอง  แต่นามกายเป็นศัพท์ที่กว้าง  นักศึกษาธรรมทราบกันดีว่า ชีวิตของเรานี้ประกอบด้วยกาย กับ ใจ หรือรูป กับ นาม พูดให้เต็มว่ารูปธรรม และ นามธรรม  ส่วนที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด  ก็รวมเป็นรูปกาย/กองรูป ส่วนที่เป็นนามธรรมทั้งหมด ก็รวมเป็นนามกาย/กองนาม
 
     แต่นามกายนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นกุศล และส่วนที่เป็นอกุศล ในที่นี้  เราเอาเฉพาะส่วนที่เป็นกุศล   เรียกว่า “ธรรมกาย”
 
     เป็นอันว่า ธรรมกายนี้ เราหมายถึง นามธรรม  ส่วนที่เป็นกุศล โดยเฉพาะโลกุตตรกุศล คือ องค์ธรรมต่างๆ นั่นเองที่มาประชุมกันขึ้นด้วยการรู้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญของเราดังที่กล่าวมา
 
     ฉะนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องของธรรมกายนี้ให้ชัดเจนด้วย  เดี๋ยวจะหลงไป เห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างโน้นอย่างนี้
 
     เรื่องนี้ก็ยกขึ้นมาพูด โดยสัมพันธ์กับความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับ สังเวชนียสถาน ๔ ประการ อย่างที่ได้กล่าวแล้ว
 
     ทั้งนี้การที่จะหาประโยชน์ หรือทำความเข้าใจความหมายของสังเวชนียสถานได้มากเพียงใด ก็อยู่ที่โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักพินิจ พิจารณา ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ  เราก็สามารถได้ประโยชน์ได้ความหมายเพิ่มจากนี้อีก และทั้งหมดนั้นก็อยู่ในหลัก ๒ ประการที่กล่าวมา คือ เน้นที่ศรัทธา อย่างหนึ่ง กับปัญญาอย่างหนึ่ง
 
     วันนี้  ก็ขอสรุปเรื่อง สังเวชนียสถาน ๔ ประการให้โยมฟังไว้พอเป็น ตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็หวังว่า ทุกท่านคงได้ประโยชน์จากสังเวชนียสถาน ๔ ได้คติที่จะนำไปเป็นแนวทางความประพฤติปฏิบัติ  เพื่อจะให้เกิดผลดีงามแก่ชีวิตของตน ด้วยการดำเนินตามพุทธปฏิปทา  ถ้าได้คติอย่างที่กล่าวนี้แม้เพียง ๒ ประการ ก็คิดว่า คงจะได้ผลดีมากพอสมควร
 
     เมื่อได้กล่าวถึงความหมายของสังเวชนียสถาน ๔ ประการแล้ว  ก็อยากจะย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นหลักธรรม  อันเกี่ยวเนื่องกับสังเวชนียสถาน ๔ ประการ ที่ควรจะพูดถึงในโอกาสก่อน ๆ   แต่เราไม่มีเวลา เนื่องด้วยการเดินทาง และมีเหตุขัดข้องบางอย่างแทรกเข้ามา


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2567 7:43:54 น. 0 comments
Counter : 27 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space